การเรียกในคณะเผยแผ่
บทที่ 6: แสวงหาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์


“บทที่ 6: แสวงหาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์” สั่งสอนกิตติคุณของเรา: คู่มือแนะแนวการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ (2023)

“บทที่ 6” สั่งสอนกิตติคุณของเรา

ภาพ
การเรียกชาวประมง (พระคริสต์ทรงเรียกเปโตรและอันดรูว์) โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน

บทที่ 6

แสวงหาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์

พิจารณาสิ่งเหล่านี้

  • การแสวงหาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์จะช่วยให้ฉันบรรลุจุดประสงค์การเป็นผู้สอนศาสนาอย่างไร?

  • ฉันจะทั้ง แสวงหา และ รับ คุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ได้อย่างไร?

  • ตอนนี้ฉันควรจดจ่อกับคุณลักษณะใด?

คำนำ

ตอนเริ่มต้นการปฏิบัติศาสนกิจในมรรตัย พระเยซูทรงเดินไปตามชายฝั่งทะเลกาลิลีและเรียกชาวประมงสองคนคือเปโตรกับอันดรูว์ให้มาช่วย “จงตามเรามา” พระองค์ตรัส “และเราจะตั้งท่านให้เป็นผู้หาคนดั่งหาปลา” (มัทธิว 4:19; ดู มาระโก 1:17 ด้วย)

พระเจ้าทรงเรียกท่านให้ทำงานของพระองค์เช่นกัน และทรงเชื้อเชิญให้ท่านติดตามพระองค์เช่นกัน “เจ้าควรเป็นคนอย่างไรเล่า?” พระองค์ตรัสถาม “ตามจริงแล้วเรากล่าวแก่เจ้า, แม้ดังที่เราเป็น” (3 นีไฟ 27:27)

บางบทใน สั่งสอนกิตติคุณของเรา จะเน้นสิ่งที่ท่านต้องทำในฐานะผู้สอนศาสนา เช่น วิธีศึกษา วิธีสอน และวิธีตั้งเป้าหมาย สำคัญเท่ากับสิ่งที่ท่านต้องทำคือ ตัวตนที่ท่านเป็น และ ตัวตนที่ท่านจะเป็น นั่นคือจุดเน้นของบทนี้

พระคัมภีร์พูดถึงคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ที่ท่านจำเป็นต้องแสวงหาเมื่อเป็นผู้สอนศาสนาและตลอดชีวิตท่าน คุณลักษณะเหมือนพระคริสต์คือคุณสมบัติหรือลักษณะเฉพาะของธรรมชาติและอุปนิสัยของพระผู้ช่วยให้รอด บทนี้พูดถึงคุณลักษณะบางอย่างเหล่านั้น ศึกษาคุณลักษณะเหล่านี้และข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง มองหาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์อื่นๆ ขณะศึกษาพระคัมภีร์ข้ออื่น

การศึกษาส่วนตัว

ศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 4 พระเจ้าทรงระบุว่าคุณลักษณะใดสำคัญต่อผู้สอนศาสนา? การแสวงหาคุณลักษณะเหล่านี้ช่วยให้ท่านบรรลุจุดประสงค์ผู้สอนศาสนาของท่านอย่างไร?

“แสวงหาพระเยซูองค์นี้”

ศาสดาพยากรณ์โมโรไนแนะนำว่า “ข้าพเจ้าอยากกระตุ้นเตือนท่านให้แสวงหาพระเยซูองค์นี้ผู้ซึ่งศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกเขียนไว้” (อีเธอร์ 12:41) วิธีสำคัญวิธีหนึ่งในการแสวงหาพระเยซูคือเพียรพยายามเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์และเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น งานเผยแผ่ของท่านเป็นเวลาที่เหมาะจะเน้นเรื่องนี้

ขณะท่านมุ่งมั่นเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น ท่านจะบรรลุจุดประสงค์การเป็นผู้สอนศาสนาได้ดีขึ้น ท่านจะประสบปีติ สันติ และการเติบโตทางวิญญาณเมื่อคุณลักษณะของพระองค์กลายเป็นอุปนิสัยส่วนหนึ่งของท่าน ท่านจะวางรากฐานให้กับการติดตามพระองค์ต่อเนื่องตลอดชีวิตท่านด้วย

ของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า

คุณลักษณะเหมือนพระคริสต์เป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้า ของประทานเหล่านี้เหมือนสิ่งดีทุกอย่างคือผ่านมาทาง “พระคุณของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา, และพระเจ้าพระเยซูคริสต์ด้วย, และพระวิญญาณบริสุทธิ์” (อีเธอร์ 12:41)

จดจ่อกับพระคริสต์ขณะท่านพยายามปลูกฝังคุณลักษณะของพระองค์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:36) คุณลักษณะเหล่านี้ไม่ใช่ข้อที่ระบุไว้ในรายการตรวจสอบ ไม่ใช่เทคนิคที่ท่านพัฒนาในโปรแกรมพัฒนาตนเอง และไม่ได้มาจากความมุ่งมั่นส่วนตัวเท่านั้น แต่ท่านจะได้รับเมื่อมุ่งมั่นเป็นสานุศิษย์ที่อุทิศตนมากขึ้นของพระเยซูคริสต์

จงสวดอ้อนวอนขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรท่านให้มีคุณลักษณะเหล่านี้ น้อมรับความอ่อนแอของท่านและความต้องการเดชานุภาพของพระองค์ในชีวิตท่าน ขณะน้อมรับเช่นนั้น พระองค์จะทรง “ทำให้สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็งสำหรับ [ท่าน]” (อีเธอร์ 12:27)

กระบวนการค่อยเป็นค่อยไป

การเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดเป็นกระบวนการค่อยเป็นค่อยไปชั่วชีวิต ปรับปรุงการตัดสินใจทีละเรื่องด้วยความปรารถนาจะทำให้พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัย

จงอดทนกับตนเอง พระผู้เป็นเจ้าทรงรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตใช้เวลา พระองค์พอพระทัยกับความปรารถนาที่จริงใจของท่านและจะทรงอวยพรความพยายามทุกอย่างของท่าน

เมื่อท่านหมายมั่นเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น ความปรารถนา ความคิด และการกระทำของท่านจะเปลี่ยน การชดใช้ของพระเยซูคริสต์และอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์จะขัดเกลาธรรมชาติวิสัยของท่าน (ดู โมไซยาห์ 3:19)

ภาพ
พาร์ลีย์ พี. แพรทท์

พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงขยายและเพิ่มความสามารถของเรา พระองค์ทรง “ดลบันดาลความบริสุทธิ์ ความกรุณา ความดีงาม ความอ่อนโยน ความสุภาพ และจิตกุศล … สรุปคือพระองค์ทรงให้ไขแก่กระดูก ให้ปีติแก่ใจ ให้แสงสว่างแก่ดวงตา ให้เสียงเพลงแก่หู และให้ชีวิตแก่การดำรงอยู่ทั้งหมด” (พาร์ลีย์ พี. แพรทท์, Key to the Science of Theology [1855], 98–99)

การศึกษาพระคัมภีร์

พระคัมภีร์ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับการทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์?

