2010–2019
“จำไว้ให้ดี ความเมตตาเริ่มที่เรา”
เมษายน 2011


“จำไว้ให้ดี ความเมตตาเริ่มที่เรา”

ความมีเมตตาสามารถนำปีติและความเป็นหนึ่งเดียวมาสู่บ้านของท่าน ห้องเรียนของท่าน วอร์ดของท่าน และโรงเรียนของท่าน

ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันเรียนรู้บทเรียนสำคัญจากกุลสตรีคนหนึ่งที่เป็นผู้พูดเยาวชนในวอร์ดดิฉัน ดิฉันประทับใจเมื่อเธอสอนและเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ด้วยความเชื่อมั่น เธอจบการพูดด้วยข้อความว่า “เมื่อฉันทำให้พระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางในชีวิต ชีวิตฉันราบรื่นขึ้น ฉันมีความโอบอ้อมอารีต่อคนที่ฉันรักมากขึ้น และฉันเต็มไปด้วยปีติ”

ดิฉันสังเกตเยาวชนหญิงคนนี้อยู่ห่างๆ ตลอดสองสามเดือนที่ผ่านมา เธอทักทายทุกคนด้วยแววตาเปล่งประกายและรอยยิ้มบนใบหน้า ดิฉันเฝ้ามองเธอยินดีกับความสำเร็จของเยาวชนคนอื่นๆ ยุวนารีสองคนรายงานดิฉันว่าเยาวชนหญิงคนนี้ตัดสินใจยกเลิกบัตรชมภาพยนตร์เมื่อเธอรู้ว่านั่นจะไม่ใช่ประสบการณ์ที่เป็น “คุณธรรมและงดงาม”1 เธอมีความรัก โอบอ้อมอารี และเชื่อฟัง เธอมาจากครอบครัวที่มีพ่อแม่ตัวคนเดียว และชีวิตเธอประสบการท้าทายมาโดยตลอด ดิฉันจึงสงสัยมาโดยตลอดว่าเธอรักษาวิญญาณที่มีความสุขและอ่อนโยนของเธอด้วยวิธีใด แต่เมื่อเยาวชนหญิงคนนี้กล่าวคำพยานว่า “ฉันให้พระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางในชีวิต” ดิฉันจึงได้รับคำตอบ

“เราเชื่อในการเป็นคนซื่อสัตย์, แน่วแน่, บริสุทธิ์, มีเมตตา, มีคุณธรรม, และในการทำดีต่อมนุษย์ทั้งปวง” รายการที่เขียนไว้อย่างไพเราะของคุณลักษณะแบบพระคริสต์ในหลักแห่งความเชื่อข้อสิบสามนี้จะเตรียมเราให้พร้อมรับพรพระวิหารและชีวิตนิรันดร์

ดิฉันต้องการมุ่งเน้นคำหนึ่งในคำเหล่านี้—นั่นคือคำว่า มีเมตตามีเมตตา (Benevolent) เป็นคำไพเราะที่เราไม่ค่อยได้ยินบ่อยนัก มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินแปลว่า “ปรารถนาดีต่อผู้อื่น”2 การมีเมตตาคือมีความโอบอ้อมอารี มีเจตนาดี และมีจิตกุศล หลายท่านเรียนรู้แนวคิดเกี่ยวกับความมีเมตตาสมัยอยู่ในปฐมวัยและจำเพลงนี้ได้ขึ้นใจ

ฉันจะเมตตาต่อผู้คนถ้วนหน้า

เพราะว่านั่นเป็นสิ่งดี

ฉันพูดกับตัวเองว่า “จำไว้ให้ดี

ความเมตตาเริ่มที่เรา”3

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเราเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตอย่างมีเมตตา พระเยซูทรงรักทุกคนและทรงรับใช้ทุกคน การทำให้ชีวิตเรามีศูนย์กลางที่พระเยซูคริสต์จะช่วยให้เรามีคุณลักษณะแห่งความเมตตา เพื่อให้เราพัฒนาคุณสมบัติแบบพระคริสต์เช่นเดียวกันนี้ เราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและ “ดำเนินในวิถีของพระองค์”4

จากคำอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดีเราเรียนรู้ว่าเราต้องรักทุกคน เรื่องราวเริ่มต้นในลูกาบทที่ 10 เมื่อบาเรียนคนหนึ่งทูลถามพระผู้ช่วยให้รอดว่า “ข้าพเจ้าจะต้องทำอะไรเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร์”

คำตอบคือ “จงรักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจของเจ้า ด้วยสุดกำลังและสิ้นสุดความคิดของเจ้า และจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง”

บาเรียนคนนั้นจึงทูลถามต่อว่า “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า” นั่นเป็นคำถามน่าสนใจที่บาเรียนคนหนึ่งจะถาม เนื่องจากชาวยิวมีเพื่อนบ้านอยู่ทางเหนือคือชาวสะมาเรียซึ่งพวกเขาไม่ชอบอย่างมากถึงขนาดที่เมื่อต้องเดินทางจากเยรูซาเล็มไปกาลิลี พวกเขายอมเดินไกลขึ้นเพื่อผ่านไปทางหุบเขาจอร์แดนโดยไม่เดินผ่านเมืองสะมาเรีย

พระเยซูทรงตอบคำถามของบาเรียนโดยทรงเล่าคำอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดี ดังนี้

“มีชายคนหนึ่งลงไปจากกรุงเยรูซาเล็มจะไปยังเมืองเยรีโค และเขาถูกพวกโจรปล้น โจรนั้นได้แย่งชิงเสื้อผ้าของเขาและทุบตี แล้วก็ละทิ้งเขาไว้เกือบจะตายแล้ว …

“แต่ชาวสะมาเรียคนหนึ่ง เมื่อเดินทางมาถึงคนนั้น ครั้นเห็นแล้วก็มีใจเมตตา

“เข้าไปหาเขาเอาผ้าพันบาดแผลให้พลางเอาน้ำมันกับเหล้าองุ่นเทใส่บาดแผลนั้น แล้วให้เขาขึ้นขี่สัตว์ของตนเอง พามาถึงโรงแรมแห่งหนึ่ง และรักษาพยาบาลเขาไว้

“วันรุ่งขึ้นเมื่อจะไป เขาก็เอาเงินสองเดนาริอันมอบให้เจ้าของโรงแรม บอกว่า จงรักษาเขาไว้เถิด และเงินที่จะเสียเกินนี้ เมื่อกลับมาฉันจะใช้ให้”5

แตกต่างจากปุโรหิตชาวยิวและชาวเลวีที่เดินผ่านชายบาดเจ็บชนชาติเดียวกัน ชาวสะมาเรียคนนี้มีความโอบอ้อมอารีโดยไม่สนใจความแตกต่าง เขาแสดงออกถึงคุณลักษณะของความมีเมตตาแบบพระคริสต์ พระเยซูทรงสอนเราผ่านเรื่องนี้ว่าทุกคนคือเพื่อนบ้านของเรา

เมื่อไม่นานมานี้ที่ปรึกษาคนหนึ่งในฝ่ายอธิการเล่าประสบการณ์ที่สอนว่าเพื่อนบ้านแต่ละคนสำคัญเพียงใด ขณะมองไปยังผู้เข้าร่วมประชุม เขาเห็นเด็กคนหนึ่งถือกล่องสีเทียนบรรจุสีเทียนหลากหลายสี เมื่อมองไปที่สมาชิกหลายคนในวอร์ด ทำให้เขานึกได้ว่าสมาชิกเหล่านั้นเหมือนกับสีเทียน พวกเขาดูคล้ายกัน ทว่าแต่ละคนมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว

เขากล่าวว่า “เฉดสีที่สมาชิกนำมาสู่วอร์ดและโลกนี้เป็นเฉดสีของแต่ละคนล้วนๆ ทุกคนมีความเข้มแข็งและความอ่อนแอของตนเอง มีความปรารถนาและความฝันส่วนตัว แต่เมื่อมาอยู่รวมกันสมาชิกเหล่านั้นผสมกลมกลืนเป็นวงล้อสีเดียวในความเป็นหนึ่งเดียวทางวิญญาณ …

“ความเป็นหนึ่งเดียวคือคุณสมบัติทางวิญญาณอย่างหนึ่ง เป็นความรู้สึกอันหอมหวานแห่งสันติสุขและจุดประสงค์อันมาจากการเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว … คือการต้องการให้ผู้อื่นได้รับสิ่งดีที่สุดมากเท่ากับที่ตนเองต้องการ … คือการรู้ว่าไม่มีใครมาทำอันตรายคุณได้ [นั่นหมายความว่าคุณจะไม่มีวันโดดเดี่ยว]”6

เราสร้างความเป็นหนึ่งเดียวดังกล่าวและแบ่งปันสีเฉพาะตัวของเราผ่านความมีเมตตา อันได้แก่ การแสดงความโอบอ้อมอารีของแต่ละคน

ท่านเคยรู้สึกโดดเดี่ยวหรือไม่ ท่านสังเกตเห็นคนโดดเดี่ยวที่กำลังอยู่ในความทุกข์โศกหรือไม่ เยาวชนหญิงทั้งหลาย ดิฉันเฝ้ามองขณะท่านนำสีเฉพาะตัวของท่านเข้าไปเติมสีสันให้ชีวิตผู้อื่นด้วยรอยยิ้ม คำพูดอ่อนหวาน หรือข้อความให้กำลังใจ

ประธานโธมัส เอส. มอนสันสอนเราถึงวิธีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนของเราและทุกคนที่เราพบเมื่อท่านบอกเยาวชนหญิงของศาสนจักรว่า “เยาวชนหญิงทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอร้องท่านให้กล้าที่จะเลิกตัดสินและวิพากษ์ตำหนิคนรอบข้าง กล้าให้ทุกคนเข้ากลุ่ม ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นที่รักและมีคุณค่า”7

เราสามารถทำตามแบบอย่างของชาวสะมาเรียผู้ใจดีและ “เปลี่ยนโลก” ของคนเพียงหนึ่งคนด้วยการเป็นคนมีเมตตา8 ดิฉันขอเชื้อเชิญให้ท่านแต่ละคนกระทำแบบชาวสะมาเรียอย่างน้อยหนึ่งอย่างในสัปดาห์หน้า ท่านอาจต้องเอื้อมออกไปหาคนอื่นๆ นอกเหนือจากเพื่อนที่คบหาตามปกติ หรือเอาชนะความเขินอายของท่าน ท่านอาจใช้ความกล้าหาญเลือกรับใช้คนที่ปฏิบัติไม่ดีต่อท่าน ดิฉันสัญญาว่าหากท่านจะทำนอกเหนือจากสิ่งที่ทำง่ายๆ ท่านจะรู้สึกดีมากในใจที่ความโอบอ้อมอารีจะเริ่มเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของท่าน ท่านจะเห็นว่าความมีเมตตาสามารถนำปีติและความเป็นหนึ่งเดียวมาสู่บ้านของท่าน ห้องเรียนของท่าน วอร์ดของท่าน และโรงเรียนของท่าน “จำไว้ให้ดี ความเมตตาเริ่มที่เรา”

พระผู้ช่วยให้รอดไม่เพียงทรงรักทุกคนเท่านั้น พระองค์ทรงรับใช้ทุกคนด้วย จงขยายคุณความดีของท่านออกไปสู่คนมากมาย คนทุกรุ่นทุกวัยสามารถได้รับพรจากการรับใช้ที่โอบอ้อมอารีของท่าน ตั้งแต่สมัยประธานมอนสันยังเป็นเด็กหนุ่ม ท่านมีที่พิเศษในใจแก่ผู้สูงวัยเสมอ ท่านตระหนักถึงคุณค่าของการแวะไปเยี่ยม การยิ้มแย้มหรือการบีบมือบอบบาง เหี่ยวย่น การกระทำอันเรียบง่ายที่แสดงถึงจิตกุศลเช่นนั้นนำสีสันมาสู่ชีวิตหนึ่งที่บางครั้งอยู่ในวันเวลาแห่งความเศร้าหมองที่โดดเดี่ยวและยาวนาน ดิฉันขอเชื้อเชิญให้ท่านแต่ละคนเอาใจใส่ปู่ย่าตายายของท่านและผู้สูงวัย มองไปรอบๆ ที่โบสถ์ในวันพรุ่งนี้และหาผู้ที่ท่านจะเติมสีของท่านในชีวิตพวกเขาได้ ท่านไม่ต้องทำอะไรมาก---เพียงแต่เรียกชื่อทักทาย พูดคุยสั้นๆ และคอยช่วยเหลือ ท่านอาจเปิดประตูให้หรือขอไปช่วยงานบ้านหรือทำสวน งานซึ่งท่านที่อายุยังน้อยคิดว่าเป็นงานง่ายๆ อาจเป็นเรื่องหนักหนาสำหรับคนสูงอายุก็ได้ “จำไว้ให้ดี ความเมตตาเริ่มที่เรา”

บางครั้งการมีเมตตาเป็นเรื่องยากที่สุดในครอบครัวเราเอง ครอบครัวจะเข้มแข็งต้องใช้ความพยายาม “จงร่าเริง ช่วยเหลือ และนึกถึงผู้อื่น ปัญหามากมายภายในบ้านเกิดขึ้นเพราะสมาชิกในครอบครัวพูดและกระทำอย่างเห็นแก่ตัวหรือไร้ความเมตตา จงเอาใจใส่กับความต้องการของสมาชิกคนอื่นๆ ของครอบครัว แสวงหาที่จะเป็นผู้สร้างสันติแทนที่จะเยาะเย้ย ลงไม้ลงมือ และทะเลาะเบาะแว้ง”9 “จำไว้ให้ดี ความเมตตาเริ่มที่เรา”

พระเยซูทรงรักเด็กๆ ทรงอุ้มพวกเขา และทรงให้พรพวกเขา10 เฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอด ท่านสามารถเป็นพรแก่เด็กทุกคนได้ด้วยความโอบอ้อมอารีของท่านเช่นกัน ไม่เพียงเฉพาะเด็กๆ ในบ้านท่านเท่านั้น

ท่านอาจไม่รู้ว่าชีวิตและแบบอย่างของท่านจะส่งผลต่อเด็กเล็กๆ อย่างไร ดิฉันเพิ่งได้รับข้อความจากเพื่อนคนหนึ่งที่ดูแลศูนย์รับเลี้ยงเด็กในโรงเรียนมัธยมปลายของท้องที่ ในโรงเรียนมัธยมปลายนี้มีเยาวชนชายหญิงหลายคนเป็นสมาชิกของศาสนจักร เธอเล่าประสบการณ์ให้ดิฉันฟังดังนี้ “ขณะเดินผ่านห้องโถงกับเด็กเล็กๆ ดิฉันรู้สึกดีที่ได้เห็นฝาประตูล็อคเกอร์ด้านในหลายบานมีรูปพระเยซูหรือรูปพระวิหารติดอยู่ เด็กคนหนึ่งเห็นรูปพระเยซูติดอยู่ฝาประตูล็อคเกอร์ที่เปิดอยู่ [ของเยาวชนหญิง] และพูดว่า ‘ดูนั่นสิ พระเยซูอยู่ที่โรงเรียนเราด้วย!’ นักเรียนคนนั้นน้ำตาคลอเมื่อเธอก้มลงกอดเด็ก ดิฉันขอบคุณเยาวชนหญิงคนนั้นสำหรับแบบอย่างที่ดีต่อคนรอบข้างเธอ ช่างเชิดชูจิตวิญญาณที่รู้ว่ามีเยาวชนมากมายที่พยายามยืนหยัดเพื่อความจริงและความชอบธรรม ทำส่วนของตนเองที่จะอัญเชิญพระวิญญาณเข้ามาในชีวิต แม้ว่าบางครั้งจะเป็นเรื่องยากเมื่อมีเสียงรบกวนและความรุนแรงในโลกรอบตัว เรามีเยาวชนที่ยอดเยี่ยมจำนวนหนึ่งในศาสนจักร”

ดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่ง! เยาวชนหญิงทั้งหลาย ท่าน กำลังเปลี่ยนแปลงโลกโดยให้พระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางในชีวิตท่าน ท่านกำลัง “เป็นสิ่งที่พระองค์ประสงค์ให้ท่านเป็น”11

ขอบคุณที่ท่านดำเนินชีวิตอย่างมีเมตตา ไม่ว่าจะเป็นการให้คนที่แตกต่างจากเราเข้ากลุ่มด้วย ความโอบอ้อมอารีที่ท่านมีต่อเพื่อน ผู้สูงวัย ครอบครัวของท่าน และเด็กๆ การที่ท่านเป็นเพื่อนบ้านให้แก่ผู้โดดเดี่ยวและผู้ที่เผชิญการท้าทายและความปวดร้าว เมื่อท่านมีเมตตา ท่านกำลัง “ชี้ทางให้ผู้อื่นไปสู่ความสว่างของพระผู้ช่วยให้รอด”12 ขอบคุณที่ท่านระลึกว่า “ความเมตตาเริ่มที่เรา”

ดิฉันรู้ว่าประธานโธมัส เอส. มอนสันเป็นศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า ชีวิตท่านเป็นต้นแบบของความมีเมตตาที่เราเรียนรู้จากท่านได้ จงทำตามศาสดาพยากรณ์ เรียนรู้จากแบบอย่างของท่านและฟังคำพูดของท่าน ดิฉันเชื่อในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์และรู้ว่าโดยผ่านโจเซฟ สมิธ ฐานะปุโรหิตได้รับการฟื้นฟูสู่แผ่นดินโลก

ดิฉันรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงพระชนม์และทรงรักเราทุกคน พระองค์ทรงสละพระชนม์ชีพของพระองค์เพื่อทุกคน ดิฉันสวดอ้อนวอนขอให้เรามีพระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางในชีวิตและ “ดำเนินตามวิถีของพระองค์” โดยรักและรับใช้กัน13 โดยการทำเช่นนี้ ดิฉันรู้ว่าเราจะทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นเพราะ “เราเชื่อในการเป็นคน … มีเมตตา”14 ดิฉันเป็นพยานถึงสิ่งนี้ ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

  1. ดู หลักแห่งความเชื่อข้อ 13

  2. ดู Oxford English Dictionary Online, 2nd ed. (1989), “benevolent,” oed.com

  3. “ความเมตตาเริ่มที่เรา” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, หน้า 145

  4. “Guardians of Virtue,” Strength of Youth Media 2011: We Believe (ดีวีดี, 2010); และมีที่ lds.org/youth/video/youth-theme-2011-we-believe ด้วย

  5. ลูกา 10:25, 27, 29, 30, 33–35

  6. เจอร์รีย์ เอิร์ล จอห์นสัน, “The Unity in a Ward’s Uniqueness,” Mormon Times, 9 ก.พ. 2011, M1, M12

  7. โธมัส เอส. มอนสัน “ขอให้ท่านกล้าหาญ” เลียโฮนา พ.ค. 2009 หน้า 151

  8. “Guardians of Virtue”

  9. เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน (จุลสาร 2001) หน้า 10

  10. ดู มาระโก 10:16

  11. “Guardians of Virtue”

  12. “Guardians of Virtue”

  13. “Guardians of Virtue”

  14. หลักแห่งความเชื่อข้อ 13