เซมินารี
กิจการของอัครทูต 11, 15


กิจการของอัครทูต 11, 15

พระผู้ช่วยให้รอดทรงกำกับดูแลศาสนจักรของพระองค์โดยผ่านการเปิดเผย

ภาพ
Peter and James speak to the apostles, elders and other members at Jerusalem on the matter of circumcision. Outtakes: include some of the people shooting the film, different shots of the group of people listening.

พระเยซูตรัสกับอัครสาวกของพระองค์ว่าจะมีการสั่งสอนพระกิตติคุณไปทั่วทุกประชาชาติ อย่างไรก็ตาม การทำเช่นนี้จะต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงที่ยากลำบากสำหรับขนบธรรมเนียมของชาวยิวที่มีมายาวนาน ด้วยการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ของพระเยซู การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จำเป็นต้องทำผ่านการเปิดเผย เจตนาของบทเรียนนี้คือเพื่อให้ท่านเข้าใจลึกซึ้งขึ้นถึงวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงกำกับดูแลศาสนจักรของพระองค์โดยผ่านการเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกของพระองค์

การตัดสินใจว่าจะสอนอะไร โดยปกติในช่วงพระคัมภีร์จะมีเนื้อหามากเกินกว่าจะสนทนาในคาบเรียนอย่างมีความหมายได้ จงศึกษาพระคัมภีร์และหลักสูตรร่วมกับการสวดอ้อนวอนเพื่อเล็งเห็นว่าความจริงของหลักคำสอนและหลักธรรมใดสำคัญที่สุดเพื่อให้นักเรียนของท่านระบุ เข้าใจ และประยุกต์ใช้

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญนักเรียนอ่าน คู่มือพระคัมภีร์ “การเปิดเผย,” scriptures.ChurchofJesusChrist.org และเตรียมมาชั้นเรียนพร้อมแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเข้าใจว่าพระเจ้าทรงเปิดเผยพระประสงค์ของพระองค์ต่อศาสดาพยากรณ์ของพระองค์อย่างไร

คำถามของเพื่อน

จินตนาการว่าเพื่อนคนหนึ่งที่ไม่มีความเชื่อเดียวกันกับท่านเรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อของท่านในศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกสมัยปัจจุบัน แม้ว่าเพื่อนท่านจะเชื่อในศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกในพระคัมภีร์ไบเบิลแต่ยากสำหรับเขาที่จะยอมรับแนวคิดที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทำงานผ่านท่านเหล่านี้ในทุกวันนี้ เขาถามท่านว่า “พระเยซูตรัสกับศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกอย่างไร?”

  • ท่านมั่นใจเพียงใดในความสามารถของท่านที่จะตอบคำถามนี้?

  • ท่านจะพูดอะไรกับเพื่อนของท่าน?

ขณะที่มีหลากหลายวิธีในการตอบ กิจการของอัครทูต 11 และ 15 แสดงถึงสองวิธีที่พระเยซูคริสต์ทรงกำกับดูแลศาสนจักรของพระองค์ผ่านการเปิดเผย

การเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์

หลังจากนิมิตและประสบการณ์ของเปโตรกับโครเนลิอัส (ดู กิจการของอัครทูต 10) เขาเดินทางไปเยรูซาเล็มและสอนความจริงที่เปิดเผยใหม่เหล่านี้ให้แก่ผู้นำศาสนจักรคนอื่นๆ

อาจเป็นประโยชน์ที่จะให้นักเรียนทำงานเป็นคู่เพื่อทบทวนนิมิตและประสบการณ์ของเปโตรกับโครเนลิอัสอย่างสั้นๆ ใน กิจการของอัครทูต 10 อีกทางเลือกหนึ่งคือเชื้อเชิญนักเรียนคนหนึ่งสรุปเรื่องราวให้ชั้นเรียน

หลังจากมาถึงเยรูซาเล็ม เปโตรเล่าถึงนิมิตและประสบการณ์ของเขากับโครเนลิอัส (ดู กิจการของอัครทูต 11:1–18)

อ่าน กิจการของอัครทูต 11:4–18 โดยค้นหาว่าท่านเห็นพระผู้เป็นเจ้าทรงนำทางศาสนจักรอย่างไร

  • ท่านเรียนรู้อะไรจากเรื่องราวเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงกำกับดูแลศาสนจักรของพระองค์?

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนอ้างอิงถึงสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากการอ่านในข้อมูลการเตรียมของนักเรียน ช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าการเปิดเผยมาโดยตรงยังศาสดาพยากรณ์ ซึ่งเป็นอัครสาวกอาวุโส ผ่านทางนิมิต

ท่านอาจให้ดูหรือเขียนความจริงต่อไปนี้บนกระดาน:

จากประสบการณ์ของเปโตร เราเรียนรู้ว่า พระเยซูคริสต์ทรงกำกับดูแลศาสนจักรของพระองค์โดยการเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ ซึ่งเป็นอัครสาวกอาวุโส

  • การรู้ความจริงนี้จะช่วยให้ประจักษ์พยานของท่านถึงพระเยซูคริสต์และศาสดาพยากรณ์ของพระองค์เข้มแข็งขึ้นได้อย่างไร?

  • ทำไมท่านจึงเชื่อว่าศาสนจักรในวันนี้ได้รับการนำทางโดยการเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้า?

การเปิดเผยผ่านสภา

อีกตัวอย่างหนึ่งของวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานการเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกของเขามีอธิบายไว้ใน กิจการของอัครทูต 15

เปาโลกับบารนาบัสซึ่งเป็นผู้สอนศาสนาสอนและให้บัพติศมาคนต่างชาติจำนวนมาก ชาวคริสต์ที่เป็นคนยิวบางคนมายังเมืองอันทิโอกและสอนว่าผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสที่เป็นคนต่างชาติเพศชายจำเป็นต้องถือปฏิบัติกฎของโมเสสโดยการเข้าสุหนัตนอกเหนือจากการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณที่สอนโดยพระเยซูคริสต์และอัครสาวกของพระองค์ (ดู กิจการของอัครทูต 15:1, 5 ; ดู คู่มือพระคัมภีร์, “ เข้าสุหนัต (การ) ,” scriptures.ChurchofJesusChrist.org ด้วย)

อ่าน กิจการของอัครทูต 15:2 เพื่อดูว่าเปาโลกับบารนาบัสพยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

  • ท่านคิดว่าเหตุใดเปาโลกับบารนาบัสแสวงหาการนำทางจากผู้นำศาสนจักรที่เยรูซาเล็ม?

ความจริงข้อหนึ่งที่แสดงใน กิจการของอัครทูต 15 คือ โดยการปรึกษาหารือกันและแสวงหาการเปิดเผยจากพระผู้เป็นเจ้า ผู้นำศาสจักรได้รับการดลใจเกี่ยวกับปัญหาที่ยาก ขณะเปโตรและผู้นำศาสนจักรคนอื่นๆ ปรึกษาหารือกัน พวกเขาได้รับการนำทางจากพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาส่งจดหมายแจ้งให้สมาชิกศาสนจักรทราบถึงการตัดสินใจที่ได้รับการดลใจว่าผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสคนต่างชาติไม่จำเป็นต้องเข้าสุหนัตและเชื้อเชิญให้เชื่อฟังพระบัญญัติข้ออื่นๆ

สภาคือกลุ่มคนที่มารวมกันเพื่อสนทนาถึงเรื่องสำคัญและวิธีรับมือกับเรื่องเหล่านั้น หากต้องการเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีทำงานของสภาในศาสนจักร ให้อ่านข้อมูลต่อไปนี้จาก คู่มือทั่วไป:

ผู้นำ [สภา] กระตุ้นให้สมาชิกพูดอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา ภูมิหลัง อายุ ประสบการณ์ และมุมมองที่หลากหลายของสมาชิกสภาทำให้สภามีคุณภาพมากขึ้น สมาชิกให้ข้อเสนอแนะ และฟังกันด้วยความเคารพ ขณะพยายามรู้พระประสงค์ของพระเจ้า วิญญาณของการดลใจและความเป็นหนึ่งเดียวกันจะเกิดขึ้น

(คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย, 4.4.3, ChurchofJesusChrist.org)

  • ท่านจะสรุปอย่างไรว่าสภาในศาสนจักรคืออะไร?

ให้ข้อมูลต่อไปนี้ในรูปแบบเอกสารแจกหรือติดบนกระดาน

สภาเยรูซาเล็ม

อ่าน กิจการของอัครทูต 15:6–15, 22–28 โดยค้นหาหลักฐานของส่วนต่างๆ ของสภา คัดลอกแผนภูมิต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน ในคอลัมน์ด้านขวาให้เขียนคำหรือวลีจากข้อพระคัมภีร์ที่สอดคล้องกับวลีในคอลัมน์ด้านซ้าย

ปฏิบัติงานภายใต้กุญแจฐานะปุโรหิต

มุ่งเน้นที่ความดีของตัวบุคคลและครอบครัว

เปิดโอกาสให้สมาชิกสภาแสดงออก

นำไปสู่ความเป็นเอกภาพ

ผู้นำยุคใหม่ยังใช้สภาเพื่อเชื้อเชิญให้พระเจ้าทรงนำทางในเรื่องเกี่ยวกับศาสนจักรอีกด้วย ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแบ่งปันเรื่องราวต่อไปนี้

ภาพ
Official portrait of President Russell M. Nelson taken January 2018

เมื่อเราประชุมสภาของฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง ห้องประชุมของเรากลายเป็นห้องของการเปิดเผย พระวิญญาณสถิตที่นั่นอย่างชัดแจ้ง ขณะแก้ไขปัญหาซับซ้อน ขั้นตอนที่น่าตื่นเต้นเผยออกมาขณะอัครสาวกแต่ละท่านแสดงความคิดและความเห็นอย่างเสรี แม้เราจะมีมุมมองต่างกันตอนแรก แต่เรารู้สึกรักกันเสมอ เอกภาพของเราช่วยให้เรามองเห็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีต่อศาสนจักรของพระองค์

ในการประชุมของเรา เราไม่ใช้เสียงส่วนใหญ่! เราฟังกันและพูดคุยกันร่วมกับการสวดอ้อนวอนจนเราเป็นหนึ่งเดียวกัน จากนั้นเมื่อเราเห็นพ้องต้องกันแล้ว อิทธิพลที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวของพระวิญญาณบริสุทธิ์ทำให้รู้สึกตื่นเต้นมาก! เราประสบสิ่งที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธรู้เมื่อท่านสอนว่า “โดยเอกภาพของความรู้สึกเราจะมีพลังร่วมกันกับพระผู้เป็นเจ้า” [คำสอนของประธานศาสนจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 425] สมาชิกในฝ่ายประธานสูงสุดหรือโควรัมอัครสาวกสิบสองจะไม่ใช้เพียงดุลพินิจที่ดีที่สุดของตนตัดสินใจให้ศาสนจักรของพระเจ้า!

(รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “การเปิดเผยสำหรับศาสนจักร การเปิดเผยสำหรับชีวิตเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 95)

อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะให้นักเรียนถามคำถามที่อาจมีเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงกำกับดูแลศาสนจักรของพระองค์ ดู “ เปิดเผย (การ) ” ในคู่มือพระคัมภีร์ (scriptures.ChurchofJesusChrist.org) และเนื้อหาในหมวด “บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง” ของบทเรียนสำหรับความเข้าใจที่อาจเป็นประโยชน์

  • ท่านจะตอบสนองอย่างไรต่อเหตุการณ์สมมุติในตอนต้นของบทเรียนที่เพื่อนคนหนึ่งถามว่าพระเยซูคริสต์ตรัสกับศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกอย่างไร?

  • การรู้ความจริงที่ระบุในพระคัมภีร์เหล่านี้มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับศาสดาพยากรณ์และผู้นำศาสนจักรคนอื่นๆ อย่างไร?

  • การรู้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงกำกับดูแลศาสนจักรของพระองค์ในลักษณะนี้มีอิทธิพลต่อวิธีที่ท่านมองการตัดสินใจของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกในสมัยนี้อย่างไร?

  • ท่านอาจมีส่วนร่วมในสภาใดบ้างตลอดชีวิตของท่าน?

  • ท่านสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้สภาได้รับการเปิดเผย?

เมื่อขอให้ท่านทำ ให้ท่านเป็นพยานถึงความจริงที่สอนในบทเรียนนี้

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

การเปิดเผยต่อผู้นำศาสนจักร

ในคำปราศรัย “หลักคำสอนของพระคริสต์” เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองใช้เรื่องราวที่บันทึกไว้ใน กิจการของอัครทูต 11 และ 15 เพื่อสอนเกี่ยวกับการเปิดเผยต่อผู้นำศาสนจักร ท่านอาจศึกษาคำปราศรัยทั้งหมดหรือดูวีดิทัศน์ต่อไปนี้ตั้งแต่ช่วงเวลา 6:10 ถึง 11:34

ตัวอย่างของการเปิดเผยต่อเนื่องมีอะไรบ้าง?

เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุกสอนเกี่ยวกับการเปิดเผยที่ได้รับเพื่อศาสนจักร ให้ดู “พรจากการเปิดเผยต่อเนื่องต่อศาสดาพยากรณ์และการเปิดเผยส่วนตัวเพื่อนำทางชีวิตเรา” จากช่วงเวลา 4:55 ถึง 6:42 มีอยู่ที่ ChurchofJesusChrist.org

เอ็ลเดอร์คุกยังสอนอีกว่าศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกได้รับการดลใจจากพระวิญญาณและการเปิดเผยโดยตรงจากพระผู้ช่วยให้รอด ดู “เตรียมพบพระผู้เป็นเจ้า” ตั้งแต่ช่วงเวลา 13:37 ถึง 14:15

จะใช้สภาในครอบครัวได้อย่างไร?

ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง สอนเกี่ยวกับสภาครอบครัวในคำปราศรัยของท่าน “สภาครอบครัว” ( เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 63–65)

กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม

เยาวชนมีส่วนร่วมในสภา

เยาวชนจำนวนมากมีโอกาสหรือจะมีโอกาสมีส่วนร่วมในสภาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกของพวกเขาในฝ่ายประธานชั้นเรียนหรือในฝ่ายประธานโควรัม เชื้อเชิญให้นักเรียนสนทนาถึงประสบการณ์ที่พวกเขาเคยมีส่วนร่วมในสภาเหล่านี้และสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากบทเรียนนี้สามารถช่วยพวกเขาปรึกษาหารือกับผู้อื่นในการเรียกของตนได้อย่างไร

การเปิดเผยส่วนตัวจะเกิดขึ้นผ่านการปรึกษาหารือได้อย่างไร?

เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนรายการเกี่ยวกับการตัดสินใจสำคัญหลายอย่างที่พวกเขาต้องทำเวลานี้และในอนาคต ถามคำถามต่อไปนี้กับนักเรียน: การปรึกษาหารือกับผู้อื่นอาจช่วยท่านค้นพบการนำทางที่ได้รับการดลใจเกี่ยวกับการตัดสินใจเหล่านี้ได้อย่างไร? ใครคือคนที่ท่านอาจปรึกษาด้วยเกี่ยวกับการตัดสินใจเหล่านี้? แหล่งช่วยบางอย่างรวมถึงบิดามารดาและสมาชิกในครอบครัว (ดู เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “สภาครอบครัว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 63–65) ผู้นำศาสนจักร และพระเจ้า (ดู แอลมา 37:37)

ท่านอาจแบ่งปันข้อความต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุกแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง: “พวกท่านเยาวชนผู้ล้ำค่าหลายคนอาจไม่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับตัวตนของท่านและคนที่ท่านสามารถเป็นได้ กระนั้นท่านก็อยู่ที่จุดเริ่มต้นของการตัดสินใจสำคัญที่สุดหลายอย่างที่ท่านจะทำในชีวิต โปรดปรึกษากับทั้งบิดามารดาและอธิการของท่านเกี่ยวกับการเลือกสำคัญๆ ที่อยู่ข้างหน้า ยอมให้อธิการเป็นเพื่อนและที่ปรึกษาของท่าน” (“อธิการ—ผู้เลี้ยงดูฝูงแกะของพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 60) เชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาอาจใช้หลักธรรมการปรึกษาหารือเพื่อเชื้อเชิญการนำทางของพระเยซูคริสต์เข้ามาในชีวิตพวกเขา

พระคัมภีร์เชื้อเชิญให้มีการเปิดเผยในสภาผู้นำของศาสนจักร

อาจถามนักเรียนเกี่ยวกับวิธีอื่นๆ ที่การเปิดเผยจะเกิดขึ้น ท่านอาจให้นักเรียนอ่าน กิจการของอัครทูต 15:13–18 ยากอบชี้ไปที่แหล่งสิทธิอำนาจใด?

เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “ข้อหารือในสภามักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระคัมภีร์มาตรฐาน คำสอนของผู้นำศาสนจักร ตลอดจนวิธีปฏิบัติในอดีต แต่ท้ายที่สุด เฉกเช่นในศาสนจักรสมัยพันธสัญญาใหม่ วัตถุประสงค์มิได้อยู่ที่ความเป็นเอกฉันท์ในบรรดาสมาชิกสภาเท่านั้นแต่อยู่ที่การเปิดเผยจากพระผู้เป็นเจ้าด้วย นั่นเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทั้งเหตุผลและศรัทธาเพื่อให้ทราบถึงพระดำริและพระประสงค์ของพระเจ้า” (“หลักคำสอนของพระคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 88) นักเรียนอาจจะอ่าน กิจการของอัครทูต 10:28 โดยมองหาว่ามีการกล่าวถึงทั้งความเห็นพ้องต้องกันและการเปิดเผยจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร