2010–2019
รากและกิ่ง
เมษายน 2014


รากและกิ่ง

การเร่งงานพระวิหารและประวัติครอบครัวในสมัยของเราจำเป็นต่อความรอดและความสูงส่งของครอบครัว

ก่อนเสียชีวิตจากมะเร็งร้ายในปี 1981 วิลเลียม ซาโรยันนักเขียนเจ้าสำบัดสำนวนบอกนักข่าวว่า “ทุกคนต้องตาย แต่ผมเชื่อเสมอว่ากรณีของผมเป็นข้อยกเว้น แล้วจากนี้จะเป็นอย่างไร”1

“จากนี้จะเป็นอย่างไร” ขณะเผชิญความตายในชีวิตนี้ และ “จากนี้จะเป็นอย่างไร” ขณะพินิจพิเคราะห์ชีวิตหลังความตาย นี่คือหัวใจของคำถามเรื่องจิตวิญญาณซึ่งพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ตอบได้ดีมากในแผนแห่งความสุขของพระบิดา

ในชีวิตนี้เราหัวเราะ ร้องไห้ ทำงาน เล่น ดำเนินชีวิต แล้วก็ตาย โยบถามคำถามสั้นๆ ว่า “ถ้ามนุษย์ตายแล้วเขาจะมีชีวิตอีกได้หรือ?”2 คำตอบชัดเจนคือได้ เพราะการพลีพระชนม์ชีพเพื่อชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด อารัมภบทบางส่วนของโยบก่อนถามคำถามนี้น่าสนใจ “มนุษย์ที่เกิดมาโดยผู้หญิงก็อยู่แต่น้อยวัน … เขาออกมาเหมือนดอกไม้ แล้วก็เหี่ยวแห้งไป … สำหรับต้นไม้ก็มีความหวัง ถ้ามันถูกตัดลง มันก็แตกหน่ออีก และหน่ออ่อนของมันจะมีไม่หยุด … และแตกกิ่งออกเหมือนต้นไม้อ่อน”3

แผนของพระบิดาเกี่ยวข้องกับครอบครัว พระคัมภีร์ข้อสำคัญที่สุดของเราหลายข้อใช้แนวคิดเรื่องต้นไม้กับรากและกิ่งเป็นแนวเทียบ

ในบทสุดท้ายของพันธสัญญาเดิม มาลาคีใช้แนวเทียบนี้บรรยายการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดไว้อย่างชัดเจน เมื่อพูดถึงคนจองหองกับคนชั่วร้าย เขาบันทึกว่าคนเหล่านั้นจะถูกเผาดังตอข้าว “จนไม่มีรากหรือกิ่งเหลืออยู่เลย”4 มาลาคีจบบทนี้ด้วยสัญญาปลอบใจของพระเจ้าว่า

“นี่แน่ะ เราจะส่งเอลียาห์ผู้เผยพระวจนะมายังเจ้าก่อนวันแห่งพระยาห์เวห์ คือวันที่ใหญ่ยิ่งและน่าสะพรึงกลัวจะมาถึง

“และท่านผู้นั้นจะทำให้จิตใจของพ่อหันไปหาลูก และจิตใจของลูกหันไปหาพ่อ ไม่อย่างนั้น เราจะมาโจมตีแผ่นดินนั้นด้วยคำสาปแช่ง”5

ณ รุ่งอรุณแห่งการฟื้นฟู โมโรไนเน้นข่าวสารนี้อีกครั้งในการให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่เด็กหนุ่มโจเซฟ สมิธในปี 18236

ชาวคริสต์และชาวยิวทั่วโลกต่างยอมรับเรื่องราวของเอลียาห์ในพันธสัญญาเดิม7 ท่านเป็นศาสดาพยากรณ์คนสุดท้ายที่ดำรงอำนาจการผนึกของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคก่อนเวลาของพระเยซูคริสต์8

เอลียาห์ฟื้นฟูกุญแจ

การกลับมาของเอลียาห์เกิดขึ้นในพระวิหารเคิร์ทแลนด์เมื่อวันที่ 3 เมษายน ปี 1836 ท่านประกาศว่าท่านกำลังทำให้สัญญาของมาลาคีมีสัมฤทธิผล ท่านมอบกุญแจฐานะปุโรหิตสำหรับการผนึกครอบครัวในสมัยการประทานนี้9 พันธกิจของเอลียาห์ได้รับการส่งเสริมโดยสิ่งซึ่งบางครั้งเรียกว่าวิญญาณของเอลียาห์ ดังที่เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่าเป็น “การแสดงให้ประจักษ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์กล่าวคำพยานถึงลักษณะอันศักดิ์สิทธิ์ของครอบครัว”10

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเน้นความจำเป็นของบัพติศมา พระองค์ทรงสอนว่า “ถ้าใครไม่ได้เกิดจากน้ำและพระวิญญาณ คนนั้นจะเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าไม่ได้”11 พระผู้ช่วยให้รอดทรงรับบัพติศมาเป็นแบบอย่าง แล้วผู้วายชนม์ที่ยังไม่ได้รับบัพติศมาเล่า

หลักคำสอนเรื่องพระวิหารและงานประวัติครอบครัว

วันที่ 11 ตุลาคม ปี 1840 ในนอวู ไวเลต คิมบัลล์เขียนจดหมายถึงเอ็ลเดอร์ฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์สามีของเธอ เขากำลังรับใช้งานเผยแผ่ในเกรทบริเตนกับสมาชิกอัครสาวกสิบสองคนอื่นๆ การประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคมจัดขึ้นเมื่อสองสามวันก่อน

ข้าพเจ้าอ้างอิงจากจดหมายส่วนตัวของไวเลต ดังนี้ “เรามีการประชุมใหญ่ที่น่าสนใจครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่จัดตั้งศาสนจักร … ประธาน [โจเซฟ] สมิธเปิดประเด็นใหม่อันน่าชื่นชมยินดี … ประเด็นนั้นคือการรับบัพติศมาแทนคนตาย เปาโลพูดถึงเรื่องนี้ในหนึ่งโครินธ์บทที่ 15 ข้อ 29 โจเซฟได้รับคำอธิบายครบถ้วนมากขึ้นโดยการเปิดเผย ท่านกล่าวว่าเอกสิทธิ์ของ [สมาชิก] ศาสนจักรนี้คือการรับบัพติศมาแทนญาติพี่น้องทุกคนที่สิ้นชีวิตก่อนพระกิตติคุณนี้ออกมา … โดยทำเช่นนั้นเราเป็นตัวแทนของพวกเขา และมอบสิทธิพิเศษให้พวกเขาออกมาในการฟื้นคืนชีวิตครั้งแรก ท่านกล่าวว่าจะมีพระกิตติคุณสั่งสอนพวกเขาในที่คุมขัง”

ไวเลตเสริมว่า “ดิฉันต้องการรับบัพติศมาแทนคุณแม่ … นี่ไม่ใช่หลักคำสอนอันน่าชื่นชมยินดีหรอกหรือ”12

หลักคำสอนสำคัญเรื่องการทำให้ครอบครัวเป็นหนึ่งเดียวกันเปิดเผยมากขึ้นตามลำดับ ศาสนพิธีแทนคนตายสำคัญอย่างยิ่งต่อการเชื่อมโยงครอบครัวนิรันดร์เข้าด้วยกัน เชื่อมต่อรากกับกิ่ง

หลักคำสอนเรื่องครอบครัวมีความสัมพันธ์ชัดเจนกับงานพระวิหารและประวัติครอบครัว พระเจ้าตรัสถึง “บัพติศมาแทนคนตาย ของท่าน13 ไว้ในคำแนะนำที่ทรงเปิดเผยช่วงแรก พันธะรับผิดชอบตามหลักคำสอนของเราคือช่วยบรรพชนของเรา เพราะการจัดระเบียบซีเลสเชียลของสวรรค์มีครอบครัวเป็นพื้นฐาน14 ฝ่ายประธานสูงสุดได้กระตุ้นสมาชิก โดยเฉพาะเยาวชนและหนุ่มสาวโสดให้เน้นงานประวัติครอบครัวและศาสนพิธีสำหรับชื่อครอบครัวตนเองหรือชื่อบรรพชนของสมาชิกในวอร์ดและสเตคของพวกเขา15 เราต้องเชื่อมต่อทั้งกับรากและกิ่งของเรา ความคิดเรื่องการเชื่อมสัมพันธ์ในอาณาจักรนิรันดร์น่ายินดียิ่งนัก

พระวิหาร

วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ระบุว่าศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธมีชีวิตนานพอจะวางรากฐานสำหรับงานพระวิหารดังคำกล่าวนี้ ครั้งสุดท้ายที่ท่าน โจเซฟ สมิธ ประชุมกับโควรัมอัครสาวกสิบสอง ท่านได้ให้เอ็นดาวเม้นท์พวกเขา16

หลังจากมรณสักขีของท่านศาสดาพยากรณ์ วิสุทธิชนสร้างพระวิหารนอวูเสร็จสมบูรณ์ และใช้อำนาจการผนึกเป็นพรแก่สมาชิกที่ซื่อสัตย์หลายพันคนก่อนอพยพไปภูเขาฝั่งตะวันตก สามสิบปีต่อมา เมื่อสร้างพระวิหารเซนต์จอร์จเสร็จ ประธานบริคัม ยังก์กล่าวถึงความสำคัญนิรันดร์ของศาสนพิธีแห่งความรอดว่าในที่สุดจึงมีให้ทั้งสำหรับคนเป็นและคนตาย17

ประธานวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์กล่าวไว้อย่างเรียบง่ายดังนี้ “แทบไม่มีหลักธรรมใดที่พระเจ้าทรงเปิดเผยจะนำความปลื้มปีติมาสู่ข้าพเจ้ามากไปกว่าการไถ่คนตายของเรา การที่เรามีบิดา มารดา ภรรยา และบุตรอยู่กับเราในองค์กรครอบครัว ในเช้าของการฟื้นคืนชีวิตครั้งแรก และในอาณาจักรซีเลสเชียล นี่คือหลักธรรมสำคัญ หลักธรรมที่คุ้มค่าแก่การเสียสละทุกอย่าง”18

ช่างเป็นช่วงเวลาที่ดีเยี่ยมที่ได้มีชีวิตอยู่ นี่เป็นสมัยการประทานสุดท้าย และเรารู้สึกได้ถึงการเร่งงานแห่งความรอดในทุกๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับศาสนพิธีแห่งความรอด19 เวลานี้เรามีพระวิหารไว้ทำศาสนพิธีแห่งความรอดเหล่านี้อยู่ทั่วโลก การเข้าพระวิหารเพื่อการฟื้นฟูทางวิญญาณ สันติสุข ความปลอดภัย และการนำทางในชีวิตเราเป็นพรประเสริฐเช่นกัน20

ไม่ถึงปีหลังจากประธานโธมัส เอส. มอนสันได้รับเรียกเป็นอัครสาวก ท่านอุทิศหอสมุดลำดับเชื้อสายของพระวิหารลอสแอนเจลิส ท่านกล่าวว่าบรรพชนผู้ล่วงลับ “กำลังรอวันที่ท่านและข้าพเจ้าจะทำการค้นคว้าซึ่งจำเป็นต่อการกรุยทาง … [และ] เข้าไปในพระนิเวศน์ของพระผู้เป็นเจ้าและทำงานนั้น … ที่พวกเขา …ทำไม่ได้”21

เมื่อเอ็ลเดอร์มอนสันกล่าวคำอุทิศเหล่านั้นในวันที่ 20 มิถุนายน ปี 1964 มีพระวิหารเปิดดำเนินการเพียง 12 แห่ง ในช่วงที่ประธานมอนสันรับใช้ในสภาอาวุโสของศาสนจักร มีการอุทิศพระวิหารที่เปิดดำเนินการ 130 แห่งจาก 142 แห่ง นับเป็นปาฏิหาริย์โดยแท้ที่ได้เห็นการเร่งงานแห่งความรอดในสมัยของเรา ประกาศสร้างพระวิหารอีกยี่สิบแปดแห่งและอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ แปดสิบห้าเปอร์เซ็นต์ของสมาชิกศาสนจักรเวลานี้อาศัยอยู่ห่างพระวิหารไม่เกิน 200 ไมล์ (320 กิโลเมตร)

เทคโนโลยีประวัติครอบครัว

เทคโนโลยีประวัติครอบครัวก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมากเช่นกัน ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ประกาศในเดือนพฤศจิกายน ปี 1994 ดังนี้ “เราได้เริ่มใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเร่งงานศักดิ์สิทธิ์ของการจัดทำศาสนพิธีแทนผู้วายชนม์ พระเจ้าทรงเร่ง … บทบาทของเทคโนโลยีด้วยพระองค์เอง … แต่เราเพิ่งเริ่มทำสิ่งที่เราทำได้กับเครื่องมือเหล่านี้”22

ใน 19 ปีนับตั้งแต่การพยากรณ์ครั้งนี้ เทคโนโลยีเร่งความเร็วจนแทบไม่น่าเชื่อ มารดาวัย 36 ปีที่ลูกยังเล็กอยู่พูดกับข้าพเจ้าเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “ลองคิดดู—เราเปลี่ยนจากการใช้เครื่องอ่านไมโครฟิล์มในศูนย์ประวัติครอบครัวมานั่งใช้คอมพิวเตอร์ทำงานประวัติครอบครัวที่โต๊ะในครัวของดิฉันเมื่อลูกๆ เข้านอนแล้ว” พี่น้องทั้งหลาย ศูนย์ประวัติครอบครัวของเราเวลานี้อยู่ในบ้านของเรา

งานพระวิหารและประวัติครอบครัวไม่เพียงเกี่ยวข้องกับเรา จงนึกถึงคนอีกฝั่งหนึ่งของม่านกำลังรอให้ศาสนพิธีแห่งความรอดปลดปล่อยพวกเขาจากพันธนาการของที่คุมขังวิญญาณ ที่คุมขัง หมายถึง “สภาพของการกักขังหรือการเป็นเชลย”23 คนที่กำลังเป็นเชลยอาจจะถามอย่างเดียวกันกับวิลเลียม ซาโรยันว่า “จากนี้จะเป็นอย่างไร”

พี่น้องสตรีที่ซื่อสัตย์ท่านหนึ่งได้เล่าประสบการณ์พิเศษทางวิญญาณในพระวิหารซอลท์เลค ขณะอยู่ในห้องยืนยัน หลังจากประกาศศาสนพิธียืนยันคนตาย เธอได้ยินว่า “และเชลยจะออกไปเป็นอิสระ!” เธอรู้สึกถึงความเร่งด่วนมากสำหรับคนที่รอคอยงานบัพติศมาและการยืนยันของพวกเขา เมื่อกลับถึงบ้าน เธอค้นคว้าพระคัมภีร์เพื่อหาประโยคที่เธอได้ยิน เธอพบคำประกาศของโจเซฟ สมิธใน หลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 128 “ให้ใจท่านชื่นชมยินดี, และเปรมปรีดิ์ยิ่ง, ให้แผ่นดินโลกเปล่งเสียงร้องเพลงเถิด. ให้คนตายเปล่งเสียงเพลงสดุดีแห่งคำสรรเสริญนิรันดร์ถวายกษัตริย์อิมมานูเอล, ผู้ทรงแต่งตั้งไว้, ก่อนมีโลกขึ้นมา, สิ่งซึ่งจะทำให้เราสามารถไถ่พวกเขาออกจากที่คุมขังของพวกเขา: เพราะเชลยจะออกไปเป็นอิสระ”24

คำถามคือ เราจำเป็นต้องทำอะไร คำแนะนำของศาสดาพยากรณ์โจเซฟคือ นำเสนอ “บันทึกคนตายของเรา [ในพระวิหาร], ซึ่งจะคู่ควรแก่การยอมรับทั้งปวง”25

ผู้นำศาสนจักรได้ประกาศชัดเจนต่ออนุชนรุ่นหลังให้นำประโยชน์ของเทคโนโลยีมาใช้ให้ตนประสบกับวิญญาณของเอลียาห์ ค้นหาบรรพชนของพวกเขา และประกอบศาสนพิธีพระวิหารให้บรรพชนเหล่านั้น26 งานยากส่วนใหญ่ในการเร่งงานแห่งความรอดทั้งสำหรับคนเป็นและคนตายจะทำโดยท่านเยาวชนทั้งหลาย27

ถ้าเยาวชนในแต่ละวอร์ดจะไม่เพียงไปพระวิหารและรับบัพติศมาแทนคนตายเท่านั้น แต่ทำงานกับครอบครัวของพวกเขาและสมาชิกวอร์ดคนอื่นๆ ด้วย ในการจัดเตรียมชื่อครอบครัวสำหรับทำงานศาสนพิธี ทั้งพวกเขาและศาสนจักรจะได้รับพรอย่างมาก อย่าประเมินอิทธิพลของผู้วายชนม์ต่ำเกินไปในการช่วยเหลือท่านและปีติของการพบกับคนที่ท่านรับใช้ในท้ายที่สุด พรสำคัญนิรันดร์ของการทำให้ครอบครัวเราเป็นหนึ่งเดียวกันแทบจะเกินความเข้าใจ28

ในสมาชิกภาพทั่วโลกของศาสนจักร ปัจจุบันผู้ใหญ่ห้าสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์ไม่มีทั้งชื่อบิดาและมารดาในหมวด Family Tree ของไซต์อินเทอร์เน็ต FamilySearch ของศาสนจักร ผู้ใหญ่หกสิบห้าเปอร์เซ็นต์ไม่มีชื่อปู่ย่าตายายทั้งสี่คน29 จำไว้ว่า หากไม่มีรากและกิ่งของเรา เราจะรอดไม่ได้ สมาชิกศาสนจักรต้องได้ข้อมูลสำคัญนี้และป้อนข้อมูลลงไป

ในที่สุดเราก็มีหลักคำสอน พระวิหาร และเทคโนโลยีให้ครอบครัวทำงานแห่งความรอดอันทรงเกียรตินี้ ข้าพเจ้าเสนอวิธีหนึ่งที่อาจทำได้ ครอบครัวอาจจะจัด “ชุมนุม Family Tree” ควรจัดแบบนี้บ่อยๆ ทุกคนจะนำประวัติครอบครัว เรื่องราว และภาพถ่ายที่มีอยู่ รวมถึงสมบัติที่ปู่ย่าตายายและพ่อแม่หวงแหน เยาวชนของเราตื่นเต้นกับการเรียนรู้ชีวิตของสมาชิกครอบครัว—คนเหล่านั้นมาจากไหนและดำเนินชีวิตอย่างไร หลายคนได้หันใจกลับไปหาบรรพบุรุษ พวกเขารักเรื่องราวและภาพถ่าย พวกเขามีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในการสแกนและอัพโหลดเรื่องราวตลอดจนภาพถ่ายเหล่านี้ลง Family Tree และเชื่อมต่อเอกสารต้นฉบับกับบรรพชนเพื่อรักษาบันทึกเหล่านี้ไว้ แน่นอนว่าวัตถุประสงค์หลักคือตัดสินใจว่าจะต้องทำศาสนพิธีใดและมอบหมายให้ทำงานพระวิหารที่จำเป็น ท่านสามารถใช้หนังสือ ครอบครัวของฉัน ช่วยบันทึกข้อมูลครอบครัว เรื่องราว และภาพถ่ายที่สามารถอัพโหลดลง Family Tree ได้ภายหลัง

ความมุ่งมั่นและความคาดหวังเรื่องครอบครัวควรมีความสำคัญสูงสุดเพื่อปกป้องจุดหมายอันสูงส่งของเรา สำหรับคนที่ต้องการให้ทั้งครอบครัวได้รับประโยชน์จากวันสะบาโตมากขึ้น การเร่งงานนี้คือดินอุดมสมบูรณ์ มารดาคนหนึ่งบอกบุตรชายวัย 17 ปีอย่างมีความสุขว่าจะใช้คอมพิวเตอร์ทำงานประวัติครอบครัวหลังเลิกโบสถ์วันอาทิตย์อย่างไรและบุตรชายวัย 10 ขวบชอบฟังเรื่องราวและดูรูปบรรพชนของเขา สิ่งเหล่านี้ทำให้ทั้งครอบครัวมีประสบการณ์ถึงวิญญาณของเอลียาห์ เราต้องบำรุงเลี้ยงรากและกิ่งอันล้ำค่าของเรา

พระเยซูคริสต์ทรงสละพระชนม์ชีพเป็นการชดใช้แทนเรา พระองค์ทรงเฉลยคำตอบให้แก่คำถามของโยบ พระองค์ทรงเอาชนะความตายแทนมนุษยชาติทั้งปวง ซึ่งเราไม่อาจทำได้ด้วยตนเอง แต่เราสามารถประกอบศาสนพิธีแทนคนตายและเป็นผู้ช่วยให้รอดบนเขาไซอัน30 ให้ครอบครัวเราเพื่อที่เรากับพวกเขาจะได้รับความสูงส่งและรอด

ข้าพเจ้ากล่าวคำพยานถึงการพลีพระชนม์ชีพเพื่อชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดและความแน่นอนของแผนพระบิดาสำหรับเราและครอบครัว ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. วิลเลียม ซาโรยัน, ใน เฮนรีย์ อัลเลน, “Raging against Aging,” Wall Street Journal, Dec. 31, 2011–Jan. 1, 2012, C9.

  2. โยบ 14:14.

  3. โยบ 14:1, 2, 7, 9.

  4. มาลาคี 4:1 เมื่อเร็วๆ นี้บทความหลายตอนรายงานว่าคนเลือกไม่มีบุตรเพื่อให้มาตรฐานการครองชีพของตนดีขึ้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ดู Abby Ellin, “The Childless Plan for Their Fading Days,” New York Times, Feb. 15, 2014, B4) ประชากรในหลายประเทศกำลังลดลงอันเป็นผลสืบเนื่องจากการเลือกเหล่านี้ บางครั้งเราเรียกสิ่งนี้ว่า “demographic winter” (ดู The New Economic Reality: Demographic Winter [สารคดี], byutv.org/shows).

  5. มาลาคี 4:5–6.

  6. ดู History of the Church, 1:12; หลักคำสอนและพันธสัญญา 2.

  7. ชาวยิวรอการกลับมาของเอลียาห์นาน 2,400 ปี จนถึงวันนี้ ที่งานเลี้ยงเทศกาลปัสกาประจำปีของพวกเขา พวกเขาจะจัดที่ไว้ให้เอลียาห์และไปที่ประตูโดยหวังให้ท่านจะมาป่าวประกาศการเสด็จมาของพระเมสสิยาห์

  8. ดู Bible Dictionary, “Elijah.”

  9. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:14–16; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 2:2 ด้วย.

  10. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “A New Harvest Time,” Ensign, May 1998, 34.

  11. ยอห์น 3:5.

  12. ไวเลต เอ็ม. คิมบัลล์เขียนถึงฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์, 11 ต.ค. 1840, จดหมายของไวเลต เอ็ม. คิมบัลล์, หอสมุดประวัติศาสนจักร; ปรับตัวสะกดและอักษรตัวใหญ่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน.

  13. หลักคำสอนและพันธสัญญา 127:5; เน้นตัวเอน.

  14. ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ (2013), 62.

  15. ดู จดหมายฝ่ายประธานสูงสุด, 8 ต.ค., 2012.

  16. ดู The Discourses of Wilford Woodruff, sel. G. Homer Durham (1946), 147.

  17. บริคัม ยังก์กล่าวว่า “ทั้งหมดที่ข้าพเจ้าต้องการคือเห็นคนกลุ่มนี้อุทิศทรัพย์สินเงินทองและทุ่มเทความสนใจให้แก่การเสริมสร้างอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า การสร้างพระวิหาร และประกอบพิธีสำหรับคนเป็นและคนตายในนั้น … เพื่อพวกเขาจะเป็นบุตรและธิดาของพระผู้ทรงฤทธานุภาพ” (Deseret News, 6 ก.ย. 1876, 498) บัพติศมาแทนคนตายเริ่มต้นวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1877 และประกอบเอ็นดาวเม้นท์แทนคนตายอีกสองวันต่อมา ลูซี บี. ยังก์กล่าวถึงปีติของงานนี้ว่า “ใจเธอเปี่ยมด้วยความหวังว่า [ญาติผู้ล่วงลับของเธอ] จะกางแขนต้อนรับ เฉกเช่นคนที่ไม่อาจทำงานด้วยตนเองจะต้อนรับทุกคนที่ทำงานแทนพวกเขา” (ใน ริชาร์ด อี. เบนเนตต์, ‘Which Is the Wisest Course?’ The Transformation in Mormon Temple Consciousness, 1870–1898,” BYU Studies Quarterly, vol. 52, no. 2 [2013], 22).

  18. คำสอนของประธานศาสนาจักร: วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ (2004), 197.

  19. ประธานวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ (ผู้รู้กันทั่วไปว่าเป็นผู้สอนศาสนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งสำหรับคนเป็น) พูดถึงงานสำหรับคนตายดังนี้ “ข้าพเจ้าถือว่าการปฏิบัติศาสนกิจส่วนนี้ของเราเป็นภารกิจที่มีความสำคัญเท่าๆ กับการสั่งสอนคนเป็น คนตายจะได้ยินเสียงผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้าในโลกวิญญาณ และเขาจะออกมาในเช้าของการฟื้นคืนชีวิต [ครั้งแรก] ไม่ได้ เว้นแต่จะประกอบศาสนพิธีบางอย่างให้ [พวกเขา]” ท่านยังกล่าวด้วยว่า “ต้องทำงานส่วนนี้เพื่อช่วยให้คนตายรอด … เช่นเดียวกับคนเป็น” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์,193).

  20. ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์เชิญชวนสมาชิกศาสนจักรให้ไปพระวิหารบ่อยๆ “เพื่อพรส่วนตัวของการนมัสการในพระวิหาร เพื่อความศักดิ์สิทธิ์และความปลอดภัยซึ่งมีให้ภายในกำแพงศักดิ์สิทธิ์ที่อุทิศถวายแล้วเหล่านั้น … พระวิหารศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้า และควรศักดิ์สิทธิ์ต่อเรา” (“The Great Symbol of Our Membership,” Ensign, Oct. 1994, 5; Tambuli, Nov. 1994, 6).

  21. “Messages of Inspiration from President Thomas S. Monson,” Church News, Dec. 29, 2013, 2.

  22. ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์, “We Have a Work to Do,” Ensign, Mar. 1995, 65.

  23. Merriam-Webster’s Collegiate Dictionary, 11th ed. (2003), “prison.”

  24. หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:22; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 138:42. “ก่อนมีโลกขึ้นมา พระเจ้าทรงแต่งตั้งสิ่งซึ่งทำให้เราสามารถไถ่วิญญาณอออกจาก [ที่คุมขัง]” (index to the triple combination, “Prison”) ด้วย.

  25. หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:24.

  26. ดู จดหมายฝ่ายประธานสูงสุด, 8 ต.ค. 2012; ดู เดวิด เอ. เบดนาร์, “ใจของลูกหลานจะหันไป,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 29–33; R. Scott Lloyd, “‘Find Our Cousins,’: Apostle [Neil L. Andersen] Counsels LDS Youth at RoosTech Conference,” Church News, Feb. 16, 2014, 8–9.

  27. งานวิจัยล่าสุดงานหนึ่งบ่งบอกว่าเรื่องใหญ่ที่ต้องเน้นกับคนรุ่นนี้คือการดำเนินชีวิตอย่างมีความหมายในที่ซึ่งพวกเขา “ให้คนอื่นๆ และทำให้ตนเองเข้าใจจุดประสงค์กว้างขึ้น” (Emily Esfahani Smith and Jennifer L. Aaker, “Millennial Searchers,” New York Times Sunday Review, Dec. 1, 2013, 6).

  28. ดู ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์, “A Temple-Motivated People,” Ensign, Feb. 1995, 2–5;Liahona, May 1995, 2–7.

  29. สถิติจากแผนกประวัติครอบครัว.

  30. ดู โอบาดีห์ 1:21.