2010–2019
การแบ่งปันพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู
ตุลาคม 2016


การแบ่งปันพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู

สิ่งที่เราเรียกว่า “งานสมาชิกผู้สอนศาสนา” ไม่ใช่โปรแกรมแต่เป็นเจตคติของความรักและการยื่นมือช่วยเหลือคนรอบข้าง

I.

เมื่อใกล้สิ้นสุดการปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลก ของพระผู้ช่วยให้รอด พระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงบัญชาสาวกของพระองค์ว่า “เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายจงออกไปและนำชนทุกชาติมาเป็นสาวกของเรา” (มัทธิว 28:19) และ “พวกท่านจงออกไปทั่วโลกประกาศข่าวประเสริฐแก่มนุษย์ทุกคน” (มาระโก 16:15) ชาวคริสต์ทุกคนอยู่ภายใต้พระบัญชานี้ให้แบ่งปันพระกิตติคุณกับทุกคน หลายคนเรียกว่า “งานมอบหมายอันสำคัญยิ่ง”

ภาพ
พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเราให้รัก

ดังที่เอ็ลเดอร์ นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นได้อธิบายไปในภาคเช้าวันนี้ วิสุทธิชนยุคสุดท้ายอยู่ในบรรดาคนที่ต้องทำความรับผิดชอบอันสำคัญยิ่งนี้มากที่สุด เราควรเป็นเช่นนั้นเพราะเรารู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรักบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ ในวันเวลาสุดท้ายนี้พระองค์ทรงฟื้นฟูความรู้เพิ่มเติมที่สำคัญมากและพลังอำนาจเพื่อเป็นพรแก่ทุกคน พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนให้เรารักทุกคนฉันพี่น้อง และเราปฏิบัติตามคำสอนนั้นโดยแบ่งปันพยานและข่าวสารของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู “ทั่วประชาชาติ, ตระกูล, ภาษา, และคนทั้งปวง” (คพ. 112:1) นี่เป็นส่วนสำคัญยิ่งของสิ่งที่หมายถึงการเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เป็นสิทธิพิเศษอันน่ายินดี อะไรจะน่ายินดีมากไปกว่าการแบ่งปันความจริงนิรันดร์กับบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า

ทุกวันนี้เรามีแหล่งช่วยมากมายให้แบ่งปันพระกิตติคุณซึ่งคนรุ่นก่อนไม่มี เรามีทีวี อินเทอร์เน็ต และช่องทางสื่อสังคม เรามีข่าวสารอันทรงคุณค่ามากมายไว้แนะนำพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู ศาสนจักรเรามีชื่อเสียงดีในหลายประเทศ เรามีจำนวนผู้สอนศาสนาเพิ่มขึ้นมาก แต่เรากำลังใช้แหล่งช่วยทั้งหมดนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่ ข้าพเจ้าเชื่อว่าพวกเราส่วนใหญ่ตอบว่าไม่ เราปรารถนาจะประสบผลสำเร็จมากขึ้นในการทำความรับผิดชอบที่ทรงกำหนดให้เราประกาศพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูไปทั่วโลก

มีแนวคิดดีๆ มากมายสำหรับการแบ่งปันพระกิตติคุณซึ่งจะได้ผลในแต่ละสเตคหรือแต่ละประเทศ แต่เพราะศาสนจักรของเรามีอยู่ทั่วโลก ข้าพเจ้าจึงประสงค์จะพูดถึงแนวคิดซึ่งจะได้ผลทุกที่ จากหน่วยใหม่ล่าสุดไปจนถึงหน่วยเก่าที่สุด จากวัฒนธรรมที่รับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ไปจนถึงวัฒนธรรมและประเทศที่ต่อต้านศาสนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ข้าพเจ้าต้องการพูดถึงแนวคิดที่ท่านสามารถแบ่งปันกับผู้เชื่อที่เลื่อมใสพระเยซูคริสต์และกับคนที่ไม่เคยได้ยินพระนามของพระองค์ กับคนที่พอใจในชีวิตปัจจุบันของตนและกับคนที่พยายามอย่างมากเพื่อปรับปรุงตนเอง

ข้าพเจ้าจะพูดอะไรได้บ้างที่จะช่วยท่านในการแบ่งปันพระกิตติคุณไม่ว่าสภาวการณ์ของท่านเป็นเช่นไร เราต้องการความช่วยเหลือจากสมาชิกทุกคน และสมาชิกทุกคนช่วยได้ เนื่องจากมีงานมากมายให้ทำขณะที่เราแบ่งปันพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูกับทุกชาติ ตระกูล ภาษา และคนทั้งปวงle.