ท่านจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากพระคัมภีร์ข้อต่อไปนี้เกี่ยวกับการแสวงหาคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์?

ภาพ
ลุกขึ้นเดิน โดย ไซมอน ดิวอีย์

ศรัทธาในพระเยซูคริสต์

เพื่อให้ศรัทธานำไปสู่ความรอด ท่านต้องทำให้ศรัทธามีศูนย์กลางในพระเยซูคริสต์ (ดู กิจการ 4:10–12; โมไซยาห์ 3:17; โมโรไน 7:24–26) เมื่อท่านมีศรัทธาในพระคริสต์ ท่านย่อมวางใจพระองค์ในฐานะพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระผู้เป็นเจ้า ท่านมั่นใจว่าเมื่อท่านกลับใจ ท่านจะได้รับการอภัยบาปผ่านการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์และได้รับการชำระให้บริสุทธิ์โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ดู 3 นีไฟ 27:16, 20)

ศรัทธาไม่ใช่การมีความรู้อันสมบูรณ์ แต่คือการรับรองจากพระวิญญาณในสิ่งที่ท่านมองไม่เห็นแต่เป็นความจริง (ดู แอลมา 32:21)

เราแสดงศรัทธาผ่านการกระทำ การกระทำเหล่านี้รวมถึงการทำตามคำสอนและแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด รวมถึงการรับใช้ผู้อื่นและช่วยให้พวกเขาเลือกติดตามพระคริสต์ ท่านแสดงศรัทธาผ่านความขยันหมั่นเพียร การกลับใจ และความรักด้วย

ศรัทธาเป็นหลักธรรมแห่งอำนาจ เมื่อท่านใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ท่านจะได้รับพรให้มีอำนาจของพระองค์เหมาะกับสภาวการณ์ของท่าน ท่านจะสามารถประสบปาฏิหาริย์ตามพระประสงค์ของพระเจ้า (ดู เจคอบ 4:4–7; โมโรไน 7:33; 10:7)

ศรัทธาของท่านในพระเยซูคริสต์จะเพิ่มพูนเมื่อท่านคุ้นเคยกับพระองค์และคำสอนของพระองค์ จะเพิ่มขึ้นเมื่อท่านค้นคว้าพระคัมภีร์ สวดอ้อนวอนอย่างจริงใจ และเชื่อฟังพระบัญญัติ ความสงสัยและบาปบ่อนทำลายศรัทธา

ภาพ
เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น

“ศรัทธาไม่ได้เป็นเพียงความรู้สึก ศรัทธาคือการตัดสินใจ เราสร้างและเสริมศรัทธาของเราด้วยการสวดอ้อนวอน การศึกษา การเชื่อฟัง และพันธสัญญา ความเชื่อมั่นในพระผู้ช่วยให้รอดและงานยุคสุดท้ายของพระองค์จะกลายเป็นเลนส์อันทรงพลังให้เราใช้ตัดสินเรื่องอื่นทั้งหมด จากนั้นเมื่อเราพบตนเองอยู่ในเบ้าหลอมของชีวิต … เราจะมีพลังเดินไปในวิถีที่ถูกต้อง” (ดู นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “เรื่องนี้จริงไม่ใช่หรือ แล้วจะห่วงเรื่องอื่นทำไมเลียโฮนา, พ.ค. 2007, 93)

การศึกษาพระคัมภีร์

ศรัทธาคืออะไร?

ท่านมีศรัทธาได้อย่างไร และท่านจะทำอะไรผ่านศรัทธาได้บ้าง?

พรใดผ่านมาทางศรัทธา?

ภาพ
ความหวังที่เพิ่มขึ้น โดย โจเซฟ บริกคีย์

ความหวัง

ความหวังไม่ได้เป็นแค่ความคิดเพ้อฝัน แต่คือความยึดมั่นถือมั่นในศรัทธาของท่านในพระคริสต์ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับท่าน (ดู โมโรไน 7:42) คือการคาดหวังใน “สิ่งประเสริฐซึ่งมาถึง” ผ่านพระคริสต์ (ฮีบรู 9:11)

แหล่งสูงสุดของความหวังคือพระเยซูคริสต์ ศาสดาพยากรณ์มอรมอนถามว่า “และอะไรเล่าที่ท่านจะหวัง?” เขาตอบต่อจากนั้นว่า “ท่านจะมีความหวังโดยผ่านการชดใช้ของพระคริสต์และเดชานุภาพแห่งการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์, เพื่อยกท่านขึ้นสู่นิรันดรแห่งชีวิต, และนี่เพราะศรัทธาของท่านในพระองค์ตามสัญญา” (โมโรไน 7:41; ดู ข้อ 40–43 ด้วย)

เมื่อท่านทำให้ความหวังของท่านมีศูนย์กลางในพระคริสต์ ท่านมั่นใจได้แน่นอนว่าทุกอย่างจะร่วมกันส่งผลเพื่อความดีของท่าน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 90:24) ความมั่นใจนี้ช่วยให้ท่านบากบั่นด้วยศรัทธาเมื่อท่านเจอการทดลอง นอกจากนี้ยังจะช่วยให้ท่านเติบโตจากการทดลอง พัฒนาความทรหดอดทนและความเข้มแข็งทางวิญญาณด้วย ความหวังในพระคริสต์ให้ที่ยึดเหนี่ยวจิตวิญญาณท่าน (ดู อีเธอร์ 12:4)

ความหวังให้ความมั่นใจว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงขยายความเพียรพยายามอันชอบธรรมของท่าน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:17)

วิธีเพิ่มความหวังวิธีหนึ่งคือผ่านการกลับใจ การชำระให้สะอาดและการให้อภัยผ่านการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ก่อให้เกิดและฟื้นความหวัง (ดู แอลมา 22:16)

นีไฟแนะนำให้ “มุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์, โดยมีความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวัง, และความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อมนุษย์ทั้งปวง” (2 นีไฟ 31:20) เมื่อท่านดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ ท่านจะสามารถ “เปี่ยมด้วยความหวัง” ได้มากขึ้น (โรม 15:13)

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“ในยามทุกข์ใจ เราสามารถตั้งมั่นในความหวังว่าสิ่งต่างๆ จะ “ร่วมกันส่งผลเพื่อความดี [ของเรา]’ เมื่อเราทำตามคำแนะนำของศาสดาพยากรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า ความหวังแบบนี้ในพระผู้เป็นเจ้า พระคุณความดีของพระองค์ และเดชานุภาพของพระองค์จะทำให้เราเกิดความกล้าระหว่างความท้าทายยากๆ และให้พลังแก่คนที่รู้สึกว่าถูกข่มขวัญด้วยความกลัว ความสงสัย และความสิ้นหวังรอบด้าน” (ดู ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “พลังอันไร้ขอบเขตของความหวัง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 28)

การศึกษาพระคัมภีร์

ความหวังคืออะไร และเราหวังอะไร?

ภาพ
พระคริสต์และเด็กๆ โดย มิเนอร์วา ไทเชิร์ต

จิตกุศลและความรัก

ครั้งหนึ่งชายคนหนึ่งถามพระเยซูว่า “ในธรรมบัญญัตินั้น พระบัญญัติข้อไหนสำคัญที่สุด?” พระเยซูตรัสตอบว่า “จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่านด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน นั่นแหละเป็นพระ‍บัญญัติข้อสำคัญอันดับแรก ข้อที่สองก็เหมือนกัน คือจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มัทธิว 22:36–39)

จิตกุศลคือ “ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์” (โมโรไน 7:47 รวมถึงความรักนิรันดร์ของพระผู้เป็นเจ้าต่อลูกๆ ทุกคนของพระองค์

ศาสดาพยากรณ์มอรมอนสอนว่า “จงสวดอ้อนวอนพระบิดาจนสุดพลังของใจ, เพื่อท่านจะเปี่ยมด้วยความรักนี้” (โมโรไน 7:48) เมื่อท่านสวดอ้อนวอนให้ใจท่านเปี่ยมด้วยจิตกุศล ท่านจะลิ้มรสความรักของพระผู้เป็นเจ้า ความรักต่อผู้คนจะเพิ่มขึ้น และท่านจะรู้สึกห่วงใยความสุขนิรันดร์ของพวกเขาอย่างจริงใจ ท่านจะมองพวกเขาเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้าที่มีศักยภาพจะเป็นเหมือนพระองค์ และท่านจะทำงานเพื่อพวกเขา

เมื่อท่านสวดอ้อนวอนขอของประทานแห่งจิตกุศล ท่านมีแนวโน้มจะจมปลักอยู่กับความรู้สึกลบๆ น้อยลง เช่น โกรธหรืออิจฉา ท่านจะตัดสินหรือวิจารณ์ผู้อื่นน้อยลง ท่านมีความปรารถนาจะพยายามเข้าใจพวกเขาและมุมของพวกเขามากขึ้น ท่านจะอดทนมากขึ้นและพยายามช่วยเหลือเมื่อพวกเขาลำบากหรือท้อแท้ (ดู โมโรไน 7:45)

จิตกุศลเหมือนศรัทธาคือนำไปสู่การกระทำ ท่านเสริมสร้างจิตกุศลเมื่อท่านรับใช้ผู้อื่นและเสียสละตนเอง

จิตกุศลมีไว้เพื่อการเปลี่ยนแปลง พระบิดาบนสวรรค์ทรงมอบจิตกุศล “ให้ทุกคนซึ่งเป็นผู้ติดตามที่แท้จริงของพระบุตรของพระองค์, พระเยซูคริสต์; … เพื่อว่าเมื่อพระองค์จะเสด็จมาปรากฏเราจะเป็นเหมือนพระองค์, … เพื่อพระองค์จะทรงทำให้เราบริสุทธิ์แม้ดังที่พระองค์ทรงบริสุทธิ์” (โมโรไน 7:48)

การศึกษาพระคัมภีร์

จิตกุศลคืออะไร?

พระเยซูคริสต์ทรงแสดงจิตกุศลอย่างไร?

ท่านได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับจิตกุศลจากพระคัมภีร์ข้อต่อไปนี้?

ภาพ
เอสเธอร์ (ราชินีเอสเธอร์) โดย มิเนอร์วา ไทเชิร์ต

คุณธรรม

“เราเชื่อในการเป็นคน … มีคุณธรรม” หลักแห่งความเชื่อกล่าว (1:13) คุณธรรมเป็นรูปแบบหนึ่งของความคิดและพฤติกรรมโดยยึดตามมาตรฐานศีลธรรมอันสูงส่ง คือความจงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าและผู้อื่น ส่วนจำเป็นของคุณธรรมคือการพยายามเป็นคนสะอาดและบริสุทธิ์ทางวิญญาณและทางร่างกาย

คุณธรรมเริ่มต้นในความนึกคิดและความปรารถนาของท่าน “ให้คุณธรรมประดับความนึกคิดของท่านไม่เสื่อมคลาย” พระเจ้าตรัส (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:45) จดจ่อกับความนึกคิดที่ชอบธรรมและเชิดชูจิตวิญญาณ เอาความนึกคิดที่ไม่คู่ควรออกจากความคิดของท่านแทนที่จะจมปลักอยู่กับมัน

ความคิดของท่านเหมือนเวทีในโรงละคร ถ้าท่านปล่อยให้ความนึกคิดที่ไม่ดีวนเวียนอยู่บนเวทีความคิด ท่านมีแนวโน้มจะทำบาป ถ้าท่านหมั่นเติมสิ่งดีงามให้กับความคิด ท่านมีแนวโน้มจะน้อมรับสิ่งที่เป็นคุณธรรมและปิดกั้นสิ่งชั่วร้าย จงฉลาดเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านยอมให้เข้ามาอยู่บนเวทีความคิดของท่าน

เมื่อท่านพยายามดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม “ความมั่นใจของท่านแข็งแกร่งขึ้นในการประทับอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า; และ … พระวิญญาณบริสุทธิ์จะเป็นเพื่อนที่ยั่งยืนของท่าน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:45–46)

การศึกษาพระคัมภีร์

การมีคุณธรรมหมายความว่าอย่างไร?

ความสุจริตใจ

ความสุจริตใจหลั่งไหลมาจากพระบัญญัติข้อสำคัญข้อแรกให้รักพระผู้เป็นเจ้า (ดู มัทธิว 22:37) เพราะท่านรักพระผู้เป็นเจ้า ท่านจึงซื่อตรงต่อพระองค์ตลอดเวลา เหมือนพวกบุตรของฮีลามัน ท่าน “ดำเนินชีวิตอย่างซื่อตรงต่อพระพักตร์พระองค์” (แอลมา 53:21)

เมื่อท่านมีความสุจริตใจ ท่านเข้าใจว่ามีถูกและผิด และมีความจริงอันสมบูรณ์—ความจริงของพระผู้เป็นเจ้า ท่านใช้สิทธิ์เสรีเลือกตามความจริงของพระผู้เป็นเจ้า และท่านกลับใจทันทีทีท่านไม่ได้เลือกตามนั้น สิ่งที่ท่านเลือกคิด—และสิ่งที่ท่านทำเมื่อท่านเชื่อว่าไม่มีใครดูอยู่—เป็นเครื่องวัดความสุจริตใจของท่านได้ดีเยี่ยม

ภาพ
ดาเนียลในถ้ำสิงโต โดย คลาร์ก เคลลีย์ ไพรซ์

ความสุจริตใจหมายความว่าท่านไม่ลดมาตรฐานหรือพฤติกรรมเพื่อจะทำให้ผู้อื่นประทับใจหรือยอมรับ ท่านทำสิ่งถูกต้องแม้เมื่อผู้อื่นเยาะเย้ยความปรารถนาจะซื่อตรงต่อพระผู้เป็นเจ้าของท่าน (ดู 1 นีไฟ 8:24–28) ท่านดำเนินชีวิตอย่างมีเกียรติในทุกสภาพแวดล้อม รวมถึงวิธีแสดงตัวตนทางออนไลน์ด้วย

เมื่อท่านมีความสุจริตใจ เท่ากับท่านรักษาพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าและคำมั่นสัญญาอันชอบธรรมกับผู้อื่น

ความสุจริตใจรวมถึงการซื่อสัตย์ต่อพระผู้เป็นเจ้า ต่อตนเอง ต่อผู้นำของท่าน และต่อผู้อื่น ท่านไม่พูดปด ไม่ลักขโมย ไม่คดโกง หรือไม่หลอกลวง เมื่อท่านทำผิดบางอย่าง ท่านยอมรับความรับผิดชอบและกลับใจแทนที่จะพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองหรือแก้ตัว

เมื่อท่านดำเนินชีวิตด้วยความสุจริตใจ ท่านจะมีสันติในใจและความเคารพตนเอง พระเจ้าและผู้อื่นจะไว้ใจท่าน

การศึกษาพระคัมภีร์

พระเยซูทรงแสดงความสุจริตใจแม้ในช่วงเวลาเปราะบางที่สุดของพระองค์อย่างไร?

นักรบหนุ่มในกองทัพของฮีลามันแสดงความสุจริตใจอย่างไร?

ดาเนียลแสดงความสุจริตใจอย่างไร? พระผู้เป็นเจ้าทรงอวยพรดาเนียลสำหรับความสุจริตใจของเขาอย่างไร?

ทำไมพระเจ้าทรงรักไฮรัมพี่ชายของโจเซฟ สมิธ?

ภาพ
เพิ่มศรัทธา คุณธรรม โดย วอลเตอร์ เรน

ความรู้

พระเจ้าทรงแนะนำให้ “แสวงหาการเรียนรู้, แม้โดยการศึกษาและโดยศรัทธาด้วย” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:118) ระหว่างทำงานเผยแผ่ของท่านและตลอดชีวิต จงแสวงหาความรู้ โดยเฉพาะความรู้ทางวิญญาณ

ศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ จงขอความช่วยเหลือผ่านการศึกษาและการสวดอ้อนวอนหากมีคำถาม ความท้าทาย และโอกาสที่เฉพาะเจาะจง มองหาข้อพระคัมภีร์ที่ท่านสามารถใช้สอนและตอบคำถามเกี่ยวกับพระกิตติคุณ

เมื่อท่านศึกษาอย่างขยันหมั่นเพียรร่วมกับการสวดอ้อนวอน พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงทำให้ความคิดของท่านกระจ่าง พระองค์จะทรงสอนท่านและประทานความเข้าใจแก่ท่าน จะทรงช่วยท่านประยุกต์ใช้คำสอนของพระคัมภีร์และศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายในชีวิตท่าน ท่านจะพูดได้เหมือนนีไฟว่า:

“เพราะจิตวิญญาณข้าพเจ้าเบิกบานในพระคัมภีร์, และใจข้าพเจ้าไตร่ตรองพระคัมภีร์ … ดูเถิด, จิตวิญญาณข้าพเจ้าเบิกบานในเรื่องของพระเจ้า; และใจข้าพเจ้าไตร่ตรองอยู่ตลอดเวลาถึงเรื่องที่ข้าพเจ้าเห็นและได้ยินมา” (2 นีไฟ 4:15–16)

การศึกษาพระคัมภีร์

ความรู้จะช่วยท่านทำงานของพระเจ้าได้อย่างไร?

ท่านจะมีความรู้ได้อย่างไร?

ภาพ
คนกับเงาแสงอาทิตย์

ความอดทน

ความอดทนคือการสามารถวางใจพระผู้เป็นเจ้าขณะท่านพบเจอความล่าช้า การต่อต้าน หรือความทุกข์ทรมาน โดยผ่านศรัทธา ท่านวางใจจังหวะเวลาของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อให้พรที่ทรงสัญญาไว้เกิดสัมฤทธิผล

เมื่อท่านอดทน ท่านมองชีวิตจากมุมมองนิรันดร์ ท่านไม่คาดหวังพรหรือผลทันตาเห็น ความปรารถนาอันชอบธรรมของท่านมักจะเป็นจริง “บรรทัดมาเติมบรรทัด, … ที่นี่นิดและที่นั่นหน่อย” (2 นีไฟ 28:30) ความปรารถนาอันชอบธรรมบางอย่างอาจไม่เป็นจริงจนหลังจากชีวิตนี้

ความอดทนไม่ใช่การอยู่เฉยหรือการยอมจำนน แต่คือการ “ทำสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในอำนาจ [ของท่าน] อย่างรื่นเริง” ขณะท่านรับใช้พระผู้เป็นเจ้า (หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:17) ท่านปลูก รดน้ำ และบำรุงเลี้ยงเมล็ด และพระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้เติบโต “ในไม่ช้า” (แอลมา 32:42; ดู 1 โครินธ์ 3:6–8 ด้วย) งานของท่านในการเป็นหุ้นส่วนกับพระผู้เป็นเจ้า โดยวางใจว่าเมื่อท่านทำส่วนของตนแล้ว พระองค์จะทรงทำให้งานของพระองค์สำเร็จในเวลาของพระองค์และตามสิทธิ์เสรีส่วนบุคคล

ความอดทนหมายความด้วยว่าเมื่อเปลี่ยนบางอย่างไม่ได้ ท่านต้องยอมรับด้วยความกล้าหาญ ความสง่างาม และศรัทธา

พัฒนาความอดทนกับผู้อื่น รวมถึงคู่ของท่านและคนที่ท่านรับใช้ด้วย จงอดทนกับตัวท่านเองเช่นกัน มุ่งมั่นให้บรรลุสิ่งดีที่สุดในตัวท่านขณะตระหนักว่าท่านจะเติบโตทีละขั้น

เช่นเดียวกับคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์อื่นๆ การมีความอดทนเพิ่มขึ้นเป็นกระบวนการชั่วชีวิต การฝึกความอดทนจะมีอิทธิพลเยียวยาจิตวิญญาณท่านและคนรอบข้าง

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“ความอดทนหมายถึงการรออยู่และคงอยู่ หมายถึงการอยู่กับบางอย่างและทำทุกอย่างที่ทำได้—ทำงาน หวัง และใช้ศรัทธา ทนความยากลำบากด้วยความทรหดแม้เมื่อความปรารถนาของใจเราจะถูกชะลอไว้ก็ตาม ความอดทนไม่ใช่แค่ทนเท่านั้น แต่ทนด้วยดี!” (ดู ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “จงอดทนต่อไป,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 71)

การศึกษาส่วนตัว

ศึกษา โมไซยาห์ 28:1–9

  • อะไรคือความปรารถนาของพวกบุตรโมไซยาห์?

  • พระเจ้าทรงแนะนำผู้สอนศาสนาเหล่านี้ว่าอย่างไร? (ดู แอลมา 17:10–11; 26:27)

  • ความอดทนและความขยันหมั่นเพียรของพวกเขามีผลอะไรบ้าง? (ดู แอลมา 26)

เขียนคำตอบของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษา

การศึกษาพระคัมภีร์

ทำไมความอดทนจึงสำคัญ? ความอดทนและศรัทธาเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

ภาพ
เป็นที่ชอบต่อพระพักตร์พระเจ้า (พระเยซูทรงสวดอ้อนวอนกับพระมารดา) โดย ไซมอน ดิวอีย์

ความอ่อนน้อมถ่อมตน

ความอ่อนน้อมถ่อมตนคือการเต็มใจยอมตามพระประสงค์ของพระเจ้า คือการเต็มใจถวายเกียรติพระองค์ในสิ่งที่ทำสำเร็จ คือการเป็นคนว่านอนสอนง่าย (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 136:32) ความอ่อนน้อมถ่อมตนรวมถึงความสำนึกคุณต่อพรของพระผู้เป็นเจ้าและการยอมรับรู้ว่าท่านต้องการความช่วยเหลือของพระองค์เสมอ พระองค์ทรงช่วยเหลือคนอ่อนน้อมถ่อมตน

ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นเครื่องหมายของความเข้มแข็งทางวิญญาณ ไม่ใช่ความอ่อนแอ ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นตัวเร่งสำคัญสำหรับการเติบโตทางวิญญาณ (ดู อีเธอร์ 12:27)

เมื่อท่านวางใจพระเจ้าอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ท่านจะมีความมั่นใจว่าพระบัญญัติของพระองค์มีไว้เพื่อประโยชน์ของท่าน ท่านมั่นใจว่าท่านจะทำได้ทุกอย่างที่ทรงเรียกร้องจากท่านหากท่านพึ่งพาพระองค์ ท่านเต็มใจวางใจผู้รับใช้ของพระองค์และทำตามคำแนะนำของพวกท่านด้วย ความอ่อนน้อมถ่อมตนจะช่วยให้ท่านเชื่อฟัง ขยันขันแข็ง และรับใช้

ความจองหองอยู่ตรงข้ามกับความอ่อนน้อมถ่อมตน คนจองหองหมายถึงคนที่วางใจตนเองมากกว่าพระผู้เป็นเจ้า หมายถึงการให้เรื่องของโลกอยู่เหนือเรื่องของพระผู้เป็นเจ้าด้วย คนจองหองชอบชิงดีชิงเด่น คนจองหองหมายมั่นจะมีมากกว่าและคิดว่าตนดีกว่าคนอื่น ความจองหองเป็นสิ่งกีดขวางขนาดใหญ่

การศึกษาพระคัมภีร์

อ่อนน้อมถ่อมตนหมายความว่าอย่างไร?

ท่านได้รับพรอะไรบ้างเมื่อท่านอ่อนน้อมถ่อมตน?

ท่านจะรู้ตัวได้อย่างไรว่าท่านจองหอง?

ภาพ
อัครสาวกเปาโลสอนฝูงชน

ความขยันหมั่นเพียร

ความขยันหมั่นเพียรคือการตั้งใจพยายามอยู่เสมอ ในงานสอนศาสนา ความขยันหมั่นเพียรเป็นการแสดงความรักต่อพระเจ้า เมื่อท่านขยันหมั่นเพียร ท่านจะพบปีติและความพอใจในงานของพระเจ้า (ดู แอลมา 26:16)

ความขยันหมั่นเพียรรวมถึงการทำสิ่งดีมากมายตามเจตจำนงเสรีของท่านเองแทนที่จะรอให้ผู้นำบอกว่าต้องทำอะไร (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:27–29)

ทำดีต่อไปแม้เมื่อทำได้ยากหรือท่านเหนื่อย แต่จงรับรู้ว่าท่านต้องมีความสมดุลและพักเพื่อท่านจะไม่ “วิ่งไปเร็วเกินกำลัง [ที่ท่านมี]” (โมไซยาห์ 4:27)

ทำให้ใจและความสนใจของท่านมีศูนย์รวมอยู่ที่พระเจ้าและงานของพระองค์ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ท่านเขวจากลำดับความสำคัญของท่าน มุ่งใช้เวลาและความพยายามของท่านไปกับกิจกรรมที่จะได้ผลดีที่สุดในเขตของท่านและเป็นประโยชน์มากที่สุดต่อคนที่ท่านสอน

ภาพ
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์

“นี่คือศาสนจักรของพระเจ้า พระองค์ทรงเรียกเราและทรงไว้ใจเราแม้พระองค์ทรงทราบว่าเรามีความอ่อนแอ พระองค์ทรงทราบการทดลองที่เราจะพบเจอ โดยการรับใช้อย่างซื่อสัตย์และผ่านการชดใช้ของพระองค์เราจะต้องการสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการและเป็นสิ่งที่เราต้องเป็นเพื่อเป็นพรแก่ผู้ที่เรารับใช้แทนพระองค์ เมื่อเรารับใช้พระองค์นานพอและด้วยความขยันหมั่นเพียร เราจะถูกเปลี่ยน เราจะเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้นเรื่อยๆ” (ดู เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “จงลงมือทำด้วยความขยันหมั่นเพียรจนสุดความสามารถ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2010, 79)

การศึกษาพระคัมภีร์

ขยันหมั่นเพียรหมายความว่าอย่างไร?

เหตุใดพระเจ้าทรงคาดหวังให้ท่านขยันหมั่นเพียร?

ความขยันหมั่นเพียรเกี่ยวข้องกับสิทธิ์เสรีอย่างไร?

ภาพ
นักรบเยาวชนสองพันคน โดย อาร์โนลด์ ไฟร์บูร์ก

การเชื่อฟัง

การรับใช้เป็นผู้สอนศาสนาของท่านเป็นการขยายพันธสัญญาที่ท่านทำกับพระผู้เป็นเจ้าตอนรับบัพติศมาและในพระวิหาร เมื่อท่านรับศาสนพิธีแห่งบัพติศมาและเอ็นดาวเม้นท์ ท่านทำพันธสัญญาว่าจะรักษาพระบัญญัติของพระองค์

กษัตริย์เบ็นจามินสอนว่า “ข้าพเจ้าปรารถนาให้ท่านพิจารณาถึงสภาพอันเป็นพรและเป็นสุขของคนที่รักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า. เพราะดูเถิด, พวกเขาได้รับพรในทุกสิ่ง, ทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายวิญญาณ; และหากพวกเขายืนหยัดอย่างซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่แล้วพวกเขาจะได้รับเข้าสู่สวรรค์, เพื่อโดยการนั้นพวกเขาจะพำนักอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าในสภาพแห่งความสุขอันไม่รู้จบ” (โมไซยาห์ 2:41)

การเชื่อฟังพระบัญญัติเป็นการแสดงความรักต่อพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ (ดู ยอห์น 14:15) พระเยซูตรัสว่า “ถ้าพวกท่านประพฤติตามบัญญัติของเรา ท่านก็จะติดสนิทอยู่กับความรักของเรา เหมือนอย่างที่เราประพฤติตามบัญญัติของพระบิดาและติดสนิทอยู่กับความรักของพระองค์” (ยอห์น 15:10)

ทำตามแนวทางใน มาตรฐานผู้สอนศาสนาสำหรับสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ ทำตามคำแนะนำของประธานคณะเผยแผ่กับภรรยาเช่นกันเมื่อพวกเขาแนะนำท่านในความชอบธรรม

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์

“การเชื่อฟังเป็นการเลือกของเรา พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเรื่องนี้ชัดเจน ตามที่กล่าวไว้ในงานแปลของโจเซฟ สมิธของ ลูกา 14:28 พระเยซูบัญชาว่า ‘เหตุฉะนั้น จงตั้งใจว่าเจ้าจะทำสิ่งที่เราจะสอน และบัญชาเจ้า’ ง่ายๆ เลย … เมื่อเราทำเช่นนั้น ความมั่นคงทางวิญญาณของเราจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เราจะไม่ใช้ทรัพยากรที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้เราอย่างสิ้นเปลือง และจะไม่เลี่ยงไปใช้ทางที่ไม่เกิดผลดีและบ่อนทำลายชีวิตเรา” (เดล จี. เรนลันด์, “Constructing Spiritual Stability” [Brigham Young University devotional, Sept. 16, 2014], 2, speeches.byu.edu)

การศึกษาพระคัมภีร์

ท่านสามารถเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการเชื่อฟังจากพระคัมภีร์ข้อต่อไปนี้?

ภาพ
พระคริสต์กับชาวประมง (เจ้ารักเรามากกว่าพวกนี้) โดย เจ. เคิร์ค ริชาร์ดส์

แบบแผนการเป็นเหมือนพระคริสต์มากขึ้น

แบบแผนต่อไปนี้จะช่วยท่านพัฒนาและได้รับคุณลักษณะที่อธิบายไว้ในบทนี้และคุณลักษณะอื่นๆ ที่อธิบายไว้ในพระคัมภีร์:

  • ระบุคุณลักษณะที่ท่านต้องการแสวงหา

  • เขียนคำอธิบายคุณลักษณะ

  • ทำรายการและศึกษาข้อพระคัมภีร์ที่แสดงตัวอย่างหรือสอนเกี่ยวกับคุณลักษณะนั้น

  • บันทึกความรู้สึกและความประทับใจของท่าน

  • ตั้งเป้าหมายและวางแผนเพื่อก้าวหน้าในคุณลักษณะนั้น

  • สวดอ้อนวอนทูลขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยท่านพัฒนาและได้รับคุณลักษณะนั้น

  • ประเมินความก้าวหน้าของท่านเป็นระยะ

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“พระเจ้าประทานพรคนที่ ต้องการ ปรับปรุง คนที่ยอมรับว่าต้องการพระบัญญัติและ พยายาม รักษา คนที่ยึดมั่นคุณธรรมเหมือนพระคริสต์และ มุ่งมั่น สุดความสามารถเพื่อให้ได้คุณธรรมเหล่านั้น ถ้าท่านสะดุดในระหว่างนั้น ทุกคนสะดุดเหมือนกัน แต่พระผู้ช่วยให้รอดทรงอยู่ที่นั่นเพื่อช่วยให้ท่านไปต่อได้ … ไม่นานท่านจะมีความสำเร็จที่ท่านแสวงหา” (ดู เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “พรุ่งนี้พระยาห์เวห์จะทรงทำการอัศจรรย์ท่ามกลางพวกท่าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 126)

การศึกษาส่วนตัว

ระบุคุณลักษณะหนึ่งจากบทนี้หรือจากพระคัมภีร์ ทำตามแบบแผนที่เพิ่งอธิบายเพื่อเข้าใจและแสวงหาคุณลักษณะนั้น

มองดูป้ายชื่อผู้สอนศาสนาของท่าน ป้ายนี้ต่างอย่างไรจากป้ายที่ลูกจ้างบริษัทติด? สังเกตว่ามีสองส่วนเด่นสุดคือชื่อของท่านและพระนามของพระผู้ช่วยให้รอด

  • ท่านจะเป็นตัวแทนของพระผู้ช่วยให้รอดได้ดีขึ้นอย่างไรในฐานะสานุศิษย์คนหนึ่งของพระองค์?

  • เหตุใดการให้ผู้คนเชื่อมโยงชื่อท่านกับพระนามของพระผู้ช่วยให้รอดในทางบวกจึงสำคัญ?

เขียนความคิดของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษา

การศึกษาพระคัมภีร์

ทบทวนคุณลักษณะที่ระบุไว้ในพระคัมภีร์ข้อต่อไปนี้ บันทึกความประทับใจของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษา


แนวคิดสำหรับการศึกษาและการประยุกต์ใช้

การศึกษาส่วนตัว

  • ทำ “กิจกรรมคุณลักษณะ” ท้ายบทนี้เป็นระยะ

  • ระบุหนึ่งคุณลักษณะในบทนี้ ถามตัวท่านว่า:

    • ฉันจะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับคุณลักษณะนี้ได้อย่างไร?

    • การแสวงหาคุณลักษณะนี้จะช่วยให้ฉันเป็นผู้ปฏิบัติพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ได้ดีขึ้นอย่างไร?

  • หาตัวอย่างคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ในชีวิตชายหญิงในพระคัมภีร์ บันทึกความประทับใจของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษา

  • หาตัวอย่างคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ในเพลงศักดิ์สิทธิ์ของศาสนจักร ขณะแสวงหาคุณลักษณะ ให้ท่องจำเนื้อร้องของเพลงสวดหรือเพลงอื่นเพื่อหาความเข้มแข็งและพลัง ท่องเนื้อร้องหรือร้องเพลงให้ตนเองฟังเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเชื้อเชิญอิทธิพลของพระวิญญาณ

การศึกษากับคู่และการสลับคู่

  • ศึกษาข้ออ้างอิงคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณหรือแหล่งข้อมูลอื่นที่อนุมัติแล้ว สนทนาวิธีประยุกต์ใช้สิ่งที่ท่านเรียนรู้ ท่านอาจสนทนาด้วยว่าท่านได้เรียนรู้อะไรในการพยายามเป็นเหมือนพระคริสต์ของตัวท่านเอง

สภาดิสตริกท์ การประชุมโซน และสภาผู้นำคณะเผยแผ่

  • หลายวันก่อนสภาหรือการประชุม ขอให้ผู้สอนศาสนาเตรียมพูดห้านาทีเกี่ยวกับคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์คนละหนึ่งอย่าง ให้เวลาผู้สอนศาสนาสองสามคนแบ่งปันคำพูดของพวกเขาในการประชุม

  • แบ่งผู้สอนศาสนาออกเป็นสี่กลุ่มและให้งานมอบหมายต่อไปนี้:

    กลุ่ม 1: อ่าน 1 นีไฟ 17:7–16 และตอบคำถามต่อไปนี้:

    • นีไฟใช้ศรัทธาอย่างไร?

    • นีไฟทำอะไรที่เหมือนพระคริสต์?

    • พระเจ้าทรงทำสัญญาอะไรกับนีไฟ?

    • เรื่องนี้ประยุกต์ใช้กับงานสอนศาสนาอย่างไร?

    กลุ่ม 2: อ่าน มาระโก 5:24–34 และตอบคำถามต่อไปนี้:

    • ผู้หญิงคนนี้ใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์อย่างไร?

    • เหตุใดเธอจึงหายปกติ?

    • เราจะทำตามแบบอย่างของเธอในการพยายามสอนศาสนาของเราได้อย่างไร?

    กลุ่ม 3: อ่าน เจคอบ 7:1–15 และตอบคำถามต่อไปนี้:

    • เหตุใดศรัทธาของเจคอบจึงแรงกล้าพอจะต่อต้านการโจมตีของเชเร็ม?

    • เจคอบใช้ศรัทธาอย่างไรเมื่อเขาพูดกับเชเร็ม?

    • การกระทำของเจคอบเหมือนพระคริสต์อย่างไร?

    กลุ่ม 4: อ่าน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:8–18 และตอบคำถามต่อไปนี้:

    • โจเซฟ สมิธใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ในวิธีใด?

    • เขาถูกทดสอบศรัทธาอย่างไร?

    • เขาทำอะไรที่เหมือนพระคริสต์?

    • เราจะทำตามแบบอย่างของโจเซฟ สมิธได้อย่างไร?

    หลังจากกลุ่มทำงานมอบหมายเสร็จแล้ว ให้ผู้สอนศาสนามารวมกันและขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่สนทนา

ผู้นำคณะเผยแผ่และที่ปรึกษาคณะเผยแผ่

  • ขอให้ผู้สอนศาสนาอ่านหนึ่งในกิตติคุณสี่เล่มในพันธสัญญาใหม่หรือ 3 นีไฟ 11–28 ให้พวกเขาขีดเส้นใต้สิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำที่พวกเขาทำได้เช่นกัน

  • ใช้การตั้งเป้าหมายและการวางแผนสอนผู้สอนศาสนาเกี่ยวกับความขยันหมั่นเพียร แสดงให้เห็นว่าความขยันหมั่นเพียรในการจดจ่อกับผู้คนเป็นการแสดงความรักอย่างไร

  • ระหว่างการสัมภาษณ์หรือในการสนทนา ขอให้ผู้สอนศาสนาพูดถึงคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์หนึ่งอย่างที่พวกเขากำลังแสวงหา

กิจกรรมคุณลักษณะ

จุดประสงค์ของกิจกรรมนี้คือช่วยท่านระบุโอกาสสำหรับการเติบโตทางวิญญาณ อ่านแต่ละข้อด้านล่าง ตัดสินใจว่าข้อความนั้นจริงเพียงใดกับท่าน และเลือกคำตอบที่เหมาะสม เขียนคำตอบของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษา

ไม่มีใครตอบ “ทุกครั้ง” ได้ทุกข้อ การเติบโตทางวิญญาณเป็นกระบวนการชั่วชีวิต นั่นคือหนึ่งเหตุผลที่ทำให้การเติบโตนั้นน่าตื่นเต้นและคุ้มค่า—เพราะมีโอกาสนับไม่ถ้วนให้เติบโตและประสบพรของการเติบโต

จงสบายใจกับการเริ่มต้นตรงจุดที่ท่านเป็น ให้คำมั่นกับตนเองว่าจะทำงานทางวิญญาณที่จำเป็นเพื่อเติบโต ขอความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า เมื่อมีอุปสรรค จงมีความเชื่อมั่นว่าพระองค์จะทรงช่วยเหลือท่าน ขณะสวดอ้อนวอนจงแสวงหาการนำทางว่าจะจดจ่อกับคุณลักษณะใดในช่วงต่างๆ ระหว่างงานเผยแผ่ของท่าน

ตัวเลขประเมิน

  • 1 = ไม่เลย

  • 2 = บางครั้ง

  • 3 = บ่อยครั้ง

  • 4 = เกือบทุกครั้ง

  • 5 = ทุกครั้ง

ศรัทธา

  1. ฉันเชื่อในพระคริสต์และยอมรับพระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอดของฉัน (2 นีไฟ 25:29)

  2. ฉันรู้สึกมั่นใจว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงรักฉัน (1 นีไฟ 11:17)

  3. ฉันวางใจพระผู้ช่วยให้รอดมากพอจะยอมรับพระประสงค์ของพระองค์และทำทุกอย่างที่พระองค์ทรงขอ (1 นีไฟ 3:7)

  4. ฉันเชื่อว่าโดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ฉันจะได้รับการอภัยบาปและได้รับการชำระให้บริสุทธิ์เมื่อฉันกลับใจ (อีนัส 1:2–8)

  5. ฉันมีศรัทธาว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงได้ยินและทรงตอบคำสวดอ้อนวอนของฉัน (โมไซยาห์ 27:14)

  6. ฉันนึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดระหว่างวันและระลึกถึงสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อฉัน (หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77, 79)

  7. ฉันมีศรัทธาว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำให้เกิดสิ่งดีๆ ในชีวิตฉันและชีวิตผู้อื่นเมื่อเราอุทิศตนแด่พระองค์และพระบุตรของพระองค์ (อีเธอร์ 12:12)

  8. ฉันรู้โดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง (โมโรไน 10:3–5)

  9. ฉันมีศรัทธาว่าจะทำสิ่งที่พระคริสต์ทรงต้องการให้ฉันทำได้สำเร็จ (โมโรไน 7:33)

ความหวัง

  1. ความปรารถนาสูงสุดอย่างหนึ่งของฉันคือได้รับชีวิตนิรันดร์เป็นมรดกในอาณาจักรซีเลสเชียล (โมโรไน 7:41)

  2. ฉันมั่นใจว่าฉันจะมีงานเผยแผ่ที่มีความสุขและประสบความสำเร็จ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 31:3–5)

  3. ฉันรู้สึกสงบและมองในแง่ดีเกี่ยวกับอนาคต (หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:23)

  4. ฉันเชื่อว่าสักวันหนึ่งฉันจะได้อยู่กับพระผู้เป็นเจ้าและเป็นเหมือนพระองค์ (อีเธอร์ 12:4)

จิตกุศลและความรัก

  1. ฉันรู้สึกปรารถนาอย่างจริงใจอยากให้ผู้อื่นมีความผาสุกและความสุขนิรันดร์ (โมไซยาห์ 28:3)

  2. เมื่อฉันสวดอ้อนวอน ฉันทูลขอจิตกุศล—ความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์ (โมโรไน 7:47–48)

  3. ฉันพยายามเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นและเห็นมุมมองของพวกเขา (ยูดา 1:22)

  4. ฉันให้อภัยคนที่ทำให้ฉันขุ่นเคืองหรือทำผิดต่อฉัน (เอเฟซัส 4:32)

  5. ฉันยื่นมือช่วยเหลือคนโดดเดี่ยว ลำบาก หรือท้อแท้ด้วยความรัก (โมไซยาห์ 18:9)

  6. เมื่อเห็นสมควร ฉันแสดงความรักและความห่วงใยผู้อื่นโดยปฏิบัติต่อพวกเขาผ่านคำพูดและการกระทำ (ลูกา 7:12–15)

  7. ฉันมองหาโอกาสรับใช้ผู้อื่น (โมไซยาห์ 2:17)

  8. ฉันพูดเรื่องดีๆ เกี่ยวกับผู้อื่น (หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:27)

  9. ฉันใจดีและอดทนกับผู้อื่น แม้เมื่อพวกเขาเป็นคนที่ไม่น่าคบ (โมโรไน 7:45)

  10. ฉันพบปีติในความสำเร็จของผู้อื่น แอลมา 17:2–4

คุณธรรม

  1. ฉันสะอาดและใจบริสุทธิ์ (สดุดี 24:3–4)

  2. ฉันปรารถนาจะทำดี (โมไซยาห์ 5:2)

  3. ฉันจดจ่อกับความนึกคิดที่ชอบธรรมและเชิดชูจิตวิญญาณ และเอาความคิดที่ไม่ดีออกจากหัว (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:45)

  4. ฉันกลับใจจากบาปและมุ่งมั่นเอาชนะความอ่อนแอของตน (หลักคำสอนและพันธสัญญา 49:26–28; อีเธอร์ 12:27)

  5. ฉันรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตฉัน (หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:12–13)

ความสุจริตใจ

  1. ฉันซื่อตรงต่อพระผู้เป็นเจ้าตลอดเวลา (โมไซยาห์ 18:9)

  2. ฉันไม่ลดมาตรฐานหรือพฤติกรรมเพื่อจะทำให้ผู้อื่นประทับใจหรือยอมรับ (1 นีไฟ 8:24–28)

  3. ฉันซื่อสัตย์ต่อพระผู้เป็นเจ้า ต่อตนเอง ต่อผู้นำของฉัน และต่อผู้อื่น (หลักคำสอนและพันธสัญญา 51:9)

  4. ฉันเป็นคนที่พึ่งพาได้ (แอลมา 53:20)

ความรู้

  1. ฉันรู้สึกมั่นใจในความเข้าใจหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณของตน (แอลมา 17:2–3)

  2. ฉันศึกษาพระคัมภีร์ทุกวัน (2 ทิโมธี 3:16–17)

  3. ฉันพยายามเข้าใจความจริงและหาคำตอบให้กับคำถามของฉัน (หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:7)

  4. ฉันแสวงหาความรู้และการนำทางผ่านพระวิญญาณ (1 นีไฟ 4:6)

  5. ฉันยึดมั่นหลักคำสอนและหลักธรรมของพระกิตติคุณ (2 นีไฟ 4:15)

ความอดทน

  1. ฉันอดทนรอสัมฤทธิผลของพรและคำสัญญาของพระเจ้าในชีวิตฉัน (2 นีไฟ 10:17)

  2. ฉันสามารถรอได้โดยไม่อารมณ์เสียหรือหงุดหงิด (โรม 8:25)

  3. ฉันอดทนกับความท้าทายของการเป็นผู้สอนศาสนา (แอลมา 17:11)

  4. ฉันอดทนกับผู้อื่น (โรม 15:1)

  5. ฉันอดทนกับตนเองและพึ่งพาพระเจ้าขณะพยายามเอาชนะความอ่อนแอของตน (อีเธอร์ 12:27)

  6. ฉันเผชิญความยากลำบากด้วยความอดทนและศรัทธา (แอลมา 34:40–41)

ความอ่อนน้อมถ่อมตน

  1. ฉันอ่อนโยนและใจนอบน้อม (มัทธิว 11:29)

  2. ฉันพึ่งพาความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้า (แอลมา 26:12)

  3. ฉันสำนึกคุณต่อพรที่ได้รับจากพระผู้เป็นเจ้า (แอลมา 7:23)

  4. คำสวดอ้อนวอนของฉันจริงจังและจริงใจ (อีนัส 1:4)

  5. ฉันขอบคุณคำแนะนำจากผู้นำหรือครูผู้สอนของฉัน (2 นีไฟ 9:28–29)

  6. ฉันมุ่งมั่นยอมทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า (โมไซยาห์ 24:15)

ความขยันหมั่นเพียร

  1. ฉันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ไม่มีคนตรวจตราใกล้ชิด (หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:26–27)

  2. ฉันทุ่มเทความพยายามไปกับเรื่องสำคัญที่สุด (มัทธิว 23:23)

  3. ฉันสวดอ้อนวอนส่วนตัวอย่างน้อยวันละสองครั้ง (แอลมา 34:17–27)

  4. ฉันให้ความคิดจดจ่อกับการเรียกเป็นผู้สอนศาสนาของฉัน (หลักคำสอนและพันธสัญญา 4:2, 5)

  5. ฉันตั้งเป้าหมายและวางแผนเป็นประจำ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:119)

  6. ฉันทำงานหนักจนงานเสร็จสมบูรณ์ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 10:4)

  7. ฉันพบปีติและความพอใจในงานของฉัน (แอลมา 36:24–25)

การเชื่อฟัง

  1. เมื่อสวดอ้อนวอนฉันทูลขอให้มีพลังต่อต้านการล่อลวงและทำสิ่งถูกต้อง (3 นีไฟ 18:15)

  2. ฉันมีค่าควรถือใบรับรองพระวิหาร (หลักคำสอนและพันธสัญญา 97:8)

  3. ฉันเต็มใจเชื่อฟังกฎคณะเผยแผ่และทำตามคำแนะนำของผู้นำของฉัน (ฮีบรู 13:17)

  4. ฉันมุ่งมั่นดำเนินชีวิตตามกฎและหลักธรรมของพระกิตติคุณ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 41:5)