2010–2019
สอนบุตรธิดาของเราให้เข้าใจ
เมษายน 2012


สอนบุตรธิดาของเราให้เข้าใจ

การสอนบุตรธิดาของเราให้เข้าใจเป็นมากกว่าการแบ่งปันข้อมูล แต่คือการช่วยให้บุตรธิดารับหลักคำสอนไว้ในใจพวกเขา

เมื่อเวลาผ่านไปรายละเอียดมากมายในชีวิตดิฉันเลือนรางลงทุกที แต่ความทรงจำบางเรื่องที่ยังคงแจ่มชัดที่สุดคือการเกิดของลูกๆ แต่ละคนของเรา สวรรค์เหมือนอยู่ใกล้ และถ้าดิฉันพยายาม ดิฉันแทบจะรู้สึกได้ถึงความคารวะและความอัศจรรย์ใจที่ประสบเหมือนกันทุกครั้งเมื่อวางทารกล้ำค่าแต่ละคนไว้ในอ้อมแขนของดิฉัน

“บุตรทั้งหลาย [ของเรา] เป็นมรดกจากพระเจ้า” (สดุดี 127:3) พระองค์ทรงรู้จักและรักแต่ละคนด้วยความรักอันบริบูรณ์ (ดู โมโรไน 8:17) นับเป็นความรับผิดชอบอันศักดิ์สิทธิ์ที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงมอบให้เราในฐานะบิดามารดาเพื่อเป็นหุ้นส่วนกับพระองค์ในการช่วยให้วิญญาณที่เลิศเลอเป็นอย่างที่พระองค์ทรงรู้ว่าพวกเขาจะเป็นได้

สิทธิพิเศษอันสูงส่งของการเลี้ยงดูบุตรธิดาเป็นความรับผิดชอบใหญ่หลวงเกินกว่าเราจะทำได้ตามลำพังโดยปราศจากความช่วยเหลือของพระเจ้า พระองค์ทรงทราบว่าบุตรธิดาของเราต้องรู้อะไร พวกเขาต้องทำอะไร และพวกเขาต้องเป็นอะไรจึงจะกลับมาในที่ประทับของพระองค์ได้ พระองค์ประทานคำแนะนำและการนำทางที่แน่ชัดแก่มารดาและบิดาผ่านพระคัมภีร์ ศาสดาพยากรณ์ และพระวิญญาณบริสุทธิ์

ในการเปิดเผยยุคสุดท้ายผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ พระเจ้าทรงแนะนำบิดามารดาให้สอนบุตรธิดาให้ เข้าใจ หลักคำสอนเรื่องการกลับใจ ศรัทธาในพระคริสต์ บัพติศมา และของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ สังเกตว่าพระเจ้ามิเพียงตรัสให้เรา “สอนหลักคำสอน” เท่านั้น แต่พระดำรัสแนะนำของพระองค์คือสอนบุตรธิดาให้ “เข้าใจ หลักคำสอน” ด้วย (ดู คพ. 68:25, 28; เน้นตัวเอน)

ในสดุดีเราอ่านว่า “ขอประทานความเข้าใจแก่ข้าพระองค์ เพื่อข้าพระองค์จะรักษาพระธรรมของพระองค์ไว้ และปฏิบัติด้วยสุดใจของข้าพระองค์” (สดุดี 119:34)

การสอนบุตรธิดาของเราให้เข้าใจเป็นมากกว่าการแบ่งปันข้อมูล แต่คือการช่วยให้บุตรธิดารับหลักคำสอนไว้ในใจพวกเขาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวพวกเขาและสะท้อนในเจตคติและพฤติกรรมตลอดชีวิตของพวกเขา

นีไฟสอนว่าบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์คือนำความจริง “ไปสู่ใจลูกหลานมนุษย์” (2 นีไฟ 33:1) บทบาทของบิดามารดาคือทำสุดความสามารถเพื่อสร้างบรรยากาศที่บุตรธิดาจะรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณแล้วช่วยให้พวกเขาตระหนักว่าพวกเขากำลังรู้สึกอย่างไร

ดิฉันนึกถึงวันที่ได้รับโทรศัพท์เมื่อหลายปีก่อนจากมิเชลล์บุตรสาว เธอพูดด้วยอารมณ์ที่อ่อนโยนว่า “คุณแม่ขา หนูเพิ่งมีประสบการณ์เหลือเชื่อที่สุดกับแอชลีย์” แอชลีย์เป็นบุตรสาวของเธอ ตอนนั้นอายุห้าขวบ มิเชลล์เล่าว่าเช้าวันนั้นแอชลีย์กับแอนดรูว์วัยสามขวบทะเลาะกันอย่างที่ทำเป็นประจำ---คนหนึ่งไม่อยากแบ่งของ อีกคนก็จะตี หลังจากช่วยแก้ไขปัญหาให้แล้ว มิเชลล์ก็ไปดูลูกคนเล็ก

ไม่นาน แอชลีย์ก็วิ่งเข้ามา โกรธที่แอนดรูว์ไม่แบ่งของ มิเชลล์เตือนแอชลีย์ถึงคำมั่นสัญญาที่การสังสรรค์ในครอบครัวว่าจะมีเมตตาต่อกันมากขึ้น

เธอถามแอชลีย์ว่าต้องการสวดอ้อนวอนและขอความช่วยเหลือจากพระบิดาบนสวรรค์หรือไม่ แต่แอชลีย์ยังโกรธอยู่จึงตอบว่า “ไม่ค่ะ” เมื่อถามว่าเธอเชื่อว่าพระบิดาบนสวรรค์จะทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของเธอหรือไม่ แอชลีย์ตอบว่าเธอไม่รู้ คุณแม่จึงขอให้เธอพยายาม จับมือเธออย่างนุ่มนวล และคุกเข่ากับเธอ

มิเชลล์เสนอให้แอชลีย์ทูลขอพระบิดาบนสวรรค์ให้ช่วยแอนดรูว์แบ่งปัน---และช่วยให้เธอมีเมตตา ความคิดจะให้พระบิดาบนสวรรค์ช่วยน้องชายแบ่งปันคงเร้าความสนใจของแอชลีย์ และเธอเริ่มสวดอ้อนวอน สิ่งแรกเธอทูลขอพระบิดาบนสวรรค์ให้ทรงช่วยแอนดรูว์แบ่งปัน ขณะทูลขอให้ทรงช่วยเธอมีเมตตา เธอเริ่มร้องไห้ แอชลีย์สวดอ้อนวอนจบและเอาศีรษะซบไหล่มารดา มิเชลล์กอดเธอและถามว่าเธอร้องไห้ทำไม แอชลีย์ตอบว่าเธอไม่รู้

มารดาเธอตอบว่า “แม่คิดว่าแม่รู้ว่าทำไมลูกร้องไห้ ลูกรู้สึกดีในใจใช่ไหม” แอชลีย์พยักหน้าและมารดากล่าวต่อไปว่า “พระวิญญาณกำลังช่วยให้ลูกรู้สึกแบบนี้ นั่นคือวิธีที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงบอกลูกว่าพระองค์ทรงรักลูกและจะทรงช่วยลูก”

เธอถามแอชลีย์ว่าเชื่อหรือไม่ เธอเชื่อหรือไม่ว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงช่วยเธอได้ แอชลีย์น้ำตาคลอและตอบว่าเชื่อ

บางครั้งวิธีที่ได้ผลมากที่สุดในการสอนบุตรธิดาให้เข้าใจหลักคำสอนคือสอนในบริบทของสิ่งที่พวกเขาประสบอยู่ขณะนั้น ช่วงเวลาเหล่านี้เกิดขึ้นเอง ไม่ได้วางแผนไว้ และเกิดขึ้นตามวิถีปกติของชีวิต สิ่งนี้มาเร็วไปเร็ว ด้วยเหตุนี้จึงต้องตื่นตัวและรับรู้ช่วงการสอนเมื่อลูกๆ มาหาเราพร้อมคำถามหรือความกังวล เมื่อพวกเขามีปัญหาในการเข้ากับพี่น้องหรือเพื่อนๆ เมื่อพวกเขาต้องควบคุมความโกรธ เมื่อพวกเขาทำผิด หรือเมื่อมีเรื่องต้องตัดสินใจ (ดู ไม่มีการเรียกใดยิ่งใหญ่กว่าการสอน: คู่มือประกอบการสอนพระกิตติคุณ [1999], 140–141; Marriage and Family Relations Instructor’s Manual [2000], 61.)

ถ้าเราพร้อมและยอมให้พระวิญญาณนำทางในสถานการณ์เหล่านี้ เราย่อมสอนบุตรธิดาได้ผลมากขึ้นและพวกเขาจะเข้าใจมากขึ้น

ที่สำคัญเท่ากับช่วงการสอนที่เกิดขึ้นคือเมื่อเราวางแผนโอกาสประจำอย่างรอบคอบ เช่น การสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว การศึกษาพระคัมภีร์เป็นครอบครัว การสังสรรค์ในครอบครัว และกิจกรรมอื่นๆ ของครอบครัว

ในสถานการณ์การสอนทุกครั้ง การเรียนรู้ทั้งหมดและความเข้าใจทั้งหมดบ่มเพาะได้ดีที่สุดในบรรยากาศของความอบอุ่นและความรักที่พระวิญญาณสถิตอยู่ด้วย

ประมาณสองเดือนก่อนลูกๆ ของเขาอายุครบแปดขวบ คุณพ่อคนหนึ่งจะกันเวลาแต่ละสัปดาห์ไว้เตรียมลูกๆ ให้พร้อมรับบัพติศมา ลูกสาวของเขาบอกว่าเมื่อถึงเวลาของเธอ คุณพ่อมอบบันทึกส่วนตัวให้และนั่งลงด้วยกัน แค่พวกเขาสองคน พูดคุยกัน และแบ่งปันความรู้สึกเกี่ยวกับหลักธรรมพระกิตติคุณ ขณะคุยกันคุณพ่อให้เธอวาดรูปการดำรงอยู่ก่อนเกิด ชีวิตบนโลกนี้ และแต่ละขั้นที่เธอต้องทำเพื่อกลับไปอยู่กับพระบิดาบนสวรรค์ คุณพ่อแสดงประจักษ์พยานเกี่ยวกับแผนแห่งความรอดแต่ละขั้นขณะที่คุณพ่อสอนเธอ

เมื่อลูกสาวของเขานึกถึงประสบการณ์นี้หลังจากเธอโตเป็นผู้ใหญ่ เธอกล่าวว่า “ดิฉันจะไม่มีวันลืมความรักที่รู้สึกได้จากคุณพ่อเมื่อท่านใช้เวลานั้นกับดิฉัน … ดิฉันเชื่อว่าประสบการณ์นี้เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ดิฉันมีประจักษ์พยานในพระกิตติคุณเมื่อครั้งรับบัพติศมา” (ดู ไม่มีการเรียกใดยิ่งใหญ่กว่าการสอน หน้า 129)

การสอนให้เข้าใจต้องตั้งใจและพยายามสม่ำเสมอ สิ่งนี้เรียกร้องการสอนโดยกฎเกณฑ์และโดยแบบอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยช่วยให้บุตรธิดาดำเนินชีวิตตามสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

ประธานฮาโรลด์ บี. ลี สอนว่า “หากไม่มีการนำหลักธรรมพระกิตติคุณไปปฏิบัติก็นับว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะเชื่อในหลักธรรมนั้น” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: ฮาโรลด์ บี. ลี [2002] หน้า 113)

ดิฉันฝึกสวดอ้อนวอนครั้งแรกโดยคุกเข่าในการสวดอ้อนวอนกับครอบครัว ดิฉันเรียนรู้ภาษาของการสวดอ้อนวอนขณะฟังคุณพ่อคุณแม่สวดอ้อนวอนและขณะท่านช่วยดิฉันกล่าวคำสวดอ้อนวอนครั้งแรก ดิฉันเรียนรู้ว่าดิฉันสามารถพูดคุยกับพระบิดาบนสวรรค์และขอการนำทางได้

ทุกๆ เช้าไม่เคยขาด คุณพ่อคุณแม่ให้พวกเรามารวมกันรอบโต๊ะในครัวก่อนกินอาหารเช้า และคุกเข่าสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว เราสวดอ้อนวอนก่อนอาหารทุกมื้อ กลางคืนก่อนเข้านอน เราคุกเข่าด้วยกันในห้องนั่งเล่นและสิ้นสุดวันด้วยการสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว

แม้ตอนเด็กจะมีหลายอย่างที่ดิฉันไม่เข้าใจเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน แต่นั่นกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่อยู่กับดิฉัน ดิฉันยังคงเรียนรู้ต่อไป และความเข้าใจเรื่องพลังของการสวดอ้อนวอนยังคงเติบโต

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์กล่าวว่า “เราทุกคนเข้าใจว่าข่าวสารพระกิตติคุณจะประสบความสำเร็จได้นั้นขึ้นอยู่กับการสอน จากนั้นต้องเข้าใจ แล้วดำเนินชีวิตตามในวิธีที่ทำให้คำสัญญาแห่งความสุขและความรอดของข่าวสารสามารถเป็นจริง” (“การสอนและการเรียนรู้ในศาสนาจักร” [การประชุมอบรมผู้นำทั่วโลก 10 ก.พ. 2007], เลียโฮนา มิ.ย. 2007 หน้า 57)

การเรียนรู้เพื่อเข้าใจหลักคำสอนของพระกิตติคุณอย่างถ่องแท้เป็นกระบวนการตลอดชีวิตและเป็น “บรรทัดมาเติมบรรทัด, กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์, ที่นี่นิดและที่นั่นหน่อย” (2 นีไฟ 28:30) ขณะบุตรธิดาเรียนรู้และทำตามสิ่งที่เรียนรู้ ความเข้าใจของพวกเขาขยาย ซึ่งนำไปสู่การเรียนรู้มากขึ้น การปฏิบัติมากขึ้น และแม้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นและยั่งยืนมากขึ้น

เรารู้ได้ว่าบุตรธิดาของเรากำลังเริ่มเข้าใจหลักคำสอนเมื่อเราเห็นความเข้าใจนั้นเผยในเจตคติและการกระทำของพวกเขาโดยปราศจากคำข่มขู่หรือรางวัล ขณะบุตรธิดาเรียนรู้ที่จะเข้าใจหลักคำสอนพระกิตติคุณ พวกเขาจะพึ่งพาตนเองมากขึ้นและรับผิดชอบมากขึ้น พวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาครอบครัวและทำคุณประโยชน์ต่อสภาพแวดล้อมของบ้านและความสำเร็จของครอบครัวเรา

เราจะสอนบุตรธิดาของเราให้เข้าใจเมื่อเราใช้สถานการณ์การสอนทุกครั้งให้เป็นประโยชน์ อัญเชิญพระวิญญาณ เป็นแบบอย่าง และช่วยให้พวกเขาดำเนินชีวิตตามสิ่งที่เรียนรู้

เมื่อเรามองเข้าไปในดวงตาของทารกน้อย เราจะนึกถึงเพลงนี้

ฉันลูกพระผู้เป็นเจ้า

เหล่าความต้องการใหญ่ยิ่ง

ช่วยฉัน เข้าใจ พระคำความจริง

ก่อนทุกสิ่งสายเกินกาล

พาฉัน นำฉัน เดินเคียงข้างฉัน

ช่วยฉันให้พบทาง

สอนฉันทุกอย่างที่ต้องทำ

เพื่อพำนักกับพระอีก

(“ฉันลูกพระผู้เป็นเจ้า” เพลงสวด บทเพลงที่ 149; เน้นตัวเอน)

ขอให้เราทำเช่นนั้น ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน