2010–2019
จงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยการชดใช้ของพระเยซูคริสต์
ตุลาคม 2015


จงเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

เนื่องด้วยการชดใช้ของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีฤทธานุภาพที่จะช่วย—บรรเทา—ความเจ็ดปวดและความทุกข์ในมรรตัยทุกอย่าง

ในความเป็นมรรตัยเราต้องตายแน่นอนและมีบาปที่ต้องแบกรับ การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ลบล้างความแน่นอนทั้งสองอย่างนี้ของชีวิตมรรตัย แต่นอกจากความตายและบาป เราอาจมีการท้าทายอื่นๆ มากมายขณะดิ้นรนต่อไปตลอดชีวิตมรรตัย เพราะการชดใช้เดียวกันนั้น พระผู้ช่วยให้รอดของเราสามารถประทานพลังที่เราต้องการเพื่อเอาชนะความท้าทายแบบมรรตัยเหล่านี้ นี่คือหัวข้อของข้าพเจ้าในวันนี้

I.

เรื่องราวการชดใช้ในพระคัมภีร์ส่วนมากจะเกี่ยวกับการที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำให้สายรัดแห่งความตายขาดและทรงทนทุกข์เพื่อบาปของเรา ในคำเทศนาของแอลมาที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์มอรมอน ท่านสอนหลักธรรมพื้นฐานเหล่านี้ แต่ท่านให้การรับรองทางพระคัมภีร์ที่ชัดเจนที่สุดแก่เราด้วยว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงประสบกับความเจ็บปวด ความป่วยไข้ และความทุพพลภาพของผู้คนของพระองค์เช่นกัน

แอลมาอธิบายส่วนนี้ของการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดว่า “และพระองค์จะเสด็จออกไป, ทรงทนความเจ็บปวดและความทุกข์และการล่อลวงทุกอย่าง; และนี่ก็เพื่อคำซึ่งกล่าวว่าพระองค์จะทรงรับความเจ็บปวดและความป่วยไข้ของผู้คนของพระองค์จะได้เกิดสัมฤทธิผล.” (แอลมา 7:11; ดู 2 นีไฟ 9:21 ด้วย)

ลองคิดดู! ในการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ทรงทน “ความเจ็บปวดและความทุกข์และการล่อลวงทุกอย่าง” ดังที่ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์อธิบายไว้ “พระองค์ไม่มีหนี้ต้องชำระ พระองค์ไม่ได้ทำผิด แต่กระนั้น ความรู้สึกผิดทั้งหมด ความเศร้าโศก โทมนัส ความเจ็บปวด ความอัปยศอดสู ความทรมานทางใจ อารมน์ และร่างกายทั้งหมดที่มนุษย์รู้จัก—พระองค์ประสบมาแล้วทั้งสิ้น”1

เหตุใดพระองค์จึงทรงทนทุกข์ในการท้าทายมรรตัย “ทุกอย่าง” เหล่านี้ แอลมาอธิบายว่า “และพระองค์จะทรงรับเอาความทุพพลภาพของพวกเขา, เพื่ออุทรของพระองค์จะเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา, ตามเนื้อหนัง, เพื่อพระองค์จะทรงรู้ตามเนื้อหนังว่าจะทรงช่วยผู้คนของพระองค์ตามความทุพพลภาพของพวกเขาได้อย่างไร” (แอลมา 7:12)

ตัวอย่างเช่น อัครสาวกเปาโลประกาศว่าเนื่องจากพระผู้ช่วยให้รอด “ทรงทนทุกข์และถูกทดลอง พระองค์จึงทรงสามารถช่วยผู้ที่ถูกทดลองได้” (ฮีบรู 2:18) เช่นเดียวกัน ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์สอนว่า “เนื่องจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงเคยทนทุกข์ในทุกเรื่องที่เรารู้สึกหรือประสบ พระองค์จึงทรงสามารถช่วยคนอ่อนแอให้กลับเข้มแข็งได้”2

พระผู้ช่วยให้รอดทรงประสบและทนต่อความท้าทายแบบมรรตัยทั้งหมดอย่างครบถ้วน “ตามเนื้อหนัง” เพื่อพระองค์จะทรงรู้ “ตามเนื้อหนัง” ว่าจะทรง “ช่วย [หมายถึงบรรเทาทุกข์หรือช่วยเหลือ] ผู้คนของพระองค์ตามความทุพพลภาพของพวกเขาได้อย่างไร” ดังนั้นพระองค์จึงทรงรู้จักความยากลำบาก ความปวดใจ การล่อลวง และการทนทุกข์ของเรา เพราะพระองค์ทรงเต็มพระทัยประสบกับทุกสิ่งในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของการชดใช้ของพระองค์ และเพราะสิ่งนี้การชดใช้ให้ฤทธานุภาพแด่พระองค์ที่จะช่วยเหลือเรา—ให้พละกำลังเราในการอดทนต่อทุกสิ่ง

II.

ขณะคำสอนของแอลมาใน บทที่เจ็ด เป็นพระคัมภีร์ที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องของพลังที่สำคัญแห่งการชดใช้นี้ เรื่องนี้สอนไว้ตลอดพระคัมภีร์เช่นกัน

ในช่วงแรกเริ่มของการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์ พระเยซูอธิบายว่าพระองค์ทรงถูกส่งมา “[เพื่อเยียวยาใจที่ชอกช้ำ]” (ดู ลูกา 4:18) พระคัมภีร์ไบเบิลบอกเราบ่อยครั้งถึงการรักษาผู้คน “จากโรคภัยต่างๆ” (ลูกา 5:15; 7:21) พระคัมภีร์มอรมอนบันทึกการเยียวยาของพระองค์ต่อผู้ “ที่มีทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง” (3 นีไฟ 17:9) กิตติคุณมัทธิวอธิบายว่าพระเยซูทรงเยียวยาผู้คน “เพื่อจะให้สำเร็จตามพระวจนะที่ตรัสผ่านอิสยาห์ผู้เผยพระวจนะที่ว่า ‘ท่านแบกความเจ็บไข้ของเรา และหอบโรคของเราไป” (มัทธิว 8:17)

อิสยาห์สอนว่าพระเมสสิยาห์จะทรงแบก “ความเจ็บไข้” และ “ความเจ็บปวด” ของเราไป (อิสยาห์ 53:4) อิสยาห์ยังสอนถึงการที่พระองค์ทรงเสริมกำลังเราด้วยว่า “อย่ากลัวเลย เพราะเราอยู่กับเจ้า อย่าขยาด เพราะเราเป็นพระเจ้าของเจ้า เราจะเสริมกำลังเจ้า เราจะช่วยเจ้า” (อิสยาห์ 41:10)

ฉะนั้นเราจึงขับร้องว่า

“อย่ากลัวอะไรเลย เพราะเราจะอยู่กับเจ้า

เพราะเราเป็นพระเจ้าของเจ้า เราจะค้ำจุน

จะช่วยหนุนกำลัง จะช่วยตั้งเจ้าคงมั่น

จะชูเจ้าด้วยหัตถ์อันชอบธรรมเรืองฤทธา3

อัครสาวกเปาโลพูดถึงความท้าทายในชีวิตมรรตัยบางอย่างของท่านเอง ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้าเผชิญได้ทุกอย่างโดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า” (ฟีลิปปี 4:13)

และดังนั้นเราจึงเห็นว่าเนื่องด้วยการชดใช้ของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีฤทธานุภาพที่จะช่วย—บรรเทา—ความเจ็ดปวดและความทุกข์ในมรรตัยทุกอย่าง บางครั้งฤทธานุภาพของพระองค์เยียวยาความทุพพลภาพ แต่พระคัมภีร์และประสบการณ์ของเราสอนว่าบางครั้งพระองค์ทรงช่วยโดยประทานกำลังหรือความอดทนแก่เราเพื่อให้ทนต่อความทุพพลภาพของเรา4

III.

ความเจ็บปวด ความทุกข์ และความทุพพลภาพในมรรตัยเหล่านี้ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงประสบและทนทุกข์คืออะไร

ภาพ
สตรีคนหนึ่งกำลังประสบกับความทุกข์

เราทุกคนต่างมีความเจ็บปวด ความทุกข์ และความทุพพลภาพ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง นอกจากสิ่งที่เราประสบเพราะบาปของเราความเป็นมรรตัยมักจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก ความปวดใจ และความทุกข์

ภาพ
เยี่ยมโรงพยาบาล

เราและคนที่เรารักทนทุกข์ในความเจ็บป่วย ในบางครั้งเราแต่ละคนประสบความเจ็บปวดจากแผลบาดเจ็บหรือจากความยากลำบากอื่นๆ ทางกายหรือทางจิตใจ เราทุกคนทนทุกข์และเศร้าโศกกับความตายของคนที่เรารัก เราทุกคนประสบกับความล้มเหลวในหน้าที่รับผิดชอบส่วนตัว ความสัมพันธ์ครอบครัว หรือการงานอาชีพ

ภาพ
บิดามารดาที่กังวล

เมื่อคู่สมรสหรือลูกคนหนึ่งปฏิเสธสิ่งที่เรารู้ว่าจริงและอยู่ห่างจากทางแห่งความชอบธรรม เราประสบกับความเจ็บปวดที่เกิดจากความเครียดอย่างมาก เหมือนกับบิดาของบุตรเสเพลในอุปมาที่น่าจดจำของพระเยซู (ดู ลูกา 15:11–32)

ดังผู้เขียนหนังสือสดุดีประกาศไว้ “คนชอบธรรมอาจมีความทุกข์ใจหลายอย่าง แต่พระยาห์เวห์ทรงช่วยกู้เขาออกมาให้พ้นหมด” (สดุดี 34:19)

ฉะนั้น เพลงสวดของเราจึงมีการรับรองอันแท้จริงนี้ “แผ่นดินโลกไม่มีความเศร้าโศกใดที่สวรรค์เยียวยาไม่ได้”5 สิ่งที่เยียวยาเราคือพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์

ภาพ
วัยรุ่นใจร้าย

สำหรับวัยรุ่น ความรู้สึกที่เจ็บปวดมากเป็นพิเศษคือการถูกปฏิเสธ เมื่อเพื่อนๆ ดูเหมือนจะเข้าร่วมในความสัมพันธ์และกิจกรรมที่มีความสุขและจงใจไม่แยแสพวกเขา อคติทางสีผิวและเชื้อชาติก่อให้เกิดการถูกปฏิเสธที่เจ็บปวดอื่นๆ สำหรับเยาวชนและผู้ใหญ่ ชีวิตมีการท้าทายอื่นๆ มากมาย เช่นการว่างงานหรือความล้มเหลวอื่นๆ ในแผนของเรา

ภาพ
บุตรชายพิการกับบิดา

ข้าพเจ้ายังคงพูดถึงความทุพพลภาพในมรรตัยที่ไม่ได้เกิดจากบาปของเรา บางคนเกิดมาพร้อมกับความพิการทางร่างกายหรือสมองซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ยากสำหรับพวกเขาและความยากลำบากสำหรับผู้ที่รักและดูแลพวกเขา สำหรับคนจำนวนมากโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องเจ็บปวดหรือไร้สมรรถภาพอย่างถาวร ความทุกข์ที่เจ็บปวดอีกอย่างหนึ่งคือสภาวะการเป็นโสด ผู้ที่ทนทุกข์กับสภาวการณ์นี้ควรจำไว้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดของเราทรงประสบความเจ็บปวดแบบนี้มาแล้วเหมือนกัน และโดยการชดใช้ พระองค์ประทานกำลังให้เราแบกรับไว้ได้

มีความพิการเพียงไม่กี่อย่างที่ทำลายชีวิตทางโลกหรือทางวิญญาณของเรามากกว่าการเสพติด การเสพติดบางสิ่งเช่นสื่อลามกหรือยาเสพติดน่าจะเกิดจากพฤติกรรมที่เป็นบาป แม้ว่าจะกลับใจจากพฤติกรรมนั้นแล้ว การเสพติดอาจยังคงอยู่ การเกาะติดอันก่อให้เกิดความไร้สมรรถภาพนั้นจะบรรเทาได้โดยพลังที่แน่วแน่จากพระผู้ช่วยให้รอด การท้าทายรุนแรงสำหรับผู้ถูกส่งเข้าคุกเพราะอาชญกรรมก็สามารถบรรเทาได้เช่นกัน จดหมายฉบับหนึ่งไม่นานมานี้เป็นพยานถึงพลังที่อาจมีได้แม้กับคนที่อยู่ในสภาวการณ์เช่นนั้น “ผมรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดกำลังเสด็จพระดำเนินตามโถงทางเดินในนี้ และผมสัมผัสถึงความรักของพระคริสต์บ่อยครั้งภายในกำแพงเรือนจำนี้”6

ภาพ
ชายในเรือนจำ

ข้าพเจ้าชอบประจักษ์พยานของนักกวีหญิงและเพื่อนของเรา เอ็มมา ลู เธย์น ในถ้อยคำที่เราร้องเป็นเพลงสวด เธอเขียนว่า

หาสันติได้ที่ใด?

การปลอบโยนอยู่ไหน

เมื่อแหล่งอื่นไม่ช่วยฉันสุขสันต์เต็มที่?

เมื่อมีโมโหโกรธา อาฆาตใจชอกช้ำ

ฉันนำตัวเองออกมา

เพื่อหาตนไหม?

เมื่อความเจ็บปวดทวี

เมื่อชีวีหดหู่

เมื่อใคร่รู้สิ่งใด ฉันจะหันหาใคร?

ที่ใดมีมือละมุน ปลอบหนุนใจปวดร้าว?

ใครเล่าจะเข้าใจฉัน?

เทียมทันพระองค์ 7

ภาพ
รูปปั้นพระคริสต์

IV.

ใครจะได้รับความช่วยเหลือและการเสริมกำลังผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ แอลมาสอนว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะ “ทรงรับความเจ็บปวดและความป่วยไข้ของ ผู้คนของพระองค์ ” และจะทรง “ช่วย ผู้คนของพระองค์ ” (แอลมา 7:11–12; เพิ่มตัวเอน) ใครคือ “ผู้คนของพระองค์” ในคำสัญญานี้ คือมนุษย์มรรตัยทุกคนหรือ—ทุกคนที่เบิกบานกับความเป็นจริงของการฟื้นคืนชีวิตผ่านการชดใช้หรือ หรือเฉพาะผู้รับใช้บางคนที่เลือกสรรไว้ที่มีค่าควรผ่านศาสนพิธีและพันธสัญญา

คำว่า ผู้คน มีหลายความหมายในพระคัมภีร์ ความหมายที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคำสอนที่ว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วย “ผู้คนของพระองค์” คือความหมายที่แอลมาใช้เมื่อท่านสอนในภายหลังว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นห่วงคนทุกหมู่เหล่า, ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในแผ่นดินไหน” (แอลมา 26:37) นั่นคือสิ่งที่ทูตสวรรค์หมายถึงเมื่อพวกเขาประกาศการประสูติของพระคริสต์ “เรานำข่าวดีมายังพวกท่าน เป็นความยินดีอย่างยิ่งที่จะมาถึงคนทั้งหลาย” (ลูกา 2:10)

เพราะประสบการณ์เพื่อการชดใช้ของพระองค์ในความเป็นมรรตัย พระผู้ช่วยให้รอดจึงสามารถปลอบโยน เยียวยา และเสริมกำลังชายหญิงทุกคนและทุกแห่งหน แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์ทรงทำเช่นนั้นสำหรับผู้ที่แสวงหาและขอความช่วยเหลือพระองค์ อัครสาวกยากอบสอนว่า “พวกท่านจงถ่อมใจลงต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า แล้วพระองค์จะทรงยกชูท่าน” (ยากอบ 4:10) เรามีค่าควรต่อพรนั้นเมื่อเราเชื่อในพระองค์และสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือพระองค์

มีผู้คนหลายล้านคนยำเกรงพระผู้เป็นเจ้า ผู้สวดอ้อนวอนถึงพระองค์ให้ยกพวกเขาออกจากความทุกข์ยาก พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปิดเผยว่าพระองค์ “เสด็จลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวง” (คพ. 88:6) ดังที่เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์สอน “โดยการ ‘เสด็จลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวง’ พระองค์ทรงเข้าพระทัยสิ่งทั้งปวงอย่างสมบูรณ์ด้วยพระองค์เองถึงความทุกทรมานทั้งปวงของมนุษยชาติ”8 เราอาจบอกได้ว่าการเสด็จลงต่ำกว่าสิ่งทั้งปวงทำให้พระองค์ทรงอยู่ในตำแหน่งสมบูรณ์ที่สุดที่จะยกเราและประทานกำลังที่เราต้องการในการอดทนต่อความทุกข์ของเรา เราเพียงแค่ต้องขอ

ภาพ
ครอบครัวที่โต๊ะ

หลายครั้งในการเปิดเผยสมัยใหม่ พระเจ้าทรงประกาศว่า “ฉะนั้น, หากเจ้าจะขอจากเราเจ้าจะได้รับ; หากเจ้าจะเคาะก็จะเปิดมันให้เจ้า” (ตัวอย่างเช่น, คพ. 6:5; 11:5; ดู มัทธิว 7:7 ด้วย) จริงๆ แล้วเพราะความรักที่ครอบคลุมทั่วถึงของพระบิดาบนสวรรค์และพระบุตรที่รักของพระองค์ พระเยซูคริสต์ ทั้งสองพระองค์จึงทรงรับฟังและตอบคำสวดอ้อนวอนอย่างเหมาะสมต่อทุกคนที่แสวงหาพระองค์ในศรัทธา ดังที่อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ “เรามีความหวังในพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์ ผู้เป็นพระผู้ช่วยให้รอดของทุกคน โดยเฉพาะบรรดาผู้ที่เชื่อในพระองค์” (1 ทิโมธี 4:10)

ข้าพเจ้ารู้ว่าเรื่องเหล่านี้จริง การชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดทำมากกว่ารับรองเราถึงความเป็นอมตะโดยการฟื้นคืนพระชนม์ที่มีผลกับคนทั้งโลกและให้ โอกาสเราชำระล้างจากบาปโดยการกลับใจและบัพติศมา การชดใช้ของพระองค์ยังให้ โอกาสเราเรียกหาพระองค์ผู้ทรงประสบความทุพพลภาพในมรรตัยทุกอย่างของเราเพื่อให้กำลังเราแบกรับภาระแห่งความเป็นมรรตัยได้ พระองค์ทรงรู้จักความทุกข์ทรมานของเรา และทรงอยู่ที่นั่นเพื่อเราเสมอ เช่นเดียวกับชาวสะมาเรียผู้ใจดี เมื่อพระองค์ทรงพบเราบาดเจ็บอยู่ข้างทาง พระองค์จะทรงพันแผลให้เราและดูแลเรา (ดู ลูกา 10:34) พลังการเยียวยาและพลังเสริมกำลังของพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์มีไว้สำหรับเราทุกคนที่ขอ ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงสิ่งนั้นและเป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดของเรา ผู้ทรงทำให้ทุกสิ่งเป็นไปได้

วันหนึ่งภาระในมรรตัยทั้งหมดนี้จะหายไปและจะไม่มีความเจ็บปวดอีก (ดู วิวรณ์ 21:4) ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนว่าเราทุกคนจะเข้าใจถึงความหวังและพลังแห่งการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด การรับรองถึงความเป็นอมตะ โอกาสสำหรับชีวิตนิรันดร์ และพละกำลังค้ำจุนที่เราจะได้รับหากเราเพียงแต่จะขอเท่านั้น ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. บอยด์ เค. แพ็คเกอร์, “การพลีพระชนม์ชีพอันศักดิ์สิทธิ์และไม่คำนึงถึงพระองค์เองของพระผู้ช่วยให้รอด,”เลียโฮนา, เม.ย. 2015, 38.

  2. เจมส์ อี. เฟาสท์, “การชดใช้: ความหวังอันยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา,”เลียโฮนา, ม.ค. 2002, 25.

  3. “ฐานมั่นคงหนักหนา,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 33.

  4. ดูโดยทั่วไป, เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon (1997), 223–34; เดวิด เอ. เบดนาร์, “การชดใช้และการเดินทางของความเป็นมรรตัย,”เลียโฮนา, เม.ย. 2012, 12–19; Bruce C. Hafen and Marie K. Hafen, “‘Fear Not, I Am with Thee’: The Redeeming, Strengthening, and Perfecting Blessings of Christ’s Atonement,” Religious Educator, vol. 16, no. 1 (2015), 11–31, โดยเฉพาะ 18–25; Tad R. Callister, The Infinite Atonement (2000), 206–10.

  5. “Come, Ye Disconsolate,” Hymns, no. 115.

  6. จากจดหมายปี 2014 ที่อธิการบ็อบบี้ โอ. เฮลส์ ผู้ดูแล the Henry Branch of the Central Utah Correctional Facility ได้รับ.

  7. “หาสันติได้ที่ใด?” เพลงสวด, บทที่ 54.

  8. นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “การใช้โลหิตแห่งการชดใช้ของพระคริสต์,” เลียโฮนา, ม.ค. 1998, 28.