2020
เหตุผลที่เราต้องมีพระเยซูคริสต์
ธันวาคม 2020


เหตุผลที่เราต้องมี พระเยซูคริสต์

จากคำปราศรัยให้ข้อคิดทางวิญญาณเรื่อง “ข่าวสารในวันคริสต์มาส” ที่มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 2017

เบาเสียงรบกวนช่วงเทศกาลคริสต์มาสนี้และใคร่ครวญความน่าพิศวงและพระบารมีของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า

ภาพ
painting of shepherds coming to see Mary and baby Jesus

คนเลี้ยงแกะสักการะ โดย Michelangelo Merisi da Caravaggio, Bridgeman Images

นอกเหนือจากคริสต์มาส ข้าพเจ้าปลาบปลื้มยินดีที่เดือนธันวาคมทำให้มีโอกาสตรึกตรองชีวิตและผลงานของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเนื่องในวันเกิดของท่านคือวันที่ 23 ธันวาคม ยากจะสำนึกคุณได้อย่างเต็มที่ต่อสิ่งที่ท่านทำสำเร็จในฐานะเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระเจ้าในสภาพแวดล้อมของการต่อต้าน การข่มเหง และความท้าทายไม่หยุดหย่อน ในอนาคต เราจะเห็นศาสดาพยากรณ์โจเซฟได้รับยกย่องให้เป็นหัวหน้าที่คู่ควรของสมัยการประทานสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่นี้—สมัยการประทานที่ทรงกำหนดไว้ให้ประสบความสำเร็จแม้ว่าสมัยการประทานก่อนหน้านี้ล้วนสิ้นสุดลงด้วยการละทิ้งความเชื่อ

ข้าพเจ้าคิดว่าในสมัยการประทานนี้ไม่มีใครเรียนรู้ที่จะเกรงกลัวพระผู้เป็นเจ้าและไม่กลัวมนุษย์ได้ดีไปกว่าท่านศาสดาพยากรณ์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 3:7–8) พระเจ้าทรงเรียกร้องให้โจเซฟทำบางสิ่งที่ยากมาก ท่านทำ และเราทุกคนเป็นผู้ได้รับประโยชน์

การแปลและการจัดพิมพ์พระคัมภีร์มอรมอนเป็นความสำเร็จที่โดดเด่นอย่างหนึ่งและเป็นฐานความสำเร็จของอุดมการณ์ของพระเจ้าในสมัยการประทานสุดท้ายนี้ โดยผ่านพระคัมภีร์มอรมอนและโดยนิมิตตลอดจนการเปิดเผยของโจ–เซฟ ท่านได้เปิดเผยสำหรับยุคปัจจุบันถึงพระลักษณะแท้จริงของพระเยซูคริสต์ในฐานะพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ไถ่ของมนุษยชาติ

โดยเฉพาะเทศกาลนี้เราระลึกถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวของท่านศาสดาพยากรณ์กับพระผู้ช่วยให้รอดและ “ประจักษ์พยาน, สุดท้ายของทั้งหมด, ซึ่ง [ท่าน] ให้ไว้ถึง [พระคริสต์]: ว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่!” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:22) พยานของโจเซฟถึงพระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงคำกล่าวของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) “คงจะไม่มีคริสต์มาสถ้าไม่มีอีสเตอร์ พระกุมารเยซูแห่งเบธเลเฮมคงจะเป็นเพียงทารกคนหนึ่งหากปราศจากพระคริสต์ผู้ทรงไถ่ในเกทเสมนีและคัลวารี และชัยชนะของการฟื้นคืนพระชนม์”1

เหตุใดเราจึงต้องมีพระเยซูคริสต์?

ไม่นานมานี้ คนหนึ่งที่เป็นสมาชิกของศาสนจักรมาหลายปีถามข้าพเจ้าว่า “ทำไมผมต้องมีพระเยซูคริสต์? ผมรักษาพระบัญญัติ ผมเป็นคนดี ทำไมผมต้องมีพระผู้ช่วยให้รอด?” ข้าพเจ้าต้องบอกว่าการที่สมาชิกคนนี้ไม่เข้าใจส่วนสำคัญพื้นฐานที่สุดของหลักคำสอนของเรา องค์ประกอบพื้นฐานนี้ของแผนแห่งความรอด ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจมาก

“อย่างแรก” ข้าพเจ้าตอบ “มีเรื่องเล็กนี้เกี่ยวกับความตาย ผมสันนิษฐานว่าคุณไม่อยากให้ความตายของคุณเป็นสถานะสุดท้ายของคุณ และหากไม่มีพระเยซูคริสต์จะไม่มีการฟื้นคืนชีวิต”

ข้าพเจ้าพูดอีกหลายเรื่อง เช่น ความจำเป็นที่ว่าแม้แต่คนดีที่สุดก็ยังต้องการการให้อภัยและการชำระให้สะอาดซึ่งเกิดขึ้นได้ผ่านพระคุณอันเป็นการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดเท่านั้น

แต่อีกระดับหนึ่ง คำถามอาจเป็นว่า “พระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำตามที่พระองค์ทรงต้องการและทรงช่วยให้เรารอดเพียงเพราะทรงรักเราโดยไม่ต้องมีพระผู้ช่วยให้รอดไม่ได้หรือ? เมื่อถอดความแบบนี้ คงมีหลายคนในโลกทุกวันนี้ที่จะมีคำถามนั้น พวกเขาเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าและการดำรงอยู่หลังความตาย แต่สันนิษฐานว่าเพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงรักเรา สิ่งที่เราทำหรือไม่ทำจึงไม่สำคัญเท่าใดนักเพราะพระองค์จะทรงดูแลสิ่งต่างๆ

ปรัชญานี้มีรากเหง้ามาแต่โบราณ ตัวอย่างเช่นนีฮอร์ “เป็นพยานต่อผู้คนด้วยว่ามนุษยชาติทั้งปวงจะได้รับการช่วยให้รอดในวันสุดท้าย, และว่าคนทั้งหลายไม่ต้องเกรงกลัวหรือตัวสั่น, แต่ว่าพวกเขาเงยหน้าและชื่นชมยินดีได้; เพราะพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ทั้งปวง, และทรงไถ่คนทั้งปวงด้วย; และในที่สุดมนุษย์ทั้งปวงจะมีชีวิตนิรันดร์” (แอลมา 1:4)

ท่านทราบว่าในหลักคำสอนของนีฮอร์มีความคล้ายคลึงกับวิธีไปสู่ความรอดที่ลูซิเฟอร์ “โอรสแห่งรุ่งอรุณ” บุคคลที่น่าสังเวชที่สุดตลอดกาลได้เสนอไว้ (อิสยาห์ 14:12; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:25–27 ด้วย) ดังที่พระผู้เป็นเจ้าทรงอธิบายไว้ครั้งหนึ่งว่า ลูซิเฟอร์ “คือคนคนนั้นซึ่งดำรงอยู่มานับแต่กาลเริ่มต้น, และเขามาอยู่ต่อหน้าเรา, โดยกล่าวว่า—ดูเถิด, ข้าพระองค์อยู่นี่, ทรงส่งข้าพระองค์ไปเถิด, ข้าพระองค์จะเป็นบุตรของพระองค์, และข้าพระองค์จะไถ่มนุษยชาติทั้งปวง, จน [ไม่มี] สักจิตวิญญาณ … หายไป, และแน่นอนข้าพระองค์จะทำ; ดังนั้นทรงให้เกียรติของพระองค์แก่ข้าพระองค์เถิด.

“แต่, ดูเถิด, บุตรที่รักของเรา, ซึ่งเป็นที่รักและที่เลือกแล้วของเรานับแต่กาลเริ่มต้น, กล่าวแก่เรา—พระบิดา, ขอให้บังเกิดขึ้นตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด, และให้รัศมีภาพเป็นของพระองค์ตลอดกาล” (โมเสส 4:1–2)

กรณีนี้ไม่เพียงพระเยซูทรงสนับสนุนแผนของพระบิดาและลูซิเฟอร์เสนอให้ปรับเล็กน้อยเท่านั้น แต่ข้อเสนอของลูซิเฟอร์จะทำลายแผนโดยตัดโอกาสไม่ให้เรากระทำอย่างอิสระด้วย แผนของลูซิเฟอร์อยู่บนพื้นฐานของการบีบบังคับ ทำให้บุตรธิดาทั้งหมดของพระผู้เป็นเจ้า—เราทุกคน—เป็นหุ่นเชิดของเขาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังที่พระบิดาทรงสรุปว่า:

“ดังนั้น, เพราะว่าซาตานกบฏต่อเรา, และหมายมั่นจะทำลายสิทธิ์เสรีของมนุษย์, ซึ่งเรา, พระเจ้า พระผู้เป็นเจ้า, ให้เขาไว้, และจะให้เรามอบอำนาจของเราเองแก่เขาด้วย; โดยอำนาจของพระองค์เดียวที่ถือกำเนิดของเรา, เราจึงทำให้เขาถูกโยนลงไป;

“และเขากลายเป็นซาตาน, แท้จริงแล้ว, แม้มาร, บิดาของความเท็จทั้งปวง, ที่จะหลอกลวงและทำให้มนุษย์มืดบอด, และชักนำพวกเขาไปเป็นทาสตามความประสงค์ของเขา, แม้มากเท่าที่จะไม่สดับฟังเสียง ของเรา” (โมเสส 4:3–4; เน้นตัวเอน)

ในทางกลับกัน การทำตามวิธีของพระบิดาจะให้เรามีประสบการณ์มรรตัยที่จำเป็น โดย “ประสบการณ์มรรตัย” ข้าพเจ้าหมายถึงการเลือกวิถีของเรา “[การลิ้มรส] ความขมขื่น, เพื่อ [เรา] จะรู้จักให้คุณค่าแก่ความดี” (โมเสส 6:55) การเรียนรู้ กลับใจ และเติบโต การเป็นคนที่สามารถกระทำด้วยตนเองแทนที่จะ “ถูกกระทำ” เพียงอย่างเดียว (2 นีไฟ 2:13) และสุดท้ายการเอาชนะความชั่ว และแสดงให้เห็นว่าเราปรารถนาและสามารถดำเนินชีวิตตามกฎซีเลสเชียล

สิ่งนี้เรียกร้องความรู้เรื่องความดีและความชั่วในส่วนของเรา กับความสามารถและโอกาสที่จะเลือกระหว่างสองอย่างนี้ และเรียกร้องให้เรารับผิดชอบการเลือกที่ทำ—หาไม่แล้วย่อมไม่ใช่การเลือกที่แท้จริง การเลือกจึงต้องมีกฎหรือผลที่คาดเดาได้ เราต้องสามารถทำให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งโดยการกระทำหรือการเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง—และเกิดผลตรงข้ามโดยการเลือกตรงกันข้าม ถ้าการกระทำไม่มีผลตายตัว เมื่อนั้นย่อมไม่มีการควบคุมผลที่ตามมา และการเลือกย่อมไม่มีความหมาย

ภาพ
painting of Jesus visiting the Nephites

ทีละคน โดย วอลเตอร์ เรน

กฎและความยุติธรรม

แอลมากล่าวโดยใช้ ความยุติธรรม เป็นคำที่มีความหมายเหมือนกับ กฎ ว่า “บัดนี้งานแห่งความยุติธรรม [นั่นคือการดำเนินตามกฎ] จะถูกทำลายไม่ได้; หากเป็นเช่นนั้น, พระผู้เป็นเจ้าจะทรงยุติการเป็นพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 42:13) ความเข้าพระทัยโดยสมบูรณ์และการใช้กฎของพระผู้เป็นเจ้า—หรืออีกนัยหนึ่ง ความยุติธรรมของพระองค์—นั่นเองที่ประทานเดชานุภาพให้พระองค์ เราต้องการความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ระบบของกฎตายตัวและไม่แปรเปลี่ยนที่พระองค์ทรงปฏิบัติตามและทรงใช้ ทั้งนี้เพื่อเราจะสามารถมีและใช้สิทธิ์เสรีได้2 ความยุติธรรมนี้เป็นรากฐานของเสรีภาพที่เราจะกระทำและเป็นทางเดียวสู่ความสุขในท้ายที่สุดของเรา

พระเจ้ารับสั่งกับเราว่า “สิ่งซึ่งปกครองโดยกฎก็ได้รับการปกปักรักษาโดยกฎด้วยและทำให้ดีพร้อมและชำระให้บริสุทธิ์โดยกฎเดียวกันนั้น” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:34) แต่เราต้องยอมรับว่าเราไม่ได้ถูก “ปกครองโดยกฎ” ตลอดเวลาและไม่สิ้นสุด และเราไม่สามารถพึ่งกฎหรือความยุติธรรมให้ปกปักรักษาและทำให้เราดีพร้อมเมื่อเราฝ่าฝืนกฎ (ดู 2 นีไฟ 2:5) ด้วยเหตุนี้ โดยทรงเที่ยงธรรมแต่ทรงมีความรักเป็นแรงจูงใจด้วย พระบิดาบนสวรรค์จึงทรงสร้างความเมตตา พระองค์ทรงทำสิ่งนี้โดยทรงมอบพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์ให้เป็นเครื่องบูชาลบบาปของเรา พระสัตภาวะผู้ทรงสามารถสนองความยุติธรรมแทนเราด้วยการชดใช้ของพระองค์ โดยทรงแก้ไขเราให้ถูกต้องตามกฎเพื่อจะสนับสนุนและปกปักรักษาเราได้อีกครั้ง ไม่ใช่กล่าวโทษเรา แอลมาอธิบายว่า

“และบัดนี้, แผนแห่งความเมตตาจะเกิดขึ้นไม่ได้เว้นแต่จะมีการชดใช้เกิดขึ้น; ฉะนั้นพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เองจึงทรงชดใช้บาปของโลก, เพื่อนำมาซึ่งแผนแห่งความเมตตา, เพื่อให้พอแก่ข้อเรียกร้องของความยุติธรรม, เพื่อพระผู้เป็นเจ้าจะทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่ดีพร้อม, เที่ยงธรรม, และพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงเมตตาด้วย. …

“แต่มีกฎให้ไว้, และมีการลงโทษ [หรือผล] ตั้งไว้พร้อมกฎ, และให้มีการกลับใจ; ซึ่งการกลับใจนี้, ความเมตตามีการอ้างสิทธิ์; มิฉะนั้น, ความยุติธรรมจะอ้างสิทธิ์ในมนุษย์และบังคับใช้กฎ, และกฎทำให้มีการลงโทษ; หากไม่เช่นนั้น, งานแห่งความยุติธรรมจะถูกทำลาย, และพระผู้เป็นเจ้าจะทรงยุติการเป็นพระผู้เป็นเจ้า.

“แต่พระผู้เป็นเจ้ามิทรงยุติการเป็นพระผู้เป็นเจ้า, และความเมตตาอ้างสิทธิ์ในผู้สำนึกผิด, และความเมตตาเกิดเพราะการชดใช้” (แอลมา 42:15, 22–23)

แน่นอนว่าผู้สำนึกผิดคือคนที่รับผิดชอบและยอมรับพระเมตตาของพระองค์โดยการกลับใจ3 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การกลับใจคือสิ่งที่เราทำเพื่อรับสิทธิ์ในของประทานอันเป็นพระคุณของการให้อภัยที่พระบิดาในสวรรค์ผู้ทรงเที่ยงธรรมประทานให้เราได้เพราะพระบุตรผู้ทรงเป็นที่รักของพระองค์ทรงชดใช้บาปของเราแล้ว

ภาพ
painting of Jesus Christ praying in Garden of Gethsemane

พระคริสต์ทรงสวดอ้อนวอนในสวนเกทเสมนี, โดย เฮอร์แมนน์ คลีเมนซ์

การชดใช้ของพระเยซูคริสต์

เพราะการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ เราจึงสามารถกลับตัวจากการเลือกที่ไม่ดีได้ เพราะการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ผลกระทบของบาปและความผิดพลาดของผู้อื่นต่อเรา และความอยุติธรรมทั้งหลายจึงถูกชดเชย เพื่อทำให้สมบูรณ์ และเพื่อทำให้บริสุทธิ์ เราต้องมีพระผู้ช่วยให้รอด ด้วยเหตุนี้คำตอบของคำถามของเราคือ “ไม่ พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงสามารถกระทำการอันใดที่พระองค์พอพระทัยเพื่อช่วยให้บุคคลคนหนึ่งรอด พระองค์ไม่ทรงสามารถทำโดยพลการและทรงเที่ยงธรรมไปด้วยได้ และถ้าพระองค์ไม่ทรงเที่ยงธรรม พระองค์ย่อมไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้า” ด้วยเหตุนี้ ความรอดและความสูงส่งจึงต้องบรรลุผลสำเร็จในวิธีที่เกื้อหนุนและสอดคล้องกับกฎที่ไม่แปรเปลี่ยน กับความยุติธรรม ขอบพระทัยพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงเกื้อหนุนความยุติธรรมโดยทรงจัดเตรียมพระผู้ช่วยให้รอดให้เรา”

จำไว้ว่าในสภาใหญ่ก่อนเกิด ลูซิเฟอร์ไม่อาสาเป็นผู้ช่วยให้รอดของเรา เขาไม่สนใจจะทนทุกข์หรือตายหรือหลั่งเลือดเพื่อเรา เขาไม่พยายามเป็นผู้ทรงความยุติธรรมแต่จะเป็นกฎเสียเอง4 ความคิดเห็นของข้าพเจ้าคือในการพูดกับพระบิดาว่า “ทรงให้เกียรติของพระองค์แก่ข้าพระองค์เถิด” (โมเสส 4:1) ลูซิ-เฟอร์กำลังพูดว่า “ทรงให้สิทธิ์ปกครองแก่ข้าพระองค์เถิด” โดยเจตนาจะใช้อำนาจของเขาตามใจชอบ กฎจะเป็นอะไรก็ตามที่เขาบอกว่าเป็นในขณะนั้น ในวิธีนั้น ไม่มีใครเป็นผู้กระทำได้อย่างอิสระ ลูซิเฟอร์จะอยู่สูงสุด และไม่มีใครก้าวหน้าได้

ในทางตรงกันข้าม พระเยซูเข้าพระทัยว่าจะต้องมีทั้งความยุติธรรมที่ไม่แปรเปลี่ยนและความเมตตาเพื่อให้พี่น้องชายหญิงของพระองค์เจริญก้าวหน้า พระองค์กับพระบิดาไม่ทรงพยายามบีบบังคับและข่มเราแต่ทรงทำให้เรามีอิสระและยกเราขึ้นเพื่อเราจะ “อยู่เหนือสิ่งทั้งปวง” และ “มีอำนาจทั้งปวง” กับพระบิดา (หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:20)

เราควรชื่นชมยินดีเพียงใดที่พระบุตรหัวปีในวิญญาณองค์นี้เต็มพระทัยเป็นพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดในเนื้อหนัง ทรงทนทุกข์อย่างที่เราไม่อาจเข้าใจได้และสิ้นพระชนม์อย่างอัปยศเพื่อไถ่เรา พระองค์ทรงทำให้ความยุติธรรมและความเมตตาเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสมบูรณ์ พระองค์ทรงช่วยให้เรารอดจาก—ไม่ใช่ใน แต่จาก—บาปของเรา (ดู ฮีลามัน 5:10–11; ดู มัทธิว 1:21 ด้วย)

และพระองค์ทรงไถ่เราจากการตก จากความตายทางร่างกายและทางวิญญาณเช่นกัน พระองค์ทรงเปิดประตูสู่ความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจความลึกซึ้งแห่งความรักของพระองค์ “แน่ทีเดียวท่านแบกความเจ็บไข้ของพวกเราและหอบความเจ็บปวดของเราไป …

“แต่ท่านถูกแทงเพราะความทรยศของเราท่านบอบช้ำเพราะความบาปผิดของเรา การตีสอนที่ตกบนท่านนั้นทำให้พวกเรามีสวัสดิภาพ และที่ท่านถูกเฆี่ยนตีก็ทำให้เราได้รับการรักษา” (อิสยาห์ 53:4–5)

ภาพ
painting of shepherds looking at baby Jesus, held by Mary

การสักการะพระกุมารเยซู โดย มัทธีอัส สโตเมอร์, Bridgeman Images

พระสิริจงมีแด่พระผู้เป็นเจ้า

เมื่อคริสต์มาสเวียนมา ข้าพเจ้าตระหนักว่าบางคนอาจมีข้อกังวลและอาจจะมีความวิตกกังวลบ้างเกี่ยวกับอนาคต อาจจะมี “เสียงรบกวน” ในชีวิตท่านมากมาย มีมาสม่ำเสมอทางออนไลน์ไม่มากก็น้อยโดยไม่มีเวลาหยุดพัก ไม่มีเวลาให้อยู่เงียบๆ ให้ใคร่ครวญ และคิด ไม่มีเวลาให้มองเข้าไปข้างในและมองเห็นชัดว่าท่านอยู่ที่ไหนและท่านควรไปที่ใด ท่านอาจได้รับอิทธิพลจากความคาดหวังที่ไม่เป็นจริง เช่น “ความดีพร้อมควรเกิดขึ้นทันที” หรือ “ความสุขและความสำเร็จต่อเนื่องไม่ขาดสายควรเป็นบรรทัดฐานในชีวิต”

ข้าพเจ้าหวังว่าท่านจะทิ้งความคิดผิดๆ เหล่านี้ เบา “เสียงรบกวน” และใช้เวลาในช่วงเทศกาลคริสต์มาสนี้ อย่างน้อยสักหนึ่งชั่วโมง ถ้าไม่มากกว่านั้น—ใคร่ครวญ “ความน่าพิศวงและพระบารมีแห่งพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า”5 ขอให้เป็นหนึ่งชั่วโมงของการทำให้ท่านมั่นใจขึ้นไปอีกและเปลี่ยนใหม่

ในช่วงคริสต์มาสก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าเขียนข่าวสารต่อไปนี้:

“เมื่อเราพูดถึงการประสูติของพระเยซูคริสต์ เราใคร่ครวญตามสมควรเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น การประสูติของพระองค์สำคัญอย่างหาที่สุดมิได้เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงยอมประสบและทนทุกข์ทั้งนี้เพื่อพระองค์จะทรงช่วยเราได้ดีขึ้น—ทั้งหมดบรรลุจุดสูงสุดในการตรึงกางเขนและการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ (ดู แอลมา 7:11–12) …

“[แต่ข้าพเจ้าคิดเช่นกัน] ว่าสมควรแล้วที่เวลานี้ของปีเราจะนึกถึงพระกุมารพระองค์นั้นในรางหญ้า อย่าหนักใจหรือว้าวุ่นใจเกินไปกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น … ใช้เวลาอันเงียบสงบสักครู่ไตร่ตรองการเริ่มพระชนม์ชีพของพระองค์—จุดสูงสุดของคำพยากรณ์จากสวรรค์แต่เป็นจุดเริ่มต้นบนแผ่นดินโลกสำหรับพระองค์

“จงใช้เวลาผ่อนคลาย อยู่อย่างสันติ และดูพระกุมารน้อยพระองค์นี้ในมโนภาพของท่าน อย่ากังวลใจมากเกินไป … กับสิ่งที่ [อาจ] เกิดขึ้นในพระชนม์ชีพของพระองค์หรือในชีวิตท่าน แต่ใช้เวลาเงียบๆ สักครู่ตรึกตรองช่วงเวลาอันเงียบสงบที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก—เมื่อทุกคนในสวรรค์ชื่นชมยินดีกับข่าวสาร ‘พระสิริจงมีแด่พระเจ้าในที่สูงสุด ส่วนบนแผ่นดินโลก สันติสุขจงมีท่ามกลางมนุษย์ทั้งหลายที่พระองค์โปรดปรานนั้น’ (ลูกา 2:14)”6

อ้างอิง

  1. คำสอนของประธานศาสนจักร: กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (2016), 389.

  2. “และแก่ทุกอาณาจักรมีกฎให้ไว้; และแก่ทุกกฎมีขอบเขตบางประการด้วยและเงื่อนไข. สัตภาวะทั้งปวงที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเหล่านั้นมิได้พ้นผิด” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:38–39) พระผู้เป็นเจ้าทรงปฏิบัติและประพฤติตามกฎของอาณาจักรสูงสุด ด้วยเหตุนี้ “พระองค์เข้าพระทัยสิ่งทั้งปวง, และสิ่งทั้งปวงอยู่ต่อพระพักตร์พระองค์, และสิ่งทั้งปวงอยู่รายรอบพระองค์; และพระองค์ทรงอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง, และในสิ่งทั้งปวง, ทรงผ่านทะลุสิ่งทั้งปวง, และทรงอยู่รายรอบสิ่งทั้งปวง; และสิ่งทั้งปวงดำรงอยู่โดยพระองค์, และมาจากพระองค์, แม้พระผู้เป็นเจ้า, ตลอดกาลและตลอดไป” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:41)

  3. “แท้จริงแล้ว, และจะกี่ครั้งก็ตามที่ผู้คนของเรากลับใจ เราจะให้อภัยพวกเขาสำหรับการล่วงละเมิดของพวกเขาที่มีต่อเรา” (โมไซยาห์ 26:30)

  4. คนที่ติดตามซาตานกำลังทำตามเป้าหมายเดียวกันนั้น แต่ดังที่พระเจ้าทรงประกาศ “สิ่งซึ่งฝ่าฝืนกฎ, และหาปฏิบัติตามกฎไม่, แต่หมายมั่นจะเป็นกฎสำหรับตนเอง, และเต็มใจอยู่ในบาป, และทั้งหมดอยู่ในบาป, จะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์โดยกฎไม่ได้, ทั้งโดยความเมตตาก็ไม่ได้, ทั้งโดยความยุติธรรม, หรือการพิพากษาก็ไม่ได้. ฉะนั้น, พวกเขายังต้องสกปรกอยู่” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:35)

  5. คำสอน: กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, 390.

  6. ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “อยู่อย่างสันติ,” เลียโฮนา, ธ.ค. 2015, 36.