2010–2019
สิ่งที่ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนพึงเข้าใจ
เมษายน 2018


สิ่งที่ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนพึงเข้าใจ

การแต่งตั้งฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนของท่านสำคัญต่อการช่วยบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าให้ได้รับเดชานุภาพแห่งการชดใช้ของพระคริสต์

พี่น้องชายทั้งหลาย นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้อยู่กับท่านในการประชุมใหญ่ครั้งนี้ สมัยข้าพเจ้าเป็นประธานคณะเผยแผ่คนใหม่ ข้าพเจ้าตื่นเต้นที่จะได้รับผู้สอนศาสนาที่มาใหม่กลุ่มแรก ผู้สอนศาสนาสองสามคนที่มีประสบการณ์มากกว่ากำลังเตรียมการประชุมสั้นๆ กับคนใหม่ข้าพเจ้าสังเกตเห็นพวกเขาจัดเก้าอี้เด็กเป็นครึ่งวงกลม

“ใช้เก้าอี้ตัวเล็กพวกนี้ทำไมครับ” ข้าพเจ้าถาม

ผู้สอนศาสนาตอบอย่างเขินอายว่า “สำหรับผู้สอนศาสนาคนใหม่ครับ”

ข้าพเจ้าเชื่อว่าวิธีที่เรามองผู้อื่นส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อการรับรู้ว่าพวกเขาเป็นใครและพวกเขาจะเป็นอะไร1 วันนั้นผู้สอนศาสนาคนใหม่ของเรานั่งเก้าอี้ผู้ใหญ่

บางครั้งข้าพเจ้าเกรงว่าเราให้เยาวชนชายฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนนั่งเก้าอี้เด็ก แทนที่จะช่วยให้พวกเขาเห็นว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานความไว้วางใจอันศักดิ์สิทธิ์และงานสำคัญให้พวกเขาทำ

ประธานโธมัส เอส. มอนสันแนะนำเราว่าเยาวชนชายพึงเข้าใจว่า “การเป็นผู้ดำรงฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้า … หมายความว่าอย่างไร พวกเขาพึงได้รับการนำทางให้ตระหนักทางวิญญาณถึงความศักดิ์สิทธิ์ของการเรียกที่ได้รับแต่งตั้ง”2

วันนี้ ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำทางเราให้เข้าใจพลังและความศักดิ์สิทธิ์ของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนมากขึ้นและเป็นแรงบันดาลใจให้เราจดจ่อกับหน้าที่ฐานะปุโรหิตของเราอย่างขยันหมั่นเพียรมากขึ้น ข่าวสารของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนทุกคน รวมทั้งผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคเช่นกัน

เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์สอนว่าจุดประสงค์ของฐานะปุโรหิตคือให้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าเข้าถึงเดชานุภาพแห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์3 เพื่อรับเดชานุภาพแห่งการชดใช้ของพระคริสต์ในชีวิตเรา เราต้องเชื่อในพระองค์ กลับใจจากบาปของเรา ทำและรักษาพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ผ่านศาสนพิธี และรับพระวิญญาณบริสุทธิ์4 สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หลักธรรมที่เรามีส่วนเพียงครั้งเดียว แต่ทำงานด้วยกัน โดยเสริมและสร้างบนกันและกันในกระบวนการต่อเนื่องของความก้าวหน้าขึ้นไป “หาพระคริสต์, และได้รับการทำให้ดีพร้อมในพระองค์”5

ดังนั้น อะไรคือบทบาทของผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนในเรื่องนี้ บทบาทนั้นช่วยให้เราเข้าถึงเดชานุภาพแห่งการชดใช้ของพระคริสต์อย่างไร ข้าพเจ้าเชื่อว่าคำตอบอยู่ในกุญแจฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน—กุญแจแห่งการปฏิบัติของเหล่าเทพและของพระกิตติคุณขั้นเตรียม6

การปฏิบัติของเหล่าเทพ

เราจะเริ่มกับด้านหนึ่งของการปฏิบัติของเหล่าเทพ ก่อนบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าจะมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ พวกเขาต้องรู้จักพระองค์และได้เรียนพระกิตติคุณ ดังที่อัครสาวกเปาโลกล่าว

“พวกที่ยังไม่‍ได้‍ยินถึงพระ‍องค์จะเชื่อในพระ‍องค์ได้อย่าง‍ไร? และเมื่อไม่‍มีผู้ประ‌กาศ เขาจะได้‍ยินถึงพระ‍องค์อย่าง‍ไร?

“และถ้าไม่มีใครใช้พวกเขาไป เขาจะไปประกาศได้อย่างไร …

“ฉะนั้นความเชื่อเกิด‍ขึ้นได้ก็เพราะการได้‍ยิน และการได้‍ยินเกิด‍ขึ้นได้ก็เพราะการประ‌กาศพระ‍คริสต์”7

นับจากปฐมกาล พระผู้เป็นเจ้าทรง “ส่งเทพมาปฏิบัติต่อลูกหลานมนุษย์, เพื่อแสดงให้ประจักษ์เกี่ยวกับการเสด็จมาของพระคริสต์”8 เหล่าเทพเป็นสัตภาวะบนสวรรค์ที่ส่งข่าวสารของพระผู้เป็นเจ้า9 ทั้งในภาษาฮีบรูและกรีก รากศัพท์ของ angel(เทพ) คือ “ผู้ส่งสาร”10

ในวิธีเดียวกับที่เหล่าเทพคือผู้ส่งสารที่ได้รับสิทธิอำนาจซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงส่งมาประกาศพระวจนะของพระองค์แล้วดังนั้นจึงสร้างศรัทธา เราผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนได้รับการวางมือแต่งตั้งให้ “สอน, และเชื้อเชิญให้คนทั้งปวงมาหาพระคริสต์”11 การสั่งสอนพระกิตติคุณเป็นหน้าที่ฐานะปุโรหิต พลังเกี่ยวกับหน้าที่นี้ไม่เพียงสำหรับศาสดาพยากรณ์หรือสำหรับผู้สอนศาสนาเท่านั้น แต่สำหรับท่านด้วย!12

แล้วเราได้รับพลังนี้อย่างไร มัคนายกวัย 12 ปี—หรือเราทุกคน—นำศรัทธาในพระคริสต์เข้าไปในใจบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร เราเริ่มโดยสั่งสมพระวจนะเพื่อให้พลังของพระวจนะอยู่ในเรา13 พระองค์ทรงสัญญาว่าถ้าเราทำเช่นนั้น เราจะมี “อำนาจของพระผู้เป็นเจ้าในการสร้างความเชื่อมั่นแก่มนุษย์”14 เวลานั้นอาจเป็นโอกาสให้สอนในการประชุมโควรัมหรือไปเยี่ยมบ้านของสมาชิก เวลานั้นอาจไม่เป็นทางการนัก เช่น การสนทนากับเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัว ในสภาวะแวดล้อมเหล่านี้ ถ้าเราเตรียมมาแล้ว เราจะสอนพระกิตติคุณตามวิธีของเหล่าเทพได้ นั่นคือ สอนโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์15

ภาพ
เจคอบและบราเดอร์โฮล์มส์

เมื่อไม่นานมานี้ข้าพเจ้าได้ยินเจคอบ ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนในปาปัวนิวกินีเป็นพยานถึงพลังของพระคัมภีร์มอรมอนและพลังนั้นช่วยเขาต่อต้านความชั่วและทำตามพระวิญญาณอย่างไร คำพูดของเขาเพิ่มพูนศรัทธาของข้าพเจ้าและผู้อื่น ศรัทธาของข้าพเจ้าเติบโตเช่นกันเมื่อได้ยินผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนสอนและเป็นพยานในการประชุมโควรัมของพวกเขา

เยาวชนชายทั้งหลาย ท่านเป็นผู้ส่งสารที่ได้รับสิทธิอำนาจ โดยผ่านคำพูดและการกระทำของท่าน ท่านสามารถนำศรัทธาในพระคริสต์มาสู่ใจของบุตรธิดาของพระองค์16 ดังที่ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวไว้ว่า “ท่านจะเป็นเทพผู้ปฏิบัติศาสนกิจต่อพวกเขา”17

พระกิตติคุณขั้นเตรียม

ศรัทธาที่เพิ่มขึ้นในพระคริสต์มักทำให้เกิดความปรารถนาจะเปลี่ยนแปลงหรือกลับใจเสมอ18 ด้วยเหตุนี้จึงสมเหตุผลที่กุญแจแห่งการปฏิบัติของเหล่าเทพจึงมาคู่กับกุญแจแห่งพระกิตติคุณขั้นเตรียม“พระกิตติคุณแห่งการกลับใจ, และแห่งบัพติศมา, และปลดบาป”19

เมื่อท่านศึกษาหน้าที่ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน ท่านจะเห็นความรับผิดชอบชัดเจนในการเชื้อเชิญผู้อื่นให้กลับใจและปรับปรุง20 นั่นมิได้หมายความว่าเราจะยืนตะโกนอยู่ตรงมุมถนนว่า “จงกลับใจ!” เรามักจะหมายความว่า เรา กลับใจ เราให้อภัย และเมื่อเราปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่น เรามอบความหวังและสันติสุขที่การกลับใจนำมา—เพราะเราประสบมาด้วยตนเอง

ข้าพเจ้าเคยอยู่กับผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนเมื่อพวกเขาเยี่ยมเพื่อนสมาชิกในโควรัม ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าความห่วงใยของพวกเขาทำให้ใจอ่อนลงและช่วยให้พี่น้องของพวกเขารู้สึกถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าได้ยินเยาวชนชายคนหนึ่งแสดงประจักษ์พยานต่อเพื่อนวัยเดียวกันถึงพลังแห่งการกลับใจ ขณะทำเช่นนั้น ใจของเพื่อนอ่อนโยนลง เพื่อนให้คำมั่นสัญญา และรู้สึกถึงเดชานุภาพการเยียวยาของพระคริสต์

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์สอนว่า “การกลับใจเป็นเรื่องหนึ่ง การปลดบาปและการให้อภัยบาปของเราเป็นอีกเรื่องหนึ่ง พลังที่จะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นมีอยู่ในฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน”21 ศาสนพิธีแห่งบัพติศมาและศีลระลึกของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนเป็นพยานและทำให้การกลับใจเพื่อการปลดบาปของเราสมบูรณ์22 ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์อธิบายดังนี้ “เราได้รับบัญชาให้กลับใจจากบาป มาหาพระเจ้าด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดและรับส่วนศีลระลึก … เมื่อเราต่อพันธสัญญาบัพติศมาของเราในวิธีนี้ พระเจ้าทรงต่อผลการชำระให้สะอาดของบัพติศมา”23

พี่น้องทั้งหลาย นับเป็นสิทธิพิเศษอันศักดิ์สิทธิ์ที่ได้ปฏิบัติศาสนพิธีซึ่งนำการปลดบาปมาสู่ใจที่กลับใจผ่านพลังแห่งการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด24

เมื่อเร็วๆ นี้มีคนบอกข้าพเจ้าเรื่องปุโรหิตคนหนึ่งที่ไม่กล้าแสดงออก เขากำลังให้พรศีลระลึกเป็นครั้งแรก ขณะให้พร วิญญาณอันทรงพลังสถิตกับเขาและผู้เข้าร่วมประชุม ต่อมาในการประชุม เขาแสดงประจักษ์พยานที่เรียบง่ายทว่าชัดเจนถึงเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าที่เขารู้สึกระหว่างศาสนพิธีนั้น

ภาพ
โควรัมปุุโรหิตกับครอบครัวมบูลองโก

ในซิดนีย์ ออสเตรเลีย สมาชิกโควรัมปุโรหิตสี่คนให้บัพติศมาสมาชิกของครอบครัวมบูลองโก คุณแม่ของปุโรหิตคนหนึ่งเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่าประสบการณ์นี้ส่งผลอันมีพลังต่อลูกชายของเธออย่างไร ปุโรหิตเหล่านี้ได้เข้าใจความหมายของการ “ได้รับมอบหมายจากพระเยซูคริสต์”25

ดังที่ท่านทราบ เวลานี้ปุโรหิตสามารถประกอบพิธีบัพติศมาแทนคนตายในพระวิหารได้ ลูกชายวัย 17 ปีเพิ่งให้บัพติศมาข้าพเจ้าแทนบรรพชนบางคนของเรา เราทั้งคู่สำนึกคุณอย่างสุดซึ้งต่อฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนและเอกสิทธิ์ของการกระทำเพื่อความรอดของบุตรธิดาพระผู้เป็นเจ้า

เยาวชนชายทั้งหลาย เมื่อท่านมีส่วนร่วมในหน้าที่ฐานะปุโรหิตของท่านอย่างขยันขันแข็ง ท่านมีส่วนร่วมกับพระผู้เป็นเจ้าในงานของพระองค์ “คือการทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์”26 ประสบการณ์แบบนี้เพิ่มความปรารถนาของท่านและเตรียมท่านสอนการกลับใจและให้บัพติศมาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสในฐานะผู้สอนศาสนา และยังช่วยเตรียมท่านเพื่อรับใช้ตลอดชีวิตในฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค

ยอห์นผู้ถวายบัพติศมา แบบอย่างของเรา

ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนทั้งหลาย เรามีเอกสิทธิ์และหน้าที่ที่จะเป็นเพื่อนผู้รับใช้เหมือนยอห์นผู้ถวายบัพติศมา ยอห์นถูกส่งมาเป็นผู้ส่งสารที่ได้รับมอบอำนาจให้กล่าวคำพยานถึงพระคริสต์และเชื้อเชิญให้คนทั้งปวงกลับใจและรับบัพติศมา—กล่าวคือ เขาใช้กุญแจฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนที่เราพูดถึง แล้วยอห์นจึงประกาศว่า “ข้าพ‌เจ้าให้ท่านรับบัพ‌ติศ‌มาด้วยน้ำ แสดงว่ากลับ‍ใจใหม่ก็จริง แต่พระ‍องค์ผู้จะมาภาย‍หลังข้าพ‌เจ้าทรงยิ่ง‍ใหญ่กว่าข้าพ‌เจ้า … พระ‍องค์จะทรงให้พวก‍ท่านรับบัพ‌ติศ‌มาด้วยพระ‍วิญ‌ญาณ‍บริ‌สุทธิ์และด้วยไฟ”27

ดังนั้นโดยกุญแจแห่งการปฏิบัติศาสนกิจของเหล่าเทพและพระกิตติคุณขั้นเตรียม ฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนจึงเตรียมทางให้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ซึ่งเป็นของประทานประเสริฐสุดที่เราจะได้รับในชีวิตนี้ผ่านฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค28

นี่เป็นความรับผิดชอบอันลึกซึ้งที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน!

คำเชื้อเชิญและคำสัญญา

บิดามารดาและผู้นำฐานะปุโรหิต ท่านเข้าใจหรือไม่ถึงความสำคัญของคำแนะนำจากประธานมอนสันให้ช่วยเยาวชนชายเข้าใจ “ความหมายของ … การเป็นผู้ดำรงฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้า”29 การเข้าใจและขยายฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนจะเตรียมพวกเขาให้เป็นผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคที่ซื่อสัตย์ ผู้สอนศาสนาที่เปี่ยมด้วยพลัง สามีและบิดาที่ชอบธรรม โดยผ่านการรับใช้ พวกเขาจะเข้าใจและรู้สึกถึงความเป็นจริงของพลังฐานะปุโรหิต พลังที่จะกระทำในพระนามของพระคริสต์เพื่อความรอดของบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าด้วย

เยาวชนชายทั้งหลาย พระผู้เป็นเจ้าทรงมีงานให้ท่านทำ30 การแต่งตั้งฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนของท่านสำคัญต่อการช่วยบุตรธิดาของพระองค์ให้ได้รับเดชานุภาพแห่งการชดใช้ของพระคริสต์ ข้าพเจ้าสัญญาว่าเมื่อท่านทำให้หน้าที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เป็นศูนย์กลางของชีวิตท่าน ท่านจะรู้สึกถึงเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน ท่านจะเข้าใจอัตลักษณ์ของท่านในฐานะบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ได้รับเรียกด้วยการเรียกอันศักดิ์สิทธิ์ให้ทำงานของพระองค์ เช่นเดียวกับยอห์นผู้ถวายบัพติศมา ท่านจะช่วยเตรียมทางเพื่อรับการเสด็จมาของพระบุตรของพระองค์ ข้าพเจ้ากล่าวคำพยานถึงความจริงเหล่านี้ ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับโมเสส หลังจากพบกับพระผู้เป็นเจ้า ท่านเริ่มมองตนเองต่างจากเดิม—มองว่าท่านเป็นบุตรของพระผู้เป็นเจ้า มุมมองดังกล่าวช่วยท่านต่อต้านซาตานผู้เรียกท่านว่า “บุตรของมนุษย์” (ดู โมเสส 1:1–20 ดู โธมัส เอส. มอนสัน, “มองผู้อื่นดังที่พวกเขาจะเป็น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 68–71 ด้วย; เดล จี. เรนลันด์, “ผ่านพระเนตรของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 93–94.

  2. โธมัส เอส. มอนสัน, การประชุมผู้นำในการประชุมใหญ่สามัญ, มี.ค. 2011.

  3. ดู เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์, “ฐานะปุโรหิตและเดชานุภาพแห่งการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 64–67.

  4. ดู 2 นีไฟ 31–32; 3 นีไฟ 11:30–41; 27:13–21; อีเธอร์ 4:18–19; โมเสส 6:52–68; 8:24.

  5. โมโรไน 10:32; ดู สั่งสอนกิตติคุณของเรา: แนวทางการรับใช้งานเผยแผ่ศาสนา (2004), 6.

  6. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 13:1; 84:26–27; 107:20.

  7. โรม 10:14–15, 17. โจเซฟ สมิธสอนความจริงเดียวกันนี้ว่า “ศรัทธาเกิดจากการได้ฟังพระคำของพระผู้เป็นเจ้า ผ่านประจักษ์พยานของผู้รับใช้ของพระผู้เป็นเจ้า เพราะจะได้ประจักษ์พยานนั้นโดยพระวิญญาณแห่งการพยากรณ์และการเปิดเผยเสมอ” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 416).

  8. โมโรไน 7:22; ดู แอลมา 12:28–30; 13:21–24; 32:22–23; 39:17–19; ฮีลามัน 5:11; โมโรไน 7:21–25, 29–32; หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:35; 29:41–42; โมเสส 5:58; ดู มัทธิว 28:19; โรม 10:13–17ด้วย.

  9. ดู George Q. Cannon, Gospel Truth, sel. Jerreld L. Newquist (1987), 54.

  10. ดู James Strong, The New Strong’s Exhaustive Concordance of the Bible (1984), Hebrew and Chaldee dictionary section, 66, Greek dictionary section, 7.

  11. หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:59.

  12. ดู เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “เพื่อเขาจะกลายเป็นคนเข้มแข็งเช่นกัน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 75–78; แอลมา 17:3; ฮีลามัน 5:18; 6:4–5; หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:3.

  13. ดู 1 ยอห์น 2:14; แอลมา 17:2; 26:13; 32:42. สัมฤทธิผลในหน้าที่ของฉันต่อพระผู้เป็นเจ้า: สำหรับฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน เป็นเครื่องมือล้ำค่าที่ช่วยงานนี้.

  14. หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:21; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:85 ด้วย.

  15. ดู 2 นีไฟ 32:3; หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:14; 50:17–22.

  16. ดู โมโรไน 7:25.

  17. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “Honoring the Priesthood,” Ensign, May 1993, 40; ดู แอลมา 27:4 ด้วย.

  18. ดู แอลมา 34:17; ฮีลามัน 14:13.

  19. หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:27.

  20. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:46, 51–59, 73–79. สัมฤทธิผลในหน้าที่ของฉันต่อพระผู้เป็นเจ้า: สำหรับฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน เป็นเครื่องมือล้ำค่าที่ช่วยเราเข้าใจหน้าที่ของเรา.

  21. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “The Aaronic Priesthood—a Gift from God,” Ensign, May 1988, 46.

  22. เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันอธิบายว่า: “บัพติศมาโดยน้ำเป็นขั้นสุดท้ายหรือสูงสุดในขั้นตอนการกลับใจ การละทิ้งบาป ควบคู่กับพันธสัญญาแห่งการเชื่อฟังทำให้การกลับใจของเราสมบูรณ์ โดยแท้แล้ว การกลับใจยังไม่เสร็จสิ้นหากปราศจากพันธสัญญาดังกล่าว” (“สร้างศรัทธาในพระคริสต์,” เลียโฮนา, ก.ย. 2012, 14–15). ดู ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “ของประทานอันสูงส่งแห่งการกลับใจ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 47–51; งานแปลของโจเซฟ สมิธ, มัทธิว 26:24 (ท้ายคู่มือพระคัมภีร์).