ภาพ
ประธานมอนสันกระตุ้นให้สมาชิกและผู้สอนศาสนาทำงานด้วยกัน

เราทุกคนรู้ว่าการมีส่วนร่วมของสมาชิกในงานเผยแผ่ศาสนาสำคัญมากต่อการทำให้เปลี่ยนใจเลื่อมใสและการรักษาให้คงอยู่ ประธานโธมัส เอส. มอนสันกล่าวว่า “บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่สมาชิกและผู้สอนศาสนาจะพร้อมใจกัน [และ] ลงแรงทำงาน … ในสวนองุ่นของพระเจ้าเพื่อนำจิตวิญญาณมาหาพระองค์ พระองค์ทรงเตรียมหนทางให้เราแบ่งปันพระกิตติคุณมากมายหลายวิธี และพระองค์จะทรงช่วยเราในการลงแรงนั้นถ้าเราจะกระทำด้วยศรัทธาเพื่อให้งานของพระองค์เกิดสัมฤทธิผล”1

ภาพ
งานเผยแผ่ศาสนาไม่ใช่เพียงหนึ่งคีย์

การแบ่งปันพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูเป็นหน้าที่และสิทธิพิเศษของชาวคริสต์ไปตลอดชีวิต เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุกเตือนเราว่า “งานเผยแผ่ศาสนาไม่ใช่คีย์หนึ่งใน 88 คีย์บนเปียโนที่ใช้เล่นบางครั้ง แต่เป็นคอร์ดหลักในท่วงทำนองกินใจที่ต้องเล่นต่อเนื่องตลอดชีวิตเราถ้าเราต้องการทำความรับผิดชอบที่มีต่อการเป็นชาวคริสต์และพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์”2

II.

มีสิ่งสำคัญสามข้อที่สมาชิกทุกคนทำได้เพื่อช่วยแบ่งปันพระกิตติคุณไม่ว่าสภาวการณ์ที่พวกเขาอยู่และทำงานจะเป็นอย่างไร เราทุกคนควรทำทั้งหมดนี้

หนึ่ง เราทุกคนสามารถสวดอ้อนวอนขอให้มีความปรารถนาจะช่วยงานแห่งความรอดในส่วนที่สำคัญยิ่งนี้ ความพยายามทั้งหมดเริ่มที่ ความปรารถนา

สอง เราสามารถรักษาพระบัญญัติ สมาชิกที่เชื่อฟังและซื่อสัตย์เป็นพยานที่เชื้อเชิญให้เชื่อความจริงและคุณค่าของพระกิตติคุณได้มากที่สุด สำคัญกว่านั้นคือสมาชิกที่ซื่อสัตย์จะมีพระวิญญาณของพระผู้ช่วยให้รอดอยู่กับพวกเขาเสมอเพื่อนำทางพวกเขาขณะหมายมั่นมีส่วนร่วมในงานใหญ่ของการแบ่งปันพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์

สาม เราสามารถสวดอ้อนวอนขอการดลใจว่า เราจะทำอะไรได้บ้างในสภาวการณ์ของเราแต่ละคนเพื่อแบ่งปันพระกิตติคุณกับผู้อื่น ซึ่งต่างจากการสวดอ้อนวอนให้ ผู้สอนศาสนา หรือสวดอ้อนวอนขอสิ่งที่ ผู้อื่น ทำได้ เราควรสวดอ้อนวอนขอสิ่งที่ตัวเราทำได้ เมื่อเราสวดอ้อนวอนเราควรจำไว้ว่าการสวดอ้อนวอนขอการดลใจแบบนี้จะได้รับคำตอบถ้าทำควบคู่กับคำมั่นสัญญา—สิ่งที่พระคัมภีร์เรียกว่า “เจตนาแท้จริง” หรือ “ความตั้งใจเด็ดเดี่ยว” สวดอ้อนวอนด้วยคำมั่นว่าจะทำตามการดลใจที่ได้รับ โดยสัญญากับพระเจ้าว่าถ้าพระองค์จะทรงดลใจให้ท่านพูดกับคนบางคนเกี่ยวกับพระกิตติคุณ ท่านจะทำ

เราต้องการการนำทางจากพระเจ้าเพราะ ณ เวลานั้น บางคนพร้อม—และบางคนไม่พร้อม—รับความจริงเพิ่มเติมของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู เราไม่ควรตั้งตนเป็นผู้ตัดสินว่าใครพร้อมและใครไม่พร้อม พระเจ้าทรงรู้ใจบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ ถ้าเราสวดอ้อนวอนขอการดลใจ พระองค์จะทรงช่วยให้เราพบคนที่พระองค์ทรงทราบว่าอยู่ “ในการเตรียมพร้อมที่จะฟังพระวจนะ” (แอลมา 32:6)

ในฐานะอัครสาวกของพระเจ้า ข้าพเจ้าขอให้สมาชิกทุกคนและทุกครอบครัวในศาสนจักรสวดอ้อนวอนขอพระเจ้าทรงช่วยให้พวกเขาพบคนที่พร้อมจะรับข่าวสารพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดให้คำแนะนำสำคัญนี้ซึ่งข้าพเจ้าเห็นด้วย “จงวางใจพระเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระผู้เลี้ยงที่ดี ทรงรู้จักแกะของพระองค์ … ถ้าเราไม่มีส่วนร่วม หลายคนก็จะไม่ได้ยินข่าวสารแห่งการฟื้นฟู … หลักธรรมเรียบง่ายนั้นคือ—สวดอ้อนวอนทั้งโดยส่วนตัวและเป็นครอบครัวสำหรับโอกาสงานเผยแผ่”3 เมื่อเราแสดงศรัทธา โอกาสเหล่านี้จะมาโดยไม่มีใคร “ฝืนตอบรับหรือเล่นตามบท แต่จะเป็นไปอย่างลื่นไหลเนื่องจากความรักที่เรามีต่อพี่น้องของเรา”4

ข้าพเจ้าทราบว่านี่เป็นความจริง ข้าพเจ้าเพิ่มคำสัญญาว่าด้วยศรัทธาในความช่วยเหลือจากพระเจ้า เราจะได้รับการนำทาง การดลใจ และพบปีติใหญ่หลวงในงานแห่งความรักที่มีความสำคัญชั่วนิรันดร์ เราจะเข้าใจว่าความสำเร็จในการแบ่งปันพระกิตติคุณคือการเชื้อเชิญผู้คนด้วยความรักและเจตนาจะช่วยพวกเขาจริงๆ ไม่ว่าพวกเขาจะตอบสนองอย่างไร

III.

ต่อไปนี้เป็นส่วนอื่นๆ ที่เราจะทำได้เพื่อแบ่งปันพระกิตติคุณอย่างมีประสิทธิภาพ:

ภาพ
สมาชิกออกไปผูกมิตร
ภาพ
สมาชิกออกไปเยี่ยม
ภาพ
พนักงานขับรถแท็กซี่ที่งานโอลิมปิกประเทศบราซิล
  1. เราต้องจำไว้ “ว่าผู้คนเรียนรู้เมื่อพวกเขาพร้อมจะเรียนรู้ ไม่ใช่เมื่อเราพร้อมจะสอนพวกเขา”5 สิ่งที่ เรา สนใจ อย่างเช่นหลักคำสอนเพิ่มเติมสำคัญๆ ในศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟู มักไม่ใช่สิ่งที่ ผู้อื่น สนใจ พวกเขาต้องการ ผล ของหลักคำสอน ไม่ใช่หลักคำสอน เมื่อพวกเขาสังเกตเห็นหรือประสบผลของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ในชีวิตเรา พวกเขาจะรู้สึกถึงพระวิญญาณและเริ่มสนใจหลักคำสอน พวกเขาอาจจะสนใจเช่นกันเมื่อพวกเขาแสวงหาความสุขมากขึ้น ความใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า หรือความเข้าใจจุดประสงค์ของชีวิตมากขึ้น6 ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องตั้งใจแสวงหาการเล็งเห็นร่วมกับการสวดอ้อนวอนเพื่อให้รู้วิธีสอบถามความสนใจจะเรียนรู้เพิ่มเติมขอผู้อื่น ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายสิ่ง อาทิ สภาวการณ์ปัจจุบันของอีกฝ่ายหรือความสัมพันธ์ของเรากับเขา นับเป็นเรื่องดีที่ต้องสนทนาในสภา โควรัม และสมาคมสงเคราะห์

  2. เมื่อเราพูดกับผู้อื่น เราต้องจำไว้ว่าการเชื้อเชิญให้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณดีกว่าการเชื้อเชิญให้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ ศาสนจักร ของเรา7 เราต้องการให้ผู้คนเปลี่ยนใจเลื่อมใสในพระกิตติคุณ นั่นเป็นบทบาทที่สำคัญยิ่งของพระคัมภีร์มอรมอน ความรู้สึกเกี่ยวกับศาสนจักรตามหลังการเปลี่ยนใจเลื่อมใสพระเยซูคริสต์ ไม่ใช่มาก่อน หลายคนสงสัยนิกายต่างๆ แต่ก็มีความรักต่อพระผู้ช่วยให้รอด จงทำตามลำดับความสำคัญ

  3. เมื่อเราพยายามแนะนำให้ผู้คนรู้จักพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู เราควรทำด้วยความรักและห่วงใยบุคคลนั้นจริงๆ สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อเราพยายามช่วยผู้อื่นแก้ปัญหาที่พวกเขารู้แน่ชัดหรือเมื่อเราทำงานกับพวกเขาในกิจกรรมรับใช้ชุมชน เช่น การบรรเทาทุกข์ การดูแลคนยากไร้และคนขัดสน หรือการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อื่น

  4. การพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณของเราไม่ควรจำกัดเฉพาะแวดวงมิตรสหายและคนรู้จัก ในช่วงโอลิมปิกเราเรียนรู้จากคนขับแท็กซี่แอลดีเอสในรีอูดีจาเนรูผู้พกพระคัมภีร์มอรมอนเจ็ดภาษาและมอบให้คนที่อยากได้ เขาเรียกตนเองว่า “ผู้สอนศาสนาที่ขับรถรับจ้าง” เขาพูดว่า “ถนนในรีอูดีจาเนรู … เป็นสนามเผยแผ่ [ของผม]”8

    เคลย์ตัน เอ็ม. คริสเต็นเซ็นผู้มีประสบการณ์น่าประทับใจในฐานะสมาชิกผู้สอนศาสนากล่าวว่า “ตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมาเราสังเกตว่าไม่มีความเกี่ยวพันกันระหว่างความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับความเป็นไปได้ที่บุคคลจะสนใจเรียนพระกิตติคุณ”9

  5. ฝ่ายอธิการวอร์ดสามารถวางแผนการประชุมศีลระลึกพิเศษเพื่อกระตุ้นให้สมาชิกพาผู้สนใจมา สมาชิกวอร์ดจะลังเลน้อยลงเมื่อนำคนรู้จักมาการประชุมเช่นนั้นเพราะพวกเขาจะมั่นใจมากขึ้นว่าผู้นำจะวางแผนเนื้อหาของการประชุมเป็นอย่างดีเพื่อเรียกความสนใจและทำหน้าที่แทนศาสนจักรได้ดี

  6. มีอีกมากมายหลายโอกาสให้แบ่งปันพระกิตติคุณ ตัวอย่างเช่น ฤดูร้อนปีนี้ข้าพเจ้าได้รับจดหมายที่บอกเล่าความสุขจากสมาชิกใหม่ผู้เรียนรู้พระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูเมื่อเพื่อนร่วมชั้นสมัยเป็นนักเรียนโทรสอบถามความเจ็บป่วยของเธอ เธอเขียนว่า “ดิฉันประทับใจที่เขาเสนอตัวช่วยดิฉัน หลังจากเรียนกับผู้สอนศาสนาไม่กี่เดือนดิฉันก็รับบัพติศมา ชีวิตดิฉันดีขึ้นนับแต่นั้น”10 เราทุกคนรู้จักหลายคนที่ชีวิตจะดีขึ้นเพราะพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู เรากำลังยื่นมือช่วยเหลือคนเหล่านั้นหรือไม่

  7. ความหลงใหลและความเชี่ยวชาญด้านสื่อสังคมของสมาชิกอายุน้อยของเราเปิดโอกาสอันหาได้ยากยิ่งให้พวกเขาได้ช่วยให้ผู้อื่นสนใจพระกิตติคุณ มอรมอนเขียนบรรยายเหตุการณ์ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงปรากฏต่อชาวนีไฟดังนี้ “พระองค์ทรงสอนและปฏิบัติต่อเด็กๆ … และพระองค์ทรงปล่อยลิ้นพวกเขาให้เอ่ยออกมาได้” (3 นีไฟ 26:14) ปัจจุบันเราจะพูดว่า “ปล่อย [นิ้วโป้ง] ของพวกเขาให้เอ่ยออกมาได้” ทำเลยครับเยาวชนทั้งหลาย

ภาพ
แบ่งปันพระกิตติคุณโดยการส่งข้อความ

การแบ่งปันพระกิตติคุณไม่ใช่ภาระแต่เป็นปีติ สิ่งที่เราเรียกว่า “งานสมาชิกผู้สอนศาสนา” ไม่ใช่โปรแกรมแต่เป็นเจตคติของความรักและการยื่นมือช่วยเหลือคนรอบข้าง อีกทั้งเป็นโอกาสกล่าวคำพยานว่าเรารู้สึกอย่างไรต่อพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระผู้ช่วยให้รอด ดังที่เอ็ลเดอร์บัลลาร์ดสอนว่า “หลักฐานสำคัญที่สุดที่แสดงถึงการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเราและความรู้สึกที่เรามีต่อพระกิตติคุณในชีวิตเราคือความเต็มใจที่เราจะบอกเล่าเรื่องนี้กับผู้อื่น”11

ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์ พระผู้ทรงเป็นแสงสว่างและชีวิตของโลก (ดู 3 นีไฟ 11:11) พระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูส่องทางให้เราในความเป็นมรรตัย การชดใช้ของพระองค์ทำให้เราเชื่อมั่นในชีวิตหลังความตายและมีพลังยืนหยัดจนถึงความเป็นอมตะ การชดใช้เปิดโอกาสให้เราได้รับการอภัยบาป และมีคุณสมบัติภายใต้แผนแห่งความรอดอันรุ่งโรจน์ที่จะรับชีวิตนิรันดร์ “ซึ่งเป็นของประทานสำคัญที่สุดในบรรดาของประทานทั้งปวงของพระผู้เป็นเจ้า” (ค.พ. 14:7) ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. โธมัส เอส. มอนสัน, “ขอต้อนรับสู่การประชุมใหญ่,”เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 4.

  2. เควนทิน แอล. คุก, “How to Be a Member Missionary,” New Era, Feb. 2015, 48.

  3. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “จงวางใจในพระเจ้า,”เลียโฮนา, พ.ย. 2013, 44.

  4. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “Put Your Trust in the Lord,” 44.

  5. เคลย์ตัน เอ็ม. คริสเต็นเซ็น, The Power of Everyday Missionaries (2012), 30.

  6. ดู คริสเต็นเซ็น, Power of Everyday Missionaries, 26–27.

  7. ดู แกรีย์ ซี. ลอว์เรนซ์, How Americans View Mormonism: Seven Steps to Improve Our Image (2008), 34–35.

  8. ดู แอชลีย์ คีวิช, “Cab Driver Hands Out Copies of Book of Mormon to Rio Visitors,” Aug. 8, 2016, ksl.com.

  9. คริสเต็นเซ็น, Power of Everyday Missionaries, 21.

  10. จดหมายส่วนตัว, 21 ส.ค. 2016.

  11. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “บัดนี้ถึงเวลาแล้ว,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 105.