2010–2019
การไถ่
เมษายน 2013


การไถ่

ตราบเท่าที่เราทำตามพระคริสต์ เราจะพยายามมีส่วนร่วมและส่งเสริมงานแห่งการไถ่ของพระองค์

ในยุคอาณานิคม แรงงานเป็นที่ต้องการอย่างมากในอเมริกา ช่วงระหว่างศตวรรษที่ 18 กับต้นศตวรรษที่ 19 ผู้มีโอกาสเป็นแรงงานอพยพถูกเกณฑ์ในเกรตบริเตน เยอรมนี และประเทศอื่นๆ ในยุโรป แต่หลายคนที่เต็มใจไปไม่สามารถจ่ายค่าเดินทางได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนเหล่านี้จะเดินทางภายใต้หนังสือสัญญาหรือข้อตกลงว่าหลังจากมาถึงจะทำงานให้ระยะหนึ่งโดยไม่รับค่าจ้างเพื่อเป็นการจ่ายค่าเดินทาง หลายคนมาพร้อมกับให้สัญญาว่าสมาชิกครอบครัวที่อยู่ในอเมริกาจะจ่ายค่าโดยสารให้เมื่อมาถึง แต่หากสัญญานั้นไม่เกิดขึ้น ผู้มาใหม่มีพันธะต้องจ่ายด้วยตนเองโดยทำงานชดใช้ตามสัญญา คำที่ใช้เรียกผู้อพยพภายใต้ข้อผูกมัดเหล่านี้คือ “ผู้ไถ่ถอน” พวกเขาต้องไถ่ค่าเดินทางของตนเอง—ในแง่หนึ่งคือซื้อเสรีภาพตนเอง—โดยใช้แรงงาน1

พระสมัญญานามของพระเยซูคริสต์ที่สำคัญที่สุดพระนามหนึ่งคือพระผู้ไถ่ ดังที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในเรื่องราวสั้นๆ เกี่ยวกับ “ผู้ไถ่ถอน” ที่เป็นชาวอพยพ คำว่า ไถ่ หมายถึงจ่ายเงินเพื่อปลดพันธะรับผิดชอบหรือหนี้สิน ไถ่ อาจหมายถึงการช่วยชีวิตหรือปลดปล่อยให้เป็นอิสระโดยวิธีจ่ายค่าไถ่ หากผู้ใดกระทำผิดแล้วแก้ไขหรือปรับปรุงตนเอง เรียกได้ว่าเขาไถ่โทษตนเองแล้ว ความหมายแต่ละอย่างเหล่านี้บ่งบอกถึงส่วนต่างๆ ของการไถ่อันสำคัญยิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงกระทำสำเร็จโดยผ่านการชดใช้ของพระองค์ ซึ่งรวมถึง “การปลดปล่อยจากบาปและบทลงโทษของบาป โดยวิธีพลีบูชาเพื่อคนบาป”2 ตามถ้อยคำในพจนานุกรม

การไถ่ของพระผู้ช่วยให้รอดมีสองส่วน ส่วนแรกเป็นการชดใช้การล่วงละเมิดของอาดัมและการตกของมนุษย์ที่เกิดขึ้นตามมา โดยเอาชนะสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นผลกระทบโดยตรงจากการตก—นั่นคือ ความตายทางร่างกายและความตายทางวิญญาณ ความตายทางร่างกายเป็นที่เข้าใจกันดีอยู่แล้ว ความตายทางวิญญาณคือการแยกมนุษย์จากพระผู้เป็นเจ้า ในถ้อยคำของเปาโล “เพราะว่าเช่นเดียวกับที่ทุกคนต้องตายโดยเกี่ยวเนื่องกับอาดัม ทุกคนก็จะได้รับชีวิตโดยเกี่ยวเนื่องกับพระคริสต์” (1 โครินธ์ 15:22) การไถ่จากความตายทางร่างกายและทางวิญญาณนี้มีผลต่อคนทั้งโลกโดยไม่มีเงื่อนไข3

ด้านที่สองของการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดคือการไถ่จากสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นผลทางอ้อมจากการตก—นั่นคือบาปของเราเองซึ่งตรงข้ามกับการล่วงละเมิดของอาดัม เนื่องจากการตก เราจึงเกิดมาในโลกมรรตัยซึ่งบาป—อันหมายถึงการไม่เชื่อฟังกฎที่บัญญัติไว้โดยพระผู้เป็นเจ้า—มีอยู่แพร่หลาย พระเจ้าตรัสเกี่ยวกับเราทุกคนดังนี้

“เมื่อพวกเขาเริ่มเติบโตขึ้น, บาปย่อมกำเนิดในใจพวกเขาฉันนั้น, และพวกเขาลิ้มรสความขมขื่น, เพื่อพวกเขาจะรู้จักให้คุณค่าแก่ความดี.

“และให้แก่พวกเขาที่จะรู้จักความดีจากความชั่ว; ดังนั้น พวกเขาจึงเป็นผู้มีสิทธิ์เสรีของตนเอง” (โมเสส 6:55–56)

เพราะเราต้องรับผิดชอบและเราทำการเลือก การไถ่จากบาปของเราจึงมีเงื่อนไข—เงื่อนไขในการสารภาพ ละทิ้งบาป และหันมาดำเนินชีวิตตามหลักศาสนา หรืออีกนัยหนึ่งคือ เงื่อนไขในการกลับใจ (ดู คพ. 58:43) “ดังนั้น” พระเจ้าทรงบัญชา “จงสอนลูกหลานของเจ้า, ว่ามนุษย์ทั้งปวง, ทุกแห่งหน, ต้องกลับใจ, มิฉะนั้นพวกเขาจะไม่มีทางสืบทอดอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าเป็นมรดกได้เลย, เพราะสิ่งไม่สะอาดจะพำนักที่นั่นไม่ได้, หรือพำนักในที่ประทับของพระองค์ก็ไม่ได้” (โมเสส 6:57)

ควาทุกข์ทรมานของพระผู้ช่วยให้รอดในเกทเสมนีและความเจ็บปวดแสนสาหัสของพระองค์บนกางเขน ไถ่เราจากบาปโดยตอบสนองข้อเรียกร้องที่ความยุติธรรมมีต่อเรา พระองค์ทรงหยิบยื่นพระเมตตาและทรงยกโทษให้ผู้กลับใจ นอกจากนี้การชดใช้ยังชำระหนี้ที่ความยุติธรรมติดค้างเราโดยเยียวยาและชดเชยให้เราสำหรับความทุกข์ทรมานใดๆ ก็ตามที่เราต้องทนทุกข์โดยปราศจากความผิด “เพราะดูเถิด, พระองค์ทรงทนรับความเจ็บปวดของมนุษย์ทั้งปวง, แท้จริงแล้ว, ความเจ็บปวดของชาวโลกที่มีชีวิตทุกคน, ทั้งชาย, หญิง, และเด็ก, ที่เป็นของครอบครัวอาดัม” (2 นีไฟ 9:21; ดู แอลมา 7:11–12ด้วย)4

ตราบเท่าที่เราทำตามพระคริสต์ เราจะพยายามมีส่วนร่วมและส่งเสริมงานแห่งการไถ่ของพระองค์ งานรับใช้สำคัญที่สุดที่เราทำให้ผู้อื่นได้ในชีวิตนี้ โดยเริ่มต้นกับคนในครอบครัวเราคือการนำพวกเขามาสู่พระคริสต์ผ่านศรัทธาและการกลับใจ เพื่อที่พวกเขาจะได้รับการไถ่ของพระองค์—โดยมีสันติสุขและปีติเวลานี้ รวมถึงความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ในโลกที่จะมาถึง งานผู้สอนศาสนาเป็นการแสดงออกอย่างดีถึงความรักที่ไถ่ของพระเจ้า ในฐานะผู้ส่งสารที่มีสิทธิอำนาจของพระองค์ พวกเขาจึงเสนอพรอันหาที่เปรียบมิได้ของศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การกลับใจ บัพติศมา และของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ เพื่อเปิดทางไปสู่การเกิดใหม่และการไถ่ทางวิญญาณ

เราสามารถช่วยงานไถ่ของพระเจ้าเพื่อผู้ล่วงลับได้เช่นกัน “เอ็ลเดอร์ที่ซื่อสัตย์ของสมัยการประทานนี้, เมื่อพวกเขาออกไปจากชีวิตมรรตัย, ทำงานของพวกเขาต่อไปในการสั่งสอนพระกิตติคุณแห่งการกลับใจและการไถ่, โดยผ่านการพลีพระชนม์ชีพของพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระผู้เป็นเจ้า, ในบรรดาคนเหล่านั้นผู้อยู่ในความมืดและภายใต้พันธนาการแห่งบาปในโลกอันไพศาลแห่งวิญญาณของคนตาย” (คพ. 138:57) ด้วยประโยชน์ของการประกอบพิธีแทนคนตายในพระวิหารของพระผู้เป็นเจ้า แม้ผู้ที่ตายในพันธนาการของบาปก็ยังเป็นอิสระได้5

ถึงแม้ด้านสำคัญที่สุดของการไถ่เกี่ยวข้องกับการกลับใจและการให้อภัย แต่มีด้านทางโลกที่สำคัญมากอีกด้านหนึ่งเช่นกัน มีกล่าวไว้ว่าพระเยซูเสด็จออกไปกระทำคุณประโยชน์ (ดู กิจการ 10:38) ซึ่งรวมถึงการรักษาคนป่วยและคนทุพพลภาพ จัดหาอาหารให้ฝูงชนที่หิวโหย และสอนวิถีทางที่ยิ่งใหญ่กว่า “บุตรมนุษย์…ไม่ได้มาเพื่อรับการปรนนิบัติ แต่มาเพื่อปรนนิบัติคนอื่น และให้ชีวิตของท่านเป็นค่าไถ่คนจำนวนมาก” (มัทธิว 20:28) ดังนั้นขอให้เราออกไปกระทำคุณประโยชน์ตามแบบแผนการไถ่ของพระอาจารย์ภายใต้อิทธิพลของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์

งานไถ่ประเภทนี้หมายถึงการช่วยเหลือผู้คนที่ประสบปัญหา หมายถึงการเป็นเพื่อนกับคนยากจนและคนอ่อนแอ การบรรเทาทุกข์ การแก้ไขสิ่งผิด การปกป้องความจริง การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้อนุชนรุ่นหลัง และการทำให้เกิดความมั่นคงและความสุขที่บ้าน งานไถ่ของเราบนแผ่นดินโลก ส่วนใหญ่คือการช่วยให้ผู้อื่นเติบโต บรรลุความหวังและความใฝ่ฝันอันชอบธรรม

ตัวอย่างหนึ่งมาจากวรรณกรรมของวิกตอร์ อูโก เรื่อง Les Misérables [เหยื่ออธรรม] แม้จะเป็นนวนิยาย แต่เป็นเรื่องที่สร้างความประทับใจและแรงบันดาลใจแก่ข้าพเจ้าเสมอมา ช่วงเกือบต้นเรื่อง มุขนายกเบียงเวอนูให้อาหารและที่พักแรมแก่คนจรจัดอย่างฌอง วัลฌองที่เพิ่งถูกปล่อยตัวหลังติดคุกมา 19 ปี โทษฐานขโมยขนมปังเพื่อนำมาเลี้ยงลูกของพี่สาวที่กำลังหิวโหย ด้วยความด้านชาและขมขื่น วัลฌองตอบแทนคุณมุขนายกเบียงเวอนูด้วยการขโมยเครื่องเงินของเขา ต่อมาถูกตำรวจฝรั่งเศสจับกุมตัวเพราะจับพิรุธได้ วัลฌองอ้างความเท็จว่าเครื่องเงินเหล่านั้นเป็นของขวัญที่เขาได้มา เมื่อตำรวจลากตัวเขากลับมาที่บ้านของมุขนายก ยังความแปลกใจแก่วัลฌองที่มุขนายกเบียงเวอนูยืนยันเรื่องที่เขาเล่าและพูดให้น่าเชื่อถือมากขึ้นอีกว่า “‘แต่! ข้าพเจ้าให้เชิงเทียนแก่ท่านไปด้วย ทำด้วยเงินเช่นกัน และมีค่าถึงสองร้อยฟรังก์ เหตุใดท่านจึงไม่นำไปพร้อมกับภาชนะเหล่านั้นเล่า’ …

“มุขนายกเข้ามาใกล้เขาพลางกระซิบเบาๆ ว่า

“‘อย่าลืม อย่าลืมสัญญาที่ท่านให้ไว้กับข้าพเจ้าว่าจะใช้เครื่องเงินนี้เพื่อกลับตัวเป็นคนดี’

“ฌอง วัลฌองผู้ไม่มีความทรงจำใดเลยเกี่ยวกับสัญญานี้ยืนสับสน มุขนายก…กล่าวต่อด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า

“‘ฌอง วัลฌอง สหายข้าพเจ้า ท่านมิได้เป็นของมารอีกต่อไป จิตวิญญาณท่าน ข้าพเจ้าซื้อแทนให้แล้ว โดยถอนออกมาจากความคิดอันมืดมนและวิญญาณแห่งความหายนะ และถวายมันแด่พระผู้เป็นเจ้า!’”

ฌอง วัลฌองกลายเป็นคนใหม่จริงๆ เขาเป็นชายผู้ซื่อสัตย์และผู้อุปถัมภ์คนมากมาย เขาเก็บเชิงเทียนสองอันนั้นไว้ตลอดชีวิตเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่าชีวิตเขาได้รับการไถ่เพื่อพระผู้เป็นเจ้า6

การไถ่ทางโลกบางรูปแบบเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงจัดตั้งศาสนจักร เพราะเราจัดองค์กรในโควรัมและองค์การช่วย ในสเตค วอร์ด และสาขา เราจึงไม่ได้สอนและให้กำลังใจกันในพระกิตติคุณเพียงอย่างเดียว แต่เรายังสามารถขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นและแหล่งช่วยต่างๆ เพื่อรับมือกับความจำเป็นเร่งด่วนในชีวิต ผู้คนที่กระทำตามลำพังหรือรวมกลุ่มเฉพาะกิจไม่สามารถจัดหาวิธีดูแลในระดับที่พอจะรับมือกับการท้าทายใหญ่ๆ ได้ ในฐานะผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ เราเป็นกลุ่มวิสุทธิชนที่รวมเป็นองค์กรเพื่อช่วยไถ่ความขัดสนของเพื่อนวิสุทธิชนและคนทั่วโลกให้มากที่สุดเท่าที่เราจะเอื้อมถึง

โครงการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมของเรา ดังที่เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์กล่าวถึงอย่างเจาะจง ในปีที่ผ่านมาทำให้ผู้คน 890,000 คนใน 36 ประเทศมีน้ำสะอาดใช้ 70,000 คนใน 57 ประเทศมีเก้าอี้เข็น 75,000 คนใน 25 ประเทศมีสายตาดีขึ้น และผู้คนใน 52 ประเทศได้รับความช่วยเหลือหลังเกิดภัยธรรมชาติ โดยดำเนินการร่วมกับองค์กรอื่นๆ ศาสนจักรช่วยให้วัคซีนคุ้มกันโรคแก่เด็กประมาณ 8 ล้านคน และช่วยเหลือชาวซีเรียในค่ายผู้ลี้ภัยที่ตุรกี เลบานอน และจอร์แดนด้วยปัจจัยในการดำรงชีวิต ในขณะเดียวกัน สมาชิกศาสนจักรที่ขัดสนได้รับเงินหลายล้านดอลลาร์จากเงินบริจาคอดอาหารและความช่วยเหลือด้านสวัสดิการอื่นๆ ระหว่างปี 2012 ขอบคุณสำหรับความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของท่าน

ทั้งหมดนี้ไม่ได้นับรวมถึงการกระทำที่มาจากน้ำใจและความช่วยเหลือส่วนตัวของแต่ละคน—ไม่ว่าจะเป็นการให้อาหาร เสื้อผ้า เงิน การดูแล ตลอดจนการปลอบโยนและความเมตตาการุณย์อีกนับพันรูปแบบ—ที่เราอาจมีส่วนในงานไถ่เฉกเช่นพระคริสต์ สมัยเด็กข้าพเจ้าเคยเห็นการกระทำของคุณแม่ที่ช่วยไถ่สตรีขัดสนคนหนึ่ง หลายปีมาแล้วเมื่อลูกๆ ยังเล็ก คุณแม่ข้าพเจ้าเข้ารับการผ่าตัดร้ายแรงจนเกือบคร่าชีวิตและต้องล้มหมอนนอนเสื่อเกือบตลอดหนึ่งปี ระหว่างนั้น ครอบครัวและสมาชิกวอร์ดช่วยเหลือคุณแม่กับครอบครัวเรา สำหรับความช่วยเหลือเพิ่มเติม ซิสเตอร์อับราฮัมประธานสมาคมสงเคราะห์วอร์ดแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่จ้างสตรีคนหนึ่งในวอร์ดซึ่งต้องการงานอย่างมาก ในการเล่าเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจะใช้ชื่อสมมติแทนชื่อสตรีคนนี้กับบุตรสาวของเธอว่าซารากับแอนนี ต่อไปนี้คือบันทึกของคุณแม่ข้าพเจ้า:

“ฉันเห็นภาพชัดเจนราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ฉันนอนอยู่บนเตียง และซิสเตอร์อับราฮัมพาซารามาที่ประตูห้อง ฉันรู้สึกผิดหวัง คนที่ลักษณะไม่ชวนมองที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ฉันเคยเจอยืนอยู่ที่นั่น—ผอมกะหร่อง ผมเผ้าแหว่งวิ่นยุ่งเหยิง ไหล่ห่อ คอตกตามองพื้น เธอสวมชุดอยู่บ้านเก่าๆ ขนาดใหญ่กว่าตัวสี่เท่า ไม่ยอมเงยหน้าและพูดเสียงเบามากจนไม่ได้ยิน มีเด็กหญิงตัวเล็กๆ วัยประมาณสามขวบแอบอยู่ข้างหลังเธอ ฉันจะทำอะไรกับคนเช่นนี้ได้ พอทุกคนออกจากห้อง ฉันร้องไห้แล้วร้องไห้อีก ฉันต้องการความช่วยเหลือ ไม่ได้ต้องการปัญหาเพิ่ม ซิสเตอร์อับราฮัมอยู่ต่อกับเธอครู่หนึ่ง ทั้งคู่จัดเก็บบ้านให้เข้าที่เข้าทางและเตรียมอาหารดีๆ ไว้ให้อย่างรวดเร็ว ซิสเตอร์อับราฮัมขอให้ฉันลองดูสักสองสามวัน [โดยบอกว่า] ผู้หญิงคนนี้พบความยากลำบากมากมายเหลือแสนและเธอต้องการความช่วยเหลือ

“เช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อซารามาถึง ในที่สุดฉันให้เธอมานั่งข้างเตียงเพื่อจะได้ยินเธอพูด เธอถามว่าฉันอยากให้เธอทำอะไร ฉันบอกเธอและพูดว่า ‘แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือลูกชายฉัน อยู่เป็นเพื่อนพวกเขา อ่านหนังสือให้พวกเขาฟัง—พวกเขาสำคัญกว่าบ้านหลังนี้’ เธอทำอาหารเก่งและดูแลบ้านสะอาด ซักผ้าเรียบร้อย และดีต่อลูกๆ ฉัน

“ตลอดหลายสัปดาห์ ฉันได้รู้เรื่องราวของซารา [เพราะเธอลำบากในการได้ยิน จึงเรียนไม่ดีจนต้องหยุดเรียนในที่สุด เธอแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยกับชายสำมะเลเทเมา แอนนีเกิดมาเป็นความสุขในชีวิตของซารา ฤดูหนาวคืนหนึ่งสามีของเธอเมากลับบ้าน บังคับให้ซารากับแอนนีขึ้นรถไปทั้งชุดนอน แล้วขับไปปล่อยทิ้งไว้ข้างถนนใหญ่ ทั้งคู่ไม่เคยเจอเขาอีกเลย ซารากับแอนนีเดินเท้าเปล่าฝ่าความหนาวหลายกิโลเมตรมาที่บ้านแม่ของเธอ] แม่ของเธอตกลงให้เธออยู่ด้วยแลกกับการทำงานบ้านและทำอาหารทั้งหมด รวมทั้งดูแลน้องสาวและน้องชายของเธอที่กำลังเรียนมัธยมปลาย

“เราพาซาราไปหาแพทย์รักษาหู เธอได้เครื่องช่วยฟังมา … เราให้เธอเรียนโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่จนจบมัธยมปลาย เธอเรียนภาคค่ำ ต่อมาเธอจบวิทยาลัยและสอนการศึกษาพิเศษ เธอซื้อบ้านหลังเล็กๆ หลังหนึ่ง แอนนีแต่งงานในพระวิหารและมีลูกสองคน สุดท้ายซาราก็ได้รับการผ่าตัดหูและได้ยินชัดเจนในที่สุด หลายปีต่อมาเธอเกษียณและรับใช้งานเผยแผ่ … ซารามักจะขอบคุณเราบ่อยๆ และบอกว่าเธอเรียนรู้มากมายจากฉัน โดยเฉพาะเมื่อฉันบอกเธอว่าลูกๆ สำคัญยิ่งกว่าบ้าน เธอบอกว่าคำพูดนั้นสอนให้เธอทำเช่นนั้นกับแอนนี … ซาราเป็นผู้หญิงที่วิเศษมาก”

ในฐานะสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ เราควรทำสุดความสามารถในการไถ่ผู้อื่นจากความทุกข์และภาระหนัก แม้กระนั้น งานไถ่สำคัญที่สุดของเราคือการนำพวกเขามาสู่พระคริสต์ หากพระองค์ไม่ได้ทรงไถ่เราจากความตายและบาป เราจะมีเพียงพระกิตติคุณที่ธำรงความยุติธรรมในสังคม ซึ่งอาจให้ความช่วยเหลือและความสมานฉันท์บ้างในปัจจุบัน แต่ไม่มีอำนาจดึงความยุติธรรมอันเที่ยงแท้และความเมตตาอันไร้ขอบเขตลงมาจากสวรรค์ได้เลย การไถ่อันสูงสุดอยู่ในพระเยซูคริสต์และในพระองค์เท่านั้น ข้าพเจ้าน้อมยอมรับพระองค์ด้วยความซาบซึ้งในฐานะพระผู้ไถ่ ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. ดู Merriam-Webster’s Collegiate Dictionary, 10th ed. (1993), “redemptioner.”

  2. Webster’s New World College Dictionary, 3rd ed. (1988), “redeem.”

  3. “พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าทรงชดใช้ความผิดดั้งเดิม, ซึ่งในนั้นบาปของบิดามารดาจะตอบไว้บนศีรษะของลูกไม่ได้, เพราะพวกเขาปลอดบาปนับแต่การวางรากฐานของโลก” (โมเสส 6:54) โดยการไถ่ของพระคริสต์ คนทั้งปวงมีชัยเหนือหลุมศพและฟื้นคืนชีวิตสู่ความเป็นอมตะ นอกจากนี้คนทั้งปวงยังเอาชนะความตายทางวิญญาณโดยถูกนำกลับคืนสู่ที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อรับการพิพากษา พระเยซูตรัสว่า “ดังที่เราถูกยกขึ้น [บนกางเขน] โดยมนุษย์ฉันใด แม้ฉันนั้นมนุษย์จะถูกยกขึ้นโดยพระบิดา, เพื่อยืนอยู่ต่อหน้าเรา, เพื่อรับการพิพากษาตามงานของพวกเขา” (3 นีไฟ 27:14) ผู้ที่สะอาดจากบาปจะยังคงอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าในอาณาจักรสวรรค์ แต่ผู้ที่ไม่กลับใจและไม่สะอาดจะไม่สามารถอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าผู้บริสุทธิ์ได้ และหลังจากการพิพากษา พวกเขาต้องออกไปและด้วยเหตุนี้จึงทนทุกข์ความตายทางวิญญาณอีกครั้ง ลักษณะเช่นนี้บางครั้งเรียกว่าเป็นความตายครั้งที่สองหรือการทนทุกข์ความตายทางวิญญาณครั้งที่สอง (ดู ฮีลามัน 14:15–18)

  4. พระคัมภีร์กล่าวถึงบาปของเราเกี่ยวกับบางคนที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการไถ่ว่า “คนชั่วร้ายยังคงอยู่เหมือนกับว่าไม่มีการไถ่กระทำขึ้นเลย, เว้นแต่จะเป็นการแก้สายรัดแห่งความตายออก” (แอลมา 11:41) “ผู้ไม่ใช้ศรัทธาสู่การกลับใจจะเปิดโอกาสให้กฎทั้งหมดของข้อเรียกร้องแห่งความยุติธรรม; ฉะนั้นแก่คนที่มีศรัทธามาสู่การกลับใจเท่านั้นจึงจะนำมาซึ่งแผนแห่งการไถ่อันยิ่งใหญ่และเป็นนิรันดร์” (แอลมา 34:16) หากมนุษย์คนใดปฏิเสธการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด เขาต้องไถ่หนี้ความยุติธรรมของเขาด้วยตนเอง พระเยซูตรัสว่า “เพราะดูเถิด, เรา, พระผู้เป็นเจ้า, ทนทุกข์กับสิ่งเหล่านี้เพื่อทุกคน, เพื่อพวกเขาจะได้ไม่ทนทุกข์หากพวกเขาจะกลับใจ; แต่หากพวกเขาจะไม่กลับใจ พวกเขาต้องทนทุกข์แม้ดังเรา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:16–17) ความทุกข์ทรมานที่ยังไม่ได้รับการไถ่ของบุคคลหนึ่งเรียกกันว่านรก หมายถึงการอยู่ภายใต้มารและมีอธิบายไว้เชิงอุปลักษณ์ในพระคัมภีร์หลายครั้งว่าเป็นโซ่หรือบึงไฟและกำมะถัน ลีไฮอ้อนวอนให้บุตรชายเลือกการไถ่ของพระคริสต์ “และไม่เลือกความตายนิรันดร์, ตามความประสงค์ของเนื้อหนังและความชั่วซึ่งอยู่ในนั้น, ซึ่งให้พลังความสามารถแก่วิญญาณของมารที่จะจับเป็นเชลย, นำลูกลงนรก, เพื่อเขาจะปกครองเหนือลูกในอาณาจักรของเขาเอง” (2 นีไฟ 2:29) กระนั้นก็ตาม เนื่องจากการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ นรกจึงมีจุดจบ และผู้ที่ต้องผ่านมันไปล้วนได้รับการ “ไถ่จากมาร [ใน] การฟื้นคืนชีวิตหนสุดท้าย” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:85) “บุตรแห่งหายนะ” ซึ่งมีจำนวนค่อนข้างน้อยเป็น “พวกเดียวเท่านั้นที่ความตายครั้งที่สองจะมีอำนาจเหนือ [ตลอดกาล]; แท้จริงแล้ว, ตามจริงแล้ว, พวกเดียวเท่านั้นที่จะไม่ได้รับการไถ่ในเวลาอันเหมาะสมของพระเจ้า, หลังจากความทุกขเวทนาจากพระพิโรธของพระองค์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:32, 37–38)

  5. ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกล่าวอย่างชื่นชมยินดีว่า “ให้คนตายเปล่งเสียงเพลงสดุดีแห่งคำสรรเสริญนิรันดร์ถวายกษัตริย์อิมมานูเอล, ผู้ทรงแต่งตั้งไว้, ก่อนมีโลกขึ้นมา, สิ่งซึ่งจะทำให้เราสามารถไถ่พวกเขาออกจากที่คุมขังของพวกเขา; เพราะเชลยจะออกไปเป็นอิสระ” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:22)

  6. ดู วิกตอร์ อูโก, Les Misérables (1992), 91–92.