ประวัติศาสนจักร
บันทึกเรื่องราวนิมิตแรก


ภาพ
แสงแดดส่องลอดต้นไม้

บันทึกเรื่องราวนิมิตแรก

คำอธิบายพอสังเขป

โจเซฟ สมิธบันทึกว่าพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระเยซูคริสต์ทรงปรากฏต่อท่านในป่าใกล้บ้านบิดามารดาของท่านในรัฐนิวยอร์กฝั่งตะวันตกเมื่อท่านอายุประมาณ 14 ปี โดยที่กังวลกับบาปของตนและไม่แน่ใจว่าจะเดินตามเส้นทางใดทางวิญญาณ โจเซฟจึงแสวงหาการนำทางโดยเข้าร่วมการประชุมต่างๆ อ่านพระคัมภีร์ และสวดอ้อนวอน ท่านได้รับปรากฏการณ์จากสวรรค์เป็นคำตอบ โจเซฟบอกเล่าและบันทึกสิ่งที่เรียกในเวลาต่อมาว่านิมิตแรกไว้หลายวาระ ท่านเขียนหรือมอบหมายให้ผู้จดบันทึกเขียนเรื่องราวของนิมิตนี้ต่างกันสี่ฉบับ

โจเซฟ สมิธจัดพิมพ์บันทึกเรื่องราวสองฉบับของนิมิตแรกในช่วงชีวิตของท่าน ฉบับแรกซึ่งปัจจุบันเรียกว่าโจเซฟ สมิธ—ประวัติ จัดเป็นเนื้อหาพระคัมภีร์ในไข่มุกอันล้ำค่า และด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นบันทึกเรื่องราวที่รู้จักกันดีที่สุด บันทึกเรื่องราวอีกสองฉบับที่ไม่ได้จัดพิมพ์ซึ่งบันทึกไว้ในอัตชีวประวัติสมัยแรกสุดของโจเซฟ สมิธและบันทึกส่วนตัวที่เขียนภายหลังถูกลืมเสียส่วนใหญ่จนกระทั่งนักประวัติศาสตร์ที่ทำงานให้ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายค้นพบอีกครั้งและจัดพิมพ์ในทศวรรษ 1960 นับจากนั้นมีคนพูดถึงเอกสารเหล่านี้ซ้ำหลายครั้งในนิตยสารศาสนจักร ในงานที่พิมพ์โดยโรงพิมพ์ของศาสนจักรและโรงพิมพ์ในเครือของศาสนจักร และโดยนักวิชาการวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในสิ่งพิมพ์อื่นๆ1 นอกจากบันทึกเรื่องราวที่ได้จากประสบการณ์โดยตรงแล้ว ยังมีคำบรรยายอีกห้าชุดเกี่ยวกับนิมิตของโจเซฟ สมิธที่คนในสมัยเดียวกันกับท่านบันทึกไว้2

บันทึกเรื่องราวต่างๆ ของนิมิตแรกเล่าเรื่องสอดคล้องต้องกัน แม้จะเน้นและลงรายละเอียดต่างกันบ้างเป็นธรรมดา นักประวัติศาสตร์คาดว่าเมื่อบุคคลหนึ่งเล่าประสบการณ์ซ้ำกันในสภาวะแวดล้อมต่างกันกับผู้ฟังต่างกลุ่มกันตลอดหลายปี บันทึกเรื่องราวแต่ละฉบับจะเน้นแง่มุมต่างกันของประสบการณ์นั้นและลงรายละเอียดไม่เหมือนกัน อันที่จริงแล้วความต่างที่คล้ายๆ กับความต่างในบันทึกเรื่องราวนิมิตแรกมีอยู่ในบันทึกเรื่องราวพระคัมภีร์หลายตอนเกี่ยวกับนิมิตของเปาโลบนถนนไปดามัสกัสและประสบการณ์ของอัครสาวกบนภูเขาแห่งการเปลี่ยนสภาพ3 ทว่าแม้จะมีความต่าง แต่ความสอดคล้องพื้นฐานยังคงมีอยู่ในบันทึกเรื่องราวทุกฉบับของนิมิตแรก บางคนโต้แย้งอย่างผิดๆ ว่าการเล่าเรื่องที่ผิดแผกแตกต่างกันเป็นหลักฐานว่าเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมา ตรงกันข้าม บันทึกหลากหลายทางประวัติศาสตร์เปิดทางให้เราได้เรียนรู้เหตุการณ์อันน่าทึ่งนี้มากกว่าที่เราจะเรียนรู้ได้ถ้ามีเอกสารบันทึกไว้ไม่ดีเท่านี้

บันทึกเรื่องราวของนิมิตแรก

บันทึกเรื่องราวแต่ละฉบับของนิมิตแรกโดยโจเซฟ สมิธและคนร่วมสมัยกับท่านมีประวัติและบริบทของแต่ละบันทึกซึ่งมีอิทธิพลต่อการจดจำ ถ่ายทอด และบันทึกเหตุการณ์ บันทึกเรื่องราวเหล่านี้ได้แก่

บันทึกเรื่องราวปี 1832 บันทึกเรื่องราวแรกสุดของนิมิตแรก เป็นบันทึกเดียวที่โจเซฟ สมิธเขียนด้วยมือตนเอง อยู่ในอัตชีวประวัติสั้นๆ ที่ไม่ได้จัดพิมพ์ซึ่งโจเซฟจัดทำในครึ่งหลังของปี 1832 ในบันทึกดังกล่าว โจเซฟ สมิธพูดถึงความสำนึกในบาปของท่านเองและความคับข้องใจที่ท่านไม่สามารถพบนิกายตรงกับนิกายที่ท่านเคยอ่านในพันธสัญญาใหม่และที่จะนำท่านไปสู่การไถ่ ท่านเน้นถึงการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และการไถ่ส่วนตัวที่การชดใช้มอบให้ ท่านเขียนว่า “พระเจ้า” ทรงปรากฏพระองค์และทรงให้อภัยบาปของท่าน เนื่องด้วยนิมิตดังกล่าว โจเซฟได้ประสบปีติและความรัก แม้ท่านจะพบตามที่ท่านบันทึกไว้ว่าไม่มีใครเชื่อเรื่องราวของท่าน อ่านบันทึกเรื่องราวปี 1832 ที่นี่

บันทึกเรื่องราวปี 1835 ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1835 โจเซฟ สมิธเล่าเรื่องนิมิตแรกของท่านให้โรเบิร์ต แมทธิวส์ผู้มาเยือนเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอฟัง การเล่าครั้งนี้ที่วอร์เร็น พาร์ริชผู้จดบันทึกของโจเซฟได้จดไว้ในบันทึกส่วนตัวของท่าน เน้นถึงความพยายามของท่านในการค้นหาว่านิกายใดถูกต้อง ฝ่ายตรงข้ามที่ท่านรู้สึกขณะสวดอ้อนวอน และการปรากฏของพระอติรูปองค์หนึ่งซึ่งมีอีกองค์ตามมาหลังจากนั้นไม่นาน บันทึกเรื่องราวดังกล่าวพูดถึงการปรากฏของเหล่าเทพในนิมิตด้วย อ่านบันทึกเรื่องราวปี 1835 ที่นี่

บันทึกเรื่องราวปี 1838 การเล่าเรื่องนิมิตแรกที่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายรู้จักดีที่สุดในปัจจุบันคือบันทึกเรื่องราวปี 1838 จัดพิมพ์ครั้งแรกในปี 1842 ใน Times and Seasons ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของศาสนจักรในนอวู อิลลินอยส์ บันทึกฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติที่ยาวขึ้นที่โจเซฟ สมิธบอกให้จดระหว่างช่วงเวลาของการต่อต้านอย่างรุนแรง ด้วยเหตุที่บันทึกเรื่องราวปี 1832 เน้นหนักไปทางเรื่องส่วนตัวของโจเซฟ สมิธสมัยเป็นเด็กหนุ่มที่แสวงหาการให้อภัย บันทึกเรื่องราวปี 1838 จึงมุ่งเน้นนิมิตอันเป็นจุดเริ่มต้นของ “การเริ่มต้นและความเจริญก้าวหน้าของศาสนจักร” เหมือนบันทึกเรื่องราวปี 1835 คำถามหลักของเรื่องเล่านี้คือนิกายใดถูกต้อง อ่านบันทึกเรื่องราวปี 1838 ที่นี่

บันทึกเรื่องราวปี 1842 บันทึกฉบับนี้เขียนตามคำขอข้อมูลของจอห์น เวนท์เวิร์ธ บรรณาธิการของ Chicago Democrat เกี่ยวกับวิสุทธิชนยุคสุดท้าย และพิมพ์ลง Times and Seasons ในปี 1842 (“จดหมายเวนท์เวิร์ธ” ชื่อตามที่รู้จักกันทั่วไป เป็นที่มาของหลักแห่งความเชื่อด้วย)4 บันทีกนี้กระชับและตรงไปตรงมา โดยตั้งใจจะพิมพ์ให้ผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับความเชื่อของชาวมอรมอน เช่นเดียวกับบันทึกเรื่องราวก่อนหน้านี้ โจเซฟ สมิธบันทึกความสับสนที่ท่านประสบและการปรากฏของพระอติรูปสองพระองค์ในการตอบคำสวดอ้อนวอนของท่าน ปีต่อมา โจเซฟ สมิธส่งบันทึกเรื่องนี้พร้อมด้วยการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยไปให้นักประวัติศาสตร์ชื่ออิสราเอล แดเนียล รัพพ์ ผู้จัดพิมพ์บันทึกเป็นบทหนึ่งในหนังสือของเขาชื่อ He Pasa Ekklesia [ศาสนจักรองค์รวม]: An Original History of the Religious Denominations at Present Existing in the United States.5 อ่านบันทึกเรื่องราวปี 1842 ที่นี่

บันทึกเรื่องราวจากผู้ได้ยินมาอีกที นอกจากบันทึกเรื่องราวเหล่านี้จากโจเซฟ สมิธเองแล้ว ยังมีบันทึกเรื่องราวอีกห้าฉบับที่เขียนโดยคนร่วมสมัยที่ได้ยินโจเซฟ สมิธพูดเกี่ยวกับนิมิต อ่านบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ที่นี่

ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับบันทึกเรื่องราวนิมิตแรกของโจเซฟ สมิธ

ความหลากหลายและจำนวนบันทึกเรื่องราวของนิมิตแรกทำให้นักวิจารณ์บางคนตั้งคำถามว่าคำบรรยายของโจเซฟตรงกับความเป็นจริงของประสบการณ์ของท่านหรือไม่ ข้อโต้แย้งสองข้อที่เกิดขึ้นเนืองๆ เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของโจเซฟคือ ข้อแรกสงสัยความทรงจำของโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ข้อสองสงสัยว่าท่านเพิ่มข้อปลีกย่อยของเรื่องตามเวลาที่ผ่านไปหรือไม่

ความทรงจำ ข้อโต้แย้งหนึ่งเกี่ยวกับบันทึกเรื่องราวนิมิตแรกของโจเซฟ สมิธกล่าวหาว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่สนับสนุนคำบรรยายของโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับการฟื้นฟูทางศาสนาในพอลไมรา นิวยอร์กและบริเวณใกล้เคียงในปี 1820 บางคนโต้แย้งว่านี่บั่นทอนคำอ้างของโจเซฟเรื่องความกระตือรือร้นทางศาสนาที่ผิดธรรมดาและตัวบันทึกเรื่องราวของนิมิตเอง

แต่หลักฐานด้านเอกสารกลับสนับสนุนคำกล่าวของโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับการฟื้นฟูทางศาสนา ภูมิภาคที่ท่านอาศัยอยู่โด่งดังขึ้นมาเพราะความกระตือรือร้นทางศาสนาของภูมิภาคนั้นและเป็นแหล่งรวมแหล่งหนึ่งของการฟื้นคืนของศาสนาอย่างไม่ต้องสงสัย นักประวัติศาสตร์เรียกภูมิภาคดังกล่าวว่าเป็น “เขตเผาไหม้” เพราะนักเทศน์ใช้พื้นที่นั้นตั้งค่ายฟื้นฟูทางศาสนาและหาผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสในช่วงต้นทศวรรษ 1800 จนที่ดินเสื่อมโทรม6 ตัวอย่างเช่น ในเดือนมิถุนายนปี 1818 การประชุมค่ายเมโธดิสต์เกิดขึ้นในพอลไมรา และฤดูร้อนถัดมา ชาวเมโธดิสต์ชุมนุมกันอีกครั้งในเวียนนา (ปัจจุบันคือเฟล์พส์) นิวยอร์ก ห่างจากฟาร์มครอบครัวสมิธ 24 กิโลเมตร วารสารของนักเทศน์สัญจรนิกายเมโธดิสต์บันทึกว่ามีความระส่ำระสายอย่างมากทางศาสนาในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของโจเซฟในปี 1819 และ 1820 พวกเขารายงานว่าท่านสาธุคุณจอร์จ เลน บาทหลวงเมโธดิสต์ที่เป็นนักฟื้นฟูอยู่ในภูมิภาคนั้นทั้งสองปีเพื่อพูด “ถึงวิธีของพระผู้เป็นเจ้าในการทำให้เกิดการปฏิรูป”7 หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้สอดคล้องกับคำบรรยายของโจเซฟ ท่านกล่าวว่าความระส่ำระสายผิดธรรมดาทางศาสนาในเขตหรือภูมิภาคของท่าน “เริ่มต้นที่เมโธดิสต์” อันที่จริงโจเซฟกล่าวว่าท่าน “เอนเอียงไปทางนิกายเมโธดิสต์อยู่บ้าง”8

การเพิ่มข้อปลีกย่อย ข้อโต้แย้งข้อสองที่เกิดขึ้นบ่อยเกี่ยวกับบันทึกเรื่องราวนิมิตแรกของโจเซฟ สมิธคือท่านเพิ่มข้อปลีกย่อยของเรื่องตามเวลาที่ผ่านไป ข้อโต้แย้งนี้มุ่งเน้นรายละเอียดสองประการคือ จำนวนและอัตลักษณ์ของสัตภาวะสวรรค์ที่โจเซฟ สมิธกล่าวว่าท่านเห็น บันทึกเรื่องราวนิมิตแรกของโจเซฟพูดถึงสัตภาวะสวรรค์ที่มีรายละเอียดมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป บันทึกเรื่องราวปี 1832 กล่าวว่า “พระเจ้าทรงเปิดสวรรค์แก่ข้าพเจ้าและข้าพเจ้าเห็นพระเจ้า” บันทึกเรื่องราวปี 1838 ของท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นพระอติรูปสองพระองค์” องค์หนึ่งทรงแนะนำอีกองค์หนึ่งว่าเป็น “บุตรที่รักของเรา” ด้วยเหตุนี้ นักวิจารณ์จึงโต้แย้งว่าโจเซฟ สมิธเริ่มจากการรายงานว่าเห็นสัตภาวะหนึ่งองค์คือ—“พระเจ้า”—และจบด้วยการอ้างว่าเห็นทั้งพระบิดาและพระบุตร9

มีวิธีดูหลักฐานอีกหลายวิธีที่ทำให้เห็นสอดคล้องกันมากขึ้น เราต้องยอมรับว่ามีความสอดคล้องในเบื้องต้นระหว่างบันทึกเรื่องราวทั้งสี่ สามในสี่กล่าวชัดเจนว่าพระอติรูปสองพระองค์ปรากฏต่อโจเซฟ สมิธในนิมิตแรก ยกเว้นบันทึกเรื่องราวปี 1832 ของโจเซฟซึ่งสามารถอ่านให้หมายถึงพระอติรูปหนึ่งหรือสองพระองค์ ถ้าอ่านให้หมายถึงสัตภาวะสวรรค์หนึ่งพระองค์ น่าจะหมายถึงพระอติรูปผู้ทรงให้อภัยบาปโจเซฟ ตามบันทึกเรื่องราวในภายหลัง พระอติรูปองค์แรกรับสั่งให้โจเซฟ สมิธ “ฟัง” องค์ที่สองคือพระเยซูคริสต์ผู้ทรงมอบข่าวสารหลักต่อจากนั้นซึ่งรวมถึงข่าวสารเรื่องการให้อภัยด้วย10 เวลานั้นบันทึกเรื่องราวปี 1832 ของโจเซฟ สมิธอาจมุ่งไปที่พระเยซูคริสต์ผู้ถือครองการให้อภัย

อีกวิธีหนึ่งของการอ่านบันทึกเรื่องราวปี 1832 คือโจเซฟ สมิธกล่าวถึงสัตภาวะสองพระองค์ ท่านเรียกทั้งสองพระองค์ว่า “พระเจ้า” ข้อโต้แย้งเรื่องการเพิ่มข้อปลีกย่อยเป็นไปตามสมมติฐานที่ว่าบันทึกเรื่องราวปี 1832 พูดถึงการปรากฏของสัตภาวะเพียงพระองค์เดียว แต่บันทึกเรื่องราวปี 1832 ไม่กล่าวว่าสัตภาวะทรงปรากฏเพียงพระองค์เดียว สังเกตว่าการกล่าวถึง “พระเจ้า” ทั้งสองครั้งแยกกันคนละครั้ง ครั้งแรก “พระเจ้า” ทรงเปิดฟ้าสวรรค์ จากนั้นโจเซฟ สมิธเห็น “พระเจ้า” การอ่านบันทึกเรื่องราวนี้สอดคล้องกับบันทึกเรื่องราวปี 1835 ของโจเซฟ ซึ่งมีพระอติรูปองค์หนึ่งทรงปรากฏก่อน ตามด้วยอีกพระองค์หนึ่งหลังจากนั้นไม่นาน จากนั้นจึงอ่านบันทึกเรื่องราวปี 1832 ได้อย่างสมเหตุสมผลให้หมายความว่าโจเซฟ สมิธเห็นสัตภาวะองค์หนึ่งผู้ทรงเปิดเผยอีกองค์หนึ่งต่อจากนั้น และท่านเรียกทั้งสองพระองค์ว่า “พระเจ้า”: “พระเจ้าทรงเปิดสวรรค์แก่ข้าพเจ้าและข้าพเจ้าเห็นพระเจ้า”11

ด้วยเหตุนี้จึงสามารถอ่านคำบรรยายที่เฉพาะเจาะจงขึ้นเรื่อยๆ ของโจเซฟได้อย่างมั่นใจเนื่องจากเป็นหลักฐานแสดงความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้นตามกาลเวลาบนพื้นฐานของประสบการณ์ ส่วนความแตกต่างระหว่างบันทึกเรื่องราวปี 1832 กับบันทึกเรื่องราวในภายหลังคืออาจมีบางอย่างเกี่ยวข้องกับความแตกต่างระหว่างคำเขียนกับคำพูด บันทึกเรื่องราวปี 1832 เป็นบันทึกที่โจเซฟ สมิธพยายามจดประวัติของท่านครั้งแรก ปีเดียวกันนั้นท่านเขียนถึงเพื่อนคนหนึ่งว่าท่านรู้สึกเหมือนถูกจองจำอยู่กับ “กระดาษ ปากกา และหมึก และภาษาที่ไม่ตรง ไม่ต่อเนื่อง กระจัดกระจาย และไม่สมบูรณ์” ท่านเรียกคำเขียนนั้นว่า “เรือนจำเล็กๆ แคบๆ”12 การขยายบันทึกเรื่องราวในภายหลังทำให้เราเข้าใจง่ายขึ้นแม้ถึงกับคาดว่าจะเป็นเช่นนั้นเมื่อเรารับรู้ว่าบันทึกเหล่านั้นน่าจะเป็นเรื่องราวที่บอกให้จด—สื่อกลางที่สะดวกและง่ายสำหรับโจเซฟ สมิธ และเป็นสื่อกลางที่ทำให้คำพรั่งพรูง่ายขึ้น

สรุป

โจเซฟ สมิธเป็นพยานซ้ำหลายครั้งว่าท่านประสบนิมิตอันน่าทึ่งซึ่งท่านเห็นพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรของพระองค์พระเยซูคริสต์ การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถพิสูจน์ความจริงของนิมิตแรกหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความจริงนี้ได้ การรู้ความจริงเกี่ยวกับประจักษ์พยานของโจเซฟ สมิธเรียกร้องให้ผู้แสวงหาความจริงแต่ละคนศึกษาบันทึกแล้วใช้ศรัทธาในพระคริสต์ให้มากพอจะทูลถามพระผู้เป็นเจ้าในการสวดอ้อนวอนอย่างอ่อนน้อมจริงใจว่าบันทึกจริงหรือไม่ หากผู้แสวงหาทูลถามด้วยเจตนาจะทำตามคำตอบที่พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเปิดเผยจริงๆ ความจริงเรื่องนิมิตของโจเซฟ สมิธจะประจักษ์ ในวิธีนี้ทุกคนสามารถรู้ได้ว่าโจเซฟ สมิธพูดความจริงเมื่อท่านประกาศว่า “ข้าพเจ้าเห็นนิมิต; ข้าพเจ้ารู้เรื่องนี้, และข้าพเจ้ารู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทราบเรื่องนี้, และข้าพเจ้าไม่สามารถปฏิเสธเรื่องนี้ได้”13

ศาสนจักรขอขอบคุณนักวิชาการผู้อนุเคราะห์เนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่นำเสนอในบทความนี้ ผลงานของนักวิชาการที่นำมาใช้ได้รับคำอนุญาตเรียบร้อยแล้ว

พิมพ์ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2013

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

  • ตอบคำถามพระกิตติคุณ

  • พระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์

  • พระผู้เป็นเจ้าพระบิดา

  • พระเยซูคริสต์

  • โจเซฟ สมิธ

  • การฟื้นฟูศาสนจักร

  • การฟื้นฟูฐานะปุโรหิต

พระคัมภีร์

ข้อพระคัมภีร์อ้างอิง

ข่าวสารจากผู้นำศาสนจักร

วีดิทัศน์

“การฟื้นฟู”

“โจเซฟ สมิธ: ศาสดาพยากรณ์แห่งการฟื้นฟู”

“Mission Preparation Track 14: Gordon B. Hinckley”

แหล่งข้อมูลการเรียนรู้

แหล่งข้อมูลทั่วไป

History, circa Summer 1832,” The Joseph Smith Papers

Journal, 1835–1836,” The Joseph Smith Papers

History, circa June 1839–circa 1841 [Draft 2],” The Joseph Smith Papers

‘Church History,’ 1 March 1842,” The Joseph Smith Papers

‘Latter Day Saints,’ 1844,” The Joseph Smith Papers

Primary Accounts of Joseph Smith’s First Vision of Deity,” The Joseph Smith Papers

นิตยสารศาสนจักร

Preparing for the Restoration,” Ensign, June 1999

Book of Mormon Personalities Known by Joseph Smith,” Ensign, December 1983

คู่มือศึกษา

  1. ตัวอย่างเช่น ดู James B. Allen, “Eight Contemporary Accounts of the First Vision—What Do We Learn from Them?” Improvement Era, 73 (1970): 4–13; Richard L. Anderson, “Joseph Smith’s Testimony of the First Vision,” Ensign, Apr. 1996, 10–21; Milton V. Backman, Joseph Smith’s First Vision: The First Vision in Its Historical Context (Salt Lake City: Bookcraft, 1971; 2nd ed., 1980); Steven C. Harper, Joseph Smith’s First Vision: A Guide to the Historical Accounts (Salt Lake City: Deseret Book, 2012).

  2. บันทึกเรื่องราวทั้งหมดนี้จัดพิมพ์ใหม่ใน Dean C. Jessee, “The Earliest Documented Accounts of Joseph Smith’s First Vision,” ใน John W. Welch, ed., with Erick B. Carlson, Opening the Heavens: Accounts of Divine Manifestations, 1820–1844 (Provo and Salt Lake City: Brigham Young University Press and Deseret Book, 2005), 1–33.

  3. กิจการของอัครทูต 9:3–9; 22:6–21; 26:12–18; มัทธิว 17:1–13; มาระโก 9:2–13; ลูกา 9:28–36.

  4. จดหมายฉบับเต็มดูได้ใน Joseph Smith, “Church History,” Times and Seasons 3 (Mar. 1, 1842): 706–10.

  5. Joseph Smith, “Latter Day Saints,” ใน I. Daniel Rupp, He Pasa Ekklesia: An Original History of the Religious Denominations at Present Existing in the United States (Philadelphia: J. Y. Humphreys, 1844), 404–10.

  6. Whitney R. Cross, The Burned-Over District: The Social and Intellectual History of Enthusiastic Religion in Western New York, 1800–1850 (Ithaca, N.Y.: Cornell University Press, 1950); Paul E. Johnson, A Shopkeeper’s Millennium: Society and Revivals in Rochester, New York, 1815–1837 (New York: Hill and Wang, 1983); Nathan O. Hatch, The Democratization of American Christianity (New Haven: Yale University Press, 1989).

  7. Benajah Williams diary, July 15, 1820, สำเนาอยู่ในหอสมุดประวัติศาสนจักร ซอลท์เลคซิตี้; ปรับตัวสะกดให้ถูกต้อง

  8. บันทึกเรื่องราวปี 1838 (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:5, 8).

  9. บันทึกเรื่องราวปี 1832 (Joseph Smith History, ca. Summer 1832, 3, ใน Joseph Smith, “Letter Book A,” Joseph Smith Collection, Church History Library, Salt Lake City); บันทึกเรื่องราวปี 1838 (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:17).

  10. บันทึกเรื่องราวปี 1838 (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:17); บันทึกเรื่องราวปี 1835 (Joseph Smith, “Sketch Book of the use of Joseph Smith, jr.,” Journal, Nov. 9–11, 1835, ชุดสะสมของโจเซฟ สมิธ, หอสมุดประวัติศาสนจักร, ซอลท์เลคซิตี้.

  11. บันทึกเรื่องราวปี 1832 (Joseph Smith History, ca. Summer 1832, 3, ใน Joseph Smith, “Letter Book A,” ชุดสะสมของโจเซฟ สมิธ, หอสมุดประวัติศาสนจักร, ซอลท์เลคซิตี้).

  12. โจเซฟ สมิธถึงวิลเลียม ดับเบิลยู. เฟลพส์, 27 พ.ย. 1832, ชุดสะสมของโจเซฟ สมิธ, หอสมุดประวัติศาสนจักร, ซอลท์เลคซิตี้; มีอยู่ที่ www.josephsmithpapers.org.

  13. บันทึกเรื่องราวปี 1838 (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:25).