    ดัลลิน เอช. โอ๊คส์สอนว่าศาสนพิธีศีลระลึกเปิด “โอกาสต่อพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ทุกสัปดาห์ที่เปิดโอกาสให้เราเป็นผู้รับส่วนพระคุณอันเนื่องมาจากการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดกับผลการชำระให้สะอาดทางวิญญาณของบัพติศมาและการยืนยัน” (“เข้าใจพันธสัญญาของเรากับพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, ก.ค. 2012, 21). ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “มีพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์อยู่เสมอ,” เลียโฮนา, ม.ค. 1997, 67–70 ด้วย.

  23. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ฐานะปุโรหิตแห่งแอรันและศีลระลึก,” เลียโฮนา, ม.ค. 1999, 44.

  24. เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์อธิบายว่า “ศาสนพิธีแห่งความรอดและความสูงส่งที่ปฏิบัติในศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเจ้าเป็นมากกว่าพิธีกรรมหรือการประกอบพิธีเชิงสัญลักษณ์ ศาสนพิธีก่อให้เกิดช่องทางที่ได้รับมอบอำนาจซึ่งทำให้พรและพลังจากสวรรค์ผ่านเข้าสู่ชีวิตของแต่ละคน” (“การปลดบาปของท่านจะมีอยู่เสมอ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 60).

  25. หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:73.

  26. โมเสส 1:39.

  27. มัทธิว 3:11.

  28. ผู้นำศาสนจักรหลายท่านเรียกพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่าของประทานประเสริฐสุดของความเป็นมรรตัย

    ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์กล่าวว่า “การได้เป็นเพื่อนกับพระวิญญาณบริสุทธิ์ตลอดไปนั้นเป็นสมบัติล้ำค่าที่สุดที่เรามีได้ในความมรรตัย” (“ฐานะปุโรหิตแห่งแอรันและศีลระลึก,” เลียโฮนา, ม.ค. 1999, 44).

    เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกีสอนว่า “ถ้าพูดจากมุมมองของนิรันดร ชีวิตนิรันดร์เป็นของประทานสำคัญที่สุดในบรรดาของประทานทั้งปวงของพระผู้เป็นเจ้า แต่ถ้ามองเฉพาะในชีวิตนี้ ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นของประทานสำคัญที่สุดที่มนุษย์จะได้รับ” (“What Is Meant by ‘The Holy Spirit’?” Instructor, Feb. 1965, 57).

    ประธานวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์เป็นพยานว่า “หากท่านมีพระวิญญาณบริสุทธิ์สถิตอยู่กับท่าน—และทุกท่านควรมี—ข้าพเจ้าบอกท่านได้ว่าไม่มีของประทานใด ไม่มีพรใด และไม่มีประจักษ์พยานใดที่ให้มนุษย์บนแผ่นดินโลกจะยิ่งใหญ่ไปกว่านี้อีกแล้ว ท่านอาจมีการปฏิบัติของเทพ ท่านอาจเห็นการอัศจรรย์มามาก ท่านอาจเห็นสิ่งแปลกประหลาดมากมายในโลก แต่ข้าพเจ้าถือว่าของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นของประทานยิ่งใหญ่ที่สุดที่มอบให้มนุษย์” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: วิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ [2004], 50).

    และเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์เพิ่มเติมว่า “พระบัญญัติจากพระผู้เป็นเจ้าที่เราเชื่อฟังและคำแนะนำที่ได้รับการดลใจจากผู้นำศาสนจักรที่เราทำตาม โดยหลักการแล้วมุ่งเน้นเรื่องการมีพระวิญญาณเป็นเพื่อนโดยพื้นฐานแล้วคำสอนของพระกิตติคุณและกิจกรรมทั้งหมดมีศูนย์กลางอยู่ที่การมาหาพระคริสต์โดยการได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตเรา” (“ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 120).

  29. โธมัส เอส. มอนสัน, การประชุมผู้นำในการประชุมใหญ่สามัญ, มี.ค. 2011.

  30. ดู โมเสส 1:6.