2010–2019
เจ้าควรเป็นคนอย่างไรเล่า
เมษายน 2011


เจ้าควรเป็นคนอย่างไรเล่า

ขอให้ท่านพัฒนาคุณลักษณะแบบพระคริสต์ได้สำเร็จ เพื่อที่รูปลักษณ์ของพระองค์จะจารึกไว้บนสีหน้าของท่านและพระคุณลักษณะของพระองค์จะแสดงให้เห็นในพฤติกรรมของท่าน

จริงๆ แล้ว “จะเป็นหรือไม่เป็น”1 เป็นคำถามที่ดีมาก แต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงตั้งคำถามในวิธีที่ลึกซึ้งยิ่งกว่า ทำให้คำถามนี้เป็นคำถามเชิงหลักคำสอนที่สำคัญยิ่งต่อเราแต่ละคน “เจ้าควร เป็น คนอย่างไรเล่า? ตามจริงแล้วเรากล่าวแก่เจ้า, แม้ดังที่ เราเป็น” (3 นีไฟ 27:27; เน้นตัวเอน) บุรุษที่หนึ่งของคำกริยา เป็น (be) ในรูปปัจจุบันกาลคือ เราเป็น (I Am) พระองค์ทรงเชื้อเชิญให้เรารับพระนามและพระลักษณะของพระองค์ไว้กับเรา

การจะเป็นดังที่พระองค์ ทรงเป็น เราต้อง ทำ สิ่งที่พระองค์ ทรงทำ “ตามจริงแล้ว, ตามจริงแล้ว, เรากล่าวแก่เจ้า, นี่คือกิตติคุณของเรา; และเจ้ารู้สิ่งที่เจ้าจะต้อง ทำ ในศาสนจักรของเรา; เพราะงานที่เจ้าเห็นเราทำมาแล้วเจ้าจงทำด้วย; เพราะสิ่งที่เจ้าเห็นเรา ทำ มาแล้วแม้สิ่งนั้นเจ้าจง ทำ” (3 นีไฟ 27:21; เน้นตัวเอน)

การ เป็น และ ทำ แยกออกจากกันไม่ได้ เนื่องจากเป็นหลักคำสอนที่พึ่งพากัน ทั้งสองอย่างนี้จึงสนับสนุนและส่งเสริมกัน ตัวอย่างเช่น ศรัทธาเป็นแรงบันดาลใจให้บุคคลหนึ่งสวดอ้อนวอน และจากนั้นการสวดอ้อนวอนจึงเสริมสร้างศรัทธาของบุคคลนั้นให้เข้มแข็ง

บ่อยครั้งพระผู้ช่วยให้รอดมักจะทรงติเตียนผู้ที่ ทำดี โดยไม่ได้ เป็นคนดี—โดยเรียกคนเหล่านั้นว่าคนหน้าซื่อใจคด “ประชาชนนี้ให้เกียรติเราแต่ปาก ใจของเขาห่างไกลจากเรา” (มาระโก 7:6) การทำดี โดยไม่ได้ เป็นคนดี คือหน้าซื่อใจคด หรือแสร้งเป็นในสิ่งที่ตนไม่ได้เป็น—ซึ่งคือคนเสแสร้งนั่นเอง

ในทางกลับกัน การ เป็นคนดี โดยไม่ได้ ทำดี ย่อมไร้ประโยชน์ ดังเช่น “ความเชื่อ … ถ้าไม่ประพฤติตามก็ ไร้ผล” (ยากอบ 2:17; เน้นตัวเอน) การ เป็นคนดี โดยไม่ ทำดี ย่อมไม่ใช่ คนดี จริงๆ—แต่เป็นการหลอกตนเอง โดยเชื่อว่าตนเองเป็นคนดี เพียงเพราะมีความตั้งใจดี

การ ทำดี โดยไม่ได้ เป็นคนดี—หรือหน้าซื่อใจคด—สะท้อนภาพลักษณ์จอมปลอมต่อผู้อื่น ขณะที่ เป็นคนดี โดยไม่ได้ ทำดี สะท้อนภาพลักษณ์จอมปลอมต่อตนเอง

พระผู้ช่วยให้รอดทรงตำหนิพวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีเรื่องความหน้าซื่อใจคดว่า “วิบัติแก่เจ้า พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสี คนหน้าซื่อใจคด ด้วยพวกเจ้าถวายทศางค์”—ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขา ทำ—“จากสะระแหน่ ลูกผักชี และยี่หร่า ส่วนข้อสำคัญแห่งธรรมบัญญัติคือความยุติธรรม ความเมตตา ความเชื่อนั้นได้ละเลยเสีย” (มัทธิว 23:23) หรืออีกนัยหนึ่ง พวกเขาไม่ได้ เป็น ในสิ่งที่ควร เป็น

ถึงแม้พระองค์ทรงชี้ให้เห็นความสำคัญของการ ทำดี แต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงระบุว่าการ เป็นคนดี เป็น “ข้อสำคัญ [กว่า]” ความสำคัญยิ่งกว่าของ การเป็น แสดงให้เห็นในแบบอย่างต่อไปนี้

  • การลงไปในน้ำแห่งบัพติศมาคือสิ่งที่เรา ทำ ส่วนการ เป็น ซึ่งต้องเกิดขึ้นก่อนหน้านี้คือการมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจ

  • การรับส่วนศีลระลึกคือสิ่งที่เรา ทำ แต่การเป็น คนมีค่าควรแก่การรับส่วนศีลระลึกเป็นเรื่องสลักสำคัญยิ่งกว่า

  • การแต่งตั้งสู่ฐานะปุโรหิตคือการกระทำหรือ การทำ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือพลังอำนาจในฐานะปุโรหิตซึ่งยึด “ตามหลักธรรมแห่งความชอบธรรม” (คพ. 121:36) หรือสิ่งที่ เป็น นั่นเอง

เราหลายคนทำรายการ สิ่งที่ต้องทำ เพื่อเตือนตนเองถึงสิ่งที่ต้องการทำให้สำเร็จ แต่ไม่ค่อยมีใครมีรายการ สิ่งที่ต้องเป็น เพราะเหตุใดเล่า สิ่งที่ต้องทำ เป็นกิจกรรมหรือเหตุการณ์ที่กาเครื่องหมายทิ้งได้เมื่อทำ เสร็จ แต่สิ่งที่ต้องเป็น ไม่มีวันเสร็จสิ้น ท่านไม่สามารถกาเครื่องหมาย สิ่งที่ต้องเป็น ได้ ข้าพเจ้าสามารถพาภรรยาไปข้างนอกในค่ำคืนพิเศษวันศุกร์นี้ ซึ่งเป็น การทำ แต่ การเป็น สามีที่ดีมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง หากแต่ต้อง เป็น ลักษณะอย่างหนึ่งของข้าพเจ้า—เป็นอุปนิสัยหรือสิ่งที่ข้าพเจ้าเป็น

หรือในฐานะบิดามารดา เมื่อใดที่ข้าพเจ้าจะกาเครื่องหมายให้บุตรธิดาออกจากรายการว่า ทำเสร็จแล้ว เราไม่มีวันเสร็จสิ้นจาก การเป็น บิดามารดาที่ดี และการเป็นบิดามารดาที่ดีนั้น สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่เราจะสอนบุตรธิดาได้คือวิธี เป็น เหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

การเป็น เหมือนพระคริสต์ ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่เป็นแรงจูงใจเบื้องหลังสิ่งที่เรา ทำ ซึ่งมองเห็นได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อบิดามารดาช่วยลูกหัดเดิน เราเห็นบิดามารดาคนนั้น ทำ สิ่งต่างๆ เช่นประคองและชมเชยลูก การกระทำ เช่นนี้เผยให้เห็นความรักที่มองไม่เห็นในใจบิดามารดา พร้อมทั้งศรัทธาและความหวังอันมองไม่เห็นที่บิดามารดามีในศักยภาพของลูก วันแล้ววันเล่าบิดามารดายังพยายามต่อไป—ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึง คุณสมบัติ ที่มองไม่เห็นของความอดทนและความขยันหมั่นเพียร

เพราะ สิ่งที่เป็น ก่อให้เกิด สิ่งที่ทำ และเป็นแรงจูงใจเบื้องหลัง สิ่งที่ทำ การสอนสิ่งที่ควร เป็น จะปรับปรุงพฤติกรรมได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการมุ่งเน้นแต่สิ่งที่ควร ทำ

เมื่อเด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่นเมื่อพวกเขาทะเลาะกัน เรามักจะหลงอบรมในเรื่องที่ลูก ทำ หรือการทะเลาะที่เราสังเกตเห็น แต่สิ่งที่ลูกทำ—พฤติกรรมของเขา—เป็นเพียงอาการหนึ่งของแรงชักจูงในใจซึ่งมองไม่เห็นเราอาจถามตนเองว่า “คุณลักษณะใดซึ่งหากเด็กเข้าใจแล้วจะช่วยแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าวในอนาคตได้ การอดทนและให้อภัยเมื่อถูกก่อกวน? ให้ความรักและเป็นผู้สร้างสันติ?การรับผิดชอบส่วนตัวต่อการกระทำของตนเองและไม่โยนความผิดให้ผู้อื่น?”

บิดามารดาสอนคุณลักษณะเหล่านี้แก่เด็กอย่างไร เราจะไม่มีโอกาสใดอีกที่จะสอนและแสดงให้ลูกเห็นคุณลักษณะแบบพระคริสต์ได้ดีไปกว่าวิธีที่เราจะปลูกฝังระเบียบวินัยให้พวกเขา การปลูกฝังระเบียบวินัย (discipline) มีรากศัพท์เดียวกันกับคำว่า สานุศิษย์ (disciple) และมีนัยถึงความอดทนและการสอนในส่วนของเรา การปลูกฝังระเบียบวินัยไม่ควรทำด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว เราสามารถและควรปลูกฝังระเบียบวินัยตามวิธีที่ หลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 121 สอนโดย “การชักชวน, โดยความอดกลั้น, โดยความสุภาพอ่อนน้อมและความอ่อนโยน, และโดยความรักที่ไม่เสแสร้ง; โดยความกรุณา, และความรู้บริสุทธิ์” (ข้อ 41–42) ทั้งหมดนี้คือ คุณสมบัติ ของพระคริสต์ และเป็นสิ่งที่เราในฐานะบิดามารดาและสานุศิษย์ของพระคริสต์พึง เป็น

เด็กเรียนรู้ผลของการกระทำผ่านการปลูกฝังระเบียบวินัย ในช่วงเวลาเช่นนั้นการเปลี่ยนด้านลบให้เป็นบวกจะช่วยได้ หากเด็กสารภาพผิด จงชมเชยที่เขากล้าสารภาพ ถามเด็กว่าเขาเรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดหรือการทำผิดครั้งนี้ การทำเช่นนี้จะเปิดโอกาสให้ท่านและที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้พระวิญญาณสัมผัสใจและสอนเขา เมื่อเราสอนหลักคำสอนแก่เด็กๆ โดยพระวิญญาณ หลักคำสอนนั้นจะมีอำนาจเปลี่ยนแปลงลักษณะนิสัยของพวกเขา—หรือสิ่งที่พวกเขาเป็น— เมื่อเวลาผ่านไป

แอลมาค้นพบหลักธรรมเดียวกันนี้ว่า “การสั่งสอนพระวจนะมีแนวโน้มอย่างยิ่งที่จะนำผู้คนให้ ทำ สิ่งซึ่งเที่ยงธรรม—แท้จริงแล้ว, บังเกิดผลอันมีพลังแก่จิตใจผู้คนยิ่งกว่าดาบ…” (แอลมา 31:5; เน้นตัวเอน) เพราะเหตุใด เพราะดาบมุ่งที่การลงโทษพฤติกรรม—หรือ การกระทำ—ขณะการสั่งสอนพระคำเปลี่ยนแปลงลักษณะนิสัยผู้คน—จากที่เคย เป็น หรืออาจ เป็น

ลูกที่น่ารักและเชื่อฟังจะสอนเพียงหลักสูตรเบื้องต้นของการเป็นบิดามารดาให้แก่พ่อแม่ หากท่านได้รับพรให้มีลูกที่ทดสอบระดับความอดทนของท่านจนถึงขีดสุด ท่านจะเรียนหลักสูตรการเป็นบิดามารดาขั้นสูงเลยทีเดียว แทนที่จะสงสัยว่าท่านทำอะไรผิดพลาดในชีวิตก่อนเกิดจึงต้องมารับผลเช่นนี้ ท่านอาจลองมองว่าลูกที่มีปัญหามากเป็นพรและโอกาสให้ท่านเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น กับลูกคนใดที่ความอดทนอดกลั้นและคุณธรรมแบบพระคริสต์ของท่านอาจถูกทดสอบ พัฒนา และกล่อมเกลามากที่สุด เป็นไปได้ไหมว่าท่านต้องการบุตรธิดาคนนี้มากเท่ากับที่เขาต้องการท่าน

เราต่างเคยได้ยินคำแนะนำให้กล่าวโทษบาปมิใช่ผู้ทำบาป เช่นเดียวกัน เมื่อลูกของเราประพฤติตนไม่เหมาะสม เราต้องระวังไม่พูดสิ่งซึ่งจะทำให้ลูกเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขา ทำ ผิดคือสิ่งที่พวกเขา เป็น “อย่าปล่อยให้ความล้มเหลวพัฒนาจากการกระทำไปเป็นอัตลักษณ์ที่มีป้ายชื่อประกอบเช่น “โง่เขลา” “เชื่องช้า” “เกียจคร้าน” หรือ “งุ่มง่าม” ”2 บุตรธิดาของเราคือบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า นั่นคืออัตลักษณ์และศักยภาพที่แท้จริงของพวกเขา แผนของพระองค์คือช่วยให้บุตรธิดาของพระองค์เอาชนะความผิดพลาดและการทำผิด ตลอดจนก้าวหน้าไปเป็นดังเช่นพระองค์ ทรงเป็น ดังนั้น พึงมองว่าความประพฤติที่น่าผิดหวังเป็นสิ่งชั่วคราว—ไม่ถาวร เป็นการกระทำหนึ่งไม่ใช่อัตลักษณ์

ดังนั้น เราจึงต้องระมัดระวังการใช้ประโยคตอกย้ำเช่น “ลูกมักจะ …” หรือ “ลูกไม่เคย …” เมื่อเราฝึกวินัย ระมัดระวังประโยคเช่น “ลูกไม่เคยเอาใจใส่ความรู้สึกของพ่อ (หรือแม่) เลย” หรือ “ทำไมลูกปล่อยให้เรารอทุกครั้ง” ประโยคเช่นนี้ทำให้การกระทำเหล่านั้นดูราวกับเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่ง และสามารถส่งผลลบต่อการมองตนเองและการเห็นคุณค่าตนเองของลูก

ความสับสนในอัตลักษณ์อาจเกิดขึ้นได้เช่นกันเมื่อเราถามเด็กว่าโตขึ้นพวกเขาอยาก เป็น อะไร ราวกับว่าสิ่งที่บุคคล ทำ พื่อหาเลี้ยงชีพคือสิ่งที่พวกเขา เป็น ไม่ว่างานอาชีพหรือทรัพย์สมบัติก็ไม่ควรเป็นตัวกำหนดอัตลักษณ์หรือความภาคภูมิใจในตนเอง ตัวอย่างเช่น พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นช่างไม้ผู้ต่ำต้อย แต่นั่นแทบไม่ได้กำหนดพระชนม์ชีพของพระองค์เลย

เพื่อช่วยเด็กค้นพบสิ่งที่พวกเขาเป็นและช่วยเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้พวกเขา เราสามารถชมเชยอย่างเหมาะสมต่อความสำเร็จหรือพฤติกรรม—ที่พวกเขา ทำ แต่เป็นการฉลาดยิ่งขึ้นที่จะมุ่งชมเชยอุปนิสัยและความเชื่อของพวกเขาก่อน—ซึ่งคือสิ่งที่พวกเขา เป็น

ในเกมกีฬา วิธีฉลาดในการชมเชยผลงาน—หรือ การกระทำ—ของบุตรธิดาน่าจะเป็นในแง่ของสิ่งที่พวกเขา เป็น—เช่น กำลังความสามารถ ความมุมานะ ความสงบในการเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ เป็นต้น—ซึ่งเป็นการชมเชยทั้ง สิ่งที่เป็น และ สิ่งที่ทำ

เมื่อเราขอให้บุตรธิดา ทำ งานบ้าน เราสามารถหาวิธีชมเชยสิ่งที่พวกเขา เป็น เช่น “พ่อมีความสุขมากที่ลูกทำงานบ้านด้วยความเต็มใจ”

เมื่อบุตรธิดาได้รับใบรายงานผลการเรียน เราสามารถชมเชยที่พวกเขาได้เกรดดี แต่อาจเป็นประโยชน์ยั่งยืนกว่าหากจะชมเชย ความขยันหมั่นเพียร ของพวกเขาว่า “ลูกส่งงานทุกครั้ง ลูกเป็นคนหนึ่งที่รู้วิธีรับมือเรื่องยากๆ และทำจนเสร็จสิ้นได้---พ่อภูมิใจลูกมาก”

ระหว่างศึกษาพระคัมภีร์เป็นครอบครัว ให้มองหาและสนทนาแบบอย่างของคุณลักษณะที่อ่านพบในวันนั้น เพราะคุณลักษณะเหมือนอย่างพระคริสต์เป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้าและจะพัฒนาไม่ได้หากปราศจากความช่วยเหลือจากพระองค์3 ในการสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัวและเป็นส่วนตัว จงสวดอ้อนวอนขอของประทานเหล่านั้น

ที่โต๊ะอาหารเย็น จงพูดคุยเป็นครั้งคราวเกี่ยวกับคุณลักษณะต่างๆ โดยเฉพาะคุณลักษณะที่ท่านอ่านเจอในพระคัมภีร์เมื่อช่วงเช้า “วันนี้ลูกเป็นเพื่อนที่ดีในวิธีใดบ้าง ลูกแสดงความเห็นอกเห็นใจอย่างไรบ้าง ศรัทธาช่วยให้ลูกเผชิญการท้าทายในวันนี้อย่างไร ลูกเป็นคนที่วางใจได้ ซื่อสัตย์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หรืออ่อนน้อมถ่อมตนในวิธีใดบ้าง” มีคุณลักษณะหลายรายการในพระคัมภีร์ซึ่งต้องมีการสอนและเรียนรู้

วิธีสำคัญที่สุดในการสอนให้ เป็น คือการ เป็น บิดามารดาแก่บุตรธิดาในแบบที่พระบิดาในสวรรค์ทรงเป็นแก่เรา พระองค์ทรงเป็นบิดาที่ดีพร้อมเพียงพระองค์เดียวและพระองค์ทรงแบ่งปันคู่มือการเป็นบิดามารดากับเรา—คู่มือนั้นคือพระคัมภีร์

คำปราศรัยของข้าพเจ้าวันนี้พูดกับบิดามารดาเป็นสำคัญ แต่หลักธรรมเหล่านั้นประยุกต์ใช้กับทุกคน ขอให้ท่านพัฒนาคุณลักษณะแบบพระคริสต์ได้สำเร็จ เพื่อที่รูปลักษณ์ของพระองค์จะจารึกไว้บนสีหน้าของท่านและพระคุณลักษณะของพระองค์จะแสดงให้เห็นในพฤติกรรมของท่าน จากนั้นเมื่อบุตรธิดาของท่านหรือคนอื่นๆ รู้สึกถึงความรักและเห็นพฤติกรรมของท่าน สิ่งนั้นจะเตือนพวกเขาให้ระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดและดึงพวกเขาเข้ามาหาพระองค์ นี่คือคำสวดอ้อนวอนและประจักษ์พยานของข้าพเจ้า ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

  1. วิลเลียม เช็คสเปียร์, Hamlet, Prince of Denmark, องก์ 3, ฉากที่ 1, บรรทัดที่ 56

  2. แครอล ดเว็ค, ข้อความจาก โจ คีตา, “Bounce Back Chronicles,” Reader’s Digest, พ.ค. 2009 หน้า 95

  3. ดู สั่งสอนกิติคุณของเรา: แนวทางการรับใช้งานเผยแผ่ศาสนา (2004) หน้า 125