การปฏิบัติศาสนกิจ
ฉันจะช่วยคนบางคนเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่
หลักธรรม


หลักธรรมของการปฏิบัติศาสนกิจ

ฉันจะช่วยคนบางคน เปลี่ยนแปลง ได้หรือไม่

ได้ แต่บทบาทของท่านอาจต่างจากที่ท่านคิด

เลียโฮนา สิงหาคม 2019

ภาพ
Christ with the woman at the well

น้ำดำรงชีวิต โดย ไซมอน ดิวอีย์

พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างเราพร้อมความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง การเติบโตจนบรรลุศักยภาพอันสูงส่งของเราเป็นจุดประสงค์ของประสบการณ์มรรตัย หนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของเราในการปฏิบัติศาสนกิจคือช่วยให้ผู้อื่นมาหาพระคริสต์และทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต่อการกลับไปที่ประทับของพระองค์ แต่เพราะสิทธิ์เสรีของพวกเขา บทบาทของเราในการช่วยเหลือพวกเขาให้เป็นเหมือนพระคริสต์จึงมีจำกัด

ต่อไปนี้เป็นบทเรียนที่มีประสิทธิภาพเจ็ดบทจากพระผู้ช่วยให้รอดเกี่ยวกับวิธีที่เราสามารถช่วยให้ผู้อื่นพยายามเปลี่ยนและเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น

  1. อย่ากลัวเมื่อต้องเชื้อเชิญให้เปลี่ยน

    ภาพ
    Christ with the woman taken in adultery

    หญิงล่วงประเวณี โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน

    พระผู้ช่วยให้รอดไม่ทรงกลัวเมื่อต้องทรงเชื้อเชิญให้ผู้อื่นทิ้งวิถีเดิมๆ และน้อมรับคำสอนของพระองค์ พระองค์ทรงเชื้อเชิญเปโตรและยากอบให้ทิ้งงานอาชีพของพวกเขาและ “เป็นผู้หาคนเหมือนหาปลา” (มาระโก 1:17) พระองค์ทรงเชื้อเชิญหญิงที่ถูกจับฐานล่วงประเวณีให้ “ไปเถิด และจากนี้ไปอย่าทำบาปอีก” (ยอห์น 8:11) พระองค์ทรงเชื้อเชิญให้เศรษฐีหนุ่มเลิกยึดติดสิ่งของทางโลกและติดตามพระองค์ (ดู มาระโก 10:17–22) เราเองสามารถพูดตรงไปตรงมาด้วยความรักได้ขณะเชื้อเชิญให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลงและติดตามพระผู้ช่วยให้รอด

  2. พึงจดจำว่าเป็นการเลือกของพวกเขาว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่

    การเปลี่ยนแปลงแบบที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเชื้อเชิญไม่สามารถบังคับกันได้ พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนและทรงเชื้อเชิญ แต่ไม่ทรงบังคับ เศรษฐีหนุ่ม “ออกไปเป็นทุกข์” (มัทธิว 19:22) ในคาเปอรนาอุม สานุศิษย์จำนวนมากเลือก “ถอย” และพระองค์ตรัสถามอัครสาวกสิบสองว่าพวกเขาจะจากไปด้วยหรือไม่ (ดู ยอห์น 6:66–67) ผู้ติดตามบางคนของยอห์นผู้ถวายบัพติศมาเลือกติดตามพระผู้ช่วยให้รอด หลายคนไม่เลือก (ดู ยอห์น 1:35–37; 10:40–42) เราสามารถเชื้อเชิญให้ผู้อื่นเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น แต่ไม่สามารถตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแทนพวกเขา และถ้าพวกเขายังไม่เลือกเปลี่ยนแปลง เราไม่ควรยอมแพ้—ทั้งไม่ควรรู้สึกว่าเราล้มเหลว

  3. สวดอ้อนวอนขอให้ผู้อื่นสามารถเปลี่ยนแปลงได้

    ภาพ
    Christ praying

    ส่วนหนึ่งจากภาพ เราอธิษฐานเผื่อตัวท่าน โดย เดล พาร์สัน

    ระหว่างการสวดอ้อนวอนเพื่อวิงวอนแทนเรา พระเยซูทรงทูลขอพระผู้เป็นเจ้าให้ทรงปกป้องเหล่าสานุศิษย์จากความชั่วร้าย เป็นเหมือนพระองค์และพระบิดามากขึ้น และเปี่ยมด้วยความรักของพระผู้เป็นเจ้า (ดู ยอห์น 17:11, 21–23, 26) เมื่อทรงทราบว่าเปโตรต้องมีความเข้มแข็งขณะที่พยายามทำบทบาทของเขา พระผู้ช่วยให้รอดทรงสวดอ้อนวอนให้เขา (ดู ลูกา 22:32) การสวดอ้อนวอนของเราเพื่อผู้อื่นสร้างสรรค์สิ่งพิเศษได้ (ดู ยากอบ 5:16)

  4. สอนให้พวกเขาพึ่งเดชานุภาพของพระองค์

    โดยผ่านพระผู้ช่วยให้รอดเท่านั้นที่เราจะเปลี่ยนและเติบโตได้จริงจนบรรลุศักยภาพอันสูงส่งที่เราทุกคนมี พระองค์ทรงเป็น “ทางนั้น เป็นความจริง และเป็นชีวิต ไม่มีใครมาถึงพระบิดาได้นอกจากจะมาทางเรา” (ยอห์น 14:6) เดชานุภาพของพระองค์สามารถทำให้ “สิ่งที่อ่อนแอกลับเข้มแข็ง” (อีเธอร์ 12:27) ศรัทธาในเดชานุภาพการชดใช้ของพระองค์ทำให้แอลมาผู้บุตรสามารถเปลี่ยนแปลงได้ (ดู แอลมา 36:16–23) เราสามารถสอนผู้อื่นให้พึ่งพระผู้ช่วยให้รอดได้ทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะมีเดชานุภาพการขัดเกลาของพระองค์ในชีวิตพวกเขาด้วย

  5. ปฏิบัติต่อพวกเขาแบบที่พวกเขาจะเป็นได้

    ความรักและการยอมรับสามารถเป็นตัวผลักดันให้เปลี่ยนแปลง หญิงที่บ่อน้ำอาศัยอยู่กับชายที่ไม่ใช่สามีเธอ พวกสาวกของพระเยซู “ประหลาดใจที่พระองค์ทรงสนทนากับผู้หญิง” (ยอห์น 4:27) แต่พระเยซูทรงห่วงสิ่งที่เธอจะสามารถเป็นได้มากกว่า พระองค์ทรงสอนเธอและให้โอกาสเธอเปลี่ยน ซึ่งเธอเปลี่ยน (ดู ยอห์น 4:4–42)

    เมื่อเราปฏิบัติต่อผู้อื่นแบบที่พวกเขาเคยเป็นแทนที่จะปฏิบัติแบบที่พวกเขาจะเป็นได้ เราอาจทำให้พวกเขาถดถอย เราสามารถให้อภัยและลืมความผิดพลาดในอดีต เราจะต้องเชื่อว่าผู้อื่นเปลี่ยนได้ เราสามารถมองข้ามความอ่อนแอและชี้ให้เห็นคุณสมบัติที่พวกเขาอาจจะมองไม่เห็นในตนเอง “เรามีหน้าที่ต้องไม่เห็นแต่ละคนดังที่เขาเป็น แต่ดังที่พวกเขาจะเป็นได้”1

  6. ให้พวกเขาไปตามอัตราความเร็วของตน

    การเปลี่ยนแปลงจะต้องใช้เวลา เราทุกคนต้อง “ดำเนินต่อไปด้วยความอดทนจนกว่า [เรา] จะได้รับการทำให้ดีพร้อม” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 67:13) พระเยซูทรงมีความอดทนกับผู้อื่นและทรงสอนแม้กระทั่งคนที่ต่อต้านพระองค์ โดยทรงเป็นพยานถึงบทบาทที่พระบิดาทรงมอบให้พระองค์และทรงตอบคำถามของพวกเขา (ดู มัทธิว 12:1–13; ยอห์น 7:28–29) เราสามารถอดทนกับผู้อื่นและกระตุ้นให้พวกเขาอดทนกับตนเอง

  7. อย่ายอมแพ้ถ้าพวกเขากลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม

    ภาพ
    Christ with Peter

    ส่วนหนึ่งจากภาพ ท่านรักเรามากกว่าพวกนี้หรือ? โดย เดวิด ลินด์สเลย์

    หลังจากพระคริสต์สิ้นพระชนม์ แม้แต่เปโตรและอัครสาวกบางคนก็กลับไปทำสิ่งที่ตนคุ้นเคย (ดู ยอห์น 21:3) พระคริสต์ทรงเตือนเปโตรว่าเขาต้อง “ดูแลแกะ [ของพระองค์]” (ดู ยอห์น 21:15–17) และเปโตรกลับไปปฏิบัติศาสนกิจ เราทุกคนกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้ง่ายมาก เรายังคงสนับสนุนกันได้ด้วยการให้กำลังใจอย่างอ่อนโยน เชื้อเชิญด้วยแรงบันดาลใจให้ติดตามพระผู้ช่วยให้รอดต่อไปและพยายามเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น

ยอมให้ผู้อื่นเติบโต

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเล่าเรื่องนี้เกี่ยวกับการยอมให้ผู้อื่นเติบโต “มีคนเคยเล่าเรื่องเยาวชนชายคนหนึ่งให้ข้าพเจ้าฟัง เขาเป็นตัวตลกของเพื่อนๆ ในโรงเรียนมาหลายปี มากบ้างน้อยบ้าง เขามีข้อด้อยบางอย่างที่ทำให้เพื่อนวัยเดียวกันชอบล้อเขา ต่อมาเขาย้ายไปอยู่ที่อื่น สุดท้ายก็เข้าประจำการกองทัพและประสบความสำเร็จพอสมควรในการศึกษาที่นั่น และก้าวออกจากอดีต ที่สำคัญคือเขาค้นพบเช่นเดียวกับหลายคนในกองทหารถึงความสวยงามและอานุภาพของศาสนจักร เขาแข็งขันและมีความสุขในศาสนจักร

“หลายปีหลังจากนั้น เขากลับไปเมืองที่เคยอยู่ในวัยเยาว์ เพื่อนรุ่นเดียวกับเขาส่วนใหญ่ย้ายไปแล้วแต่ไม่ทั้งหมด เมื่อเขากลับมาพร้อมความสำเร็จและชีวิตใหม่ ความคิดที่เคยมีเกี่ยวกับเขาก็ยังอยู่ที่นั่นเพื่อรอการกลับมาของเขา เขายังคงเป็น ‘นายคนนั้น’ สำหรับคนในบ้านเกิดเมืองนอน …

“ความพยายามแบบเปาโลของชายคนนี้ลดลงทีละน้อยจนกระทั่งเขาตายจากไปในสถานการณ์คล้ายกับที่เขาเคยอยู่ในวัยเยาว์ … ช่างเลวร้ายสิ้นดีและน่าเศร้าเหลือเกินที่ตัวเขาแวดล้อมไปด้วย … คนเหล่านั้นที่คิดว่าอดีตของเขาน่าสนใจกว่าอนาคตของเขา คนเหล่านั้นฉกฉวยสิ่งที่พระคริสต์ทรงคว้าไว้ให้เขา เขาตายอย่างน่าเศร้า โดยที่ไม่ใช่ความผิดของเขา …

จงให้ผู้คนกลับใจ จงให้ผู้คนเติบโต จงเชื่อว่าคนเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงได้2

อ้างอิง

  1. โธมัส เอส. มอนสัน, “มองผู้อื่นดังที่พวกเขาจะเป็น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 70.

  2. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “สิ่งดีเลิศจะตามมา,” เลียโฮนา, ม.ค. 2010, 19, 20.