2019
ทำให้การปฏิบัติศาสนกิจเปี่ยมด้วยปีติ
เมษายน 2019


หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ

ทำให้การปฏิบัติศาสนกิจ เปี่ยมด้วยปีติ

การรับใช้ด้วยความรักทำให้ผู้ให้และผู้รับเกิดปีติ

ภาพ
Jesus with the leper

คนโรคเรื้อนผู้กล่าวคำขอบคุณ โดย จอห์น สตีล

บางครั้งการค้นหาความสุขของเราในชีวิตนี้เหมือนกับการวิ่งบนเครื่องวิ่งออกกำลังกาย เราวิ่งและวิ่ง และยังรู้สึกเหมือนอยู่ที่เดิม บางคนรู้สึกว่าการปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นเหมือนเป็นการเพิ่มภาระ

แต่พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้เราประสบปีติและรับสั่งว่า “มนุษย์เป็นอยู่, เพื่อพวกเขาจะมีปีติ” (2 นีไฟ 2:25) พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่าการปฏิบัติศาสนกิจต่อผู้อื่นเป็นส่วนจำเป็นของการนำปีติมาสู่ชีวิตเราและชีวิตผู้อื่น

ปีติคืออะไร

ปีติมีนิยามว่า “ความรู้สึกพอใจและมีความสุขมาก”1 ศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายให้ความกระจ่างว่าปีติมาจากไหนและจะพบได้อย่างไร “ปีติที่เรารู้สึกนั้นแทบไม่เกี่ยวกับสภาพการณ์ในชีวิตแต่ขึ้นอยู่กับทุกอย่างที่เราให้ความสำคัญในชีวิตเรา” ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าว “… ปีติมาจาก [พระเยซูคริสต์] และมาเพราะพระองค์ พระองค์ทรงเป็นที่มาของปีติทั้งปวง”2

การปฏิบัติศาสนกิจทำให้เกิดปีติ

เมื่อลีไฮรับส่วนผลของต้นไม้แห่งชีวิต จิตวิญญาณของเขาเปี่ยม “ด้วยความปรีดียิ่งนัก” (1 นีไฟ 8:12) ความปรารถนาแรกของเขาคือแบ่งผลนี้ให้คนที่เขารัก

ความที่เราเต็มใจปฏิบัติต่อผู้อื่นจะทำให้เราและพวกเขาเกิดปีติแบบนี้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเหล่าสานุศิษย์ของพระองค์ว่าผลที่เรานำออกมาเมื่อเราเชื่อมสัมพันธ์กับพระองค์จะช่วยให้เราเกิดปีติเต็มเปี่ยม (ดู ยอห์น 15:1–11) การทำงานของพระองค์โดยรับใช้และหมายมั่นนำผู้อื่นมาหาพระองค์สามารถเป็นประสบการณ์อันเปี่ยมด้วยปีติ (ดู ลูกา 15:7; แอลมา 29:9; หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:16; 50:22) เราจะประสบปีติดังกล่าวแม้ในขณะเผชิญการต่อต้านและความทุกข์ (ดู 2 โครินธ์ 7:4; โคโลสี 1:11)

พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงแบบอย่างอันสมบูรณ์ให้เราเห็นว่าแหล่งกำเนิดใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่งของปีติที่แท้จริงในชีวิตมรรตัยเกิดจากการรับใช้ เมื่อเราปฏิบัติศาสนกิจต่อพี่น้องชายหญิงเฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอด ด้วยจิตกุศลและความรักในใจเรา เราจะประสบปีติที่ไม่ใช่แค่ความสุขธรรมดา

“เมื่อเราน้อมรับ [การปฏิบัติศาสนกิจ] ด้วยความเต็มใจ เราจะ … เข้าใกล้การเป็นผู้คนของไซอันมากขึ้นและจะรู้สึกปีติเป็นล้นพ้นพร้อมกับคนที่เราได้ช่วยตลอดเส้นทางของการเป็นสานุศิษย์” ซิสเตอร์จีน บี. บิงแฮมประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญสอน3

เราจะทำให้การปฏิบัติศาสนกิจเปี่ยมด้วยปีติมากขึ้นได้อย่างไร

มีหลายวิธีที่จะทำให้การปฏิบัติศาสนกิจของเราเกิดปีติมากขึ้น ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการ

  1. เข้าใจจุดประสงค์ของท่านในการปฏิบัติศาสนกิจ มีเหตุผลมากมายให้ปฏิบัติศาสนกิจ สุดท้ายแล้ว ความพยายามของเราควรสอดคล้องกับจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าคือ “ทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์” (โมเสส 1:39) เมื่อเรายอมรับคำเชื้อเชิญของประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันให้ช่วยเหลือผู้อื่นตามเส้นทางพันธสัญญา เราจะพบปีติในการมีส่วนร่วมในงานของพระผู้เป็นเจ้า4 (ดูจุดประสงค์ของการปฏิบัติศาสนกิจได้ที่ “หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ: จุดประสงค์ที่จะเปลี่ยนการปฏิบัติศาสนกิจของเรา” ใน เลียโฮนา เดือนมกราคม 2019)

  2. ทำให้การปฏิบัติศาสนกิจเกี่ยวข้องกับคนไม่ใช่งาน ประธานโธมัส เอส. มอนสันเตือนเราบ่อยครั้งว่า “อย่าปล่อยให้ปัญหาที่ต้องแก้ไขสำคัญกว่าคนที่ท่านต้องรัก”5 การปฏิบัติศาสนกิจเกี่ยวข้องกับการรักผู้คน ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องทำ เมื่อเรารักมากขึ้นดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงรัก เราจะเปิดรับปีติที่มาจากการรับใช้ผู้อื่นมากขึ้น

  3. ทำให้การปฏิบัติศาสนกิจเรียบง่าย ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดรักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองบอกเราว่า “สิ่งสำคัญยิ่งเกิดขึ้นผ่านเรื่องเล็กและเรียบง่าย … การกระทำเล็กๆ น้อยๆ และเรียบง่ายจากความเมตตาและการรับใช้จะสั่งสมในชีวิตเราจนเราเปี่ยมด้วยความรักที่มีต่อพระบิดาบนสวรรค์ การอุทิศตนต่องานของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ความรู้สึกสงบและปีติจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่เราแสดงน้ำใจต่อกัน”6

  4. นำความเครียดออกจากการปฏิบัติศาสนกิจ ท่านไม่ได้มีหน้าที่ทำให้คนบางคนได้รับความรอด นั่นเป็นเรื่องระหว่างบุคคลนั้นกับพระเจ้า หน้าที่รับผิดชอบของท่านคือรักพวกเขาและช่วยให้พวกเขาหันมาหาพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของพวกเขา

ภาพ
Jesus with children

พระคริสต์กับเด็กๆ ในพระคัมภีร์มอรมอน โดย เดล พาร์สัน

อย่าชะลอปีติของการรับใช้

บางครั้งผู้คนลังเลที่จะขอความช่วยเหลือที่จำเป็น ด้วยเหตุนี้การเสนอตัวรับใช้พวกเขาจึงอาจเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการพอดี แต่การยัดเยียดตัวเราให้ผู้อื่นไม่ใช่คำตอบเช่นกัน การขออนุญาตก่อนปฏิบัติศาสนกิจเป็นความคิดที่ดี

เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเล่าเรื่องมารดาตัวคนเดียวที่เป็นไข้อีสุกอีใส—และจากนั้นลูกๆ ของเธอก็ป่วยตาม บ้านที่ปกติสะอาดเรียบร้อยกลายเป็นบ้านรกรุกรัง จานชามและเสื้อผ้ากองพะเนิน

ในขณะที่เธอรู้สึกกลุ้มใจมาก พี่น้องสตรีสมาคมสงเคราะห์มาเคาะประตูบ้านพอดี พวกเธอไม่ได้พูดว่า “บอกเรานะคะถ้าเราช่วยได้” เมื่อพวกเธอเห็นสถานการณ์ พวกเธอลงมือทำทันที

“พวกเธอทำความสะอาดจนหมด นำความสว่างและความแจ่มใสเข้ามาในบ้าน โทรศัพท์บอกเพื่อนคนหนึ่งให้นำอาหารที่ต้องการมากมาให้ เมื่อพวกเธอทำงานเสร็จเรียบร้อยและกล่าวลา พวกเธอทำให้คุณแม่วัยสาวคนนั้นต้องหลั่งน้ำตา—น้ำตาแห่งความซาบซึ้งใจและความรัก”7

ทั้งผู้ให้และผู้รับรู้สึกถึงความอบอุ่นของปีติ

บ่มเพาะปีติในชีวิตท่าน

ยิ่งเราสามารถบ่มเพาะปีติ สันติ และความอิ่มเอมใจในชีวิตเราได้มากเพียงใด เราจะยิ่งสามารถแบ่งปันให้ผู้อื่นได้มากเพียงนั้นขณะที่เราปฏิบัติศาสนกิจ ปีติผ่านเข้ามาทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ดู กาลาเทีย 5:22 และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:13) ปีติเป็นสิ่งที่เราสวดอ้อนวอนขอ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 136:29) และเชื้อเชิญเข้ามาในชีวิตเรา ต่อไปนี้เป็นแนวคิดบางประการสำหรับบ่มเพาะปีติในชีวิตเราเอง

  1. นับพรของท่าน ขณะท่านสำรวจชีวิตท่าน จงเขียนสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าประทานพรท่านลงในบันทึกส่วนตัวของท่าน8 สังเกตสิ่งดีๆ รอบตัวท่าน9 ระวังสิ่งที่อาจจะขัดขวางท่านไม่ให้รู้สึกปีติและจดวิธีแก้ไขหรือเข้าใจสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น ในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ปีนี้ จงใช้เวลาหาทางเชื่อมสัมพันธ์กับพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:36)

  2. ฝึกสติ ท่านจะมีปีติง่ายขึ้นในช่วงที่ท่านตรึกตรองอย่างเงียบๆ10 ตั้งใจฟังสิ่งที่ทำให้ท่านเกิดปีติ (ดู 1 พงศาวดาร 16:15) บางครั้งท่านจำเป็นต้องอยู่ห่างจากสื่อเพื่อฝึกสติ11

  3. หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบตนเอง กล่าวกันว่าการเปรียบเทียบเป็นตัวขโมยปีติ เปาโลเตือนว่าคนที่ “เอาตัวเองเป็นเครื่องวัดกันและกัน และเอาตัวเองเปรียบเทียบกันและกันแล้ว พวกเขาก็ปราศจากความเข้าใจ” (2 โครินธ์ 10:12)

  4. แสวงหาการเปิดเผยส่วนตัว พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่า “หากเจ้าจะถาม, เจ้าจะได้รับการเปิดเผยมาเติมการเปิดเผย, ความรู้มาเติมความรู้, เพื่อเจ้าจะรู้ความลี้ลับและสิ่งที่ส่งเสริมความสงบสุข—สิ่งนั้นที่นำมาซึ่งปีติ, สิ่งนั้นที่นำมาซึ่งนิรันดรแห่งชีวิต” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:61)

คำเชื้อเชิญให้ปฏิบัติ

ท่านจะเพิ่มปีติที่ท่านพบในชีวิตผ่านการปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างไร

อ้างอิง

  1. “Joy,” en.oxforddictionaries.com

  2. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ปีติและการอยู่รอดทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 82.

  3. จีน บี. บิงแฮม, “การปฏิบัติศาสนกิจดังที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทำ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 107.

  4. ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ขณะที่เราเดินหน้าไปด้วยกัน,” เลียโฮนา, เม.ย. 2018, 4–7.

  5. โธมัส เอส. มอนสัน, “พบปีติในการเดินทาง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 106.

  6. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “พบปีติผ่านการรับใช้ด้วยความรัก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 58.

  7. ดู ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “การดำเนินชีวิตอย่างเบิกบานในพระกิตติคุณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 120–123.

  8. ดู เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “โอ้จงจำ จงจำไว้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 85.

  9. ดู จีน บี. บิงแฮม, “ให้ความยินดีของท่านเต็มเปี่ยม,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 87.

  10. ดู ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “เกี่ยวกับสิ่งสำคัญที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 26.

  11. ดู แกรีย์ อี. สตีเวนสัน, “อุปราคาทางวิญญาณ” เลียโฮนา พ.ย. 2017, 46.