2010–2019
ใครสู้‍ทนถึงที่สุดก็จะได้รับการช่วยให้รอด
เมษายน 2018


ใครสู้‍ทนถึงที่สุดก็จะได้รับการช่วยให้รอด

ขอให้เราซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่เราเชื่อและรู้

พี่น้องที่รักทั้งหลาย ข้าพเจ้าซาบซึ้งใจกับโอกาสที่ได้แสดงความรู้สึกบางอย่างกับท่าน

หลายปีก่อน ข้าพเจ้ากับภรรยาอยู่ที่พิธีเปิดนิทรรศการเชิงโต้ตอบของเด็กที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสนจักรในซอลท์เลคซิตี้ ตอนจบพิธี ประธานโธมัส เอส. มอนสันเดินมาหาเรา และขณะท่านจับมือทักทายเรา ท่านพูดว่า “อดทน แล้วคุณจะชนะ”—คำสอนที่ลึกซึ้งและคำสอนที่เราทุกคนยืนยันได้ว่าเป็นความจริง

พระเยซูทรงรับรองกับเราว่า “ใครสู้‍ทนถึงที่สุดก็จะได้รับการช่วยให้รอด”1

อดทนหมายถึง “ยึดมั่นในคำมั่นสัญญาที่จะแน่วแน่ต่อพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าแม้จะมีการล่อลวง การคัดค้าน และความยากลำบาก”2

แม้แต่คนที่มีประสบการณ์แรงกล้าทางวิญญาณและให้การรับใช้ที่ซื่อสัตย์อาจหลงผิดหรือตกอยู่ในความไม่แข็งขันได้สักวันถ้าพวกเขาไม่อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ขอให้เราจำใส่ใจและเน้นย้ำในความคิดเราเสมอว่า “สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นกับฉัน”

เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงสอนในคาเปอรนาอุมว่า “สาวกของพระ‍องค์หลายคนถด‍ถอย ไม่ติด‍ตามพระ‍องค์ต่อ‍ไปอีก

“พระเยซูตรัสกับสิบสองคนนั้นว่า ‘พวกท่านก็จะจากเราไปด้วยหรือ?’”3

ข้าพเจ้าเชื่อว่าวันนี้ พระเยซูคริสต์ตรัสถามเราทุกคนที่ได้ทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์กับพระองค์ว่า “พวกท่านก็จะจากเราไปด้วยหรือ?”

ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้เราทุกคนตอบเช่นเดียวกับซีโมน เปโตรด้วยความเข้าใจอันลึกซึ้งเกี่ยวกับสิ่งที่นิรันดรสงวนไว้ให้เราว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้า พวกข้าพระองค์จะจากไปหาใครได้? พระองค์ทรงมีถ้อยคำแห่งชีวิตนิรันดร์”4

ขอให้เราซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่เราเชื่อและรู้ หากเราไม่ได้ดำเนินชีวิตตามความรู้ของเรา ขอให้เราเปลี่ยน คนบาปที่ดึงดันในบาปของตน และไม่กลับใจ จะจมลึกลงไปเรื่อยๆ ในความสกปรก จนกระทั่งซาตานขอรับพวกเขาไว้กับตัว ทำลายโอกาสที่พวกเขาจะได้กลับใจ ได้รับการให้อภัย และได้รับพรทั้งหมดของนิรันดร

ข้าพเจ้าได้ยินข้ออ้างมากมายจากคนที่หยุดมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในศาสนจักรและสูญเสียวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องต่อจุดประสงค์ของการเดินทางของเราบนโลกนี้ ข้าพเจ้าชักชวนให้พวกเขาใคร่ครวญและกลับมา เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าจะไม่มีใครสามารถแก้ตัวต่อพระพักตร์พระเจ้าพระเยซูคริสต์ได้

เมื่อเรารับบัพติศมา เราทำพันธสัญญา—ไม่ได้ทำกับมนุษย์แต่กับพระผู้ช่วยให้รอด โดยรับปากว่าจะ “รับพระนามของพระเยซูคริสต์, โดยมุ่งมั่นรับใช้พระองค์จนกว่าชีวิตจะหาไม่”5

การเข้าร่วมการประชุมศีลระลึกเป็นวิธีสำคัญวิธีหนึ่งที่เราสามารถประเมินความมุ่งมั่นรับใช้พระองค์ของเรา ความทรหดอดทนทางวิญญาณของเรา และการเติบโตของศรัทธาที่เรามีต่อพระเยซูคริสต์

การรับส่วนศีลระลึกเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราทำในวันสะบาโต พระเจ้าทรงอธิบายศาสนพิธีนี้กับอัครสาวกก่อนสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงอธิบายในทวีปอเมริกาเช่นกัน พระองค์รับสั่งกับเราว่าถ้าเราเข้าร่วมศาสนพิธีนี้ นั่นจะเป็นประจักษ์พยานต่อพระบิดาว่าเราระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา และพระองค์ทรงสัญญาว่าเราจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเรา6

ในคำสอนที่แอลมาผู้บุตรให้กับชิบลันบุตรชาย เราพบคำแนะนำและคำเตือนที่ชาญฉลาดซึ่งช่วยให้เราซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาของเรา

“จงแน่ใจว่าลูกจะไม่ทะนงตนจนถือดี; แท้จริงแล้ว, จงแน่ใจว่าลูกจะไม่โอ้อวดปัญญาตนเอง, หรือพละกำลังมากของลูก.

“จงใช้ความองอาจ, แต่ไม่ใช่วางเขื่อง; และจงแน่ใจด้วยว่าลูกหักห้ามความลุ่มหลงทั้งปวงของลูก, เพื่อลูกจะเต็มไปด้วยความรัก; จงแน่ใจว่าลูกละเว้นจากความเกียจคร้าน”7

หลายปีก่อน ช่วงพักร้อน ข้าพเจ้าต้องการไปพายเรือคายัคเป็นครั้งแรก ข้าพเจ้าเช่าเรือคายัค และออกทะเลด้วยความกระตือรือร้นเต็มที่

ไม่กี่นาทีหลังจากนั้น คลื่นทำให้เรือคายัคพลิกคว่ำ ข้าพเจ้าพยายามตั้งลำอีกครั้งโดยใช้มือข้างหนึ่งจับไม้พายและอีกข้างหนึ่งจับเรือคายัคพลิกขึ้นมา

ข้าพเจ้าพายเรือคายัคอีกครั้ง แต่ไม่กี่นาทีให้หลัง เรือคายัคก็พลิกคว่ำอีก ข้าพเจ้าพยายามพายต่อ แต่ไม่ได้ผล จนกระทั่งคนที่เข้าใจเรื่องการพายเรือคายัคบอกข้าพเจ้าว่าใต้ท้องเรือมีรอยรั่วแน่นอน เมื่อน้ำเข้ามาในเรือ ทำให้เรือเอียงไปมาจึงบังคับเรือไม่ได้ ข้าพเจ้าลากเรือคายัคเข้าฝั่ง ดึงจุกออก และแน่นอน น้ำจำนวนมากไหลออกมา

ข้าพเจ้าคิดว่าบางครั้งเราใช้ชีวิตอยู่กับบาปที่ขัดขวางความก้าวหน้าทางวิญญาณของเรา เหมือนรอยรั่วในเรือคายัคของข้าพเจ้า

หากเราดึงดันในบาปของเรา เราจะลืมพันธสัญญาที่ทำไว้กับพระเจ้า แม้ถึงกับพลิกคว่ำอยู่ตลอดเวลาเพราะความไม่สมดุลที่บาปเหล่านั้นสร้างขึ้นในชีวิตเรา

เหมือนรอยรั่วในเรือคายัคของข้าพเจ้า เราต้องจัดการรอยรั่วในชีวิตเรา บาปบางอย่างจะต้องพยายามกลับใจมากกว่าบาปอย่างอื่น

ด้วยเหตุนี้เราจึงควรถามตัวเราว่า เราคิดว่าเจตคติของเราต่อพระผู้ช่วยให้รอดและงานของพระองค์อยู่ที่ใด เราอยู่ในสถานการณ์ของเปโตรเมื่อเขาปฏิเสธพระเยซูคริสต์หรือไม่ หรือเราก้าวหน้าถึงจุดที่เรามีเจตคติและความมุ่งมั่นแบบเปโตรหลังจากเขาได้รับงานมอบหมายครั้งใหญ่จากพระผู้ช่วยให้รอด8

เราต้องพยายามเชื่อฟังพระบัญญัติทุกข้อและเอาใจใส่พระบัญญัติที่เรารักษาได้ยากที่สุด พระเจ้าจะทรงอยู่ข้างเรา ทรงช่วยเราในยามที่เราต้องการและอ่อนแอ และหากเราแสดงความปรารถนาที่จริงใจและทำตามนั้น พระองค์จะทรงทำให้ “สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็ง”9

การเชื่อฟังจะให้พลังเราเอาชนะบาป เราต้องเข้าใจเช่นกันว่าการทดลองศรัทธาของเราเรียกร้องให้เราเชื่อฟัง บ่อยครั้งมักจะไม่รู้ผล

ข้าพเจ้าขอเสนอสูตรที่จะช่วยให้เราอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่

  1. สวดอ้อนวอนและอ่านพระคัมภีร์ ทุกวัน

  2. รับส่วนศีลระลึกด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด ทุกสัปดาห์

  3. จ่ายส่วนสิบและเงินบริจาคอดอาหารของเราทุกเดือน

  4. ต่อใบรับรองพระวิหารของเรา---ทุกสองปี—ทุกปีสำหรับเยาวชน

  5. รับใช้งานของพระเจ้าตลอดชีวิตเรา

ขอให้ความจริงอันสำคัญยิ่งของพระกิตติคุณทำให้ใจเราหนักแน่น และรักษาชีวิตเราให้ไร้รอยรั่วที่สามารถขัดขวางการเดินทางอย่างปลอดภัยผ่านทะเลของชีวิตนี้

ความสำเร็จในวิธีของพระเจ้ามีราคา และวิธีเดียวที่จะประสบความสำเร็จคือจ่ายราคานั้น

ข้าพเจ้าสำนึกคุณอย่างยิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงอดทนจนพระชนม์ชีพหาไม่ โดยทรงพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้สำเร็จ

พระองค์ทรงทนทุกข์เพื่อบาป ความเจ็บปวด ความเศร้า ความปวดร้าว ความทุพพลภาพ และความกลัวของเรา พระองค์จึงทรงทราบวิธีช่วยเรา วิธีดลใจเรา วิธีปลอบโยนเรา และวิธีทำให้เราเข้มแข็งเพื่อเราจะอดทนและได้รับมงกุฎที่สงวนไว้สำหรับผู้ไม่พ่ายแพ้

ชีวิตเราแต่ละคนต่างกัน เราล้วนมีเวลาของการทดลอง เวลาสำหรับความสุข เวลาสำหรับการตัดสินใจ เวลาสำหรับการเอาชนะอุปสรรค และเวลาสำหรับใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์

ไม่ว่าสถานการณ์ส่วนตัวของเราเป็นเช่นไร ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงมีพระดำรัสอย่างสม่ำเสมอว่า “เรารักเจ้า เราสนับสนุนเจ้า เราอยู่กับเจ้า อย่ายอมแพ้ กลับใจและอดทนในเส้นทางที่เราแสดงให้เจ้าเห็น เรารับรองกับเจ้าว่าเราจะได้พบกันอีกครั้งในบ้านซีเลสเชียลของเรา” ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน