2017
องอาจในประจักษ์พยานของเราถึงพระผู้ช่วยให้รอด
มกราคม 2017


องอาจ ในประจักษ์พยานของเราถึงพระผู้ช่วยให้รอด

จากคำปราศรัย “Being Valiant” ให้ไว้ที่วิทยาลัยธุรกิจแอลดีเอสเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 2014 ดูบทความเต็มเป็นภาษาอังกฤษที่ ldsbc.edu

เราแต่ละคนจะถูกขอร้องให้ทำในช่วงเวลาที่ยากทว่าหล่อหลอมเรา ช่วงเวลาเหล่านี้จะกำหนดตัวเราว่าเราเป็นใครและเราจะเป็นอะไร

ภาพ
Soliders in South Africa

ภาพประกอบโดย แดน เบอร์

เราแต่ละคนจะถูกขอร้องให้ทำในช่วงเวลาที่ยากทว่าหล่อหลอมเรา ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้อยู่กับทหารกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนดีแต่พูดจาหยาบคายและมีพฤติกรรมที่ผู้ชายซึ่งรับราชการทหารมักจะแสดงออกมาเป็นบางครั้ง

ข้าพเจ้าค้นพบว่าการดำเนินชีวิตตามมาตรฐานพระกิตติคุณท่ามกลางอิทธิพลเช่นนั้นไม่ง่ายเสมอไป แต่จากการเริ่มต้นรับราชการทหาร ข้าพเจ้ายินดีที่ได้ยืนหยัดในความเชื่อของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าประกาศอย่างชัดเจนว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับความประพฤติที่ข้าพเจ้ารู้ว่าผิด ข้าพเจ้ายินดีที่จะบอกว่าทหารในกลุ่มของข้าพเจ้า—แม้บางคนไม่เคารพในตอนแรก—เริ่มเคารพมาตรฐานของข้าพเจ้า

มีครั้งหนึ่ง ที่ค่ายฝึกทหาร กลุ่มของพวกเรากำลังยืนรอบกองไฟในคืนเดือนมืดที่สวยงามไร้เมฆและมีดาวเต็มท้องฟ้า เพื่อนบางคนในกลุ่มกำลังดื่มเบียร์ขณะข้าพเจ้าจิบเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอลล์ เราพูดคุยกันถูกคอ ไม่มีคำพูดใดไม่เหมาะไม่ควร

ระหว่างพูดคุยกัน ทหารสองสามคนจากอีกหน่วยหนึ่งเดินเตร่มาถึงกลุ่มที่มีความสุขของเรา หนึ่งในนั้นหันมาทางข้าพเจ้าและเมื่อสังเกตเห็นเครื่องดื่มในมือข้าพเจ้า เขาล้อเลียนข้าพเจ้าที่ไม่ดื่มเบียร์เหมือนคนอื่น ข้าพเจ้ายังไม่ทันตอบ เพื่อนคนหนึ่งก็ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจเมื่อเขาต่อว่าชายคนนั้น

“เราขอแนะนำให้คุณไปซะ” เขาพูด “เราจะไม่ยอมให้ใครพูดกับคริสแบบนั้น! อันที่จริง เขาเป็นคนเดียวในหมู่พวกเราที่ดำเนินชีวิตเหมือนชาวคริสต์อย่างแท้จริง”

ด้วยเหตุนี้ชายที่ถูกต่อว่าจึงเดินหลบไปเงียบๆ ในคืนเดือนมืด ณ เวลานั้น แม้จะเขินอายเล็กน้อยกับคำชมเชยที่คาดไม่ถึง แต่ข้าพเจ้านึกขอบพระทัยที่ได้เลือกทำตามคำแนะนำของเปาโลที่จะเป็น “แบบอย่างแก่บรรดาผู้เชื่อ” (1 ทิโมธี 4:12)

ท่านประสบการเลือกเช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณ เวลานี้ในชีวิตท่าน เมื่อท่านปรับวิญญาณและเปิดรับโอกาสมากมายที่รอคอยท่านอยู่ คำถามคือ ท่านต้องการจะเขียนอะไรเกี่ยวกับตนเองในอีก 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปีนับจากนี้—หรือแม้เมื่อถึงบั้นปลายชีวิตท่าน

องอาจหมายถึงอะไร

ในนิมิตอันน่าทึ่งที่สุดนิมิตหนึ่งในงานเขียนศักดิ์สิทธิ์ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธพูดถึงสภาพของคนที่จะได้อาณาจักรซีเลสเชียลเป็นมรดกหลังจากพวกเขาฟื้นคืนชีวิตและรับการพิพากษาแล้ว พระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญาภาคเดียวกันนี้ (ภาค 76) เปิดเผยสภาพและสภาวการณ์ของคนที่ไม่เหมาะกับอาณาจักรซีเลสเชียลเช่นกัน แต่มีคุณสมบัติเหมาะกับอาณาจักรเทอร์เรสเตรีลและทีเลสเชียล

เมื่อพูดถึงผู้ที่จะได้รับอาณาจักรเทอร์เรสเตรียล การเปิดเผยสอนเราว่าพวกเขา “คือคนน่ายกย่องสรรเสริญของแผ่นดินโลก, ผู้ที่มืดบอดโดยเล่ห์กลของมนุษย์ … [และ] คือคนที่ได้รับรัศมีภาพแห่ง [พระผู้เป็นเจ้า], แต่มิได้รับความสมบูรณ์แห่งพระองค์” (คพ. 76:75–76) จากนั้นเราเรียนรู้หลักธรรมอันน่าตระหนกนี้ว่า “คนเหล่านี้คือคนที่ ไม่องอาจในประจักษ์พยานถึงพระเยซู; ดังนั้น, พวกเขามิได้รับมงกุฎเหนืออาณาจักรแห่งพระผู้เป็นเจ้าของเรา” (คพ. 76:79; เน้นตัวเอน)

ลองจินตนาการสักครู่ เราจะยอมสูญเสียรัศมีภาพแห่งอาณาจักรซีเลสเชียล ตลอดจนพรลึกซึ้งและเป็นนิรันดร์ในนั้น เพียงเพราะเราไม่องอาจในประจักษ์พยานถึงพระเยซูในความเป็นมรรตัย สภาพการทดลองสั้นๆ ของเราบนแผ่นดินโลกหรือ

องอาจในประจักษ์พยานถึงพระเยซูหมายความว่าอย่างไร อัครสาวกยุคปัจจุบันของพระเจ้าประกาศว่า

“องอาจคือกล้าและห้าวหาญ ใช้พละกำลัง พลังงาน และความสามารถทั้งหมดของเราในการทำสงครามกับโลก ต่อสู้อย่างเต็มที่เพื่อศรัทธา … ศิลามุมเอกของความองอาจในอุดมการณ์แห่งความชอบธรรมคือการเชื่อฟังกฎทั้งหมดของพระกิตติคุณทั้งปวง

“องอาจในประจักษ์พยานถึงพระเยซูคือการ ‘มาหาพระคริสต์, และได้รับการทำให้ดีพร้อมในพระองค์’ คือการปฏิเสธตน ‘จากความไม่เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าทุกอย่าง’ และ ‘รักพระผู้เป็นเจ้า’ ด้วยสุด ‘พลัง, ความนึกคิด, และพละกำลัง’ ของเรา (โมโรไน 10:32)

องอาจในประจักษ์พยานถึงพระเยซูคือการเชื่อในพระคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ด้วยความเชื่อมั่นที่ไม่สั่นคลอน คือการรู้ถึงความจริงและความศักดิ์สิทธิ์ของงานของพระเจ้าบนแผ่นดินโลก …

ภาพ
Family studying scriptures

“องอาจในประจักษ์พยานถึงพระเยซูคือการ ‘มุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์, โดยมีความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวัง, และความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อมนุษย์ทั้งปวง’ คือการ ‘อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่’ (2 นีไฟ 31:20) คือการดำเนินชีวิตตามความเชื่อของเรา คือการปฏิบัติสิ่งที่เราสั่งสอน คือการรักษาพระบัญญัติ คือการแสดงให้เห็นถึง ‘ธรรมะที่บริสุทธิ์ไร้มลทิน’ ในชีวิตของมนุษย์ คือการไปเยี่ยม ‘เด็กกำพร้าและหญิงม่ายที่มีความทุกข์ร้อน’ และ ‘รักษาตัว [ของเรา] ให้พ้นจากราคีของโลก’ (ยากอบ 1:27)

“องอาจในประจักษ์พยานถึงพระเยซูคือการหักห้ามความลุ่มหลงของเรา ควบคุมความอยากของเรา และเอาชนะตัณหาราคะตลอดจนสิ่งชั่วร้ายต่างๆ คือการเอาชนะโลกเช่นเดียวกับพระองค์ผู้ทรงเป็นต้นแบบของเรา ผู้ทรงองอาจที่สุดในบรรดาบุตรธิดาทุกคนของพระบิดาของเรา คือการสะอาดทางศีลธรรม คือการจ่ายส่วนสิบและเงินบริจาค คือการยกย่องวันสะบาโต คือการสวดอ้อนวอนด้วยจุดประสงค์ในใจ คือการถวายตัวเราทั้งหมดที่แท่นหากได้รับเรียกให้ทำเช่นนั้น

“องอาจในประจักษ์พยานถึงพระเยซูคือการเลือกอยู่ข้างพระเจ้าในปัญหาทุกๆ อย่าง คือการเลือกอย่างที่พระองค์จะทรงเลือก คือการคิดอย่างที่พระองค์ทรงคิด คือการเชื่ออย่างที่พระองค์ทรงเชื่อ คือการกล่าวอย่างที่พระองค์จะตรัสและทำสิ่งที่พระองค์จะทรงทำในสถานการณ์เดียวกัน คือการรู้พระทัยของพระคริสต์และเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ดังที่พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดา”1

ข้าพเจ้าต้องกล่าวเสริมในสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเจ้าพระเยซูคริสต์ ทรงสอนไว้ระหว่างที่พระองค์ทรงปฏิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินโลก

“อย่าคิดว่าเรามาเพื่อจะนำสันติภาพมาสู่โลก เราไม่ได้นำสันติภาพมาให้ แต่เรานำดาบมา

“เรามาเพื่อจะให้ลูกชายหมางใจกับบิดาของตน ลูกสาวหมางใจกับมารดา ลูกสะใภ้หมางใจกับแม่ผัว

“และผู้ที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกันก็จะเป็นศัตรูต่อกัน

“ใครที่รักบิดามารดายิ่งกว่ารักเราก็ไม่มีค่าควรกับเรา และใครที่รักบุตรชายหญิงยิ่งกว่ารักเรา คนนั้นก็ไม่มีค่าควรกับเรา

“และใครที่ไม่รับกางเขนของตนและตามเราไป คนนั้นก็ไม่มีค่าควรกับเรา

“ผู้ที่จะเอาชีวิตของตนรอดจะกลับเสียชีวิต แต่ผู้ที่เสียชีวิตของตนเพราะเห็นแก่เราก็จะได้ชีวิตรอด” (มัทธิว 10:34–39)

จุดประสงค์หนึ่งในความเป็นมรรตัยคือไม่ได้มีอะไรมากน้อยไปกว่าการเตรียมตัวเพื่อจะได้อยู่ในที่ประทับของพระบิดาบนสวรรค์ที่รักของเราอีกครั้งในฐานะทายาทที่เท่าเทียมกันกับพระเยซูคริสต์ การดำรงอยู่อย่างรุ่งโรจน์นี้ในครอบครัวนิรันดร์เคียงข้างภรรยาหรือสามีกับลูกๆ และกับญาติๆ ของเรามีให้ทุกคนแม้บางครั้งจะมีบางคนประสบกับพรเหล่านี้หลังจากชีวิตมรรตัย

พรเช่นนั้นเรียกร้องให้เราแบกกางเขนของเรา องอาจในประจักษ์พยานและการรับใช้พระเจ้าพระผู้ช่วยให้รอดจนกว่าชีวิตจะหาไม่

เตรียมตัวทำ

เส้นทางที่เราแต่ละคนต้องเดินตามเต็มไปด้วยโอกาสนับไม่ถ้วนและความท้าทายสารพัด เราต้องตัดสินใจหลายๆ อย่างทุกวัน—บ้างเป็นเรื่องเล็กและดูเหมือนไม่สำคัญ บ้างเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและมีผลที่ยาวนาน

แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่าเราแต่ละคนจะถูกเลือกให้ทำบางสิ่งในช่วงเวลาที่ยากลำบากแต่สำคัญมาก ช่วงเวลาเหล่านี้จะกำหนดตัวตนของเราและสิ่งที่เราเป็น บ่อยครั้งช่วงเวลาเหล่านี้จะมาเมื่อการปฏิบัติอย่างชอบธรรมและองอาจเป็นสิ่งที่ยุ่งยากและไม่เป็นที่นิยม เมื่อท่านเขียนเรื่องราวชีวิตท่าน ท่านจะพบว่าช่วงเวลาที่หล่อหลอมท่านมากที่สุดจะเกิดขึ้นเมื่อท่านยืนเดียวดาย

ข้าพเจ้าขอเล่าเรื่องของการยืนเดียวดายท่ามกลางการต่อต้านอย่างหนัก ช่วงหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1838 ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธและคนอื่นๆ รวมถึงเอ็ลเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรทท์ (1807–1857) ถูกตีตรวนและถูกจองจำในเมืองริชมอนด์ รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา

เอ็ลเดอร์แพรทท์บันทึกเหตุการณ์ต่อไปนี้ในช่วงที่พวกท่านถูกจองจำ

“ในคืนที่ยืดเยื้อยาวนานที่สุดคืนหนึ่ง เรานอนประหนึ่งว่าหลับจนเที่ยงคืนผ่านไป หูและใจเราเจ็บปวดขณะฟังคำพูดตลกลามก คำสบถอันน่ารังเกียจ คำสบประมาทอย่างรุนแรง และคำพูดสกปรกหยาบคายของผู้คุมโดยมีพันเอกไพรซ์เป็นหัวหน้าของพวกเขา ขณะพวกเขาเล่าสู่กันฟังเรื่องการปล้นสะดม ฆาตกรรม โจรกรรม ฯลฯ ของพวกเขาซึ่งพวกเขาทำในหมู่ชาว ‘มอรมอน’ ขณะอยู่ที่ฟาร์เวสท์ [มิสซูรี] และบริเวณใกล้เคียง พวกเขาถึงกับคุยโวเรื่องที่พวกเขาใช้กำลังล่วงเกินภรรยา บุตรสาว และสาวบริสุทธิ์ทั้งหลาย เรื่องที่พวกเขายิงหรือควักสมองของชาย หญิง และเด็กออกมา

“ข้าพเจ้าฟังจนรู้สึกสะอิดสะเอียน ตกใจ ขนพองสยองเกล้า และเต็มไปด้วยความรู้สึกเดือดดาลจนแทบอดกลั้นไม่อยู่ อยากจะลุกขึ้นต่อว่าผู้คุมเหล่านั้น แต่ข้าพเจ้าไม่ได้พูดอะไรกับโจเซฟหรือใครเลย แม้ข้าพเจ้าจะนอนข้างท่านและรู้ว่าท่านตื่นอยู่ แต่จู่ๆ ท่านก็ผุดลุกขึ้นยืนพลางพูดด้วยเสียงดังกึกก้องคล้ายสิงโตคำราม เท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ท่านพูดดังนี้

“‘เงียบ เจ้าพวกปีศาจจากขุมนรก ในพระนามของพระเยซูคริสต์ผมขอตำหนิพวกคุณ และสั่งให้พวกคุณเงียบ ผมจะไม่ทนฟังคำพูดพวกนั้นอีกแม้แต่นาทีเดียว หยุดพูด มิฉะนั้น ไม่คุณก็ผมต้องตายเดี๋ยวนี้!’

ภาพ
Joseph Smith in jail

“ท่านหยุดพูด ท่านยืนตัวตรง ท่าทางสง่าน่าเกรงขาม ท่านถูกตีตรวน ไม่มีอาวุธ นิ่งสงบ ไม่สะทกสะท้าน และมีสง่าราศีประดุจเทพ ท่านมองหน้าผู้คุมที่กลัวจนลาน พวกเขาลดอาวุธลง ไม่ก็ปล่อยให้ตกบนพื้น หัวเข่าสั่นอย่างแรง ถอยเข้าไปหลบมุม หรือไม่ก็หมอบอยู่แทบเท้าท่าน ขอโทษท่าน และไม่ปริปากพูดอีกเลยจนถึงเวลาเปลี่ยนเวรยาม”2

ความกล้าหาญที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธแสดงให้เห็นไม่ได้สงวนไว้สำหรับศาสดาพยากรณ์หรือสมาชิกเก่าแก่ของศาสนจักรเท่านั้น เหตุการณ์หนึ่งในชีวิตของประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ (1838–1918) ยืนยันเรื่องนี้ ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1857 ขณะที่โจเซฟ เอฟ. วัย 19 ปีกำลังกลับบ้านจากงานเผยแผ่ในฮาวาย สหรัฐอเมริกา ท่านเข้าร่วมกับขบวนเกวียนในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นช่วงเวลาร้อนระอุสำหรับวิสุทธิชน กองทัพของจอห์นสตันกำลังเดินหน้ามาที่ยูทาห์ หลายคนมีความรู้สึกขมขื่นต่อศาสนจักร

เย็นวันหนึ่ง อันธพาลหลายคนขี่ม้าเข้ามาที่ค่ายขบวนเกวียน สบถและข่มขู่จะทำร้ายชาวมอรมอนทุกคนที่พวกเขาพบ คนส่วนใหญ่ในขบวนเกวียนซ่อนตัวในพุ่มไม้ แต่โจเซฟ เอฟ. บอกกับตนเองว่า “ฉันควรจะวิ่งหนีพวกนี้ไหม ทำไมฉันต้องกลัวพวกเขาด้วย”

ด้วยเหตุนั้นท่านจึงเดินเข้าไปหาผู้รุกรานคนหนึ่ง ซึ่งมีปืนพกอยู่ในมือ ชายคนนั้นถามว่า “แกเป็นมอรมอนหรือ”

โจเซฟ เอฟ. ตอบ “ครับผม เป็นทั้งเลือด เนื้อ และชีวิต เป็นมานานแล้ว และจะเป็นตลอดไป”

อันธพาลคนนั้นจับมือท่านและกล่าวว่า “คุณเป็น ——— ——— เป็นคนที่น่าคบที่สุดที่ผมเคยพบ! ขอจับมือหน่อยเพื่อน ผมดีใจที่เห็นคนยืนหยัดต่อความเชื่อมั่นของตนเอง”3

บัดนี้ท่านกำลังมีส่วนในช่วงเวลาสำคัญที่สุดในชีวิตท่าน! บัดนี้ท่านกำลังเขียนและจะเขียนเรื่องราวประวัติส่วนตัวของท่าน ทุกช่วงเวลา และทุกวัน จะมีบางเวลาที่ท่านต้ององอาจ ขณะที่บางครั้ง ด้วยความฉลาดท่านจะไม่ตอบโต้ โอกาสจะมีมากมาย จะต้องมีการตัดสินใจ และจะต้องเผชิญกับความท้าทาย!

ในแผนแห่งความสุขอันยิ่งใหญ่ของพระบิดาบนสวรรค์ จงจำไว้ว่าท่านไม่มีวันเดียวดาย! คนมากมายในชีวิตนี้และอีกมากมายหลังม่านแห่งความตาย แม้ในวันนี้ก็กำลังขอให้ท่านร่วมอุดมการณ์กับพระเจ้า ท่านได้รับพลังอำนาจยิ่งใหญ่ผ่านศาสนพิธีที่ท่านได้รับและพันธสัญญาที่ท่านทำ เหนือสิ่งอื่นใด พระบิดาบนสวรรค์ที่รักของท่านและพระบุตรของพระองค์—พระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ของเรา พระผู้ทรงวิงวอนแทนเรา—ทรงอยู่ช่วยท่านตลอดชีวิต ในการสอนที่ส่งผลอย่างลึกซึ้งระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจมรรตัยของพระผู้ช่วยให้รอด พระองค์ทรงเชื้อเชิญทุกจิตวิญญาณและดังนั้นจึงเชื้อเชิญเราทุกแต่ละคนว่า

“บรรดาผู้เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาหาเรา และเราจะให้ท่านทั้งหลายได้หยุดพัก

“จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพอ่อนโยนและใจอ่อนน้อม และจิตใจของพวกท่านจะได้หยุดพัก

“ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา” (มัทธิว 11:28–30)

ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงความจริงของการดำรงอยู่ของพระบิดาบนสวรรค์ผู้เป็นนิรันดร์และพระบุตรของพระองค์ พระเจ้าพระเยซูคริสต์ ข้าพเจ้าเป็นพยานด้วยว่าศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายคือศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเจ้าและเป็นอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าบนแผ่นดินโลกในทุกๆ ทางที่เป็นไปได้

ขอให้ข้าพเจ้า—และทุกคนที่มีประจักษ์พยานเดียวกันนี้—ยังคงองอาจในอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่นี้

อ้างอิง

  1. Bruce R. McConkie, “Be Valiant in the Fight of Faith,” Ensign, Nov. 1974, 35.

  2. Autobiography of Parley Parker Pratt, ed. Parley P. Pratt Jr. (1938), 210–11.

  3. ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ เอฟ. สมิธ (1998), 115.