เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 8: พระเยซูคริสต์ทรงมีสัมฤทธิผลในสิ่งชอบธรรมทุกประการ


บทที่ 8

พระเยซูคริสต์ทรงมีสัมฤทธิผลในสิ่งชอบธรรมทุกประการ

คำนำ

พระเยซูคริสต์ทรงดำเนินพระชนม์ชีพดีพร้อมโดยทรงยอมตามพระประสงค์ของพระบิดาบนสวรรค์ในทุกเรื่อง ศาสดาพยากรณ์ยุคปัจจุบันเป็นพยานว่า “ แม้ทรงปราศจากบาป แต่ [พระเยซูคริสต์] ทรงรับบัพติศมาเพื่อให้มีสัมฤทธิผลในสิ่งชอบธรรมทุกประการ” (พระคริสต์ผู้ทรงพระชนม์: ประจักษ์พยานของอัครสาวก,เลียโฮนา, เม.ย. 2000, 2) เฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอด เราทำให้สิ่งชอบธรรมมีสัมฤทธิผลเมื่อเรายอมรับศาสนพิธีและพันธสัญญาของพระกิตติคุณอันเป็นนิจ บทเรียนนี้สำรวจว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงยอมเชื่อฟังพระกิตติคุณอันเป็นนิจอย่างไร และเราจะทำตามแบบอย่างของพระองค์ได้อย่างไร

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “พันธสัญญาแห่งบัพติศมา: อยู่ในอาณาจักรและเป็นของอาณาจักร,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 6–10.

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

มัทธิว 3:13–17; 2 นีไฟ 31:4–9)

บัพติศมาของพระเยซูคริสต์

ขอให้นักเรียนพิจารณาสถานการณ์ต่อไปนี้

ระหว่างสนทนากับเพื่อนเกี่ยวกับศาสนา เราพูดเรื่องบัพติศมา หลังจากท่านอธิบายว่าเหตุใดเราจึงรับบัพติศมา เพื่อนถามว่า “ผมเข้าใจว่าเรารับบัพติศมาเพื่อรับการชำระให้สะอาดจากบาป แต่พระเยซูทรงดีพร้อม พระองค์ไม่มีบาปเลย ทำไมพระองค์ต้องรับบัพติศมา”

ให้เวลานักเรียนพิจารณาคำถามนี้ครู่หนึ่ง จากนั้นให้เชิญพวกเขาตอบ

หลังจากสนทนาพอสมควรแล้ว ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง มัทธิว 3:13–17 หรือฉายวีดิทัศน์เรื่อง “บัพติศมาของพระเยซู” (2:55) จาก วีดิทัศน์ไบเบิลเกี่ยวกับพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์ (ดาวน์โหลดและดูวีดิทัศน์ก่อนชั้นเรียน) ถ้าท่านฉายวีดิทัศน์ ให้นักเรียนดูพระคัมภีร์ตาม

หลังจากดูวีดิทัศน์จบแล้ว ให้ถามว่า

  • พระเยซูทรงให้เหตุผลอะไรสำหรับการรับบัพติศมา (ท่านอาจจะเขียนหลักคำสอนต่อไปนี้บนกระดาน: พระเยซูคริสต์ทรงรับบัพติศมาเพื่อมีสัมฤทธิผลในสิ่งชอบธรรมทุกประการ)

  • ท่านคิดว่าพระเยซูทรงรับบัพติศมาเพื่อ “มีสัมฤทธิผลในสิ่งชอบธรรมทุกประการ” หมายความว่าอย่างไร (มัทธิว 3:15)

เพื่อช่วยนักเรียนตอบคำถามนี้ จงให้เวลาพวกเขาค้นคว้าพระคัมภีร์ ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้พวกเขาเขียน 2 นีไฟ 31:4–9 ไว้ตรงช่องว่างริมหน้าพระคัมภีร์ใกล้กับ มัทธิว 3:15 ขอให้นักเรียนอ่าน 2 นีไฟ 31:5–6 ในใจโดยสังเกตคำถามที่นีไฟถาม หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว อธิบายว่านีไฟตอบคำถามนี้ใน 2 นีไฟ 31:7–9 เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อเหล่านี้ ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามและระบุด้านต่างๆ ที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีสัมฤทธิผลในสิ่งชอบธรรมทุกประการโดยการรับบัพติศมา ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พบ ขณะนักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบ ให้เขียนข้อความต่อไปนี้บนกระดาน

พระองค์ทรงนอบน้อมต่อพระพักตร์พระบิดา

พระองค์ทรงเป็นพยานต่อพระบิดาว่าพระองค์จะทรงเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์

พระองค์ทรงแสดงให้ลูกหลานมนุษย์เห็นประตูที่พวกเขาจะเข้าอาณาจักรซีเลสเชียลได้

พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างสำหรับเรา

(หมายเหตุ: กิจกรรมนี้จะให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการศึกษาพระคัมภีร์เรื่องการเขียนเป็นข้อๆ ช่วยให้พวกเขาระบุประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนพระคัมภีร์ตั้งใจเน้น)

เตือนนักเรียนเรื่องคำถามที่นีไฟถาม (ดู ข้อ 6) จากนั้นให้ถามว่า

  • เมื่อนึกถึงสิ่งที่เขียนบนกระดาน บัพติศมาของพระเยซูคริสต์เป็นแบบอย่างของการเป็นคนชอบธรรมอย่างไร

ขณะที่นักเรียนตอบ พึงระบุและสนทนาแนวคิดต่อไปนี้ (ท่านอาจต้องการเขียนแนวคิดเหล่านี้แทนข้อที่อยู่บนกระดาน)

สิ่งชอบธรรมรวมถึงการยอมทำตามพระประสงค์ของพระบิดา

สิ่งชอบธรรมรวมถึงการทำพันธสัญญากับพระบิดาว่าจะเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์

สิ่งชอบธรรมรวมถึงการรับศาสนพิธีแห่งความรอด

สิ่งชอบธรรมรวมถึงการทำตามแบบอย่างที่พระเยซูคริสต์ทรงวางไว้

ถามนักเรียนว่า

  • เราจะประยุกต์ใช้แบบอย่างความชอบธรรมของพระเยซูในชีวิตเราได้อย่างไร

เป็นพยานต่อชั้นเรียนว่า พระเยซูทรงอยู่ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขในแผนของพระบิดาบนสวรรค์เช่นเดียวกับเรา พระชนม์ชีพที่ดีพร้อมของพระองค์เป็นแบบอย่างที่เราควรพยายามทำตาม

2 นีไฟ 31:10–21

การทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง 2 นีไฟ 31:10–12 ถามนักเรียนว่า

  • ใน ข้อ 10พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญเราทุกคนให้ทำอะไร

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ พระเยซูตรัสว่าเราต้องทำอะไรเพื่อตามพระองค์

ขอให้นักเรียนอ่าน 2 นีไฟ 31:16–17 ในใจ จากนั้นให้ถามว่า

  • เราต้องทำอะไรอีกบ้างเพื่อทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด

  • การอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่และทำตาม “แบบอย่างของพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระชนม์” (ข้อ 16) (ท่านอาจจะเน้นคำว่า ทำ ใน ข้อ 17 เน้นหลักธรรมต่อไปนี้ด้วย: เมื่อเราทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ เราสามารถทำให้มีสัมฤทธิผลในสิ่งชอบธรรมทุกประการ ดังที่พระองค์ทรงทำ)

อธิบายให้นักเรียนฟังว่าข้อพระคัมภีร์ที่พวกเขาอ่านใน 2 นีไฟ 31 ประกอบด้วยสาระของพระกิตติคุณอันเป็นนิจ ซึ่งพระบิดาบนสวรรค์ทรงสถาปนาก่อนการสร้างโลก

เชื้อเชิญให้นักเรียนวิเคราะห์ โรม 6:3–6 โดยมองหาคำหรือวลีสำคัญๆ ที่ยืนยันว่าการทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์เรียกร้องมากกว่าการรับบัพติศมา ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายสิ่งที่พวกเขาพบ

แจกสำเนาคำกล่าวต่อไปนี้โดยเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้พวกเขาอ่านในใจ เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาว่าบัพติศมาของพวกเขามีอิทธิพลต่อชีวิตพวกเขาอย่างไร

ภาพ
เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์

“เมื่อเราเข้าใจพันธสัญญาบัพติศมาและของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ สิ่งนี้จะเปลี่ยนชีวิตเราและทำให้ความจงรักภักดีทั้งหมดของเราอยู่ที่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อการล่อลวงเข้ามาในทางของเรา หากเราจะฟัง พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงเตือนเราว่าเราได้สัญญาว่าจะระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดและเชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า …

“เมื่อเราทำตามแบบอย่างของพระเยซู เราแสดงให้เห็นด้วยว่าเราจะกลับใจและเชื่อฟังในการรักษาพระบัญญัติของพระบิดาในสวรรค์ เราอ่อนน้อมถ่อมตนด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดขณะที่เรายอมรับบาปของตนเองและแสวงหาการให้อภัยสำหรับการล่วงละเมิดของเรา (ดู 3 นีไฟ 9:20) เราทำพันธสัญญาว่าจะเต็มใจรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับตัวเราและระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา …

“… ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้เราทุกคนในฐานะสมาชิกอาณาจักรของพระองค์เข้าใจว่าการบัพติศมาและการยืนยันเป็นประตู เข้าสู่ อาณาจักรของพระองค์ เมื่อเราเข้าไป เราทำพันธสัญญาที่จะเป็น ของ อาณาจักรของพระองค์—ตลอดกาล!” (“พันธสัญญาแห่งบัพติศมา: อยู่ในอาณาจักรและเป็นของอาณาจักร,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 8, 10)

ถามนักเรียนดังนี้

  • การรับบัพติศมาช่วยให้ท่านทำตามแบบอย่างการทำให้มีสัมฤทธิผลในสิ่งชอบธรรมทุกประการของพระเยซูคริสต์อย่างไร

ให้เวลานักเรียนใคร่ครวญสักครู่ว่าพวกเขากำลังบรรลุมาตรฐานความชอบธรรมที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงแสดงให้เห็นเมื่อทรงรับบัพติศมาอย่างไร ขอให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะทำอะไรได้อีกบ้างเพื่อแสดงให้เห็นการเชื่อฟังพระบิดาบนสวรรค์

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน

  • มัทธิว 3:13–17; 2 นีไฟ 31:4–21.

  • โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “พันธสัญญาแห่งบัพติศมา: อยู่ในอาณาจักรและเป็นของอาณาจักร,” เลียโฮนา, ม.ค. 2001, 6–10.