2010–2019
พลังแห่งการปลดปล่อย
เมษายน 2012


พลังแห่งการปลดปล่อย

เราสามารถได้รับการปลดปล่อยจากวิถีของความเลวและความชั่วร้ายโดยการหันไปสู่คำสอนของพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์

ข้าพเจ้ามีเพื่อนที่ดีมากคนหนึ่งซึ่งส่งเน็คไทเส้นใหม่มาให้ข้าพเจ้าผูกทุกครั้งที่ข้าพเจ้าเป็นผู้พูดในการประชุมใหญ่สามัญ เขามีรสนิยมดีเลิศ ท่านเห็นด้วยไหมครับ

เพื่อนรุ่นน้องของข้าพเจ้ามีปัญหายุ่งยากบางอย่าง ปัญหาเหล่านั้นสร้างข้อจำกัดให้เขาในบางกรณี แต่ในกรณีอื่นนับว่าพิเศษมาก ตัวอย่างเช่น ความองอาจของเขาในฐานะผู้สอนศาสนาเทียบได้กับบุตรของโมไซยาห์ ความเรียบง่ายในความเชื่อของเขาทำให้ความเชื่อมั่นของเขามั่นคงและแน่วแน่ ข้าพเจ้าเชื่อว่าความคิดของสก็อตต์ ความคิดเหนือจินตนาการที่ว่า ทุกคนไม่ได้เป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย ทุกคนยังไม่ได้อ่านพระคัมภีร์มอรมอน และยังไม่มีประจักษ์พยานถึงความจริงของพระคัมภีร์เล่มนี้

ข้าพเจ้าขอเล่าเหตุการณ์ในชีวิตของสก็อตต์ เมื่อเขาขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งแรกตามลำพังเพื่อไปเยี่ยมพี่ชาย เพื่อนบ้านคนหนึ่งที่นั่งใกล้เขาแอบได้ยินคำสนทนาของสก็อตต์กับบุคคลข้างๆ ว่า

“สวัสดีครับ ผมชื่อสก็อตต์ คุณชื่ออะไรครับ”

“ผู้ที่นั่งถัดจากเขาบอกชื่อ”

“คุณทำงานอะไรครับ”

“ผมเป็นวิศวกร”

“ดีจังครับ คุณอยู่ที่ไหนครับ”

“ลาสเวกัส”

“เรามีพระวิหารที่นั่น คุณทราบหรือเปล่าว่าพระวิหารมอรมอนอยู่ที่ไหน”

“ทราบครับ เป็นสิ่งปลูกสร้างที่สวยงาม”

“คุณเป็นมอรมอนหรือเปล่าครับ”

“เปล่า”

“น่าจะเป็นนะครับ ศาสนานี้ดีมาก คุณเคยอ่านพระคัมภีร์มอรมอนไหมครับ”

“ไม่เคย”

“น่าอ่านนะครับ เป็นหนังสือที่ยิ่งใหญ่เล่มหนึ่ง”

ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับสก็อตต์อย่างเต็มหัวใจว่า พระคัมภีร์มอรมอนเป็นหนังสือที่ยิ่งใหญ่

ปีนี้ในชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ เรากำลังศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน ขณะเตรียมตัวและมีส่วนร่วม ขอให้เราได้รับแรงจูงใจที่จะทำตามแบบอย่างอันองอาจของสก็อตต์ โดยแบ่งปันความรักของเราเกี่ยวกับพระคัมภีร์พิเศษเล่มนี้กับผู้อื่นที่นับถือศาสนาต่างจากเรา

ประเด็นสำคัญข้อหนึ่งของพระคัมภีร์มอรมอนแสดงไว้ในข้อสุดท้ายของบทแรกในหนังสือ 1 นีไฟ นีไฟเขียนดังนี้ “แต่ดูเถิด, ข้าพเจ้า, นีไฟ, จะแสดงต่อท่านว่าพระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้ามีอยู่เหนือคนทั้งปวงที่พระองค์ทรงเลือกไว้, เพราะศรัทธาของพวกเขา, เพื่อทำให้พวกเขาแข็งแกร่งแม้จนถึงพลังแห่งการปลดปล่อย.” (1 นีไฟ 1:20)

ข้าพเจ้าประสงค์จะกล่าวถึงวิธีที่พระคัมภีร์มอรมอน ซึ่งคือพระเมตตาอันละเอียดอ่อนของพระเจ้า และสงวนไว้สำหรับยุคสุดท้ายนี้ ปลดปล่อยเราโดยการสอนหลักคำสอนของพระคริสต์แก่เราด้วยวิธีการอันบริสุทธิ์และ “ถูกต้องที่สุด”

เรื่องราวมากมายในพระคัมภีร์มอรมอนเป็นเรื่องราวของการปลดปล่อย ลีไฮกับครอบครัวออกเดินทางไปสู่ดินแดนทุรกันดารเป็นเรื่องราวการปลดปล่อยจากความพินาศของเยรูซาเล็ม เรื่องราวของชาวเจเร็ดเป็นเรื่องราวการปลดปล่อย เฉกเช่นเรื่องราวของชาวมิวเล็ค แอลมาผู้บุตรได้รับการปลดปล่อยจากบาป เหล่านักรบหนุ่มของฮีลามันได้รับการปลดปล่อยในการสู้รบ นีไฟและลีไฮได้รับการปลดปล่อยจากเรือนจำ ประเด็นของการปลดปล่อยชัดเจนตลอดเล่มพระคัมภีร์มอรมอน

มีเรื่องราวสองเรื่องในพระคัมภีร์มอรมอนที่คล้ายกันมากและสอนบทเรียนสำคัญ เรื่องแรกมาจากหนังสือโมไซยาห์ เริ่มจากบทที่ 19 ที่นี่เราเรียนรู้เกี่ยวกับกษัตริย์ลิมไฮซึ่งอาศัยอยู่ในแผ่นดินนีไฟ ชาวเลมันทำสงครามกับผู้คนของลิมไฮ ผลของสงครามคือชาวเลมันยอมให้กษัตริย์ลิมไฮปกครองผู้คนของเขาเองแต่ต้องตกอยู่ในพันธนาการของพวกเขา นี่คือสันติภาพที่ยุ่งยากมาก (ดู โมไซยาห์ 19–20)

เมื่อผู้คนของลิมไฮสุดจะทนกับการกระทำทารุณกรรมของชาวเลมัน พวกเขาจึงหนุนให้กษัตริย์ของตนทำสงครามกับชาวเลมัน ผู้คนของลิมไฮพ่ายแพ้สามครั้ง ภาระหนักจึงตกอยู่กับพวกเขา ท้ายที่สุดพวกเขายอมอ่อนน้อมและร้องขออย่างสุดกำลังต่อพระเจ้าเพื่อพระองค์จะทรงปลดปล่อยพวกเขา (ดู โมไซยาห์ 21:1–14) ข้อ 15 ในบทที่ 21 บอกถึงการตอบรับของพระเจ้า “และบัดนี้ พระเจ้าทรงเชื่องช้าที่จะฟังเสียงร้องของพวกเขาเพราะความชั่วช้าสามานย์ของพวกเขา; กระนั้นก็ตามพระเจ้าทรงฟังเสียงร้องของพวกเขา, และทรงเริ่มทำให้ใจชาวเลมันอ่อนลงจนพวกเขาเริ่มผ่อนปรนสัมภาระของคนเหล่านั้น; แต่พระเจ้ายังไม่ทรงเห็นสมควรที่จะปลดปล่อยพวกเขาออกจากความเป็นทาส.”

ไม่นานหลังจากแอมันกับผู้คนกลุ่มเล็กๆ จากเซราเฮ็มลามาถึง พร้อมด้วยกิเดียน หนึ่งในผู้นำของผู้คนของลิมไฮ พวกเขาวางแผนกระทำการอย่างหนึ่งซึ่งประสบความสำเร็จและหนีพ้นจากการกระทำทารุณกรรมของชาวเลมัน พระเจ้าทรงเชื่องช้าที่จะฟังเสียงร้องของพวกเขา เพราะเหตุใดหรือ เพราะความชั่วช้าสามานย์ของพวกเขานั่นเอง

เรื่องที่สองมีความคล้ายคลึงในหลายด้าน ทว่าแตกต่างเช่นกัน เรื่องราวบันทึกไว้ในโมไซยาห์ 24

แอลมากับผู้คนของเขาตั้งถิ่นฐานในแผ่นดินแห่งฮีลัม เมื่อกองทัพชาวเลมันยกมาถึงชายแดนของแผ่นดินนี้ ทั้งสองฝ่ายพบกันและสงบศึกกันได้ (ดูโมไซยาห์ 23:25–29) ไม่นานผู้นำของชาวเลมันเริ่มบังคับผู้คนของแอลมาให้ทำตามใจพวกเขาและทำให้พวกเขาแบกภาระหนัก (ดู โมไซยาห์ 24:8) ในข้อ 13เราอ่านได้ว่า “และเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือ สุรเสียงของพระเจ้ามาถึงคนเหล่านั้นในความทุกข์ของพวกเขา, มีความว่า:จงเงยหน้าและจงสบายใจเถิด, เพราะเรารู้ถึงพันธสัญญาที่เจ้าทำไว้กับเรา; และเราจะให้พันธสัญญาแก่ผู้คนของเราและปลดปล่อยพวกเขาออกจากควมเป็นทาส.”

ผู้คนของแอลมาได้รับการปลดปล่อยจากเงื้อมมือของชาวเลมันและเดินทางกลับอย่างปลอดภัยเพื่อไปรวมกับผู้คนของเซราเฮ็มลา

อะไรคือความแตกต่างระหว่างผู้คนของแอลมากับผู้คนของกษัตริย์ลิมไฮ เห็นได้ชัดว่ามีความแตกต่างหลายประการ ผู้คนของแอลมารักสงบและชอบธรรมมากกว่า พวกเขารับบัพติศมาแล้วและเข้าสู่พันธสัญญากับพระเจ้า พวกเขาถ่อมตนต่อพระพักตร์พระเจ้าแม้ก่อนเหตุร้ายของพวกเขาจะเริ่มต้น ข้อแตกต่างทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความเหมาะสมและยุติธรรมที่พระเจ้าจะทรงปลดปล่อยพวกเขาอย่างรวดเร็วในวิธีการอัศจรรย์จากเงื้อมมือที่กุมพวกเขาให้ตกอยู่ในความเป็นทาส ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้สอนเราถึงอำนาจแห่งการปลดปล่อยของพระเจ้า

คำพยากรณ์ที่บอกล่วงหน้าเกี่ยวกับพระชนม์ชีพและพระพันธกิจของพระเยซูคริสต์สัญญากับเราถึงการปลดปล่อยที่พระองค์จะทรงนำมาให้ การชดใช้และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ทำให้เราทุกคนมีหนทางหนีจากความตายทางร่างกาย และถ้าเรากลับใจก็จะมีหนทางหนีจากความตายทางวิญญาณ ซึ่งนำมาพร้อมกับพรแห่งชีวิตนิรันดร์ สัญญาแห่งการชดใช้และการฟื้นคืนชีวิต สัญญาแห่งการปลดปล่อยจากความตายทางร่างกายและทางวิญญาณพระผู้เป็นเจ้าทรงประกาศต่อโมเสส เมื่อพระองค์ตรัสว่า “เพราะดูเถิด, นี่คืองานของเราและรัศมีภาพของเรา—คือการทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์” (โมเสส 1:39)

ตรงกันข้ามกับความเชื่อที่แสดงไว้อย่างสวยงามในบรรดาพระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ เราจะพบพลังต่อต้านของฝ่ายโลกที่คัดค้านความเชื่อซึ่งยืนยงอยู่ในงานเขียนศักดิ์สิทธิ์ที่ให้การนำทางแก่เราตลอดหลายศตวรรษ์ที่ผ่านมา ในการนิยามคุณค่านิรันดร์และมาตรฐานความประพฤติของเราตลอดชีวิต ฝ่ายโลกประกาศว่าคำสอนในพระคัมภีร์ไบเลเป็นเท็จ คำสอนของพระอาจารย์ล้าสมัย เสียงของพวกเขาป่าวร้องว่าแต่ละคนมีเสรีภาพที่จะกำหนดมาตรฐานของตนเอง พวกเขาพยายามที่จะเปลี่ยนสิทธิของผู้เชื่อให้ตรงข้ามกับสิ่งที่สอนไว้ในพระคัมภีร์และในถ้อยคำของเหล่าศาสดาพยากรณ์

นับเป็นพรที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระพันธกิจของพระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของเราประกาศไว้ในพระคัมภีร์มอรมอนเพื่อเป็นพยานเล่มที่สองให้แก่หลักคำสอนที่ประกาศไว้ ในพระคัมภีร์ไบเบิล เหตุใดจึงสำคัญสำหรับโลกที่จะมีทั้งพระคัมภีร์ไบเบิลและพระคัมภีร์มอรมอน ข้าพเจ้าเชื่อว่าคำตอบจะพบอยู่ใน บทที่ 13 ของ 1 นีไฟ นีไฟบันทึกว่า “และเทพพูดกับข้าพเจ้า, มีความว่า: บันทึกชุดสุดท้ายเหล่านี้, ซึ่งเจ้าเห็นในบรรดาคนต่างชาติ [พระคัมภีร์มอรมอน], จะยืนยันความจริงของชุดแรก [พระคัมภีร์ไบเบิล], ซึ่งเป็นของอัครสาวกสิบสองของพระเมษโปดก, และจะทำให้รู้ความแจ้งชัดและสิ่งมีค่าทั้งหลายซึ่งถูกนำไปจากบันทึกชุดแรก; และจะทำให้รู้กันในตระกูล, ภาษา, และคนทั้งปวง, ว่าพระเมษโปดกของพระผู้เป็นเจ้าคือพระบุตรของพระบิดานิรันดร์, และพระผู้ช่วยให้รอดของโลก; และว่ามนุษย์ทั้งปวงต้องมาหาพระองค์, มิฉะนั้นพวกเขาจะได้รับการช่วยให้รอดไม่ได้” (ข้อ 40)

ลำพังพระคัมภีร์ไบเบิลและพระคัมภีร์มอรมอนยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ พระคัมภีร์ทั้งสองเล่มจึงจำเป็นสำหรับเราในการสอนและเรียนรู้หลักคำสอนอันครบถ้วนสมบูรณ์ของพระคริสต์ ความจำเป็นที่ต้องมีอีกเล่มหนึ่งไม่ได้ลดความสำคัญของอีกเล่มหนึ่ง ทั้งพระคัมภีร์ไบเบิลและพระคัมภีร์มอรมอนจำเป็นต่อความรอดและความสูงส่งของเรา ดังที่ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน สอนไว้อย่างมีพลังว่า “เมื่อใช้ร่วมกันพระคัมภีร์ไบเบิลและพระคัมภีร์มอรมอนจะทำให้หลักคำสอนเท็จจำนน” (“A New Witness for Christ,” Ensign, Nov, 1984)

ข้าพเจ้าขอจบโดยการชี้ให้เห็นเรื่องราวสองเรื่อง เรื่องหนึ่งจากพันธสัญญาเดิมและอีกเรื่องหนึ่งจากพระคัมภีร์มอรมอน—เพื่อให้เห็นว่า พระคัมภีร์สองเล่มนี้ทำงานสอดคล้องกันอย่างไร

เรื่องราวของอับราฮัมเริ่มด้วยการปลดปล่อยเขาจากชาวเคลเดียที่นมัสการรูปเคารพ (ดู ปฐมกาล 11:27–31; อับราฮัม 2:1–4) เขาและซารายภรรยา ได้รับการปลดปล่อยจากโทมนัสในเวลาต่อมา และได้รับสัญญาว่าโดยผ่านลูกหลานของพวกเขา ประชาชาติทั้งปวงของแผ่นดินโลกจะได้รับพร (ดู ปฐมกาล 18:18)

พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมกล่าวถึงเรื่องราวของอับราฮัม ซึ่งพาโลท หลานชายของเขาออกจากอียิปต์ไปกับเขาด้วย โดยที่ได้เลือกแผ่นดินก่อน โลทจึงเลือกที่ลุ่มแม่น้ำแห่งจอร์แดน และเขาตั้งกระโจมของเขาหันหน้าไปทางโสโดม เมืองแห่งความชั่วร้ายใหญ่หลวง (ดู ปฐมกาล 13:1–12) ปัญหาส่วนใหญ่ที่โลทเผชิญต่อมาในชีวิตของเขา และมีอีกมากมายหลายปัญหา สามารถย้อนไปถึงการตัดสินใจในเบื้องต้นของเขาที่ให้ประตูกระโจมหันหน้าไปยังโสโดม

อับราฮัม บรรพบุรุษของคนซื่อสัตย์ มีประสบการณ์ชีวิตต่างไปจากนี้ แน่นอนว่ามีปัญหาท้าทายมากมาย แต่เป็นชีวิตที่ได้รับพร เราไม่รู้ว่าประตูกระโจมของอับราฮัมหันไปทางใด แต่มีนัยอย่างชัดเจนในข้อสุดท้ายบทที่ 13 ของปฐมกาล ซึ่งกล่าวว่า “อับราม (หรืออับราฮัม) จึงยกเต็นท์มาอาศัยอยู่ที่หมู่ต้นก่อหลวงของมัมเร ซึ่งอยู่ที่ตำบลเฮโบรน แล้วสร้างแท่นถวายบูชาพระเจ้าที่นั่น (ปฐมกาล 13:18)

ถึงแม้ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ข้าพเจ้าเชื่อโดยส่วนตัวว่าประตูกระโจมของอับราฮัมหันหน้าไปทางแท่นบูชาที่เขาสร้างถวายพระเจ้า ข้าพเจ้ามาถึงข้อสรุปนี้ได้อย่างไร เป็นเพราะข้าพเจ้ารู้เรื่องราวเกี่ยวกับกษัตริย์เบ็นจามินในพระคัมภีร์มอรมอน ซึ่งสั่งสอนผู้คนของพระองค์เมื่อพวกเขามาชุมนุมกันเพื่อฟังคำปราศรัยครั้งสุดท้ายของท่าน กษัตริย์เบ็นจามินสั่งพวกเขาให้ตั้งประตูกระโจมหันหน้าไปทางพระวิหาร (ดู โมไซยาห์ 2:1–6)

เราสามารถได้รับการปลดปล่อยจากวิถีของความเลวและความชั่วร้ายโดยการหันไปสู่คำสอนของพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นผู้ปลดปล่อยที่ยิ่งใหญ่ เพราะพระองค์ทรงปลดปล่อยเราจากความตายและบาป (ดู โรม 11:29; 2 นีไฟ 9:12)

ข้าพเจ้าประกาศว่าพระเยซูทรงคือพระคริสต์ และเราสามารถเข้าใกล้พระองค์โดยการอ่านพระคัมภีร์มอรมอน พระคัมภีร์มอรมอนคือพยานหลักฐานอีกเล่มหนึ่งของพระเยซูคริสต์ พยานหลักฐานเล่มแรกของพระผู้ช่วยให้รอดของเราคือพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่—หรือพระคัมภีร์ไบเบิล

อีกประการหนึ่ง ขอให้ระลึกถึงคำบอกเล่าของสก็อตต์ เพื่อนข้าพเจ้า เกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน พระคัมภีร์เล่มนี้เป็นหนังสือที่ยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้าเป็นพยานว่า ส่วนสำคัญในความยิ่งใหญ่ของพระคัมภีร์มอรมอนงอกงามขึ้นจากความสอดคล้องกับพระคัมภีร์ไบเบิลอันศักดิ์สิทธิ์ ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน