คลังค้นคว้า
ปรึกษาแหล่งที่เชื่อถือได้


“ปรึกษาแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้” หัวข้อและคําถาม (2023)

ภาพ
เด็กหญิงและเด็กชายกําลังอ่านพระคัมภีร์

การแสวงหาคำตอบสำหรับคำถามของท่าน

ปรึกษาแหล่งที่เชื่อถือได้

เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟสอนว่า “เวลานี้เราเข้าถึงข้อมูลมากขึ้นได้ง่ายขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาในประวัติศาสตร์โลก—บ้างก็จริง บ้างก็เท็จ และส่วนใหญ่แล้วจริงเพียงบางส่วน”1 ในสภาพแวดล้อมของความไม่แน่นอนนี้ ศาสนจักรกระตุ้นให้สมาชิก “ค้นหาและแบ่งปันเฉพาะแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ไว้ใจได้ และเป็นความจริงเท่านั้น”2 เราควรหลีกเลี่ยงแหล่งข้อมูลที่สร้างจากข่าวลือหรือส่งเสริมความขัดแย้งหรือความโกรธ

การเรียนรู้ที่จะประเมินคุณภาพของแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทั้งงานทางวิญญาณและทางสติปัญญา เคล็ดลับในการประเมินข้อมูลมีดังนี้:

  • ประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล ใช่ว่าแหล่งข้อมูลทั้งหมดจะมีคุณค่าเท่ากันในทุกหัวข้อ แหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดจะมีความรู้โดยตรงเกี่ยวกับหัวข้อนั้นๆ แทนที่จะอาศัยคำบอกเล่า ข่าวลือ หรือการเสียดสี พวกเขาจะพูดจากตําแหน่งที่มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญโดยตรง พวกเขาจะอ้างถึงแหล่งที่น่าเชื่อถือแหล่งอื่นเพื่อท่านจะตรวจสอบคํากล่าวอ้างของพวกเขาได้ แหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้จะไม่ยืนยันสิ่งที่ท่านคิดอยู่แล้วเสมอไป พวกเขาอาจท้าทายทัศนะของท่าน หากท่านมีคําถามเกี่ยวกับคําสอนอย่างเป็นทางการของศาสนจักร ให้ดูก่อนว่าผู้นําศาสนจักรคนปัจจุบันพูดหรือไม่พูดสิ่งใด นี่จะช่วยท่านประเมินข้อความอื่นๆ ก่อนหน้านี้

  • ฝึกรับรู้อคติ แหล่งข้อมูลเกือบทั้งหมดมีอคติอยู่บ้าง สิ่งนี้ไม่ได้ทําให้แหล่งข้อมูลเหล่านั้นขาดความน่าเชื่อถือโดยอัตโนมัติ แต่สําคัญที่ต้องคํานึงถึงมุมมองของผู้สร้างแหล่งข้อมูล ตรวจสอบสิ่งจูงใจและภูมิหลังของแหล่งข้อมูลของท่าน จงระวังแหล่งข้อมูลที่อ้างว่าไม่มีอคติหรือแสดงทัศนะในวิธีที่เป็นการปลุกปั่น

  • หาข้อมูลยืนยันสิ่งที่ท่านเรียนรู้ ข้อสําคัญคือเมื่อแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้หลายแหล่งเห็นพ้องต้องกันหรือพูดอย่างชัดเจนในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง นี่เป็นความจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศึกษาแหล่งข้อมูลที่สนทนาเรื่องประวัติศาสนจักรและคำสอน แม้จะหาข้อตกลงเช่นนี้ในบรรดาแหล่งข้อมูลไม่ได้เสมอไป แต่การเปรียบเทียบข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ จะเป็นประโยชน์เพื่อท่านจะประเมินคุณภาพได้ดีขึ้น

  • แยกแยะข้อเท็จจริงจากการตีความ ข้อมูลบางส่วนเป็นข้อเท็จจริง แต่ส่วนใหญ่สิ่งที่เราพบเจอทางอินเทอร์เน็ตและในสิ่งพิมพ์อื่นๆ ประกอบด้วยการตีความข้อเท็จจริงของใครบางคน การตีความที่ดีที่สุดย่อมพยายามชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมด พวกเขาพิจารณารายละเอียดหรือข้อเท็จจริงที่เฉพาะเจาะจงในบริบทที่กว้างขึ้น และให้น้ำหนักที่เหมาะสม พวกเขาไม่ตัดข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับประเด็นพิเศษข้อใดข้อหนึ่งของมุมมองออกไปง่ายๆ ตรวจดูแหล่งข้อมูลที่ใช้ตีความอย่างเจาะจงเพื่อให้แน่ใจว่าแหล่งข้อมูลเหล่านั้นสนับสนุนคํากล่าวอ้างที่เกิดขึ้นและไม่ออกนอกบริบท

  • ทำความคุ้นเคยกับแหล่งข้อมูลของศาสนจักร ในเรื่องหลักคำสอนและนโยบายศาสนจักร แหล่งที่เชื่อถือได้คือพระคัมภีร์ คำสอนของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่ และ คู่มือทั่วไป ศาสนจักรได้จัดพิมพ์แหล่งข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ท่านเข้าใจคำถามบางข้อที่พบบ่อยที่สุดที่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายมีเกี่ยวกับประวัติและวัฒนธรรมของศาสนจักร ท่านอาจพบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่มีประโยชน์ขณะสืบค้นคําถามของท่าน

  • แสวงหาการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ข้อมูลใหม่บางครั้งอาจทำให้สับสนได้ การมีความรู้สึกเช่นนั้นไม่ได้หมายความว่าข้อมูลนั้นไม่เป็นความจริงเสมอไป นอกจากทักษะที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ให้แสวงหาอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์ทรงช่วยให้ท่านเล็งเห็นความจริงได้ พระองค์จะทรง “ให้ความสว่างแก่ความนึกคิดของท่าน”3 และช่วยให้ท่านปรับมุมมองใหม่โดยคํานึงถึงความจริงใหม่ๆ สวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ ดําเนินชีวิตในแบบที่พระวิญญาณจะตรัสกับท่านได้ จงเปิดรับการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณเมื่อท่านพยายามแก้ไขข้อกังวล

ข้อพระคัมภีร์หลัก: 2 ทิโมธี 3:14–16; เจคอบ 4:13; หลักคําสอนและพันธสัญญา 19:38

อ้างอิง

  1. Dieter F. Uchtdorf, “Our Search for Truth,” New Era, Aug. 2020, 2.

  2. คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย, 38.8.41, คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ.

  3. หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:13