การประชุมใหญ่สามัญ
และพวกเขาพยายามจะดูว่าพระเยซูเป็นใคร
การประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม 2022


และพวกเขาพยายามจะดูว่าพระเยซูเป็นใคร

ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระเยซูทรงพระชนม์ ทรงรู้จักเรา และทรงมีเดชานุภาพที่จะรักษา เปลี่ยนแปลง และให้อภัย

พี่น้องและมิตรสหาย ในปี 2013 ข้าพเจ้ากับลอเรลภรรยาได้รับเรียกให้รับใช้เป็นผู้นำคณะเผยแผ่ในคณะเผยแผ่เช็ก/สโลวัก ลูกๆ สี่คนรับใช้กับเรา1 เราได้รับพรเป็นครอบครัวด้วยบรรดาผู้สอนศาสนาที่ฉลาดหลักแหลมและจากวิสุทธิชนชาวเช็กและชาวสโลวักที่ยอดเยี่ยม เรารักพวกเขา

ขณะครอบครัวเราเข้าสู่สนามเผยแผ่ บางสิ่งที่เอ็ลเดอร์โจเซฟ บี. เวิร์ธลินสอนไปกับเราด้วย ในคำปราศรัยชื่อ “พระบัญญัติข้อใหญ่” เอ็ลเดอร์เวิร์ธลินถามว่า “ท่านรักพระเจ้าไหม?” ท่านให้คำแนะนำที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้งแก่พวกเราที่ตอบว่ารักว่า: “จงใช้เวลากับพระองค์ พินิจไตร่ตรองพระคำของพระองค์ แบกแอกของพระองค์ไว้กับท่าน พยายามเข้าใจและเชื่อฟัง”2 จากนั้นเอ็ลเดอร์เวิร์ธลินสัญญาพรแห่งการเปลี่ยนแปลงต่อผู้ที่เต็มใจให้เวลาและให้ที่แก่พระเยซูคริสต์3

เรารับคำแนะนำและสัญญาของเอ็ลเดอร์เวิร์ธลินไว้ในใจ เรากับผู้สอนศาสนาของเราใช้เวลากับพระเยซูมากขึ้นด้วยการศึกษาหนังสือมัทธิว มาระโก ลูกา และยอห์นจากพันธสัญญาใหม่และ 3 นีไฟจากพระคัมภีร์มอรมอน ช่วงสุดท้ายของทุกการประชุมผู้สอนศาสนา เราพบตนเองกลับมายังสิ่งที่เราเรียกว่า “พระกิตติคุณห้าเล่ม”4โดยอ่าน สนทนา พิจารณา และเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซู

สำหรับข้าพเจ้า สำหรับลอเรล และสำหรับผู้สอนศาสนาของเรา การใช้เวลากับพระเยซูผ่านพระคัมภีร์เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง เราซาบซึ้งมากยิ่งขึ้นว่าพระองค์ทรงเป็นใครและสิ่งใดสำคัญต่อพระองค์ เราพิจารณาด้วยกันว่าพระองค์ทรงสอนอย่างไร ทรงสอนอะไร วิธีที่ทรงแสดงความรัก สิ่งที่ทรงทำเพื่อเป็นพรและรับใช้ ปาฏิหาริย์ของพระองค์ วิธีที่ทรงตอบสนองต่อการทรยศ สิ่งที่ทรงทำกับอารมณ์ยากๆ ของมนุษย์ พระฉายาและพระนาม วิธีฟังของพระองค์ วิธีที่ทรงแก้ไขความขัดแย้ง โลกที่ทรงอาศัยอยู่ อุปมาของพระองค์ วิธีที่ทรงสนับสนุนความเป็นหนึ่งเดียวและความเอื้ออารี พระปรีชาสามารถที่จะประทานอภัยและเยียวยา คำเทศนา คำสวดอ้อนวอน การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ การฟื้นคืนพระชนม์ พระกิตติคุณของพระองค์

เรามักรู้สึกเหมือน “คนเตี้ย” ศักเคียสที่วิ่งไปปีนต้นมะเดื่อขณะพระเยซูเสด็จผ่านไปเมืองเยรีโคเพราะเรา “พยายามจะดูว่าพระเยซูเป็นใคร” ตามคำบรรยายของลูกา5 นั่นไม่ใช่พระเยซูดังที่เราต้องการหรือหวังเอาไว้ แต่เป็นพระเยซูดังที่ทรงเป็นจริงๆ ในเวลานั้นและเวลานี้6 ดังที่เอ็ลเดอร์เวิร์ธลินสัญญาไว้ เราเรียนรู้แบบจริงๆ ว่า “พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นพระกิตติคุณแห่งการเปลี่ยนแปลง และนำเราที่เป็นชายหญิงของโลกมาขัดเกลาให้เป็นชายหญิงสำหรับนิรันดร”7

วันเวลาเหล่านั้นเป็นช่วงเวลาพิเศษ เราเกิดความเชื่อที่ว่า “ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่พระเจ้าทรงทำไม่ได้”8 ช่วงบ่ายอันศักดิ์สิทธิ์ในกรุงปราก บราติสลาวา หรือเบอร์โนที่ประสบกับเดชานุภาพและการมีอยู่จริงของพระเยซูยังดังก้องอยู่ในชีวิตเราทุกคน

เรามักศึกษา มาระโก 2:1–12 เรื่องราวในนั้นน่าสนใจยิ่ง ข้าพเจ้าจะอ่านส่วนหนึ่งจากหนังสือมาระโกก่อน จากนั้นจะแบ่งปันตามความเข้าใจหลังจากที่ศึกษาและสนทนาอย่างลึกซึ้งกับผู้สอนศาสนาและคนอื่นๆ9

“หลังจากผ่านไปหลายวัน พระองค์เสด็จเข้าไปในเมืองคาเปอรนาอุมอีก เมื่อคนทั้งหลายได้ยินว่าพระองค์ประทับอยู่ที่บ้าน

“คนจำนวนมากก็มาชุมนุมกันจนล้นออกไปถึงนอกประตู ขณะที่พระองค์กล่าวพระวจนะให้พวกเขาฟังอยู่นั้น

“มีคนสี่คนหามคนง่อยคนหนึ่งมาเฝ้าพระองค์

“แต่เมื่อพวกเขาไม่สามารถเข้าไปถึงตัวของพระองค์เพราะมีคนมาก พวกเขาจึงเจาะดาดฟ้าตรงที่พระองค์ประทับนั้น และเมื่อทำเป็นช่องแล้ว พวกเขาก็หย่อนแคร่ที่คนง่อยนอนอยู่ลงไป

“เมื่อพระเยซูทอดพระเนตรเห็นความเชื่อของพวกเขา พระองค์จึงตรัสกับคนง่อยว่า ‘ลูกเอ๋ย บาปของเจ้าได้รับการอภัยแล้ว’”

หลังจากโต้ตอบกับบางคนในฝูงชน10 พระเยซูทรงมองชายที่ป่วยเป็นง่อยแล้วทรงรักษาร่างกายเขาโดยตรัสว่า:

“เราสั่งเจ้าว่า ‘จงลุกขึ้นยกแคร่ไปบ้านของเจ้าเถิด’

“คน‍ง่อยก็ลุก‍ขึ้น แล้วยกแคร่ของตนทัน‍ที เดินออกไปต่อ‍หน้าคนทั้ง‍หลาย ทุกคนก็ประ‌หลาด‍ใจและสรร‌เสริญพระ‍เจ้ากล่าวว่า ‘เราไม่เคยเห็นอะไรอย่าง‍นี้เลย’”11

ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจ: ช่วงแรกในการปฏิบัติศาสนกิจ พระเยซูเสด็จกลับไปที่คาเปอรนาอุม หมู่บ้านประมงเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งด้านเหนือของทะเลกาลิลี12 ไม่นานก่อนหน้านี้ทรงกระทำปาฏิหาริย์มาเป็นลำดับทั้งการรักษาผู้ป่วยและการขับวิญญาณร้าย13 ด้วยความตื่นเต้นที่จะได้ฟังและพบกับชายที่ชื่อเยซู ชาวบ้านต่างมาชุมนุมกันที่บ้านหลังที่ลือกันว่าพระองค์จะเสด็จมาพัก14 เมื่อพวกเขามา พระเยซูจึงทรงเริ่มสอน15

บ้านในคาเปอรนาอุมยุคนั้นหลังคาจะแบนราบ เป็นที่พักอาศัยชั้นเดียวตั้งรวมกันเป็นกลุ่ม16 หลังคาและผนังเป็นส่วนผสมของหิน ไม้ ดินเหนียว และใบจาก ทางเข้าเป็นขั้นบันไดเรียบง่ายทางด้านข้างของบ้าน17 ฝูงชนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วที่บ้านหลังนั้นจนเต็มห้องที่พระเยซูทรงกำลังสอนและล้นออกมาที่ถนน18

เรื่องราวเน้นไปที่ชาย “ป่วยเป็นง่อย” กับเพื่อนสี่คน19 ง่อยคืออัมพาตรูปแบบหนึ่ง มักจะเป็นร่วมกับอาการอ่อนแรงและสั่น20 ข้าพเจ้านึกภาพหนึ่งในสี่คนนั้นพูดกับเพื่อนว่า “พระเยซูทรงอยู่ในหมู่บ้าน เราต่างรู้เรื่องปาฏิหาริย์ที่ทรงกระทำและบรรดาคนที่ทรงรักษา ถ้าเราพาเพื่อนของเราไปหาพระเยซู พระองค์ก็จะทรงรักษาให้หายด้วยเหมือนกัน”

แล้วแต่ละคนก็ยกคนละมุมของที่นอนหรือแคร่ที่เพื่อนนอนอยู่แล้วเริ่มพาเพื่อนไปตามถนนในคาเปอรนาอุมที่ทั้งแคบ คดเคี้ยว และขรุขระ21 ด้วยกล้ามเนื้อที่ปวดเมื่อย พวกเขาเลี้ยวพ้นมุมถนนสุดท้ายเพียงเพื่อจะพบว่าฝูงชนหรือที่พระคัมภีร์เรียกว่า “คนมาก” ที่ออฟังกันอยู่นั้นมีมากเสียจนไม่มีทางให้พาเพื่อนเข้าไปหาพระเยซูได้22 ด้วยความรักและศรัทธา ทั้งสี่คนไม่ยอมแพ้ แต่พวกเขากลับตะเกียกตะกายขึ้นบันไดไปบนหลังคาแบนราบ ค่อยๆ ยกเพื่อนขึ้นไป แล้วเจาะหลังคาห้องที่พระเยซูทรงกำลังสอน แล้วหย่อนเพื่อนลงไป23

ลองคิดดูว่าระหว่างที่ทรงสอนเรื่องที่น่าจะสำคัญมากอยู่นั้น พระเยซูทรงได้ยินเสียงครูดแล้วทรงเงยขึ้นมอง ทรงเห็นเพดานเป็นช่องขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับมีฝุ่นและเศษหลังคาหล่นลงมาในห้อง จากนั้นชายที่เป็นอัมพาตบนแคร่ก็ถูกหย่อนลงมาที่พื้นห้อง ที่น่าสนใจคือ แทนที่พระเยซูจะทรงเห็นว่านี่เป็นการขัดจังหวะแต่กลับทรงเห็นเป็นเรื่องสำคัญ ทรงมองดูชายบนแคร่ ทรงอภัยบาปให้เขาอย่างเปิดเผย และทรงรักษาร่างกายเขา24

เมื่อนึกถึงเรื่องเล่าจาก มาระโก 2 ความจริงสำคัญหลายประการเกิดความกระจ่างเกี่ยวกับพระเยซูในฐานะพระคริสต์ ประการแรก เมื่อเราพยายามช่วยคนที่เรารักให้มาหาพระคริสต์ เราทำได้ด้วยความมั่นใจว่าพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถที่จะยกภาระของบาปและประทานอภัย สอง เมื่อเรานำความเจ็บป่วยทางกาย ทางอารมณ์ และอื่นๆ มาหาพระคริสต์ เราทำได้โดยที่รู้ว่าพระองค์ทรงมีเดชานุภาพที่จะรักษาและปลอบโยน สาม เมื่อเราพยายามเหมือนสี่คนนั้นที่นำผู้อื่นมาหาพระคริสต์ เราทำได้ด้วยความแน่ใจว่าพระองค์ทรงเห็นเจตนาที่แท้จริงของเราและจะทรงให้เกียรติเจตนานั้นอย่างเหมาะสม

พึงระลึกว่าการสอนของพระเยซูหยุดชะงักลงเพราะหลังคาเป็นช่อง แทนที่จะทรงตำหนิหรือขับไล่ชายสี่คนที่เจาะหลังคาเพราะขัดจังหวะ พระคัมภีร์บอกเราว่า “พระเยซู ทอดพระเนตรเห็น ความเชื่อของพวกเขา”25 ผู้ที่เห็นปาฏิหาริย์จากนั้น “ก็เกรง‍กลัวแล้วพากันสรร‌เสริญพระ‍เจ้าผู้ประ‌ทานสิทธิ‍อำนาจเช่นนั้นแก่มนุษย์”26

พี่น้องทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอทิ้งท้ายโดยเพิ่มข้อสังเกตสองประการ ไม่ว่าเราจะเป็นผู้สอนศาสนา ผู้ปฏิบัติศาสนกิจ ประธานสมาคมสงเคราะห์ อธิการ ครู บิดามารดา พี่น้อง หรือเพื่อน เราทุกคนต่างก็เป็นสานุศิษย์วิสุทธิชนยุคสุดท้ายในงานแห่งการนำผู้อื่นมาหาพระคริสต์ คุณสมบัติที่คนทั้งสี่แสดงออกมาควรค่าแก่การพิจารณาและเลียนแบบ27 พวกเขาห้าวหาญ ปรับตัว ไม่ย่อท้อ สร้างสรรค์ รอบรู้ มีความหวัง เด็ดเดี่ยว เปี่ยมศรัทธา คิดบวก ถ่อมตน และอดทนนาน

นอกจากนี้ ทั้งสี่คนยังเน้นให้เห็นความสำคัญทางวิญญาณของชุมชนและมิตรภาพ28 เพื่อนำเพื่อนมาหาพระคริสต์ แต่ละคนต้องยกที่มุมของตน ถ้าใครสักคนปล่อย สิ่งต่างๆ จะยากขึ้น หากสองคนยอมแพ้ งานนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย เราแต่ละคนมีบทบาทในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า29 เมื่อเราสวมบทบาทนั้นและทำในส่วนของเรา เรายกมุมของเรา ไม่ว่าจะอยู่ในอาร์เจนตินาหรือเวียดนาม อักกราหรือบริสเบน สาขาหรือวอร์ด ครอบครัวหรือคู่ผู้สอนศาสนา เราแต่ละคนมีมุมที่ต้องยก ขณะเรายก และถ้าเราเต็มใจ พระเจ้าจะทรงอวยพรเราทุกคน พระองค์ทรงเห็นศรัทธา ของพวกเขา ฉันใด พระองค์ก็จะทรงเห็นศรัทธา ของเรา และอวยพรเราเป็นกลุ่มด้วยฉันนั้น

ในช่วงชีวิตต่างๆ ข้าพเจ้าพยายามยกมุมของตนเอง และในบางช่วงข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ถูกยก ส่วนที่ทรงพลังของเรื่องราวอันโดดเด่นของพระเยซูเรื่องนี้คือการเตือนให้เราไม่ลืมว่าเราจำเป็นต้องมีกันและกันในฐานะพี่น้องเพียงใด เพื่อจะมาสู่พระคริสต์และรับการเปลี่ยนแปลง

นี่เป็นเพียงบางส่วนของสิ่งที่ข้าพเจ้าเรียนรู้จากการใช้เวลากับพระเยซูผ่านหนังสือ มาระโก 2

“ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดประทานพรให้เราสามารถ [ยกมุมของเรา] ให้เราไม่ละเลย ให้เราไม่กลัว แต่ให้เราเข้มแข็งในศรัทธา และมุ่งมั่นในงานของเรา เพื่อทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จ”30

ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระเยซูทรงพระชนม์ ทรงรู้จักเรา และทรงมีเดชานุภาพที่จะรักษา เปลี่ยนแปลง และให้อภัย ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. อีวี, วิลสัน, ไฮรัม, และจอร์จ

  2. ดู โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน, “พระบัญญัติข้อใหญ่,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 36.

  3. พรที่เอ็ลเดอร์เวิร์ธลินระบุไว้รวมถึงการเพิ่มความสามารถที่จะรัก ความเต็มใจที่จะเชื่อฟังและตอบสนองต่อพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า ความปรารถนาที่จะรับใช้ผู้อื่น และความมีใจที่จะทำความดีต่อไป

  4. “หนังสือพระกิตติคุณ … คือการนำเสนอสี่ส่วนภายใต้ชื่อต่างๆ ของผู้ประกาศข่าวประเสริฐหรือผู้เขียนหนังสือพระกิตติคุณสี่คนเกี่ยวกับพระชนม์ชีพและคำสอนของพระเยซู รวมถึงการทนทุกข์ การสิ้นพระชนม์ และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์” (Anders Bergquist, “Bible,” ใน John Bowden, ed., Encyclopedia of Christianity [2005], 141) Bible Dictionary เสริมว่า “คำว่า พระกิตติคุณ มีความหมายว่า ‘ข่าวประเสริฐ’ ข่าวประเสริฐคือเรื่องที่พระเยซูคริสต์ทรงทำการชดใช้ที่สมบูรณ์แบบเพื่อมนุษยชาติซึ่งจะไถ่มนุษยชาติทั้งปวง … บันทึกเกี่ยวกับพระชนม์ชีพมรรตัยและเหตุการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจของพระองค์เรียกว่าหนังสือพระกิตติคุณ” (Bible Dictionary, “Gospels”) หนังสือ 3 นีไฟ ที่บันทึกโดยนีไฟหลานชายของฮีลามัน ประกอบด้วยบันทึกการปรากฏพระองค์และคำสอนของพระเยซูคริสต์ผู้ฟื้นคืนพระชนม์ในทวีปอเมริกาหลังจากที่เพิ่งทรงถูกตรึงกางเขน ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าเป็น “พระกิตติคุณ” เช่นกัน พระกิตติคุณกระตุ้นความสนใจเป็นพิเศษเพราะบันทึกเหตุการณ์และสภาวการณ์ที่พระเยซูทรงสอนและมีส่วนร่วมเต็มที่ด้วยพระองค์เอง สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญยิ่งสำหรับความเข้าใจพระเยซูในฐานะพระคริสต์ ความสัมพันธ์ที่เรามีต่อพระองค์ และพระกิตติคุณของพระองค์

  5. ดู ลูกา 19:1–4; ดู เจคอบ 4:13 ด้วย (อธิบายว่าพระวิญญาณ “รับสั่งถึงเรื่องดังที่มันเป็นจริง, และถึงเรื่องดังที่มันจะเป็นจริง”) และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 93:24 (นิยามความจริงว่าคือ “ความรู้ถึงสิ่งทั้งหลายดังที่เป็นอยู่, และดังที่เป็นมา, และดังที่จะเป็น”)

  6. ในทำนองเดียวกัน ประธานเจ. รูเบ็น คลาร์ก สนับสนุนการศึกษา “พระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดในพระบุคลิกภาพที่แท้จริง” ท่านเชื้อเชิญให้คนอื่นๆ เข้าไปอยู่ในเรื่องราวพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์ในพระคัมภีร์ เพื่อพยายามและ “ไปกับพระผู้ช่วยให้รอด อาศัยอยู่กับพระองค์ ให้พระองค์ทรงเป็นมนุษย์จริงๆ แน่นอนว่าทรงเป็นครึ่งพระเจ้า แต่กระนั้นก็ตาม พระองค์ทรงเคลื่อนไหวดังที่ชายในสมัยนั้นเคลื่อนไหว” ท่านสัญญามากขึ้นว่าความพยายามนั้น “จะให้มุมมองจริงๆ ต่อพระองค์ ให้ความใกล้ชิดกับพระองค์จริงๆ ในแบบที่ข้าพเจ้าคิดว่าท่านไม่อาจใกล้ชิดได้เช่นนั้นด้วยวิธีอื่น … เรียนรู้สิ่งที่พระองค์ทรงทำ ทรงคิด และทรงสอน ทำสิ่งที่ทรงทำ ดำเนินชีวิตตามพระองค์เท่าที่เราจะทำได้ สมัยนั้นพระองค์ทรงเป็นมนุษย์ผู้ดีพร้อม” (Behold the Lamb of God [1962], 8, 11) สำหรับความเข้าใจเชิงลึกเรื่องคุณค่าและเหตุผลสำหรับการศึกษาพระเยซูในเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ ดู N. T. Wright and Michael F. Bird., The New Testament in Its World (2019), 172–187.

  7. ดู โจเซฟ บี. เวิร์ธลิน, “พระบัญญัติข้อใหญ่,” 36.

  8. ลูกา 1:37

  9. นอกเหนือจากการสนทนาปกติและการสนทนาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ มาระโก 2:1–12 กับผู้สอนศาสนาในคณะเผยแผ่เช็ก/สโลวักแล้ว ข้าพเจ้าสำนึกคุณสำหรับบทเรียนที่ได้เรียนรู้โดยพิจารณาเนื้อหานี้กับเยาวชนชายหญิงของชั้นเรียนเตรียมเป็นผู้สอนศาสนาของสเตคซอลท์เลคไฮแลนด์ รวมถึงผู้นำและสมาชิกของสเตคหนุ่มสาวโสดซอลท์เลคไพโอเนียร์ด้วย

  10. ดู มาระโก 2:6–10

  11. มาระโก 2:11–12

  12. ดู Bruce M. Metzger and Michael D. Coogan, eds., The Oxford Companion to the Bible (1993), 104; James Martin, Jesus: A Pilgrimage (2014), 183–184.

  13. ดู มาระโก 1:21–45

  14. ดู มาระโก 2:1–2

  15. ดู มาระโก 2:2

  16. ดู Metzger and Coogan, The Oxford Companion to the Bible, 104; William Barclay, The Gospel of Mark (2001), 53.

  17. ดู Barclay, The Gospel of Mark, 53; ดู Martin, Jesus: A Pilgrimage, 184 ด้วย.

  18. ดู มาระโก 2:2, 4; ดู Barclay, The Gospel of Mark, 52–53 ด้วย. บาร์เคลย์อธิบายว่า “ชีวิตในปาเลสไตน์เปิดเผยมาก ตอนเช้าประตูบ้านจะเปิดและใครจะเข้าออกอย่างไรก็ได้ ประตูจะไม่ปิดนอกจากจะมีใครสักคนต้องการความเป็นส่วนตัวจริงๆ การเปิดประตูหมายถึงการเชื้อเชิญอย่างเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามา ในบ้านแบบสมถะอย่างที่ [ระบุไว้ใน มาระโก 2] นั้น คงต้องเป็นแบบที่ไม่มีโถงทางเข้า แต่เป็นประตูเปิดตรง … ไปสู่ถนน ดังนั้น ในเวลาเพียงไม่นาน ฝูงชนก็มาออกันเต็มบ้านและเบียดเสียดกันแน่นรอบๆ ประตู และทุกคนต่างกระตือรือร้นมาฟังสิ่งพระเยซูจะตรัสในวันนั้น”

  19. มาระโก 2:3

  20. ดู Medical Dictionary of Health Terms, “palsy,” health.harvard.edu.

  21. ดู Martin, Jesus: A Pilgrimage, 184.

  22. มาระโก 2:4

  23. ดู มาระโก 2:4; ดู Julie M. Smith, The Gospel according to Mark (2018), 155–171 ด้วย.

  24. ดู มาระโก 2:5–12

  25. มาระโก 2:5; เน้นตัวเอน

  26. มัทธิว 9:8; ดู มาระโก 2:12; ลูกา 5:26

  27. หลักคำสอนและพันธสัญญา 62:3 อธิบายว่าผู้รับใช้ของพระเจ้าได้รับ “พร, เพราะประจักษ์พยานซึ่งเจ้าแสดงได้รับการบันทึกไว้ในสวรรค์ … และบาปของเจ้าได้รับการให้อภัยแล้ว”

  28. ดู เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “ความหวังในพระคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 55–56. ประธานบัลลาร์ดสังเกตว่า “ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง” สำคัญต่อทั้งสุขภาพทางกายและทางวิญญาณ และท่านสังเกตว่า “สมาชิกทุกคนในโควรัม องค์การ วอร์ด และสเตคของเราล้วนมีของประทานและพรสวรรค์จากพระผู้เป็นเจ้าที่สามารถช่วยเสริมสร้างอาณาจักรของพระองค์เวลานี้” ดู David F. Holland, Moroni: A Brief Theological Introduction (2020), 61–65 ด้วย. ฮอลแลนด์สนทนาเรื่อง โมโรไน 6 และวิธีที่การมีส่วนร่วมและการผูกมิตรในชุมชนศาสนาช่วยส่งเสริมประสบการณ์ทางวิญญาณส่วนตัวที่ผูกมัดเราให้ใกล้ชิดสวรรค์มากขึ้น

  29. ดู ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “ยืนตรงไหนยกตรงนั้น,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 70. เอ็ลเดอร์อุคท์ดอร์ฟอธิบายว่า “ไม่มีใครสามารถทำงานหรือควรทำงานของพระเจ้าเพียงคนเดียว แต่ถ้าเรายืนชิดกันในที่ซึ่งพระเจ้าทรงมอบหมายและยืนตรงไหนยกตรงนั้น ไม่มีอะไรจะหยุดยั้งไม่ให้งานอันสูงส่งนี้เคลื่อนไปข้างหน้าได้” ดู ฮอง ชี (แซม) วอง, “ให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นเอกภาพ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 15 ด้วย. เอ็ลเดอร์วองอ้างถึง มาระโก 2:1–5 และสอนว่า “ในการช่วยพระผู้ช่วยให้รอด เราต้องทำงานร่วมกันเป็นเอกภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทุกคน ทุกตำแหน่ง และทุกการเรียกมีความสำคัญ”

  30. Oscar W. McConkie, ใน Conference Report, Oct. 1952, 57.