เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 2: พระเยซูคริสต์ทรงเป็นศูนย์กลางให้ประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์


บทที่ 2

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นศูนย์กลางให้ประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์

คำนำ

ในการเป็นพยานถึงบทบาทที่จำเป็นของพระเยซูคริสต์ในแผนของพระบิดาบนสวรรค์ ศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบันประกาศดังนี้ “เราขอเป็นพยานด้วยความเคารพว่าพระชนม์ชีพของพระองค์ซึ่งเป็นศูนย์กลางให้ประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์นั้นหาได้เริ่มต้นที่เบธเลเฮมและจบลงที่คัลวารีไม่” (“พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก,”เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 2) บทเรียนนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจดีขึ้นว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงสถาปนาแผนแห่งความรอดในโลกก่อนเกิดและทรงแต่งตั้งพระเยโฮวาห์ พระเยซูคริสต์ก่อนมรรตัย ไว้ล่วงหน้าให้เป็นองค์ศูนย์กลางในแผนนั้น ครูจะกระตุ้นนักเรียนให้วางพระเยซูคริสต์ไว้ตรงศูนย์กลางชีวิตมรรตัยของพวกเขา

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “สิทธิ์เสรี: จำเป็นต่อแผนแห่งชีวิต,”เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 29–32.

  • ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, The Great Plan of Happiness, Ensign, Nov. 1993, 72–75.

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 12:22–34

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นศูนย์กลางแผนของพระผู้เป็นเจ้า

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์อเล็กซานเดอร์ บี. มอร์ริสันแห่งสาวกเจ็ดสิบ และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง เชื้อเชิญนักเรียนที่เหลือให้ดูตามและระบุสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงนำเสนอต่อบุตรธิดาของพระองค์ในโลกก่อนเกิด

ภาพ
เอ็ลเดอร์อเล็กซานเดอร์ บี. มอร์ริสัน

“นานมาแล้ว ก่อนโลกที่เราอาศัยอยู่เวลานี้จะดำรงอยู่ พระผู้เป็นเจ้าพระบิดาของเรา … ทรงสถาปนาแผนหนึ่ง … แผน [นั้น] จัดเตรียมวิธีที่สมบูรณ์แบบให้บุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าได้รับความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์” (Life—the Gift Each Is Given, Ensign, Dec. 1998, 15–16)

  • เอ็ลเดอร์มอร์ริสันกล่าวว่าสุดท้ายแล้วเราจะได้รับพรอะไรอันเป็นส่วนหนึ่งในแผนของพระผู้เป็นเจ้า (อธิบายว่าความเป็นอมตะหมายถึงการฟื้นคืนชีวิต—ไม่ตายทางร่างกายอีก—และชีวิตนิรันดร์หมายถึงรูปแบบชีวิตที่พระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์อยู่)

เชื้อเชิญนักเรียนให้อ่าน แอลมา 12:25 ในใจและบอกว่าแอลมากล่าวถึงแผนของพระผู้เป็นเจ้าว่าอย่างไรและแผนนั้นเตรียมไว้เมื่อใด ขอให้พวกเขารายงานสิ่งที่พบ (แอลมาสอนว่า “แผนแห่งการไถ่” ของพระผู้เป็นเจ้า” สถาปนาไว้ “นับจากการวางรากฐานของโลก” หลังจากนักเรียนตอบ ท่านอาจต้องการชี้ให้เห็นว่าชื่ออื่นของแผนของพระผู้เป็นเจ้า ได้แก่ “แผนซึ่งเต็มไปด้วยพระเมตตาของพระผู้สร้างผู้ยิ่งใหญ่” [2 นีไฟ 9:6]; “แผนแห่งความรอด” [แอลมา 24:14]; “แผนอันยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้านิรันดร์” [แอลมา 34:9]; “แผนอันสำคัญยิ่งแห่งความสุข” [แอลมา 42:8]; และ “พันธสัญญาอันเป็นนิจ” [คพ. 22:1; 45:9; 66:2])

จากนั้นให้นักเรียนจับคู่กันศึกษา แอลมา 12:22–32 โดยมองหาเหตุผลว่าทำไมแผนของพระผู้เป็นเจ้าจึงมีชื่อเรียกว่าแผนแห่งการไถ่ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พบกับชั้นเรียน ช่วยให้นักเรียนเข้าใจข้อเหล่านี้มากขึ้นโดยถามว่า

  • ตามคำสอนของแอลมา สภาพนิรันดร์ของเราจะเป็นอย่างไรหากไม่มีแผนแห่งการไถ่ (หากไม่มีแผนแห่งการไถ่ จะไม่มีการฟื้นคืนชีวิตของคนตายและการไถ่จากบาป ปล่อยให้มนุษยชาติหลงไปและตก และอยู่ในสภาพของความตายทางร่างกายและทางวิญญาณตลอดไป [ดู 2 นีไฟ 9:6-13ด้วย])

  • เหตุใดจึงจำเป็นต้องจัดเตรียมหนทางให้เราเอาชนะสภาพเหล่านี้

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 12:33–34 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเตรียมไว้ไถ่บุตรธิดาของพระองค์ ช่วยนักเรียนระบุหลักคำสอนหรือหลักธรรมที่สอนในข้อเหล่านี้โดยถามว่า

  • ท่านจะสรุปสิ่งที่พระเยซูทรงทำให้มีผลต่อเราในแผนของพระผู้เป็นเจ้าว่าอย่างไร (คำตอบอาจได้แก่ ถ้าเรากลับใจและไม่ทำใจแข็งกระด้าง เราจะได้รับพระเมตตาและการปลดบาปผ่านพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระผู้เป็นเจ้า โดยผ่านพระเยซูคริสต์เท่านั้นที่เราจะได้รับการปลดบาปและเข้าในที่ประทับของพระบิดาบนสวรรค์)

เป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นศูนย์กลางให้แผนของพระผู้เป็นเจ้าและพระองค์ทรงจัดเตรียมหนทางให้เราได้รับความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์โดยผ่านการชดใช้ของพระองค์

อับราฮัม 3:24–27; 1 เปโตร 1:19–20

พระเยซูคริสต์ทรงได้รับแต่งตั้งล่วงหน้าให้เป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเรา

เชื้อเชิญนักเรียนให้ค้นคว้า อับราฮัม 3:24–27 และ 1 เปโตร 1:19–20โดยดูว่าข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับบทบาทของพระผู้ช่วยให้รอดในแผนของพระผู้เป็นเจ้า จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้ (หมายเหตุ: การถามคำถามเช่นนั้นจะช่วยให้นักเรียนรู้วิธีวิเคราะห์ข้อพระคัมภีร์และระบุหลักคำสอนที่สอนในข้อเหล่านั้น)

  • ใน อับราฮัม 3:26 วลี “สถานะแรก” และ “สถานะที่สอง” หมายถึงอะไร (“สถานะแรก” หมายถึงการดำรงอยู่ก่อนเกิด และ “สถานะที่สอง” หมายถึงชีวิตมรรตัย)

  • บุคคลสามคนที่กล่าวไว้ใน อับราฮัม 3:27คือใครและแต่ละคนทำอะไร (พระบิดาบนสวรรค์ พระเยซูคริสต์ และซาตาน) เน้นว่า ในโลกก่อนเกิด พระบิดาบนสวรรค์ทรงแต่งตั้งพระบุตรหัวปี พระเยซูคริสต์ ให้เป็นองค์ศูนย์กลางในแผนของพระองค์)

นักเรียนพึงเข้าใจว่าพระเยซูทรงมีชื่อว่าพระเยโฮวาห์ในโลกก่อนเกิด จากนั้นให้ถามว่า

  • เมื่อพระเยโฮวาห์ตรัสกับพระบิดาว่า “ข้าพระองค์อยู่ที่นี่ ขอทรงส่งข้าพระองค์ไปเถิด” พระองค์ทรงกำลังให้คำมั่นว่าจะทำอะไรในความเป็นมรรตัย (สอนพระกิตติคุณ สถาปนาศาสนจักร ทนทุกข์และสิ้นพระชนม์เพื่อบาปของเรา และฟื้นจากความตาย)

  • การที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงเลือกพระเยโฮวาห์เป็นพระผู้ไถ่ของเราทำอะไรเพื่อเราในแง่ความเป็นไปได้ในอนาคตของเรา

ขอให้นักเรียนศึกษา โมเสส 4:2 ในใจ โดยมองหาความจริงสำคัญอื่นๆ เกี่ยวกับการที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงเลือกพระเยโฮวาห์เป็นพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเรา ขณะนักเรียนอธิบายสิ่งที่พวกเขาพบ พวกเขาพึงทราบความจริงต่อไปนี้: พระเยโฮวาห์ได้รับเลือกตั้งแต่กาลเริ่มต้น เหตุผลประการหนึ่งที่ทรงเลือกพระเยโฮวาห์คือ พระองค์ทรงหมายมั่นทำตามพระประสงค์ของพระบิดาและถวายรัศมีภาพทั้งหมดแด่พระบิดา เพื่อเน้นความจริงเหล่านี้มากขึ้น ให้ดูและอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“[พระเยซูคริสต์] ทรงเป็นเพียงพระองค์เดียวในสภาก่อนเกิดที่อ่อนน้อมมากพอและเต็มพระทัยรับการแต่งตั้งล่วงหน้า [เพื่อทำให้เกิดการชดใช้อันไม่มีขอบเขต]” (“การชดใช้ของพระเยซูคริสต์,” เลียโฮนา, มี.ค. 2008, 35)

ขอให้นักเรียนนึกภาพว่าจะเป็นอย่างไรถ้านักเรียนอยู่ที่นั่นขณะที่พระบิดาบนสวรรค์รับสั่งกับบุตรธิดาทุกคนว่าพระบุตรหัวปีของพระองค์ พระเยโฮวาห์ จะทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของเรา ต่อจากนั้นให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้โดยศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ (1805–1844) และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

“เมื่อมีการวางระเบียบในสวรรค์ครั้งแรก เราทุกคนอยู่ที่นั่นและเห็นพระผู้ช่วยให้รอดได้รับเลือกและได้รับแต่งตั้ง มีการวางแผนแห่งความรอด และเรายอมรับแผนนั้น” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 224)

  • ท่านคิดว่าท่านรู้อะไรเกี่ยวกับพระเยโฮวาห์ที่จะนำท่านให้สนับสนุนการเรียกของพระองค์และการแต่งตั้งพระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ของเรา

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง จากนั้นให้เวลานักเรียนสองสามนาทีจดความคิดและความรู้สึกที่พวกเขามีต่อพระผู้ช่วยให้รอดขณะไตร่ตรองความจริงอันสูงค่าที่เอ็ลเดอร์แม็กซ์เวลล์สอน

ภาพ
เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์

“ไม่เคยมีใครเสนอมากขนาดนั้นให้คนมากมายเช่นนั้นในคำพูดเพียงไม่กี่คำเท่ากับตอนที่พระเยซูตรัสว่า ‘ข้าพระองค์อยู่ที่นี่, ขอทรงส่งข้าพระองค์ไปเถิด’ (อับราฮัม 3:27)” (Jesus of Nazareth, Savior and King, Ensign, May 1976, 26)

ท่านอาจขอให้นักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเขียนกับชั้นเรียน

การวางพระผู้ช่วยให้รอดไว้ที่ศูนย์กลางชีวิตมรรตัยของเรา

ให้นักเรียนกลับไปดู อับราฮัม 3:25 ข้อนี้เราเรียนรู้ว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงประสงค์ให้ความเป็นมรรตัยเป็นเวลาของการทดสอบเพื่อดูว่าเราจะเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์หรือไม่ ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความนี้ขณะนักเรียนที่เหลือมองหาการเลือกที่เราต้องทำอันเป็นส่วนหนึ่งของการทดสอบในมรรตัยของเรา

ภาพ
เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์

“ลองนึกดู ในสถานะก่อนเกิดเราเลือกติดตามพระผู้ช่วยให้รอด พระเยซูคริสต์! และเพราะทำเช่นนั้นเราจึงได้รับอนุญาตให้มาแผ่นดินโลก ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าโดยการเลือกเหมือนเดิมที่จะติดตามพระผู้ช่วยให้รอดเวลานี้ ขณะอยู่บนโลกนี้ เราจะได้รับพรมากขึ้นในนิรันดร แต่เราต้องเลือกติดตามพระผู้ช่วยให้รอดต่อไป ความเป็นนิรันดร์หมิ่นเหม่มาก การใช้สิทธิ์เสรีอย่างฉลาดและการกระทำของเราเป็นส่วนที่จะขาดเสียมิได้เพื่อเราจะมีชีวิตนิรันดร์” (“สิทธิ์เสรี: จำเป็นต่อแผนแห่งชีวิต,เลียโฮนา, พ.ย. 2010, 30)

เพื่อช่วยนักเรียนระบุและเข้าใจหลักธรรมหรือความจริงที่เอ็ลเดอร์เฮลส์สอน ให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ท่านเรียนรู้อะไรจากคำกล่าวของเอ็ลเดอร์เฮลส์เกี่ยวกับการเลือกของเราในชีวิตนี้ (หลังจากนักเรียนตอบ ให้เป็นพยานว่า โดยเลือกวางพระผู้ช่วยให้รอดไว้ที่ศูนย์กลางของชีวิตเราขณะที่เราอยู่บนแผ่นดินโลก เราจะได้รับพรมากยิ่งขึ้นในนิรันดร)

  • ท่านคิดว่าเอ็ลเดอร์เฮลส์หมายถึงอะไรเมื่อท่านกล่าวว่า “ความเป็นนิรันดร์หมิ่นเหม่มาก”

  • เจตคติและการกระทำอะไรบ้างที่บ่งบอกว่าคนๆ นั้นเลือกติดตามพระเยซูคริสต์ (เขียนคำตอบของนักเรียนไว้บนกระดาน)

อธิบายว่าสำหรับพวกเราส่วนใหญ่ เป็นเรื่องง่ายที่จะมุ่งความคิดไปที่พระผู้ช่วยให้รอดในวันอาทิตย์ แต่เราจะทำให้พระองค์เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรามากขึ้นได้อย่างไรในระหว่างสัปดาห์ ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองสิ่งที่พวกเขาทำในวันนี้เพื่อมุ่งความคิดไปที่พระผู้ช่วยให้รอด เชื้อเชิญให้พวกเขาจดสิ่งที่พวกเขาจะทำได้ในวันนี้เพื่อวางพระผู้ช่วยให้รอดไว้ที่ศูนย์กลางชีวิตของพวกเขาอย่างเต็มที่มากขึ้น กระตุ้นให้พวกเขากล่าวคำมั่นสัญญาในใจกับพระบิดาบนสวรรค์ว่าจะทำสิ่งนั้น

สรุปบทเรียนโดยแสดงประจักษ์พยานถึงความจริงที่สอนวันนี้

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน