เซมินารี
ยอห์น 11:1–46 ภาค 1


ยอห์น 11:1–46 ภาค 1

พระเยซูทรงทำให้ลาซารัสลุกขึ้นจากบรรดาคนตาย

ภาพ
Christ at the tomb of Lazarus. He has His hand extended to the entry of the tomb as He commands Lazarus to rise from the dead. Lazarus (in burial robes) is visible standing inside the entry to the tomb. A man is moving the stone door of the tomb away from the tomb entry. Several people (men and women) are watching the miracle in amazement.

มารีย์และมารธาขอให้พระเยซูเสด็จมาช่วยลาซารัส น้องชายที่เจ็บป่วย พระเยซูทรงชะลอการเดินทางของพระองค์และเสด็จถึงหลังจากลาซารัสสิ้นชีวิตได้สี่วัน พระเยซูทรงแสดงความสงสารและทรงกันแสงกับพี่สาวทั้งสองคน จากนั้นพระองค์ทรงทำให้ลาซารัสลุกขึ้นจากบรรดาคนตาย บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านระบุความจริงเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และหลักธรรมที่สามารถนำทางท่านผ่านความท้าทายในชีวิตได้

ให้นักเรียนสามารถระบุความจริงที่เป็นหลักคำสอนและหลักธรรมที่หลากหลาย การเรียนรู้ที่จะระบุหลักคำสอนและหลักธรรมที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ต้องใช้การฝึกฝนอย่างรอบคอบ ครูควรหมั่นช่วยให้นักเรียนมีความสามารถในการระบุและอธิบายถึงหลักคำสอนและหลักธรรมด้วยตนเอง

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษา ยอห์น 11 และมองหาหลักธรรมที่อาจช่วยให้พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากพระผู้ช่วยให้รอดในการทดลองของพวกเขา พวกเขาอาจทำสิ่งนี้ด้วยตนเองหรือกับครอบครัว เชื้อเชิญให้พวกเขาเตรียมมาแบ่งปันสิ่งที่ค้นพบ

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

สังเกตว่านี่คือบทเรียนแรกจากสองบทเรียนเกี่ยวกับ ยอห์น 11 บทเรียนนี้ช่วยให้นักเรียนระบุหลักธรรมต่างๆ ในบท บทเรียนที่สองเปิดโอกาสให้นักเรียนสอนหลักธรรมข้อใดข้อหนึ่งได้ ให้ละเอียดอ่อนต่อนักเรียนที่อาจเผชิญกับความท้าทายที่ยาก ถ้าจำเป็นให้ปรับสถานการณ์สมมุติต่อไปนี้หรือสร้างสถานการณ์อื่นที่อาจเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนมากกว่า

นึกถึงใครบางคนในครอบครัวใกล้ชิดของท่าน จินตนาการว่าพวกเขาป่วยหนักจนชีวิตตกอยู่ในอันตราย

  • ท่านอาจรู้สึกอย่างไรบ้าง?

  • ท่านอาจทำอย่างไรบ้าง?

  • ท่านอาจมีคำถามอะไรบ้าง?

ใน ยอห์น 11 มารีย์ มารธา และลาซารัสเผชิญกับสภาวการณ์นี้ แม้ว่าประสบการณ์ของพวกเขาเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยและความตาย แต่เราสามารถประยุกต์ใช้หลักธรรมที่เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของพวกเขามาใช้กับความท้าทายใดๆ ก็ตามที่เราอาจเผชิญ

ใกล้กับด้านบนของกระดาษให้เขียน “สิ่งที่ท่านต้องรู้เมื่อเผชิญความท้าทาย” ตลอดบทเรียนให้นึกถึงความท้าทายที่ท่านกำลังเผชิญหรืออาจจะเผชิญ พยายามระบุความจริงเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ที่ท่านรู้สึกว่าอาจนำทางท่านและให้ความหวังแก่ท่านในระหว่างความท้าทายเหล่านั้น บันทึกความคิดของท่านลงบนกระดาษ คิดอย่างรอบคอบถึงความจริงแต่ละข้อที่ท่านระบุไว้ว่าสามารถช่วยให้ท่านรู้สึกถึงความรักต่อพระผู้ช่วยให้รอดและจากพระองค์อย่างไร

ค้นหาความจริง

กำหนดว่ากิจกรรมใดต่อไปนี้จะเป็นประโยชน์กับนักเรียนมากที่สุด ถ้านักเรียนสามารถระบุหลักธรรมด้วยตนเองอย่างง่ายดายแล้ว ท่านอาจอนุญาตให้นักเรียนศึกษาและระบุหลักธรรมด้วยตนเองโดยไม่ต้องระบุหลักธรรมใดๆ ให้พวกเขา ย้ำเตือนพวกเขาถึงกิจกรรมการเตรียมของนักเรียนและเชิญชวนให้พวกเขาใช้ความเข้าใจจากกิจกรรมนั้นในบทเรียนที่เหลือ

ทักษะการศึกษาพระคัมภีร์อย่างหนึ่งที่จะมีประโยชน์ในการระบุหลักธรรมคือการหยุดชั่วขณะเมื่อท่านสังเกตเห็นรายละเอียดสำคัญเพื่อถามคำถามเรียบง่าย เช่น

  • พระบิดาบนสวรรค์อาจทรงต้องการให้ฉันเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้?

  • เรื่องราวนี้สอนอะไรฉันเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์?

อ่าน ยอห์น 11:1–7 และถามคำถามก่อนหน้ากับตนเอง

เชิญนักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ เขียนหลักธรรมต่างๆ ที่พวกเขาแบ่งปันบนกระดาน หากนักเรียนมีปัญหาในการระบุหลักธรรมหรือหากจะเพิ่มความเข้าใจที่เป็นประโยชน์ ท่านอาจเขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดานและถามคำถามที่ตามมา

มีหลักธรรมต่างๆ ที่ท่านอาจระบุได้จากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ สำหรับตัวอย่างหลักธรรมแต่ละข้อ ท่านอาจทำเครื่องหมายวลีหรือรายละเอียดจากข้อที่อ่านซึ่งสนับสนุนหลักธรรมนั้น

แม้ว่าพระเยซูคริสต์ทรงรักเรา แต่เราจะประสบการทดลอง

แม้ว่าเราจะติดตามพระเยซูคริสต์อย่างซื่อสัตย์ แต่เราจะยังคงประสบการทดลอง

เมื่อเราเผชิญความท้าทายเราสามารถทูลขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า และพระองค์จะทรงตอบรับในจังหวะเวลาของพระองค์และในวิธีของพระองค์

ท่านอาจเขียนหลักธรรมเหล่านี้ลงบนกระดาษของท่าน

  • การรู้ความจริงเหล่านี้ช่วยท่านอย่างไร?

สองวันหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดทรงได้ยินเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของลาซารัส พระผู้ช่วยให้รอดทรงเดินทางมายังบ้านของลาซารัส เมื่อพระองค์เสด็จมาถึง ลาซารัสอยู่ในหลุมศพนานสี่วันแล้ว (ดู ยอห์น 11:17)

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายถึงความสำคัญของสี่วันนั้น

ภาพ
Head and shoulders portrait of Elder Bruce R. McConkie.

การเน่าเปื่อยเกิดขึ้นไปมากแล้ว ความตายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วอย่างแน่ชัด … สำหรับชาวยิว ช่วงเวลาสี่วันมีนัยสำคัญเป็นพิเศษ เป็นความเชื่อโดยทั่วไปในบรรดาพวกเขาว่าภายในวันที่สี่วิญญาณได้ออกไปจากบริเวณที่ศพอยู่ในที่สุดและจะกลับมาไม่ได้

(Bruce R. McConkie, Doctrinal New Testament Commentary, 3 vols. [1965–73], 1:533)

ฝึกระบุหลักธรรมต่อไปขณะท่านอ่าน ยอห์น 11:18–46 หรือท่านอาจรับชม “ลาซารัสถูกยกขึ้นจากบรรดาคนตาย” จากช่วงเวลา 2:04 ถึง 7:43 และอ่านตามในพระคัมภีร์ของท่าน หยุดเป็นครั้งคราวและถามคำถามตนเองเมื่อพบรายละเอียดสำคัญ เช่น สิ่งที่มารีย์และมารธาทำเพื่อแสดงศรัทธาในพระเยซูคริสต์ หรือวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงตอบสนองในแต่ละสถานการณ์ เพิ่มหลักธรรมที่ท่านพบในเอกสารของท่านและท่านอาจทำเครื่องหมายรายละเอียดสำคัญและจดบันทึกอื่นๆ ลงในพระคัมภีร์ของท่าน

  • พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ท่านเรียนรู้อะไรจากเรื่องราวนี้?

เรื่องราวนี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์?

เชื้อเชิญนักเรียนมาที่กระดานและเขียนหลักธรรมหนึ่งข้อที่พวกเขาระบุไว้ พวกเขาอาจระบุความจริงดังต่อไปนี้:

  • เราสามารถเลือกใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ระหว่างการทดลองของเรา (ดู ยอห์น 11:20–27)

  • พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงทำปาฏิหาริย์ในชีวิตเราขณะเรากระทำด้วยศรัทธาในพระองค์ (ดู ยอห์น 11:20–27, 38–44)

  • พระเยซูคริสต์ทรงเป็นชีวิตและการฟื้นขึ้นจากความตาย (ดู ยอห์น 11:25)

  • ปาฏิหาริย์ของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตเราเกิดขึ้นตามพระประสงค์และจังหวะเวลาของพระองค์ (ดู ยอห์น 11:1–7, 11–17, 39–45)

  • เราจะทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ได้โดยการแสดงความสงสารต่อผู้อื่น (ดู ยอห์น 11:32–36)

  • พระเยซูคริสต์ทรงมีเดชานุภาพเหนือชีวิตและความตาย (ดู ยอห์น 11:20–27, 39–45)

  • เราจะเห็นความรักและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าในการดิ้นรนต่อสู้ของเรา (ดู ยอห์น 11:11–15, 40–42)

ท่านอาจถามคำถามต่อไปนี้กับนักเรียนหากพวกเขาต้องการความช่วยเหลือในการระบุความจริงเพิ่มเติม

  • มารีย์และมารธาทำอะไรเพื่อใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ระหว่างการทดลองของพวกเธอ?

  • คำตอบของพระผู้ช่วยให้รอดต่อพวกเธอสอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระองค์?

  • องค์ประกอบใดของเรื่องราวนี้สอนให้ท่านวางใจพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น?

  • การหยุดชั่วคราวเมื่อพบรายละเอียดสำคัญและการถามคำถามช่วยในการศึกษาของท่านอย่างไร?

ท่านอาจให้ผู้เรียนจับคู่กันเพื่อแสดงบทบาทในสถานการณ์สมมุติต่อไปนี้

จินตนาการว่าท่านมีโอกาสพูดคุยกับใครบางคนที่อยู่ในการทดลองที่ยากลำบาก เลือกหลักธรรมหนึ่งข้อจากหลักธรรมที่ท่านระบุจาก ยอห์น 11:1–46 และแบ่งปันว่าหลักธรรมนั้นจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร ขอให้คิดรวมถึงสิ่งที่หลักธรรมนี้สามารถช่วยให้บุคคลนี้เข้าใจเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์และความปรารถนาของทั้งสองพระองค์สำหรับเรา

อ่านหลักธรรมที่ท่านเขียนบนกระดาษ “สิ่งที่ท่านต้องรู้เมื่อเผชิญความท้าทาย” ที่ด้านล่างของกระดาษให้เพิ่มคำตอบของท่านสำหรับคำถามต่อไปนี้

  • หลักธรรมใดที่ท่านจำเป็นต้องมุ่งเน้นมากที่สุดในชีวิตท่านเวลานี้? เพราะเหตุใด?

  • ท่านเรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดที่ช่วยให้ท่านรู้สึกถึงความรักต่อทั้งสองพระองค์และจากทั้งสองพระองค์?

ท่านอาจเชื้อเชิญนักเรียนหลายคนให้ตอบคำถามก่อนหน้านี้ ขณะนักเรียนแบ่งปันให้ค้นหาวิธีที่จะช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความรักของพระผู้ช่วยให้รอดต่อพวกเขา ท่านอาจจะแบ่งปันความคิดและประจักษ์พยานของท่านเองเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด

  • ท่านรู้สึกมีแรงบันดาลใจที่จะทำอะไรจากสิ่งที่ท่านเรียนรู้และรู้สึกในวันนี้? ท่านจะทำสิ่งนั้นอย่างไร?

กระตุ้นให้นักเรียนใช้ทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ระบุหลักธรรมในการศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัวและติดตามผลตามการกระตุ้นเตือนที่พวกเขาได้รับ ท่านอาจเป็นพยานถึงความสำคัญของทักษะการศึกษานี้ วิธีหนึ่งในการทำสิ่งนี้คือแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวในการค้นพบการนำทางสำหรับความท้าทายระหว่างศึกษาพระคัมภีร์ส่วนตัว

บทวิจารณ์และข้อมูลภูมิหลัง

ทำไมฉันจึงทุกข์ทรมานเมื่อฉันพยายามเป็นคนชอบธรรม?

เอ็ลเดอร์แมทธิว เอส. ฮอลแลนด์แห่งสาวกเจ็ดสิบสอนว่า

ภาพ
Matthew S. Holland Official Portrait.

มีผู้หนึ่งที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าท่านกำลังประสบกับสิ่งใด ผู้ซึ่ง “ทรงอานุภาพยิ่งกว่าคนทั้งปวงบนแผ่นดินโลก” [1 นีไฟ 4:1] และ “ทรงสามารถทำทุก‍สิ่งได้มากยิ่ง‍กว่าที่ [ท่าน] ทูลขอหรือคิด” [เอเฟซัส 3:20] กระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นในวิถีของพระองค์และตามกำหนดเวลาของพระองค์ แต่พระคริสต์ทรงพร้อมเยียวยาความปวดร้าวของท่านทุกด้าน เสมอ

เมื่อท่านยอมให้พระองค์ทรงทำเช่นนั้น ท่านจะค้นพบว่าการทนทุกข์ทรมานของท่านไม่ได้เปล่าประโยชน์ … ท่านเห็นหรือไม่ ธรรมชาติวิสัยของพระผู้เป็นเจ้าและจุดประสงค์ของการดำรงอยู่บนแผ่นดินโลกของเราคือความสุข แต่เราไม่สามารถเป็นสัตภาวะที่ดีพร้อมผู้เปี่ยมปีติจากสวรรค์หากปราศจากประสบการณ์ที่ทดสอบเรา บางครั้งจนสุดกำลังของเรา เปาโลกล่าวว่าแม้แต่พระผู้ช่วยให้รอดเองก็ทรงถูกทำให้ “ดีพร้อม [หรือสมบูรณ์] ชั่วนิรันดร์ผ่านความทุกข์ทรมาน” [ฮีบรู 2:10] ดังนั้นจงระวังเสียงกระซิบของซาตานที่ว่าหากท่านเป็นคนดีขึ้น ท่านจะหลีกเลี่ยงการทดลองเช่นนี้

ท่านต้องต้านทานคำโกหกที่เกี่ยวข้องกันที่ว่า ความทุกข์ทรมานของท่านแนะให้ท่านยืนอยู่นอกแวดวงผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือก ที่ดูเหมือนจะลอยล่องไปตามสภาพต่างๆ ที่มีแต่พร …

พี่น้องทั้งหลาย การทนทุกข์ทรมานในความชอบธรรมช่วยให้ท่านมีคุณสมบัติคู่ควร มากกว่าจะแยกท่านออกจากผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือก

(แมทธิว เอส. ฮอลแลนด์, “ของประทานอันเป็นที่สุดแห่งพระบุตร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 46–47)

กิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติม

ทางเลือกสำหรับจุดมุ่งเน้นของบทเรียน

ท่านอาจใช้เรื่องราวของมารีย์ มารธา และลาซารัสเพื่ออธิบายหลักธรรมที่ว่า เราจะวางใจใน พระผู้เป็นเจ้าได้ โดยรู้ว่าปาฏิหาริย์ของพระองค์ในชีวิตเราเกิดขึ้นตามพระประสงค์และจังหวะเวลาของพระองค์ ซึ่งสามารถทำได้โดยเปรียบเทียบและหาข้อแตกต่างระหว่างเรื่องราวนี้กับเรื่องราวของนีไฟใน 3 นีไฟ 1:4–20 โดยฉายวีดิทัศน์ “วางใจในพระเจ้า” (3:30) หรือโดยการอ่านข้อความต่อไปนี้ของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุด

ภาพ
Matthew S. Holland Official Portrait.

หลักธรรมพระกิตติคุณข้อแรกคือศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ศรัทธาหมายถึงวางใจ—วางใจในพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า วางใจในวิธีทำสิ่งต่างๆ ของพระองค์ และวางใจในตารางเวลาของพระองค์ เราไม่ควรพยายามกำหนดตารางเวลาของเราให้กับพระองค์ ดังที่เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวไว้ว่า

“ประเด็นสำคัญสำหรับเราคือวางใจพระผู้เป็นเจ้ามากพอที่จะวางใจจังหวะเวลาของพระองค์เช่นกัน ถ้าเราสามารถเชื่อได้จริงๆ ว่าพระองค์สนพระทัยสวัสดิภาพของเรา เราจะไม่ปล่อยให้แผนของพระองค์เผยออกมาตามที่พระองค์ทรงเห็นว่าดีที่สุดหรือ? สิ่งนี้จริงเช่นเดียวกับการเสด็จมาครั้งที่สองและกับทุกเรื่องที่ศรัทธาของเราต้องมีศรัทธาในจังหวะเวลาของพระเจ้าสำหรับเราโดยส่วนตัว ไม่ใช่เพียงในแผนและจุดประสงค์โดยรวมของพระองค์” (Even As I Am [1982], 93)

(Dallin H. Oaks, “Timing,” Ensign, Oct. 2003, 12)

ทางเลือกการเริ่มต้นเข้าสู่บทเรียน

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนระบุปาฏิหาริย์ที่พระเยซูทรงทำและปาฏิหาริย์เหล่านั้นแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีเดชานุภาพเหนืออะไร ตัวอย่างบางส่วนอาจรวมถึงอำนาจเหนือความตาย (ดู ลูกา 7:11–18) อำนาจเหนือปัญหาทางจิตใจ (ดู ลูกา 8:27–35) และอำนาจที่จะช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน (ดู มัทธิว 17:24–27 ; ลูกา 5:1–6)

เชื้อเชิญให้นักเรียนพิจารณาบางสิ่งที่พวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากพระผู้ช่วยให้รอดและค้นหาหลักธรรมที่สามารถช่วยให้พวกเขาทราบวิธีรับความช่วยเหลือจากพระองค์