เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 3: ศักยภาพอันสูงส่งของเรา


บทที่ 3

ศักยภาพอันสูงส่งของเรา

คำนำ

พระบิดาบนสวรรค์ทรงเตรียมแผนให้เราสามารถกลับไปที่ประทับของพระองค์และเป็นเหมือนพระองค์ ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟสอนว่า “เราเป็นบุตรของพระองค์ก่อนเรามายังโลกนี้ และเราจะเป็นบุตรของพระองค์ตลอดไป ความจริงพื้นฐานข้อนี้ควรเปลี่ยนวิธีที่เรามองตนเอง มองพี่น้องของเรา และวิธีที่เรามองชีวิต” (“สถานภาพสี่ประการ,”เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 58) เมื่อนักศึกษาเข้าใจศักยภาพอันสูงส่งของตนดีขึ้น พวกเขาย่อมรับมือกับความท้าทายที่พบเจอในชีวิตมรรตัยได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “สถานภาพสี่ประการ, เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 58–61

  • Gospel Topics,Becoming Like God,lds.org/topics.

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ปฐมกาล 1:27; อิสยาห์ 55:8–9; กิจการของอัครทูต 17:29; ฮีบรู 12:9; 1 ยอห์น 3:1; 4:8–9; 1 นีไฟ 9:6; 2 นีไฟ 9:20; โมโรไน 8:18; หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:4; 88:41; 130:22

เราเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า

เชื้อเชิญให้นักศึกษาสมมติว่าเพื่อนที่ไม่เป็นสมาชิกถามพวกเขาว่าศาสนจักรของเราเชื่อว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงเป็นเช่นไร ขอให้นักศึกษาแบ่งปันพอสังเขปว่าพวกเขาจะตอบอย่างไร

เขียนข้อพระคัมภีร์เป็นชุดๆ ต่อไปนี้ไว้บน กระดานหรือทำเป็นเอกสารแจกนักศึกษา

ปฐมกาล 1:27; หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:22

1 นีไฟ 9:6; 2 นีไฟ 9:20

อิสยาห์ 55:8-9; หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:41

1 ยอห์น 3:1; 4:8–9

โมโรไน 8:18; หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:4

กิจการของอัครทูต 17:29; ฮีบรู 12:9

มอบหมายให้นักศึกษาศึกษาพระคัมภีร์เหล่านี้หลายๆ ข้อและระบุสิ่งที่สอนเกี่ยวกับพระบิดาในสวรรค์ของเรา ต้องแน่ใจว่าท่านได้มอบหมายให้ศึกษาพระคัมภีร์แต่ละชุด หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักศึกษาแบ่งปันว่าพวกเขาจะใช้พระคัมภีร์เหล่านี้หนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นอธิบายสิ่งที่พวกเขารู้หรือเชื่อเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์ได้อย่างไร

  • การรู้คุณลักษณะเหล่านี้ของพระบิดาบนสวรรค์สามารถช่วยท่านนมัสการพระองค์ได้อย่างไร

  • การรู้ว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงเป็นองค์สัตวภาวะที่ดำรงอยู่จริงผู้ทรงมีพระวรกายเป็นเนื้อหนังและกระดูกที่ฟื้นคืนพระชนม์แล้วซึ่งเปี่ยมด้วยรัศมีภาพ และทรงเป็นพระบิดาของวิญญาณท่านส่งผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์ของท่านกับพระองค์

  • เหตุใดเมื่อเรานมัสการพระผู้เป็นเจ้าเพื่อจดจำว่าพระองค์ทรงเป็นพระบิดาของวิญญาณเราจึงมีประโยชน์ (ส่วนหนึ่งของการสนทนาคือให้เน้นว่าเพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาของวิญญาณเรา ศักยภาพอันสูงส่งของเราคือการเป็นเหมือนพระองค์ อาจเป็นประโยชน์เช่นกันถ้าแบ่งปันคำแถลงต่อไปนี้ของฝ่ายประธานสูงสุดที่ออกในปี 1909 ภายใต้การกำกับดูแลของประธานโจเซฟ เอฟ. สมิธ [1838-1919]: “ชายหญิงทุกคนมีความเหมือนพระบิดาและพระมารดาของคนทั้งโลกและเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าจริงๆ” [Gospel Classics: The Origin of Man, Ensign, Feb. 2002, 29])

แจกสำเนาคำแถลงต่อไปนี้ของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ขอให้นักศึกษาอ่านในใจและสังเกตวลีที่แสดงความสำคัญของการเข้าใจว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นใคร

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“หากมนุษย์ไม่เข้าใจพระอุปนิสัยของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาย่อมไม่เข้าใจตนเอง …

“พระผู้เป็นเจ้าทรงเคยเป็นอย่างที่เราเป็นอยู่เวลานี้ ทรงเป็นมนุษย์ผู้สูงส่ง ประทับนั่งบัลลังก์ในสวรรค์อันไกลโพ้น … หากเผยม่านวันนี้ และพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ผู้ทรงจัดโลกให้อยู่ในวงโคจรของมัน ผู้ทรงค้ำจุนโลกทั้งหลายและสรรพสิ่งด้วยพระเดชานุภาพของพระองค์ จนมองเห็นพระองค์ได้—ข้าพเจ้ากล่าว หากท่านเห็นพระองค์วันนี้ ท่านจะมองเห็นพระองค์ในร่างของมนุษย์คนหนึ่ง—เหมือนตัวท่านทั้งร่างกาย รูปลักษณ์ และร่างที่เป็นมนุษย์ เพราะอาดัมถูกสร้างตามแบบ รูปลักษณ์ และความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้า ได้รับคำแนะนำสั่งสอนจากพระองค์ เดิน พูด และสนทนากับพระองค์ เฉกเช่นมนุษย์คนหนึ่งพูดและสื่อสารกับอีกคนหนึ่ง” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 41–42)

  • การเข้าใจว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงเป็นใครช่วยให้เราเข้าใจตนเองอย่างไร (ขณะที่นักศึกษาตอบ ให้เขียนบนกระดานดังนี้: เมื่อเราเข้าใจพระบิดาบนสวรรค์ของเรา เราจะเข้าใจศักยภาพของการเป็นเหมือนพระบิดามารดาบนสวรรค์ของเรามากขึ้น)

ให้ดูคำแถลงต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ขอให้พิจารณาพลังของความคิดที่สอนไว้ในบทเพลงที่เรารัก ‘ฉันลูกพระผู้เป็นเจ้า’ [เพลงสวด, บทเพลงที่ 149] … เพลงนี้เป็นคำตอบของคำถามอันสำคัญยิ่งของชีวิตที่ว่า ‘ฉันเป็นใคร’ ฉันเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้าที่มีเชื้อสายทางวิญญาณของบิดามารดาบนสวรรค์ การมีบิดามารดาเช่นนั้นบ่งบอกศักยภาพนิรันดร์ของเรา ความคิดอันทรงพลังเช่นนี้เป็นยาต้านซึมเศร้าที่มีฤทธิ์แรง สามารถเพิ่มพลังให้เราแต่ละคนทำการเลือกที่ชอบธรรมและแสวงหาสิ่งดีที่สุดที่อยู่ในตัวเรา” (“ความคิดอันทรงพลัง,” เลียโฮนา, ม.ค. 1996, 25)

เขียนบน กระดานดังนี้

ความรู้ของฉันที่ว่าฉันเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า สามารถ ช่วยฉันได้เมื่อ .

ความรู้ของฉันที่ว่าฉันเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า ได้ ช่วยฉันเมื่อ .

เชิญนักศึกษาหลายๆ คนแบ่งปันว่าพวกเขาจะเติมประโยคเหล่านี้ให้สมบูรณ์ว่าอย่างไร

โรม 8:16–17; 1 ยอห์น 3:2; 3 นีไฟ 12:48

ศักยภาพอันสูงส่งของเรา

บอกชั้นเรียนว่าบางครั้งเราได้ยินว่าบางคนมี “ศักยภาพมาก”

  • ท่านคิดว่าวลีดังกล่าวหมายถึงอะไร

เขียนพระคัมภีร์อ้างอิงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน และขอให้นักศึกษาศึกษาเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับศักภาพอันสูงส่งของเรา: โรม 8:16–17; 1 ยอห์น 3:2; 3 นีไฟ 12:48 ท่านอาจเสนอแนะให้นักศึกษาทำการอ้างโยงข้อเหล่านี้โดยเขียนอ้างอิงอีกสองข้อไว้ตรงช่องว่างริมหน้าใกล้กับพระคัมภีร์แต่ละข้อ

  • ตามพระคัมภีร์ที่เราศึกษาเกี่ยวกับคุณลักษณะเฉพาะของพระผู้เป็นเจ้า วลี “เราจะเป็นเหมือนพระองค์” มีความหมายอะไรต่อท่าน

  • ท่านคิดว่าการเป็น “ทายาทร่วม” กับพระเยซูคริสต์หมายถึงอะไร (ในฐานะพระบุตรองค์เดียวถือกำเนิดจากพระบิดาในเนื้อหนัง พระเยซูคริสต์ทรงมีสิทธิ์รับมรดกทั้งหมดที่พระบิดาทรงมี คนที่เชื่อฟังและได้รับพรอันสมบูรณ์ของการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดจะได้รับมรดกทั้งหมดที่พระบิดาทรงมี [ดู โรม 8:14–18; กาลาเทีย 3:26–29; คพ. 84:38] เน้นหลักธรรมต่อไปนี้: แผนของพระบิดาบนสวรรค์เตรียมทางให้เราเป็นเหมือนพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ของเรา ชี้ให้เห็นว่าแม้จะมีบางคนวิพากษ์วิจารณ์ความเชื่อของเราที่ว่าเราสามารถเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าได้ แต่ความเชื่อดังกล่าวพบในคำสอนของพระคัมภีร์ไบเบิล)

เขียนคำถามต่อไปนี้ไว้บน กระดาน

เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์สอนอะไรเกี่ยวกับจุดประสงค์ของชีวิตมรรตัยของเรา

อ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์และขอให้นักศึกษามองหาคำตอบของคำถามบนกระดาน:

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ในความเชื่อทางศาสนาของศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ จุดประสงค์ของชีวิตมรรตัยคือเตรียมเราให้พร้อมรับรู้จุดหมายของเราในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งก็คือการเป็นเหมือนพระองค์ … พระคัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่ามนุษย์เป็น ‘ลูกของพระเจ้า’ และเป็น ‘ทายาทของพระเจ้า และเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์’ (โรม 8:16–17) ทั้งยังประกาศด้วยว่า ‘เราทนทุกข์ทรมานด้วยกันกับพระองค์ก็เพื่อจะได้ศักดิ์ศรีด้วยกันกับพระองค์ด้วย’ (โรม 8:17) และ ‘เวลาที่พระองค์จะเสด็จมาปรากฏนั้น เราจะเป็นเหมือนอย่างพระองค์’ (1 ยอห์น 3:2) เรายึดตามคำสอนในพระคัมภีร์ไบเบิลเหล่านี้อย่างแท้จริง เราเชื่อว่าจุดประสงค์ของชีวิตมรรตัยคือเพื่อรับร่างกาย และเพื่อมีคุณสมบัติคู่ควรรับสภาพซีเลสเชียลที่ฟื้นคืนชีวิตแล้วและมีรัศมีภาพซึ่งเรียกว่าความสูงส่งหรือชีวิตนิรันดร์โดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์และโดยการเชื่อฟังกฎและศาสนพิธีของพระกิตติคุณ … (จุดหมายนี้ของชีวิตนิรันดร์หรือชีวิตของพระผู้เป็นเจ้าควรคุ้นหูทุกคนที่เคยศึกษาหลักคำสอนและความเชื่อแต่โบราณของชาวคริสต์ในเรื่องการทำให้เป็นพระเจ้าหรือการยกระดับเป็นพระเจ้า) …

“… ความเชื่อทางศาสนาของเราเริ่มจากบิดามารดาบนสวรรค์ ความมุ่งมาดปรารถนาสูงสุดของเราคือเป็นเหมือนพระองค์ ภายใต้แผนอันเปี่ยมด้วยเมตตาของพระบิดา ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้โดยผ่านการชดใช้ของพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระบิดา พระเจ้าและพระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเยซูคริสต์” (ดู “การละทิ้งความเชื่อและการฟื้นฟู,”เลียโฮนา, ส.ค. 1995, 76)

(หมายเหตุ: ท่านอาจจำเป็นต้องอธิบายว่า การทำให้เป็นพระเจ้า และ การยกระดับเป็นพระเจ้า พูดถึงแนวคิดที่ว่าบุคคลสามารถเป็นพระเจ้าได้หรือได้รับการยกขึ้นสู่สถานะอันสูงส่ง)

สนทนาคำตอบของนักศึกษาสำหรับคำถามบนกระดาน จากนั้นให้ถามว่า

  • ท่านมีความคิดอะไรบ้างขณะพิจารณาว่าแผนของพระบิดาบนสวรรค์เปิดโอกาสให้ท่านเป็นเหมือนพระองค์

  • เหตุใดการชดใช้ของพระคริสต์จึงจำเป็นต่อการที่เราจะเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้า

เพื่อสนทนาเรื่องนี้เพิ่มเติม ให้ทบทวนคำกล่าวต่อไปนี้กับนักศึกษาของท่าน

“วิสุทธิชนยุคสุดท้ายเข้าใจความสำคัญของการชดใช้ของพระคริสต์ในแง่ของศักยภาพอันไพศาลของมนุษย์ที่การชดใช้ทำให้เกิดขึ้นได้ การชดใช้ของพระคริสต์ไม่เพียงจัดเตรียมการให้อภัยจากบาปและชัยชนะเหนือความตายเท่านั้น แต่ไถ่ความสัมพันธ์ที่ไม่สมบูรณ์ เยียวยาบาดแผลทางวิญญาณที่ระงับการเติบโต เสริมสร้างความเข้มแข็งและทำให้แต่ละบุคคลสามารถพัฒนาคุณลักษณะของพระคริสต์ด้วยเช่นกัน [ดู แอลมา 7:11–12] วิสุทธิชนยุคสุดท้ายเชื่อว่าโดยผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์เท่านั้นที่เราจะมีความหวังอันแน่แท้ในรัศมีภาพนิรันดร์และเราจะเข้าถึงเดชานุภาพการชดใช้ของพระองค์อย่างเต็มที่โดยศรัทธาในพระเยซูคริสต์ การกลับใจ บัพติศมา การรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และการอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ในการทำตามคำสั่งสอนและแบบอย่างของพระคริสต์ [ดู 2 นีไฟ 31:20; หลักแห่งความเชื่อ 1:4] ฉะนั้นคนที่เป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าและเข้าสู่ความบริบูรณ์แห่งรัศมีภาพของพระองค์จึงเป็นคนที่ได้รับการ ‘ทำให้ดีพร้อมโดยผ่านพระเยซูสื่อกลางแห่งพันธสัญญาใหม่, ผู้ทรงทำให้เกิดการชดใช้ที่สมบูรณ์นี้โดยผ่านการหลั่งพระโลหิตของพระองค์เอง’ [คพ. 76:69]” [Gospel Topics,Becoming Like God,lds.org/topics)

แจกสำเนาคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด เชื้อเชิญให้นักศึกษาอ่านคำกล่าวนั้นและทำเครื่องหมายแนวคิดที่ให้ความหวังว่าพวกเขาสามารถบรรลุศักยภาพอันสูงส่งได้ ชี้ให้เห็นว่าประธานอุคท์ดอร์ฟกล่าวปราศรัยเรื่องนี้ที่การประชุมใหญ่ภาคฐานะปุโรหิต แต่ประยุกต์ใช้ได้กับทุกคน:

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“สถานภาพหนึ่งที่นิยามเราทุกคนในด้านพื้นฐานสำคัญที่สุดคือ บุตร [หรือธิดา] ของพระบิดาบนสวรรค์ ไม่ว่าเราจะเป็นหรือทำสิ่งอื่นใดในชีวิต เราต้องไม่ลืมว่าเราเป็นบุตรทางวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง เราเป็นบุตรของพระองค์ก่อนเรามายังโลกนี้ และเราจะเป็นบุตรของพระองค์ตลอดไป ความจริงพื้นฐานข้อนี้ควรเปลี่ยนวิธีที่เรามองตนเอง มองพี่น้องของเรา และวิธีที่เรามองชีวิต …

“บางครั้งอาจน่าท้อใจเมื่อรู้ว่าการเป็นบุตรของพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไรแต่ยังบรรลุถึงจุดนั้นไม่ได้ ปฏิปักษ์มักจะหาประโยชน์จากความรู้สึกเช่นนี้ ซาตานอยากให้ท่านนิยามตนเองด้วยบาปแทนที่จะนิยามด้วยศักยภาพอันสูงส่งของท่าน พี่น้องชาย จงอย่าฟังเขา

“เราทุกคนต่างเคยเห็นเด็กเล็กหัดเดิน เด็กก้าวเตาะแตะทีละน้อย เด็กหกล้ม เราดุด่าความพยายามเช่นนั้นหรือไม่ ไม่เลย บิดาเช่นใดเล่าจะลงโทษเด็กเล็กที่เดินเตาะแตะ เราให้กำลังใจ เราปรบมือ และเราชมเชยเพราะด้วยก้าวเล็กๆ ทุกก้าว เด็กน้อยกำลังเป็นเหมือนบิดามารดามากขึ้น

“บัดนี้ พี่น้องทั้งหลาย เมื่อเทียบกับความดีพร้อมของพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์เราแทบไม่ต่างจากเด็กเล็กซุ่มซ่ามเก้กัง แต่พระบิดาบนสวรรค์ผู้เปี่ยมด้วยรักทรงต้องการให้เราเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น และนั่นพึงเป็นเป้าหมายนิรันดร์ของเราเช่นกัน พระผู้เป็นเจ้าเข้าพระทัยว่าเราไม่ได้ไปถึงจุดนั้นโดยทันที แต่เราก้าวไปทีละก้าว” (“สถานภาพสี่ประการ,”เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 58)

  • การจดจำความจริงนิรันดร์เหล่านี้จะช่วยให้ท่านบรรลุศักยภาพอันสูงส่งของท่านได้อย่างไร

  • การจดจำความจริงเหล่านี้อาจส่งผลต่อวิธีที่ท่านปฏิบัติต่อสมาชิกในครอบครัวท่านอย่างไร

  • ความรู้ของท่านในความจริงเหล่านี้อาจส่งผลต่อความปรารถนาจะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสมาชิกครอบครัวที่ล่วงลับไปแล้วและประกอบศาสนพิธีพระวิหารให้พวกเขาอย่างไร

กระตุ้นนักศึกษาให้แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้และรู้สึกระหว่างบทเรียนนี้กับสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนในช่วงสัปดาห์ที่จะมาถึง พวกเขาอาจพิจารณาเช่นกันว่าจะทำอะไรได้บ้างในแต่ละวันเพื่อจดจำอย่างมีสำนึกว่าพวกเขาเป็นลูกของพระบิดาบนสวรรค์และวางแผนเขียนในบันทึกส่วนตัวว่าการจดจำความจริงอันศักดิ์สิทธิ์นี้ส่งผลต่อการกระทำของพวกเขาอย่างไร

สิ่งที่นักศึกษาควรอ่าน