2010–2019
ทนแบกสัมภาระได้โดยง่าย
เมษายน 2014


ทนแบกสัมภาระได้โดยง่าย

ภาระในชีวิตเราแต่ละคนช่วยให้เราวางใจในพระคุณความดี พระเมตตา และพระคุณของพระเมสสิยาห์ผู้บริสุทธิ์

ข้าพเจ้ามีเพื่อนรักคนหนึ่ง ซึ่งในช่วงปีแรกๆ ของชีวิตแต่งงาน เขาเชื่อมั่นว่าเขาและครอบครัวจำเป็นต้องใช้รถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ ภรรยาคิดว่าเขาไม่จำเป็นต้องใช้ เขาแค่อยากได้รถใหม่เท่านั้น การสนทนาเชิงหยอกล้อระหว่างสามีภรรยาคู่นี้เริ่มทำให้พวกเขาคำนึงถึงผลได้ผลเสียของการซื้อรถดังกล่าว

“ที่รัก เราจำเป็นต้องใช้รถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อนะ”

เธอถาม “ทำไมคุณคิดว่าเราต้องซื้อรถใหม่ล่ะคะ”

เขาตอบคำถามของเธอด้วยสิ่งที่เขาเชื่อว่าเป็นคำตอบถูกต้องที่สุด “ถ้าเราต้องซื้อนมให้ลูกตอนพายุกระหน่ำเล่า จะทำอย่างไร ทางเดียวที่ผมจะไปร้านขายของชำได้คือขับรถกระบะไป”

ภรรยาตอบพร้อมกับยิ้ม “ถ้าเราซื้อรถกระบะคันใหม่ เราจะไม่มีเงินซื้อนมนะคะ---จะห่วงเรื่องไปร้านตอนฉุกเฉินทำไมล่ะคะ!”

พวกเขาหารือกันอยู่พักใหญ่และในที่สุดก็ตัดสินใจซื้อรถ ไม่นานหลังจากครอบครองรถคันใหม่ เพื่อนข้าพเจ้าต้องการแสดงให้เห็นประโยชน์ของรถกระบะและยืนยันว่าเหตุผลที่เขาอยากได้รถนั้นถูกต้อง เขาจึงตัดสินใจไปตัดฟืนและขนกลับบ้าน ช่วงนั้นตรงกับฤดูใบไม้ร่วง หิมะตกแล้วบนภูเขาที่เขาตั้งใจจะไปหาฟืน ขณะขับรถไปตามไหล่เขา หิมะลึกขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนข้าพเจ้าทราบดีว่าสภาพถนนลื่นอาจทำให้เกิดอันตราย แต่ด้วยความเชื่อมั่นในรถคันใหม่มาก เขาจึงไปต่อ

น่าเศร้าที่เพื่อนข้าพเจ้าไปตามถนนขาวโพลนไกลมากแล้ว ขณะหักพวงมาลัยเลี้ยวออกจากถนนตรงที่เขาตั้งใจจะไปตัดฟืน รถก็ติดอยู่ตรงนั้น ล้อทั้งสี่ของรถกระบะคันใหม่หมุนติ้วในหิมะ เขายอมรับทันทีว่าไม่ทราบจะช่วยตนเองให้หลุดพ้นจากสถานการณ์อันตรายนี้อย่างไร เขาลำบากใจและกังวล

เพื่อนข้าพเจ้าตัดสินใจว่า “ผมจะไม่นั่งเฉยอยู่ตรงนี้” เขาออกจากรถและเริ่มไปตัดไม้ เขาขนไม้ใส่เต็มท้ายรถกระบะ แล้วตัดสินใจว่าจะลองขับออกจากหิมะอีกครั้ง ขณะเข้าเกียร์และเร่งเครื่อง รถเริ่มขยับไปข้างหน้าเล็กน้อย รถค่อยๆ ออกจากหิมะ กลับเข้าไปบนถนน ในที่สุดเขาก็กลับบ้านได้ เวลานี้ เขากลายเป็นชายที่อ่อนน้อมถ่อมตนและมีความสุข

ภาระหนักของเราแต่ละคน

ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ขณะที่ข้าพเจ้าเน้นบทเรียนสำคัญยิ่งซึ่งเรียนรู้ได้จากเรื่องนี้เกี่ยวกับเพื่อนข้าพเจ้า รถกระบะ และฟืน เป็นเพราะน้ำหนัก น้ำหนักของฟืนทำให้เกิดแรงยึดเกาะระหว่างรถกับพื้นดินจนออกจากหิมะ กลับเข้ามาบนถนน และเคลื่อนไปข้างหน้า น้ำหนักของฟืนทำให้เขาสามารถกลับบ้านไปหาครอบครัวได้

เราแต่ละคนมีภาระหนักเช่นกัน ภาระหนักของเราแต่ละคนประกอบด้วยความต้องการและโอกาส ข้อผูกมัดและสิทธิพิเศษ ความทุกข์และพร ทางเลือกและข้อจำกัด คำถามชี้นำสองคำถามสามารถช่วยได้เมื่อเราประเมินภาระหนักของเราเป็นระยะร่วมกับการสวดอ้อนวอน “ฉันกำลังแบกภาระหนักอันก่อให้เกิดแรงยึดเกาะทางวิญญาณจนสามารถมุ่งหน้าด้วยศรัทธาในพระคริสต์บนทางคับแคบและแคบโดยไม่ติดหล่มหรือไม่ ฉันกำลังแบกภาระหนักอันทำให้เกิดแรงยึดเกาะทางวิญญาณมากพอจนฉันสามารถกลับบ้านไปหาพระบิดาบนสวรรค์ในที่สุดหรือไม่”

บางครั้งเราอาจเชื่อผิดๆ ว่าความสุขคือการไม่มีภาระหนัก แต่การแบกภาระหนักเป็นส่วนจำเป็นและขาดไม่ได้ของแผนแห่งความสุข เพราะภาระหนักของเราแต่ละคนต้องก่อให้เกิดแรงยึดเกาะทางวิญญาณ เราจึงควรระวังอย่าลำเลียงสิ่งดีๆ แต่ไม่จำเป็นเข้ามาในชีวิตมากจนเราเขวและหันเหออกจากสิ่งสำคัญที่สุด

พลังเสริมความเข้มแข็งของการชดใช้

พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า

“บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก

“จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพอ่อนโยนและใจอ่อนน้อม และจิตใจของพวกท่านจะได้หยุดพัก

“ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา” (มัทธิว 11:28–30)

แอกคือไม้ขวาง โดยปกติใช้ขวางระหว่างคอวัวเทียมคู่หรือสัตว์อื่นเพื่อให้มันสามารถลากของบรรทุกไปด้วยกัน แอกทำให้สัตว์อยู่เคียงข้างกัน มันจึงเดินไปด้วยกันได้เพื่อทำให้งานสำเร็จลุล่วง

พึงพิจารณาพระดำรัสเชื้อเชิญของพระเจ้าให้แต่ละคน “เอาแอก [ของพระองค์] แบกไว้” การทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ใส่แอกเทียมเรากับพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ประเด็นคือ พระผู้ช่วยให้รอดทรงขอให้เราไว้ใจและลากไปพร้อมกับพระองค์ แม้เราจะพยายามสุดความสามารถก็ยังไม่เท่าเทียมและเทียบไม่ได้กับพระองค์ เมื่อเราวางใจและลากภาระไปกับพระองค์ระหว่างการเดินทางในความเป็นมรรตัย แอกของพระองค์พอเหมาะ และภาระของพระองค์ก็เบา

เราไม่โดดเดี่ยวและไม่จำเป็นต้องโดดเดี่ยว เราสามารถมุ่งหน้าในชีวิตทุกวันด้วยความช่วยเหลือจากสวรรค์ โดยผ่านการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดเราได้รับความสามารถและ “กำลัง เสริมเพิ่มขึ้น” (พระเจ้าขอข้าตามพระองค์,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 106) ดังที่พระเจ้าทรงประกาศว่า “ฉะนั้น, เจ้าจงเดินทางต่อไปและให้ใจเจ้าชื่นชมยินดี; เพราะดูเถิด, และดูสิ, เราอยู่กับเจ้าแม้จนกว่าชีวิตจะหาไม่” (คพ. 100:12)

พึงพิจารณาตัวอย่างในพระคัมภีร์มอรมอนเมื่ออมิวลอนข่มเหงแอลมากับผู้คนของท่าน สุรเสียงของพระเจ้ามาถึงสานุศิษย์เหล่านี้ในความทุกข์ของพวกเขาว่า “จงเงยหน้าและจงสบายใจเถิด, เพราะเรารู้ถึงพันธสัญญาที่เจ้าทำไว้กับเรา; และเราจะให้พันธสัญญาแก่ผู้คนของเรา และปลดปล่อยพวกเขาออกจากความเป็นทาส” (โมไซยาห์ 24:13)

ลองสังเกตความสัมพันธ์ของพันธสัญญากับสัญญาแห่งการปลดปล่อย พันธสัญญาที่รับไว้และให้เกียรติด้วยความสุจริตใจ และศาสนพิธีที่ประกอบโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตที่ถูกต้องจำเป็นต่อการได้รับพรทุกประการที่มีผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ในศาสนพิธีของฐานะปุโรหิต พลังอำนาจของความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าประจักษ์ต่อชายหญิงในเนื้อหนัง รวมถึงพรแห่งการชดใช้ (ดู คพ. 84:20–21)

จงนึกถึงพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอด “ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา” (มัทธิว 11:30) ขณะที่เราพิจารณาข้อต่อไปในเรื่องราวของแอลมาและผู้คนของท่าน

“และเราจะให้สัมภาระซึ่งวางอยู่บนบ่าเจ้าเบาลงด้วย, แม้จนเจ้าหารู้สึกไม่ว่ามันอยู่บนหลังเจ้า” (โมไซยาห์ 24:14)

พวกเราหลายคนอาจคิดว่าพระคัมภีร์ข้อนี้กำลังบอกเป็นนัยว่าภาระจะหมดไปทันทีและถาวร แต่ข้อถัดไปบอกว่าภาระจะเบาลงได้อย่างไร

“และบัดนี้เหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือพระเจ้าทรงทำให้สัมภาระซึ่งวางอยู่บนแอลมาและพี่น้องของท่านเบาลง; แท้จริงแล้ว, พระเจ้าทรงเพิ่มพละกำลังให้พวกเขา เพื่อพวกเขาจะทนแบกสัมภาระได้โดยง่าย, และพวกเขายอมรับอย่างชื่นบานและด้วยความอดทนต่อพระประสงค์ทั้งหมดของพระเจ้า” (โมไซยาห์ 24:15; เน้นตัวเอน)

ความท้าทายและความยากลำบากไม่หมดไปจากผู้คนทันที แต่แอลมาและผู้ติดตามท่านเข้มแข็งขึ้น สมรรถภาพที่เพิ่มขึ้นทำให้ภาระของพวกท่านเบาลง คนดีเหล่านี้ได้รับอำนาจผ่านการชดใช้ให้ กระทำ ในฐานะผู้มีสิทธิ์เสรี (ดู คพ. 58:26–29) และส่งผลต่อสภาพการณ์ของพวกเขา และ “ด้วยพละกำลังของพระเจ้า” (ถ้อยคำของมอรมอน 1:14; โมไซยาห์ 9:17; 10:10; แอลมา 20:4) พระองค์ทรงนำแอลมาและผู้คนของท่านไปสู่ความปลอดภัยในแผ่นดินแห่งเซราเฮ็มลา

การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ไม่เพียงเอาชนะผลจากการตกของอาดัมและทำให้การปลดบาปและการล่วงละเมิดของแต่ละคนเกิดขึ้นได้เท่านั้น แต่การชดใช้ยังช่วยให้เราทำดีและเป็นคนดีขึ้นได้ในหลายๆ ด้านซึ่งเกินสมรรถภาพในความเป็นมรรตัยของเรา พวกเราส่วนใหญ่รู้ว่าเมื่อทำผิดและต้องการให้ช่วยเอาชนะผลของบาปในชีวิตเรา พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำให้เราสะอาดผ่านเดชานุภาพแห่งการไถ่ของพระองค์ แต่เราเข้าใจด้วยหรือไม่ว่าการชดใช้มีไว้สำหรับชายหญิงที่ซื่อสัตย์ผู้เชื่อฟัง มีค่าควร มีมโนธรรม พยายามเป็นคนดีขึ้นและรับใช้อย่างซื่อสัตย์มากขึ้น ข้าพเจ้าสงสัยว่าเราไม่เต็มใจยอมรับด้านการเพิ่มพละกำลังของการชดใช้ในชีวิตเราและเชื่ออย่างผิดๆ หรือไม่ว่าเราต้องแบกภาระทั้งหมดตามลำพัง---ผ่านความทรหดอดทน เจตจำนงแน่วแน่ วินัยและด้วยความสามารถอันมีขีดจำกัดอย่างเห็นได้ชัดของเรา

สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้คือพระเยซูคริสต์เสด็จมาแผ่นดินโลกเพื่อ สิ้นพระชนม์ เพื่อเรา แต่เราพึงสำนึกเช่นกันว่าพระเจ้าทรงปรารถนา ผ่านการชดใช้และโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ให้เรา รื่นรมย์ —ไม่เพียงนำทางเราเท่านั้นแต่ทรงเพิ่มพละกำลังและเยียวยาเราด้วย

พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยเหลือผู้คนของพระองค์

แอลมาอธิบายสาเหตุและวิธีที่พระผู้ช่วยรอดทรงช่วยเราได้ ดังนี้

“และพระองค์จะเสด็จออกไป, ทรงทนความเจ็บปวดและความทุกข์และการล่อลวงทุกอย่าง; และนี่ก็เพื่อคำซึ่งกล่าวว่าพระองค์จะทรงรับความเจ็บปวดและความป่วยไข้ของผู้คนของพระองค์จะได้เกิดสัมฤทธิผล.

และพระองค์จะทรงรับเอาความตาย, เพื่อพระองค์จะทรงทำให้สายรัดแห่งความตายที่ผูกมัดผู้คนของพระองค์หลุดออก; และพระองค์จะทรงรับเอาความทุพพลภาพของพวกเขา, เพื่ออุทรของพระองค์จะเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา, ตามเนื้อหนัง, เพื่อพระองค์จะทรงรู้ตามเนื้อหนังว่าจะทรงช่วยผู้คนของพระองค์ตามความทุพพลภาพของพวกเขาได้อย่างไร.” (แอลมา 7:11–12)

ด้วยเหตุนี้พระผู้ช่วยให้รอดจึงทรงทนทุกข์ไม่เพียงเพื่อบาปและความชั่วช้าสามานย์ของเราเท่านั้น---แต่เพื่อความเจ็บปวดและความรวดร้าวทางกาย ความอ่อนแอและความบกพร่อง ความกลัวและความคับข้องใจ ความพลาดหวังและความท้อแท้ ความเสียใจและความสำนึกผิด ความผิดหวังและความสิ้นหวัง ความอยุติธรรมและความไม่เสมอภาคที่เราประสบ ตลอดจนความหดหู่ทางอารมณ์ที่รุมเร้าเรา

ไม่มีความเจ็บปวดทางกาย บาดแผลทางวิญญาณ ความรวดร้าวของจิตวิญญาณหรือความปวดใจ ทุพพลภาพหรือความอ่อนแอที่ท่านหรือข้าพเจ้าเคยเผชิญในความเป็นมรรตัยที่พระผู้ช่วยให้รอดไม่ทรงประสบมาก่อน ในชั่วขณะของความอ่อนแอเราอาจร้องว่า “ไม่มีใครรู้ว่าเป็นอย่างไร ไม่มีใครเข้าใจ” แต่พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าทรงทราบและเข้าพระทัยดี เพราะทรงรู้สึกและทรงแบกภาระเราแต่ละคน และเพราะการพลีบูชาอันไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ของพระองค์ (ดู แอลมา 34:14) พระองค์จึงเข้าพระทัยความรู้สึกได้อย่างถ่องแท้และทรงยื่นพระพาหุแห่งความเมตตามาให้เราได้ พระองค์ทรงเอื้อมมาสัมผัส ช่วยเหลือ เยียวยา และเพิ่มพละกำลังให้เราได้มากกว่าที่เราจะทำได้ ทรงช่วยให้เราทำสิ่งที่เราไม่อาจทำได้โดยอาศัยเพียงพลังของเราเอง แอกของพระองค์พอเหมาะและภาระของพระองค์ก็เบา

คำเชื้อเชิญ สัญญา และประจักษ์พยาน

ข้าพเจ้าเชื้อเชิญท่านให้ศึกษา สวดอ้อนวอน ไตร่ตรอง และพยายามเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดขณะประเมินภาระหนักของท่าน หลายประเด็นเกี่ยวกับการชดใช้เราไม่อาจเข้าใจได้ด้วยความคิดตามประสามนุษย์ แต่หลายด้านของการชดใช้เราเข้าใจได้และต้องเข้าใจ

สำหรับเพื่อนข้าพเจ้า น้ำหนักฟืนให้แรงยึดเกาะที่ช่วยชีวิต รถกระบะเปล่าไม่อาจเคลื่อนผ่านหิมะได้ แม้จะขับเคลื่อนสี่ล้อก็ตาม น้ำหนักจำเป็นต่อการเกิดแรงยึดเกาะ

น้ำหนักนั่นเอง น้ำหนักนั่นเองที่ให้แรงยึดเกาะจนเพื่อนข้าพเจ้าสามารถออกจากจุดที่ติดอยู่ กลับเข้ามาบนถนน และมุ่งหน้ากลับบ้านไปหาครอบครัวของเขา

ภาระในชีวิตเราแต่ละคนช่วยให้เราวางใจในพระคุณความดี พระเมตตา และพระคุณของพระเมสสิยาห์ผู้บริสุทธิ์ (ดู 2 นีไฟ 2:8) ข้าพเจ้าเป็นพยานและสัญญาว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วยเราแบกภาระของเราได้ง่ายขึ้น (ดู โมไซยาห์ 24:15) เมื่อเราเทียมแอกกับพระองค์ผ่านพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์และได้รับพลังเสริมความสามารถของการชดใช้ในชีวิตเรา เราจะแสวงหาที่จะเข้าใจและดำเนินชีวิตตามพระประสงค์ของพระองค์มากขึ้น เราจะสวดอ้อนวอนขอพลังเพื่อเรียนรู้ เปลี่ยนแปลง หรือยอมรับสภาพการณ์ของเราด้วย แทนที่จะสวดอ้อนวอนขอให้พระผู้เป็นเจ้าเปลี่ยนสภาพการณ์ของเราตามที่เราต้องการ เราจะกลายเป็นผู้มีสิทธิ์เสรีที่กระทำแทนที่จะเป็นวัตถุที่ถูกกระทำ (ดู 2 นีไฟ 2:14) เราจะได้รับแรงยึดเกาะทางวิญญาณ

ขอให้เราแต่ละคนทำและเป็นคนดีขึ้นผ่านการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด วันนี้คือ 6 เมษายน เรารู้โดยการเปิดเผยว่าวันนี้เป็นวันประสูติที่ถูกต้องและแท้จริงของพระผู้ช่วยให้รอด 6 เมษายน เป็นวันจัดตั้งศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเช่นกัน (ดู คพ. 20:1; ฮาโรลด์ บี. ลี, “Strengthen the Stakes of Zion,” Ensign, July 1973, 2; สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์, “Why Call Me Lord, Lord, and Do Not the Things Which I Say?” Ensign, May 1975, 4; สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์, “Remarks and Dedication of the Fayette, New York, Buildings,” Ensign, May 1980, 54; Discourses of President Gordon B. Hinckley, Volume 1: 1995–1999 [2005], 409.) ในวันสะบาโตที่พิเศษและศักดิ์สิทธิ์นี้ ข้าพเจ้าประกาศคำพยานว่าพระเยซูพระคริสต์ทรงเป็นพระผู้ไถ่ของเรา พระองค์ทรงพระชนม์ และจะทรงชำระเราให้สะอาด ทรงเยียวยา นำทาง คุ้มครอง และเพิ่มพละกำลังให้เรา ข้าพเจ้าเป็นพยานอย่างมีความสุขถึงสิ่งเหล่านี้ในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสต์ เอเมน