เซมินารีและสถาบัน
บทที่ 16: การกลับใจและการให้อภัย


บทที่ 16

การกลับใจและการให้อภัย

คำนำ

เพื่อจะได้รับการชำระให้สะอาดจากบาป เราต้องใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์สู่การกลับใจ เมื่อเรากลับใจอย่างจริงใจ เราจะได้รับการปลดบาป ซึ่งนำปีติและสันติในมโนธรรมมาสู่จิตวิญญาณของเรา เราสามารถรักษาการปลดบาปไว้ได้ตลอดชีวิตเมื่อเรารักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าอย่างซื่อสัตย์ รักและรับใช้กัน

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “ของประทานอันสูงส่งแห่งการกลับใจ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 47–51

  • นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “จงกลับใจ … เพื่อเราจะรักษาเจ้า,”เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 49–53

  • เครก เอ. คาร์ดอน, “พระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้อภัย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2013, 15

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

แอลมา 34:15–17; 3 นีไฟ 9:13–14, 19–22

การใช้ศรัทธาในคริสต์สู่การกลับใจ

ขอให้นักเรียนจินตนาการว่าผู้นำขอให้พวกเขาพูดในการประชุมศีลระลึกเรื่องการกลับใจ เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาจะพูดเพื่อช่วยให้สมาชิกศาสนจักรเข้าใจหลักคำสอนนี้ดีขึ้น หลังจากพวกเขาแบ่งปันคำตอบแล้ว ให้ดูและอ่านคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งฝ่ายประธานสูงสุด

ภาพ
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ

“เราต้องมีศรัทธามั่นคงในพระคริสต์จึงจะสามารถกลับใจได้” (“จุดกลับที่ปลอดภัย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 123)

  • เหตุใดข้อความนี้จึงเป็นจริง

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง แอลมา 34:15-17ซึ่งบันทึกคำสอนของอมิวเล็คต่อชาวโซรัมเกี่ยวกับการกลับใจ กระตุ้นให้ชั้นเรียนดูตามและดูว่าอมิวเล็คสอนว่าเราต้องทำอะไรจึงจะได้รับการให้อภัย

  • ในข้อเหล่านี้สอนหลักธรรมอะไรเกี่ยวกับการได้รับการให้อภัย (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมนี้บนกระดาน: เพื่อให้ได้รับพรอันเปี่ยมด้วยเมตตาแห่งการให้อภัย เราต้องใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์สู่การกลับใจ ชี้ให้นักเรียนเห็นว่าในข้อเหล่านี้กล่าวถึงวลี “ศรัทธาสู่การกลับใจ” สี่ครั้ง นี่เป็นโอกาสให้ท่านเน้นทักษะการศึกษาพระคัมภีร์เรื่องการมองหาคำซ้ำ)

  • เหตุใดเราจึงต้องใช้ศรัทธาในพระคริสต์เพื่อกลับใจและได้รับการให้อภัย (เราต้องมีศรัทธาในการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้จึงจะทำให้การพลีพระชนม์ชีพมีผลในชีวิตเรา โดยผ่านการชดใช้เท่านั้นที่เราจะได้รับการให้อภัยเพื่อให้ใจเราเปลี่ยนและสะอาดจากบาป [ดู โมไซยาห์ 5:2])

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจดีขึ้นว่าเราจะมาหาพระผู้ช่วยให้รอดและกลับใจอย่างไร ให้อธิบายว่าหลังจากการทำลายล้างทั่วทวีปอเมริกาที่เป็นพยานถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนผู้คนว่าพวกเขาต้องทำอะไรเพื่อกลับใจและได้รับการให้อภัยจากพระองค์ เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษา 3 นีไฟ 9:13-14, 19-22 กับคู่โดยมองหาวลีบอกสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่าเราต้องทำเพื่อมาหาพระองค์และกลับใจ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาค้นพบ

  • พระเจ้าทรงสอนหลักธรรมอะไรบ้างในข้อเหล่านี้เกี่ยวกับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อกลับใจ (ถึงแม้นักเรียนจะเลือกใช้คำพูดต่างกัน แต่พวกเขาควรค้นพบหลักธรรมต่อไปนี้: ถ้าเรามาหาพระคริสต์ด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด พระองค์จะทรงรับเราและไถ่เราจากบาป)

  • พระดำรัสเชื้อเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้ “[มา] หาเราดังเด็กเล็กๆ” (ข้อ 22) และ “กลับมาหาเรา” (ข้อ 13) จะช่วยให้เราเข้าใจความหมายของการมีใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดดีขึ้นได้อย่างไร

  • ประสบการณ์ชีวิตอะไรอาจเป็นเหตุให้บุคคลนั้นมีใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์บรูซ ดี. พอร์เทอร์แห่งสาวกเจ็ดสิบ ท่านอาจแจกสำเนาคำกล่าวให้นักเรียนคนละแผ่น กระตุ้นให้นักเรียนฟังข้อคิดว่าเราถวายใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดอย่างไรเมื่อเรากลับใจ

ภาพ
เอ็ลเดอร์บรูซ ดี. พอร์เทอร์

“ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดคืออะไร … การที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงยอมเชื่อฟังพระบิดานิรันดร์ทุกอย่างคือเนื้อแท้ของใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด แบบอย่างของพระคริสต์สอนเราว่าใจที่ชอกช้ำคือคุณลักษณะนิรันดร์ของความเป็นพระผู้เป็นเจ้า เมื่อใจเราชอกช้ำ เราย่อมเปิดรับพระวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าและรู้ว่าเราต้องพึ่งพาพระองค์ในทุกสิ่งที่เรามีและในทุกสิ่งที่เราเป็น การเสียสละที่ได้รับการถ่ายทอดมาคือการสละความหยิ่งจองหองในทุกรูปแบบ เฉกเช่นดินเหนียวเนื้อนุ่มในมือช่างปั้นหม้อฝีมือดี คนที่ใจชอกช้ำจะถูกปั้นเป็นรูปเป็นร่างในพระหัตถ์ของพระอาจารย์

“ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดเป็นเงื่อนไขอันดับแรกของการกลับใจ [ดู 2 นีไฟ 2:6–7] … เมื่อเราทำบาปและปรารถนาการให้อภัย ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดหมายถึงการประสบ ‘ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า [ที่] ทำให้เกิดการกลับใจ’ (2 โครินธ์ 7:10) สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อความปรารถนาจะรับการชำระให้สะอาดจากบาปแรงกล้าจนใจเราเจ็บปวดด้วยความเศร้าเสียใจ และเราใฝ่หาความรู้สึกสงบกับพระบิดาในสวรรค์ คนที่มีใจชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดจะยอมทำทุกอย่างที่พระผู้เป็นเจ้าทรงขอให้พวกเขาทำโดยไม่ขัดขืนหรือขุ่นเคือง เราหยุดทำสิ่งต่างๆ ตามวิธีของเราและเรียนรู้ที่จะทำตามวิธีของพระผู้เป็นเจ้า ในสภาพของการยอมเชื่อฟังเช่นนั้น การชดใช้จะเกิดผลและการกลับใจที่แท้จริงจะเกิดขึ้น” (“ใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 38)

  • ตามคำกล่าวของเอ็ลเดอร์พอร์เทอร์ การมาหาพระคริสต์ด้วยใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดหมายความว่าอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักศึกษาไตร่ตรองว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์อย่างเต็มที่มากขึ้นโดยถวายใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดแด่พระองค์ ท่านอาจต้องการให้เวลานักเรียนสองสามนาทีเขียนความประทับใจที่มาถึงพวกเขาผ่านพระวิญญาณ

เป็นพยานว่าของประทานอันเปี่ยมด้วยพระเมตตาแห่งการกลับใจของพระผู้ช่วยให้รอดมีให้เราทุกคน เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันความรู้สึกเกี่ยวกับการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดและของประทานแห่งการกลับใจ

อีนัส 1:4–8; โมไซยาห์ 4:1–3; แอลมา 19:29–30, 33–36; 36:19–21

การให้อภัยบาปทำให้เกิดความรู้สึกปีติและสงบ

  • ท่านจะตอบคนที่ต้องการรู้ว่าพวกเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าพวกเขาได้รับการให้อภัยบาปในอดีตอย่างไร

เชื้อเชิญให้นักเรียนค้นคว้า อีนัส 1:4-8; โมไซยาห์ 4:1-3; และ แอลมา 36:19-21โดยมองหาวิธีที่ผู้คนจะรู้ได้ว่าพวกเขากำลังได้รับการปลดบาป

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังได้รับการปลดบาป (ช่วยให้นักเรียนค้นพบหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อเรากลับใจอย่างจริงใจและได้รับการปลดบาป ความรู้สึกผิดของเราจะหมดไป เราเปี่ยมด้วยพระวิญญาณของพระเจ้า เรารู้สึกปีติและสงบ เมื่อพระวิญญาณกระตุ้นเตือน ท่านอาจแบ่งปันคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง “สำหรับผู้ที่กลับใจอย่างแท้จริงแต่ดูเหมือนจะไม่รู้สึกสบายใจ ขอให้รักษาพระบัญญัติต่อไป ข้าพเจ้าสัญญากับท่านว่าท่านจะสบายใจขึ้นตามตารางเวลาของพระเจ้า การเยียวยาต้องใช้เวลาเช่นกัน” [“จงกลับใจ … เพื่อเราจะรักษาเจ้า,”เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 52

เพื่ออธิบายหลักธรรมนี้เพิ่มเติม ขอให้นักเรียนสองสามคนอ่านออกเสียงหลายๆ ข้อที่พูดถึงการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของกษัตริย์ลาโมไนกับผู้คนของเขา ใน แอลมา 19:29-30, 33-36 เชื้อเชิญให้ชั้นเรียนมองหาพรที่ผู้คนได้รับเพราะการกลับใจและศรัทธาของพวกเขา

  • กษัตริย์ลาโมไน ภรรยาของเขา และชาวเลมันอีกหลายคนได้รับพรพิเศษอะไรบ้างเพราะการกลับใจและศรัทธาของพวกเขา (ใจพวกเขาเปลี่ยน เหล่าเทพปฏิบัติต่อพวกเขา พวกเขารับบัพติศมา ศาสนจักรได้รับการสถาปนา และพระเจ้าทรงเทพระวิญญาณมาให้พวกเขา)

  • ท่านเคยเห็นคนอื่นๆ ประสบพรเดียวกันนี้อย่างไรเมื่อพวกเขากลับใจและเข้ามาใกล้พระเจ้ามากขึ้น

เพื่อช่วยให้นักเรียนรู้สึกถึงความจริงและความสำคัญของหลักธรรมข้างต้น ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านประจักษ์พยานต่อไปนี้จากประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ (1924-2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์

“จดหมายหลายฉบับมาจากคนที่ทำผิดร้ายแรง พวกเขาถามว่า ‘ผมจะ ได้ รับการให้อภัยไหม’

“คำตอบคือ ได้!

“พระกิตติคุณสอนเราว่าเราจะปลดเปลื้องความทรมานและความรู้สึกผิดได้โดยผ่านการกลับใจ นอกจากคนไม่กี่คนที่ไปอยู่ฝ่ายหายนะหลังจากรู้ความสมบูรณ์แล้ว ไม่มีนิสัย การเสพติด การกบฏ การล่วงละเมิด และการกระทำผิดใดได้รับยกเว้นจากสัญญาของการให้อภัยอย่างสมบูรณ์

“‘มาเถิด ให้พวกเราสู้ความกัน ถึงบาปของเจ้าเป็นเหมือนสีแดงเข้ม ก็จะขาวอย่างหิมะ ถึงมันจะแดงเหมือนผ้าแดง ก็จะเป็นอย่างขนแกะ’ นั่นคือ อิสยาห์กล่าวต่อ “ถ้าพวกเจ้าเต็มใจและเชื่อฟัง’ [อิสยาห์ 1:18–19]” (“ความแจ่มใสของเช้าแห่งการให้อภัย,” เลียโฮนา, ม.ค. 1996, 19)

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองประสบการณ์เมื่อพวกเขารู้สึกถึงปีติและความสงบในมโนธรรมที่มาพร้อมการกลับใจอย่างสมบูรณ์

โมไซยาห์ 4:11-12, 26

ทำให้การปลดบาปของเรามีอยู่เสมอ

ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โมไซยาห์ 4:11-12, 26 เชื้อเชิญให้นักเรียนมองหาสิ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินสอนว่าเราจะทำให้การปลดบาปของเรามีอยู่เสมอได้อย่างไร

  • ตามคำกล่าวเหล่านี้ของกษัตริย์เบ็นจามิน เราจะทำให้การปลดบาปมีอยู่ตลอดชีวิตเราได้อย่างไร (นักเรียนควรค้นพบหลักธรรมต่อไปนี้: ถ้าเราจดจำความรักและพระคุณความดีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อเรา ยืนหยัดมั่นคงในศรัทธา รักและรับใช้ผู้อื่น เราสามารถทำให้การปลดบาปของเรามีอยู่เสมอ)

เพื่อให้นักเรียนเข้าใจหลักธรรมนี้ลึกซึ้งขึ้น ให้เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน

“การกลับใจหมายถึงพยายามเปลี่ยนแปลง คงเป็นการล้อเลียนความทุกข์ทรมานที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนรับเพื่อเราในเกทเสมนีและบนกางเขนหากเราคิดว่าพระองค์จะทรงเปลี่ยนเราให้เป็นคนดีโดยที่เราไม่ได้พยายามอย่างจริงจัง ตรงกันข้าม เราแสวงหาพระคุณของพระองค์มาเติมเต็มและปูนบำเหน็จความพยายามสุดความขยันหมั่นเพียรของเรา (ดู 2 นีไฟ 25:23) บางทีเราควรทูลขอเวลาและโอกาสในการเพียรพยายามและเอาชนะ พอๆ กับที่เราสวดอ้อนวอนทูลขอความเมตตา แน่นอน พระเจ้าทรงแย้มพระสรวลให้ผู้ปรารถนาจะมาสู่การพิพากษาอย่างมีค่าควร ผู้มุ่งมั่นทำงานแต่ละวันเพื่อแทนที่ความอ่อนแอด้วยความเข้มแข็ง การกลับใจหรือการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงอาจเรียกร้องความพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่มีบางอย่างบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ในความพยายามเช่นนั้น” (“ของประทานอันสูงส่งแห่งการกลับใจ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2011, 49)

  • ท่านมีความคิดและความรู้สึกอะไรบ้างขณะพิจารณาว่าพระเจ้าทรง “แย้มพระสรวลให้” ท่านเมื่อท่านพยายามเอาชนะบาปและความอ่อนแอของมนุษย์

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ รับรองกับนักเรียนว่าเมื่อพวกเขากลับใจ พวกเขาจะประสบปีติและความสงบในมโนธรรม กระตุ้นให้นักเรียนสำรวจชีวิตตนเองและใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์สู่การกลับใจ

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน