2010–2019
อุปมา​เรื่อง​ผู้‍หว่าน​พืช
เมษายน 2015


อุปมา​เรื่อง​ผู้‍หว่าน​พืช

ขึ้นอยู่กับเราแต่ละคนที่จะจัดลำดับความสำคัญและทำสิ่งที่จะทำให้ดินของเราดีและเกิดผลมากมาย

การมอบหมายหัวข้อการประชุมใหญ่—ไม่ได้ทำโดยอำนาจของมนุษย์แต่โดยการดลใจของพระวิญญาณ หลายหัวข้อจะกล่าวถึงความเป็นห่วงแบบมรรตัยที่เรามีร่วมกัน แต่ดังที่พระเยซูไม่ได้ทรงสอนวิธีเอาชนะความท้าทายในความเป็นมรรตัยหรือการกดขี่ทางการเมืองในสมัยของพระองค์ โดยปกติพระองค์ทรงดลใจผู้รับใช้ของพระองค์ให้พูดเกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อปรับปรุงชีวิตส่วนตัวของเราเพื่อเตรียมเรากลับไปบ้านบนสวรรค์ ใน สุดสัปดาห์อีสเตอร์นี้ข้าพเจ้ารู้สึกถึงการดลใจที่จะพูดเกี่ยวกับคำสอนที่มีค่าและเป็นอมตะในอุปมาหนึ่งของพระเยซู

อุปมา​เรื่อง​ผู้‍หว่าน​พืชเป็นหนึ่งในอุปมาไม่กี่เรื่องที่มีกล่าวไว้เป็นใจความสำคัญของพระกิตติคุณสัมพันธ์ทั้งสามเล่ม และเป็นหนึ่งในกลุ่มอุปมาเล็กๆ ที่พระเยซูทรงอธิบายแก่สานุศิษย์ของพระองค์ เมล็ดที่ปลูกนั้นเป็น “คำบอกเล่าเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า” (มัทธิว 13:19) “พระวจนะ” (มาระโก 4:14) หรือ “พระวจนะของพระเจ้า” (ลูกา 8:11)—คำสอนของพระอาจารย์และผู้รับใช้ของพระองค์

พื้นดินต่างชนิดที่เมล็ดตกแสดงให้เห็นวิธีต่างๆ ที่คนรับและทำตามคำสอนเหล่านี้ ดังนั้นเมล็ดที่ “ตกตามหนทาง” (มาระโก 4:4) นั้นหยั่งรากไม่ถึงดินแห่งมรรตัยที่เมล็ดนั้นอาจเติบโตได้ เมล็ดเหล่านั้นเป็นดังคำสอนซึ่งตกสู่ใจที่แข็งกระด้างหรือใจที่ไม่พร้อม ข้าพเจ้าจะไม่พูดอะไรอีกเกี่ยวกับเมล็ดเหล่านี้ ข่าวสารของข้าพเจ้าเกี่ยวข้องกับคนเหล่านั้นในบรรดาพวกเราที่ให้คำมั่นสัญญาที่จะเป็นผู้ติดตามของพระคริสต์ เราทำอะไรกับคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดบ้างขณะที่เราดำเนินชีวิตของเรา

อุปมา​เรื่อง​ผู้‍หว่าน​พืชเตือนเราถึงสภาพและเจตคติที่กีดขวางใครก็ตามที่ได้รับเมล็ดแห่งข่าวสารพระกิตติคุณจากการออกผลดี

I. พื้นหิน, ไม่มีราก

เมล็ดบางเมล็ด “​ตก​ที่​ซึ่ง​มี​พื้น‍หิน​มี​เนื้อ‍ดิน​แต่​น้อย จึง​งอก‍ขึ้น​โดย​เร็ว เพราะ​ดิน​ไม่​ลึก แต่​เมื่อ​แดด​จัด แดด​ก็​แผด‍เผา เพราะ​ราก​ไม่‍มี จึง​เหี่ยว​ไป” (มาระโก 4:5–6)

พระเยซูทรงอธิบายว่านี่บรรยายถึงคนเหล่านั้น “ที่​​ได้‍ยิน​พระ‍วจนะ แล้ว​ก็​รับ​ทัน‍ที​ด้วย​ความ​ยินดี” แต่เนื่องจากพวกเขา “แต่​ไม่‍ได้​หยั่ง‍ราก​ลง‍ใน​ตัว … เมื่อ​เกิด​การ​ยาก‍ลำ‌บาก​หรือ​การ​ข่ม‍เหง​เพราะ​พระ‍วจนะ​นั้น พวก‍เขา​ก็​เลิก​เสีย​ทัน‍ที” (มาระโก 4:16–17)

อะไรที่เป็นสาเหตุให้ผู้สดับฟัง “ไม่ได้หยั่งรากลงในตัว” นี่เป็นสภาพของสมาชิกใหม่ที่เพียงแต่เปลี่ยนใจเลื่อมใสเพื่อผู้สอนศาสนาหรือเพื่อคุณลักษณะพิเศษอันน่าสนใจของศาสนจักรหรือเพื่อพรอันยิ่งใหญ่มากมายของการเป็นสมาชิกศาสนจักร โดยไม่ได้หยั่งรากลึกในพระคำ พวกเขาจะโดนแผดเผาและเหี่ยวเฉาไปเมื่อมีสิ่งตรงกันข้ามเกิดขึ้น แม้แต่คนที่เติบโตในศาสนจักร—สมาชิกยาวนาน—อาจหลุดไปสู่สภาพที่ไม่ได้หยั่งรากลงในตัวได้ ข้าพเจ้ารู้จักบางคนที่เป็นเช่นนี้—สมาชิกที่ไม่ได้เปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อย่างมั่นคงและถาวร หากเราไม่หยั่งรากลงในคำสอนของพระกิตติคุณและปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เราจะเริ่มมีใจแข็งกระด้าง ซึ่งเป็นพื้นหินสำหรับเมล็ดทางวิญญาณ

อาหารทางวิญญาณเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่รอดทางวิญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่ยิ่งออกห่างจากความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าและจากความถูกต้องและความผิดที่ชัดเจน ในยุคสมัยที่อินเทอร์เน็ตครองโลก ซึ่งขยายข่าวสารที่สามารถทำลายศรัทธา เราต้องเพิ่มการรับรู้ความจริงทางวิญญาณของเรามากขึ้นเพื่อเสริมสร้างศรัทธาของเราและให้รากหยั่งลึกในพระกิตติคุณ

คนหนุ่มสาวทั้งหลาย หากคำสอนนั้นดูเหมือนจะกว้างไป ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่เฉพาะเจาะจง หากกำลังมีการส่งผ่านส่วนศีลระลึกและท่านกำลังส่งข้อความหรือกระซิบกระซาบหรือเล่นวีดีโอเกมหรือทำอะไรอื่นที่ทำให้ตัวท่านปฏิเสธอาหารทางวิญญาณที่สำคัญ ท่านกำลังถอนรากทางวิญญาณของท่านและเริ่มขยับไปสู่พื้นหิน ท่านกำลังทำให้ตัวท่านเองเสี่ยงต่อการเหี่ยวเฉาเมื่อท่านพบกับความยากลำบาก การข่มขู่ และการถูกเย้ยหยัน และนั่นหมายรวมถึงกับผู้ใหญ่ด้วย

ตัวทำลายรากทางวิญญาณที่เป็นไปได้อีกอย่างหนึ่ง—เกิดจากเทคโนโลยีในปัจจุบันแต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอย่างเดียว—คือการมองเห็นพระกิตติคุณหรือศาสนจักรผ่านรูกุญแจ การมองเห็นที่จำกัดนี้มักมุ่งไปที่หลักคำสอนหรือการปฏิบัติเจาะจงข้อเดียวหรือสังเกตความบกพร่องของผู้นำ และละเลยทัศนียภาพทั้งหมดของแผนพระกิตติคุณและผลส่วนตัวและส่วนรวม ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์บรรยายไว้อย่างชัดเจนถึงด้านหนึ่งในการมองผ่านรูกุญแจนี้ ท่านบอกผู้ฟังที่บีวายยูเกี่ยวกับนักวิจารณ์ทางการเมืองที่ “โกรธเคือง” ข่าวเหตุการณ์ปัจจุบันในตอนนั้น “พวกเขาเก่งในการพูดสิ่งที่โกรธแค้นและเย้ยหยัน …แน่นอน” ท่านสรุปว่า “นี่เป็นยุคที่การพูดตลกถากถางแบบนี้เป็นที่ยอมรับ”1 ในทางตรงกันข้าม เพื่อหยั่งรากลึกอย่างมั่นคงในพระกิตติคุณ เราต้องไม่สุดโต่ง ไม่วิพากษ์วิจารณ์คนอื่นอย่างหนัก และแสวงหาทัศนียภาพของงานอันสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้าที่กว้างขึ้น

II. ต้นหนาม: ความกังวลของโลกนี้และความ​ลุ่ม‍หลง​ใน​ทรัพย์‍สมบัติ

พระเยซูคริสต์สอนว่า “บ้าง​ก็​ตก​กลาง​ต้น‍หนาม ต้น‍หนาม​ก็​งอก‍ขึ้น​ปก‍คลุม​เสีย จึง​ไม่​เกิด‍ผล” (มาระโก 4:7) พระองค์ทรงอธิบายว่าคนเหล่านี้เป็น “​​คน​ที่​ได้‍ยิน​พระ‍วจนะ แล้ว​ความ​กัง‌วล​ของ​โลก และ​ความ​ลุ่ม‍หลง​ใน​ทรัพย์‍สมบัติ และ​ความ​โลภ​ใน​สิ่ง​ต่างๆ ประ‌ดัง​เข้า‍มา และ​รัด​พระ‍วจนะ​นั้น จึง​ไม่​เกิด‍ผล” (มาระโก 4:18–19) นี่เป็นการเตือนอย่างแน่นอนที่เราทุกคนต้องรับฟัง

ข้าพเจ้าจะขอพูดถึงความ​ลุ่ม‍หลง​ใน​ทรัพย์‍สมบัติก่อน เมื่อใดก็ตามที่เราอยู่ในการเดินทางทางวิญญาณ—ไม่ว่าสภาพของการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเราจะเป็นอย่างไร —เราล้วนได้รับการล่อลวงจากสิ่งนี้ เมื่อเจตคติหรือลำดับความสำคัญถูกกำหนดไว้กับการได้มา การใช้ และการครอบครองทรัพย์สมบัติ เราเรียกสิ่งนั้นว่าวัตถุนิยม มีการพูดและเขียนไว้มากมายเกี่ยวกับวัตถุนิยมจนไม่จำเป็นต้องเอ่ยเพิ่มเติมในที่นี้2 ผู้ที่บูชาสิ่งที่เรียกว่าทรัพย์สินเงินทองกำลังทุกข์ทรมานจากความ​ลุ่ม‍หลง​ใน​ทรัพย์‍สมบัติ การครอบครองทรัพย์สมบัติหรือรายได้มหาศาลไม่ได้เป็นเครื่องหมายว่าสวรรค์พึงพอใจ และการไม่มีสิ่งดังกล่าวไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ว่าสวรรค์ไม่พึงพอใจ เมื่อพระเยซูทรงบอกผู้ติดตามที่ซื่อสัตย์ว่าเขาสามารถได้รับชีวิตนิรันดร์เป็นมรดกหากเขาเพียงให้ทุกสิ่งที่เขามีกับคนจน (ดู มาระโก 10:17–24) พระองค์ไม่ได้ชี้ว่า การครอบครอง ทรัพย์สมบัติเป็นสิ่งชั่วร้ายแต่ เจตคติ ของผู้ติดตามความร่ำรวยนั้นที่ชั่วร้าย อย่างที่เราทราบ พระเยซูสรรเสริญชาวสะมาเรียใจดี ผู้รับใช้เพื่อนมนุษย์โดยใช้เงินแบบเดียวกับที่ยูดาสใช้เพื่อทรยศพระผู้ช่วยให้รอดของเขา ราก‍เหง้า​ของ​ความ​ชั่ว​ทั้ง‍หมดไม่ใช่เงินทองแต่เป็น การ​รัก​เงิน‍ทอง (ดู 1 ทิโมธี 6:10)

พระคัมภีร์มอรมอนบอกถึงช่วงเวลาเมื่อศาสนจักรของพระผู้เป็นเจ้า “เริ่มเสื่อมในความก้าวหน้า” (แอลมา 4:10) เพราะว่า “ผู้คนของศาสนจักรเริ่ม …หมกมุ่นกับความมั่งคั่งและกับสิ่งไร้ประโยชน์ของโลก” (แอลมา 4:8) ใครก็ตามที่มีวัตถุมากมายเสี่ยงต่อการ “ชะลอ” ทางวิญญาณโดยความร่ำรวยและสิ่งอื่นๆ ของโลก3 นี่เป็นบทนำที่เหมาะสมสำหรับคำสอนต่อไปของพระผู้ช่วยให้รอด

ต้นหนามที่แหลมที่สุดที่เบียดบังผลของพระวจนะพระกิตติคุณในชีวิตของเราคือพลังทางโลกที่พระเยซูคริสต์ทรงเรียกว่า “ความ​กัง‌วล ทรัพย์‍สมบัติ และ​ความ​สนุก‍สนาน​ของ​ชีวิต​นี้” (ลูกา 8:14) สิ่งเหล่านี้มีมากเกินจะสาธยายได้ ขอยกตัวอย่างสักเล็กน้อยคงเพียงพอ

ครั้งหนึ่งพระเยซูทรงตำหนิหัวหน้าอัครสาวกของพระองค์ โดยตรัสกับเปโตรว่า “เจ้า​เป็น​เครื่อง‍กีด‍ขวาง​เรา​เพราะ​เจ้า​ไม่‍ได้​คิด​อย่าง​พระ‍เจ้า แต่​เจ้า​คิด​อย่าง​มนุษย์” (มัทธิว 16:23; ดู คพ. 3:6–7; 58:39 ด้วย) คิดอย่างมนุษย์หมายถึงการให้ความกังวลของโลกมาก่อนเรื่องของพระผู้เป็นเจ้าในการกระทำของเรา ลำดับความสำคัญของเรา และความคิดของเรา

เรายอมแพ้ต่อ “ความ​สนุก‍สนาน​ของ​ชีวิต​นี้” (1) เมื่อเราเสพติดนิสัยในบางอย่าง ซึ่งทำลายของประทานแห่งสิทธิเสรีอันล้ำค่าของพระผู้เป็นเจ้า (2) เมื่อเราถูกล่อลวงโดยสิ่งที่ทำให้เขวเล็กน้อย ซึ่งดึงเราออกจากสิ่งที่สำคัญนิรันดร์ และ (3) เมื่อเราเชื่อว่าเรามีสิทธิ์ได้รับ ซึ่งทำลายการเติบโตส่วนตัวที่จำเป็นต่อการมีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับปลายทางนิรันดร์ของเรา

เราถูกครอบงำด้วย “ความกังวล … ของชีวิตนี้” เมื่อเรากลัวอนาคตจนทำอะไรไม่ได้ ซึ่งขัดขวางการมุ่งหน้าด้วยศรัทธาของเรา การวางใจในพระผู้เป็นเจ้าและคำสัญญาของพระองค์ ยี่สิบห้าปีก่อน ฮิวจ์ ดับเบิลยู. นิบลีย์ อาจารย์บีวายยูที่เคารพของข้าพเจ้าพูดถึงอันตรายจากการยอมแพ้ต่อความกังวลทางโลก ท่านถูกถามในการสัมภาษณ์ว่าสภาพทางโลกและหน้าที่ของเราในการเผยแผ่พระกิตติคุณทำให้อยากหาทางที่จะ “เปลี่ยนวิธีที่เราปฏิบัติในศาสนจักรให้เหมือนกับที่โลกทำ”4 หรือไม่

ท่านตอบว่า “นั่นเป็นเรื่องทั้งหมดของศาสนจักร ไม่ใช่หรือครับ คุณต้องเต็มใจที่จะทำให้คนไม่พอใจ คุณต้องเต็มใจเสี่ยง นั่นเป็นเวลาที่ศรัทธาจะเข้ามา…คำมั่นสัญญาของเราควรเป็นบททดสอบ ควรจะเป็นเรื่องยาก ควรจะไม่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ตามนิยามของโลกนี้”5

เรื่องสำคัญทางพระกิตติคุณนี้ได้รับการยืนยันที่วิทยาเขตของบีวายยูเมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมาโดย ชาร์ลส์ เจ. คาพุท ผู้นำคาทอลิกที่น่าเคารพหัวหน้าบาทหลวงในฟิลาเดลเฟีย เมื่อพูดเกี่ยวกับ “สิ่งที่ชุมชนแอลดีเอสและคาทอลิกมีเหมือนกัน” เช่น “เกี่ยวกับการแต่งงานและครอบครัว ธรรมชาติวิสัยทางเพศของเรา ความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตมนุษย์ และความเร่งด่วนของเสรีภาพทางศาสนา” ท่านกล่าวดังนี้

“ข้าพเจ้าอยากเน้นอีกครั้งถึงความสำคัญของการดำเนินชีวิตตามสิ่งที่เราอ้างว่าเราเชื่อจริงๆ นั่นต้องเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง—ไม่ใช่ในชีวิตส่วนตัวและครอบครัวของเราเท่านั้นแต่ในศาสนจักรของเรา ในการเลือกทางการเมืองของเรา การดำเนินธุรกิจของเรา การปฏิบัติของเราต่อคนยากจน หรือพูดอีกอย่างคือ ในทุกสิ่งที่เราทำ”

“นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงสำคัญ” ท่านพูดต่อ “เรียนรู้จากประสบการณ์ของคาทอลิก เราชาวคอทอลิกเชื่อว่าอาชีพของเราควรทำให้สังคมเราเฟื่องฟูขึ้น แต่ก็มีเส้นแบ่งระหว่างการเป็นอิทธิพลที่ดี ใน สังคมกับการถูกกลืน โดย สังคม”6

คำเตือนของพระผู้ช่วยให้รอดที่ไม่ให้ความกังวลทางโลกนี้เค้นพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าออกจากชีวิตเราจะท้าทายเราให้กำหนดลำดับความสำคัญของเราอย่างแน่วแน่—ใจจดจ่อ—อยู่กับพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าและผู้นำของศาสนจักรของพระองค์

ตัวอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดอาจทำให้เรานึกถึงอุปมานี้ว่าเป็นอุปมาเรื่องดิน ความเหมาะสมของดินขึ้นอยู่กับหัวใจของเราแต่ละคนที่ได้รับเมล็ดพระกิตติคุณ ในความรู้สึกไวต่อคำสอนทางวิญญาณ หัวใจบางดวงอาจแข็งกระด้างและไม่พร้อม หัวใจบางดวงอาจเป็นหินจากการไม่ได้ใช้ และหัวใจบางดวงอาจหมกมุ่นอยู่กับสิ่งทางโลก

III. ตก​ที่​ดิน​ดีแล้ว​เกิด‍ผล

อุปมา​เรื่อง​ผู้‍หว่าน​พืชจบด้วยคำอธิบายของพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับเมล็ดที่ “ตก​ที่​ดิน​ดี แล้ว​เกิด‍ผล” ในปริมาณที่ต่างกัน (มัทธิว 13:8) เราจะเตรียมตัวเราเพื่อเป็นดินดีดังกล่าวและเพื่อเกิดผลดีได้อย่างไร

พระเยซูทรงอธิบายว่า “​ดิน​ดี​หมาย‍ถึง​คน​เหล่า‍นั้น​ที่​ได้‍ยิน​พระ‍วจนะ​แล้ว​จด‍จำ​ไว้​ด้วย​ใจ​ที่​ซื่อ‍สัตย์​ดี‍งาม จึง​เกิด‍ผล​โดย​ความ​ทรหด​อดทน” (ลูกา 8:15) เรามีเมล็ดของพระวจนะพระกิตติคุณ ขึ้นอยู่กับเราแต่ละคนที่จะจัดลำดับความสำคัญและทำสิ่งที่จะทำให้ดินของเราดีและเกิดผลมากมาย เราต้องพยายามหยั่งรากอย่างมั่นคงและเปลี่ยนใจเลื่อมใสสู่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (ดู โคโลสี 2:6–7) เราทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสนี้เกิดสัมฤทธิผลได้โดยการสวดอ้อนวอน โดยการอ่านพระคัมภีร์ โดยการรับใช้ และโดยการรับส่วนศีลระลึกเป็นประจำเพื่อจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเราตลอดเวลา เราต้องแสวงหาการเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งในใจด้วย (ดู แอลมา 5: 12–14) เพื่อให้ความรักของพระผู้เป็นเจ้าและความปรารถนาที่จะรับใช้พระองค์และลูกๆ ของพระองค์มาแทนที่ความปรารถนาอันชั่วร้ายและความกังวลอันเห็นแก่ตัว

ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงความจริงของสิ่งเหล่านี้ และข้าพเจ้าเป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเยซูคริสต์ ซึ่งคำสอนของพระองค์ชี้ทางและการชดใช้ของพระองค์ทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “Let Not Your Heart Be Troubled” (Brigham Young University devotional, 29 ต.ค. 1974), 1; speeches.byu.edu.

  2. ดู, ตัวอย่าง, ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “Materialism,” บทที่ 5 ใน Pure in Heart(1988), 73–87.

  3. ข้าพเจ้าเป็นหนี้เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ สำหรับภาพในความทรงจำนี้ (ดู “These Are Your Days,” Ensign, ต.ค. 2004, 26).

  4. James P. Bell, ใน “Hugh Nibley, in Black and White,” BYU Today, May 1990, 37.

  5. ฮิวจ์ นิบลีย์, ใน “Hugh Nibley, in Black and White,” 37–38.

  6. ชาร์ลส์ เจ. คาพุท, “The Great Charter at 800: Why It Still Matters,” First Things, 23 ม.ค. 2015, firstthings.com/web-exclusives/2015/01/the-great-charter-at-800; ดู แทด วอลช์, “At BYU, Catholic Archbishop Seeks Friends, Says U.S. Liberty Depends on Moral People,” Deseret News, 23 ม.ค. 2015 ด้วย, deseretnews.com/article/865620233/At-BYU-Catholic-archbishop-seeks-friends-says-US-liberty-depends-on-moral-people.html. หัวหน้าบาทหลวงคาพุทกล่าวด้วยว่า “สถาบันคาทอลิกบางแห่งของเราได้สูญเสียหรือลดอัตลักษณ์ทางศาสนาของพวกเขาไป … มหาวิทยาลัยบริคัม ยังก์เป็นมหาวิทยาลัยที่พิเศษ … เพราะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่เปี่ยมไปด้วยอัตลักษณ์ทางศาสนา จงอย่าได้สูญเสียสิ่งนี้ไป” (“The Great Charter at 800”).