2010–2019
เพลงคร่ำครวญของเยเรมีย์: จงระวังการเป็นทาส
ตุลาคม 2013


เพลงคร่ำครวญของเยเรมีย์: จงระวังการเป็นทาส

สิ่งที่ท้าทายเราคือหลีกเลี่ยงการเป็นทาสทุกรูปแบบ ช่วยพระเจ้ารวบรวมผู้ที่ทรงเลือกไว้และเสียสละเพื่ออนุชนรุ่นหลัง

ช่วงแรกในชีวิตแต่งงานของเรา ข้าพเจ้ากับแมรี่ภรรยาข้าพเจ้าตัดสินใจว่าเราจะเลือกกิจกรรมที่เราสองคนจะเข้าร่วมได้บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่เราต้องรอบคอบเรื่องงบประมาณของเราเช่นกัน แมรี่ชอบดนตรีและเห็นได้ชัดว่าเธอกังวลว่าข้าพเจ้าอาจเลือกไปดูการแข่งขันกีฬามากกว่า เธอจึงต่อรองว่าทุกการแข่งขันกีฬาที่ต้องเสียเงินเข้าชม เราต้องไปดูละครเพลง อุปรากร หรือการแสดงสองอย่าง

ทีแรกข้าพเจ้าไม่ค่อยชอบที่ต้องไปดูอุปรากร แต่เวลาผ่านไปข้าพเจ้าก็เปลี่ยนทัศนคติ ข้าพเจ้ากลับชื่นชอบอุปรากรของจูเซปเป แวร์ดี1 เป็นพิเศษ สัปดาห์นี้จะครบชาตกาล 200 ปี ของเขา

ในวัยเยาว์ของแวร์ดี เขาสนใจศาสดาพยากรณ์เยเรมีย์มาก เมื่ออายุ 28 ในปี 1842 เขามีชื่อเสียงจากอุปรากรเรื่อง นาบุคโก ซึ่งเป็นชื่อย่อในภาษาอิตาลีของเนบูคัดเนสซาร์ พระราชาแห่งบาบิโลน อุปรากรเรื่องนี้ได้แนวคิดมาจากหนังสือเยเรมีย์ เพลงคร่ำครวญ และเพลงสดุดีในพระคริสตธรรมคัมภีร์เดิม ซึ่งรวมเนื้อหาเกี่ยวกับความปราชัยของเยรูซาเล็ม การตกเป็นเชลยและการเป็นทาสของชาวยิว เพลงสดุดีบทที่ 137 เป็นความซาบซึ้งและแรงบันดาลใจให้แวร์ดีประพันธ์เพลง “Chorus of Hebrew slaves” [เพลงของทาสชาวฮีบรู] หัวเรื่องของเพลงสดุดีบทนี้ในพระคัมภีร์สะเทือนใจมาก “ขณะเป็นเชลย ชาวยิวร่ำไห้ริมฝั่งแม่น้ำบาบิโลน—เพราะความโศกเศร้า พวกเขาไม่อาจขับขานบทเพลงแห่งไซอัน”

ข้าพเจ้ามีจุดประสงค์ที่จะทบทวนรูปแบบของการเป็นทาสและภาวะถูกกดขี่ ข้าพเจ้าจะเปรียบเทียบสภาวการณ์บางอย่างในปัจจุบันกับในสมัยของเยเรมีย์ก่อนการล่มสลายของเยรูซาเล็ม ในการกล่าวเสียงเตือน ข้าพเจ้าซาบซึ้งใจที่สมาชิกศาสนจักรเกือบทั้งหมดหลีกเลี่ยงความประพฤติที่ก่อความขุ่นเคืองพระทัยพระเจ้าดังเช่นสมัยของเยเรมีย์อย่างชอบธรรม

คำพยากรณ์และเพลงคร่ำครวญของเยเรมีย์มีความสำคัญต่อวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เยเรมีย์และเยรูซาเล็มในสมัยของท่านเป็นภาพภูมิหลังในบทแรกๆ ของพระคัมภีร์มอรมอน เยเรมีย์เป็นคนร่วมสมัยเดียวกันกับศาสดาพยากรณ์ลีไฮ2 พระเจ้าตรัสให้เยเรมีย์ทราบถึงการแต่งตั้งล่วงหน้าของท่าน “เราได้รู้จักเจ้าก่อนที่เราได้ก่อร่างตัวเจ้าขึ้นในครรภ์ และก่อนที่เจ้าคลอดจากครรภ์ เราก็ได้กำหนดตัวเจ้าไว้ เราได้แต่งตั้งเจ้าเป็นผู้เผยพระวจนะแก่บรรดาประชาชาติ”3

ลีไฮมีการเรียก พันธกิจ และงานมอบหมายจากพระเจ้าที่ต่างออกไป ท่านไม่ได้รับเรียกเมื่อยังเยาว์วัยแต่ได้รับเรียกเมื่อท่านมีวุฒิภาวะแล้ว แรกเริ่มท่านกล่าวเสียงเตือน แต่หลังจากประกาศข่าวสารเดียวกันกับเยเรมีย์อย่างซื่อสัตย์ พระเจ้าทรงบัญชาให้ลีไฮพาครอบครัวออกไปในแดนทุรกันดาร4 เพราะการนี้ ลีไฮจึงเป็นพรไม่เพียงกับครอบครัวท่านเท่านั้นแต่กับผู้คนทั้งปวงเช่นกัน

ในช่วงหลายปีก่อนความพินาศของเยรูซาเล็ม5 ข่าวสารที่พระเจ้าประทานแก่เยเรมีย์นั้นไม่อาจลืมเลือนได้ พระองค์ตรัสดังนี้

“ประชากรของเราได้เอาศักดิ์ศรีของเขาแลกกับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ …

“… เขาได้ทอดทิ้งเราซึ่งเป็นน้ำพุที่มีน้ำแห่งชีวิต แล้วสกัด…ไว้…เป็นบ่อแตกที่ขังน้ำไม่ได้”6

เมื่อกล่าวถึงภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับผู้อยู่อาศัยของเยรูซาเล็ม พระเจ้าทรงคร่ำครวญว่า “ฤดูเกี่ยวก็ผ่านไป ฤดูแล้งก็สิ้นสุดแล้ว และ [เขา] ทั้งหลายก็ไม่รอด”7

พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ให้ชายและหญิงมีอิสระที่จะเลือกระหว่างความดีกับความชั่ว เมื่อทางเลือกที่ชั่วร้ายกลายเป็นลักษณะที่เด่นกว่าของวัฒนธรรมหรือชนชาติหนึ่ง ผลลัพธ์ร้ายแรงก็จะตามมาทั้งในชีวิตนี้และในชีวิตที่จะมาถึง ผู้คนสามารถตกเป็นทาสไม่เพียงสิ่งเสพติดอันตรายเท่านั้น แต่รวมถึงหลักปรัชญาที่อันตรายและเสพติดด้วยซึ่งหันเหจากการดำเนินชีวิตที่ชอบธรรม

เมื่อเราหันไปจากพระผู้เป็นเจ้าองค์จริงและทรงพระชนม์อยู่ ไปนมัสการพระผู้เป็นเจ้าปลอมเช่นความมั่งคั่ง ชื่อเสียง และความประพฤติที่ไม่ชอบธรรม จึงส่งผลให้ต้องตกเป็นทาสทุกอย่างที่แฝงไว้ด้วยเล่ห์เพทุบาย สิ่งเหล่านี้รวมถึงการเป็นทาสทางวิญญาณ ร่างกาย และสติปัญญา บางครั้งนำมาซึ่งการทำลายล้าง เยเรมีย์และลีไฮสอนไว้ว่าผู้ที่ชอบธรรมต้องช่วยพระเจ้าสถาปนาศาสนจักรและอาณาจักรของพระองค์และรวบรวมอิสราเอลที่กระจัดกระจาย8

ข่าวสารเหล่านี้ประกาศก้องครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดหลายศตวรรษในทุกสมัยการประทาน นี่คือแก่นแท้แห่งการฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ในสมัยการประทานสุดท้ายนี้

การตกเป็นเชลยของชาวยิวและการกระจัดกระจายของบรรดาชนเผ่าแห่งอิสราเอล รวมถึงสิบเผ่า เป็นองค์ประกอบของหลักคำสอนสำคัญในการฟื้นฟูพระกิตติคุณ สิบเผ่าที่สูญหายไปเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอิสราเอลตอนเหนือ ชนเผ่าเหล่านี้ตกเป็นเชลยและถูกนำไปที่อัสซีเรียเมื่อ 721 ปี ก่อนคริสตกาล พวกเขาไปยังแผ่นดินทางเหนือ9 หลักแห่งความเชื่อข้อสิบกล่าวว่า “เราเชื่อในการรวมกันอย่างเป็นรูปธรรมของอิสราเอลและในการนำกลับคืนมาของเผ่าทั้งสิบ”10 เราเชื่อเช่นกันว่าในฐานะส่วนหนึ่งของพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงทำกับอับราฮัม ไม่เพียงเชื้อสายของอับราฮัมเท่านั้นที่จะได้รับพรแต่ผู้คนทั้งปวงของแผ่นดินโลกจะได้รับพรด้วย ดังที่เอ็ลเดอร์เนลสัน กล่าวว่า “ไม่ใช่เรื่องของสถานที่ทางกายภาพ แต่เป็นเรื่องของคำมั่นสัญญาส่วนตัว ผู้คนจะได้รับการ ‘นำมาสู่ความรู้เรื่องพระเจ้า’ [3 นีไฟ 20:13] โดยไม่ต้องละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน”11

หลักคำสอนของเราชัดเจน “พระเจ้าทรงทำให้สิบสองเผ่าของอิสราเอลกระจัดกระจายและรับทุกข์ทรมานเนื่องจากความไม่ชอบธรรมและการกบฏของพวกเขา. อย่างไรก็ตาม, พระเจ้ายังทรงทำให้การกระจัดกระจายของผู้คนที่พระองค์ทรงเลือกไว้ในบรรดาประชาชาติของโลกเป็นพรแก่ประชาชาติเหล่านั้น.”12

เราเรียนรู้บทเรียนที่มีค่าจากช่วงเวลาอันน่าสลดใจนี้ เราควรทำทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงบาปและการกบฏซึ่งนำไปสู่การเป็นทาส13 เรายังรู้เช่นกันว่าเราต้องดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมก่อนจะช่วยพระองค์รวบรวมผู้คนที่ทรงเลือกไว้และในการรวมกันอย่างเป็นรูปธรรมของอิสราเอล

การเป็นทาส ภาวะถูกกดขี่ การเสพติด และภาวะจำยอมมาในหลายรูปแบบ สิ่งเหล่านี้อาจหมายถึงการตกเป็นทาสอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็อาจเป็นการสูญเสียหรือการบั่นทอนสิทธิ์เสรีทางศีลธรรมซึ่งจะขัดขวางความก้าวหน้าของเราได้ เยเรมีย์บอกไว้ชัดเจนว่าคนไม่ชอบธรรมและพวกกบฏคือสาเหตุหลักที่ทำให้เยรูซาเล็มพินาศและตกเป็นเชลยในบาบิโลน14

การตกเป็นทาสในรูปแบบอื่นก็ทำลายวิญญาณมนุษย์ได้เท่าเทียมกัน สิทธิ์เสรีทางศีลธรรมอาจใช้ในทางที่ผิดได้มากมาย15 ข้าพเจ้าจะพูดถึงพิษภัยสี่อย่างซึ่งอันตรายเป็นพิเศษในวัฒนธรรมสมัยนี้

อย่างแรก การเสพติดที่บั่นทอนสิทธิ์เสรี ขัดแย้งกับความเชื่อทางศีลธรรม และทำลายสุขภาพจนนำไปสู่การเป็นทาส ผลกระทบของยาเสพติดและแอลกอฮอล์ การผิดศีลธรรม สื่อลามก การพนัน ภาวะถูกกดขี่ทางการเงิน และความทุกข์อื่นๆ ก่อภาระใหญ่หลวงแก่ผู้ที่ตกเป็นทาสและแก่สังคมจนไม่อาจประมาณได้

อย่างที่สอง การเสพติดหรือความชื่นชอบบางอย่างซึ่งแม้ไม่ได้เลวร้ายแต่ก็อาจทำให้เราเสียเวลาอันมีค่าแทนที่จะไปทำสิ่งดีงามอื่นๆ สิ่งเหล่านี้รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดีย วิดีโอเกม กีฬา นันทนาการ และอื่นๆ อีกมากมายจนเกินความจำเป็น16

เราจะแบ่งเวลาสำหรับครอบครัวได้อย่างไรคือหนึ่งในปัญหาสำคัญที่สุดที่เราเผชิญในเกือบทุกวัฒนธรรม สมัยที่ข้าพเจ้าเป็นสมาชิกศาสนจักรเพียงคนเดียวในบริษัทกฏหมายของเรา ทนายสตรีคนหนึ่งอธิบายให้ข้าพเจ้าฟังว่าเธอรู้สึกเหมือนเป็นนักเล่นจั๊กกลิ้งที่พยายามโยนรับเลี้ยงลูกบอลไปมาในอากาศสามลูกพร้อมกัน ลูกบอลลูกหนึ่งคืองานกฏหมายของเธอ อีกลูกคือชีวิตแต่งงาน และอีกลูกคือลูกๆ ของเธอ เธอเกือบเลิกหวังแล้วที่จะมีเวลาเป็นของตนเอง เธอกังวลมากว่าลูกบอลลูกหนึ่งตกอยู่ที่พื้นเสมอ ข้าพเจ้าเสนอให้เราเจอกันเป็นกลุ่มเพื่อสนทนาถึงการจัดลำดับความสำคัญของเรา เราลงความเห็นว่าสาเหตุสำคัญที่เราทำงานคือเพื่อดูแลครอบครัว เราเห็นด้วยว่าการหาเงินมากๆ ไม่สำคัญเท่ากับครอบครัวของเรา แต่เราเข้าใจว่าการบริการลูกค้าของเราให้ดีที่สุดนั้นเป็นสิ่งจำเป็น จากนั้นเราสนทนาถึงสิ่งที่เราทำในที่ทำงานซึ่งไม่จำเป็นและขัดกับเวลาที่เราจะมีให้ครอบครัว มีแรงกดดันอะไรไหมที่จะใช้เวลาในที่ทำงานโดยไม่จำเป็น17 เราตัดสินใจว่าเป้าหมายของเราจะเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวของทั้งชายและหญิง ขอให้เราเป็นต้นแบบในการพิทักษ์เวลาสำหรับครอบครัว

อย่างที่สาม ภาวะถูกกดขี่ที่แพร่หลายที่สุดในวันเวลาของเรา ดังที่เป็นมาตลอดประวัติศาสตร์ คือความเชื่อทางมโนคติและการเมืองซึ่งขัดแย้งกับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ การแทนที่ความจริงแห่งพระกิตติคุณด้วยปรัชญามนุษย์อาจนำเราออกจากความเรียบง่ายในข่าวสารของพระผู้ช่วยให้รอด เมื่ออัครสาวกเปาโลเยี่ยมกรุงเอเธนส์ ท่านพยายามสอนเรื่องการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ เราอ่านเรื่องนี้ได้ในหนังสือกิจการของอัครทูต “เพราะชาวเอเธนส์กับชาวต่างประเทศซึ่งอาศัยอยู่ที่นั่นไม่สนใจเรื่องอะไรนอกจากจะกล่าวหรือฟัง สิ่งใหม่ๆ18 เมื่อฝูงชนตระหนักในถ้อยคำทางศาสนาที่เรียบง่ายจากข่าวสารของเปาโล ซึ่งไม่แปลกใหม่ พวกเขาจึงปฏิเสธ

เรื่องนี้แสดงให้เห็นวันเวลาของเรา ซึ่งความจริงแห่งพระกิตติคุณมักจะถูกปฏิเสธหรือบิดเบือนเพื่อให้ถูกรสนิยมทางความคิดมากขึ้นหรือเข้ากันได้กับกระแสค่านิยมทางวัฒนธรรมและปรัชญาทางความคิดในปัจจุบัน ถ้าเราไม่ระวังให้ดี เราอาจถูกจับไว้ด้วยค่านิยมเหล่านี้และตกเป็นทาสทางสติปัญญา เวลานี้มีเสียงหลายเสียงที่แนะนำวิธีดำเนินชีวิตให้สตรี19 พวกเขามักขัดแย้งกันเอง ที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือปรัชญาที่วิพากษ์วิจารณ์หรือเริ่มดูหมิ่นดูแคลนสตรีผู้เลือกการเสียสละที่จำเป็นในการเป็นมารดา ครู ผู้เลี้ยงดู หรือเพื่อนแก่บรรดาเด็กๆ

ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลานสาวคนเล็กสุดของเราสองคนมาเยี่ยมเรา—มาคนละสัปดาห์กัน ข้าพเจ้าอยู่บ้านและเปิดประตู แมรี่ภรรยาข้าพเจ้าอยู่อีกห้องหนึ่ง ทั้งสองครั้ง หลังจากกอดกัน พวกเขาพูดเกือบเหมือนกัน พวกเขามองไปรอบๆ และพูดว่า “หนูชอบอยู่บ้านคุณยาย คุณยายอยู่ไหนคะ” ข้าพเจ้าไม่ได้บอกพวกเขา แต่นึกในใจ “นี่ก็บ้านคุณตาด้วยไม่ใช่หรือ” แต่ข้าพเจ้าตระหนักว่าสมัยข้าพเจ้ายังเด็ก ครอบครัวของเราไปเยี่ยมบ้านคุณยาย เนื้อร้องจากเพลงที่คุ้นเคยเข้ามาในความคิดข้าพเจ้า “เราข้ามแม่น้ำและเดินผ่านป่าไปหาคุณยายที่บ้าน”

ข้าพเจ้าขอบอกอย่างไม่เคลือบแคลงว่าข้าพเจ้าปลาบปลื้มกับโอกาสทางการศึกษาและโอกาสอื่นๆ ซึ่งมีให้สตรี ข้าพเจ้าชื่นชอบข้อเท็จจริงที่ว่ามีการเรียกร้องให้สตรีเกือบทั่วโลกลดการทำงานที่ต้องใช้แรงและงานบ้านที่หนักมากเพราะความสะดวกสบายสมัยใหม่และสตรีกำลังสร้างผลงานที่ดีเลิศในการงานทุกสาขาวิชา แต่ถ้าเราปล่อยให้วัฒนธรรมของเราลดความสัมพันธ์พิเศษที่เด็กมีกับมารดาและคุณย่าคุณยายตลอดจนคนอื่นๆ ที่เลี้ยงดูเขา เราจะเสียใจในที่สุด

อย่างที่สี่ การบังคับซึ่งละเมิดหลักธรรมทางศาสนาอาจส่งผลให้ตกเป็นทาสได้ รูปแบบที่ไม่พึงปรารถนาที่สุดอย่างหนึ่งคือเมื่อคนชอบธรรมที่รู้สึกว่าตนมีภาระรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าในด้านความประพฤติ แต่กลับถูกบังคับให้ทำกิจกรรมที่ล่วงละเมิดมโนธรรมของตนเอง ตัวอย่างเช่น ผู้ดูแลสุขภาพถูกบังคับให้เลือกระหว่างการช่วยทำแท้งซึ่งขัดต่อมโนธรรมกับการสูญเสียงาน

ศาสนจักรถือเป็นชนกลุ่มน้อยแม้เมื่อเชื่อมโยงกับผู้คนที่มีแนวคิดเหมือนกัน ยากมากที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมทั่วไป แต่เราต้องปรับปรุงวัฒนธรรมทางศีลธรรมรอบข้างเรา วิสุทธิชนยุคสุดท้ายในทุกประเทศควรเป็นพลเมืองดี มีส่วนร่วมในกิจกรรมของบ้านเมือง หาความรู้เรื่องนโยบายการเมืองและลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม เราควรเน้นที่การเสียสละซึ่งจำเป็นต่อการปกป้องครอบครัวของเราและอนุชนรุ่นหลัง20 พวกเขาส่วนใหญ่ยังไม่ตกเป็นทาสของการเสพติดร้ายแรงหรือมโนคติที่ไม่ถูกต้อง เราต้องฉีดวัคซีนป้องกันเขาจากโลกที่ฟังดูเหมือนเยรูซาเล็มซึ่งลีไฮและเยเรมีย์ได้ประสบ นอกจากนั้น เราต้องเตรียมพวกเขาให้พร้อมจะทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ ให้เขาเป็นทูตคนสำคัญในการช่วยพระเจ้าสถาปนาศาสนจักรของพระองค์ รวบรวมอิสราเอลที่กระจัดกระจายและผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกไว้จากทุกหนแห่ง21 ดังถ้อยคำอันไพเราะที่อ่านจากหลักคำสอนและพันธสัญญาว่า “เราจะรวมคนชอบธรรมจากบรรดาประชาชาติทั้งปวง, และจะมาสู่ไซอัน, พลางขับขานบทเพลงแห่งปีติอันเป็นนิจ.”22

สิ่งที่ท้าทายเราคือหลีกเลี่ยงการเป็นทาสทุกรูปแบบ ช่วยพระเจ้ารวบรวมผู้ที่ทรงเลือกไว้และเสียสละเพื่ออนุชนรุ่นหลัง เราต้องระลึกไว้เสมอว่าเราไม่ได้ช่วยชีวิตตนเอง เราเป็นอิสระด้วยความรัก พระคุณ และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด เมื่อครอบครัวของลีไฮหนีออกมา ความสว่างของพระเจ้านำทางพวกเขา ถ้าเราแน่วแน่ต่อความสว่างของพระองค์ ทำตามพระบัญญัติและพึ่งพาคุณความดีของพระองค์ เราจะไม่ตกเป็นทาสทางวิญญาณ ทางร่างกาย และสติปัญญา ไม่ร่ำไห้ระหกระเหินอยู่ในแดนทุรกันดารของเราเอง เพราะพระองค์ทรงมีฤทธานุภาพที่จะช่วยชีวิต

ขอให้เราหลีกเลี่ยงความสิ้นหวังและความโศกเศร้าของผู้ที่ตกเป็นเชลยจนไม่อาจขับขานบทเพลงแห่งไซอันอีกต่อไป ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. อุปรากรของแวร์ดีหลายเรื่องเช่น Aida, La traviata, และ Il trovatore เปิดการแสดงและเป็นที่นิยมทั่วโลกในสมัยนี้.

  2. ดู 1 นีไฟ 5:13; 7:14.

  3. เยเรมีย์ 1:5.

  4. ดู 1 นีไฟ 2:2–3.

  5. การทำลายล้างพระวิหารซาโลมอน การล่มสลายของเยรูซาเล็ม และการตกเป็นเชลยของชนเผ่ายูดาห์เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 586 ปี ก่อนคริสตกาล.

  6. เยเรมีย์ 2:11, 13.

  7. เยเรมีย์ 8:20 เยเรมีย์บันทึกคำร้องเรียกให้กลับใจของพระเจ้าไว้ก่อนหน้านี้ “ข้าบิดตัวด้วยความเจ็บปวด โอ ผนังดวงใจของข้าเอ๋ย” (เยเรมีย์ 4:19) และวิงวอน “หาสักคน…ที่ทำการยุติธรรม และแสวงหาความจริง เพื่อเราจะได้อภัยโทษให้แก่เมืองนั้น” (เยเรมีย์ 5:1).

  8. ดู เยเรมีย์ 31; 1 นีไฟ 10:14.

  9. ดู 2 พงศ์กษัตริย์ 17:6; หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:11.

  10. หลักแห่งความเชื่อ 1:10; ดู 2 นีไฟ 10:22 ด้วย.

  11. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันใน “The Book of Mormon and the Gathering of Israel,” (คำปราศรัยให้ไว้ ณ การประชุมสัมนาสำหรับประธานคณะเผยแผ่คนใหม่, 26 มิ.ย. 2013).

  12. คู่มือพระคัมภีร์, “อิสราเอล,” scriptures.lds.org.

  13. พระเจ้าตรัสในวันเวลาของเรา “โลกทั้งโลกอยู่ในบาป, และครวญครางภายใต้ความมืดและภายใต้พันธนาการแห่งบาป…เพราะพวกเขามิได้มาหาเรา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:49–50).

  14. แน่นอนว่าคนบริสุทธิ์ก็อาจตกเป็นทาสได้เช่นกัน.

  15. หลักธรรมคำสอนไม่เปลี่ยนแปลง แต่วิธีการตกเป็นทาส ภาวะถูกกดขี่ และการทำลายล้างได้เพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

  16. สิ่งนี้เขียนอยู่บนปก New York Times Magazine ปีที่แล้ว (8 เม.ย. 2012) อย่างเหมาะสมและค่อนข้างน่าขัน อ้างอิงถึงลักษณะเสพติดของเกมดิจิตัลต่างๆ อ่านได้ว่า “ติดที่สุด ดูดเวลา ทำลายความสัมพันธ์ พลังทำลายสมองและการล่อใจของเกมดิจิตัลไร้สาระ” จากนั้นเขียนไว้ตัวเล็กๆ ว่า “(ไม่ใช่ว่าเราไม่ชอบเล่น)” อย่างขำขัน นี่คือสิ่งที่เน้นถึงความจำเป็นที่เราต้องใช้ปัญญาในการใช้สิ่งประดิษฐ์ทางเทคโนโลยนีที่น่าอัศจรรย์แห่งยุคสมัยของเรา

  17. มันตราทั่วไปในสภาพแวดล้อมของการงานคือ “ทำหนักเล่นหนัก ทำจริงเล่นจริง” แม้ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้าการ “ทำและเล่น” เบียดเบียนเวลาของครอบครัว สิ่งนั้นก็ทำร้ายตัวเอง

  18. กิจการ 17:21; เพิ่มตัวเอน.

  19. ดู เคลิ กอฟฟ์, “Female Ivy League Graduates Have a Duty to Stay in the Workforce,” Guardian, 21 เม.ย. 2013, www.theguardian.com/commentisfree/2013/apr/21/female-ivy-league-graduates-stay-home-moms; เชอรีล แซนด์เบิร์ก, Lean In: Women, Work, and the Will to Lead  (2013); แอนน์-มารี สลอเทอร์, “Why Women Still Can’t Have It All,” The Atlantic, 13 มิ.ย. 2012, www.theatlantic.com/magazine/print/2012/07/why-women-still-cant-have-it-all/309020; ลุยส์ เอ็ม. คอลลินส์, “Can Women ‘Have It All’ When It Comes to Work and Family Life?” Deseret News, 28 มิ.ย. 2012, A3; จูดิธ วอร์เนอร์, “The Midcareer Timeout (Is Over),” New York Times Magazine, 11 ส.ค. 2013, 24–29, 38; สก๊อตต์ ไชแมน, มาร์คัส เชฟเฟอร์, และ มิทเชลล์ แม็คอีวอร์, “When Leaning In Doesn’t Pay Off,” New York Times, 11 ส.ค. 2013, 12.

  20. ศาสนจักรกระตุ้นให้ฝ่ายอธิการช่วยเหลือครอบครัวโดยการใช้เวลาให้มากขึ้นกับเยาวชนชาย เยาวชนหญิง และคนหนุ่มสาวโสด ฝ่ายอธิการได้รับการกระตุ้นให้มอบหมายความรับผิดชอบเพิ่มเติมในสภาวอร์ดแก่โควรัมฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค องค์การช่วย และสมาชิกที่มีความสามารถพิเศษในการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเหมาะสม

  21. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 29:7.

  22. หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:71.