เซมินารีและสถาบัน
บทนำ คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (ศาสนา 275)


บทนำ คำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (ศาสนา 275)

เราคาดหวังอะไรจากครูวิชาศาสนา

ขณะที่ท่านเตรียมสอน สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของเซมินารีและสถาบันศาสนา

“จุดประสงค์ของเราคือช่วยให้เยาวชนและคนหนุ่มสาวเข้าใจและพึ่งพาคำสอนและการการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ มีคุณสมบัติคู่ควรรับพรของพระวิหาร และเตรียมตนเอง ครอบครัว ตลอดจนคนอื่นๆ เพื่อรับชีวิตนิรันดร์อยู่กับพระบิดาในสวรรค์” (การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ: คู่มือสำหรับครูและผู้นำในเซมินารีและสถาบันศาสนา [2012], x)

ท่านจะบรรลุจุดประสงค์นี้ได้โดยเพียรพยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ สอนพระกิตติคุณให้นักเรียนของท่านอย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารชั้นเรียนหรือโปรแกรมของท่านอย่างเหมาะสม ขณะเตรียมและสอนพระกิตติคุณในลักษณะนี้ ท่านจะมีคุณสมบัติคู่ควรรับอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ดู คพ. 42:14)

นี่เป็นโอกาสที่ท่านจะช่วยให้นักเรียนเรียนรู้โดยพระวิญญาณทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะสามารถเสริมสร้างศรัทธาของตนเองและทำให้การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของพวกเขาลึกซึ้งขึ้น ท่านจะช่วยให้นักเรียนบรรลุจุดประสงค์นี้ได้เมื่อท่านนำพวกเขาให้ค้นหา เข้าใจ และรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักคำสอนตลอดจนหลักธรรมสำคัญๆ ในพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ และประยุกต์ใช้

คู่มือ การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจขั้นตอนการสอนและวิธีประสบความสำเร็จในห้องเรียน

อะไรคือวัตถุประสงค์และจุดประสงค์ของหลักสูตรนี้

เป็นที่คาดหวังว่านักเรียนวัยสถาบันจำนวนมากจะเคยศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนตามลำดับมาแล้ว—ตั้งแต่ต้นจนจบ—ที่เซมินารี ที่บ้าน หรือระหว่างเป็นผู้สอนศาสนา หลักสูตรคำสอนและหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน (ศาสนา 275) ออกแบบไว้ช่วยให้นักเรียนใช้วิธีต่างๆ ศึกษาพระคัมภีร์มอรมอน บทเรียนที่มีในหลักสูตรนี้มุ่งเน้นประเด็นหลักคำสอนที่เด่นชัดซึ่งเน้นโดยผู้เขียนพระคัมภีร์มอรมอนที่ได้รับการดลใจ

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899–1994) เชื้อเชิญให้ผู้อ่านพระคัมภีร์มอรมอนมุ่งเอาใจใส่หลักคำสอนที่อยู่ในนั้น

ภาพ
ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน

“พระคัมภีร์มอรมอนเขียนไว้เพื่อสมัยของเรา … เราไม่ควรรู้เพียงว่าพระคัมภีร์มอรมอนมีประวัติศาสตร์และเรื่องราวส่งเสริมศรัทธาอะไรบ้าง แต่เราควรเข้าใจคำสอนในนั้นด้วย ถ้าเราตั้งใจศึกษาและพิจารณาหลักคำสอนของพระคัมภีร์มอรมอน เราจะเห็นความผิดพลาดและพบความจริงที่จะใช้ต่อกรกับทฤษฏีผิดๆ และปรัชญาของมนุษย์ในปัจจุบัน” (Jesus Christ—Gifts and Expectations, Ensign, Dec. 1988, 4)

ตลอดหลักสูตร นักเรียนจะศึกษาข้อเขียนและคำสอนของศาสดาพยากรณ์ที่พบในพระคัมภีร์มอรมอน พร้อมกับเน้นเรื่องแผนของพระบิดาบนสวรรค์และบทบาทหลักของพระบุตรพระองค์ พระเยซูคริสต์ นักเรียนจะเข้าใจดีขึ้นว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานอีกเล่มหนึ่งของพระเยซูคริสต์ พวกเขาจะรักพระองค์และมีประจักษ์พยานลึกซึ้งขึ้น พวกเขาจะปรับปรุงความสามารถในการศึกษาหลักคำสอนพระกิตติคุณในบริบทของพระคัมภีร์อันจะทำให้เข้าใจมากขึ้นและเป็นสานุศิษย์ที่ดีขึ้น พวกเขาจะพร้อมอธิบายและเป็นพยานถึงความสำคัญและที่มาอันศักดิ์สิทธิ์ของพระคัมภีร์มอรมอนและหลักคำสอนที่อยู่ในนั้น

เราคาดหวังอะไรจากนักเรียน

เพื่อให้ได้รับหน่วยกิตจนเรียนจบสถาบัน นักเรียนต้องอ่านข้อพระคัมภีร์ คำพูดจากการประชุมใหญ่สามัญ และเนื้อหาอื่นที่ระบุไว้ในหัวข้อสิ่งที่นักเรียนควรอ่านของแต่ละบท นักเรียนต้องทำตามข้อกำหนดการเข้าชั้นเรียนเช่นกันและแสดงให้เห็นว่าเข้าใจเนื้อหาหลักสูตรโดยทำการประเมิน

บทเรียนในคู่มือเล่มนี้มีองค์ประกอบอย่างไร

หลักสูตรนี้ออกแบบไว้เป็นหลักสูตรยาวหนึ่งเทอม มีบทเรียน 28 บทเขียนไว้สำหรับคาบเรียน 50 นาที ถ้าชั้นเรียนของท่านพบกันสัปดาห์ละสองครั้ง ให้สอนคาบเรียนละหนึ่งบท ถ้าชั้นเรียนของท่านพบกันสัปดาห์ละครั้งเป็นเวลา 90 ถึง 100 นาที ให้รวมสอนสองบทในหนึ่งคาบเรียน โครงร่างแต่ละบทเรียนมีสี่ส่วน ได้แก่

  • คำนำ

  • ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

  • สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน

คำนำ

ส่วนนี้มีอารัมภบทสั้นๆ ให้รู้หัวข้อและวัตถุประสงค์ของบทเรียน

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

ส่วนนี้แนะนำแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น ข่าวสารจากศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นๆ ที่จะช่วยให้ท่านเข้าใจหลักคำสอน หลักธรรม และความจริงพระกิตติคุณในโครงร่างบทเรียนมากขึ้น

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

ส่วนข้อเสนอแนะสำหรับการสอนจะมีเนื้อหาช่วยให้ท่านรู้ว่าต้องสอน อะไร และสอน อย่างไร (ดู หมวด 4.3.3 และ 4.3.4 ในคู่มือ การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ ) กิจกรรมการเรียนรู้ที่แนะนำได้ออกแบบไว้ช่วยให้นักเรียนค้นพบ เข้าใจ รู้สึกถึงความจริงและความสำคัญ และประยุกต์ใช้ความจริงอันศักดิ์สิทธิ์ ท่านอาจเลือกใช้ข้อเสนอแนะทั้งหมดหรือบางข้อขณะปรับให้เข้ากับรูปแบบการสอนของท่านแต่ละคน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและสภาวการณ์ของนักเรียนของท่าน ขณะที่ท่านพิจารณาวิธีปรับเนื้อหาบทเรียน ขอให้ทำตามคำแนะนำนี้จากเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“ข้าพเจ้าได้ยินประธานแพคเกอร์สอนบ่อยครั้งว่า ให้เราเลือกใช้ก่อน แล้วค่อยปรับ ถ้าเรารู้จักเนื้อหาบทเรียนที่ต้องสอนเป็นอย่างดี เราจึงสามารถทำตามพระวิญญาณให้ปรับบทเรียนได้ แต่เมื่อเราพูดถึงความยืดหยุ่นนี้ มีการล่อลวงให้เริ่มปรับก่อน แทนที่จะเลือกใช้ก่อน นี่คือความสมดุล นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเสมอ แต่วิธีเลือกใช้ก่อนแล้วค่อยปรับเป็นวิธีที่จะช่วยให้อยู่บนฐานที่ปลอดภัย” (“A Panel Discussion with Elder Dallin H. Oaks” [Seminaries and Institutes of Religion Satellite Broadcast, Aug. 7, 2012]; si.lds.org)

หลักสูตรนี้ประกอบด้วยคำกล่าวของผู้นำศาสนจักรที่อาจมีหลายภาษา ขณะเตรียมสอน ท่านอาจจะปรับบทเรียนโดยใช้คำกล่าวอื่นของผู้นำศาสนจักรที่มีอยู่แล้วและเกี่ยวข้องกับเรื่องที่สอน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอนมีข้อความเกี่ยวกับหลักคำสอนหรือหลักธรรมอย่างน้อยหนึ่งข้อ ซึ่งจะเป็นตัวหนา ขณะที่นักเรียนค้นพบหลักคำสอนและหลักธรรมเหล่านี้แล้วแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ คำพูดของพวกเขาอาจต่างจากที่ระบุไว้ในคู่มือ เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ จงระวังอย่าแสดงนัยว่าคำตอบของพวกเขาผิด อย่างไรก็ดี ถ้าข้อความหนึ่งถูกต้องมากกว่า จงช่วยขยายความเข้าใจอย่างระมัดระวัง

หลักสูตรนี้จำลองวิธีรวมหลักการสอนและการเรียนพระกิตติคุณไว้ในหลักสูตรที่ศึกษาตามหัวข้อ (ดู การสอนและการเรียนรู้พระกิตติคุณ, 10, 23–31, 38–41)

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวถึงประโยชน์บางประการที่มาจากการศึกษาพระกิตติคุณตามหัวข้อดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“ด้วยเหตุที่การอ่านพระคัมภีร์ตั้งแต่ต้นจนจบให้ความรู้พื้นฐานที่กว้างขวาง การศึกษาตามหัวข้อจึงให้ความรู้ลึกซึ้งขึ้น การค้นหาความเชื่อมโยง รูปแบบ และสาระสำคัญในการเปิดเผยสร้างและเสริมความรู้ทางวิญญาณของเรา … ขยายมุมมองและความเข้าใจของเราในเรื่องแผนแห่งความรอด

“ในความเห็นของข้าพเจ้า การค้นคว้าอย่างขยันหมั่นเพียรเพื่อค้นพบความเชื่อมโยง รูปแบบ และสาระสำคัญเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่หมายถึง ‘ดื่มด่ำ’ พระวจนะของพระคริสต์ วิธีนี้จะเปิดประตูระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำทางวิญญาณ ทำให้เราเข้าใจแจ่มแจ้งผ่านพระวิญญาณของพระองค์ และเกิดความสำนึกคุณอย่างสุดซึ้งต่อพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และระดับคำมั่นสัญญาทางวิญญาณที่เราจะไม่ได้รับในวิธีอื่น การค้นหาเช่นนั้นเปิดทางให้เราสร้างบนศิลาของพระผู้ไถ่และต้านลมแห่งความชั่วร้ายในยุคสุดท้ายนี้” (“A Reservoir of Living Water” [Brigham Young University fireside, Feb. 4, 2007], 3, speeches.byu.edu)

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน

ส่วนนี้จะระบุข้อพระคัมภีร์ คำพูดของผู้นำศาสนจักร และเนื้อหาอื่นที่จะยกระดับความเข้าใจของนักเรียนเกี่ยวกับหัวข้อที่เน้นในบทเรียน มอบหมายและกระตุ้นให้นักเรียนอ่านเนื้อหาเหล่านี้ก่อนมาเรียนทุกครั้ง เมื่อพวกเขาศึกษาเนื้อหาที่ได้รับการดลใจเหล่านี้ พวกเขาจะไม่เพียงพร้อมเข้าร่วมการสนทนาในชั้นเรียนมากขึ้นเท่านั้น แต่จะเข้าใจหัวข้อหลักสูตรกว้างขึ้นและลึกซึ้งขึ้นด้วย จัดเตรียมรายการ สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน ทั้งหมดให้นักเรียนตั้งแต่ต้นเทอม

ฉันจะเตรียมสอนได้อย่างไร

พระเจ้าจะทรงช่วยท่านขณะที่ท่านเตรียมสอน ขณะเตรียม ท่านอาจจะพบว่าการถามตนเองดังต่อไปนี้จะช่วยได้

  • ฉันกำลังพยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณอย่างมีค่าควรหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อฉันจะได้รับพระวิญญาณในการสอนของฉัน

  • ฉันได้สวดอ้อนวอนขอรับการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือไม่ (ดู ค.พ. 42:14)

  • ฉันศึกษาช่วงพระคัมภีร์ที่มอบหมายและความรู้พื้นฐานที่ควรอ่านหรือไม่

  • ฉันอ่านหลักสูตรและพิจารณาว่ามีสิ่งที่ต้องปรับให้เข้ากับความต้องการของนักเรียนหรือไม่

  • ฉันจะติดตามผลการอ่านของนักเรียนได้อย่างไรเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาได้ประโยชน์มากที่สุดจากการอ่านเหล่านั้น

  • ฉันจะช่วยให้นักเรียนแต่ละคนมีส่วนร่วมในบทเรียนอย่างเต็มที่ได้อย่างไร

ข้อเสนอแนะต่อไปนี้อาจช่วยได้เช่นกัน

  • กระตุ้นให้นักเรียนอ่านข้อพระคัมภีร์และบทความที่มอบหมายก่อนมาชั้นเรียนทุกครั้ง

  • คาดหวังให้นักเรียนทำบทบาทของตนให้เกิดสัมฤทธิผลในฐานะผู้เรียน

  • หาโอกาสบ่อยๆ ให้นักเรียนได้อธิบายหลักคำสอนและหลักธรรมด้วยคำพูดของพวกเขาเอง แบ่งปันประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง และเป็นพยานถึงสิ่งที่พวกเขารู้และรู้สึก

  • ดัดแปลงกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดจนวิธีที่ท่านใช้ในแต่ละชั้นเรียนและวันต่อวันให้หลากหลาย

  • สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่อัญเชิญพระวิญญาณ ให้นักเรียนมีโอกาสและความรับผิดชอบในการสอนและเรียนจากกัน (ดู คพ. 88:78, 122)

  • ตลอดหลักสูตรจะมีการพูดถึงทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ ใช้โอกาสเหล่านี้ช่วยให้นักเรียนพึ่งพาตนเองมากขึ้นในการศึกษาพระคัมภีร์และทุ่มเทมากขึ้นให้แก่การเรียนรู้จากพระคัมภีร์ชั่วชีวิต

เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนดังนี้

ภาพ
เอ็ลเดอร์ริชาร์ด จี. สก็อตต์

“ให้แน่ใจว่านักเรียนมีส่วนร่วมมากๆ เพราะการที่นักเรียนได้ใช้สิทธิ์เสรีเท่ากับอนุญาตให้พระวิญญาณบริสุทธิ์แนะนำสั่งสอน … ขณะที่นักเรียนสนทนาความจริง ความจริงเหล่านี้ได้รับการยืนยันในจิตวิญญาณพวกเขาและเสริมสร้างประจักษ์พยานส่วนตัวของพวกเขา” (“To Understand and Live Truth” [evening with Elder Richard G. Scott, Feb. 4, 2005], 3; si.lds.org)

ฉันจะปรับบทเรียนให้เหมาะกับผู้ทุพพลภาพได้อย่างไร

ขณะที่ท่านเตรียมสอน จงนึกถึงนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ปรับกิจกรรมและความคาดหวังเพื่อช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จ หาวิธีช่วยให้พวกเขารู้สึกถึงความรัก ได้รับการยอมรับ และมีส่วนร่วม ส่งเสริมความสัมพันธ์ของความไว้วางใจ

สำหรับแนวคิดและแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม ให้ค้นหาข้อมูลในเพจ Disability Resources ที่ disabilities.lds.org และคู่มือนโยบายเซมินารีและสถาบันศาสนาในหมวด “ Adapted Classes and Programs for Students with Disabilities