• Home
  • การถ่ายทอด
  • ไม่ว่าท่านเป็นใคร จงทำส่วนของท่านให้ดี: หลีกเลี่ยงการสวมหน้ากากเพื่อซ่อนอัตลักษณ์

ไม่ว่าท่านเป็นใคร จงทำส่วนของท่านให้ดี: หลีกเลี่ยงการสวมหน้ากากเพื่อซ่อนอัตลักษณ์

การให้ข้อคิดทางวิญญาณแก่คนหนุ่มสาว ซีอีเอส • 4 มีนาคม 2012 • มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์–ไอดาโฮ


 

ข้าพเจ้าชื่นชมยินดีกับโอกาสที่ได้พูดกับท่าน คนหนุ่มสาว ข้าพเจ้านำความรักและคำกล่าวต้อนรับจากฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง เป็นเรื่องน่าทึ่งที่เราอยู่ที่นี่ในศูนย์การประชุม บีวายยู–ไอดาโฮ ในความคิดข้าพเจ้าเห็นพวกท่านในที่ต่างๆ ทั่วโลก

เมื่อข้าพเจ้ารุ่นราวคราวเดียวกับท่าน ประธานเดวิด โอ. แมคเคย์เป็นศาสดาพยากรณ์ ประธานแมคเคย์รับใช้เป็นประธานศาสนจักรตั้งแต่ปี 1951 ถึง 1970 ซึ่งเป็นปีที่ข้าพเจ้าอายุครบ 30 ปี มักจะมีสิ่งที่พิเศษบางอย่างเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์ผู้ที่รับใช้เมื่อท่านเป็นคนหนุ่มสาว ข้าพเจ้ารักและชื่นชมประธานแมคเคย์ ท่านมักเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงขณะที่ท่านเป็นผู้สอนศาสนาในสก็อตแลนด์ ท่านคิดถึงบ้านหลังจากเป็นผู้สอนศาสนาได้ไม่นานและใช้เวลาสองสามชั่วโมงเที่ยวชมปราสาทสเตอร์ลิงก์ที่อยู่ใกล้ๆ เมื่อท่านกับคู่กลับจากการเที่ยวชมปราสาท พวกเขาผ่านอาคารซึ่งมีศิลาอยู่เหนือประตู มีคำจารึกของเชคสเปียร์ซึ่งอ่านว่า ไม่ว่าท่านเป็นใคร จงทำส่วนของท่านให้ดี

เมื่อระลึกถึงประสบการณ์นี้ในคำพูดที่ให้ไว้ในปี 1957 ประธานแมคเคย์อธิบายว่า “ข้าพเจ้าบอกกับตนเองว่าหรือพระวิญญาณที่อยู่ข้างในบอกว่า ‘เจ้าคือสมาชิกของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าอยู่ที่นี่ในฐานะตัวแทนของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ เจ้ายอมรับหน้าที่รับผิดชอบในฐานะตัวแทนของศาสนจักร’ จากนั้นข้าพเจ้าคิด [เกี่ยวกับ] สิ่งที่เราทำเมื่อก่อนเที่ยง เราไปเที่ยวชมสิ่งต่างๆ เราได้รับการเรียนรู้และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ นั่นเป็นเรื่องจริง และข้าพเจ้าตื่นเต้นกับสิ่งนั้น…อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่งานเผยแผ่ศาสนา…ข้าพเจ้ายอมรับข่าวสารบนศิลานั้นที่มีถึงข้าพเจ้า และนับจากเวลานั้นเราพยายามทำส่วนของเราในฐานะผู้สอนศาสนาในสก็อตแลนด์” 1

ข่าวสาร—ไม่ว่าท่านเป็นใคร จงทำส่วนของท่านให้ดี—มีความสำคัญยิ่งและมีผลต่อเอ็ลเดอร์แมคเคย์เป็นอย่างมากจนกระทั่งท่านใช้ข้อความนี้เป็นแรงบันดาลใจตลอดชีวิตของท่าน ท่านมุ่งมั่นทำหน้าที่รับผิดชอบทุกอย่างที่ท่านมีอย่างสุดความสามารถ

เมื่อเอ็ลเดอร์เดวิด บี. เฮจท์เป็นประธานคณะเผยแผ่ในสก็อตแลนด์ ท่านไปหาศิลาจารึกของจริงและทำศิลาจำลองขึ้นมาซึ่งทุกวันนี้ตั้งอยู่ในศูนย์ฝึกอบรมผู้สอนศาสนาในโพรโว ยูทาห์ หลายท่านเห็นข้อความนี้แล้วและได้ไตร่ตรองถึงความสำคัญของข่าวสารนี้ เมื่อไม่นานเอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน ย้ำอีกครั้งถึงข้อความนี้ที่งานครบรอบ 50 ปีศูนย์ฝึกอบรมผู้สอนศาสนาโพรโว

ขณะที่ข้าพเจ้าไตร่ตรองว่าท่านคือใคร ความรู้สึกอย่างหนึ่งมาถึงข้าพเจ้าว่าท่านอาจไม่ชื่นชมอย่างเต็มที่ถึงความสำคัญของคนรุ่นท่าน สังคมโดยทั่วไปตั้งชื่อให้รุ่นต่างๆ หลายรุ่นที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน คนรุ่นอาวุโสที่สุดในสหรัฐและในประเทศอื่นถูกเรียกว่า “คนรุ่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องอดทนในเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่งโลกในทศวรรษที่ 1930 และจากนั้นประสบความสำเร็จในสงครามโลกครั้งที่สอง และผลกระทบจากสงครามในการสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ระดับอาวุโสของศาสนจักรหลายท่านมีส่วนร่วมในเหตุการณ์เหล่านี้ ประธานโธมัส เอส. มอนสันอยู่ในกองทัพเรือสหรัฐ ประธานบอยด์ เค.แพคเกอร์ประจำการในกองทัพอากาศสหรัฐ เอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์เป็นนาวิกโยธินสหรัฐ ในตอนท้ายข้าพเจ้าจะเล่าประสบการณ์ที่พวกท่านมีและบทเรียนที่พวกท่านเรียนรู้และสอน

คนรุ่นของท่านเกิดในทศวรรษที่ 1980 และต้นจนถึงกลางทศวรรษที่ 1990 ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “คนรุ่นมิลเลเนียม” นักวิจารณ์บางคนยังสงสัยว่าคนรุ่นท่านจะประสบความสำเร็จในด้านใด ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านมีภูมิหลังและรากฐานที่จะเป็นคนรุ่นที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำให้แผนของพระบิดาในสวรรค์ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

เหตุใดข้าพเจ้าจึงพูดเช่นนี้ คนรุ่นท่านเปิดรับต่อคำสอนของเซมินารีและสถาบันมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้านี้ ท่านได้รับการอบรมที่ดีที่สุดกว่าคนรุ่นใดจากปฐมวัย ฐานะปุโรหิต และเยาวชนหญิง นอกจากนี้ ท่านจำนวนประมาณ 375,000 คนเคยรับใช้หรือกำลังรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา ท่านเป็นตัวแทนหนึ่งในสามของผู้สอนศาสนาที่เคยรับใช้ในสมัยการประทานนี้ ซามูเอล สมิธ ผู้สอนศาสนาคนแรกในสมัยการประทานนี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์และวางมือมอบหน้าที่เป็นผู้สอนศาสนาในวันที่ 6 เมษายน ปี 1830 วันที่จัดตั้งศาสนจักร เมื่อท่านพิจารณาถึงผู้สอนศาสนาทุกคนที่รับใช้นับจากเวลานั้น เป็นสิ่งที่น่าทึ่งว่าหนึ่งในสามนั้นเป็นคนกลุ่มของท่าน จากการเปรียบเทียบมีผู้สอนศาสนาเพียง 76,000 คนหรือน้อยกว่า 8 เปอร์เซ็นต์รับใช้ในช่วง 12 ปีเมื่อข้าพเจ้าอายุ 18 ถึง 30 ปี อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสรับใช้งานเผยแผ่ การมีส่วนช่วยของท่านยังมีความสำคัญ เกือบครึ่งหนึ่งของฝ่ายประธานสูงสุดและอัครสาวกสิบสองไม่มีโอกาสรับใช้งานเผยแผ่

หลีกเลี่ยงการสวมบทบาทอื่นด้วยการใส่หน้ากาก

เมื่อมองถึงศักยภาพมหาศาลในการทำความดีที่ท่านมีอยู่ ข้าพเจ้ากังวลเรื่องใดเกี่ยวกับอนาคตของท่านหรือ คำแนะนำใดที่ข้าพเจ้าจะให้ท่านได้หรือ อันดับแรก จะมีแรงกดดันมากมายกับท่านทุกคนที่จะสวมบทบาท— กระทั่งต้องสวมหน้ากาก—และกลายเป็นคนที่ไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่าเป็นตัวท่านหรือคนที่ท่านอยากจะเป็น

ฤดูร้อนที่แล้วเอ็ลเดอร์แอล. ทอม เพอร์รีย์กับข้าพเจ้า พร้อมกับไมเคิล ออทเทอร์สัน2 ด้วยหน้าที่ด้านประชาสัมพันธ์ของเรา จึงได้พบกับอับราฮัม ฟอกซ์แมนในสำนักงานของเขาที่นิวยอร์ก คุณฟอกซ์แมนเป็นผู้อำนวยการระดับประเทศของสมาพันธ์ต่อต้านการหมิ่นประมาท พันธกิจของสมาพันธ์นี้คือหยุดยั้งการหมิ่นประมาทชาวยิว เขามีส่วนร่วมในงานนี้เกือบ 40 ปี เรื่องราวชีวิตของเขาที่นำเขาไปสู่ตำแหน่งนี้เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจมาก เขาเกิดสมัยต้นสงครามโลกครั้งที่สอง  โจเซฟ และเฮเลน ฟอกซ์แมน บิดามารดาของเขา เผชิญกับกฎหมายต่อต้านชาวยิว จึงมอบอับราฮัมให้แก่หญิงสาวคาทอลิกชาวโปแลนด์ก่อนที่พวกเขาเข้าไปอยู่ในชุมชนชาวยิวในวิลนา ลิธัวเนียในเดือนกันยายน ปี 1941 อับราฮัมอายุ 13 เดือน พ่อแม่ของเขารอดชีวิตจากสงครามและโฮโลคอสต์ แต่ไม่ได้กลับมาอยู่กับอับราฮัมจนกระทั่งเขาอายุสี่ขวบ ประมาณกันว่าเด็กชาวยิว 1.5 ล้านคนเสียชีวิตในช่วงขุมนรกนาซี อับราฮัมได้รับการคุ้มครองจากหญิงชาวคาทอลิกที่พาเขาไปโบสถ์ทุกอาทิตย์และปิดบังความเป็นชาวยิวของเขา3 ไม่น่าแปลกใจที่อับราฮัม ฟอกซ์แมนอุทิศชีวิตของเขาต่อสู้กับการต่อต้านชาวยิว ความเกลียดชัง ความคลั่งศาสนา และการแบ่งพวก

ข้าพเจ้าทำงานกับคุณฟอกซ์แมนมาก่อนและชื่นชมความกล้าหาญและความมุ่งมั่นของเขา การประชุมกับเขาที่นิวยอร์ก ข้าพเจ้าถามเขาว่ามีคำแนะนำใดจะให้กับเราในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบของเราในงานประชาสัมพันธ์ของศาสนจักร เขาครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง จากนั้นอธิบายความสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้คนของเราไม่สวมหน้ากาก เขาอธิบายถึงกลุ่มคูคลักซ์แคลน ซึ่งเป็นองค์การที่มีอิทธิพลมากและเป็นที่เกรงกลัวของชาวสหรัฐส่วนใหญ่ในช่วงต้นศตวรรษที่แล้ว โดยสวมผ้าคลุมและหน้ากากที่เหมือนกันซึ่งทำให้ยากแก่การระบุตัวผู้มีส่วนร่วม พวกเขาเผาไม้กางเขนบนสนามหญ้าหน้าบ้านผู้ที่เป็นเป้าหมายและแต่งตั้งตนเองเป็นผู้ดูแลทางศีลธรรม กลุ่มผู้ตกเป็นเป้าหมายส่วนใหญ่คือชาวอัฟริกันอเมริกัน แต่ชาวคาทอลิก ชาวยิว และผู้อพยพก็ตกเป็นเป้าหมายด้วย ความรุนแรงที่สุดของพวกที่แข็งขันที่สุดของกลุ่มได้แก่การเฆี่ยนตี การทารุณกรรมทางร่างกาย และการกระทำฆาตกรรม คุณฟอกซ์แมนชี้ให้เห็นว่าคนส่วนน้อยในคูคลักซ์แคลนเทียบได้กับนักเลงหัวไม้ในยุคเผด็จการของยุโรปในทศวรรษที่ 1930 แต่พวกเขาส่วนใหญ่เมื่อไม่สวมหน้ากากคือคนธรรมดาเช่นนักธุรกิจ และคนไปโบสถ์ เขาให้ข้อสังเกตว่าการซ่อนอัตลักษณ์ของพวกเขาและการสวมหน้ากากช่วยให้พวกเขามีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ปกติแล้วพวกเขาจะหลีกเลี่ยง4 ความประพฤติของพวกเขามีผลร้ายอย่างยิ่งต่อสังคมอเมริกัน

คำแนะนำของคุณฟอกซ์แมนคือเน้นความสำคัญให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการสวมหน้ากากเพื่อซ่อนอัตลักษณ์ที่แท้จริงของพวกเขา

ในประวัติศาสตร์ยุคแรกของศาสนจักรเรา ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ เอ็มมา และลูกแฝด 11 เดือนของพวกเขา โจเซฟและจูเลียอยู่ในไฮรัม โอไฮโอ ที่บ้านไร่จอห์นสัน เด็กทั้งสองคนทรมานด้วยโรคหัด โจเซฟและลูกชายตัวน้อยหลับอยู่บนเตียงที่มีล้อเข็นใกล้ประตูหน้าบ้าน

บราเดอร์มาร์ค แอล. สเทเกอร์ เล่าเรื่องที่เกิดขึ้น:

ตอนกลางคืนกลุ่มชายทาหน้าสีดำพังประตูเข้ามาและลากศาสดาพยากรณ์ออกไปทุบตีและราดน้ำมันดินบนตัวท่านกับซิดนีย์ ริกดอน

“เมื่อเอ็มมาเห็นโจเซฟถูกทุบตีและราดน้ำมันดิน เธอหมดสติ …

“… ถึงแม้ว่าศาสดาพยากรณ์จะฟันหักหนึ่งซี่ ได้รับบาดเจ็ดที่เอว และผมหลุดไปหนึ่งกระจุก และมีรอยไหม้จากกรดไนตริก ท่านให้คำเทศนาตามปกติในการประชุมนมัสการวันอาทิตย์ ในบรรดาวิสุทธิชนที่มาชุมนุม อย่างน้อยมีสี่คนที่อยู่ในฝูงชนกลุ่มนั้น”5

เรื่องที่น่าเศร้าที่สุดของการทำร้ายของฝูงชนในคืนนั้นคือโจเซฟน้อยถูกอากาศเย็นตอนกลางคืนมากเกินไปเมื่อคุณพ่อเขาถูกลากออกไป จึงทำให้เป็นหวัดอย่างรุนแรงและถึงขั้นเสียชีวิตในไม่กี่วันถัดมา

เป็นที่น่าสนใจว่าผู้ที่มีส่วนร่วมในมรณสักขีของศาสดาพยากรณ์โจเซฟและไฮรัม พี่ชายท่าน ได้ทาสีบนหน้าเพื่อปิดบังอัตลักษณ์ของตนเอง6 ผู้ที่อำพรางอัตลักษณ์ของตนเองและเข้าไปสู่การมั่วสุมลับเป็นผู้ที่น่าเป็นห่วง เราเรียนรู้ในพระคัมภีร์มอรมอนว่าลูซิเฟอร์ “​ยั่ว​ยุ​ให้​ลูก​หลาน​มนุษย์​ทำ​การ​มั่วสุมลับ​แห่ง​ฆาตกรรม​และ​งาน​ลับ​แห่ง​ความ​มืด​ทั้งปวง” (2 นีไฟ 9:9; ดู 3 นีไฟ 6:27–30ด้วย).

ตอนนี้ข้าพเจ้าไม่ได้พูดว่าท่านมีส่วนร่วมในเหตุการณ์อันเลวร้ายแบบเดียวกันกับที่ข้าพเจ้าเพิ่งอธิบายไป ข้าพเจ้าเชื่อว่าในยุคสมัยของเราเมื่อการทำตัวนิรนามนั้นง่ายกว่าทุกยุค มีหลักธรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการไม่สวมหน้ากากและ “จริงต่อสัจจะ…ภัยที่ท่านวาย มลายยอม” 7

ความคุ้มครองที่สำคัญของท่านในการไม่เลือกอย่างผิดๆ คือการไม่สวมหน้าการนิรนาม ถ้าท่านรู้สึกว่าตนเองต้องการทำเช่นนั้น โปรดรู้ว่านั่นเป็นสัญญาณถึงอันตรายร้ายแรงและเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของปฏิปักษ์ที่จะให้ท่านทำสิ่งที่ท่านไม่ควรทำ เหตุผลหนึ่งที่เราแนะนำผู้สอนศาสนาให้แต่งตัวเรียบร้อยและเอ็ลเดอร์ให้โกนหนวดเคราเพื่อจะไม่มีคนสงสัยว่าพวกเขาเป็นใครและควรปฏิบัติตนอย่างไร บางคนจะถามว่า นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ ข้าพเจ้าไม่คิดอย่างนั้น นึกถึงการแต่งตัวและการสวมเครื่องประดับที่อธิบายในพระคัมภีร์มอรมอนโดยศาสดาพยากรณ์โมโรไนผู้ที่เปรียบเทียบความจองหองกับการสวม “​เสื้อ​ผ้า​ที่​สวย​งามมาก” เขาเชื่อมโยงการแสดงออกถึงความจองหองกับการสวม “เสื้อผ้าที่สวยงามมาก” กับ “การ​วิวาท, และ​การ​มี​เจตนา​ร้าย, และ​การ​ข่มเหง, และ​ความ​ชั่วช้า​สามานย์​นานัปการ” (มอรมอน 8:36) ข้าพเจ้ากังวลว่าในยุคสมัยของเราวิธีที่เราแต่งตัวและสวมเครื่องประดับจะเป็นตัวบ่งบอกถึงการกบฏหรือขาดการปฏิบัติตามมาตรฐานศีลธรรม และการมีอิทธิพลในทางลบต่อมาตรฐานทางศีลธรรมของผู้อื่น

ดำเนินตามความเชื่อที่แท้จริงของท่าน

คำแนะนำที่สองที่ข้าพเจ้าจะให้คือ ดำเนินตามความเชื่อที่แท้จริงของท่านโดยใช้เวลาในสิ่งที่จะเสริมสร้างและพัฒนาบุคลิกลักษณะของท่าน และช่วยให้ท่านเป็นเหมือนพระคริสต์ ข้าพเจ้าหวังว่าจะไม่มีท่านคนใดมองชีวิตว่าเป็นเพียงเรื่องสนุกและเกม แต่ควรมองว่าเป็นเวลาที่จะ “เตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 34:32)

แบบอย่างที่ยอดเยี่ยมในการทำส่วนของท่านและใช้เวลาอย่างเหมาะสมเห็นได้จากเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตของเอ็ลเดอร์แอล.  ทอม เพอร์รีย์เมื่อท่านเป็นนาวิกโยธิน ท่านอยู่ในกองกำลังของสหรัฐในญี่ปุ่นเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง  เอ็ลเดอร์เพอร์รีย์เล่าเรื่องนี้เมื่อท่านบันทึกพยานพิเศษของท่านถึงพระผู้ช่วยให้รอดซึ่งฉายในศูนย์ต้อนรับนักท่องเที่ยว ขอให้ฟังเรื่องจริงของท่าน

เรื่องเล่าของเอ็ลเดอร์เพอร์รีย์

“มีประสบการณ์หนึ่งในชีวิตซึ่งมักจะเตือนข้าพเจ้าถึงปีติที่เกิดจากการถามว่า ‘พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้’

“ข้าพเจ้าอยู่ในนาวิกโยธินกลุ่มแรกที่เข้าเทียบฝั่งประเทศญี่ปุ่นหลังการเซ็นสัญญาสันติภาพภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  ขณะเข้าไปในเมืองนะงะซะกิที่พังพินาศ นั่นคือประสบการณ์น่าเศร้าที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตข้าพเจ้า เมืองส่วนใหญ่ถูกทำลายย่อยยับ ผู้เสียชีวิตบางส่วนยังไม่ได้ฝัง ในฐานะกองกำลังยึดครอง เราตั้งศูนย์บัญชาการและออกไปทำงาน

“สถานการณ์หดหู่ยิ่งนัก พวกเราบางคนต้องการให้มากกว่านี้ เราจึงไปหาบาทหลวงประจำกองเพื่อขออนุญาตช่วยสร้างโบสถ์คริสเตียนขึ้นใหม่ เนื่องจากข้อกำหนดของรัฐระหว่างสงคราม โบสถ์เหล่านี้แทบจะดำเนินต่อไปไม่ได้ อาคารที่มีน้อยอยู่แล้วก็เสียหายอย่างหนัก กลุ่มของเราอาสาซ่อมแซมและฉาบปูนโบสถ์เหล่านี้ใหม่ในช่วงนอกเวลางานเพื่อให้มีโบสถ์ไว้จัดพิธีทางศาสนาคริสต์อีกครั้ง

“เราไม่รู้ภาษาในท้องที่ เท่าที่เราทำได้คือออกแรงซ่อมอาคาร เราพบศาสนาจารย์ที่ไม่สามารถทำหน้าที่ในช่วงสงคราม และขอให้พวกเขากลับมาที่แท่นพูดอีกครั้ง เรามีประสบการณ์ยอดเยี่ยมกับคนเหล่านี้เมื่อพวกเขามีอิสระเสรีที่จะปฏิบัติตามความเชื่อชาวคริสต์อีกครั้ง

“เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นขณะเราออกจากนะงะซะกิเพื่อกลับบ้าน ซึ่งข้าพเจ้าจะไม่มีวันลืม ขณะกำลังขึ้นรถไฟเพื่อเดินทางไปขึ้นเรือกลับบ้าน เราถูกเยาะเย้ยโดยนาวิกโยธินคนอื่นๆ ซึ่งมีแฟนสาวมากล่าวคำร่ำลา พวกเขาหัวเราะเยาะเราและบอกว่าเราพลาดความสนุกของการอยู่ในญี่ปุ่นเสียแล้ว เราเสียเวลาไปกับการลงแรงฉาบผนังโดยไม่ได้อะไร

“ขณะที่พวกเขากำลังเยาะเย้ยอย่างสนุกสนาน ตรงเนินเขาใกล้สถานีรถไฟมีชาวญี่ปุ่นที่เป็นชาวคริสต์กว่า 200 คนจากบรรดาโบสถ์ที่เราไปซ่อม กำลังร้องเพลง ‘เหล่าทหารพระคริสต์เจ้า’ พวกเขาลงมามอบของขวัญมากมายให้เรา ต่อมาทุกคนยืนเรียงแถวขนานไปกับรางรถไฟ พอรถไฟเริ่มเคลื่อนออกจากสถานีเรายื่นมือออกไปจนแตะได้เพียงปลายนิ้วพวกเขา เราพูดไม่ออกด้วยความรู้สึกตื้นตันยิ่ง แต่รู้สึกขอบคุณที่เราได้ช่วยเล็กๆ น้อยๆ ในการสถาปนาคริสต์ศาสนาขึ้นอีกครั้งในประเทศหนึ่งหลังสงคราม

“ข้าพเจ้ารู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์ เราเป็นบุตรธิดาของพระองค์และพระองค์ทรงรักเรา พระองค์ทรงส่งพระบุตรมาบนโลกเพื่อพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ให้แก่มนุษยชาติทั้งปวง ผู้ที่น้อมรับพระกิตติคุณของพระองค์และติดตามพระองค์จะได้รับชีวิตนิรันดร์ ของประทานสำคัญที่สุดในของประทานทั้งปวงของพระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้ารู้ว่าพระองค์ทรงกำกับดูแลการฟื้นฟูพระกิตติคุณบนแผ่นดินโลกอีกครั้งโดยผ่านการปฏิบัติศาสนกิจของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ปีติและความสุขที่ยั่งยืนเพียงอย่างเดียวที่เราจะพบได้ระหว่างความเป็นมรรตัยจะเกิดขึ้นโดยการทำตามพระผู้ช่วยให้รอด เชื่อฟังกฎและรักษาพระบัญญัติของพระองค์ พระองค์ทรงพระชนม์ นี่คือพยานของข้าพเจ้าต่อท่านในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสต์ เอเมน” 8

ลองนึกถึงความสำคัญของการใช้เวลาของทหารบางคนในการฟื้นฟูโบสถ์ชาวคริสต์โดยเปรียบเทียบกับทหารคนอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ไม่สลักสำคัญ เบาปัญญา หรือชั่วร้าย โปรดไตร่ตรองและเลือกใช้เวลาของท่านอย่างเหมาะสม

การชมวีดิทัศน์นี้ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงความทรงจำในสมัยเป็นเด็กเมื่อข้าพเจ้าอายุห้าขวบ ประธานสเตคของเราคือบิดาของเอ็ลเดอร์เพอร์รีย์ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ท่านให้ทหารผ่านศึกทุกคนนั่งบนยกพื้นในโบสถ์ระหว่างการประชุมศีลระลึก พวกเขาแต่งกายในเครื่องแบบทหารที่ดีที่สุดและแต่ละคนแสดงประจักษ์พยานสั้นๆ ประธานเพอร์รีย์ร้องไห้ขณะที่ลูกชายสองคนของท่าน เอ็ลเดอร์เพอร์รีย์และเท็ด น้องชายของท่านแสดงประจักษ์พยาน ในฐานะที่เป็นเด็กเล็กๆ สิ่งนี้สร้างแรงบันดาลใจและทำให้ข้าพเจ้าประทับใจ ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าพวกเขาพูดอะไรแต่จำได้ถึงความรู้สึกที่มีในเวลานั้น

ดังที่ท่านเห็นแบบอย่างของเอ็ลเดอร์เพอร์รีย์ในวีดิทัศน์นี้ ข้าพเจ้าไม่ได้พูดให้ท่านติดป้ายบนแขนเสื้อให้คนรู้ว่าท่านนับถือศาสนาใดหรือซื่อสัตย์แต่เพียงผิวเผิน สิ่งเหล่านั้นอาจทำให้ท่านและศาสนจักรอึดอัดใจ ข้าพเจ้าพูดถึงว่าท่านควรเป็นคนที่ท่านควรเป็น เมื่อเราเขียนคู่มือผู้สอนศาสนา สั่งสอนกิตติคุณของเรา เรารู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ตลอดชีวิตของผู้สอนศาสนาและสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทที่ 6 “ข้าพเจ้าจะพัฒนาคุณลักษณะเหมือนอย่างพระคริสต์อย่างไร” ขณะที่ท่านพยายามทำส่วนของท่านและระบุคุณลักษณ์ที่ท่านอยากจะพัฒนา ท่านควร “เขียนและศึกษา…ข้อความพระคัมภีร์ที่สอนเกี่ยวกับคุณลักษณะเหล่านั้น” “ตั้งเป้าหมายและวางแผนนำคุณลักษณะนั้นมาใช้ในชีวิตของท่าน” และ “สวดอ้อนวอนขอให้พระเจ้าช่วยท่านพัฒนาคุณลักษณะนั้น” 9 เมื่อทำสิ่งนี้ท่านจะต้องไม่สวมหน้ากากและซ่อนอัตลักษณ์ที่แท้จริงของท่าน

บางท่านอาจจำนนต่อพฤติกรรมที่เลยเถิดเกินกว่าความสนุกสนาน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสื่อลามกหรือการผิดศีลธรรมในรูปแบบอื่นกำลังแสดงบทบาทต่างไปจากสิ่งที่พวกเขาอยากเป็นจริงๆ หรือควรจะเป็น น่าสนใจว่าแทบทุกคนที่เกี่ยวข้องกับสื่อลามกสวมอัตลักษณ์ปลอมและเกี่ยวข้องอย่างลับๆ พวกเขาอำพรางพฤติกรรมที่รู้ว่าน่าประณามและเป็นอันตรายต่อทุกคนที่พวกเขาห่วงใย สื่อลามกเป็นโรคระบาดที่ไม่เพียงเป็นภัยต่อฐานะทางศีลธรรมที่บุคคลมีต่อพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น แต่ยังสามารถทำลายชีวิตแต่งงานและครอบครัวตลอดจนเป็นผลร้ายต่อสังคมอีกด้วย การติดอินเทอร์เน็ตรวมทั้งสื่อลามกล้วนทำร้ายชีวิตแต่งงาน10 เมื่อท่านมุ่งหน้าสู่การแต่งงาน ท่านต้องไม่สวมหน้ากากซ่อนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมซึ่งจะเป็นภัยต่อท่านหรือชีวิตแต่งงานของท่าน

สำหรับผู้ถลำตัวเข้าไปสู่นิสัยอันตรายเช่นนี้ ขอให้มั่นใจว่าท่านสามารถกลับใจได้ และท่านจะได้รับการเยียวยา การกลับใจจะต้องมาก่อนการเยียวยา การเยียวยาอาจต้องใช้เวลานาน อธิการของท่านสามารถให้คำปรึกษาถึงวิธีที่ท่านจะได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็นต่อการเยียวยา เราได้ขอให้อธิการแนะนำท่านให้พบกับผู้ที่จะช่วยท่านได้ดีที่สุด

นอกเหนือจากสื่อลามกและการผิดศีลธรรมทางเพศ ยังมีพฤติกรรมแอบแฝงอื่นๆ ที่เป็นพิษต่อสังคมและบ่อนทำลายศีลธรรมพื้นฐาน ทุกวันนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะซ่อนอัตลักษณ์เมื่อเขียนข้อความออนไลน์ในลักษณะมุ่งร้าย เผ็ดร้อน แข็งกร้าว บางคนเรียกว่าวาจาเผาไหม้ สถาบันบางแห่งพยายามคัดกรองความคิดเห็น อาทิ New York Times จะไม่ยอมรับความคิดเห็นที่เป็น “การวิพากษ์วิจารณ์ส่วนตัว หยาบโลน หยาบคาย ลบหลู่…แอบอ้าง ไร้เหตุผลสัมพันธ์กัน และก้าวร้าว …

“นอกจากนี้ The Times ยังส่งเสริมการใช้ชื่อจริงเนื่องจาก ‘เราพบว่าคนที่ใช้ชื่อตนเองจะรักษาการสนทนาให้มีความเคารพและน่าพึงใจมากกว่า’” 11

อัครสาวกเปาโลเขียนว่า

“อย่าหลงเลย การคบคนชั่วย่อมเสียนิสัย

“ท่านทั้งหลายจงกลับมาสู่ความชอบธรรมและอย่าทำผิดอีกเลย เพราะว่าบางคนไม่รู้จักพระเจ้า” (1 โครินธ์ 15:33–34)

เป็นที่ชัดเจนว่าการสื่อสารที่ชั่วร้ายไม่ใช่เรื่องของมารยาทที่ไม่ดีเท่านั้น แต่หากวิสุทธิชนยุคสุดท้ายสื่อสารเช่นนั้น จะส่งผลลบต่อผู้ไม่รู้เกี่ยวกับพระเจ้าหรือไม่มีประจักษ์พยานในพระผู้ช่วยให้รอด

การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อระราน ทำลายชื่อเสียง หรือทำให้บุคคลหนึ่งมัวหมองเป็นสิ่งน่าประณาม สิ่งที่เราเห็นในสังคมคือเมื่อผู้คนสวมหน้ากากนิรนาม พวเขามีแนวโน้มจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมประเภทนี้ซึ่งอันตรายอย่างยิ่งต่อการถกด้วยเหตุและผล ทั้งยังละเมิดหลักธรรมพื้นฐานที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนอีกด้วย

ข่าวสารพื้นฐานอย่างหนึ่งในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ซึ่งท่านเรียนรู้แต่วัยเยาว์คือ “เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก จนได้ทรงประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์” (ยอห์น 3:16; ดู D&C 34:3 ด้วย) พระผู้ช่วยให้รอดทรงอธิบายว่าพระองค์มิได้มาเพื่อพิพากษาลงโทษโลก แต่เพื่อช่วยกู้โลกให้รอด จากนั้นทรงอธิบายว่าการพิพากษาลงโทษหมายถึง

การที่ “ความสว่างได้เข้ามาในโลกแล้ว แต่มนุษย์ได้รักความมืดมากกว่ารักความสว่าง เพราะกิจการของเขาเลวทราม

“เพราะทุกคนที่ประพฤติชั่วก็เกลียดความสว่าง และไม่มาถึงความสว่าง ด้วยกลัวว่าการกระทำของตนจะปรากฏ

“แต่ผู้ที่ประพฤติชอบก็มาสู่ความสว่าง เพื่อให้เห็นว่าการกระทำของเขานั้นได้กระทำโดยพึ่งพระเจ้า” (ยอห์น 3:19–21; ดู ข้อ 17–21)

คนชอบธรรมไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากเพื่อซ่อนอัตลักษณ์ของตน ข้าพเจ้าชอบเรื่องจริงนี้จากชีวิตประธานโธมัส เอส. มอนสัน ท่านอายุครบสิบแปดปีช่วงใกล้สิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง  อันที่จริง สงครามในยุโรปจบลงแล้ว แต่ในแปซิฟิกยังไม่จบ

ท่านถูกเกณฑ์เข้าไปในกองทัพเรือสหรัฐและล่องเรือไปแซนดีเอโก แคลิฟอร์เนีย คงจำกันได้ถึงเรื่องที่ท่านเล่าในการประชุมใหญ่สามัญครั้งที่ผ่านมา วันอาทิตย์แรกนายสิบฝึกหัดทหารให้ทุกคนตั้งแถวเพื่อไปโบสถ์ เขาส่งคาทอลิกไปที่หนึ่ง ยิวอีกที่หนึ่ง และพยายามส่งคนที่เหลือไปการประชุมของโปรเตสแตนต์ ประธานมอนสันกล่าวว่าท่านรู้ว่าท่านไม่ใช่คาทอลิก ไม่ใช่ยิวหรือโปรเตสแตนต์ แต่ท่านเป็นมอรมอน ท่านกล้าที่จะยืนอยู่กับที่และก็ดีใจที่พบว่ามีสมาชิกซื่อสัตย์คนอื่นๆ ยืนอยู่ข้างหลัง คงง่ายที่จะไปการประชุมโปรเตสแตนต์กับคนกลุ่มใหญ่ แต่ท่านเด็ดเดี่ยวที่จะให้คนรู้ว่าท่านเป็นใครและทำในส่วนของท่านที่ควรทำ12

ตั้งเป้าหมายที่เหมาะสม

คำแนะนำที่สามของข้าพเจ้าเกี่ยวกับเป้าหมายบางอย่างที่ท่านพึงพิจารณา ประมาณช่วงเดียวกันที่เอ็ลเดอร์เพอร์รีย์อยู่ในญี่ปุ่นกับกองทัพเรือ ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ประจำการในญี่ปุ่นกับกองทัพอากาศช่วงใกล้สิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง 

ในคำปราศรัยของท่านที่การฉลองครบ 100 ปีเซมินารีเมื่อวันที่ 22 มกราคมปีนี้ ท่านอธิบายว่านั่นคือช่วงเวลาที่มีสาระมากในชีวิตท่าน13 ในปี 2004 ข้าพเจ้าไปญี่ปุ่นกับประธานแพคเกอร์และคนอื่นๆ ท่านมีโอกาสรำลึกถึงชีวิตบางช่วงพร้อมกับประสบการณ์และการตัดสินใจบางอย่างที่ท่านทำในเวลานั้น ท่านเล่าบางเรื่องในคำปราศรัยเซมินารีของท่าน ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตให้เล่าความคิดความรู้สึกอื่นๆ ให้พวกท่านฟังได้

ประธานแพคเกอร์เล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นบนเกาะห่างจากฝั่งโอะกินะวะ ท่านถือว่านี่คือภูเขาของท่านในแดนทุรกันดาร การเตรียมพร้อมส่วนตัวและการพบปะกับสมาชิกคนอื่นๆ ทำให้ความเชื่อที่ท่านมีในคำสอนพระกิตติคุณลึกซึ้งขึ้น สิ่งที่ท่านยังขาดคือการยืนยัน---ความรู้อันมั่นคงถึงสิ่งที่ท่านรู้สึกมาแล้วว่าเป็นความจริง

จากนั้นผู้เขียนชีวประวัติของประธานแพคเกอร์บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นดังนี้ “ขณะที่แสวงหาความสงบจากการยืนยันที่แสวงหา ท่านกลับต้องเผชิญซึ่งหน้ากับนรกที่ต้องทำสงครามกับผู้บริสุทธิ์ ขณะหาเวลาครุ่นคิดเพียงลำพัง วันหนึ่งท่านปีนขึ้นไปที่สูงเหนือมหาสมุทร ที่นั่นท่านพบซากกระท่อมซึ่งชาวบ้านทิ้งไว้อย่างน่าเสียดาย มีไร่มันรกร้างอยู่ใกล้ๆ ท่ามกลางพืชผลที่กำลังจะตายท่านเห็นซากศพของแม่กับลูกสองคนที่ถูกฆ่า นั่นทำให้ท่านเศร้าโศกอย่างยิ่งระคนความรู้สึกรักที่มีต่อครอบครัวท่านเองและต่อทุกครอบครัว” 14

ต่อมาท่านเข้าไปข้างในหลุมหลบภัยชั่วคราวเพื่อใคร่ครวญ ไตร่ตรอง และสวดอ้อนวอนที่นั่น ประธานแพคเกอร์อธิบายขณะทบทวนเหตุการณ์นี้ซึ่งข้าพเจ้าจะเรียกว่าเป็นประสบการณ์ยืนยันทางวิญญาณ ท่านรู้สึกได้รับการดลใจว่าควรทำอย่างไรกับชีวิต แน่นอนท่านไม่ทราบว่าจะได้รับเรียกมาสู่การเรียกอันสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ที่ดำรงอยู่ขณะนี้ สิ่งที่ท่านเห็นคือท่านอยากเป็นครูที่เน้นคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านตัดสินใจดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม

ท่านเข้าใจค่อนข้างลึกซึ้งว่าท่านจะต้องหาภรรยาที่ชอบธรรมและสร้างครอบครัวใหญ่ด้วยกัน ทหารหนุ่มคนนี้ตระหนักว่างานอาชีพที่เลือกจะให้ค่าตอบแทนแบบพอเพียงและคู่รักของท่านจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องเดียวกันและเต็มใจดำเนินชีวิตโดยปราศจากวัตถุปัจจัยบางอย่าง สำหรับท่านที่คุ้นเคยกับซิสเตอร์ดอนนา แพคเกอร์ เธอเป็นคู่ที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับประธานแพคเกอร์ แม้จะไม่เคยมีเงินเหลือมากพอ แต่ทั้งสองท่านไม่เคยรู้สึกขาดอะไร พวกท่านเลี้ยงดูบุตรธิดา 10 คนและนั่นเรียกร้องการเสียสละ เวลานี้ท่านมีหลาน 60 คนและเหลน 79 คน

ข้าพเจ้าจำได้ถึงความรู้สึกอ่อนโยนเมื่อได้รู้ว่าท่านลำบากใจขณะเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ใหม่ๆ ที่ต้องไปการประชุมผู้นำศาสนจักรกับเจ้าหน้าที่อาวุโสท่านหนึ่งเพราะท่านไม่มีเสื้อขาวดีพอที่จะใส่

ข้าพเจ้าเล่าเรื่องจริงนี้ให้ท่านฟังเพราะบ่อยครั้งเหลือเกินที่เป้าหมายของเราตั้งอยู่บนสิ่งที่โลกตีค่า องค์ประกอบสำคัญค่อนข้างเรียบง่ายสำหรับสมาชิกที่ได้รับศาสนพิธีแห่งความรอด นั่นคือ เป็นคนชอบธรรม สร้างครอบครัว หาเลี้ยงด้วยวิธีที่เหมาะสม รับใช้ตามที่ได้รับเรียก เตรียมพร้อมพบกับพระผู้เป็นเจ้า

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่า “ชีวิตของคนมิได้อยู่ในการที่มีของฟุ่มเฟือย” (ลูกา 12:15) จากนั้นพระองค์ทรงใช้อุปมาดังนี้

“ไร่นาของเศรษฐีคนหนึ่งเกิดผลบริบูรณ์มาก

“เศรษฐีคนนั้นจึงคิดในใจว่า 'เราจะทำอย่างไรดี เพราะว่าเราไม่มีที่ที่จะเก็บผลของเรา'

“เขาจึงคิดว่า เราจะทำอย่างนี้ คือจะรื้อยุ้งฉางของเราเสียและจะสร้างใหม่ให้โตขึ้น แล้วเราจะรวบรวมข้าวและสมบัติทั้งหมดของเราไว้ที่นั่น

“แล้วเราจะว่าแก่จิตใจของเราว่า ‘จิตใจเอ๋ยเจ้ามีทรัพย์สมบัติมากเก็บไว้พอหลายปี จงอยู่สบาย กิน ดื่ม และ รื่นเริงเถิด'

“แต่พระเจ้าตรัสแก่เขาว่า 'โอ คนโง่ ในคืนวันนี้ชีวิตของเจ้าจะต้องเรียกเอาไปจากเจ้า แล้วของซึ่งเจ้าได้รวบรวมไว้นั้นจะเป็นของใครเล่า'

“คนที่สั่งสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตัว และมิได้มั่งมีจำเพาะพระเจ้าก็เป็นเช่นนั้นแหละ” (ลูกา 12:16–21)

สร้างประเทศและชุมชนที่ท่านอาศัยอยู่

นอกเหนือจากคุณลักษณะ คุณสมบัติ และการตัดสินใจส่วนตัวแล้ว หากท่านจะเป็นคนยุคที่ท่านต้องเป็น ท่านต้องสร้างประเทศและชุมชนที่ท่านอาศัยอยู่ ยุคของท่าน เช่นกันกับยุคที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จะต้องปกป้องความชอบธรรมและเสรีภาพทางศาสนา มาตรฐานจูเดโอ-คริสเตียนที่เราสืบทอดมาไม่เพียงเป็นสิ่งล้ำค่าเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต่อแผนของพระบิดาในสวรรค์เช่นกัน เราต้องปกปักรักษาไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง เราต้องร่วมกับคนดีๆ ทั้งในศาสนาอื่นทุกศาสนา—โดยเฉพาะผู้ที่รู้สึกว่าต้องชี้แจงการกระทำของตนเองต่อพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาคือคนที่จะเข้าใจเหตุผลที่เราพูดวันนี้เกี่ยวกับ “ไม่ว่าท่านเป็นใคร จงทำส่วนของท่านให้ดี” ค่านิยมจูเดโอ-คริสเตียนและเสรีภาพทางศาสนาที่มีมากขึ้นจะทำให้ยุคของท่านเป็นยุคที่ยิ่งใหญ่อย่างที่ควรเป็น

ด้วยความท้าทายที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองกังวลเป็นพิเศษอยากให้ท่านมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองในประเทศของท่านอย่างเหมาะสม ศาสนจักรเป็นกลางในการแข่งขันทางการเมืองและไม่ได้สนับสนุนผู้ลงสมัครคนใดหรือพรรคใด แต่เราคาดหวังให้สมาชิกของเราร่วมสนับสนุนผู้ลงสมัครและพรรคที่ตนเลือกอย่างเต็มที่ตามหลักการอันจะปกป้องการปกครองที่ดี หลักคำสอนของเราชัดเจนคือ ควรแสวงหาคน “ซื่อสัตย์” และ “ผู้มีปัญญา…อย่างขยันหมั่นเพียร” (คพ. 98:10) “เมื่อคนชั่วร้ายปกครองผู้คนโศกเศร้า” (คพ. 98:9) นี่หมายความว่าทุกคนควรสำนึกในหน้าที่ลงคะแนนเสียง

ในรัฐของสหรัฐที่มีการประชุมลับของพรรคการเมือง ท่านต้องรู้จักประเด็นและผู้ลงสมัครเป็นอย่างดีและมีส่วนร่วมเต็มที่ ตัวอย่างเช่น การประชุมลับของพรรคต่างๆ ในยูทาห์และไอดาโฮจะจัดขึ้นตั้งแต่สัปดาห์นี้เรื่อยไปจนถึงกลางเดือนเมษายน หากท่านไปร่วม ท่านจะได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วม เราขอให้ท่านตรวจสอบเวลาประชุมของพรรคที่ท่านเลือกและสำนึกว่าเป็นหน้าที่ในการเข้าร่วม รวมถึงประชาชนทุกคนด้วย ทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิกในทุกรัฐและทุกประเทศที่จัดการเลือกตั้ง เสรีภาพมีค่าสูงและผลจากการไม่มีส่วนร่วมใหญ่หลวงเกินกว่าที่ประชาชนคนใดจะรู้สึกว่าตนเพิกเฉยต่อหน้าที่รับผิดชอบนี้ได้

ขอให้ท่านทราบว่าเราเชื่อมั่นในตัวท่านอย่างยิ่ง ผู้นำในศาสนจักรเชื่ออย่างสัตย์จริงว่าท่านจะเสริมสร้างอาณาจักรได้อย่างหายุคใดเหมือน ท่านไม่เพียงมีความรักความเชื่อมั่นจากเราเท่านั้น แต่มีคำสวดอ้อนวอนและพรจากเราด้วย เรารู้ว่าความสำเร็จของยุคท่านสำคัญยิ่งต่อการสถาปนาศาสนจักรอย่างต่อเนื่องและการเติบโตของอาณาจักร เราสวดอ้อนวอนขอให้ท่านทำส่วนของท่านให้ดี เมื่อท่านเลี่ยงการสวมหน้ากาก กระทำตามอัตลักษณ์ที่แท้จริงของท่าน ตั้งเป้าหมายที่เหมาะสม สร้างประเทศและชุมชนที่ท่านอาศัยอยู่

ข้าพเจ้าปิดท้ายด้วยพยานส่วนตัวถึงการฟื้นฟูพระกิตติคุณผ่านการเป็นเครื่องมือของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ โจเซฟ สมิธเห็นพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระเยซูคริสต์จริงๆ พระบิดาในสวรรค์ของเราทรงเป็นบิดาที่เปี่ยมด้วยรัก ทรงมีแผนอันเป็นพรแก่ลูกทุกคนของพระองค์ พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเราและการชดใช้ของพระองค์เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ทั้งหมด พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงดูแลเราและเป็นพยานถึงพระบิดาและพระบุตร ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงสิ่งเหล่านี้ในฐานะพยานคนหนึ่งของพระผู้ช่วยให้รอด ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. David O. McKay, in Francis M. Gibbons, David O. McKay: Apostle to the World, Prophet of God (1986), 45; see also “Pres. McKay Speaks to Pioneer Stake Youth,” Church News, Sept. 21, 1957, 4.

  2. ไมเคิล ออตเตอร์สัน คือผู้อำนวยการบริหารแผนกประชาสัมพันธ์ของศาสนจักร.

  3. ดู โจเซฟ ฟ็อกซ์แมน, In the Shadow of Death (2011), หน้า 10.

  4. พบปะกับอับราฮัม ฟอกซ์แมนที่สำนักงานของเขาในนิวยอร์กซิตี้, นิวยอร์ก, เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 2011.

  5. มาร์ก แอล. สเตเคอร์, “Remembering Hiram, Ohio,” Ensign, ต.ค. 2002, 35, 37.

  6. ดู คำสอนของประธานศาสนจักร:โจเซฟ สมิธ (2007),  575

  7. “จริงต่อศรัทธา, ” Hymns, no. 129.

  8. แอล. ทอม เพอร์รีย์, คัดลอกจาก Special Witnesses of Christ (DVD, 2003).

  9. สั่งสอนกิตติคุณของเรา: แนวทางการรับใช้งานเผยแผ่ศาสนา [2004], หน้า 133; ดู หน้า 125–138.

  10. ดู Elizabeth Stuart, “Internet Addiction Harming Marriage,” Deseret News, July 20, 2011, http://www.deseretnews.com/article/700164510/Internet-addiction-harming-marriage.html.

  11. Mark Brent, in “The Public Forum,” The Salt Lake Tribune, July 27, 2011, A16.

  12. ดู โธมัส เอส. มอนสัน, “กล้ายืนคนเดียว,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, หน้า 78–79; ดู Heidi Swinton, To the Rescue: The Biography of Thomas S. Monson (2010), 96–97 ด้วย.

  13. ดู บอยด์ เค. แพคเกอร์, “วิธีอยู่รอดในแดนศัตรู,” การฉลอง 100 ปีเซมินารี การถ่ายทอด, 22 ม.ค., 2012, http://seminary.lds.org/history/centennial/eng/how-to-survive-in-enemy-territory/.

  14. Lucile C. Tate, Boyd K. Packer: A Watchman on the Tower (1995), 58–59.