2010–2019
เราควรเป็นคนอย่างไรเล่า
เมษายน 2014


เราควรเป็นคนอย่างไรเล่า

การเปลี่ยนแปลงใดที่เราต้องเป็นเพื่อเป็นคนอย่างที่เราควรเป็น

เมื่อเรามองดูการประชุมทั่วโลกนี้ เรารู้ว่าไม่มีสิ่งใดที่สามารถเทียบได้กับการชุมนุมนี้—ไม่ว่าที่ใดก็ตาม จุดประสงค์ของการประชุมใหญ่สามัญภาคฐานะปุโรหิตคือเพื่อสอนผู้ดำรงฐานะปุโรหิตว่าเราควรเป็นคนอย่างไรเล่า (ดู 3 นีไฟ 27:27) และเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เราบรรลุถึงอุดมคติ

สมัยที่ข้าพเจ้าเป็นฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนที่ฮาวายเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วและเป็นผู้สอนศาสนาในอังกฤษ เราจะชุมนุมในอาคารประชุมและ (ด้วยความพยายามอันยิ่งยวด) ฟังภาคฐานะปุโรหิตโดยใช้โทรศัพท์ หลายปีต่อมาดาวเทียมช่วยให้การถ่ายทอดไปยังสถานที่ซึ่งศาสนจักรกำหนดไว้โดยมีจานรับสัญญาณขนาดมหึมาเพื่อที่เราจะได้ฟังและชมการประชุม เราเคยอยู่ในยุคสมัยที่ตื่นตะลึงกับเทคโนโลยี น้อยคนนักจะจินตนาการถึงโลกในปัจจุบันที่ทุกคนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตกับสมาร์ทโฟน แทบเล็ต หรือคอมพิวเตอร์เพื่อรับชมข่าวสารของการประชุมนี้

อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงเสียงของผู้รับใช้ของพระเจ้าซึ่งเปรียบเหมือนสุรเสียงของพระเจ้าเอง (ดู คพ. 1:38) ได้มากยิ่งขึ้นนี้จะมีคุณค่าน้อยมากเว้นแต่เราเต็มใจยอมรับถ้อยคำนั้น (ดู คพ. 11:21) และจากนั้นทำตาม พูดง่ายๆจุดประสงค์ของการประชุมใหญ่และของภาคฐานะปุโรหิตคือจะเกิดสัมฤทธิ์ผลถ้าเราเต็มใจกระทำ—ถ้าเราเต็มใจเปลี่ยนแปลง

หลายทศวรรษก่อนข้าพเจ้ารับใช้เป็นอธิการ ผ่านไประยะหนึ่งข้าพเจ้าพบชายคนหนึ่งในวอร์ดผู้ซึ่งอาวุโสกว่าข้าพเจ้าหลายปี บราเดอร์ผู้นี้มีสัมพันธภาพที่เป็นปัญหากับภรรยาและห่างเหินกับลูกๆ เขามีปัญหาในการทำงาน ไม่มีเพื่อนสนิท และมีปัญหาในการปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในวอร์ดจนกระทั่งเขาไม่ปรารถนาจะรับใช้ในศาสนจักร ระหว่างการสนทนาอย่างจริงจังถึงการท้าทายในชีวิต เขาโน้มตัวเข้ามาหาข้าพเจ้า—ในตอนท้ายของการสนทนาหลายๆ ครั้ง—และกล่าวว่า “อธิการ ผมเป็นคนอารมณ์ฉุนเฉียว ผมก็เป็นแบบนี้”

คำพูดนั้นทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจในคืนนั้นและยังหลอกหลอนข้าพเจ้านับแต่นั้นมา เมื่อมนุษย์ตัดสินใจ—เมื่อมาถึงจุดสิ้นสุดที่ว่า—“ฉันก็เป็นแบบนี้” เราละทิ้งความสามารถในการเปลี่ยนแปลง เราอาจจะยกธงขาว วางอาวุธ ยอมการต่อสู้และยอมแพ้—ทุกโอกาสของชัยชนะคือการยอมแพ้ ขณะที่บางคนอาจคิดว่านั่นไม่ได้พูดถึงตัวเรา แต่บางทีแล้วเราทุกคนอาจแสดงให้เห็นถึงนิสัยหนึ่งหรือสองอย่างที่ว่า “ฉันก็เป็นแบบนี้”

เราประชุมกันในการประชุมฐานะปุโรหิตเพราะว่าเราไม่ได้เป็นคนที่เราสามารถเป็นได้ เราประชุมคืนนี้ที่นี่ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เราประชุมด้วยความมั่นใจว่าการชดใช้ของพระองค์จะทำให้เราทุกคน—ไม่ว่าจะมีความอ่อนแอ ความบอบบาง พฤติกรรมเสพติดของเราแบบใด—มีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง เราประชุมกันโดยมีความหวังว่าอนาคตของเราจะดีขึ้นไม่ว่าประวัติของเราจะเป็นเช่นไร

เมื่อเรามีส่วนร่วมในการประชุมนี้ด้วย “เจตนาแท้จริง” เพื่อจะเปลี่ยนแปลง (โมโรไน 10:4) พระวิญญาณจะเข้าสู่จิตใจและความคิดพวกเราอย่างเต็มที่ ดังที่พระเจ้าทรงเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ “และเหตุการณ์จะบังเกิดขึ้น, คือตราบเท่าที่พวกเขา…ใช้ศรัทธาในเรา” จำไว้ว่าศรัทธาเป็นหลักธรรมแห่งพลังและการกระทำ—“ เราจะเทพระวิญญาณของเราลงมาให้พวกเขาในวันที่พวกเขาร่วมชุมนุมกัน” (คพ. 44:2) นั่นหมายถึงคืนนี้

ถ้าท่านนึกถึงการท้าทายของท่านซึ่งเกินกว่าจะเอาชนะได้ ข้าพเจ้าขอเล่าถึงชายคนหนึ่งที่ข้าพเจ้าพบในหมู่บ้านเล็กๆ นอกเมืองไฮเดอราบาด อินเดียเมื่อปี 2006 ชายคนนี้เป็นแบบอย่างของความเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลง อัปปา ราอู นูลู เกิดในชนทบทของอินเดีย เมื่อเขาอายุสามขวบ เขาเป็นโปลิโอและทำให้พิการ สังคมของเขาสอนว่าศักยภาพของเขานั้นมีจำกัดมาก อย่างไรก็ตาม สมัยเป็นชายหนุ่มเขาพบผู้สอนศาสนา พวกเขาสอนให้เขารู้ถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ทั้งในชีวิตนี้และในนิรันดรที่จะมาถึง เขารับบัพติศมาและยืนยันเป็นสมาชิกของศาสนจักร โดยมีวิสัยทัศน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เขาตั้งเป้าหมายที่จะรับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและรับใช้งานเผยแผ่เต็มเวลา ในปี 1986 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์และได้รับเรียกให้รับใช้ในอินเดีย โดยที่เดินไม่ค่อยสะดวก เขาทำอย่างสุดความสามารถโดยถือไม้เท้าในมือแต่ละข้างและหกล้มอยู่เป็นประจำ—แต่เขาไม่เลือกที่จะยอมแพ้ เขาให้คำมั่นสัญญาว่าจะรับใช้งานเผยแผ่อย่างสมเกียรติและอุทิศตน และเขาก็ทำได้

เมื่อเราพบกับบราเดอร์นูลูเกือบยี่สิบปีหลังจากเขาจบงานเผยแผ่ เขาต้อนรับอย่างร่าเริงตรงสุดถนนและพาเราเดินลงไปถนนดินขรุขระไปยังบ้านสองห้องนอนที่เขาพักอยู่กับภรรยาและลูกสามคน วันนั้นร้อนและไม่สบายตัวอย่างมาก เขายังคงเดินอย่างลำบากแต่ไม่มีความสมเพชเวทนาตัวเองแต่อย่างใด ด้วยความพากเพียรส่วนตัว เขากลายเป็นครู โดยสอนหนังสือให้เด็กในหมู่บ้าน เมื่อเราเข้าไปในบ้านอันสมถะ ทันใดนั้นเขาก็พาข้าพเจ้าไปยังมุมบ้านและดึงกล่องซึ่งบรรจุสมบัติอันมีค่าของเขา เขาต้องการให้ข้าพเจ้าดูกระดาษชิ้นหนึ่ง ซึ่งอ่านได้ว่า “ด้วยความปรารถนาดีและขออวยพรให้เอ็ลเดอร์นูลู ผู้สอนศาสนาที่กล้าหาญและมีความสุข; [วันที่] 25 มิถุนายน 1987; [ลงชื่อ] บอยด์ เค. แพคเกอร์ ในเหตุการณ์นั้น เมื่อเอ็ลเดอร์แพคเกอร์มาเยี่ยมอินเดียและพูดกับกลุ่มผู้สอนศาสนา ท่านยืนยันกับเอ็ลเดอร์นูลูถึงศักยภาพของเขา ประเด็นก็คือสิ่งที่บราเดอร์นูลูบอกข้าพเจ้าในวันนั้นของปี 2006 คือพระกิตติคุณได้เปลี่ยนแปลงเขา—อย่างถาวร

การไปเยี่ยมบ้านนูลูครั้งนี้เราเดินทางไปกับประธานคณะเผยแผ่ เขาอยู่ที่นั่นเพื่อสัมภาษณ์บราเดอร์นูลู ภรรยา และลูกๆ ของเขา—เพื่อพ่อแม่จะรับเอ็นดาวเม้นท์และผนึกและเพื่อลูกๆ จะผนึกกับพ่อแม่ เรานำแผนการเดินทางไปพระวิหารฮ่องกง ประเทศจีนเพื่อทำศาสนพิธีเหล่านี้ไปให้พวกเขา พวกเขาร้องไห้ด้วยความปีติเนื่องจากความฝันที่รอมานานกำลังจะเป็นจริง

ฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้าได้รับคาดหวังสิ่งใด การเปลี่ยนแปลงใดที่เราต้องเป็นเพื่อเป็นคนอย่างที่เราควรเป็น ข้าพเจ้าขอแนะนำสามข้อ

  1. เราจำเป็นต้องเป็นบุรุษแห่งฐานะปุโรหิต ไม่ว่าท่านจะเป็นเยาวชนชายดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนหรือชายผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค เราต้องการบุรุษแห่งฐานะปุโรหิต ผู้แสดงความเติบโตทางวิญญาณเพราะว่าเราได้ทำพันธสัญญา ดังเปาโลกล่าวว่า “เมื่อข้าพเจ้ายังเป็นเด็ก ข้าพเจ้าพูดอย่างเด็ก คิดอย่างเด็ก หาเหตุผลอย่างเด็ก แต่เมื่อข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่ ข้าพเจ้าก็เลิกอาการของเด็ก” (1 โครินธ์ 13:11) เราควรจะแตกต่างเพราะเราดำรงฐานะปุโรหิต—ไม่ใช่เป็นคนหยิ่งหรือจองหองหรือเป็นคนสอพลอแต่เป็นคนอ่อนน้อม เชื่อฟังและว่านอนสอนง่าย การรับฐานะปุโรหิตและการเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ ของฐานะปุโรหิตควรมีความหมายบางอย่างแก่เรา ไม่ใช่เป็น “ศาสนพิธีเลื่อนชั้น” ที่ทำไปอย่างนั้น ซึ่งเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อถึงอายุใดอายุหนึ่งแต่เป็นการกระทำพันธสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์อย่างมีความหมาย เราควรรู้สึกว่าเป็นสิทธิพิเศษและขอบคุณในการแสดงออกของทุกการกระทำ ถ้าเรานึกถึงฐานะปุโรหิตเป็นครั้งคราวก็ตาม เราควรเปลี่ยนแปลง

  2. เราจำเป็นต้องรับใช้ แก่นแท้ของการดำรงฐานะปุโรหิตคือขยายการเรียกของพวกเรา (ดู คพ. 84:33) โดยการรับใช้ผู้อื่น เราไม่ควรเป็นผู้ที่หลีกเลี่ยงหน้าที่สำคัญที่สุดของเราในการรับใช้ภรรยาและลูกของเรา ไม่ยอมรับหรือทำการเรียกของเราในศาสนจักรไปอย่างนั้น หรือไม่เอาใจใส่ผู้อื่นเว้นแต่ว่าจะสะดวก พระผู้ช่วยให้รอดทรงประกาศว่า “จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่านด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน” (มัทธิว 22:37) และต่อมาทรงเสริมว่า “หากเจ้ารักเราเจ้าจงรับใช้เรา” (คพ. 42:29) ความเห็นแก่ตัวเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับความรับผิดชอบฐานะปุโรหิตและถ้านั่นเป็นอุปนิสัยของเรา เราต้องเปลี่ยนแปลง

  3. เราจำเป็นต้องมีค่าควร ข้าพเจ้าอาจไม่มีความสามารถอย่างเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์เมื่อท่านพูดในภาคฐานะปุโรหิตเมื่อสองสามปีก่อนเพื่อ “จะยืนตรงหน้าท่าน … ประชิดติดกัน จะพูดด้วยเสียงที่มีไฟพอที่จะเผาไหม้คิ้วของท่าน” (“เราผองต้องถูกเกณฑ์” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 56) แต่พี่น้องที่รัก เราจะต้องตื่นขึ้นมาสู่การปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในโลกที่เบียดบังอำนาจของเราในฐานะปุโรหิต ถ้าเราคิดว่าเราแค่สัมผัสผิวเผินกับสื่อลามก หรือการล่วงละเมิดความบริสุทธิ์ทางเพศ หรือความไม่ซื่อสัตย์ในทุกรูปแบบและไม่มีผลร้ายกับเราหรือครอบครัวของเรา เราโดนหลอก โมโรไนกล่าวว่า “จงดูว่าท่านทำสิ่งทั้งปวงด้วยความมีค่าควร” (มอรมอน 9:29) พระเจ้าทรงชี้ทางอย่างทรงพลังว่า “และเราให้บัญญัติแก่เจ้าบัดนี้ที่จะระวังเกี่ยวกับตัวเจ้า, ที่จะใส่ใจอย่างเข้มงวดกวดขันต่อถ้อยคำแห่งชีวิตนิรันดร์” (คพ. 84:43) ถ้าท่านยังมีบาปที่ไม่ได้แก้ไขซึ่งปิดกั้นท่านไม่ให้มีค่าควร เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง

คำตอบอย่างสมบูรณ์แบบเพียงคำตอบเดียวต่อคำถามที่ถามโดยพระเยซูคริสต์ที่ว่า “เจ้าควรเป็นคนอย่างไรเล่า ?” คือคำตอบที่พระองค์ประทานไว้อย่างรัดกุมและลึกซึ้งว่า “แม้ดังที่เราเป็น” (3 นีไฟ 27:27) คำเชื้อเชิญให้ “จงมาหาพระคริสต์, และได้รับการทำให้ดีพร้อมในพระองค์” (โมโรไน 10:32) ทั้งสองคำตอบเรียกร้องและคาดหวังการเปลี่ยนแปลง พระองค์ทรงเมตตาไม่ปล่อยเราไว้ตามลำพัง “และหากมนุษย์มาหาเรา เราจะแสดงให้พวกเขาเห็นความอ่อนแอของพวกเขา … เมื่อนั้นเราจะทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็ง” (อีเธอร์ 12:27) โดยพึ่งพาการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ข้าพเจ้าแน่ใจในสิ่งนี้ ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน