การเรียกในคณะเผยแผ่
บทที่ 4: แสวงหาและพึ่งพาพระวิญญาณ


“บทที่ 4: แสวงหาและพึ่งพาพระวิญญาณ” สั่งสอนกิตติคุณของเรา: คู่มือแนะแนวการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (2023)

“บทที่ 4: แสวงหาและพึ่งพาพระวิญญาณ” สั่งสอนกิตติคุณของเรา

ภาพ
เลียโฮนา โดย อาร์โนลด์ ไฟร์เบิร์ก

บทที่ 4

แสวงหาและพึ่งพาพระวิญญาณ

พิจารณาสิ่งนี้

  • ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อมีอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตและในการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาของฉัน?

  • อะไรคือบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการเปลี่ยนใจเลื่อมใส?

  • ฉันจะช่วยให้คนที่ฉันสอนรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างไร?

  • ฉันจะทำให้การสวดอ้อนวอนมีความหมายมากขึ้นได้อย่างไร?

  • ฉันจะฝึกรับรู้การกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้อย่างไร?

แสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์

ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นหนึ่งในของประทานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้ลูกๆ ของพระองค์ และสำคัญอย่างยิ่งในการทำงานเป็นผู้สอนศาสนาของท่าน ท่านต้องมีอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์นำทางและเปิดเผยขณะช่วยให้ผู้คนรับบัพติศมา การยืนยัน และเปลี่ยนใจเลื่อมใส

การมีพระวิญญาณบริสุทธิ์นำทางในชีวิตเรียกร้องการทำงานทางวิญญาณ งานนี้รวมถึงการสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาแรงกล้าและการศึกษาพระคัมภีร์สม่ำเสมอ รวมถึงการรักษาพันธสัญญาและพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าด้วย (ดู โมไซยาห์ 18:8–10, 13) รวมถึงการรับส่วนศีลระลึกแต่ละสัปดาห์อย่างมีค่าควร (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77, 79)

ท่านพบเจอความต้องการและสภาวการณ์ต่างๆ ทุกวัน การกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณจะช่วยให้ท่านรู้ว่าต้องทำและพูดอะไร เมื่อท่านแสวงหาและทำตามการกระตุ้นเตือนเหล่านี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงขยายความสามารถและการรับใช้ของท่านเกินกว่าท่านจะทำเองได้ พระองค์จะทรงช่วยเหลือท่านในทุกด้านของการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาและในชีวิตส่วนตัว (ดู 2 นีไฟ 32:2–5; แอลมา 17:3; ฮีลามัน 5:17–19; หลักคำสอนและพันธสัญญา 43:15–16; 84:85)

ภาพ
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“ในวันข้างหน้า เราจะรอดทางวิญญาณไม่ได้หากปราศจากอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่มีให้ตลอดเวลา ทั้งนำทาง ชี้ทาง และปลอบโยน” (รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “การเปิดเผยสำหรับศาสนจักร การเปิดเผยสำหรับชีวิตเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 96)

ภาพ
แสงสว่างและความจริง โดย ไซมอน ดิวอีย์

แสงสว่างของพระคริสต์

แสงสว่างของพระคริสต์ “ประทานให้มนุษย์ทุกคน, เพื่อเขาจะรู้ความดีจากความชั่ว” (โมโรไน 7:16; ดู ข้อ 14–19; ดู ยอห์น 1:9 ด้วย) แสงสว่างของพระคริสต์คือความกระจ่างแจ้ง ความรู้ และอิทธิพลที่ประทานให้ผ่านพระเยซูคริสต์ อิทธิพลนี้มีผลเบื้องต้นต่อการรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ จะนำทางคนที่เปิดใจเรียนรู้และดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์

พระวิญญาณบริสุทธิ์

รูปกายของพระวิญญาณบริสุทธิ์

พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นสมาชิกองค์ที่สามในพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ พระองค์ทรงมีรูปกายเป็นวิญญาณและไม่มีพระวรกายเป็นเนื้อหนังและกระดูก (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:22) พระองค์ทรงเป็นพระผู้ปลอบโยนซึ่งพระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาว่าจะทรงสอนผู้ติดตามพระองค์ทุกสิ่งและทำให้ระลึกถึงทุกสิ่งที่พระเยซูทรงสอน (ดู ยอห์น 14:26)

อำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์

พยานที่มาถึงผู้แสวงหาความจริงอย่างจริงใจก่อนบัพติศมาจะผ่านมาทางอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทุกคนได้รับประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูผ่านอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ “โดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ [เรา] จะรู้ความจริงของทุกเรื่อง” (โมโรไน 10:5)

ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์

ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์คือสิทธิ์ของการมีความเป็นเพื่อนที่ยั่งยืนของพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อเรามีค่าควร เราได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์หลังจากเรารับบัพติศมาด้วยน้ำ ซึ่งจะประสาทให้เราผ่านศาสนพิธีแห่งการยืนยัน

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกล่าวว่า “มีความแตกต่างระหว่างพระวิญญาณบริสุทธิ์กับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ โครเนลิอัสได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ก่อนรับบัพติศมาซึ่งคือเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าในการทำให้เขาเชื่อมั่นความจริงของพระกิตติคุณ แต่เขาจะรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้จนหลังจากเขารับบัพติศมา” (ดู คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 104)

โดยของประทานและอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์เราได้รับการชำระให้บริสุทธิ์—ทำให้ศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น สมบูรณ์มากขึ้น ครบถ้วนมากขึ้น เหมือนพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น เราสามารถเกิดใหม่ทางวิญญาณผ่านการไถ่ของพระคริสต์และอำนาจการชำระให้บริสุทธิ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อเรารักษาพันธสัญญาที่ทำไว้กับพระผู้เป็นเจ้า (ดู โมไซยาห์ 27:25–26)

พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา

พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่าพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:3) ในหน้าที่นี้ พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงยืนยันว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงยอมรับศาสนพิธีฐานะปุโรหิตที่เราได้รับและพันธสัญญาที่เราทำ คนที่รับการผนึกโดยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญาจะได้รับทั้งหมดที่พระบิดาทรงมี (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:51–60; เอเฟซัส 1:13–14; คู่มือพระคัมภีร์, “พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา”)

ศาสนพิธีและพันธสัญญาทั้งหมดต้องผนึกโดยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญาจึงจะมีผลหลังจากชีวิตนี้ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:7, 18–19, 26) การผนึกดังกล่าวขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์ต่อเนื่องของเรา

ของประทานแห่งพระวิญญาณ

พระเจ้าทรงมอบของประทานแห่งพระวิญญาณเพื่อเป็นพรแก่เราและใช้ในการเป็นพรแก่ผู้อื่น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:8–9, 26) ตัวอย่างเช่น ผู้สอนศาสนาที่เรียนภาษาใหม่อาจได้รับของประทานแห่งการพูดภาษาเพื่อให้พระเจ้าทรงช่วยพวกเขาสอนคนอื่นๆ ในภาษาของคนเหล่านั้น

ของประทานหลายอย่างของพระวิญญาณมีอธิบายไว้ใน โมโรไน 10:8–18, หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:11–33 และ 1 โครินธ์ 12:1–12 นี่เป็นเพียงของประทานบางอย่างในหลายๆ อย่างของพระวิญญาณ พระเจ้าอาจประทานพรเราด้วยของประทานอื่นขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์ของเรา ความต้องการของเรา และความต้องการของผู้อื่น

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญให้เราแสวงหาของประทานฝ่ายวิญญาณอย่างตั้งใจ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:8; 1 โครินธ์ 14:1, 12) ของประทานเหล่านี้มาโดยการสวดอ้อนวอน ศรัทธา และความพยายาม—และตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

การศึกษาส่วนตัวหรือกับคู่

ในคู่มือพระคัมภีร์ ให้อ่าน “พระวิญญาณบริสุทธิ์” “แสงสว่างของพระคริสต์” และ “พระวิญญาณ, ศักดิ์สิทธิ์” เขียนคำอธิบายลักษณะและบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์

อ่าน กิจการ 4:1–33

  • เปโตรและยอห์นแสวงหาของประทานฝ่ายวิญญาณอย่างไร?

  • พระผู้เป็นเจ้าทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของพวกเขาอย่างไร?

  • ท่านจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากประสบการณ์นี้เกี่ยวกับงานของท่านเอง?

ภาพ
กลุ่มสวดอ้อนวอน

อำนาจของพระวิญญาณในการเปลี่ยนใจเลื่อมใส

การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเกิดขึ้นผ่านอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ บทบาทของท่านคือช่วยนำอำนาจของพระวิญญาณเข้ามาในชีวิตบุคคล บางวิธีที่ท่านทำเช่นนี้ได้มีดังนี้

  • หมายมั่นให้มีพระวิญญาณสถิตกับท่านผ่านการสวดอ้อนวอน การค้นคว้าพระคัมภีร์ และการรักษาพันธสัญญาของท่าน

  • สอนโดยพระวิญญาณเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและข่าวสารเรื่องการฟื้นฟู ทำตามการนำทางของพระวิญญาณในการปรับข่าวสารของท่านให้เข้ากับความต้องการของแต่ละบุคคล

  • เป็นพยานว่าท่านรู้โดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่าสิ่งที่ท่านสอนเป็นความจริง เมื่อท่านเป็นพยาน พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสามารถเป็นพยานต่อคนอื่นๆ ได้

  • เชื้อเชิญผู้คนให้ปฏิบัติ และสนับสนุนพวกเขาในการรักษาคำมั่นสัญญา เมื่อผู้คนรักษาคำมั่นสัญญา พวกเขาจะรู้สึกถึงอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์แรงกล้ามากขึ้น ดู บทที่ 11

  • ติดตามผลโดยถามผู้คนเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขาเมื่อปฏิบัติตามคำเชื้อเชิญ ศรัทธาของพวกเขาจะเพิ่มขึ้นเมื่อพวกเขากลับใจ เชื่อฟังพระบัญญัติ และรักษาคำมั่นสัญญา ช่วยให้พวกเขารับรู้ว่าพระวิญญาณกำลังทำงานกับพวกเขา

ภาพ
ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดสอนว่า “การเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่แท้จริงผ่านมาทางอำนาจของพระวิญญาณ เมื่อพระวิญญาณทรงสัมผัสใจ ใจจะเปลี่ยน เมื่อบุคคล … รู้สึกว่าพระวิญญาณทำงานกับพวกเขา หรือเมื่อพวกเขาเห็นหลักฐานยืนยันความรักและความเมตตาของพระเจ้าในชีวิต พวกเขาได้รับการจรรโลงใจ เข้มแข็งทางวิญญาณ และศรัทธาในพระองค์เพิ่มพูน ประสบการณ์เหล่านี้กับพระวิญญาณจะตามมาเองเมื่อบุคคลเต็มใจทดลองพระคำ [ดู แอลมา 32:27] นี่คือวิธีที่เรา รู้สึก ว่าพระกิตติคุณเป็นความจริง” (ดู “บัดนี้ถึงเวลาแล้ว,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 104)

การศึกษาส่วนตัวหรือกับคู่

  • ศึกษาข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้หนึ่งข้อหรือมากกว่านั้น: ขณะอ่านให้พยายามเข้าใจว่าบุคคลรู้สึกอย่างไรในกระบวนการเปลี่ยนใจเลื่อมใส บันทึกความประทับใจของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษา สนทนาข้อคิดของท่านกับผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ และสมาชิก

    2 นีไฟ 4:16–35; อีนัส 1; โมไซยาห์ 4–5; 18:7–14; 27–28; แอลมา 5; 17–22; 32; 3638

  • ศึกษาข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้หนึ่งข้อหรือมากกว่านั้น: ขณะอ่านให้พิจารณาว่าท่านจะสอนได้ดีขึ้นด้วยอำนาจการทำให้เปลี่ยนใจเลื่อมใสของพระวิญญาณได้อย่างไร บันทึกความรู้สึกและความประทับใจของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษา สนทนาแนวคิดของท่านกับผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ และสมาชิก

    1 นีไฟ 8:11–12; โมไซยาห์ 28:1–4; แอลมา 26; 29; 31:26–38; 32; โมโรไน 7:43–48; หลักคำสอนและพันธสัญญา 4; 18:10–16; 50:21–22

การศึกษาพระคัมภีร์

พระคัมภีร์ข้อต่อไปนี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับอำนาจของพระวิญญาณในการทำงานของท่าน?

ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อมีอำนาจของพระวิญญาณในการทำงานของท่าน?

ภาพ
ผู้สอนศาสนาสวดอ้อนวอน

สวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาในพระเยซูคริสต์

เพื่อช่วยให้ผู้อื่นเปลี่ยนใจเลื่อมใส ท่านต้องสอนโดยอำนาจของพระวิญญาณ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:13–14, 17–22) พระเจ้าตรัสว่า “และจะประทานพระวิญญาณแก่เจ้าโดยคำสวดอ้อนวอนจากศรัทธา; และหากเจ้าไม่ได้รับพระวิญญาณเจ้าจะไม่สอน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:14)

เมื่อท่านสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือในการสอน อำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์จะนำคำสอนของท่าน “​​ไป​สู่​ใจ​ลูก​หลาน​มนุษย์” (2 นีไฟ 33:1) เมื่อท่านสอนโดยพระวิญญาณและผู้อื่นรับโดยพระวิญญาณ ท่านจะ “เข้าใจกัน” และ “ได้รับการจรรโลงใจและชื่นชมยินดีด้วยกัน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:22)

สวดอ้อนวอนอย่างไร

พระเยซูทรงสอนเราว่าจะสวดอ้อนวอนอย่างไร (ดู มัทธิว 6:9–13; 3 นีไฟ 18:19) สวดอ้อนวอนอย่างจริงใจและด้วยเจตนาแท้จริงเพื่อทำตามการกระตุ้นเตือนที่ท่านได้รับจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ การสวดอ้อนวอนที่มีประสิทธิภาพต้องใช้ความพยายามอย่างถ่อมตนและต่อเนื่อง (ดู โมโรไน 10:3–4; หลักคำสอนและพันธสัญญา 8:10)

ใช้ภาษาถ่ายทอดความสัมพันธ์ที่แสดงว่าท่านรักและเคารพพระผู้เป็นเจ้า ในภาษาไทยให้ใช้คำว่า พระองค์ของพระองค์ แทนที่จะใช้สรรพนามทั่วไปเช่น ท่าน และ ของท่าน

แสดงความสำนึกคุณเสมอ การพยายามสำนึกคุณจะช่วยให้ท่านรับรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเมตตาเพียงใดในชีวิตท่าน จะเปิดใจและความคิดท่านรับการดลใจ

จงสวดอ้อนวอน “จนสุดพลังของใจ” ขอทรงมอบจิตกุศลให้ท่าน (โมโรไน 7:48) สวดอ้อนวอนให้ผู้อื่นโดยเอ่ยชื่อ สวดอ้อนวอนให้คนที่ท่านสอน แสวงหาการดลใจให้รู้ว่าท่านจะเชื้อเชิญและช่วยให้พวกเขามาหาพระคริสต์อย่างไร

การศึกษาส่วนตัว

ศึกษาคำสวดอ้อนวอนของพระเจ้าใน มัทธิว 6:9–13 ถามคำถามต่อไปนี้กับตัวท่านเอง และบันทึกควาามประทับใจลงในสมุดบันทึกการศึกษา

  • ความรับผิดชอบปัจจุบันของท่านในฐานะผู้สอนศาสนามีอิทธิพลอย่างไรต่อการสวดอ้อนวอนของท่าน?

  • คำสวดอ้อนวอนของท่านพยายามจะเป็นพรแก่ชีวิตผู้อื่นในด้านใด?

  • ท่านกำลังสวดอ้อนวอนอย่างไรเพื่อจะสามารถเอาชนะการล่อลวง?

  • ท่านสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลืออย่างไรในการสนองความต้องการทางวิญญาณและทางโลกของท่าน?

  • ท่านถวายรัศมีภาพแด่พระผู้เป็นเจ้าอย่างไรเมื่อสวดอ้อนวอน?

สวดอ้อนวอนเมื่อใด

ท่านควรสวดอ้อนวอนเมื่อใด? พระเจ้าตรัสว่า “จงค้นหาอย่างขยันหมั่นเพียร, สวดอ้อนวอนเสมอ, และจงเชื่อ, และสิ่งทั้งปวงจะร่วมกันส่งผลเพื่อความดีของเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:24)

แอลมากล่าวว่า “จงปรึกษาพระเจ้าในการกระทำทั้งหมดของลูก, และพระองค์จะทรงชี้ทางให้ลูกเพื่อความดี; แท้จริงแล้ว, เมื่อลูกลงนอนตอนกลางคืนจงลงนอนอยู่กับพระเจ้า, เพื่อพระองค์จะทรงดูแลลูกในการหลับของลูก; และเมื่อลูกลุกขึ้นตอนเช้าขอให้ใจลูกเต็มไปด้วยความขอบพระทัยพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 37:37; ดู 34:17–27 ด้วย)

พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้ท่านสงวนเวลาเงียบๆ ส่วนตัวไว้สวดอ้อนวอน: “เข้าไปในห้องส่วนตัว, และ … สวดอ้อนวอนพระบิดาของเจ้า” (3 นีไฟ 13:6; ดู ข้อ 7–13 ด้วย)

ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์สอนว่า “ทุกเช้า … ผู้สอนศาสนาควรคุกเข่าทูลวิงวอนพระเจ้าให้ทรงปลดปล่อยลิ้นของพวกเขาและพูดผ่านพวกเขาเพื่อเป็นพรแก่คนที่พวกเขาจะสอน หากทำเช่นนี้ แสงไฟดวงใหม่จะเข้ามาในชีวิตพวกเขา จะมีความกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้น พวกเขาจะรู้ว่าแท้จริงแล้วพวกเขาเป็นผู้รับใช้ที่พูดแทนพระเจ้า” (“Missionary Service,” First Worldwide Leadership Training Meeting, Jan. 11, 2003, 20)

การไว้วางใจพระผู้เป็นเจ้าเมื่อเราสวดอ้อนวอน

การมีศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าหมายถึงการไว้วางใจพระองค์ รวมถึงการไว้วางใจพระประสงค์และจังหวะเวลาของพระองค์ในการตอบคำสวดอ้อนวอนของท่านด้วย (ดู อิสยาห์ 55:8–9) ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์สอนว่า:

“ไม่ว่าศรัทธาของเราแรงกล้าเพียงใดก็ไม่สามารถเกิดผลตรงข้ามกับพระประสงค์ของพระองค์ผู้ซึ่งเราศรัทธาได้ จำสิ่งนั้นไว้เมื่อคำสวดอ้อนวอนของท่านดูเหมือนไม่ได้รับคำตอบในแบบหรือตามเวลาที่ท่านต้องการ การใช้ศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์อยู่ภายใต้ระเบียบของสวรรค์ พระกรุณาธิคุณ พระประสงค์ พระปรีชาญาณ และจังหวะเวลาของพระเจ้า เมื่อเรามีศรัทธาและความไว้วางใจในพระเจ้าเช่นนั้น เราจะมีความมั่นคงและความสงบสุขอย่างแท้จริงในชีวิต” (“การชดใช้และศรัทธา,” เลียโฮนา, เม.ย. 2008, 8)

เกี่ยวกับคำสวดอ้อนวอนที่อาจดูเหมือนไม่ได้รับคำตอบ ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่า:

“ข้าพเจ้ารู้จักความรู้สึกนั้น! ข้าพเจ้ารู้จักความกลัวและน้ำตาของชั่วขณะนั้น แต่รู้ด้วยว่าคำสวดอ้อนวอนของเราไม่เคยถูกเมินเฉย ศรัทธาของเราไม่เคยไร้ค่า ข้าพเจ้ารู้ว่าสายพระเนตรอันแหลมคมของพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงปรีชาญาณกว้างไกลกว่าเรามาก แม้เราจะรู้ปัญหาและความเจ็บปวดของเรา แต่พระองค์ทรงรู้ความก้าวหน้าและศักยภาพอมตะของเรา หากเราสวดอ้อนวอนขอให้รู้พระประสงค์และยอมทำตามนั้นด้วยความอดทนและกล้าหาญ การรักษาจากเบื้องบนจะเกิดขึ้นในวิธีและเวลาของพระองค์” (ดู “พระเยซูคริสต์—พระผู้เชี่ยวชาญการรักษา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 101)

ภาพ
ถนนไปเอมมาอูส โดยเกรก โอลเซ็น

ฝึกรับรู้การกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณ

สิ่งสำคัญคือท่านและคนที่ท่านสอนต้องฝึกรับรู้การสื่อสารจากพระวิญญาณ โดยปกติพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสื่อสารเงียบๆ ผ่านความรู้สึก ความคิด และใจท่าน ศาสดาพยากรณ์เอลียาห์พบว่าสุรเสียงของพระเจ้าไม่อยู่ในลม แผ่นดินไหว หรือไฟ—แต่เป็น “เสียงเบาๆ” (1 พงศ์กษัตริย์ 19:12) “ไม่ใช่เสียงฟ้าร้อง” แต่เป็น “เสียงสงบแห่งความนุ่มนวลอย่างสมบูรณ์, ราวกับว่าเป็นเสียงกระซิบ” แต่สามารถ “เสียดแทงแม้จนถึงจิตวิญญาณทีเดียว” (ฮีลามัน 5:30)

การสื่อสารจากพระวิญญาณจะรู้สึกต่างกันไปในแต่ละคน ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไร แต่พระคัมภีร์สอนวิธีรับรู้การสื่อสารเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น พระวิญญาณจะทรงจรรโลงใจท่านและนำท่านให้ทำดี พระองค์จะทรงทำให้ความคิดท่านกระจ่าง จะทรงนำท่านให้เดินอย่างถ่อมตน และพิพากษาอย่างชอบธรรม (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:12–14 และกรอบ “การศึกษาส่วนตัว” ในหมวดนี้)

เพื่อตอบคำถามว่า “เรารับรู้การกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณอย่างไร?” ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์อ่าน โมโรไน 7:13, 16–17 จากนั้นท่านกล่าวว่า:

“เมื่อพิจารณาทุกๆ อย่างแล้ว นั่นคือการทดสอบ นั่นชักจูงให้ทำดี ลุกขึ้นยืนอย่างภาคภูมิ ทำสิ่งถูกต้อง มีน้ำใจ และเผื่อแผ่หรือไม่? ถ้าใช่แสดงว่ามาจากพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า …

“… หากเชื้อเชิญให้ทำดี ย่อมมาจากพระผู้เป็นเจ้า หากเชื้อเชิญให้ทำชั่ว ย่อมมาจากมาร และหากท่านทำสิ่งถูกต้องและหากท่านดำเนินชีวิตถูกวิธี ท่านจะรู้ในใจท่านว่าพระวิญญาณกำลังตรัสอะไรกับท่าน

“ท่านรับรู้การกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณโดยผลของพระวิญญาณ—สิ่งใดให้ความกระจ่าง เสริมสร้าง เชื่อถือได้ ยืนยันได้ และเชิดชูจิตวิญญาณ นำเราให้มีความคิดที่ดีขึ้น คำพูดที่ดีขึ้น และการกระทำที่ดีขึ้น สิ่งนั้นย่อมมาจากพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า” (Teachings of Gordon B. Hinckley [1997], 260–61)

เมื่อท่านแสวงหาและทำตามการนำทางของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ท่านจะสามารถแยกแยะและเข้าใจการกระตุ้นเตือนของพระองค์ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ (ดู 2 นีไฟ 28:30) ในบางด้านการคุ้นชินกับภาษาของพระวิญญาณมากขึ้นก็เหมือนกับการเรียนอีกภาษาหนึ่ง เป็นกระบวนการค่อยเป็นค่อยไปที่ต้องเพียรพยายามและอดทน

จงแสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว ถ้าท่านหมกมุ่นกับเรื่องอื่นท่านอาจไม่รู้สึกถึงการกระตุ้นเตือนเบาๆ ของพระวิญญาณ หรือพระองค์อาจรอสื่อสารจนกว่าท่านแสวงหาอิทธิพลของพระองค์ด้วยความเต็มใจจะทำตามการกระตุ้นเตือนของพระองค์อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน

เสียงต่างๆ ในโลกแข่งกันแย่งความสนใจของท่าน สามารถเบียดการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณออกไปได้โดยง่ายเว้นแต่ท่านให้ที่สำหรับพระวิญญาณในใจท่าน จงจำคำแนะนำนี้จากพระเจ้า: “นิ่งเสีย และรู้เถิดว่าเราคือพระเจ้า” (สดุดี 46:10; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:16 ด้วย)

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“พระผู้เป็นเจ้าทรงใช้หลากหลายรูปแบบถ่ายทอดการเปิดเผยต่อบุตรธิดาของพระองค์ เช่น ความคิดเข้ามาในหัว ความรู้สึกเข้ามาในใจ ความฝัน … และการดลใจ การเปิดเผยบางอย่างได้รับทันทีและแรงกล้า บางอย่างรับรู้ทีละนิดและค่อยเป็นค่อยไป การได้รับ การรับรู้ และการตอบรับการเปิดเผยจากพระผู้เป็นเจ้าเป็นของประทานฝ่ายวิญญาณที่เราทุกควรควรใฝ่ฝันและแสวงหาอย่างเหมาะสม” (เดวิด เอ. เบดนาร์, “วิญญาณแห่งการเปิดเผยในการทำงาน” สัมมนาผู้นำคณะเผยแผ่ปี 2018)

การศึกษาส่วนตัว

ศึกษาพระคัมภีร์ในตารางต่อไปนี้ นึกถึงเวลาที่ท่านเคยประสบความรู้สึก ความคิด หรือความประทับใจที่บรรยายไว้ในข้อเหล่านี้ เมื่อท่านศึกษาและได้รับประสบการณ์ ให้เพิ่มพระคัมภีร์ข้ออื่นให้กับรายการนี้ คิดดูว่าท่านจะใช้หลักธรรมเหล่านี้ช่วยให้ผู้อื่นรู้สึกและรับรู้พระวิญญาณได้อย่างไร

หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:23; 11:12–14; 88:3; ยอห์น 14:26–27; โรม 15:13; กาลาเทีย 5:22–23

ให้ความรู้สึกของความรัก ความปีติยินดี ความสงบ ความสบายใจ ความอดทน ความอ่อนน้อม ความอ่อนโยน ศรัทธา และความหวัง

แอลมา 32:28; หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:14–15; 8:2–3; 1 โครินธ์ 2:9–11

ให้ความกระจ่าง ให้ความคิดในหัวและความรู้สึกในใจ

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:11–12

ช่วยให้พระคัมภีร์มีผลจริงจัง

แอลมา 19:6

แทนความมืดด้วยความสว่าง

โมไซยาห์ 5:2–5

เพิ่มพลังความปรารถนาจะหลีกเลี่ยงความชั่วและเชื่อฟังพระบัญญัติ

โมโรไน 10:5; หลักคำสอนและพันธสัญญา 21:9; 100:8; ยอห์น 14:26; 15:26; 16:13

สอนความจริงและทำให้ระลึกถึงความจริง

หลักคำสอนและพันธสัญญา 45:57

นำทางและคุ้มครองจากการหลอกลวง

2 นีไฟ 31:18; หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:27; ยอห์น 16:13–14

สรรเสริญและรับสั่งคำพยานถึงพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระเยซูคริสต์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:16; 84:85; 100:5–8; ลูกา 12:11–12

ชี้นำคำพูดของครูที่ถ่อมตน

โมโรไน 10:8–17; หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:8–26; 1 โครินธ์ 12

มอบของประทานแห่งพระวิญญาณ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:30; 50:29–30

บอกว่าจะสวดอ้อนวอนขออะไร

2 นีไฟ 32:1–5; หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:15

บอกว่าจะทำอะไร

1 นีไฟ 10:22; แอลมา 18:35

ช่วยให้คนชอบธรรมพูดด้วยพลังอำนาจและสิทธิอำนาจ

2 นีไฟ 31:17; แอลมา 13:12; 3 นีไฟ 27:20

ชำระให้บริสุทธิ์และทำให้เกิดการปลดบาป

1 นีไฟ 2:16–17; 2 นีไฟ 33:1; แอลมา 24:8

นำความจริงไปสู่ใจผู้ฟัง

1 นีไฟ 18:1–3; อพยพ 31:3–5

ยกระดับทักษะและความสามารถ

1 นีไฟ 7:15; 2 นีไฟ 28:1; 32:7; แอลมา 14:11; มอรมอน 3:16; อีเธอร์ 12:2

กระตุ้นให้ไปข้างหน้าหรือรั้งไว้

หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:13–22

จรรโลงใจทั้งครูและนักเรียน

พึ่งพาพระวิญญาณ

ในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้าท่านต้องทำงานของพระองค์ในวิธีของพระองค์และโดยอำนาจของพระองค์ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่า “ไม่มีใครสั่งสอนพระกิตติคุณได้หากไม่มีพระวิญญาณบริสุทธิ์” (Teachings: Joseph Smith332)

วางใจให้พระวิญญาณนำทางท่านในงานทุกด้าน พระองค์จะทรงให้ความกระจ่างและทรงดลใจท่าน จะทรงช่วยท่านหาคนเรียนและจะทรงทำให้ท่านมีพลังในการสอน จะทรงช่วยเหลือขณะท่านช่วยให้สมาชิก สมาชิกที่กลับมา และผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสใหม่เพิ่มพลังศรัทธาของตน

ผู้สอนศาสนาบางคนรู้สึกมั่นใจในตนเอง หลายคนขาดความมั่นใจเช่นนั้น จงมั่นใจและศรัทธาในพระเยซูคริสต์อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ใช่ในตัวท่านเอง พึ่งพาพระวิญญาณแทนที่จะพึ่งพาพรสวรรค์และความสามารถของตน พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงขยายความพยายามของท่านเกินกว่าท่านจะทำได้ด้วยตนเอง

การศึกษาพระคัมภีร์

ศึกษาพระคัมภีร์ข้อต่อไปนี้และพิจารณาว่าข้อเหล่านี้ตอบคำถามสำคัญๆ เหล่านี้ที่ท่านควรถามทุกวันอย่างไร ท่านจะประยุกต์ใช้คำสอนในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้กับการพยายามหา ช่วงวางแผน การศึกษาส่วนตัวและกับคู่ได้อย่างไร? ท่านจะประยุกต์ใช้ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้กับการพยายามสอน เชื้อเชิญให้ผู้คนทำคำมั่นสัญญา และติดตามผลคำมั่นสัญญาได้อย่างไร?

ฉันควรเริ่มตรงไหน?

ฉันควรทำอะไร?

ฉันควรพูดอะไร?

ฉันควรใช้พระคัมภีร์ในการสอนของฉันอย่างไร?

คำเตือน

ยืนยันการกระตุ้นเตือนของท่านกับแหล่งที่เชื่อถือได้

เมื่อสวดอ้อนวอนขอการดลใจ จงเปรียบเทียบการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณของท่านกับพระคัมภีร์และคำสอนของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ การกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณจะสอดคล้องกับแหล่งเหล่านี้

แสวงหาการเปิดเผยภายในงานมอบหมายของท่าน

จงแน่ใจว่าความรู้สึกที่ท่านได้รับสอดคล้องกับงานมอบหมายของท่าน หากท่านไม่ได้รับเรียกโดยผู้มีสิทธิอำนาจที่ถูกต้อง ท่านจะไม่ได้รับการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณให้แนะนำหรือแก้ไขผู้อื่น ตัวอย่างเช่น ท่านจะไม่ได้รับการเปิดเผยให้บอกอธิการว่าเขาควรทำอะไรในการเรียกของเขา

ภาพ
ของประทานแห่งความสว่าง

แยกแยะอิทธิพลแท้จริงของพระวิญญาณ

ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์แนะนำว่า “ข้าพเจ้าขอให้คำเตือน … ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าเราไม่ระวัง … เราอาจเริ่มพยายามปลอมแปลงอิทธิพลที่แท้จริงของพระวิญญาณของพระเจ้าโดยใช้วิธีชักจูงที่ไม่เหมาะไม่ควร ข้าพเจ้าเป็นห่วงเมื่อดูเหมือนเราเอาอารมณ์ที่รุนแรงหรือน้ำตาไหลพรากมาเทียบกับการสถิตอยู่ของพระวิญญาณ แน่นอนว่าพระวิญญาณของพระเจ้าสามารถทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงได้ รวมทั้งน้ำตา แต่ไม่ควรนำปรากฏการณ์ภายนอกมาปะปนกับการสถิตอยู่ของพระวิญญาณ” (The Teachings of Howard W. Hunter [1997], 184)

อย่าพยายามบีบบังคับเรื่องทางวิญญาณ

เราจะบีบบังคับเรื่องทางวิญญาณไม่ได้ ท่านสามารถปลูกฝังเจตคติและสภาพแวดล้อมที่อัญเชิญพระวิญญาณ และท่านสามารถเตรียมตนเองให้พร้อม แต่ท่านไม่สามารถสั่งให้การดลใจมาอย่างไรหรือเมื่อใด จงอดทนและวางใจว่าท่านจะได้รับสิ่งที่ท่านต้องการเมื่อถึงเวลาเหมาะสม

รักษาประสบการณ์ทางวิญญาณให้ศักดิ์สิทธิ์

ในฐานะผู้สอนศาสนา ท่านอาจรับรู้ประสบการณ์ทางวิญญาณได้มากกว่าที่ท่านเคยได้รับในชีวิต ประสบการณ์เหล่านี้ศักดิ์สิทธิ์และโดยทั่วไปแล้วมีไว้เพื่อจรรโลงใจ สอน หรือแก้ไขท่าน

จะดีที่สุดถ้าเก็บประสบการณ์หลายอย่างนี้ไว้กับตัว และแบ่งปันเฉพาะเมื่อพระวิญญาณทรงบอกว่าท่านสามารถเป็นพรแก่ผู้อื่นได้โดยการทำเช่นนั้น (ดู แอลมา 12:9; หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:64; 84:73)

ใช้ดุลพินิจที่ดีที่สุดของท่านเองในบางกรณี

บางครั้งเราต้องการให้พระวิญญาณทรงนำในทุกสิ่ง แต่บ่อยครั้งพระเจ้าทรงต้องการให้เราลงมือปฏิบัติโดยใช้ดุลพินิจที่ดีที่สุดของเรา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 60:5; 61:22; 62:5) ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์สอนว่า:

“ความปรารถนาจะให้พระเจ้าทรงนำเป็นข้อดี แต่ต้องควบคู่กับการเข้าใจว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงปล่อยให้เราเลือกตัดสินใจหลายเรื่องด้วยตนเอง การตัดสินใจด้วยตนเองเป็นแหล่งหนึ่งของการเติบโตที่มุ่งหมายให้เราประสบในความเป็นมรรตัย บุคคลที่พยายามปัดการตัดสินใจทั้งหมดให้พระเจ้าและทูลขอการเปิดเผยในการเลือกทุกอย่างไม่นานจะอยู่ในสถานการณ์ที่พวกเขาสวดอ้อนวอนขอการนำทางและไม่ได้รับ ตัวอย่างเช่น กรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้ในหลายๆ สถานการณ์ซึ่งการเลือกเหล่านั้นไม่สำคัญหรือไม่เป็นที่ยอมรับ

“เราควรศึกษาไตร่ตรองในความคิดโดยใช้พลังความสามารถในการใช้เหตุผลที่พระผู้สร้างทรงใส่ไว้ในเรา จากนั้นเราควรสวดอ้อนวอนทูลขอการนำทางและทำตามนั้นหากเราได้รับ หากเราไม่ได้รับการนำทาง เราควรทำตามดุลพินิจที่ดีที่สุดของเรา บุคคลที่ดึงดันแสวงหาการนำทางด้วยการเปิดเผยในเรื่องที่พระเจ้าไม่ทรงเลือกชี้นำเราอาจกุคำตอบจากความเพ้อฝันหรืออคติของตน หรือพวกเขาอาจรับคำตอบผ่านสื่อกลางของการเปิดเผยเท็จ” (“Our Strengths Can Become Our Downfall,” Ensign, Oct. 1994, 13–14)

การศึกษาพระคัมภีร์

การพึ่งพาพระวิญญาณสำคัญมากถึงขนาดพระเจ้าทรงเตือนเราไม่ให้ปฏิเสธหรือดับพระวิญญาณ ท่านเรียนรู้อะไรจากข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้?


แนวคิดสำหรับการศึกษาและการประยุกต์ใช้

การศึกษาส่วนตัว

  • แบ่งหน้ากระดาษออกเป็นสองคอลัมน์ คอลัมน์หนึ่งเขียนว่า “สิ่งที่พระเจ้าทรงทำ” และอีกคอลัมน์หนึ่งเขียนว่า “สิ่งที่ลีไฮหรือนีไฟทำ” อ่านเรื่องเลียโฮนาและคันธนูหัก (1 นีไฟ 16:9–31) หรือเรื่องนีไฟต่อเรือ (1 นีไฟ 17:7–16; 18:1–6) เขียนเหตุการณ์จากเรื่องลงในคอลัมน์ที่เหมาะสม พิจารณาว่าเรื่องนั้นสอนอะไรท่านเกี่ยวกับธรรมชาติของการดลใจ

  • ดูสมุดบันทึกของท่านและหาเวลาที่พระวิญญาณเคยทรงนำท่านหรือท่านเคยประสบของประทานแห่งพระวิญญาณ นึกดูว่าประสบการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อใด ที่ไหน และเพราะเหตุใด พระหัตถ์ของพระเจ้าประจักษ์อย่างไร? ท่านรู้สึกอย่างไร? การจดจำประสบการณ์เหล่านี้จะช่วยให้ท่านรับรู้พระวิญญาณ

  • ศึกษา แอลมา 33:1–12 และ แอลมา 34:17–31 แอลมาและอมิวเล็คถามคำถามอะไรบ้าง? (ทบทวน แอลมา 33:1–2) พวกเขาตอบคำถามเหล่านี้อย่างไร? พวกเขาให้การรับรองอะไรบ้าง?

  • พระเจ้าทรงสัญญาว่าพระวิญญาณจะทรงนำทางเราในด้านสำคัญหลายๆ ด้าน ขณะอ่านข้อต่อไปนี้ ให้ระบุงานด้านต่างๆ ของท่านที่ต้องอาศัยการนำทางของพระวิญญาณ หลักธรรมในข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้มีความหมายอะไรต่อการศึกษาส่วนตัวและกับคู่? ต่อการประชุมสภาดิสตริกท์ การประชุมโซน พิธีบัพติศมา และการประชุมอื่นๆ?

    สวดอ้อนวอน

    ดำเนินการประชุม

การศึกษากับคู่และการสลับคู่

  • พูดคุยกันเรื่องการสวดอ้อนวอนของท่านกับคู่ พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงนำทางการสวดอ้อนวอนเหล่านั้นหรือไม่? ท่านเคยได้รับคำตอบของการสวดอ้อนวอนกับคู่อย่างไร? เมื่อท่านสวดอ้อนวอนกับคู่ ท่าน:

    • เชื่อหรือไม่ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะประทานสิ่งที่ท่านทูลขอในความชอบธรรมและตามพระประสงค์ของพระองค์?

    • ยอมรับและขอบพระทัยสำหรับคำตอบการสวดอ้อนวอนของท่านหรือไม่?

    • สวดอ้อนวอนให้ผู้คนโดยเอ่ยชื่อและพิจาณาความต้องการของพวกเขาหรือไม่?

    • สวดอ้อนวอนให้กันและให้พระวิญญาณทรงนำทางท่านหรือไม่?

    • รับรู้คำตอบการสวดอ้อนวอนของท่านหรือไม่?

    • สวดอ้อนวอนด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจว่าจะทำตามการกระตุ้นเตือนที่ท่านได้รับหรือไม่?

  • สนทนาว่าท่านจะตั้งใจแสวงหาพระวิญญาณมากขึ้นอย่างไร

  • สนทนาวิธีต่างๆ ที่ผู้คนพูดถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ จดบันทึกความคิดเห็นของคนที่ท่านสอนลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่านเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขากับพระวิญญาณ ท่านจะช่วยให้ผู้อื่นรับรู้อิทธิพลอันศักดิ์สิทธิ์นี้ได้อย่างไร?

สภาดิสตริกท์ การประชุมโซน และสภาผู้นำคณะเผยแผ่

  • เมื่อเห็นเหมาะสม ให้ผู้สอนศาสนาเล่าเรื่องหรือเล่าประสบการณ์ที่พวกเขาได้ยินในการประชุมประจักษ์พยานเมื่อเร็วๆ นี้ ประสบการณ์การสอน หรือสภาวะแวดล้อมอื่น เรื่องราวและประสบการณ์ทางวิญญาณที่คนอื่นเล่าสามารถช่วยท่านพัฒนาศรัทธาและรับรู้ว่าอิทธิพลของพระวิญญาณประจักษ์อย่างกว้างขวางบ่อยๆ

  • ขอให้ผู้สอนศาสนาเป็นผู้พูดเรื่องงานเผยแผ่และอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์

  • สนทนาว่าการแสดงความสำนึกคุณช่วยให้ท่านเห็นพระเจ้าทรงอวยพรท่านในวิธีเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญมากอย่างไร (ดู อีเธอร์ 3:5; หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:21) สนทนาวิธีแสดงความสำนึกคุณ

  • อาจจะขอให้สมาชิกใหม่บอกว่าเขาได้รับอิทธิพลจากพระวิญญาณอย่างไรเมื่อเรียนรู้เกี่ยวกับศาสนจักร ขอให้บุคคลนั้นแบ่งปันเฉพาะประสบการณ์ที่รู้สึกว่าเหมาะสม

ผู้นำคณะเผยแผ่และที่ปรึกษาคณะเผยแผ่

  • ท่านอาจจะขอให้ผู้สอนศาสนารวมประสบการณ์ทางวิญญาณที่เหมาะสมไว้ในจดหมายประจำสัปดาห์ถึงท่านด้วย

  • ในการสัมภาษณ์หรือในการสนทนา ให้ถามผู้สอนศาสนาเป็นครั้งคราวเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนตอนเช้าและตอนค่ำของพวกเขา หากจำเป็น ให้ปรึกษากับพวกเขาเกี่ยวกับวิธีทำให้การสวดอ้อนวอนของพวกเขามีความหมายมากขึ้น

  • ถามผู้สอนศาสนาว่าพวกเขาช่วยคนที่พวกเขาสอนให้รู้สึกและรับรู้พระวิญญาณอย่างไร