เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 6: ครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อแผนของพระบิดาบนสวรรค์


บทที่ 6

ครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อแผนของพระบิดาบนสวรรค์

คำนำ

ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกยุคปัจจุบันประกาศไว้ว่า “ครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อแผนของพระผู้สร้างเพื่อจุดหมายปลายทางนิรันดร์ของลูกๆ ของพระองค์” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,”เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165) บทเรียนนี้จะช่วยให้นักศึกษาเห็นว่าโดยการ “ขยันหมั่นเพียรและทุ่มเทให้บ้านมากขึ้น” (คพ. 93:50) พวกเขาสามารถทำให้ครอบครัวเป็นศูนย์กลางในชีวิตพวกเขาได้มากขึ้น

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “ครอบครัวนิรันดร์,” เลียโฮนา, ม.ค. 1997, 74–76.

  • เดวิด เอ. เบดนาร์, “ขยันหมั่นเพียรและเอาใจใส่ครอบครัวยิ่งขึ้น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 20–24

  • คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร [2010], 1.1.1, 1.1.4, and 1.4.1 (ถ้ามี)

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อแผนของพระบิดาบนสวรรค์

บอกชั้นเรียนของท่านว่าทุกหัวข้อที่ปราศรัยในการประชุมใหญ่สามัญครั้งล่าสุด ครอบครัวเป็นหนึ่งในหัวข้อที่พูดถึงบ่อยที่สุด

  • ท่านคิดว่าเหตุใดผู้นำศาสนจักรจึงพูดเรื่องครอบครัวบ่อยมาก

เขียนความจริงต่อไปนี้จากถ้อยแถลงเรื่องครอบครัวไว้บน กระดานและขอให้นักศึกษาแบ่งปันว่าความจริงนี้มีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร

“ครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อแผนของพระผู้สร้างเพื่อจุดหมายปลายทางนิรันดร์ของลูกๆ ของพระองค์”

เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจดีขึ้นว่าครอบครัวเป็นศูนยฺ์กลางต่อจุดหมายนิรันดร์ของเราอย่างไร ให้แจกสำเนาที่อยู่ท้ายบทเรียนนี้ แบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ มอบหมายให้แต่ละกลุ่มอ่านพระคัมภีร์หนึ่งในสามหัวข้อจากในเอกสารแจกและสนทนาคำถามที่อยู่ในนั้น พึงแน่ใจว่าท่านได้มอบหมายแต่ละหัวข้อ

ภาพ
เอกสารแจก ครอบครัวก่อนเกิด ครอบครัวมรรตัย และครอบครัวนิรันดร์ของเรา

หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้เชิญอย่างน้อยหนึ่งคนที่ได้รับแต่ละหัวข้อในเอกสารแจกแบ่งปันข้อคิดเห็นโดยสังเขปของการสนทนากลุ่มเล็กกับชั้นเรียน เป็นพยานถึงความจริงต่อไปนี้: ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในแผนของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับชีวิตก่อนมรรตัย ชีวิตมรรตัย และชีวิตนิรันดร์

  • ประสบการณ์ใดช่วยให้ท่านรู้สึกว่าครอบครัวสำคัญมากในแผนของพระบิดาบนสวรรค์

หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:39-50

การทำให้ครอบครัวมีความสำคัญเป็นอันดับแรก

เตรียมนักศึกษาให้พร้อมเรียนรู้จาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 93 โดยอธิบายว่านอกจากเรื่องอื่นๆ แล้วภาคนี้ยังบันทึกคำแนะนำของพระเจ้าเกี่ยวกับความสำคัญของการเลี้ยงดูลูกๆ ใน “แสงสว่างและความจริง” และการทำให้ครอบครัวมีความสำคัญเป็นอันดับแรก เขียนข้ออ้างอิงต่อไปนี้ไว้บน กระดาน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:39-43

หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:44

หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:45-48

หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:50

ขอให้นักศึกษาอ่านอ้างอิงอย่างน้อยหนึ่งข้อ (ให้นักศึกษาอ่านอย่างน้อยคนละข้อ) ขอให้นักศึกษาหาดูว่าพระเจ้ากำลังตรัสกับใครและประทานคำแนะนำอะไร หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักศึกษารายงานสิ่งที่เรียนรู้ นักศึกษาพึงตระหนักว่าชายสี่คนที่พูดถึงคือฝ่ายประธานสูงสุดและอธิการของศาสนจักรในโอไฮโอ ด้วยเหตุนี้พระคัมภีร์เหล่านี้จึงเตือนสมาชิกทุกคนของศาสนจักร แม้บุคคลในตำแหน่งผู้นำ ว่าต้องทำให้ครอบครัวของพวกเขามีความสำคัญเป็นอันดับแรก ท่านอาจเสนอแนะให้นักศึกษาทำเครื่องหมายการพูดซ้ำหรือรูปแบบที่พบในข้อเหล่านี้—สมาชิกศาสนจักรควร “จัด [ครอบครัวตน] ให้อยู่ในระเบียบ” (ดู ข้อ 43, 44 และ 50)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 42, 48 และ 50เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยจัดครอบครัวของเราให้อยู่ในระเบียบ (นักศึกษาควรระบุดังนี้: สอนลูกๆ ในแสงสว่างและความจริง กลับใจ ละทิ้งสิ่งไม่ชอบธรรม ขยันหมั่นเพียรและทุ่มเทให้บ้านมากขึ้น และสวดอ้อนวอนเสมอ)

เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน: เราช่วยให้พระบัญญัติของพระเจ้าเรื่องการจัดครอบครัวเราให้อยู่ในระเบียบนั้นเกิดสัมฤทธิผลเมื่อเราขยันหมั่นเพียรและทุ่มเทให้บ้านมากขึ้น

  • คนหนุ่มสาวจะทำอะไรได้บ้างเพื่อขยันหมั่นเพียรและทุ่มเทให้บ้านมากขึ้น

ให้ดูข้อความต่อไปนี้จากจดหมายของฝ่ายประธานสูงสุด ค.ศ. 1999 และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง

“บ้านคือพื้นฐานของชีวิตที่ชอบธรรม และไม่มีเครื่องมือใดมาแทนที่หรือดำเนินงานอันสำคัญยิ่งของการนำความรับผิดชอบที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้ออกไปให้สำเร็จลงได้

“เราขอแนะนำบิดามารดาและลูกๆ ให้ความสำคัญสูงสุดแก่การสวดอ้อนวอนเป็นครอบครัว การสังสรรค์ในครอบครัว การศึกษาและการสอนพระกิตติคุณ และกิจกรรมที่ดีงามของครอบครัว แม้อาจจะมีข้อเรียกร้องหรือกิจกรรมอื่นที่เหมาะสมและทรงคุณค่า แต่ต้องไม่ยอมให้สิ่งเหล่านี้เข้ามาแทนหน้าที่ที่พระเจ้าทรงกำหนดซึ่งเฉพาะบิดามารดาและครอบครัวเท่านั้นจะทำได้ดีพอ” (จดหมายจากฝ่ายประธานสูงสุด, 11 ก.พ. 1999 อ้างอิงใน คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร [2010], 1.4.1)

  • ในประสบการณ์ของท่าน “งานอันสำคัญยิ่ง” และ “หน้าที่ที่พระเจ้าทรงกำหนด” ซึ่งปฏิบัติได้ที่ที่สุดในครอบครัวมีอะไรบ้าง

ให้ดูข้อความต่อไปนี้ และกระตุ้นนักศึกษาให้พิจารณาพรที่เกิดขึ้นเมื่อสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวหมายมั่นทำหน้าที่ครอบครัวที่พระเจ้าทรงกำหนด

“ไม่ว่าสมาชิกศาสนจักรอาศัยอยู่ที่ใดก็ตาม สมาชิกควรสร้างบ้านที่มีพระวิญญาณประทับอยู่ …

บ้านที่มีบิดามารดาเปี่ยมด้วยความรักและความซื่อสัตย์ต่อกันเป็นสภาพแวดล้อมที่ตอบสนองความต้องการทางโลกและทางวิญญาณของบุตรธิดาในบ้านหลังนั้นได้ดีที่สุด บ้านที่มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลางเป็นสถานที่คุ้มภัยผู้ใหญ่และเด็กจากบาป สถานที่หลบภัยจากโลก สถานที่เยียวยาความเจ็บปวดทางอารมณ์และความเจ็บปวดอื่นๆ และสถานที่ซึ่งมีความรักที่มั่นคงและจริงใจ” (คู่มือเล่ม 2:การบริหารงานศาสนจักร,1.4.1

  • ท่านช่วยสร้างบ้านที่มีพระคริสต์เป็นศูนย์กลางให้ครอบครัวท่านอย่างไร

  • นั่นส่งผลอะไรในครอบครัวท่าน

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้นักศึกษาคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด

“ให้ทุกอย่างที่ท่านทำนอกบ้านเป็นรองและสนับสนุนสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านท่าน จงจำคำแนะนำของประธานฮาโรลด์ บี. ลีที่ว่า ‘งานสำคัญที่สุด … ที่ท่านจะทำตลอดไปอยู่ภายในรั้วบ้านของท่านเอง’ … และคำแนะนำที่ไม่ตกยุคของประธานเดวิด โอ. แมคเคย์ ‘ไม่มีความสำเร็จใดชดเชยความล้มเหลวในบ้านได้’” (“เพื่อจะพบคนหลงทาง,”เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 99)

ให้เวลานักศึกษาจดบางสิ่งบางอย่างที่พวกเขาทำได้สักครู่เพื่อขยันหมั่นเพียรและทุ่มเทให้บ้านมากขึ้น และทำให้ครอบครัวเป็นจุดศูนย์กลางในชีวิตพวกเขามากขึ้น กระตุ้นนักศึกษาให้ตั้งเป้าหมายทำตามแนวคิดที่พวกเขาเขียนไว้ เป็นพยานว่าเมื่อนักศึกษาทำตามเป้าหมายของพวกเขา พระเจ้าจะทรงเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิญญาณให้พวกเขาและทรงช่วยให้พวกเขาเห็นว่าการกระทำของพวกเขาเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวตนอย่างไร

สิ่งที่นักศึกษาควรอ่าน

Handout

ภาพ
handout, Our Premortal, Mortal, and Eternal Families

ครอบครัวก่อนเกิด ครอบครัวมรรตัย และครอบครัวนิรันดร์ของเรา

ครอบครัวนิรันดร์—บทที่ 6

ครอบครัวก่อนเกิดของเรา

“ครอบครัวได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า และเป็นหน่วยสำคัญที่สุดในกาลเวลาและในนิรันดร เราเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวแม้ก่อนที่เราเกิดมาบนแผ่นดินโลก เราแต่ละคน “เป็นปิยบุตรหรือปิยธิดาทางวิญญาณของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์” พร้อมด้วย “ลักษณะและจุดหมายปลายทางแห่งสวรรค์” [‘ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,’ เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165] พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาบนสวรรค์ของเรา และเราอาศัยอยู่ในที่ประทับพระองค์โดยเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวพระองค์ในชีวิตก่อนเกิด เราเรียนรู้บทเรียนแรกๆ ของเราที่นั่นและพร้อมสำหรับความเป็นมรรตัย (ดู คพ. 138:56)” (คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร [2010], 1.1.1)

“เรานมัสการพระผู้เป็นเจ้าที่ยิ่งใหญ่ผู้ทรงสร้างจักรวาล พระองค์ทรงเป็นพระบิดาในสวรรค์ของเรา เรามาดำรงอยู่เพราะพระองค์ เราเป็นลูกทางวิญญาณของพระองค์ เราอาศัยอยู่กับพระองค์ในชีวิตก่อนเกิดในความสัมพันธ์ฉันครอบครัว เรารู้จักพระองค์อย่างสนิทสนมและดีเท่าๆ กับที่เรารู้จักบิดามรรตัยของเราในการดำรงอยู่ที่นี่” (บรูซ อาร์. แมคคองกี, How to Worship, Brigham Young University Speeches of the Year [July 20, 1971], 2)

คำถามเพื่อการสนทนา:

  • ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญของชีวิตก่อนเกิดของเราอย่างไร

  • การรู้ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาของท่านและท่านเป็นสมาชิกที่รักของครอบครัวพระองค์ในโลกก่อนเกิดเป็นประโยชน์อย่างไร

  • ท่านจินตนาการว่าการปฏิสัมพันธ์ของท่านกับพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์เป็นอย่างไร

ครอบครัวมรรตัยของเรา

“เราเกิดมาในครอบครัวตามแผนของพระบิดาบนสวรรค์ พระองค์ทรงสถาปนาครอบครัวขึ้นมาเพื่อให้เรามีความสุข ช่วยให้เราเรียนรู้หลักธรรมที่ถูกต้องในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรัก และเตรียมเราเพื่อรับชีวิตนิรันดร์

“บิดามารดามีความรับผิดชอบอันสำคัญยิ่งในการช่วยลูกๆ เตรียมกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์ บิดามารดามีสัมฤทธิผลในความรับผิดชอบดังกล่าวได้โดยการสอนลูกๆ ให้ปฏิบัติตามพระเยซูคริสต์และดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระองค์” (คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร,1.1.4

“พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นผู้ออกแบบครอบครัว พระองค์ทรงประสงค์ให้ความสุขใหญ่หลวงที่สุด แง่มุมอันน่าพอใจที่สุดของชีวิต และปีติลึกซึ้งที่สุดเข้ามาในความสัมพันธ์กันของเราและความห่วงใยกันฉันบิดามารดาและบุตร” (กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, What God Hath Joined Together, Ensign, May 1991, 74)

คำถามเพื่อการสนทนา:

  • ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญของชีวิตมรรตัยของเราในด้านใด

  • ชีวิตบนโลกนี้จะต่างไปอย่างไรถ้าพระองค์ทรงส่งเราแต่ละคนมาโลกนี้โดยปราศจากความสัมพันธ์ฉันครอบครัว—ไม่มีบิดา มารดา พี่น้อง บรรพชน หรือลูกหลาน

  • ประสบการณ์ใดได้ช่วยให้ท่านเข้าใจบทบาทและความสำคัญของครอบครัวมรรตัย

ครอบครัวนิรันดร์ของเรา

“แผนของพระผู้เป็นเจ้าอันเป็นความสุขทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดำเนินต่อไปหลังความตาย” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 165)

“ขณะที่ความรอดของเราแต่ละคนมีฐานอยู่บนการเชื่อฟังของเราแต่ละคน ที่สำคัญเท่ากันคือเราต้องเข้าใจว่าเราต่างมีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและเราสามารถรับพรสูงสุดได้ภายในครอบครัวนิรันดร์เท่านั้น เมื่อครอบครัวทำหน้าที่ตามพระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนด สัมพันธภาพที่พบในครอบครัวจึงมีค่ามากที่สุดของความเป็นมรรตัย แผนของพระบิดาคือให้ความรักและความเป็นเพื่อนในครอบครัวดำเนินต่อไปในนิรันดร การเป็นสมาชิกในครอบครัวมีความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ติดมาด้วย นั่นคือการดูแลเอาใจใส่ รัก หนุนใจ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวทั้งนี้เพื่อทุกคนจะสามารถอดทนอย่างชอบธรรมจนกว่าชีวิตจะหาไม่ในความเป็นมรรตัยและอยู่ด้วยกันชั่วนิรันดร์ การช่วยตัวเราให้รอดเท่านั้นไม่พอ ที่สำคัญเท่ากันคือบิดามารดา พี่น้องชายหญิงจะต้องได้รับการช่วยให้รอดในครอบครัวเรา ถ้าเรากลับบ้านคนเดียวไปหาพระบิดาบนสวรรค์ พระองค์จะตรัสถามเราว่า ‘คนอื่นๆ ในครอบครัวอยู่ที่ไหน’ นี่คือสาเหตุที่เราสอนว่าครอบครัวอยู่ชั่วนิรันดร์ ธรรมชาตินิรันดร์ของแต่ละบุคคลจะกลายเป็นธรรมชาตินิรันดร์ของครอบครัว” (ดู โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “ครอบครัวนิรันดร์,” เลียโฮนา, ม.ค. 1997, 75)

คำถามเพื่อการสนทนา:

  • ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญของจุดหมายนิรันดร์ของเราในด้านใด

  • การประพฤติชอบอะไรบ้างที่สมาชิกครอบครัวทำได้เพื่อช่วยทำให้เกิดความรอดของกันและกัน

  • สมาชิกครอบครัวหนุนใจหรือทำให้ท่านเข้มแข็งในวิธีที่สร้างแรงบันดาลใจให้ท่านอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่เมื่อใด