2010–2019
เสียสละ, การ
เมษายน 2012


การเสียสละ

ชีวิตแห่งการรับใช้และการเสียสละของเราเป็นการแสดงออกที่เหมาะสมที่สุดถึงคำมั่นสัญญาว่าเราจะรับใช้พระอาจารย์และเพื่อนมนุษย์

การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์นับเป็น “เหตุการณ์สูงส่งที่สุดในบรรดาเหตุการณ์ทั้งหมดนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการสร้างจวบจนยุคสมัยอันไม่สิ้นสุดของนิรันดร”1 การเสียสละครั้งนั้นเป็นข่าวสารสำคัญของศาสดาพยากรณ์ทุกท่าน มีเกริ่นไว้ล่วงหน้าโดยการพลีบูชาด้วยสัตว์ตามที่บัญญัติไว้ในกฎของโมเสส ศาสดาพยากรณ์ท่านหนึ่งประกาศว่าความหมายทั้งหมดของการทำเช่นนี้ “ชี้ถึงการพลีบูชาครั้งสุดท้ายและสำคัญยิ่ง [ของ] … พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า, แท้จริงแล้ว, ไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์” (แอลมา 34:14) พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์อย่างที่ไม่อาจเข้าใจได้เพื่อพลีพระองค์เป็นเครื่องบูชาบาปของคนทั้งปวง การพลีบูชาครั้งนั้นถวายสิ่งดีที่สุด—พระเมษโปดกผู้บริสุทธิ์และไม่มีตำหนิ—เพื่อความชั่วร้ายมหันต์ที่สุด—ซึ่งคือบาปทั้งหมดของโลก ในถ้อยคำอันน่าจดจำของเอไลซา อาร์. สโนว์

โลหิตล้ำค่าพระองค์หลั่งให้

อีกทั้งชีวันยอมพลี

พลีบูชาเพื่อผู้มีบาปใด

เพื่อช่วยโลกรอดชีวี 2

การพลีบูชาครั้งนั้น—การชดใช้ของพระเยซูคริสต์—เป็นศูนย์กลางของแผนแห่งความรอด

การทนทุกข์อันไม่อาจเข้าใจได้ของพระเยซูคริสต์ทำให้การพลีบูชาด้วยการหลั่งเลือดสิ้นสุดลง แต่มิได้ทำให้ความสำคัญของการพลีบูชาในแผนพระกิตติคุณจบลงด้วย พระผู้ช่วยให้รอดทรงเรียกร้องให้เราถวายเครื่องพลีบูชาต่อไป แต่บัดนี้พระองค์ทรงบัญชาให้เราพลีบูชาด้วยการ “ถวายใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดแก่ [พระองค์] เป็นเครื่องพลีบูชา” (3 นีไฟ 9:20) อีกทั้งทรงบัญชาให้เราแต่ละคนรักกันและรับใช้กันด้วย—โดยแท้แล้วนั่นคือการถวายเครื่องพลีบูชาเลียนแบบพระองค์เล็กๆ น้อยๆ โดยเสียสละเวลาและประโยชน์ส่วนตนที่เราให้ความสำคัญ ในเพลงสวดที่ได้รับการดลใจ เราร้องว่า “การเสียสละนำมาซึ่งพรจากสวรรค์” 3

ข้าพเจ้าจะพูดถึงการเสียสละในความเป็นมรรตัยเหล่านี้ซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดทรงขอให้เราทำ ในที่นี้จะไม่รวมถึงการเสียสละที่เราถูกบีบบังคับให้ทำหรือการกระทำที่อาจจูงใจด้วยผลประโยชน์ส่วนตัวแทนที่จะเป็นการรับใช้หรือการเสียสละ (ดู 2 นีไฟ 26:29)

1.

คริสต์ศาสนามีประวัติด้านการเสียสละ ในที่นี้รวมถึงการเสียสละขั้นสูงสุดดังกล่าว ในช่วงต้นคริสต์ศักราช โรมสังหารคนหลายพันคนที่เชื่อในพระเยซูคริสต์ หลายศตวรรษต่อมา เมื่อความขัดแย้งทางหลักคำสอนทำให้ชาวคริสต์แตกแยก บางนิกายข่มเหงและถึงกับเข่นฆ่าสมาชิกนิกายอื่น ชาวคริสต์ที่ถูกชาวคริสต์นิกายอื่นสังหารเป็นมรณสักขีอันน่าสลดใจที่สุดของคริสต์ศาสนา

ชาวคริสต์จำนวนมากเสียสละโดยสมัครใจเนื่องจากศรัทธาในพระคริสต์และความปรารถนาจะรับใช้พระองค์ บางคนเลือกอุทิศทั้งชีวิตวัยผู้ใหญ่เพื่อรับใช้พระอาจารย์ กลุ่มคนที่น่ายกย่องนี้รวมถึงผู้ที่อยู่ในองค์กรศาสนาของคริสตจักรนิกายคาทอลิกและผู้ที่รับใช้เป็นผู้สอนศาสนาชาวคริสต์ตลอดชีวิตในนิกายต่างๆ ของโปรเตสแตนต์ แบบอย่างของคนเหล่านั้นท้าทายและสร้างแรงบันดาลใจ แต่คนส่วนใหญ่ที่เชื่อในพระคริสต์ไม่ได้ถูกคาดหวังทั้งไม่สามารถอุทิศทั้งชีวิตให้งานรับใช้ทางศาสนาได้

2.

สำหรับผู้ติดตามส่วนใหญ่ของพระคริสต์ การเสียสละของเรารวมถึงสิ่งที่เราทำได้แต่ละวันในชีวิตส่วนตัวตามปกติ ในประสบการณ์นั้น ข้าพเจ้าไม่รู้จักหมู่คณะใดที่สมาชิกเสียสละมากกว่าวิสุทธิชนยุคสุดท้าย การเสียสละของพวกเขา—การเสียสละของท่าน พี่น้องของข้าพเจ้า—ตรงข้ามกับการแสวงหาทางโลกเพื่อเติมเต็มความปรารถนาส่วนตัวดังที่เราคุ้นเคยกัน

แบบอย่างแรกคือผู้บุกเบิกชาวมอรมอนของเรา วีรกรรมการเสียสละของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นชีวิต สัมพันธภาพของครอบครัว บ้าน และความสะดวกสบาย ล้วนเป็นรากฐานของการฟื้นฟูพระกิตติคุณ ซาราห์ ริช พูดถึงแรงจูงใจผู้บุกเบิกเหล่านี้เมื่อเธอบรรยายถึงชาร์ลส์สามีของเธอที่ได้รับเรียกไปทำงานเผยแผ่ว่า “นี่คือช่วงเวลาที่ยากจริงๆ สำหรับดิฉันกับสามี แต่หน้าที่เรียกร้องให้เราต้องจากกันชั่วระยะหนึ่ง และโดยที่รู้ว่าเรากำลังทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า เราจึงรู้สึกว่าต้องสละความรู้สึกส่วนตัวเพื่อช่วยสถาปนางาน … แห่งการสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลก”4

ปัจจุบันจุดแข็งซึ่งเห็นได้ชัดที่สุดของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายคือการรับใช้และการเสียสละอย่างไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนของสมาชิกศาสนจักร ก่อนการอุทิศซ้ำพระวิหารแห่งหนึ่งของเรา นักบวชชาวคริสต์คนหนึ่งถามประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ว่าเหตุใดจึงไม่มีเครื่องหมายกางเขนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้กันทั่วไปมากที่สุดในคริสต์ศาสนา ประธานฮิงค์ลีย์ตอบว่าสัญลักษณ์คริสต์ศาสนาของเรา คือ “ชีวิตผู้คนของเรา”5 โดยแท้แล้ว ชีวิตแห่งการรับใช้และการเสียสละของเราเป็นการแสดงออกที่เหมาะสมที่สุดถึงคำมั่นสัญญาว่าเราจะรับใช้พระอาจารย์และเพื่อนมนุษย์

3.

เราไม่มีเจ้าหน้าที่ทางศาสนาที่เชี่ยวชาญแบบมืออาชีพหรือได้รับเงินเดือนในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ผลคือสมาชิกซึ่งได้รับเรียกให้นำและรับใช้ที่ประชุมต้องรับภาระทุกอย่างในการประชุมที่มีอยู่มากมายของศาสนจักร รวมทั้งโปรแกรมและกิจกรรมต่างๆ ด้วย พวกเขาทำเช่นนี้ในที่ประชุมมากกว่า 14,000 แห่งเฉพาะในสหรัฐและแคนาดา แน่นอนว่าไม่ได้มีแต่เราที่มีสมาชิกรับใช้เป็นครูและผู้นำ แต่ปริมาณเวลาที่สมาชิกอุทิศเพื่ออบรมและปฏิบัติศาสนกิจให้กันมีมากเป็นพิเศษ ความพยายามของเราที่จะให้ครอบครัวในศาสนจักรได้รับการเยี่ยมโดยผู้สอนประจำบ้านทุกเดือนและสตรีผู้ใหญ่ได้รับการเยี่ยมโดยผู้เยี่ยมสอนจากสมาคมสงเคราะห์ทุกเดือนเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ เราไม่เห็นการรับใช้ขององค์กรใดในโลกจะเทียบได้

ตัวอย่างซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดของการรับใช้และการเสียสละไม่เหมือนใครของแอลดีเอสคืองานผู้สอนศาสนาของเรา ปัจจุบันมีชายหนุ่มหญิงสาวเป็นผู้สอนศาสนามากกว่า 50,000 คน และชายหญิงที่เป็นผู้ใหญ่มากกว่า 5,000 คน พวกเขาอุทิศเวลาตั้งแต่หกเดือนถึงสองปีในชีวิตเพื่อสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ และบำเพ็ญประโยชน์เพื่อมนุษยธรรมในมากกว่า 160 ประเทศทั่วโลก งานของพวกเขามักเกี่ยวข้องกับการเสียสละ ซึ่งรวมถึงเวลาที่อุทิศให้งานของพระเจ้าและการเสียสละโดยจัดหาเงินทุนสนับสนุน

ผู้ที่รออยู่บ้าน—ทั้งบิดามารดาและสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว—ต่างก็เสียสละเช่นกันด้วยการอยู่โดยไม่มีพวกเขาเป็นเพื่อนคอยช่วยเหลือเพราะส่งไปเป็นผู้สอนศาสนา ตัวอย่างเช่น เด็กหนุ่มชาวบราซิลได้รับหมายเรียกขณะทำงานหาเลี้ยงน้องๆ หลังจากบิดามารดาสิ้นชีวิต เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าว่าเด็กเหล่านี้ประชุมกันในสภาและจำได้ว่าบิดามารดาผู้ล่วงลับสอนพวกเขาให้เตรียมพร้อมรับใช้พระเจ้าเสมอ เด็กหนุ่มคนนี้ยอมรับหมายเรียกเป็นผู้สอนศาสนา และน้องชายวัย 16 ปีรับภาระทำงานหาเลี้ยงครอบครัวแทน6 เราส่วนใหญ่รู้จักแบบอย่างอีกมากมายของการเสียสละเพื่อรับใช้งานเผยแผ่หรือสนับสนุนผู้สอนศาสนา เราไม่เห็นการรับใช้และการเสียสละด้วยความสมัครใจเช่นนี้ในองค์กรอื่นใดในโลก

มักจะมีคนถามเราว่า “คุณจูงใจสมาชิกหนุ่มสาวและวัยอาวุโสของคุณอย่างไรให้ทิ้งโรงเรียนหรือชีวิตเกษียณมาเสียสละเช่นนี้” ข้าพเจ้าได้ยินหลายคนอธิบายว่า “การที่รู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงทำอะไรให้ผมบ้าง—พระคุณของพระองค์ที่ทรงทนทุกข์เพื่อบาปของผมและเอาชนะความตายเพื่อให้ผมมีชีวิตได้อีกครั้ง—ทำให้ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เสียสละเล็กๆ น้อยๆ เมื่อขอให้ผมรับใช้พระองค์ ผมต้องการบอกเล่าความเข้าใจที่พระองค์ประทานให้ผม” เราจูงใจผู้ติดตามพระคริสต์เช่นนั้นให้รับใช้อย่างไรน่ะหรือ ดังที่ศาสดาพยากรณ์อธิบายไว้ “เรา [เพียงแต่] ขอให้พวกเขาทำ”7

การเสียสละอื่นๆ อันเป็นผลมาจากการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาคือการเสียสละของผู้ที่กระทำตามคำสอนของผู้สอนศาสนาและมาเป็นสมาชิกศาสนจักร สำหรับผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสหลายคน การเสียสละเช่นนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะรวมถึงการสูญเสียความสัมพันธ์กับมิตรสหายและครอบครัว

หลายปีที่ผ่านมาผู้ฟังการประชุมใหญ่ได้ยินเรื่องราวชายหนุ่มผู้พบพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูขณะศึกษาอยู่ในสหรัฐ เมื่อชายคนนี้กำลังจะกลับถิ่นฐานบ้านเกิด ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ถามเขาว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเขากลับไปบ้านในฐานะชาวคริสต์คนหนึ่ง “ครอบครัวผมจะผิดหวัง” ชายหนุ่มคนนั้นตอบ “พวกเขาคงเนรเทศผมและถือว่าผมตายไปแล้ว ถ้าพูดถึงอนาคตและงานอาชีพ โอกาสของผมคงถูกปิดตาย”

“คุณเต็มใจจ่ายราคาสูงเช่นนั้นเพื่อพระกิตติคุณหรือ?” ประธานฮิงค์ลีย์ถาม

ชายหนุ่มตอบทั้งน้ำตา “พระกิตติคุณเป็นความจริงไม่ใช่หรือครับ” เมื่อได้รับคำยืนยันกลับมา เขาตอบว่า “แล้วเรื่องอื่นจะสำคัญอะไรอีกล่ะครับ8 นั่นคือวิญญาณแห่งการเสียสละในบรรดาสมาชิกใหม่หลายคนของเรา

ตัวอย่างอื่นๆ ของการรับใช้และการเสียสละปรากฏในชีวิตสมาชิกผู้ซื่อสัตย์ที่รับใช้ในพระวิหารของเรา งานรับใช้ในพระวิหารจำเพาะสำหรับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย แต่ชาวคริสต์ทุกคนพึงเข้าใจความสำคัญของการเสียสละเช่นนั้น วิสุทธิชนยุคสุดท้ายไม่มีประเพณีรับใช้ในอาราม แต่เรายังสามารถเข้าใจและให้เกียรติการเสียสละของผู้ที่ได้รับแรงจูงใจจากคริสต์ศาสนาให้อุทิศชีวิตเพื่อกิจกรรมทางศาสนาดังกล่าว

ในการประชุมใหญ่เมื่อปีที่แล้ว ประธานโธมัส เอส. มอนสันเล่าแบบอย่างการเสียสละของการรับใช้ในพระวิหาร วิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ซื่อสัตย์คนหนึ่งบนเกาะอันไกลโพ้นในแปซิฟิกทำงานหนักในสถานที่ห่างไกลเป็นเวลาหกปีเพื่อหารายได้ให้มีเงินมากพอจะพาภรรยากับลูกๆ อีกสิบคนไปแต่งงานและผนึกเพื่อนิรันดรในพระวิหารนิวซีแลนด์ ประธานมอนสันอธิบายว่า “คนที่เข้าใจพรนิรันดร์ซึ่งมาจากพระวิหารทราบว่าเพื่อให้ได้รับพรดังกล่าวไม่มีการเสียสละใดมากเกินไป ไม่มีราคาใดสูงเกินไป และไม่มีการต่อสู้ใดยากเกินไป”9

ข้าพเจ้าขอบพระทัยสำหรับแบบอย่างอันอัศจรรย์ของความรัก การรับใช้ และการเสียสละแบบชาวคริสต์ที่ได้เห็นในบรรดาวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ข้าพเจ้าเห็นท่านทำการเรียกในศาสนจักร ซึ่งบ่อยครั้งต้องสละเวลาและปัจจัยเป็นอันมาก ข้าพเจ้าเห็นท่านรับใช้งานเผยแผ่ด้วยค่าใช้จ่ายของท่านเอง ข้าพเจ้าเห็นท่านอุทิศทักษะในงานอาชีพเพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยใจยินดี ข้าพเจ้าเห็นท่านดูแลคนยากจนด้วยตัวท่านเองและโดยการสนับสนุนงานสวัสดิการและงานเพื่อมนุษยธรรมของศาสนจักร 10 ทั้งหมดนี้ยืนยันด้วยผลการวิจัยทั่วประเทศซึ่งสรุปว่าสมาชิกที่แข็งขันในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย “อาสาสมัครและบริจาคมากมายยิ่งกว่าชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในการสละเวลาและเงินยิ่งกว่ากลุ่มคนเคร่งศาสนาระดับบน [จำนวน 20 เปอร์เซ็นต์] ในอเมริกา”11

แบบอย่างการให้ผู้อื่นเช่นนั้นเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เราทุกคน และเตือนเราให้นึกถึงคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดที่ว่า

“ถ้าผู้ใดใคร่ตามเรามาให้ผู้นั้นเอาชนะตัวเอง …

“เพราะว่าผู้ใดใคร่จะเอาชีวิตรอด ผู้นั้นจะเสียชีวิต แต่ผู้ใดจะเสียชีวิตเพราะเห็นแก่เรา ผู้นั้นจะได้ชีวิตรอด” (มัทธิว 16:24–25)

4.

บางทีแบบอย่างซึ่งคุ้นเคยที่สุดและสำคัญที่สุดของการรับใช้และการเสียสละโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเกิดขึ้นในครอบครัวเรานี่เอง มารดาอุทิศตนให้กำเนิดและเลี้ยงดูลูกๆ สามีสละตนเพื่อเลี้ยงดูภรรยาและลูกๆ การเสียสละดังกล่าวซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับใช้สำคัญชั่วนิรันดร์ต่อครอบครัวเรา มีมากมายเกินกว่าจะกล่าวถึงและเป็นที่รู้กันดีจนไม่ต้องกล่าวถึง

ข้าพเจ้าเห็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายรับอุปการะบุตรบุญธรรมรวมถึงผู้มีความต้องการพิเศษด้วยความเมตตา อีกทั้งพยายามให้บุตรบุญธรรมได้รับความหวังและโอกาสซึ่งพวกเขาถูกปิดกั้นในสภาวการณ์ก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าเห็นท่านดูแลสมาชิกครอบครัวและเพื่อนบ้านที่ทนทุกข์จากโรคแต่กำเนิด อาการเจ็บป่วยทางจิตและทางกาย ตลอดจนความชราภาพ พระเจ้าทอดพระเนตรเห็นท่านเช่นกัน และทรงให้ศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ประกาศว่า “เมื่อท่านเสียสละเพื่อกันและกันและเพื่อลูกๆ ของท่าน พระเจ้าจะประทานพรท่าน”12

ข้าพเจ้าเชื่อว่าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่รับใช้และเสียสละโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนในการนมัสการพระผู้ช่วยให้รอดด้วยการเลียนแบบพระองค์จะยึดมั่นคุณค่านิรันดร์มากกว่าคนกลุ่มอื่นใด วิสุทธิชนยุคสุดท้ายเห็นว่าการเสียสละเวลาและปัจจัยของพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และการมีคุณสมบัติคู่ควรกับชีวิตนิรันดร์ นี่คือความจริงที่ได้รับการเปิดเผยใน Lectures on Faith ซึ่งสอนว่า “ศาสนาที่ไม่เรียกร้องการเสียสละสิ่งทั้งปวง ย่อมไม่มีอำนาจเพียงพอจะสร้างศรัทธาที่จำเป็นต่อชีวิตและความรอด … โดยผ่านการเสียสละ และโดยทางนี้เท่านั้นที่พระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดให้มนุษย์ได้รับชีวิตนิรันดร์”13

การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางของแผนแห่งความรอดฉันใด ผู้ติดตามพระคริสต์เช่นเราต้องเสียสละด้วยตนเองเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับจุดหมายปลายทางที่แผนมีไว้สำหรับเราฉันนั้น

ข้าพเจ้ารู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์ ข้าพเจ้ารู้ว่าเพราะการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ จึงรับประกันได้ว่าเราจะมีความเป็นอมตะและมีโอกาสรับชีวิตนิรันดร์ พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าของเรา พระผู้ช่วยให้รอดของเรา และพระผู้ไถ่ของเรา ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงพระองค์ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. บรูซ อาร์. แมคคองกี, The Promised Messiah: The First Coming of Christ (1981), 218.

  2. “ปัญญาและความรักยิ่งใหญ่,” เพลงสวด,บทเพลงที่ 88

  3. “สรรเสริญบุรุษ,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 14

  4. ซาราห์ ริช, ใน จีนีเวียร์ โธมัส วูลสเทนฮูลม์, “I Have Seen Many Miracles,” ใน ริชาร์ด อี. เทอร์ลีย์ จูเนียร์ และ บริททานีย์ เอ. แชพแมน, eds., Women of Faith in the Latter Days: Volume 1, 1775–1820 (2011), 283.

  5. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “สัญลักษณ์แห่งศรัทธาของเรา,” เลียโฮนา เม.ย. 2005, 3.

  6. ดู ฮาโรลด์ จี. ฮิลแลม, “Sacrifice in the Service,” Ensign, พ.ย. 1995, 41–42.

  7. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “The Miracle of Faith,” เลียโฮนา ก.ค. 2011, 84; Ensign, พ.ค. 2001, 68.

  8. ดู กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “It’s True, Isn’t It?” Tambuli, ต.ค. 1993, 3–4; Ensign, ก.ค. 1993, 2; ดู นีล แอล. แอนเดอร์สัน, “เรื่องนี้จริงไม่ใช่หรือ แล้วจะห่วงเรื่องอื่นทำไม” เลียโฮนา พ.ค. 2007, 92

  9. โธมัส เอส. มอนสัน, “พระวิหารศักดิ์สิทธิ์—ประภาคารส่องโลก,” เลียโฮนา พ.ค. 2011, 113

  10. ดู, ตัวอย่างเช่น, นาโอมิ เชเฟอร์ ไรลีย์, “What the Mormons Know about Welfare,” Wall Street Journal, 18 ก.พ. 2012, A11.

  11. Ram Cnaan and others, “Called to Serve: The Prosocial Behavior of Active Latter-day Saints” (draft), 16.

  12. เอสรา แทฟท์ เบ็นสัน, “To the Single Adult Brethren of the Church,” Ensign, พ.ค. 1988, 53.

  13. Lectures on Faith (1985), 69.