2016
เตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า
ธันวาคม 2016


การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด

เตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า

โรงเรียนวันอาทิตย์มีบทบาทสำคัญในการช่วยเรา ทุกคน เตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า ท่านทำให้สิ่งนี้มีความสำคัญเป็นอันดับแรกหรือไม่

ภาพ
scripture study

ในพระคัมภีร์มอรมอน อมิวเล็คกล่าวโอวาทอันเปี่ยมด้วยพลังเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ (ดู แอล-มา 34) ในบรรดาข้อที่ไพเราะในบทนี้ ข้อหนึ่งที่โดดเด่นสำหรับข้าพเจ้าคือเมื่ออมิวเล็คกล่าวว่า “เพราะดูเถิด, ชีวิตนี้เป็นเวลาสำหรับมนุษย์ที่จะเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 34:32)

โดยเชื่อว่าจุดประสงค์ของชีวิตนี้คือ “เตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า” เราจึงอาจถามคำถามเหล่านี้ในใจว่า เรากำลังทำอะไรในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ และแต่ละเดือนเพื่อเตรียมพบกับพระบิดาบนสวรรค์ของเราอีกครั้ง ฉันจะเลือกใช้เวลาอันมีค่าที่จัดสรรให้ฉันอย่างไร

เราจะเตรียมอย่างไร

มีหลายวิธีที่เราจะใช้เวลาของเราเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าเชื่อว่าแต่ละสัปดาห์เรากำหนดได้ว่าจะใช้ชั่วโมงสำคัญที่สุดของสัปดาห์เป็นเวลารับส่วนศีลระลึก ต่อพันธสัญญาของเรากับพระบิดาบนสวรรค์ ใคร่ครวญความรักที่เรารู้สึกจากพระองค์ และความหวังที่เราทุกคนมีเนื่องด้วยการชดใช้ของพระบุตรพระองค์ พระเยซูคริสต์

ข้าพเจ้าเชื่อเช่นกันว่าชั่วโมงที่เราใช้ในชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์จะมีผลต่อการเตรียมของเรามากกว่าที่เราตระหนัก แต่เพื่อให้ได้ประโยชน์จากโอกาสนั้น เราอาจต้องสำรวจว่าเราใช้โรงเรียนวันอาทิตย์อย่างไร

จุดประสงค์ของโรงเรียนวันอาทิตย์คือ “เสริมสร้างศรัทธาของแต่ละบุคคลและครอบครัวในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ผ่านการสอน การเรียนรู้ และการผูกมิตร”1 องค์ประกอบที่จำเป็นเหล่านี้ของการเปลี่ยนใจเลื่อมใสมีความสำคัญยิ่งขณะที่เราพยายามเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า เราตื่นเต้นมากที่ครูทั่วศาสนจักรกำลังพยายามปรับปรุงความสามารถในการสอนโดยใช้ การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด และการประชุมสภาครู

แต่ปรับปรุงการสอนอย่างเดียวไม่พอ เราต้องทำควบคู่กับความพยายามเรียนรู้ในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอดด้วย พระองค์ตรัสว่าเราต้องเรียนรู้ “โดยการศึกษาและโดยศรัทธา” (คพ. 109:7) ศรัทธาเป็นหลักธรรมของการปฏิบัติ เราต้อง ทำ ถ้าเราต้องการ รู้ (ดู ยอห์น 7:17)

ชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ของเราสามารถส่งเสริมการสอนและการเรียนรู้แบบนี้ได้เมื่อชั้นเรียนเหล่านั้นเป็นสถานที่ปลอดภัยให้แบ่งปันประสบการณ์ที่เรามีและการดลใจที่เรารู้สึกระหว่างสัปดาห์ขณะเรียนรู้และประยุกต์ใช้พระคัมภีร์ในการเตรียมมาชั้นเรียน เมื่อเรา “สอนหลักคำสอนของอาณาจักรให้กัน … ทุกคนจะรับการจรรโลงใจจากทุกคน” (คพ. 88:77, 122)

เรียกสะบาโตว่าวันปีติยินดี

ไม่นานมานี้ ฝ่ายประธานสูงสุดได้เชื้อเชิญให้เราแต่ละคน “เรียกสะบาโตว่าวันปีติยินดี” (อิสยาห์ 58:13) ในชีวิตเรา ประสบการณ์ช่วงวันอาทิตย์สามชั่วโมงช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายนั้น

ด้วยเจตนานี้ข้าพเจ้าจึงขอถามอีกหนึ่งคำถามว่า เหตุใดบางครั้งเราจึงเลือกไม่รับโอกาสที่โรงเรียนวันอาทิตย์มอบให้

ไม่กี่ปีมานี้ ข้าพเจ้าได้เห็น “ทางเลือก” ต่างๆ มากมายของโรงเรียนวันอาทิตย์ในช่วงเวลาโรงเรียนวันอาทิตย์ รวมไปถึงการพูดคุยตรงทางเดิน ผู้นำวอร์ดดำเนินการสัมภาษณ์ ผู้นำสเตคอบรมองค์การต่างๆ ในวอร์ดของเขา และผู้นำเยาวชนไขข้อกังวลเรื่องโปรแกรม

เนื่องจากผู้นำมีเวลาน้อย ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่าเหตุใดพวกเขาจึงใช้เวลาโรงเรียนวันอาทิตย์ทำสิ่งอื่น แต่เป็นพรอย่างยิ่งสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้องเมื่อผู้นำวอร์ดจัดให้มีเวลาหนึ่งชั่วโมงไว้ร่วมสนทนาพระกิตติคุณกับสมาชิกในฝูงของพวกเขา!

ข้าพเจ้ามั่นใจว่าท่านเคยประสบพบเห็นตัวอย่างอื่นของ “การไม่สนใจโรงเรียนวันอาทิตย์” มาแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม พวกเราหลายคนเคยรู้สึกหลายครั้งว่าเราไม่ได้ประโยชน์มากเท่าที่เราอยากได้จากชั้นเรียนโรงเรียนวันอาทิตย์ ข้าพเจ้าเรียนรู้มาว่าความล้ำค่าของประสบการณ์โรงเรียนวันอาทิตย์วัดได้จากการเตรียมและการมีส่วนร่วมของข้าพเจ้ามากเท่าๆ กับของครู บราเดอร์แทด อาร์. คอลลิสเตอร์ประธานโรงเรียนวันอาทิตย์สามัญเขียนไว้ว่า “ทุกครั้งที่เราศึกษาพระคัมภีร์ เตรียมมาชั้นเรียนให้พร้อมมากขึ้นอีกนิด มีส่วนร่วมในการสนทนา ถามคำถาม และบันทึกความประทับใจอันศักดิ์สิทธิ์ เรากำลังเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เราสามารถประสบปีติที่พระองค์ทรงรู้สึกได้มากขึ้น”2

เตรียมรับและปกป้องชั่วโมงโรงเรียนวันอาทิตย์

ข้าพเจ้าเชื้อเชิญให้ท่านทำสุดความสามารถเพื่อเตรียมรับและปกป้องชั่วโมงโรงเรียนวันอาทิตย์ สมาชิกแต่ละคนในวอร์ดและสาขา รวมไปถึงผู้นำของเรา ควรได้รับพรอันหอมหวานของการเตรียมพบพระผู้เป็นเจ้าในชั่วโมงสำคัญนี้ของแต่ละสัปดาห์

อ้างอิง

  1. คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร (2010), 12.1.

  2. แทด อาร์. คอลลิสเตอร์, “ปีติของการเรียนรู้,” เลียโฮนา, ต.ค. 2016, 14.