2010–2019
นิรันดรทุกวัน
ตุลาคม 2017


นิรันดรทุกวัน

ความอ่อนน้อมถ่อมตนว่าเราเป็นใครและจุดประสงค์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อเรานั้นสำคัญยิ่ง

นับตั้งแต่การรับใช้ของข้าพเจ้าในคณะเผยแผ่อังกฤษสมัยเป็นหนุ่ม ข้าพเจ้าชอบอารมณ์ขันของชาวอังกฤษ บางครั้งมีลักษณะพิเศษเพราะเป็นการมองชีวิตแบบไม่ให้ความสำคัญกับตนเอง อ่อนน้อม ถ่อมตนตัวอย่างของเรื่องนี้คือการมองภาพของฤดูร้อน ฤดูร้อนของอังกฤษค่อนข้างสั้นและคาดเดาไม่ได้ ดังที่นักประพันธ์คนหนึ่งพูดอย่างหน้าตาเฉยว่า “ฉันชอบฤดูร้อนของอังกฤษ เป็น ช่วงเวลา ที่ฉันชอบที่สุด”1 ตัวการ์ตูนอังกฤษที่ข้าพเจ้าชอบเป็นภาพที่เธอนอนอยู่บนเตียง ตื่นสายในตอนเช้าและพูดกับสุนัขของเธอว่า “คุณพระช่วย ฉันคิดว่าฉันนอนเพลินและพลาดฤดูร้อนไปแล้ว”2

มีแนวเทียบในอารมณ์ขันดังกล่าวกับชีวิตเราบนแผ่นดินโลกที่สวยงามนี้ พระคัมภีร์บอกชัดเจนว่าการดำรงอยู่ในความเป็นมรรตัยอันล้ำค่าเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก อาจเป็นการพูดจากมุมมองนิรันดร์ ว่าเวลาของเราบนแผ่นดินโลกแล่นฉิวเหมือนฤดูร้อนของอังกฤษ3

บางครั้งจุดประสงค์ของมนุษย์และการดำรงอยู่อธิบายได้ด้วยคำพูดที่อ่อนน้อมถ่อมตนเช่นกัน ศาสดาพยากรณ์โมเสสได้รับการเลี้ยงดูมาตามที่ปัจจุบันอาจเรียกว่ามีพื้นเพเป็นอภิสิทธิ์ชน ดังที่บันทึกไว้ในไข่มุกอันล้ำค่า พระเจ้าทรงเตรียมโมเสสให้พร้อมรับงานมอบหมายเป็นศาสดาพยากรณ์ พระองค์ประทานบทสรุปของโลกและลูกหลานมนุษย์ที่เป็นอยู่และได้รับการสร้างขึ้นทุกคนให้เขา4 คำพูดอันค่อนข้างประหลาดใจของโมเสสคือ “บัดนี้ … ข้าพเจ้าจึงรู้ว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นอะไรเลย, ซึ่งเรื่องนี้ข้าพเจ้าไม่เคยคิดมาก่อน.”5

ผลก็คือ พระผู้เป็นเจ้าซึ่งอาจทรงแย้งกับความรู้สึกใดๆ ที่โมเสสมีว่าตนเองไม่สำคัญ พระองค์จึงทรงประกาศจุดประสงค์ที่แท้จริงว่า“เพราะดูเถิด, นี่คืองานของเราและรัศมีภาพของเรา—คือการทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์”6

เราทุกคนเท่าเทียมกันต่อพระผู้เป็นเจ้า หลักคำสอนของพระองค์ชัดเจน ในพระคัมภีร์มอรมอน เราอ่านว่า “ทุกคนเหมือนกันหมดสำหรับพระผู้เป็นเจ้า” ทั้ง “ดำและขาว, ทาสและไท, ชายและหญิง” 7 ดังนั้น ทุกคนได้รับเชิญให้มาหาพระเจ้า8

ใครก็ตามที่อ้างว่าตนสูงส่งภายใต้แผนของพระบิดาเพราะลักษณะของเชื้อชาติ เพศ สัญชาติ ภาษา หรือสภาวะทางเศรษฐกิจนั้นทำผิดศีลธรรมและไม่เข้าใจถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของพระเจ้าที่มีต่อบุตรธิดาทั้งปวงของพระบิดา9

น่าเสียดายที่ในสมัยของเราในทุกด้านของสังคม เราเห็นความสำคัญตนผิดและความยโสโอหังเต็มไปหมดขณะที่ความอ่อนน้อมถ่อมตนและความรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าถูกสบประมาท สังคมส่วนใหญ่ขาดที่ยึดเหนี่ยวและไม่เข้าใจว่าเหตุใดเราจึงอยู่บนแผ่นดินโลก น้อยนักที่เราจะเห็นความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างแท้จริงซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุจุดประสงค์ที่พระเจ้าทรงมีต่อเรา10

นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้าใจความจำเป็นของความอ่อนน้อมถ่อมตน ความชอบธรรม อุปนิสัย และปัญญาของพระคริสต์ ดังที่แสดงแบบอย่างไว้ในพระคัมภีร์ นับเป็นความโง่เขลา หากจะดูแคลนความจำเป็นของการเพียรพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีคุณสมบัติและคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความอ่อนน้อมถ่อมตน 11

พระคัมภีร์บอกชัดเจนว่าถึงแม้ชีวิตนี้จะค่อนข้างสั้น แต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง อมิวเล็ค คู่ผู้สอนศาสนาของแอลมาในพระคัมภีร์มอรมอนกล่าวว่า “ชีวิตนี้เป็นเวลาสำหรับมนุษย์ที่จะเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า; แท้จริงแล้ว, ดูเถิดวันแห่งชีวิตนี้เป็นวันสำหรับมนุษย์ที่จะทำงานของพวกเขา”12 เราไม่อยากหลับไปตลอดชีวิตนี้เหมือนตัวการ์ตูนของข้าพเจ้า

แบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนและการพลีพระชนม์ชีพเพื่อมนุษยชาติเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ พระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ผู้ทรงเป็นสมาชิกในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ เต็มพระทัยเสด็จมายังแผ่นดินโลกเป็นทารกผู้ต่ำต้อยและทรงเริ่มการดำรงอยู่ของพระองค์โดยทรงสอนและทรงรักษาพี่น้องชายหญิงของพระองค์ และในที่สุดทรงทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บปวดจนสุดพรรณนาในเกทเสมนีและบนกางเขนเพื่อทำให้การชดใช้ของพระองค์สมบูรณ์ การกระทำอันเกิดจากความรักและความอ่อนน้อมถ่อมตนในส่วนของพระคริสต์เป็นที่รู้กันว่าเป็นพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระองค์13 พระองค์ทรงทำสิ่งนี้เพื่อชายหญิงทุกคนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างหรือจะทรงสร้างขึ้น

พระบิดาบนสวรรค์ของเราไม่ทรงประสงค์ให้บุตรธิดาของพระองค์ท้อแท้หรือยอมแพ้ในการแสวงหารัศมีภาพซีเลสเชียล เมื่อเราใคร่ครวญว่าพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระคริสต์พระบุตรทรงเป็นใคร และพระองค์ทรงบรรลุผลสำเร็จในเรื่องใดแทนเรา เราจะเปี่ยมไปด้วยความคารวะ ความเกรงขาม ความสำนึกคุณ และความอ่อนน้อมถ่อมตน

ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการช่วยพระเจ้าสถาปนาศาสนจักรของพระองค์

แอลมาถามคำถามในสมัยของเขาที่ยังคงเกี่ยวข้องกับปัจจุบัน: “หากท่านประสบกับการเปลี่ยนแปลงในใจแล้ว, และหากท่านรู้สึกอยากร้องเพลงสดุดีความรักที่ไถ่, ข้าพเจ้าจะถาม, ท่านรู้สึกเช่นนั้นขณะนี้ได้หรือไม่?”14 แอลมากล่าวว่า “หากเรียกท่านให้ตายในเวลานี้, ท่านจะกล่าว, … ว่าท่านถ่อมตนเพียงพอแล้ว?”15

ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าอ่านเกี่ยวกับแอลมาผู้บุตรที่สละบทบาทของเขาในฐานะประมุขของรัฐเพื่อสั่งสอนพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า16 ข้าพเจ้าประทับใจ แน่นอนว่าแอลมามีประจักษ์พยานอย่างลึกซึ้งในพระผู้เป็นเจ้าพระบิดากับพระเยซูคริสต์ และรู้สึกรับผิดชอบต่อพระองค์อย่างเต็มที่และไม่มีข้อกังขา เขามีลำดับความสำคัญที่ถูกต้องและมีความอ่อนน้อมถ่อมตนที่จะยอมสละสถานภาพและตำแหน่งเพราะเขาตระหนักว่าการรับใช้พระเจ้าสำคัญกว่า

การมีความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างเพียงพอในชีวิตเราเพื่อช่วยสถาปนาศาสนจักรมีคุณค่าเป็นพิเศษ ตัวอย่างหนึ่งในประวัติศาสนจักรจะช่วยให้เราเข้าใจดีขึ้น ในเดือนมิถุนายน ปี 1837 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟได้รับการดลใจเมื่ออยู่ในพระวิหารเคิร์ทแลนด์เพื่อเรียกอัครสาวกฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์ให้นำพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ไป “อังกฤษ … และเปิดประตูแห่งความรอดให้ประชาชาตินั้น”17 อัครสาวกออร์สัน ไฮด์กับคนอื่นๆ อีกสองสามคนได้รับมอบหมายให้เดินทางไปกับท่าน คำตอบของเอ็ลเดอร์คิมบัลล์น่าประทับใจยิ่ง “พอคิดว่าได้รับแต่งตั้งสู่งานเผยแผ่ที่สำคัญนี้ทำให้ข้าพเจ้าแทบจะแบกรับไม่ไหว … [ข้าพเจ้า] เกือบจมอยู่ภายใต้ภาระซึ่งวางอยู่บนข้าพเจ้า”18 กระนั้นก็ตาม ท่านรับผิดชอบงานเผยแผ่ของท่านด้วยศรัทธา การอุทิศตน และความอ่อนน้อมถ่อมตน

บางครั้งความอ่อนน้อมถ่อมตนคือการยอมรับการเรียกเมื่อเรารู้สึกว่าเราไม่คู่ควร บางครั้งความอ่อนน้อมถ่อมตนคือการรับใช้อย่างซื่อสัตย์เมื่อเรารู้สึกว่าเราสามารถทำงานมอบหมายที่สำคัญกว่า ผู้นำที่อ่อนน้อมถ่อมตนสอนเราด้วยวาจาและแบบอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเรารับใช้ตรงไหนไม่สำคัญ แต่สำคัญที่เรารับใช้อย่างซื่อสัตย์อย่างไร19 บางครั้งความอ่อนน้อมถ่อมตนคือการเอาชนะความรู้สึกเจ็บปวดเมื่อเรารู้สึกว่าผู้นำหรือคนอื่นๆ ทำไม่ดีต่อเรา

วันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1837 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธพบกับเอ็ลเดอร์โธมัส บี. มาร์ช ประธานโควรัมอัครสาวกสิบสอง เห็นได้ชัดว่าเอ็ลเดอร์มาร์ชโกรธมากที่ศาสดาพยากรณ์เรียกสมาชิกสองคนจากโควรัมของเขาไปอังกฤษโดยไม่ปรึกษาเขา ขณะที่โจเซฟพูดคุยกับเอ็ลเดอร์มาร์ช ท่านวางความรู้สึกเจ็บปวดไว้ก่อน และศาสดาพยากรณ์ได้รับการเปิดเผยที่น่าทึ่ง การเปิดเผยดังกล่าวปัจจุบันคือภาคที่ 112 ของหลักคำสอนและพันธสัญญา20 ซึ่งให้แนวทางอันเหลือเชื่อจากสวรรค์ ได้แก่ความอ่อนน้อมถ่อมตนและงานสอนศาสนา ข้อ 10 อ่านว่า “เจ้าจงอ่อนน้อมถ่อมตน; และพระเจ้า พระผู้เป็นเจ้าของเจ้าจะทรงจูงมือนำเจ้าไป, และให้คำตอบคำสวดอ้อนวอนของเจ้าแก่เจ้า.”21

การเปิดเผยนี้เกิดขึ้นในวันเดียวกันกับที่เอ็ลเดอร์คิมบัลล์ เอ็ลเดอร์ไฮด์และจอห์น กู๊ดสัน เปี่ยมด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ประกาศเรื่องการฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ในโบสถ์วอกซ์ฮอลล์ที่เพรสตัน ประเทศอังกฤษ22 นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้สอนศาสนาประกาศพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูนอกทวีปอเมริกาเหนือในสมัยการประทานนี้ ความพยายามในการสอนศาสนาของพวกเขาส่งผลให้มีบัพติศมาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสเกือบจะในทันทีและนำไปสู่การมีสมาชิกที่ซื่อสัตย์จำนวนมาก23

ผลส่วนหนึ่งของการเปิดเผยนี้เป็นแนวทางให้งานสอนศาสนาในยุคของเรา บางส่วนอ่านได้ว่า “ผู้ใดก็ตามที่เจ้าจะส่งไปในนามของเรา … จะมีอำนาจเปิดประตูแห่งอาณาจักรของเราให้ประชาชาติใดก็ได้ … ตราบเท่าที่พวกเขาจะ นอบน้อมถ่อมตน ต่อหน้าเรา, และยังอยู่ในคำของเรา, และสดับฟังเสียงพระวิญญาณของเรา.”24

ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นส่วนสำคัญของงานสอนศาสนาอันเหลือเชื่อนี้ซึ่งช่วยพระเจ้าสถาปนาศาสนจักรของพระองค์ด้วยวิธีอันโดดเด่น

เราสำนึกคุณที่ยังคงเห็นสิ่งนี้อย่างต่อเนื่องในศาสนจักรยุคปัจจุบัน สมาชิก รวมถึงอนุชนรุ่นหลัง สละเวลาของพวกเขาพร้อมทั้งเลื่อนเวลาการศึกษาและงานอาชีพออกไปเพื่อรับใช้งานเผยแผ่ สมาชิกอาวุโสหลายคนละทิ้งงานอาชีพและเสียสละเรื่องอื่นเพื่อรับใช้พระผู้เป็นเจ้าไม่ว่าพวกเขาจะได้รับเรียกให้ทำตามความสามารถใด เราไม่ยอมให้ปัญหาส่วนตัวมาทำให้เขวหรือเบนความสนใจเราไปจากการทำให้จุดประสงค์ของพระองค์บรรลุผลสำเร็จ25 การรับใช้ศาสนจักรเรียกร้องความอ่อนน้อมถ่อมตน เรารับใช้อย่างอ่อนน้อมถ่อมตนตามที่ได้รับเรียกด้วยสุดพลัง, ความนึกคิด, และพละกำลัง ในทุกตำแหน่งของศาสนจักร เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์เรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตน

การมีความอ่อนน้อมถ่อมตนทุกวันเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเตรียมผู้คนให้พบพระผู้เป็นเจ้า

เป้าหมายในการถวายเกียรติพระเจ้าและยอมให้ตัวเราทำตามพระประสงค์ของพระองค์26 เป็นสิ่งที่สังคมปัจจุบันไม่ให้ความสำคัญเท่ากับในอดีต ผู้นำชาวคริสต์บางคนของนิกายอื่นเชื่อว่าเราอาศัยอยู่ในโลกที่ศาสนาคริสต์ไม่สำคัญอีกต่อไป27

คุณธรรมที่มีพื้นฐานของศาสนาว่าด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและคุณธรรมของพลเมืองเกี่ยวกับความสุภาพเรียบร้อยเป็นมาตรฐานที่ทรงพลังของคนหลายรุ่น

ในโลกปัจจุบัน มีการเน้นเรื่องของความทะนงตน การแสวงหาชื่อเสียง ความมั่งคั่งให้ตนเอง และสิ่งที่เรียกว่า “ธาตุแท้” ซึ่งบางครั้งนำไปสู่การขาดความอ่อนน้อมถ่อมตนที่แท้จริงบางคนเสนอว่าคุณค่าทางศีลธรรมสำหรับความสุขในปัจจุบันคือ “เป็นตัวคุณเอง เข้มแข็ง สร้างผลงาน—และสำคัญที่สุด ห้ามพึ่งพาผู้อื่น … เพราะโชคชะตาของท่าน… อยู่ในอุ้งมือของท่านเอง”28

พระคัมภีร์สนับสนุนวิธีที่แตกต่าง พระคัมภีร์แนะนำว่าเราควรเป็นสานุศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์ สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างความรู้สึกอันแรงกล้าของการมีความรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าและดำเนินชีวิตด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน กษัตริย์เบ็นจามินสอนว่ามนุษย์ปุถุชนเป็นศัตรูต่อพระผู้เป็นเจ้าและส่งเสริมให้เรายอมตน “ต่อการชักจูงของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์” เขาอธิบายว่าท่ามกลางสิ่งต่างๆ สิ่งนี้เรียกร้องให้เป็นคน “ว่าง่าย, อ่อนโยน, ถ่อมตน, อดทน, [และ] เปี่ยมด้วยความรัก”29

บางคนใช้การเป็น ธาตุแท้ ในทางที่ผิดว่าเป็นการฉลองความเป็นมนุษย์ปุถุชนและกำหนดคุณสมบัติให้ตรงข้ามกับความอ่อนน้อมถ่อมตน ความมีน้ำใจ ความเมตตา การให้อภัย และความสุภาพเรียบร้อย เราสามารถฉลองความเป็นตัวตนของเราเองในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าโดยไม่ต้องใช้ธาตุแท้เป็นข้อแก้ตัวให้ความประพฤติที่ไม่เหมือนพระคริสต์

ในความพยายามอ่อนน้อมถ่อมตนอินเทอร์เน็ตสมัยนี้สร้างปัญหาในการหลีกเลี่ยงความทะนงตน มีตัวอย่างสองเรื่องคือการตามใจตัวเองโดยให้ผู้อื่น “มองที่ฉัน” หรือการโจมตีผู้อื่นโดยใช้ความรุนแรงทางสื่อสังคม ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งคือ “การถ่อมตนแบบโอ้อวด” ซึ่งหมายถึง “คำพูด [หรือภาพ] ที่แสดงให้ดูเหมือนว่าถ่อมตนหรือไม่ให้ความสำคัญกับตนเองโดยมีจุดประสงค์ที่แท้จริงคือสร้างความสนใจให้กับสิ่งที่เขาภาคภูมิใจ”30 ศาสดาพยากรณ์เตือนอยู่เสมอถึงความจองหองและการให้ความสำคัญต่อสิ่งไร้ค่าของโลก31

การสื่อสารที่ขาดความเคารพซึ่งมีอยู่ดาษดื่นเป็นเรื่องที่น่ากังวลเช่นกัน หลักธรรมนิรันดร์เรื่องสิทธิ์เสรีเรียกร้องให้เราเคารพการเลือกมากมายที่เราไม่เห็นด้วย ข้อพิพาทและความขัดแย้งในปัจจุบันมักเป็นการละเมิด “ขอบเขตพื้นฐานร่วมกัน”32 เราต้องการความสุภาพและความอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น

แอลมาเตือนว่าจงอย่า “ลำพองในความจองหองของใจท่าน” “ขืนคิดอยู่หรือว่าท่านเป็นคนดีกว่าคนอื่น” และข่มเหงผู้ที่นอบน้อมถ่อมตนผู้ที่ “เดินตามระเบียบอันศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า”33

ข้าพเจ้าพบคุณความดีอย่างแท้จริงท่ามกลางผู้คนของทุกศาสนาที่อ่อนน้อมถ่อมตนและมีสำนึกรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้า หลายคนทำตามคำสอนของศาสดาพยากรณ์มีคาห์ในพันธสัญญาเดิม ผู้ประกาศว่า “พระ‍ยาห์‌เวห์​ทรง​ประ‌สงค์​อะไร​จาก​เจ้า? นอก‍จาก​ให้​ทำ​ความ​ยุติ‍ธรรม​และ​ให้​รัก​ความ​เมตตาและ​ให้​ดำ‌เนิน​ชีวิต​ไป​กับ​พระ‍เจ้า​ของ​เจ้า​ด้วย​ความ​ถ่อม‍ใจ”34

เมื่อเราอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างแท้จริง เราสวดอ้อนวอนทูลขอการให้อภัยและให้อภัยผู้อื่น ดังที่เราอ่านในโมไซยาห์แอลมาสอนว่าเมื่อเรากลับใจบ่อยๆ พระเจ้าจะทรงให้อภัยการล่วงละเมิดของเรา35 กล่าวอีกนัยหนึ่ง ดังที่ระบุไว้ในคำสวดอ้อนวอนของพระเจ้า36 เมื่อเราไม่ให้อภัยการล่วงละเมิดของผู้อื่น เราจะพาตนเองไปสู่การกล่าวโทษ37 เพราะการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ บาปของเราได้รับการให้อภัยผ่านการกลับใจ เมื่อเราไม่ให้อภัยผู้ที่ล่วงละเมิดเรา เราจะถูกปฏิเสธจากการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด การผูกพยาบาทและปฏิเสธที่จะให้อภัย การปฏิเสธสัมพันธภาพอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนในลักษณะเหมือนพระคริสต์จะทำให้เราตกอยู่ภายใต้การกล่าวโทษอย่างแน่นอน การผูกพยาบาทเป็นพิษต่อจิตวิญญาณเรา38

ข้าพเจ้าขอเตือนให้ระวังความจองหองทุกรูปแบบเช่นกัน โดยผ่านศาสดาพยากรณ์โมโรไน พระเจ้าทรงแสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่างคนเย่อหยิ่งทะนงตนกับคนอ่อนน้อมถ่อมตน “คนโง่ย่อมล้อเลียน, แต่พวกเขาจะโศกเศร้า; และพระคุณของเราเพียงพอสำหรับคนอ่อนโยน” พระเจ้าทรงประกาศเพิ่มเติมว่า “เราให้ความอ่อนแอแก่มนุษย์เพื่อพวกเขาจะ นอบน้อม ; และพระคุณของเราเพียงพอสำหรับคนทั้งปวงที่ นอบน้อมถ่อมตน ต่อหน้าเรา; เพราะหากพวกเขา นอบน้อมถ่อมตน ต่อหน้าเรา, และมีศรัทธาในเรา, เมื่อนั้นเราจะทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็งสำหรับพวกเขา.”39

ความอ่อนน้อมถ่อมตนได้แก่การสำนึกคุณที่เราได้รับพรมากมายและความช่วยเหลือจากสวรรค์ ความอ่อนน้อมถ่อมตนไม่ใช่การระบุถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่หรือแม้กระทั่งการเอาชนะความท้าทายบางอย่างได้ ความอ่อนน้อมถ่อมเป็นเครื่องหมายของความเข้มแข็งทางวิญญาณ คือการมีความเชื่อมั่นอย่างเงียบๆ ว่าวันแล้ววันเล่า ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าเราสามารถพึ่งพาพระเจ้า รับใช้พระองค์ และบรรลุจุดประสงค์ของพระองค์ นี่คือคำสวดอ้อนวอนของข้าพเจ้าว่าในโลกที่มีความขัดแย้งนี้เราจะพยายามอย่างต่อเนื่องให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนที่แท้จริงทุกวัน บทกวีที่โปรดปรานกล่าวไว้ดังนี้

การทดสอบของความยิ่งใหญ่คือวิธี

ที่คนเรานี้จะพบนิรันดรทุกวัน40

ข้าพเจ้ากล่าวคำพยานที่แน่นอนถึงพระผู้ช่วยให้รอด การชดใช้ของพระองค์ และความสำคัญอันล้นเหลือของการรับใช้พระองค์อย่างอ่อนน้อมถ่อมตนในแต่ละวันและทุกวัน ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. Kathy Lette, in “Town and Country Notebook,” ed. Victoria Marston, Country Life, June 7, 2017, 32; เน้นตัวเอน.

  2. Annie Tempest, “Tottering-by-Gently,” Country Life, Oct. 3, 2012, 128.

  3. ดู สดุดี 90:4. ไม่ว่าช่วงปีของแผ่นดินโลกจะสั้นหรือยาว ช่วงเวลาในชีวิตเราสั้นมากจากมุมมองนิรันดร์ “ทั้งหมดนี้เป็นเสมือนหนึ่งวันสำหรับพระผู้เป็นเจ้า, และวัดเวลาไว้สำหรับมนุษย์เท่านั้น.” (แอลมา 40:8) อัครสาวกเปโตรประกาศว่า “แต่​ท่าน​ที่‍รัก​ทั้ง‍หลาย อย่า​มอง‍ข้าม​ความ​จริง​ข้อ​นี้​เสีย คือ​วัน​เดียว​ของ​พระ‍เจ้า​เป็น​เหมือน​กับ​พัน​ปี และ​พัน​ปี​ก็​เป็น​เหมือน​กับ​วัน​เดียว” (2 เปโตร 3:8).

  4. ดู โมเสส 1:6–9. นี่คือพระคริสต์ตรัสกับผู้ได้รับแต่งตั้งสู่สิทธิอำนาจจากสวรรค์ (ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ [2013], 62. เชิงอรรถ 11).

  5. โมเสส 1:10.

  6. โมเสส 1:39.

  7. 2 นีไฟ 26:33; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:34–35; 38:16; ข้อประกาศอย่างเป็นทางการ 2 ด้วย.

  8. หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37 เริ่มด้วย “คนทั้งปวงที่นอบน้อมถ่อมตนต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า.” จากนั้นพระคัมภีร์ชี้แจงข้อกำหนดสำหรับบัพติศมา ดู มัทธิว 11:28 ด้วย.

  9. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37

  10. เรารู้ว่าถ้าเราไม่กลับใจ รับศาสนพิธี และทำตามเส้นทางแห่งพันธสัญญาซึ่งเตรียมเราสำหรับนิรันดร “คืนแห่งความมืดย่อมมาถึงซึ่งในเวลานั้นจะประกอบการงานหาได้ไม่.” (แอลมา 34:33).

  11. ดู 3 นีไฟ 27:27.

  12. แอลมา 34:32.

  13. ดู 1 นีไฟ 11:26–33; 2 นีไฟ 9:53; เจคอบ 4:7; หลักคำสอนและพันธสัญญา 122:8.

  14. แอลมา 5:26.

  15. แอลมา 5:27.

  16. ดู แอลมา 4:19.

  17. Joseph Smith, in Heber C. Kimball, “History of Heber Chase Kimball By His Own Dictation,” ca. 1842–1856, Heber C. Kimball Papers, Church History Library; Orson F. Whitney, Life of Heber C. Kimball, An Apostle; The Father and Founder of the British Mission (1888), 116.

  18. Heber C. Kimball, “History of Heber Chase Kimball By His Own Dictation”; see also Orson F. Whitney, Life of Heber C. Kimball, 116.

  19. ประธานเจ. รูเบ็น คลาร์ก จูเนียร์ สอนว่า “ในการรับใช้พระเจ้า ไม่สำคัญว่าท่านรับใช้ตรงไหนแต่สำคัญว่าท่านรับใช้อย่างไร ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย คนหนึ่งรับตำแหน่งซึ่งคนนั้นได้รับเรียกตามสมควรแก่เวลา ตำแหน่งซึ่งเขาไม่แสวงหาทั้งไม่ปฏิเสธ” (in Conference Report, Apr. 1951, 154).

  20. See The Joseph Smith Papers, Documents, Volume 5: October 1835-January 1838, ed. Brent M. Rogers and others (2017), 412–417. ไวเลต คิมบัลล์ รายงานในจดหมายถึงฮีเบอร์ ซี. คิมบัลล์ สามีของเธอว่าเธอมีสำเนาการเปิดเผยจาก “หนังสือของเอ็ลเดอร์มาร์ชขณะที่ท่านเขียนจากปากของโจเซฟ” (Vilate Murray Kimball to Heber C. Kimball, Sept. 6, 1837, in The Joseph Smith Papers, Documents, Volume 5: October 1835–January 1838, 412).

  21. หลักคำสอนและพันธสัญญา 112:10; เน้นตัวเอน.

  22. See Orson F. Whitney, Life of Heber C. Kimball, 136–137.

  23. See Orson F. Whitney, Life of Heber C. Kimball, 149.

  24. หลักคำสอนและพันธสัญญา 112:21-22; เน้นตัวเอน.

  25. “ขณะที่เราไม่ขอปลดจากการเรียก แต่หากสภาวการณ์ของเราเปลี่ยน นั่นสามารถทำให้เราปรึกษากับผู้ที่ให้การเรียกได้และจากนั้นให้พวกเขาตัดสินใจ” (Boyd K. Packer, “Called to Serve,” Ensign, Nov. 1997, 8).

  26. ดู “ความอ่อนน้อมถ่อมตน,” ในบทที่ 6 ของ สั่งสอนกิตติคุณของเรา: แนวทางการรับใช้งานเผยแผ่ศาสนา (2004), 120.

  27. See Charles J. Chaput, Strangers in a Strange Land (2017), 14–15; see also Rod Dreher, The Benedict Option (2017).

  28. Carl Cederstrom, “The Dangers of Happiness,” New York Times, July 19, 2015, SR8.

  29. โมไซยาห์ 3:19.

  30. English Oxford Living Dictionaries, “humblebrag,” oxforddictionaries.com.

  31. เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นคำอธิบายหนังสือของแอลมาถึงผู้ที่มี “ของมีค่าทุกชนิดของพวกเขา, ซึ่งพวกเขาได้มาโดยความอุตสาหะ; … [แต่] … ทะนงตนด้วยความถือดีในสายตาตน” (แอลมา 4:6). เป็นที่ทราบกันว่า “การถ่อมตนแบบโอ้อวด” ก็ยังเป็นการโอ้อวด

  32. David Brooks, “Finding a Way to Roll Back Fanaticism,” New York Times, Aug. 15, 2017, A23.

  33. แอลมา 5:53, 54.

  34. มีคาห์ 6:8.

  35. ดู โมไซยาห์ 26:30.

  36. ดู มัทธิว 6:12, 15.

  37. ดู โมไซยาห์ 26:31.

  38. ดังที่เนลสัน แมนเดลา กล่าวไว้ “ความขุ่นเคืองเป็นเหมือนการดื่มยาพิษแล้วหวังว่ามันจะฆ่าศัตรูของคุณ” (in Jessica Durando, “15 of Nelson Mandela’s Best Quotes,” USA Today, Dec. 5, 2013, usatoday.com).

  39. อีเธอร์ 12:26, 27; เน้นตัวเอน.

  40. Edmund Vance Cooke, “The Eternal Everyday,” Impertinent Poems (1907), 21.