2010–2019
ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์
การประชุมใหญ่สามัญ เมษายน 2019


ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์

การดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อและทุกโอกาสถ้าเราเตรียมใจเราให้พร้อม

พระบิดาบนสวรรค์ทรงรักเรา พระองค์ทรงเตรียมแผนที่สมบูรณ์แบบให้เราได้รับพร ในชีวิตนี้ พระองค์ทรงเชื้อเชิญให้เราทุกคนมาหาพระคริสต์และรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ผ่านบัพติศมา การรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณอย่างซื่อสัตย์ นีไฟพูดถึงคำมั่นสัญญาที่เราจะรับบัพติศมาว่าเป็นการเข้าสู่ “ทางคับแคบและแคบ” ท่านเตือนให้เรา “มุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์, … ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์, และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่” เพื่อจะได้รับพรทุกประการที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงเตรียมไว้ให้เรา (2 นีไฟ 31:19–20)

นีไฟยังเตือนเราอีกว่าถ้าเราจะ “ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์” พระวจนะ “จะบอก [เรา] ทุกสิ่งที่ [เรา] ควรทำ” (2 นีไฟ 32:3) และเราจะมีพลังเอาชนะ “ลูกศรเพลิงของปฏิปักษ์” (1 นีไฟ 15:24)

ดื่มด่ำคืออะไร

เมื่อยังเด็ก ข้าพเจ้าคิดว่าดื่มด่ำคือการได้กินอาหารมื้อใหญ่ที่มีข้าว ซูชิ กับซอสถั่วเหลือง ตอนนี้ข้าพเจ้ารู้ว่าการดื่มด่ำจริงๆ เป็นมากกว่าการได้กินอาหารอร่อย ดื่มด่ำคือการประสบปีติ การบำรุงเลี้ยง การเฉลิมฉลอง การแบ่งปัน การแสดงความรักต่อครอบครัวและคนที่เรารัก การบอกกล่าวว่าเราน้อมขอบพระทัยพระผู้เป็นเจ้า และการสร้างความสัมพันธ์ขณะรับประทานอาหารมากมายที่มีรสเลิศ ข้าพเจ้าเชื่อว่าเมื่อเราดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์ เราจะนึกถึงประสบการณ์คล้ายกัน การดื่มด่ำพระคัมภีร์ไม่ใช่แค่อ่าน แต่ควรทำให้เราเกิดปีติอย่างแท้จริงและสร้างความสัมพันธ์กับพระผู้ช่วยให้รอด

มีสอนไว้ชัดเจนในพระคัมภีร์มอรมอน ลองนึกถึงความฝันของลีไฮเมื่อเขาเห็นต้นไม้ “ซึ่งมีผล [เป็นที่] พึงปรารถนาที่จะทำให้คนเป็นสุข” ผลนี้แสดงถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้า และเมื่อลีไฮชิมผลไม้นั้น “มันหวาน … เหนือกว่าทุกสิ่งที่ [เขา] เคยชิมรสมา” มันทำให้ “จิตวิญญาณ [ของเขา] เต็มไปด้วยความปรีดียิ่งนัก” และเป็นสิ่งที่เขาต้องการแบ่งให้กับครอบครัว (1 นีไฟ 8:10–12)

เมื่อเราดื่มด่ำ เราจะพบเช่นกันว่าปริมาณหรือประเภทอาหารที่เรารับประทานไม่ใช่เรื่องสำคัญหากใจเราเปี่ยมด้วยความสำนึกคุณ ครอบครัวของลีไฮดำรงชีวิตด้วยเนื้อดิบในแดนทุรกันดาร แต่นีไฟพูดถึงการทดลองที่ยากนี้ว่า “พรของพระเจ้า … ยิ่งใหญ่นัก” “ผู้หญิงของเรา … แข็งแรง” และสามารถ “อดทนต่อการเดินทางของพวกนางโดยปราศจากการพร่ำบ่น” (1 นีไฟ 17:1–2)

บางครั้งการดื่มด่ำเกี่ยวข้องกับการทดลองและการลิ้มรส แอลมาพูดถึงเมล็ดดีที่ปลูกในใจเรา เมื่อเราทดลอง เราจะตระหนักว่าเมล็ดเริ่ม “มีรสเลิศ” (ดู แอลมา 32:28–33)

การดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์

พรของการดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์มีพลังและเปลี่ยนชีวิต มีสามสิ่งที่ข้าพเจ้าประสงค์จะเชื้อเชิญให้ท่านประยุกต์ใช้ในชีวิต

หนึ่ง พระวจนะของพระคริสต์สามารถช่วยเรา “เพิ่มพูนความสามารถทางวิญญาณ [ของเรา] … ในการรับการเปิดเผย” (รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “การเปิดเผยสำหรับศาสนจักร การเปิดเผยสำหรับชีวิตเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 96) และนำเราผ่านพ้นชีวิตอย่างปลอดภัย มอรมอนสอนว่าพระวจนะของพระคริสต์มี “แนวโน้มอย่างยิ่งที่จะนำผู้คนให้ทำสิ่ง [ซึ่ง] เที่ยงธรรม” และมีพลังมากกว่าสิ่งที่ “ดาบ” ทำได้ (แอลมา 31:5) เมื่อข้าพเจ้าค้นหาพระปรีชาญาณของพระผู้เป็นเจ้าในการรับมือกับความท้าทายของตนเอง เมื่อข้าพเจ้าลอง “อานุภาพแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 31:5) ข้าพเจ้ารู้สึกได้รับการดลใจให้สามารถตัดสินใจได้อย่างฉลาด เอาชนะการล่อลวง และเป็นพรแก่ชีวิตตนเองด้วยศรัทธาที่เพิ่มขึ้นในพระคริสต์และความรักต่อคนรอบข้าง ศาสดาพยากรณ์ของเรา รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “ในวันข้างหน้า เราจะรอดทางวิญญาณไม่ได้หากปราศจากอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่มีให้ตลอดเวลา ทั้งนำทาง ชี้ทาง และปลอบโยน” (“การเปิดเผยสำหรับศาสนจักร การเปิดเผยสำหรับชีวิตเรา,” 96) การเปิดเผยที่จำเป็นจะมาเมื่อเราลอง “อานุภาพแห่งพระวจนะ” และพระวจนะนั้นจะมีพลังมากกว่าสิ่งใดที่เราลองหรือจินตนาการได้

สอง เมื่อเราพยายามจะรู้อัตลักษณ์ของเราและขาดความภาคภูมิใจในตนเอง “พระวจนะที่น่าพึงพอใจของพระผู้เป็นเจ้า” (เจคอบ 2:8) ในพระคัมภีร์จะช่วยให้เรารู้ว่าจริงๆ แล้วเราเป็นใครและให้พลังเหนือพลังของเราเอง การรับรู้อัตลักษณ์ของตนเองว่าเราเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้าเป็นหนึ่งในช่วงเวลาหอมหวานที่สุดช่วงหนึ่งที่ข้าพเจ้าเคยประสบ ในช่วงวัยรุ่นตอนต้น ข้าพเจ้าไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับคำสอนของพระผู้ช่วยให้รอด เมื่อข้าพเจ้าอ่านพันธสัญญาใหม่ครั้งแรก พระวจนะของพระคริสต์เยียวยาจิตวิญญาณที่บาดเจ็บของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าตระหนักว่าข้าพเจ้าไม่โดดเดี่ยวและเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อรับรู้อัตลักษณ์แท้จริงของตนต่อพระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าจึงตระหนักในศักยภาพอันไม่มีที่สิ้นสุดผ่านการชดใช้ของพระคริสต์

อีนัสแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวของความรู้แจ้งที่มาจากการตรึกตรองพระวจนะของพระคริสต์ เมื่ออีนัสให้พระวจนะที่บิดาสอนเขาเกี่ยวกับ “ชีวิตนิรันดร์, และปีติของวิสุทธิชน, ฝังลึกในใจ [เขา]” จิตวิญญาณของเขา “หิวโหย; และ [เขา] คุกเข่าลงต่อพระพักตร์พระผู้รังสรรค์ [ของเขา] … ในคำสวดอ้อนวอนอย่างสุดกำลัง” (อีนัส 1:3–4) ในคำสวดอ้อนวอนนั้นเขาได้รู้จักพระผู้ช่วยให้รอดและเรียนรู้ว่าเรามีค่ายิ่ง พระองค์ทรงรักและสามารถให้อภัยความผิดของเราได้ และเราเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้าจริงๆ

สาม เราสามารถยกระดับชีวิตผู้อื่นผ่านพระวจนะของพระคริสต์ เฉกเช่นอีนัสมีที่และเวลาให้พระวจนะของพระคริสต์สัมผัสใจเขา พระเจ้าจะทรงทำส่วนของพระองค์เพื่อสัมผัสใจคนที่เราประสงค์จะแบ่งปันพระกิตติคุณกับเขาเช่นกัน พวกเราหลายคนรู้สึกท้อเมื่อเราพยายามเชื้อเชิญให้บางคนฟังพระกิตติคุณแต่ไม่เกิดผลตามที่เราปรารถนา ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เราอ้าปากและแบ่งปันข่าวสารพระกิตติคุณกับผู้อื่น

สองปีก่อน พระเจ้าทรงสัมผัสใจมารดาที่รักของข้าพเจ้า ซึ่งช่วยให้ท่านตัดสินใจรับศาสนพิธีแห่งบัพติศมา ข้าพเจ้ารอวันนั้นมาเกือบ 35 ปี เพื่อให้ท่านตัดสินใจ สมาชิกหลายคนของศาสนจักรจึงปฏิบัติศาสนกิจต่อท่านดังที่พระคริสต์จะทรงทำ วันอาทิตย์วันหนึ่งท่านรู้สึกว่าควรไปโบสถ์ ท่านทำตามการกระตุ้นเตือน ขณะนั่งอยู่แถวหน้าและรอพิธีศีลระลึก เด็กชายวัยสี่ขวบมายืนตรงหน้าท่านและมองท่าน ท่านทักทายเขาด้วยรอยยิ้ม เด็กชายเดินกลับไปที่นั่งของเขาทันที ซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งของแถวที่มารดาข้าพเจ้านั่ง เด็กคนนี้หยิบของบางอย่างจากที่นั่งของเขาและกลับมา ยื่นหนังสือเพลงสวดให้มารดาข้าพเจ้า แล้วเดินกลับไปนั่งที่ มารดาข้าพเจ้าสังเกตเห็นเพลงสวดวางอยู่บนเก้าอี้ทุกตัวในห้องนมัสการ ท่านสามารถหยิบเล่มหนึ่งจากเก้าอี้ตัวถัดไปได้ไม่ยาก แต่ท่านประทับใจกับความมีน้ำใจอันไร้เดียงสาของเด็กคนนี้ซึ่งเขาเรียนรู้ในบ้านและที่โบสถ์ เป็นชั่วขณะที่ละเอียดอ่อนสำหรับท่าน ท่านมีความรู้สึกแรงกล้าว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเชื้อเชิญให้ท่านมาติดตามพระผู้ช่วยให้รอด ท่านรู้สึกว่าควรรับบัพติศมา เด็กคนนี้ไม่แสวงหาความดีความชอบสำหรับสิ่งที่เขาทำ แต่เขาดำเนินชีวิตตามพระวจนะสุดความสามารถและรักเพื่อนบ้านของเขา ความมีน้ำใจของเขาทำให้มารดาข้าพเจ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงใจครั้งสำคัญ

พระวจนะของพระคริสต์จะสัมผัสใจอย่างลึกซึ้งและเปิดตาของคนที่ยังไม่เห็นพระองค์ บนถนนไปเอมมาอูส สาวกสองคนเดินไปกับพระเยซู พวกเขาเสียใจและไม่เข้าใจว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงมีชัยเหนือความตายแล้ว ในความโศกเศร้า พวกเขาไม่รู้ว่าพระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์ทรงดำเนินกับพวกเขา แม้พระเยซู “ทรงอธิบายพระคัมภีร์ที่เล็งถึงพระองค์ทุกข้อให้เขาฟัง” แต่พวกเขาก็ยังไม่รู้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์จนกระทั่งพวกเขานั่งและหักขนมปังกับพระองค์ จากนั้นดวง “ตา” ของพวกเขาเปิดออก เมื่อเรา—หรือมิตรสหายและเพื่อนบ้านของเรา—ดื่มด่ำและหักขนมปังกับพระองค์ ดวงตาแห่งความเข้าใจของเราจะเปิดออก เมื่อสาวกที่เอมมาอูสใคร่ครวญเวลาที่อยู่กับพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ พวกเขากล่าวว่าใจพวกเขารุ่มร้อนภายในขณะพระองค์ทรงเปิดพระคัมภีร์ให้พวกเขา (ดู ลูกา 24:27–32) เราทุกคนจะเป็นเช่นนั้น

สรุป

สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าแสดงประจักษ์พยานว่าการดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อและทุกโอกาสถ้าเราเตรียมใจเราให้พร้อมรับ การดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์จะนำมาซึ่งการเปิดเผยที่ค้ำจุนชีวิต ยืนยันอัตลักษณ์แท้จริงและคุณค่าของเราต่อพระผู้เป็นเจ้าในฐานะบุตรธิดาของพระองค์ นำเพื่อนๆ ของเรามาหาพระคริสต์และชีวิตอันเป็นนิจ ข้าพเจ้าขอจบโดยย้ำคำเชื้อเชิญของนีไฟเมื่อเขากล่าวว่า “ท่านต้องมุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์, โดยมีความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวัง, และความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อมนุษย์ทั้งปวง. ดังนั้น, หากท่านจะมุ่งหน้า, ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์, และอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่แล้ว, ดูเถิด, พระบิดาตรัสดังนี้: เจ้าจะมีชีวิตนิรันดร์” (2 นีไฟ 31:20) ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน