2010–2019
ความรัก—แก่นแท้ของพระกิตติคุณ
เมษายน 2014


ความรัก—แก่นแท้ของพระกิตติคุณ

เราจะรักพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริงไม่ได้หากเราไม่รักเพื่อนร่วมทางระหว่างการเดินทางอันเป็นมรรตัยนี้

พี่น้องที่รักทั้งหลาย เมื่อพระผู้ช่วยให้รอดทรงปฏิบัติศาสนกิจท่ามกลางมนุษย์ ทนายคนหนึ่งทูลถามพระองค์ว่า “ท่านอาจารย์ ในธรรมบัญญัตินั้น พระบัญญัติข้อไหนสำคัญที่สุด”

มัทธิวบันทึกว่าพระเยซูตรัสตอบดังนี้

“จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่าน ด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสิ้นสุดความคิดของท่าน

“นั่นแหละเป็นพระบัญญัติข้อสำคัญอันดับแรก

“ข้อที่สองก็เหมือนกันคือ จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง”1

มาระโกสรุปเรื่องนี้ด้วยพระดำรัสของพระผู้ช่วยให้รอด “ไม่มีพระบัญญัติอื่นใดที่สำคัญยิ่งกว่าพระบัญญัติเหล่านี้”2

เราจะรักพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริงไม่ได้หากเราไม่รักเพื่อนร่วมทางระหว่างการเดินทางอันเป็นมรรตัยนี้ ในทำนองเดียวกัน เราจะรักเพื่อนมนุษย์อย่างเต็มที่ไม่ได้หากเราไม่รักพระผู้เป็นเจ้า พระบิดาของเราทั้งหลาย อัครสาวกยอห์นบอกเราว่า “พระบัญญัตินี้เราได้มาจากพระองค์ คือให้คนที่รักพระเจ้านั้นรักพี่น้องของตนด้วย”3 เราทุกคนเป็นบุตรธิดาทางวิญญาณของพระบิดาบนสวรรค์ เราจึงเป็นพี่น้องกัน เมื่อเราจดจำความจริงนี้ เราจะรักบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าได้ง่ายขึ้น

โดยแท้แล้ว ความรักคือแก่นแท้ของพระกิตติคุณและพระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างของเรา พระชนม์ชีพของพระองค์เป็นมรดกแห่งความรัก ทรงรักษาผู้เจ็บป่วย ทรงพยุงคนที่ถูกเหยียบย่ำ ทรงช่วยคนบาปให้รอด สุดท้าย ฝูงชนที่โกรธเกรี้ยวปลิดชีพพระองค์ กระนั้นพระดำรัสก็ยังดังแว่วมาจากเนินเขากลโกธาว่า “พระบิดาเจ้าข้า ขอทรงยกโทษพวกเขาเพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร”4—นี่คือการแสดงออกอันสูงส่งที่สุดของความรักความเห็นใจในความเป็นมรรตัย

มีคุณลักษณะมากมายซึ่งเป็นการแสดงความรัก อาทิ ความกรุณา ความอดทน ความไม่เห็นแก่ตัว ความเข้าใจ และการให้อภัย ในการสมาคมทั้งหมดของเรา คุณลักษณะเหล่านี้และอื่นๆ จะช่วยทำให้ความรักในใจเราประจักษ์ชัด

โดยปกติความรักของเราจะแสดงให้เห็นในปฏิสัมพันธ์ต่อกันวันต่อวัน สำคัญที่สุดคือความสามารถในการรับรู้ความต้องการของผู้อื่นแล้วตอบสนอง ข้าพเจ้าชื่นชมความรู้สึกที่พรรณนาไว้ในบทกวีสั้นๆ นี้เสมอ

ยามค่ำคืนฉันต้องสะอื้นไห้

ด้วยสิ้นไร้ความสามารถจะมองเห็น

คนขัดสนยากไร้แสนลำเค็ญ ฉันจึงเป็นเช่นคนตาบอด

แต่ฉันยังไม่เคยจะรู้สึก

โศกเศร้าเสียใจในส่วนลึก

ที่ฉันนึกถึงแต่ความเมตตา5

ไม่นานมานี้ข้าพเจ้ารับรู้แบบอย่างอันน่าซึ้งใจของความการุณย์รัก—ซึ่งบังเกิดผลที่มองไม่เห็น ปีนั้นคือ ค.ศ 1933 เมื่อโอกาสจะได้งานทำมีน้อยมากเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ สถานที่คือภาคตะวันออกของสหรัฐ อาร์ลีน ไบเซกเคอร์เพิ่งเรียนจบมัธยมปลาย หลังจากหางานอยู่นาน ในที่สุดเธอก็ได้งานเป็นช่างเย็บผ้าที่โรงงานเสื้อผ้า คนงานได้รับค่าจ้างเป็นรายชิ้นตามที่พวกเธอเย็บเสร็จเรียบร้อยถูกต้องในแต่ละวัน เย็บได้มากชิ้น ค่าจ้างก็มากตาม

วันหนึ่งหลังจากเริ่มงานที่โรงงานได้ไม่นาน อาร์ลีนต้องเผชิญกับขั้นตอนที่ทำให้เธอสับสนและท้อแท้ เธอนั่งที่จักรเย็บผ้าพยายามเลาะตะเข็บงานที่ทำไม่สำเร็จเพื่อให้ชิ้นงานที่กำลังเย็บอยู่ถูกต้องเรียบร้อย ดูเหมือนไม่มีใครช่วยเธอ เพราะต่างคนต่างรีบเร่งทำให้ได้มากชิ้นที่สุด อาร์ลีนรู้สึกหมดหนทางและสิ้นหวัง เธอเริ่มร้องไห้เบาๆ

คนที่นั่งตรงข้ามกับอาร์ลีนคือเบอร์นีซ ร็อค เธออายุมากกว่าและเป็นช่างเย็บผ้าที่มีประสบการณ์มากกว่า เมื่อสังเกตเห็นอาร์ลีนท้อใจ เบอร์นิซจึงทิ้งงานของเธอไปอยู่ข้างๆ อาร์ลีน ให้คำแนะนำและช่วยเหลือเธออย่างอ่อนโยน เธออยู่จนกระทั่งอาร์ลีนเกิดความมั่นใจและสามารถทำงานชิ้นนั้นได้สำเร็จ จากนั้นเบอร์นิซก็กลับไปที่จักรของเธอ พลาดโอกาสทำงานให้ได้มากชิ้นเท่าที่เธอจะทำได้หากเธอไม่ช่วยอาร์ลีน

ด้วยการกระทำแห่งความการุณย์รักครั้งนี้ เบอร์นีซกับอาร์ลีนจึงกลายเป็นเพื่อนกันชั่วชีวิต ต่างฝ่ายต่างแต่งงานมีครอบครัว ราวทศวรรษ 1950 เบอร์นีซผู้เป็นสมาชิกของศาสนจักรมอบพระคัมภีร์มอรมอนให้อาร์ลีนกับครอบครัว ในปี 1960 อาร์ลีนกับสามีและลูกๆ รับบัพติศมาเป็นสมาชิกของศาสนจักร ต่อมาพวกเขารับการผนึกในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า

เนื่องด้วยความเห็นใจที่เบอร์นีซแสดงออกเมื่อเธอลุกมาช่วยคนที่เธอไม่รู้จักแต่ท้อใจและต้องการความช่วยเหลือ เวลานี้คนนับไม่ถ้วนทั้งคนเป็นและคนตายจึงได้รับศาสนพิธีแห่งการช่วยให้รอดของพระกิตติคุณ

ทุกวันในชีวิตเรามีโอกาสแสดงความรักความกรุณาต่อคนรอบข้าง ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์กล่าวว่า “เราพึงจำไว้ว่าคนเหล่านั้นที่เราพบในลานจอดรถ ในสำนักงาน ในลิฟต์ และที่อื่นๆ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้เรารักและรับใช้ เราจะพูดถึงความเป็นพี่น้องโดยทั่วไปของมนุษยชาติไม่ได้หากเราไม่ถือว่าทุกคนที่อยู่รอบข้างเราเป็นพี่น้องชายหญิงของเรา”6

โอกาสแสดงความรักมักเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน ตัวอย่างของโอกาสเช่นนั้นปรากฏในบทความหนังสือพิมพ์เดือนตุลาคม ปี 1981 ข้าพเจ้าประทับใจมากกับความรักและความเห็นใจที่บรรยายไว้ในบทความนั้นจนตัดเก็บไว้ในแฟ้มมาตลอด 30 ปี

บทความบอกว่าสายการบินอะแลสกาซึ่งบินตรงจากแองคอริจ รัฐอะแลสกาไปซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน—เที่ยวบินที่มีผู้โดยสาร 150 คน—เปลี่ยนเส้นทางไปยังเมืองอันไกลโพ้นของอะแลสกาเพื่อรับเด็กที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสคนหนึ่ง เส้นเลือดแดงที่แขนของเด็กชายวัยสองขวบขาดเพราะล้มทับเศษแก้วขณะเล่นอยู่ใกล้บ้าน เมืองนั้นอยู่ทางใต้ของแองคอริจ 450 ไมล์ (725 (กิโลเมตร) และไม่ได้อยู่บนเส้นทางบิน แต่คณะแพทย์ในเหตุการณ์ขอความช่วยเหลือเร่งด่วน ด้วยเหตุนี้เครื่องบินจึงเปลี่ยนเส้นทางไปรับเด็กมาซีแอตเทิลเพื่อให้เขาได้รับการรักษาในโรงพยาบาล

เมื่อเครื่องลงจอดใกล้เมืองนั้น คณะแพทย์แจ้งนักบินว่าเด็กเสียเลือดมากจนอาจจะเสียชีวิตก่อนถึงซีแอตเทิล พวกเขาจึงตัดสินใจบินออกนอกเส้นทาง 200 ไมล์ (320 กิโลเมตร) ไปจูโน อะแลสกา เมืองใกล้ที่สุดที่มีโรงพยาบาล

หลังจากส่งเด็กไปจูโนแล้ว เครื่องบินก็บ่ายหน้าไปซีแอตเทิล ถึงที่หมายล่าช้ากว่ากำหนดเวลาหลายชั่วโมง แต่ไม่มีผู้โดยสารคนใดบ่น แม้ส่วนใหญ่จะพลาดนัดและต่อเที่ยวบินไม่ทัน อันที่จริง เมื่อเวลาผ่านไปหลายนาทีหลายชั่วโมง พวกเขาเรี่ยไรเงินช่วยเด็กคนนี้กับครอบครัวได้เป็นจำนวนมาก

ขณะที่เครื่องจะลงจอดในซีแอตเทิล ผู้โดยสารโห่ร้องด้วยความยินดีเมื่อนักบินประกาศว่าเขาได้รับแจ้งทางวิทยุว่าเด็กพ้นขีดอันตรายแล้ว7

ถ้อยคำจากพระคัมภีร์เข้ามาในความคิดข้าพเจ้า “จิตกุศลคือความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์ … และผู้ใดที่ถูกพบว่าครอบครองมันในวันสุดท้าย, ย่อมจะดีกับเขา”8

พี่น้องทั้งหลาย โอกาสแสดงความรักครั้งใหญ่ที่สุดของเราบางครั้งจะอยู่ในรั้วบ้านของเรา ความรักควรเป็นหัวใจของชีวิตครอบครัว แต่บางครั้งไม่เป็นเช่นนั้น มีความใจร้อนมากเกินไป มีการโต้เถียงมากเกินไป มีการทะเลาะเบาะแว้งมากเกินไป มีน้ำตามากเกินไป ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์พูดแสดงความเสียใจ ดังนี้ “เหตุใด [คน] ที่เรารัก [มากที่สุด] จึงตกเป็นเป้ารับวาจาหยาบกระด้างของเราบ่อยๆ เหตุใดบางครั้ง [เรา] จึงพูดแทงใจด้วยวาจาเชือดเฉือน”9 คำตอบของคำถามเหล่านี้อาจต่างกันไปสำหรับเราแต่ละคน ทว่าส่วนสำคัญที่สุดคือเหตุผลไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ ถ้าเราจะทำตามพระบัญชาให้รักกัน เราต้องปฏิบัติต่อกันด้วยความกรุณาและความเคารพ

แน่นอนว่าจะมีหลายครั้งที่ต้องลงโทษตักเตือน แต่จงจำคำแนะนำที่พบในพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา—นั่นคือ เมื่อเราจำเป็นต้องว่ากล่าวกัน เราจงแสดงความรักเพิ่มขึ้นหลังจากนั้น10

ข้าพเจ้าหวังว่าเราจะพยายามถนอมน้ำใจและไวต่อความคิด ความรู้สึก และสภาวการณ์ของคนรอบข้างเสมอ ขอเราอย่าดูถูกเหยียดหยามผู้ใด แต่จงเห็นใจและให้กำลังใจ เราต้องระวังว่าเราจะไม่ทำลายความเชื่อมั่นของอีกฝ่ายผ่านคำพูดหรือการกระทำที่ไม่ใส่ใจ

การให้อภัยควรควบคู่มากับความรัก ในครอบครัวเรา เช่นเดียวกับมิตรสหายของเรา อาจจะมีความรู้สึกเสียใจน้อยใจและไม่เห็นด้วย อีกประการหนึ่งคือปัญหาจะเล็กน้อยเพียงไร เราไม่สามารถปล่อยและไม่ควรปล่อยให้ลุกลาม กลัดหนอง จนทำลายเราในที่สุด การตำหนิติเตียนทำให้แผลเปิด การให้อภัยเท่านั้นที่เยียวยา

วันหนึ่ง สตรีที่น่ารักผู้ล่วงลับแล้วเคยมาสนทนากับข้าพเจ้าและเล่าเรื่องเสียใจบางเรื่องที่ข้าพเจ้าคาดไม่ถึง เธอพูดถึงเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อนและเกี่ยวพันกับเจ้าของฟาร์มใกล้บ้าน เขาเคยเป็นเพื่อนที่ดี แต่เธอกับสามีไม่ลงรอยกับเขาหลายครั้ง วันหนึ่งเจ้าของฟาร์มคนนี้ถามว่าเขาจะเดินลัดผ่านที่ของเธอมายังที่ของเขาได้ไหม ตรงจุดนี้เธอหยุดเล่าครู่หนึ่ง แล้วพูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า “บราเดอร์มอนสันคะ ดิฉันไม่ยอมให้เขาเดินผ่านที่ของเรา เขาจึงต้องเดินอ้อมไปอีกไกลกว่าจะถึงที่ของเขา ดิฉันผิด ดิฉันเสียใจ ตอนนี้เขาจากไปแล้ว แต่โอ้ ดิฉันอยากจะบอกเขาว่า ‘ดิฉันขอโทษ’ ดิฉันอยากมีโอกาสแสดงน้ำใจครั้งที่สอง”

ขณะฟังเธอพูด ข้อสังเกตอันน่าเศร้าของจอห์น กรีนลีฟ วิทเทียร์เข้ามาในความคิดข้าพเจ้า “ในบรรดาถ้อยคำอันน่าเศร้าที่พูดหรือเขียนไว้ คำที่เศร้าใจที่สุดคือ ‘สุดแสนเสียดาย!’”11 พี่น้องทั้งหลาย เมื่อเราปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความรักความเห็นใจ เราจะพ้นเรื่องเสียใจเช่นนั้น

ความรักแสดงออกได้หลายวิธี อาทิ ยิ้ม โบกมือ แสดงความเห็นอย่างนุ่มนวล และชมเชย อีกหลายวิธีอาจจะละเอียดอ่อนกว่า เช่น แสดงความสนใจในกิจกรรมของอีกฝ่าย สอนหลักธรรมด้วยความอ่อนโยนและความอดทน เยี่ยมผู้ป่วยหรือคนที่ต้องอยู่กับบ้าน คำพูดและการกระทำเหล่านี้ และอีกมากมาย สามารถสื่อความรักได้

เดล คาร์เนกี นักเขียนและนักบรรยายชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียง เชื่อว่าคนแต่ละคนมี “พลังความสามารถในการเพิ่มความสุขของคนทั้งโลก อยู่ในตัวเขา…โดยกล่าวคำชื่นชมที่จริงใจแก่คนหงอยเหงาหรือท้อใจ” เขากล่าวว่า “บางทีพรุ่งนี้ท่านอาจจะลืมถ้อยคำจรรโลงใจที่ท่านพูดวันนี้ แต่ผู้รับจะทะนุถนอมคำพูดนั้นไว้ชั่วชีวิต”12

ขอให้เราเริ่มแสดงความรักต่อบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าเดี๋ยวนี้ วันนี้ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นสมาชิกครอบครัวเรา เพื่อนของเรา แค่คนรู้จัก หรือคนแปลกหน้าโดยสิ้นเชิง เมื่อเราลุกขึ้นทุกเช้า ขอให้เราตั้งใจว่าจะตอบสนองด้วยความรักความกรุณาต่อสิ่งใดก็ตามที่อาจเกิดขึ้นกับเรา

พี่น้องทั้งหลาย เราไม่อาจเข้าใจความรักที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อเรา เพราะความรักนี้ พระองค์จึงทรงส่งพระบุตรผู้ทรงรักเรามากพอจะสละพระชนม์ชีพเพื่อเรา เพื่อเราจะมีชีวิตนิรันดร์ เมื่อเราเข้าใจของประทานอันหาที่เปรียบมิได้นี้ ใจเราจะเปี่ยมด้วยความรักต่อพระบิดานิรันดร์ของเรา ต่อพระผู้ช่วยให้รอดของเรา และมนุษยชาติทั้งปวง ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้เป็นเช่นนั้น ในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสต์ เอเมน