2010–2019
ความไม่พอใจอย่างพระเจ้า
ตุลาคม 2018


ความไม่พอใจอย่างพระเจ้า

ความไม่พอใจอย่างพระเจ้าก่อเกิดการกระทำด้วยศรัทธา คือทำตามพระดำรัสเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้ทำดีและน้อมถวายชีวิตแด่พระองค์

สมัยเรียนชั้นประถมศึกษา เราเดินกลับบ้านตามทางเดินเรียบๆ ทอดคดเคี้ยวขึ้นไปตามเชิงเขา มีทางเดินอีกเส้นทางหนึ่ง ไม่เรียบ เรียกว่า “ทางเด็กชาย” ทางเด็กชายเป็นทางดินที่ทอดตรงขึ้นเขา ตัดตรง แต่ชันกว่ามาก ขณะเป็นเด็กหญิง ดิฉันรู้ว่าดิฉันเดินได้ทุกเส้นทางที่เด็กชายเดิน สำคัญกว่านั้น ดิฉันรู้ว่าดิฉันอยู่ในยุคสุดท้ายและจำเป็นต้องทำเรื่องยากดังที่ผู้บุกเบิกทำ—ดิฉันต้องการเตรียมตัวให้พร้อม เมื่อมีโอกาส ขณะเดินบนทางเรียบ ดิฉันจะปล่อยให้เพื่อนเดินนำหน้าไปก่อน ตัวเองถอดรองเท้าแล้วเดินเท้าเปล่าขึ้นไปตามทางเด็กชาย ดิฉันพยายามฝึกให้เท้าแข็งแรง

ขณะเป็นเด็กหญิงปฐมวัย ดิฉันคิดว่าสิ่งที่ทำคือการเตรียมพร้อม เดี๋ยวนี้ดิฉันรู้แล้วว่าต่างกัน! แทนที่จะเดินเท้าเปล่าขึ้นทางภูเขา ดิฉันรู้ว่า สามารถเตรียมเท้าให้เดินไปบนเส้นทางพันธสัญญาโดยตอบรับคำเชื้อเชิญของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เพราะพระเจ้าทรงเรียกเราแต่ละคนผ่านศาสดาพยากรณ์ให้ดำเนินชีวิตและเอาใจใส่ “ทางที่สูงและบริสุทธิ์กว่า” และ “ก้าวสูงขึ้นอีกก้าว.”1

เสียงเรียกจากศาสดาพยากรณ์ให้ปฏิบัติรวมกับสำนึกโดยกำเนิดที่บอกว่าเราทำได้และเป็นได้มากขึ้น บางครั้งจะสร้างสิ่งที่เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์เรียกว่า “ความไม่พอใจอย่างพระเจ้า”2 ขึ้นในตัวเรา ความไม่พอใจอย่างพระเจ้าเกิดขึ้นเมื่อเราเปรียบเทียบ “สิ่งที่เรา เป็น กับสิ่งที่เรามีพลังเพื่อจะ กลายเป็น3 ถ้าเราซื่อสัตย์ เราแต่ละคนจะรู้สึกถึงช่องว่างระหว่างที่ไหนกับใครที่เราเป็น และที่ไหนกับใครที่เราต้องการจะกลายเป็น เราปรารถนาจะมีความสามารถเฉพาะตัวมากขึ้น เรามีความรู้สึกเหล่านี้เพราะเราเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า เกิดจากแสงสว่างของพระคริสต์แต่ดำเนินชีวิตในโลกที่ตก ความรู้สึกเหล่านี้มาจากพระผู้เป็นเจ้า และสร้างสรรค์ความเร่งด่วนที่จะกระทำ

เราควรยินดีรับความรู้สึกถึงความไม่พอใจอย่างพระเจ้าที่เรียกร้องให้เราขึ้นสู่วิถีที่สูงกว่า ขณะที่รู้และหลีกเลี่ยงสิ่งเทียมเท็จของซาตาน นั่นคือ—ความท้อถอยจนไม่ทำอะไรเลย เป็นช่องโหว่อันล้ำค่าที่ซาตานจ้องจะกระโดดเข้ามา เราอาจเลือกที่จะเดินบนวิถีที่สูงกว่าซึ่งนำเราให้แสวงหาพระผู้เป็นเจ้า สันติสุขและพระคุณของพระองค์หรือเราอาจเลือกฟังซาตาน ผู้กรอกหูเราด้วยข่าวสารที่เราไม่เคยพอ อาทิ ไม่รวยพอ ไม่ฉลาดพอ ไม่สวยพอ ไม่มีอะไรดีพอ ความไม่พอใจของเราอาจเป็นแรงจูงใจให้ปรับปรุง—หรือทำให้เราเลิกพยายาม

กระทำด้วยศรัทธา

ความไม่พอใจอย่างพระเจ้าต่างกับสิ่งเทียมเท็จของซาตานตรงที่ความไม่พอใจอย่างพระเจ้าจะนำเราไปสู่การกระทำที่ซื่อสัตย์ ความไม่พอใจอย่างพระเจ้าไม่เชิญชวนให้เราอยู่แต่ในส่วนที่เราสะดวกสบาย ทั้งไม่นำเราไปสู่ความสิ้นหวัง ดิฉันเรียนรู้ว่าเมื่อหมกมุ่นกับความคิดทุกอย่างที่ดิฉัน ไม่ใช่ ดิฉันไม่ก้าวหน้า และพบว่าการรู้สึกถึงพระวิญญาณและทำตามพระองค์เป็นเรื่องยากกว่าเดิม4

ขณะเป็นเด็กหนุ่ม โจเซฟ สมิธตระหนักดีถึงความบกพร่องของตนและกังวลเรื่อง “ความผาสุกของจิตวิญญาณอมตะของท่าน” ในถ้อยคำของท่าน “ใจข้าพเจ้าหดหู่ยิ่งเพราะข้าพเจ้ารู้ตัวว่าทำบาป และ … รู้สึกเป็นทุกข์เพราะบาปของตนเองและเพราะบาปของโลก”5 สิ่งนี้นำท่านไปสู่การ “ว้าวุ่นครุ่นคิดหนักและกังวลใจมาก”6 นั่นฟังคุ้นหูหรือไม่ ท่านกังวลใจหรือหดหู่เพราะข้อบกพร่องของตนเองหรือไม่

โจเซฟ ทำ บางอย่าง ท่านเล่าว่า “ข้าพเจ้ามักกล่าวแก่ตนเอง: จะให้ทำอย่างไรเล่า?”7 โจเซฟกระทำด้วยศรัทธา เขาหันไปหาพระคัมภีร์ อ่านคำเชื้อเชิญใน ยากอบ 1:5 และหันไปขอความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า นิมิตอันส่งผลมาสู่การฟื้นฟู ดิฉันสำนึกคุณอย่างยิ่งที่ความไม่พอใจอย่างพระเจ้าของโจเซฟ ในช่วงเวลาที่กังวลใจและสับสน กระตุ้นให้ท่านกระทำด้วยศรัทธา

ทำตามการกระตุ้นเตือนเพื่อทำความดี

โลกมักใช้ความรู้สึกไม่พอใจเป็นข้ออ้างเพื่อหมกมุ่นอยู่กับตนเอง เพื่อหันความคิดย้อนเข้าหาตนเองและอดีต จมจ่อมอยู่กับเรื่อง ฉัน เป็นใคร ฉัน ไม่เป็นใครและ ฉัน ต้องการอะไร ความไม่พอใจอย่างพระเจ้ามีแรงจูงใจให้เราทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดผู้ “เสด็จไปทำคุณประโยชน์”8 ขณะเดินตามวิถีทางการเป็นสานุศิษย์ เราจะได้รับการรบเร้าทางวิญญาณให้เอื้อมออกไปหาผู้อื่น

หลายปีก่อนดิฉันฟังเรื่องเล่าที่ช่วยให้ดิฉันรับรู้และกระทำตามการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซิสเตอร์บอนนี ดี. พาร์กิน อดีตประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญเล่าว่า

“ซูซาน … เป็นช่างเย็บผ้าฝีมือเยี่ยม ประธาน [สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู.] คิมบัลล์อยู่ในวอร์ด [ของเธอ] วันอาทิตย์วันหนึ่ง ซูซานสังเกตเห็นว่าท่านมีสูทตัวใหม่ คุณพ่อเพิ่ง … นำผ้าไหมที่สวยที่สุดมาให้เธอ ซูซานคิดว่าผ้าไหมชิ้นนั้นน่าจะทำเนคไทสุดเท่ที่เข้ากับสูทตัวใหม่ของประธานคิมบัลล์ได้ดี เธอทำเนคไทเสร็จในวันจันทร์ เธอห่อเนคไทด้วยกระดาษบางๆ แล้วเดินผ่านช่วงตึกไปบ้านประธานคัมบัลล์

“ขณะเดินใกล้ถึงประตูหน้าบ้าน ทันใดนั้นเธอหยุดยืนและคิดว่า ‘ฉันเป็นใครที่จะมาทำเนคไทให้ศาสดาพยากรณ์ ท่านคงมีมากมายอยู่แล้ว’ เมื่อเห็นว่าตนเองคิดผิด เธอก็หันกลับ

“จังหวะนั้นซิสเตอร์คิมบัลล์เปิดประตูหน้าบ้านออกมาพอดีเธอร้องทักว่า ‘โอ ซูซาน!’

“ซูซานรู้สึกกระอักกระอ่วนเธอพูดว่า ‘เมื่อวันอาทิตย์ ดิฉันเห็นประธานคิมบัลล์สวมสูทตัวใหม่ พ่อเพิ่งนำผ้าไหมจากนิวยอร์กมาให้ … ดิฉันก็เลยทำเนคไทมาให้ท่านค่ะ’

“ก่อนที่ซูซานจะพูดอะไรต่อไป ซิสเตอร์คิมบัลล์หยุดเธอไว้ โอบไหล่เธอและพูดว่า ‘ซูซาน อย่าสะกดกลั้นความคิดเผื่อแผ่’”9

ดิฉันชอบมาก “อย่าสะกดกลั้นความคิดเผื่อแผ่” บางครั้งเมื่อเกิดความประทับใจที่จะทำอะไรให้ใครสักคน ดิฉันจะสงสัยว่านั่นเป็นการกระตุ้นเตือนหรือเป็นความคิดของดิฉันเอง แต่ดิฉันนึกขึ้นได้ว่า “สิ่งที่เป็นของพระผู้เป็นเจ้าเชื้อเชิญและชักจูงให้ทำดีอยู่ตลอดเวลา; ดังนั้น, ทุกสิ่งที่เชื้อเชิญและชักจูงให้ทำดี, และรักพระผู้เป็นเจ้า, และรับใช้พระองค์, จึงได้รับการดลใจจากพระผู้เป็นเจ้า”10

ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นเตือนโดยตรงหรือแค่แรงผลักดันให้ช่วย การทำดีไม่เคยสูญเปล่า—ไม่เคยเป็นการขานรับที่ผิด เพราะ “ความรัก (จิตกุศล)ไม่มีวันเสื่อมสูญ”11

บ่อยครั้งที่จังหวะเวลาทำให้ไม่สะดวก และเราแทบไม่รู้ผลจากการรับใช้เล็กๆ น้อยๆ ของเรา แต่ทุกครั้ง เราจะตระหนักว่าเราเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์พระผู้เป็นเจ้า เราจะสำนึกคุณที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงทำงานผ่านเราเพื่อแสดงให้ประจักษ์ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเห็นชอบ

พี่น้องสตรีทั้งหลาย ท่านและดิฉันจะทูลวิงวอนพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงแสดงให้เราเห็น “สิ่งทั้งปวงที่ [เรา] ควรทำ”12 แม้เมื่อรายการที่เราต้องทำเต็มแล้ว เมื่อได้รับการกระตุ้นเตือน เราอาจทิ้งถ้วยชามไว้ในอ่างหรือทิ้งหน้า in-box ที่มีเรื่องท้าทายมากมายให้ทำ เพื่อไปอ่านให้เด็กฟัง ไปเยี่ยมเพื่อน ไปดูแลลูกของเพื่อนบ้าน หรือรับใช้ในพระวิหาร อย่าเข้าใจดิฉันผิด—ดิฉันเป็นนักจดบันทึกรายการ ชอบเช็ครายการที่ทำแล้ว แต่สันติสุขมากับการรู้ว่า การเป็น คนดีขึ้นไม่จำเป็นต้องเท่าเทียมกับ การทำ มากขึ้น การขานรับความไม่พอใจโดยมุ่งทำตามการกระตุ้นเตือนทำให้ดิฉันเปลี่ยนวิธีคิดเรื่อง “เวลาของฉัน” และมองการรับใช้เป็นจุดประสงค์ของชีวิต ไม่ใช่เรื่องขัดจังหวะ

ความไม่พอใจอย่างพระเจ้านำเราไปหาพระคริสต์

ความไม่พอใจอย่างพระเจ้านำเราสู่ความนอบน้อม ไม่ใช่การสงสารตนเองหรือความท้อถอยที่เกิดจากการเปรียบเทียบให้เรารู้สึกไม่ดีพอ สตรีที่รักษาพันธสัญญามาในหลากหลายขนาดและรูปร่าง ครอบครัว ประสบการณ์ชีวิต ตลอดจนสภาวการณ์ของพวกเธอแตกต่างกัน

แน่นอน เราทุกคนจะไปไม่ถึงศักยภาพแห่งสวรรค์ของเรา และมีความจริงในการตระหนักได้ว่าเราไม่ดีพอหากเราทำ คนเดียว แต่ข่าวประเสริฐของพระกิตติคุณคือว่าด้วยพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า เรา จะ ดีพอ ด้วยความช่วยเหลือของพระคริสต์ เราจะทำทุกสิ่งได้13 พระคัมภีร์สัญญาว่าเราจะ “พบพระคุณที่ช่วยเราในยามต้องการ”14

ความจริงที่น่าอัศจรรย์คือว่าความอ่อนแอของเราสามารถเป็นพรได้เมื่อทำให้เรานอบน้อมถ่อมตนและหันไปหาพระคริสต์15 ความไม่พอใจกลายเป็นความไม่พอใจอย่างพระเจ้าเมื่อเราเข้าใกล้พระเยซูคริสต์แทนที่จะเก็บตัวเพราะสงสารตนเอง

ปาฏิหาริย์ของพระเยซูมักจะเริ่มต้นที่ความต้องการ ความขัดสน ความล้มเหลวหรือความบกพร่อง จำเรื่องขนมปังและปลาได้หรือไม่ ผู้เขียนพระกิตติคุณต่างเล่าวิธีที่พระเยซูทรงทำปาฏิหาริย์ให้ผู้ติดตามพระองค์หลายพันคนมีอาหารรับประทาน16 แต่เรื่องราวเริ่มที่เหล่าสานุศิษย์เห็นความขาดแคลน พวกท่านรู้ว่ามีเพียง “ขนม‍ปังบาร์‌เลย์ห้าก้อนกับปลาสองตัวแต่เท่า‍นั้นจะพออะไรกับคน‍มากอย่าง‍นี้?”17 สานุศิษย์พูดถูก อาหาร ไม่ พอ แต่เมื่อถวายสิ่งที่มีแด่พระเยซู พระองค์ จึงทรงทำปาฏิหาริย์

ท่านเคยรู้สึกหรือไม่ว่าพรสวรรค์และของประทานของท่านมีไม่พอกับงาน ดิฉันเคย แต่ดิฉันกับท่านถวายสิ่งที่มีแด่พระคริสต์ได้ พระองค์จะทรงขยายความพยายามของเรา สิ่งที่ท่านต้องถวายมีมากเกินพอ—แม้ท่านมีความเปราะบางและความอ่อนแออย่างมนุษย์—ถ้า ท่านพึ่งพาพระคุณของพระผู้เป็นเจ้า

ความจริงคือเราแต่ละคนห่างจากพระผู้เป็นเจ้าหนึ่งรุ่น—เราแต่ละคนเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า18 เช่นเดียวกับที่ทรงทำมาตลอดยุคสมัยกับทั้งศาสดาพยากรณ์และคนธรรมดา พระบิดาบนสวรรค์ทรงมีเจตนาจะเปลี่ยนเรา

ซี. เอส. ลูว์อิสอธิบายพลังที่ทำให้เปลี่ยนแปลงของพระผู้เป็นเจ้าดังนี้ “ให้จินตนาการว่าท่านเป็นบ้านที่มีชีวิต พระผู้เป็นเจ้าเสด็จมาซ่อมแซมบ้านหลังนั้น ตอนแรกท่านอาจจะเข้าใจสิ่งที่พระองค์ทรงทำ พระองค์ทรงวางท่อระบายน้ำให้ถูกที่ อุดรอยรั่วบนหลังคาและอื่นๆ ท่านรู้ว่าต้องทำงานเหล่านั้นและท่านไม่แปลกใจ แต่อีกสักครู่พระองค์ทรงเริ่มทุบบ้านด้วยวิธีที่ทำให้เจ็บปวดอย่างรุนแรง … [ท่านเห็น] ว่าพระองค์กำลังสร้างบ้านที่ต่างจากบ้านที่ท่านคิดโดยสิ้นเชิง … ท่านคิดว่าพระองค์กำลังจะสร้างให้เป็นกระท่อมหลังเล็กพออยู่สบาย แต่พระองค์กำลังสร้างพระราชวัง พระองค์ทรงประสงค์จะเสด็จมาประทับเอง”19

การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดจะทำให้เราคู่ควรแก่งานที่รอเราอยู่ ศาสดาพยากรณ์สอนว่า ขณะเราไต่ขึ้นตามวิถีของการเป็นสานุศิษย์ พระคุณของพระคริสต์จะชำระเราให้บริสุทธิ์ ความไม่พอใจอย่างพระเจ้าก่อเกิดการกระทำด้วยศรัทธา คือทำตามพระดำรัสเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้ทำดีและน้อมถวายชีวิตแด่พระองค์ ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, ใน Tad Walch, “‘The Lord’s Message Is for Everyone’: President Nelson Talks about Global Tour,” Deseret News, Apr. 12, 2018, deseretnews.com.

  2. นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “Becoming a Disciple,” Ensign, June 1996, 18.

  3. นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “Becoming a Disciple,” 16; เน้นตัวเอน.

  4. “ความท้อแท้จะทำให้ศรัทธาของท่านอ่อนแอ หากลดการคาดหวัง ประสิทธิภาพของท่านจะลดลงด้วย ความปรารถนาของท่านจะไร้พลัง ท่านจะปฏิบัติตามพระวิญญาณได้ยากขึ้น” (“จุดประสงค์ในการเป็นผู้สอนศาสนาของข้าพเจ้าคืออะไรสั่งสอนกิตติคุณของเรา : แนวทางการรับใช้งานเผยแผ่ศาสนา, ฉบับแก้ไขใหม่ [2018], lds.org/manual/missionary).

  5. คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 28.

  6. โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:8.

  7. โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:10; เน้นตัวเอน.

  8. กิจการ 10:38.

  9. Bonnie D. Parkin, “Personal Ministry: Sacred and Precious” (Brigham Young University devotional, Feb. 13, 2007), 1, speeches.byu.edu.

  10. โมโรไน 7:13.

  11. 1 โครินธ์ 13:8.

  12. 2 นีไฟ 32:5.

  13. “ข้าพเจ้าเผชิญได้ทุกอย่างโดยพระองค์ผู้ทรงเสริมกำลังข้าพเจ้า” (ฟีลิปปี 4:13).

  14. ฮีบรู 4:16.

  15. “และหากมนุษย์มาหาเรา เราจะแสดงให้พวกเขาเห็นความอ่อนแอของพวกเขา. เราให้ความอ่อนแอแก่มนุษย์เพื่อพวกเขาจะนอบน้อม; และ พระคุณ ของเราเพียงพอสำหรับคนทั้งปวงที่นอบน้อมถ่อมตนต่อหน้าเรา; เพราะหากพวกเขานอบน้อมถ่อมตนต่อหน้าเรา, และมีศรัทธาในเรา, เมื่อนั้นเราจะทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็งสำหรับพวกเขา” (อีเธอร์ 12:27; เน้นตัวเอน).

  16. ดู มัทธิว 14:13–21; มาระโก 6:31–44; ลูกา 9:10–17; ยอห์น 6:1–14

  17. ยอห์น 6:9.

  18. ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์สอนว่า “ไม่ว่าบรรพชนของท่านมีกี่รุ่น ไม่ว่าท่านจะเป็นตัวแทนของเชื้อชาติใดหรือคนกลุ่มใด สกุลของวิญญาณท่านเขียนได้บรรทัดเดียว นั่นคือ ท่านเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า!” (“To Young Women and Men,” Ensign, May 1989, 54).

  19. C. S. Lewis, Mere Christianity (1960), 160.