เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 7: พระเยซูคริสต์—พระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระผู้เป็นเจ้าในเนื้อหนัง


บทที่ 7

พระเยซูคริสต์—พระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระผู้เป็นเจ้าในเนื้อหนัง

คำนำ

ในสมัยโบราณ ข่าวการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอดเป็นข่าวอันน่าปีติยินดีที่คนมากมายประกาศ—พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาไถ่โลก “พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก” ประกาศว่า พระเยซูทรงเป็น “พระบุตรหัวปีของพระบิดา พระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดในเนื้อหนัง พระผู้ไถ่ของโลก” (เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 2–3) ในบทนี้ นักเรียนจะรู้ว่าเหตุใดจีงสำคัญอย่างยิ่งที่พระเยซูต้องประสูติจากพระมารดามรรตัยและพระบิดาที่เป็นอมตะ

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • โรเบิร์ต์ อี. เวลส์, “ข่าวสารของเราต่อโลก,” เลียโฮนา, ม.ค. 1996, 72–74.

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มัทธิว 1:18–24; ลูกา 1:26–35; โมไซยาห์ 3:7–8

“พระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระบิดา”

เริ่มชั้นเรียนโดยฉายวีดิทัศน์เรื่อง “ประสูติกาล” (2:59) (ดาวน์โหลดและดูวีดิทัศน์ก่อนชั้นเรียน)

หลังจากดูวีดิทัศน์แล้ว ให้ถามว่า

  • แง่มุมใดของการประสูติของพระผู้ช่วยให้รอดสำคัญต่อท่านและเพราะเหตุใด

บอกนักเรียนว่าในบทนี้พวกเขาจะสนทนาเกี่ยวกับแง่มุมหนึ่งของการประสูติของพระเยซูคริสต์ซึ่งสำคัญยิ่งต่อการเข้าใจพระปรีชาสามารถของพระผู้ช่วยให้รอดในการทำบทบาทของพระองค์ให้เกิดสัมฤทธิผลในแผนของพระบิดา

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 1:18–19 และขอให้ชั้นเรียนนึกภาพสถานการณ์ที่ข้อเหล่านี้พูดถึง (หมายเหตุ: การนึกภาพเป็นทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ที่จะช่วยทำให้เรื่องราวพระคัมภีร์มีชีวิตและเป็นจริงมากขึ้น) จากนั้นให้ถามนักเรียนว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรถ้าพบตนเองอยู่ในสถานการณ์คล้ายกับสถานการณ์ของโยเซฟ ขอให้นักเรียนอ่าน มัทธิว 1:20–24 ในใจและระบุว่าเหตุใดโยเซฟจึงตัดสินใจไม่ “แพร่งพรายความเป็นไป [ของมารีย์]” (ข้อ 19) โดยหมายจะถอนหมั้นมารีย์อย่างลับๆ (หมายเหตุ: การนิยามคำและวลียากๆ ช่วยให้นักเรียนเข้าใจพระคัมภีร์ สำหรับข้อเหล่านี้ ท่านอาจจะใช้คำอธิบายต่อไปนี้: (1) พระนาม พระเยซู [Yeshua ในภาษาอาราเมอิค] หมายถึง “พระเยโฮวาห์ทรงเป็นความรอด” หรือ “พระเยโฮวาห์ทรงช่วยให้รอด”; (2) พระคัมภีร์ที่อ้างอิงใน มัทธิว 1:22–23 คือ อิสยาห์ 7:14; และ (3) พระนาม อิมมานูเอล หมายถึง “พระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่กับเรา”)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 1:26–30 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตาม โดยมองหาสิ่งที่ข้อนี้สอนเกี่ยวกับมารีย์ ขอให้พวกเขาอธิบายสิ่งที่พบ จากนั้นขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง ลูกา 1:31–35 ขณะที่นักเรียนคนอื่นดูตาม ถามว่า:

  • ข้อเหล่านี้ยืนยันอย่างไรว่าใครเป็นพระบิดาของพระเยซู

วาดแผนภาพต่อไปนี้บนกระดาน

ภาพ
แผนภาพ บิดามารดา ตัวท่าน

ถามสมาชิกชั้นเรียนคนหนึ่งดังต่อไปนี้

  • ลักษณะพิเศษทางร่างกายที่ท่านสืบทอดมาจากบิดาคืออะไร ลักษณะพิเศษทางร่างกายที่ท่านสืบทอดมาจากมารดาคืออะไร

เติมคำตอบของนักเรียนในแผนภาพบนกระดาน (ดูตัวอย่างที่ให้มา)

ภาพ
แผนภาพ บิดามารดา คุณลักษณะ ตัวท่าน

ลบแผนภาพก่อนหน้านี้และวาดแผนภาพต่อไปนี้บนกระดาน

ภาพ
แผนภาพ มารีย์ พระบิดาบนสวรรค์ พระเยซูคริสต์

ให้ดูข้อความต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจ (1862-1933) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจมส์ อี. ทาลเมจ

“พระกุมารที่จะเกิดจากมารีย์และถือกำเนิดจากเอโลฮิม พระบิดานิรันดร์ ไม่ใช่การฝ่าฝืนกฎธรรมชาติแต่เป็นไปตามปรากฏการณ์ที่สูงกว่าของกฎนั้น … เดชานุภาพของความเป็นพระผู้เป็นเจ้าในพระลักษณะของพระองค์จะผสมผสานกับความสามารถและความเป็นไปได้ของความเป็นมรรตัย และตามผลบังคับปกติแห่งกฎพื้นฐานทางพันธุกรรมที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประกาศ วิทยาศาสตร์แสดงให้เห็น และปรัชญายอมรับ คือสิ่งมีชีวิตจะถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม—ตามลักษณะของตน พระกุมารเยซูสืบทอดลักษณะพิเศษทางร่างกาย จิตใจ และวิญญาณ ลักษณะนิสัย และพลังความสามารถที่มีอยู่ในบิดามารดา—บิดาเป็นอมตะและมีรัศมีภาพ—พระผู้เป็นเจ้า ส่วนมารดาเป็นมนุษย์—ผู้หญิง” (Jesus the Christ, 3rd ed. [1916], 81)

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงสืบทอดลักษณะสำคัญอะไรบ้างจากพระบิดาและพระมารดาของพระองค์

ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนลักษณะที่พระเยซูคริสต์สืบทอดจากพระมารดาไว้บนกระดานใต้หัวข้อ “มารีย์” (เช่นความเป็นมรรตัย—ความสามารถในการรับความเจ็บปวดและตายทางร่างกาย) เขียนลักษณะที่พระเยซูทรงสืบทอดจากพระบิดาใต้หัวข้อ “พระบิดาบนสวรรค์” (เช่น เดชานุภาพของความเป็นพระผู้เป็นเจ้า—ความเป็นอมตะหรือพลังอำนาจที่จะมีชีวิตตลอดไป ดู ยอห์น 10:17-18)

จากนั้นให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 3:7–8 ถามว่า

  • เหตุใดพระผู้ช่วยให้รอดจึงต้องมีเดชานุภาพทั้งความเป็นมรรตัยและความเป็นอมตะเพื่อทำการชดใช้ให้สำเร็จ (ขณะที่นักเรียนตอบ พวกเขาพึงเข้าใจความจริงต่อไปนี้: ในฐานะพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระผู้เป็นเจ้าในเนื้อหนัง พระเยซูคริสต์ทรงสามารถทำการพลีพระชนม์ชีพเพื่อชดใช้ ซึ่งเรียกร้องให้พระองค์ทรงอดทนมากกว่ามนุษย์จะอดทนได้ และด้วยเหตุนี้จึงบรรลุบทบาทของพระองค์ในแผนของพระบิดา นอกจากนี้ เพราะพระเยซูทรงมีเดชานุภาพเหนือความตาย พระองค์จึงทรงสามารถเป็นขึ้นมาจากความตาย ให้นักเรียนพึงเข้าใจว่าถ้าพระเยซูคริสต์เกิดจากบิดามารดาที่เป็นมนุษย์ พระองค์จะไม่ทรงสามารถเอาชนะความตายหรืออดทนต่อความเจ็บปวดและความทุกขเวทนาอันไม่มีขอบเขตของการชดใช้ ถ้าพระองค์ประสูติจากบิดามารดาอมตะ พระองค์จะไม่ทรงประสบความทุกขเวทนาและความตายทางร่างกาย)

เพื่อเน้นหลักคำสอนอันสำคัญยิ่งนี้ ให้แจกสำเนาคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต อี. เวลส์แห่งสาวกเจ็ดสิบให้นักเรียนแต่ละคน ให้เวลาพวกเขาอ่านและไตร่ตรอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต อี เวลส์

“ความเป็นพระบุตรของพระเยซูคริสต์ … สำคัญต่อการเข้าใจแผนแห่งความรอดทั้งหมด พระองค์ทรงเป็นพระบุตรองค์แรกที่ถือกำเนิดจากพระบิดาในการดำรงอยู่ก่อนเกิดและพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระบิดาบนแผ่นดินโลก พระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์ทรงเป็นพระบิดาของพระเจ้าของเราและพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์และบุตรธิดาทางวิญญาณของพระองค์ …

“ ‘ความเป็นพระบุตร’ หมายถึงชื่อที่อธิบายว่าพระองค์ทรงเป็น ‘พระบุตรองค์เดียวที่กำเนิดในเนื้อหนัง’ ด้วย … พระนามนี้บ่งบอกว่าพระวรกายของพระเยซูเป็นลูกของมารดาที่เป็นมรรตัยและพระบิดานิรันดร์ที่เป็นอมตะ ซึ่งความจริงนี้สำคัญต่อการชดใช้ อันเป็นการกระทำสูงสุดที่มนุษย์ปุถุชนไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ พระคริสต์ทรงมีเดชานุภาพในการสละพระชนม์ชีพของพระองค์และมีเดชานุภาพในการรับคืนอีกครั้งเพราะพระองค์ทรงสืบทอดความเป็นอมตะจากพระบิดาบนสวรรค์ของพระองค์ พระคริสต์ทรงสืบทอดความเป็นมรรตัยหรือเดชานุภาพในการสิ้นพระชนม์จากมารีย์พระมารดาของพระองค์

“การชดใช้อันไม่มีขอบเขตนี้ของพระคริสต์และความเป็นพระบุตรของพระคริสต์ประกอบเป็นหลักคำสอนสำคัญที่สุดของศาสนาคริสต์ทั้งหมด” (“ข่าวสารของเราต่อโลก,” เลียโฮนา, ม.ค. 1996, 72)

สรุปบทเรียนส่วนนี้โดยถามคำถามต่อไปนี้

  • การรู้คุณลักษณะที่พระเยซูทรงสืบทอดจากมารีย์ช่วยให้ท่านวางใจและมีศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร

  • การรู้คุณลักษณะที่พระเยซูทรงสืบทอดจากพระบิดาบนสวรรค์ช่วยให้ท่านวางใจและมีศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร

1 นีไฟ 11:13–21

นีไฟเห็นพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระผู้เป็นเจ้า

บอกนักเรียนว่าเราอ่านในพระคัมภีร์มอรมอนว่า นีไฟเห็นนิมิตที่ท่านได้เรียนรู้เกี่ยวกับบิดามารดาของพระเยซูคริสต์ เราสามารถเรียนรู้ความจริงเพิ่มเติมได้จากนิมิตนี้ เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก 1 นีไฟ 11:13–21 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามและระบุหลักคำสอนสำคัญๆ ที่สอนในข้อเหล่านี้ อธิบายว่า ในบริบทนี้ คำว่า จริยวัตรอันอ่อนน้อม หมายถึงเสด็จจากสภาพที่สูงกว่าลงสู่สภาพที่ต่ำกว่าหรือรับสภาพที่ต่ำกว่า

  • นีไฟเรียนรู้ว่าใครจะเป็นบิดามารดาของพระเยซูคริสต์ (นักเรียนควรระบุหลักคำสอนต่อไปนี้: พระผู้เป็นเจ้า พระบิดานิรันดร์ และมารีย์เป็นพระบิดามารดาของพระเยซูคริสต์ขณะทรงเป็นมรรตัย)

  • ขณะที่ท่านพิจารณาบทเรียนในหลักสูตรนี้จนถึงตอนนี้ เหตุใดการประสูติของพระเยซูคริสต์จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระองค์

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้โดยบราเดอร์แทด อาร์. คอลลิสเตอร์ ประธานโรงเรียนวันอาทิตย์สามัญ และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
แทด อาร์. คอลลิสเตอร์

“พระผู้เป็นเจ้าพระบุตรทรงแลกพระนิเวศน์บนสวรรค์พร้อมเครื่องประดับซีเลสเชียลทั้งหมดบนนั้นกับที่พักอาศัยบนแผ่นดินโลกพร้อมเครื่องประดับพื้นๆ ทั้งหมดที่นี่ พระองค์ ‘กษัตริย์แห่งสวรรค์’ (แอลมา 5:50) ‘พระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ผู้ทรงครอบครอง’ (โมไซยาห์ 3:5) ทรงจากบัลลังก์มารับรางหญ้า พระองค์ทรงแลกอำนาจการปกครองของพระผู้เป็นเจ้ากับการพึ่งพาอาศัยของทารก … นั่นเป็นการแลกมิติที่เทียบกันไม่ได้เลย … พระเยโฮวาห์ที่ยิ่งใหญ่ พระผู้สร้างโลกนับไม่ถ้วน ไม่มีขอบเขตในคุณงามความดีและเดชานุภาพ ทรงเข้ามาในโลกนี้ในผ้าอ้อมและรางหญ้า” (The Infinite Atonement [2000], 64)

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการประสูติของพระเยซูคริสต์ในมรรตัยเป็นส่วนหนึ่งของพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาเช่นกัน ให้อ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี

“พระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระผู้เป็นเจ้า (หมายถึงพระบิดา) ประกอบด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า ถึงแม้พระองค์ทรงเป็นพระอติรูปที่สูงส่ง ดีพร้อม และมีรัศมีภาพ แต่พระองค์ทรงเป็นพระบิดาจริงๆ ขององค์รัชทายาทมรรตัยที่เกิดจากมารดามรรตัย” (Mormon Doctrine, 2nd ed. [1966], 155)

สรุปโดยถามนักเรียนว่าพวกเขามีความคิดและความรู้สึกอย่างไรต่อพระผู้ช่วยให้รอดขณะพิจารณาพระจริยวัตรอันอ่อนน้อมของพระองค์และความน่าอัศจรรย์ของการประสูติ ถามว่ามีใครต้องการแบ่งปันประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดเพื่อสรุปบทเรียนวันนี้หรือไม่

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน