2010–2019
คุณกำลังคิดอะไรอยู่
เมษายน 2014


คุณกำลังคิดอะไรอยู่

ข้าพเจ้าวิงวอนท่านให้ฝึกถามคำถามนี้ด้วยความห่วงใยถึงประสบการณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งว่า “คุณกำลังคิดอะไรอยู่”

สี่สิบเอ็ดปีก่อน ข้าพเจ้าปีนเข้าไปนั่งที่นั่งคนขับของรถกึ่งบรรทุก 18 ล้อ พร้อมด้วย แจนภรรยาคนสวยของข้าพเจ้าและสกอตตี้ลูกชายวัยแบเบาะของเรา เรากำลังจะขนวัสดุก่อสร้างที่บรรทุกหนักข้ามไปหลายรัฐ

สมัยนั้นยังไม่เข้มงวดเรื่องเข็มขัดนิรภัยหรือที่นั่งสำหรับเด็กทารกในรถ ภรรยาข้าพเจ้าจึงอุ้มลูกชายที่น่ารักของเราไว้ในอ้อมแขน ความเห็นของเธอที่ว่า “เราอยู่สูงจากระดับพื้นพอดูเลยนะคะ” น่าจะสะกิดให้ข้าพเจ้าทราบถึงความกังวลของเธอ

ขณะขับอยู่บนเส้นทางประวัติศาสตร์ดอนเนอร์พาส ช่วงที่ทางหลวงเป็นถนนลาดชัน ห้องโดยสารของรถบรรทุกก็มีควันคลุ้งขึ้นอย่างกะทันหันและไม่คาดฝัน เรามองไม่ค่อยเห็น และหายใจไม่ค่อยออก

สำหรับรถกึ่งบรรทุกที่หนักขนาดนั้น ใช้เบรกอย่างเดียวไม่อาจชะลอความเร็วได้ทันการ ข้าพเจ้าใช้เครื่องยนต์ช่วยเบรกและลดเกียร์ลง พยายามหยุดรถให้ได้ในทันที

ขณะข้าพเจ้าบังคับรถชิดขอบทางแต่ยังจอดไม่สนิท ภรรยาข้าพเจ้าเปิดประตูรถกระโดดออกไปพร้อมลูกน้อยในอ้อมแขน ข้าพเจ้าได้แต่มองดูทั้งสองล้มกลิ้งไปบนพื้นดินโดยช่วยอะไรไม่ได้

ทันทีที่หยุดรถบรรทุกไว้ได้ ข้าพเจ้าถลันออกจากห้องโดยสารที่ควันคลุ้ง และด้วยความตื่นตระหนกตกใจข้าพเจ้าวิ่งฝ่าก้อนหินและดงหญ้ามากอดพวกเขาไว้ ปลายแขนของแจนฟกช้ำเลือดไหลแต่ข้าพเจ้ารู้สึกขอบพระทัยที่เธอและลูกชายของเรายังหายใจอยู่ ข้าพเจ้าได้แต่กอดพวกเขาไว้แน่นขณะฝุ่นข้างทางหลวงเริ่มจางลง

เมื่อหัวใจเต้นปกติและหายจากอาการหอบแล้ว ข้าพเจ้าโพล่งออกไปว่า “คุณคิดอะไรของคุณ รู้ไหมว่าทำแบบนั้นอันตรายแค่ไหน คุณอาจถึงตายเลยนะ!”

เธอมองผมด้วยน้ำตาอาบแก้มเปื้อนคราบควัน และพูดสิ่งที่เสียดแทงใจข้าพเจ้าและลั่นอึงอลอยู่ในหูว่า “ฉันก็แค่พยายามให้ลูกชายของเราปลอดภัย”

ชั่วขณะนั้นข้าพเจ้าตระหนักว่าสิ่งที่เธอคิดก็คือ ไฟไหม้เครื่องยนต์ กลัวรถบรรทุกจะระเบิดพวกเราตาย อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้ารู้ว่านั่นเป็นเพียงปัญหาเกี่ยวกับไฟฟ้า—อันตรายแต่ไม่ร้ายแรง ข้าพเจ้ามองภรรยาผู้ล้ำค่า ลูบศีรษะลูกชายวัยทารกของเรา และสงสัยว่าผู้หญิงแบบไหนนะที่จะทำสิ่งที่กล้าหาญขนาดนั้น

สถานการณ์เช่นนี้อาจเป็นอันตรายด้านอารมณ์มากเท่าๆ กับการที่เครื่องยนต์เสีย ที่น่ายินดีคือ หลังจากอดทนอยู่ในความเงียบที่อึดอัดนานพอสมควร โดยที่เราทั้งสองเชื่อว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนผิด ในที่สุดเราคุยกันถึงความรู้สึกปั่นป่วนภายใต้อารมณ์ของเราที่ระเบิดออกมา การแบ่งปันความรู้สึกรักและกังวลในความปลอดภัยของอีกฝ่ายหนึ่ง ช่วยให้ชีวิตแต่งงานที่เรารักสุดหัวใจผ่านพ้นอันตรายร้ายแรงครั้งนี้ไปได้

เปาโลเตือนว่า “อย่าให้คำเลวร้ายออกจากปากของท่านทั้งหลาย แต่จงกล่าวคำดีๆ [เท่านั้น] และที่เหมาะสมกับความต้องการ เพื่อจะได้เป็นคุณแก่คนที่ได้ยิน” (เอเฟซัส 4:29) ถ้อยคำของเปาโลดังกังวานถึงความบริสุทธิ์อย่างหนึ่ง

วลี “คำเลวร้าย” สำหรับท่านหมายความว่าอะไร เราทุกคนเคยประสบความรู้สึกที่ถูกโจมตีอย่างรุนแรงด้วยความโกรธ—ทั้งของตนเองและผู้อื่น เราเคยเห็นความโกรธที่ไม่ทันกลั่นกรองปะทุขึ้นในที่สาธารณะ เรามีประสบการณ์กับสิ่งนี้ในรูปแบบของอารมณ์แบบ “ไฟช็อต” ในการแข่งขันกีฬา ในเวทีการเมืองและแม้แต่ในบ้านของเราเอง

บางครั้งลูกๆ พูดกับบิดามารดาผู้เป็นที่รักด้วยภาษาที่บาดใจ คู่สมรสที่ร่วมใช้ชีวิตอันสุขสมบูรณ์ร่วมประสบการณ์ที่อ่อนโยนสุภาพ ต้องมาสูญเสียวิสัยทัศน์และความอดทนต่อกันและขึ้นเสียงใส่กัน เราทุกคนแม้เป็นลูกๆ ในพันธสัญญาของพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก ต่างเคยเสียใจกับการด่วนตัดสินผู้อื่นโดยคิดว่าตนเองนั้นชอบธรรมแล้ว และเคยเอ่ยวาจากระตุ้นโทสะก่อนที่เราจะเข้าใจสถานการณ์จากมุมมองของอีกฝ่ายหนึ่ง เราทุกคนต่างเคยมีโอกาสเรียนรู้ว่าถ้อยคำที่กัดกร่อนสามารถนำสถานการณ์ที่เป็นเหตุแห่งอันตรายเข้าสู่ภาวะที่เป็นอันตรายร้ายแรงได้อย่างไร

ไม่นานมานี้มีจดหมายจากฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวอย่างชัดเจนว่า “พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์สอนให้เรารักและปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความมีน้ำใจและความสุภาพ—แม้ในยามที่เราไม่เห็นด้วยก็ตาม” (จดหมายจากฝ่ายประธานสูงสุด, 10 ม.ค. 2014) เป็นข้อเตือนใจที่สำคัญยิ่งซึ่งเราสามารถทำได้และควรดำเนินต่อไปในการสนทนาที่สุภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรามองโลกจากมุมมองที่ต่างกัน

ผู้เขียนหนังสือสุภาษิตแนะนำว่า “คำตอบนุ่มนวลช่วยละลายความโกรธเกรี้ยวให้หายไป แต่คำกักขฬะเร้าโทสะ” (สุภาษิต 15:1) “คำตอบนุ่มนวล” ประกอบด้วยการตอบสนองที่มีเหตุผล—คำที่กลั่นกรองจากใจที่นอบน้อม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะพูดตรงๆ ไมได้เลยหรือจะย่อหย่อนในความจริงแห่งหลักคำสอน ถ้อยคำที่หนักแน่นในข่าวสารอาจเอ่ยในวิญญาณที่นุ่มนวลได้

พระคัมภีร์มอรมอนมีแบบอย่างที่สะดุดใจของภาษาที่หนักแน่นซึ่งกล่าวไว้เช่นกันในบริบทแห่งความขัดแย้งของชีวิตแต่งงาน บุตรของซาไรยาห์และลีไฮถูกส่งกลับไปเยรูซาเล็มเพื่อเอาแผ่นจารึกทองเหลืองและไม่กลับมา ซาไรยาห์เชื่อว่าบุตรของเธอตกอยู่ในอันตราย และเธอท่วมท้นด้วยความโกรธและต้องการตำหนิใครสักคนหนึ่ง

ลองฟังเรื่องนี้ในสายตานีไฟ บุตรของเธอดูบ้าง: “เพราะ (มารดาข้าพเจ้า) คิดว่าเราตายเสียแล้วในแดนทุรกันดาร; และนางได้บ่นว่าบิดาข้าพเจ้าด้วย โดยบอกท่านว่าท่านเป็นคนช่างเห็นนิมิต; มีความว่า: ดูเถิดท่านนำเราออกมาจากแผ่นดินแห่งมรดกของเรา, และบุตรของเราหามีไม่แล้ว, และพวกเราต้องตายในแดนทุรกันดาร (1 นีไฟ 5:2)

ถึงตอนนี้ให้เราลองพิจารณาดูว่าซาไรยาห์คิดอะไร เธอท่วมท้นด้วยความวิตกกังวลเรื่องบุตรของเธอที่ไม่ค่อยลงรอยกันซึ่งถูกส่งกลับไปยังสถานที่ซึ่งชีวิตสามีเธอเคยถูกคุกคาม เธอได้แลกบ้านและเพื่อนอันเป็นที่รักกับกระโจมในแดนทุรกันดารที่อ้างว้างขณะยังอยู่ในช่วงเวลาให้กำเนิดบุตร เมื่อถูกผลักดันสู่จุดแตกหักแห่งความกลัว ซาไรยาห์ได้กระทำเยี่ยงวีรสตรี แม้จะไม่สมเหตุผลนัก ดูเหมือนกระโดดออกมาจากความสูงของรถบรรทุกที่ควบคุมไม่ได้ด้วยความพยายามที่จะปกป้องครอบครัว เธอแสดงความกังวลที่ชอบด้วยเหตุผลกับสามีด้วยภาษาแห่งความโกรธ สงสัย และตำหนิ—ภาษาที่ดูเหมือนว่ามนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ช่ำชองอย่างไม่น่าเชื่อ

ศาสดาพยากรณ์ลีไฮฟังความหวาดวิตกที่ทำให้ภรรยาของท่านขุ่นเคือง แล้วให้การตอบรับด้วยความระมัดระวังในภาษาแห่งความเห็นอกเห็นใจ ขั้นแรกท่านยอมรับความจริงในเรื่องต่างๆ ตามมุมมองของภรรยาก่อนว่า “และ … บิดาข้าพเจ้าพูดกับนาง, มีความว่า: ข้าพเจ้ารู้ข้าพเจ้าเป็นคนช่างเห็นนิมิต; … แต่ [หากข้าพเจ้า] จะยังอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม, [เราจะ] ตายไปกับพี่น้องข้าพเจ้าแล้ว” (1 นีไฟ 5:4)

จากนั้นสามีของเธอกล่าวถึงความหวาดวิตกของเธอเกี่ยวกับสวัสดิภาพของบุตรทั้งหลาย ตามที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานต่อท่านโดยไร้ข้อสงสัยว่า

“แต่ดูเถิด, ข้าพเจ้าได้แผ่นดินแห่งคำสัญญา, ซึ่งในสิ่งนี้ข้าพเจ้าชื่นชมยินดี; แท้จริงแล้ว, และข้าพเจ้ารู้ว่าพระเจ้าจะทรงปลดปล่อยบุตรข้าพเจ้าให้พ้นจากมือเลบัน …

“และด้วยการกล่าวถ้อยในลักษณะนี้ ลีไฮ, บิดาข้าพเจ้า, ปลอบโยน…มารดาข้าพเจ้า, เกี่ยวกับเรา” (1 นีไฟ 5:5–6)

ชายหญิงในยุคนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังความเคารพกันและกันโดยก้าวข้ามช่องว่างกว้างใหญ่ของความเชื่อกับพฤติกรรมและก้าวข้ามเหวลึกแห่งวาระที่ขัดแย้ง เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ข้อมูลข่าวสารทุกสิ่งที่เข้ามาในความคิดและจิตใจของเราหรือแม้แต่จะเข้าใจอย่างสมบูรณ์ในบริบทของการทดลองและทางเลือกที่เราเผชิญ

แม้กระนั้น อะไรจะเกิดขึ้นกับ “คำเลวร้าย” ที่เปาโลกล่าวถึงหากเราอยู่ในตำแหน่งที่ต้องเห็นใจประสบการณ์ของผู้อื่นเป็นอันดับแรก โดยยอมรับในข้อจำกัดแห่งความไม่ดีพร้อมและนิสัยที่มักจะพูดห้วนๆ ของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าวิงวอนท่านให้ฝึกถามคำถามนี้ด้วยความห่วงใยถึงประสบการณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งว่า “คุณกำลังคิดอะไรอยู่”

จำได้ไหมเมื่อพระเจ้าทรงทำให้ซามูเอลและซาอูลประหลาดใจโดยเรียกดาวิดแห่งเบธเลเฮม เด็กเลี้ยงแกะตัวน้อย ให้เป็นกษัตริย์แห่งอิสราเอล พระเจ้าตรัสกับศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ว่า “เพราะพระยาห์เวห์ไม่ได้ทอดพระเนตรเหมือนที่มนุษย์ดู เพราะมนุษย์ดูที่รูปร่างภายนอก แต่พระยาห์เวห์ทอดพระเนตรจิตใจ” (1 ซามูเอล 16:7)

เมื่อห้องโดยสารรถบรรทุกเกิดควันคลุ้ง ภรรยาข้าพเจ้ากระทำในสิ่งที่กล้าหาญที่สุดเท่าที่เธอจะนึกออกเพื่อปกป้องลูกชายเรา เช่นเดียวกันในฐานะผู้พิทักษ์ข้าพเจ้าถามถึงการเลือกของเธอ ที่น่าตกใจก็คือมันไม่สำคัญว่าใครทำถูกต้องกว่าใคร ที่สำคัญคือการฟังกันและการเข้าใจมุมมองของอีกฝ่ายหนึ่ง

ความตั้งใจจริงที่จะเข้าใจมุมมองของกันและกันจะเปลี่ยน “คำเลวร้าย” เป็น “คำที่เป็นคุณ” อัครสาวกเปาโลเข้าใจเรื่องนี้และเราแต่ละคนสามารถมีประสบการณ์กับสิ่งนี้ได้เช่นเดียวกันในระดับหนึ่ง ปัญหาอาจไม่เปลี่ยนแปลงหรือได้รับการแก้ไขด้วยสิ่งนี้ แต่ความเป็นไปได้ที่สำคัญกว่าก็คือคำที่ให้คุณสามารถเปลี่ยนเราได้หรือไม่

ข้าพเจ้าเป็นพยานด้วยความนอบน้อมว่าเราสามารถกล่าว “คำที่ให้คุณ” ได้ด้วยภาษาแห่งความเห็นอกเห็นใจเมื่อของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ปลูกฝังไว้ทะลุทะลวงจิตใจเราให้เข้าใจความรู้สึกและสภาพแวดล้อมของผู้อื่น สิ่งนี้ทำให้เราสามารถเปลี่ยนสถานการณ์อันตรายให้เป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ได้ ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก ผู้ “ทอดพระเนตรจิตใจ [เรา]” และใส่พระทัยว่าเรากำลังคิดอะไร ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน