2015
พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ
ธันวาคม 2015


พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ

เมื่อเราเข้าใจและดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ เราจะได้รับชีวิตนิรันดร์เป็นมรดก

ภาพ
illustration of space and stars

ภาพประกอบการวางมือยืนยันโดย ซาราห์ คาราไบน์ เจนสัน; ภาพถ่ายคู่สามีภรรยาหน้าพระวิหารลอสแองเจลิส แคลิฟอร์เนียโดยเจอร์รีย์ การ์นส์; รูปพื้นหลังจาก iStock/Thinkstock

จุดประสงค์ของชีวิต

มนุษย์แต่ละคนเป็นบุตรหรือธิดาที่รักของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์1 แผนแห่งความรอดของพระบิดาบนสวรรค์จัดเตรียมให้แต่ละคนมีโอกาสรับชีวิตนิรันดร์ ซึ่งเป็นชีวิตที่พระผู้เป็นเจ้าทรงนำทาง2 ไม่มีของประทานใดยิ่งใหญ่ไปกว่านี้อีกแล้ว3 ความรู้ในเรื่องแผนแห่งความรอดอธิบายจุดประสงค์ของชีวิตและถ้าเราเลือกทำตามสิ่งนี้จะช่วยเราตัดสินใจจากมุมมองนิรันดร์

แผนดังกล่าวและเรื่องราวของแผนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมรรตัยมีอธิบายไว้อย่างทรงพลังในบทความจาก เลียโฮนา เดือนตุลาคม ปี 2015 เขียนโดยเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง4 ส่วนหนึ่งในแผนของพระบิดา พระองค์ทรงจัดตั้งพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจเพื่อทำให้บุตรธิดาของพระองค์กลับไปยังที่ประทับของพระองค์และได้รับชีวิตนิรันดร์เป็นมรดก

ในคำนำของพระคัมภีร์หลักคำสอนและพันธสัญญา พระเจ้าตรัสว่า “ดังนั้น, เรา พระเจ้า, โดยรู้ภัยพิบัติซึ่งจะเกิดขึ้นกับผู้อยู่อาศัยของแผ่นดินโลก, จึงเรียกหาผู้รับใช้ของเรา โจเซฟ สมิธ, จูเนียร์, และพูดกับเขาจากสวรรค์, …

“เพื่อพันธสัญญาอันเป็นนิจของเราจะได้รับการสถาปนา”5

พันธสัญญานี้ ซึ่งพระเจ้ามักจะตรัสว่าเป็น “พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ” แวดล้อมไปด้วยความสมบูรณ์แห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ รวมถึงศาสนพิธีและพันธสัญญาทุกอย่างที่จำเป็นต่อความรอดของมนุษยชาติ6 ถึงแม้การจัดตั้งพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของพระเจ้าบนแผ่นดินโลกเป็นจุดประสงค์หลักของการฟื้นฟู แต่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนไม่เข้าใจความสำคัญของพันธสัญญาและคำสัญญาถึงสิ่งดีต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้คนที่ทำตาม จุดประสงค์ของบทความนี้คือเพื่อช่วยให้เราแต่ละคนมีความเข้าใจมากขึ้นและดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจเพื่อที่เราจะได้รับชีวิตนิรันดร์เป็นมรดก บทความนี้จะอธิบายว่าหนึ่งในศาสนพิธีและพันธสัญญาที่สำคัญที่สุดของพระกิตติคุณ—การแต่งงานนิรันดร์—คือส่วนหนึ่งของพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของพระกิตติคุณ

ความหมายและจุดประสงค์ของพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ

พันธสัญญาในความหมายของพระกิตติคุณคือข้อตกลง สัญญา หรือการยินยอมระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับบุคคลคนหนึ่ง (หรือหลายคน) ที่รับศาสนพิธีฐานะปุโรหิตโดยผู้มีสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตและยินยอมทำตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับพันธสัญญานั้น พระผู้เป็นเจ้าทรงสถาปนางื่อนไขและข้อกำหนดเหล่านี้7

ภาพ
Deacons passing the sacrament to a Filipino congregation.

พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ “คือผลรวมของข้อผูกมัดและพันธสัญญาของพระกิตติคุณทั้งหมด”8 ที่ให้ไว้ในสมัยโบราณ9 และได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งบนแผ่นดินโลกในยุคสุดท้ายนี้ สิ่งนี้อธิบายไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:2: “ตามจริงแล้วเรากล่าวแก่เจ้า, เจ้าเป็นสุขแล้วที่รับ พันธสัญญาอันเป็นนิจของเรา, แม้ความสมบูรณ์แห่งกิตติคุณของเรา, ที่ส่งออกไปถึงลูกหลานมนุษย์, เพื่อพวกเขาจะได้มีชีวิตและทรงทำให้เป็นผู้รับส่วนรัศมีภาพทั้งหลายซึ่งจะทรงเปิดเผยในวันเวลาสุดท้าย, ดังที่บรรดาศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกในสมัยโบราณเขียนไว้.”10 เนื่องจากพันธสัญญาดังกล่าวได้รับการฟื้นฟูในสมัยการประทานสุดท้าย จึงเป็นพันธสัญญา “ใหม่” และเพราะพันธสัญญานี้ขยายออกไปชั่วนิรันดร11 จึง “เป็นนิจ”

ในพระคัมภีร์พระเจ้าตรัสไว้ทั้ง “หนึ่งใน” พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ กับ พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ “โดยรวม” ตัวอย่างเช่น ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 22:1พระองค์ตรัสว่าบัพติศมาคือ “พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ อย่างหนึ่ง ที่มีมาจากกาลเริ่มต้น” ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:4 พระองค์ตรัสทำนองเดียวกันว่าการแต่งงานนิรันดร์คือ “หนึ่งใน พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ” เมื่อพระองค์ตรัสถึง“หนึ่งใน” พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ พระองค์กำลังตรัสถึงพันธสัญญาหนึ่งในบรรดาพันธสัญญาทั้งหลายที่มีอยู่ในพระกิตติคุณของพระองค์

เมื่อพระเจ้าตรัสโดยทั่วไปถึงพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ “โดยรวม” พระองค์กำลังตรัสถึงความสมบูรณ์แห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ซึ่งมีศาสนพิธีและพันธสัญญาที่จำเป็นต่อความรอดและความสูงส่งของมนุษยชาติ ทั้งบัพติศมาหรือการแต่งงานนิรันดร์ไม่ได้เป็นพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ “โดยรวม” แต่ทั้งสองอย่างคือแต่ละส่วนของพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ

ผู้ที่อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ในพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจจะได้รับชีวิตนิรันดร์

มีพรอันยิ่งใหญ่และเป็นนิรันดร์สัญญาไว้กับผู้ที่รับศาสนพิธีแห่งพระกิตติคุณที่ประกอบพิธีโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตที่ถูกต้องและผนึกโดยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา12 และกับผู้ที่รักษาพันธสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับพันธสัญญาดังกล่าวหลังจากนั้น พรเหล่านี้ได้แก่การให้อภัยบาป13 พลังอำนาจของความเป็นพระผู้เป็นเจ้า14 และการเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์15 พร้อมด้วยการนำทาง การดลใจ การปลอบโยน สันติสุข ความหวัง และการชำระให้บริสุทธิ์ซึ่งควบคู่มากับของประทานนั้น16

พรอันยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาพรและของประทานทั้งปวงของพระผู้เป็นเจ้าคือชีวิตนิรันดร์—ซึ่งเป็นชีวิตที่พระผู้เป็นเจ้าทรงดำรงอยู่!17 ของประทานนี้ให้ไว้เฉพาะผู้ที่รับศาสนพิธีของพระกิตติคุณอย่างครบถ้วนและปฏิบัติตามพันธสัญญาที่ระบุไว้ในพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ18 ในพระคำของพระเจ้า: “พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ … สถาปนาไว้เพื่อความสมบูรณ์แห่งรัศมีภาพของเรา”19 แน่นอนว่า ผู้ที่เข้าสู่พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจและอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่ “จะออกมาในการฟื้นคืนชีวิตครั้งแรก … และจะสืบทอดบัลลังก์, อาณาจักร, มลฑล, และอำนาจ, อำนาจการปกครอง, ยอดสูงสุดและห้วงลึกทั้งปวง”20 พระเจ้าทรงประกาศอย่างเฉียบขาดว่า “มันจะบังเกิดกับพวกเขาในสิ่งทั้งปวงไม่ว่าอะไรก็ตามที่ผู้รับใช้ของเราให้ไว้แก่พวกเขา, ในกาลเวลา, และตราบชั่วนิรันดร; และจะมีผลบังคับเต็มที่เมื่อพวกเขาไปจากโลก; และพวกเขาจะผ่านเหล่าเทพ, และบรรดาผู้เป็นเจ้า, ซึ่งกำหนดไว้ให้อยู่ที่นั่น, ไปสู่ความสูงส่งและรัศมีภาพของพวกเขาในสิ่งทั้งปวง, ดังที่ผนึกไว้บนศีรษะพวกเขา, ซึ่งรัศมีภาพนี้จะเป็นความสมบูรณ์และความต่อเนื่องของพงศ์พันธุ์ทั้งหลายตลอดกาลและตลอดไป. เมื่อนั้นพวกเขาจะเป็นผู้เป็นเจ้า”21

สรุปคือ ผู้คนที่เข้าไปในพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ อดทนอย่างซื่อสัตย์จนกว่าชีวิตจะหาไม่จะ (1) ได้รับความบริบูรณ์แห่งรัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้า (2) ชื่นชมยินดีกับพลังอำนาจแห่งความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าในกาลเวลาและนิรันดร22 (3) ได้รับความสูงส่ง (4) ปีติยินดีในการแต่งงานนิรันดร์และทวีขึ้น และ (5) เป็นผู้เป็นเจ้า เมื่อนำมารวมกันแล้ว พรเหล่านี้ทำให้เกิดของประทานแห่งชีวิตนิรันดร์

เราต้องเชื่อฟังพันธสัญญาแต่ละอย่างที่อยู่ภายในพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ

พระเจ้าทรงประกาศอย่างชัดแจ้งว่าเราได้รับพรอันสูงส่งเหล่านี้ก็ต่อเมื่อเราเชื่อฟังกฏของพระองค์ตามที่ทรงกำหนดไว้ในพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจเท่านั้น “พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจนั้น … สถาปนาไว้เพื่อความสมบูรณ์แห่งรัศมีภาพของเรา; และคนที่ได้รับความสมบูรณ์ของรัศมีภาพนั้นต้องปฏิบัติตามและจะปฏิบัติตามกฎ, มิฉะนั้นเขาจะอัปมงคล, พระเจ้า พระผู้เป็นเจ้าตรัส.”23 พระองค์ทรงประกาศด้วยว่า “เพราะคนทั้งปวงที่ปรารถนารับพรจากมือเราจะปฏิบัติตามกฎซึ่งกำหนดไว้สำหรับพรนั้น, และเงื่อนไขในนั้น, ดังที่วางไว้นับแต่ก่อนการวางรากฐานของโลก.”24 ในภาคเดียวกันของหลักคำสอนและพันธสัญญา พระเจ้าทรงย้ำประเด็นนี้ว่า “ตามจริงแล้ว, ตามจริงแล้ว, เรากล่าวแก่เจ้า, เว้นแต่เจ้าจะปฏิบัติตามกฎของเรา เจ้าจะบรรลุถึงรัศมีภาพนี้ไม่ได้.”25

ข้อกำหนดอันตรงไปตรงมาที่เราต้องเชื่อฟังกฏของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อจะรับรัศมีภาพที่พระองค์ทรงเสนอให้นั้นประยุกต์ใช้กับศาสนพิธีและพันธสัญญาทุกอย่างที่อยู่ภายในพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ ตัวอย่างเช่น ถ้าข้าพเจ้าไม่รับศาสนพิธีและรักษาพันธสัญญาของบัพติศมา ข้าพเจ้าจะอัปมงคล หมายความว่าข้าพเจ้าจะไม่ก้าวหน้า—ข้าพเจ้าไม่สามารถรับความบริบูรณ์แห่งรัศมีภาพของพระองค์เป็นมรดก ในทำนองเดียวกันถ้าข้าพเจ้าไม่รับศาสนพิธีต่างๆ ของพระวิหารและไม่รักษาพันธสัญญาที่เกี่ยวข้อง หรือถ้าข้าพเจ้าปฏิเสธไม่รับศาสนพิธีใดๆ ของพระกิตติคุณหรือปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพันธสัญญา ข้าพเจ้าก็ไม่สามารถได้รับความสูงส่ง แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าจะอัปมงคล หมายความว่าความก้าวหน้าของข้าพเจ้าจะหยุดลง สรุปคือ ข้าพเจ้าต้องรับศาสนพิธีทุกอย่างของพระกิตติคุณและปฏิบัติตามทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพันธสัญญาหากชีวิตนิรันดร์คือความปรารถนาของข้าพเจ้า

ความหมายของพันธสัญญาในฐานะที่้เราซึ่งเป็นวิสุทธิชนยุคสุดท้ายยินยอมดำเนินชีวิตตามสามารถจำแนกเป็นสี่ข้อดังนี้ (1) รับพระนามของพระผู้ช่วยให้รอดไว้กับเรา ระลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา และทำตามแบบอย่างของพระองค์ (2) รักษาพระบัญญัติของพระองค์ทุกข้อ (3) เต็มใจรับใช้บุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าในฐานะส่วนหนึ่งของงานแห่งความรอดของพระองค์ แม้เป็นการเสียสละส่วนตัว (4) อุทิศถวายตนและทรัพย์สินของเราเพื่องานของพระเจ้า

เนื่องด้วยกฏของพระผู้เป็นเจ้า พระกิตติคุณ (และรัศมีภาพที่ทรงเสนอให้) ได้รับผ่านศาสนพิธีที่เจาะจงซึ่งประกอบโดยสิทธิอำนาจของฐานะปุโรหิต โดยผ่านศาสนพิธีของฐานะปุโรหิต อำนาจของความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้าจะประจักษ์ในชีวิตเรา—แต่จะขึ้นอยู่กับว่าเรารักษาพันธสัญญาที่เกี่ยวข้องเท่านั้น พันธสัญญากระตุ้น หรือให้ชีวิต ศาสนพิธี เป็นเหมือนเครื่องยนต์ที่ให้พลังชีวิตแก่รถยนต์และทำให้รถขนส่งสิ่งที่อยู่บนรถจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง กล่าวโดยย่อคือ ถ้าเราเอาใจใส่และซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาที่ควบคู่มากับศาสนพิธีที่เรารับ เราจะเติบโตในความรู้เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าและประสบกับ “อำนาจของความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้า”26 จากพระคุณของพระผู้เป็นเจ้าโดยผ่านการชดใช้ของพระคริสต์27

สถานที่แต่งงานในพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ

ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:4พระเจ้าตรัสว่าพระองค์กำลังจะเปิดเผยพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ “อย่างหนึ่ง” และตรัสเสริมว่า “หากเจ้าหาปฏิบัติตามพันธสัญญานั้นไม่, เมื่อเป็นดังนี้เจ้าก็จะอัปมงคล; เพราะไม่มีใครจะปฏิเสธพันธสัญญานี้และได้รับอนุญาตให้เข้ามาในรัศมีภาพของเราได้.” ถ้อยคำนี้กล่าวถึงพันธสัญญาของการแต่งงานนิรันดร์28 ซึ่งประกอบพิธีโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตที่ถูกต้อง29 อันเป็นส่วนสำคัญและจำเป็นของพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ “โดยรวม” (ความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์)30 พระเจ้าทรงเน้นความสำคัญยิ่งในพันธสัญญาของการแต่งงานนิรันดร์โดยตรัสกับเราว่าผู้ที่ปฏิเสธพันธสัญญานี้จะไม่ได้รับชีวิตนิรันดร์31

บางคน รวมถึงสมาชิกศาสนจักรบางคน อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:4 อย่างไม่ถูกต้อง โดยให้ความหมายว่าการแต่งภรรยาหลายคนจำเป็นสำหรับความสูงส่ง ทำให้พวกเขาเชื่อว่าการแต่งภรรยาหลายคนเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อความสูงส่งในอาณาจักรนิรันดร์ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนในการเปิดเผย ดังที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 131 และ 132พระเจ้าทรงแนะนำกฏการแต่งงานนิรันดร์โดยตรัสอย่างแจ้งชัดถึงการผนึกของชายและหญิง (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:4-7, 15-25) โดยทรงกำหนดกฏการแต่งงานนิรันดร์ในบริบทของการแต่งงานที่มีคู่สมรสคนเดียว พระเจ้ารับสั่งอย่างเรียบง่ายว่าพรของความสูงส่ง มีให้แก่ชายและหญิงแต่ละคนผู้ที่เข้าสู่พันธสัญญาของการแต่งงานนิรันดร์อย่างมีค่าควรซึ่งประกอบพิธีโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตที่ถูกต้อง มีอิสระว่าจะเลือกการแต่งภรรยาหลายคนหรือการมีคู่สมรสเพียงคนเดียว32

ภาพ
Bride and groom exiting the temple.

ภาพพระวิหารเร็กซ์เบิร์ก ไอดาโฮ

หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:19 กล่าวอย่างชัดเจนว่าชีวิตนิรันดร์นั้นสัญญาแก่ผู้ที่มีคู่สมรสเพียงคนเดียวซึ่งผนึกโดยอำนาจฐานะปุโรหิตและผู้ที่ปฏิบัติตามพันธสัญญา—อย่างไม่มีเงื่อนไขหรือข้อเรียกร้องเพิ่มเติม ชายหญิงคนใดก็ตามที่ได้รับการผนึกในวิธีนี้และผู้ที่ดำเนินชีวิตภายใต้พันธสัญญานี้จะได้รับความสูงส่ง33 วิธีปฏิบัติที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์สอดคล้องกับหลักคำสอนของการแต่งงานนิรันดร์ดังอธิบายไว้ที่่นี่34 ศาสนพิธีที่ผนึกคู่สามีภรรยาเพื่อนิรันดรมีพันธสัญญาและพรเดียวกันกับการแต่งงานแบบมีคู่ครองเพียงคนเดียวและการแต่งภรรยาหลายคนที่ได้รับความเห็นชอบซึ่งกระทำในอดีต พันธสัญญาและพรเดียวกันนี้จะมีให้หลังจากชีวิตนี้สำหรับคนซื่อสัตย์ที่ไม่มีโอกาสได้รับการผนึกในความเป็นมรรตัย35

หลังจากการเปิดเผยกฏและพันธสัญญาของการแต่งงานนิรันดร์ระหว่างชายหนึ่งคนกับหญิงหนึ่งคน พระเจ้าทรงสอนโจเซฟ สมิธว่าชายหนึ่งคนสามารถแต่งงานอย่างชอบธรรมกับหญิงได้มากกว่าหนึ่งคนภายใต้พันธสัญญาของการแต่งงานนิรันดร์เมื่อได้รับความเห็นชอบหรือพระบัญชาจากพระเจ้าผ่านศาสดาพยากรณ์ที่ได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ (ผู้ที่ถือกุญแจฐานะปุโรหิตที่เกี่ยวข้อง)36 พระเจ้าประทานความเห็นชอบและพระบัญชาที่จะปฏิบัติการแต่งภรรยาหลายคนผ่านอับราฮัมและศาสดาพยากรณ์ในสมัยโบราณ37 ซึ่งประทานแก่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเช่นเดียวกันว่า “เราให้แก่เจ้า, ผู้รับใช้ของเรา โจเซฟ, หน้าที่รับผิดชอบ, และฟื้นฟูสิ่งทั้งปวง.”38

หลายปีต่อมา พระเจ้าทรงเพิกถอนความเห็นชอบและพระบัญชาให้สมาชิกศาสนจักรเข้าสู่การแต่งภรรยาหลายคน (กล่าวอีกนัยหนึ่ง ได้รับการผนึกกับคู่ครองที่ยังมีชีวิตมากกว่าหนึ่งคน) เมื่อประธานวิลฟอร์ด วูดรัฟฟ์ (1807-1898) ออกคำแถลงนโยบายปี 189039 สิ่งนี้นำไปสู่การสิ้นสุดของการแต่งภรรยาหลายคน หมายความว่าไม่มีสมาชิกศาสนจักรคนใดสามารถแต่งงานหรือได้รับการผนึกกับคู่ครองที่ยังมีชีวิตมากกว่าหนึ่งคนอีกต่อไป เป็นที่น่าสังเกตว่าคำแถลงนโยบายดังกล่าวไม่ได้ขัดขวางชายที่มีค่าควรคนใดที่ผนึกกับภรรยาซึ่งปัจจุบันสิ้นชีวิตแล้วจากการผนึกกับอีกคนซึ่งเป็นคู่ครองที่ยังมีชีวิตอยู่ ข้อความที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้สอดคล้องกับหลักคำสอนที่ได้รับการเปิดเผยว่าการแต่งงานที่มีคู่สมรสเพียงคนเดียวเป็นมาตรฐานของพระเจ้าสำหรับการแต่งงานเว้นแต่พระองค์จะทรงประกาศและทรงอนุญาตให้เป็นอื่นโดยผ่านตัวแทนที่ได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากพระองค์ หมายถึงประธานและศาสดาพยากรณ์ของศาสนจักร40

ในนามของฝ่ายประธานสูงสุดและการตอบคำถามที่ว่า “การแต่งภรรยาหลายคนหรือการแต่งงานซีเลสเชียลจำเป็นต่อความบริบูรณ์ของรัศมีภาพในโลกที่จะมาถึงหรือไม่” ประธานชาร์ลส์ ดับเบิลยู. เพนโรส (1832-1925) เขียนว่า “การแต่งงานซีเลสเชียลจำเป็นต่อความบริบูรณ์ของรัศมีภาพในโลกที่จะมาถึง ดังที่อธิบายไว้ในการเปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ ไม่ได้กล่าวว่าการแต่งภรรยาหลายคนเป็นสิ่งที่จำเป็น41

ในปี 1933 ฝ่ายประธานสูงสุดประกาศว่า “การแต่งงานซีเลสเชียล—เป็นการแต่งงานเพื่อกาลเวลาและนิรันดร—กับพหุสมรสหรือการแต่งภรรยาหลายคนไม่ได้มีความหมายที่คล้ายกันเลย การแต่งงานแบบมีคู่ครองเพียงคนเดียวเพื่อกาลเวลาและนิรันดร ซึ่งเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ในพระวิหารของเรานั้นเป็นไปตามพระดำรัสของพระเจ้าและกฏของศาสนจักร คือการแต่งงานซีเลสเชียล”42

เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915-1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเขียนสิ่งที่สอดคล้องกับข้อความนี้ว่า “การแต่งภรรยาหลายคนไม่จำเป็นต่อความรอดหรือความสูงส่ง นีไฟและผู้คนของท่านถูกปฏิเสธอำนาจที่มีจะภรรยามากกว่าหนึ่งคนแต่พวกเขายังสามารถได้รับพรทุกประการในนิรันดรที่พระเจ้าทรงมีให้ผู้คน ในยุคสมัยของเรา พระเจ้าทรงสรุปด้วยการเปิดเผยหลักคำสอนเรื่องความสูงส่งและทรงอธิบายเรื่องนี้ในเชิงการแต่งงานของชายหนึ่งคนกับหญิงหนึ่งคน (คพ. 132:1-28) หลังจากนั้น ทรงเพิ่มเติมหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการมีภรรยาหลายคนด้วยการกำหนดเงื่อนไขอันชัดเจนว่าการแต่งงานเช่นนั้นจะมีผลก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากประธานศาสนจักร (ค.พ. 132:7, 29-66)”43

ดังที่ได้รับการนำทางจากพระเจ้าโดยผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ ปัจจุบันศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายไม่ปฏิบัติการแต่งภรรยาหลายคนอีกต่อไป บุคคลที่ยังปฏิบัติเช่นนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมศาสนจักรหรือเป็นสมาชิกของศาสนจักร ศาสนจักรยืนยันว่าการแต่งงานแบบมีคู่ครองเพียงคนเดียวเป็นมาตรฐานของพระผู้เป็นเจ้าสำหรับการแต่งงานยกเว้นเมื่อพระองค์ทรงเห็นชอบหรือมีพระบัญชาให้เป็นอื่นผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ ศาสนจักรไม่สอนว่าการมีส่วนร่วมในการแต่งภรรยาหลายคนจำเป็นต่อความสูงส่ง

สรุป

ภาพ
A young family in New York City and sitting on a couch reading scriptures together. In some shots the couple is alone.

มีอีกมากที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับชีวิตหลังจากชีวิตนี้ อย่างไรก็ตาม เรารู้ว่าการได้รับและปฏิบัติตามพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจจำเป็นต่อการได้รับชีวิตนิรันดร์เป็นมรดก เรารู้เช่นกันว่า “สังคมอย่างเดียวกันนั้นซึ่งมีอยู่ท่ามกลางพวกเราที่นี่”—ในความเป็นมรรตัย—“จะมีอยู่ท่ามกลางพวกเราที่นั่น”—ในชีวิตหลังจากชีวิตนี้—“เพียงแต่จะควบคู่ไปกับรัศมีภาพนิรันดร์”44

พรอันสูงส่งที่มีผ่านพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจเป็นศูนย์กลางต่อจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่แห่งแผนของพระบิดาและการฟื้นฟูศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ในยุคสุดท้ายนี้ “ความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวัง”45 พันธสัญญาอันเปี่ยมไปด้วยรัศมีภาพนี้ดลใจให้ผู้ที่ซื่อสัตย์เตรียม “สมอให้จิตวิญญาณมนุษย์, ซึ่งจะทำให้พวกเขามั่นคงและแน่วแน่, ทำงานดีมากมายอยู่เสมอ, อันจะนำไปสู่การสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า.”46 เพราะทุกคนที่ปฏิบัติตามข้อตกลงของพันธสัญญาใหม่และเป็นนิจ จะมีปีติและสันติสุขในโลกนี้และชีวิตนิรันดร์ในโลกหน้าเป็นรางวัล47

อ้างอิง

  1. ดู “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” เลียโฮนา พ.ย. 2010, 129; ดู God Loveth His Children (จุลสาร, 2007), 1 ด้วย.

  2. ดู โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “แผนแห่งความรอด: ขุมทรัพย์อันศักดิ์สิทธิ์ของความรู้เพื่อนำทางเรา,” เลียโฮนา ต.ค. 2015, 32-39.

  3. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 14:7.

  4. ดู โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “แผนแห่งความรอด: ขุมทรัพย์อันศักดิ์สิทธิ์ของความรู้เพื่อนำทางเรา” 32-39.

  5. หลักคำสอนและพันธสัญญา 1:17, 22.

  6. หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:2.

  7. ดู Bible Dictionary, “พันธสัญญา”

  8. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, Doctrines of Salvation, ed. บรูซ อาร์. แมคคองกี, 3 vols. (1954-56), 1:156.

  9. ดู เยเรมีย์ 32:40; หลักคำสอนและพันธสัญญา 22:1.

  10. เน้นตัวเอน; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 39:11ด้วย; 45:9; 49:9; 88:131, 133; 101:39.

  11. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:7.

  12. ประธานโจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ (1876-1972) สอนดังนี้ “พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญาคือพระวิญญาณบริสุทธิ์ ผู้ที่วางและประทับตราอนุญาตทุกศาสนพิธีไม่ว่าจะเป็น บัพติศมา การยืนยัน การแต่งตั้ง การแต่งงาน คำสัญญาคือพรที่ได้รับผ่านความซื่อสัตย์ หากบุคคลหนึ่งฝ่าฝืนพันธสัญญา ไม่ว่าจะเป็นพันธสัญญาบัพติศมา การแต่งตั้ง การแต่งงาน หรือพันธสัญญาอื่น พระวิญญาณจะถอนตราประทับอนุญาต และจะไม่ได้รับพร ศาสนพิธีทุกอย่างได้รับการผนึกด้วยคำสัญญาโดยมีรางวัลซึ่งขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์ พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์จะถอนตราประทับอนุญาตเมื่อไม่รักษาพันธสัญญา” (Doctrines of Salvation, 1:45; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 76:52-53; 132:7 ด้วย).

  13. ดู กิจการของอัครทูต 2:38; 2 นีไฟ 31:17; โมโรไน 8:25.

  14. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:19-21; ดู โมโรไน 10:32-33 ด้วย.

  15. ดู ยอห์น 14:26; หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:45-46.

  16. ดู 2 นีไฟ 32:5; 3 นีไฟ 27:20; โมโรไน 8:26; หลักคำสอนและพันธสัญญา 11:13; โมเสส 6:59-61.

  17. “Eternal life is God’s life, or life with God” (ฮาโรลด์ บี. ลี,ในรายงานการประชุมใหญ่, ต.ค. 1956, 61). “ผู้ที่แต่งงานในพระวิหารเพื่อกาลเวลาและนิรันดรจะได้รับพรแห่ง ชีวิตนิรันดร์ ข้าพเจ้าเน้นคำว่า ชีวิตนิรันดร์ ชีวิตนิรันดร์คือชีวิตของพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือการเป็นเหมือนพระองค์” (โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, คำตอบของคำถามพระกิตติคุณ, comp. โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ จูเนียร์., 5 vols. (1957-66), 4:197).

  18. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 14:7.

  19. หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:6.

  20. หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:19.

  21. หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:19-20.

  22. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:19-21.

  23. หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:6.

  24. หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:5.

  25. หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:21.

  26. หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:20-21.

  27. ดู โมโรไน 10:32-33.

  28. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:4, 15.

  29. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:7, 18.

  30. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:6-7; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 66:2 ด้วย.

  31. ขอให้สังเกตว่าผู้ที่ “ปฏิเสธ” ชีวิตนิรันดร์จะถูกปฏิเสธจากพันธสัญญานี้ ในทางกลับกัน ผู้ที่ไม่มีโอกาสแต่งงานนิรันดร์ในชีวิตนี้จะได้รับโอกาสแต่งงานนิรันดร์ในชีวิตหน้า ให้ดูเชิงอรรถ 35 ด้านล่างด้วย.

  32. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:15-25.

  33. สำหรับตัวอย่างเพิ่มเติมที่ยืนยันว่าคู่แต่งงานที่มีคู่ครองเพียงคนเดียวผู้ได้รับการผนึกเพื่อนิรันดรและรักษาพันธสัญญาที่เกี่ยวข้องจะได้รับความสูงส่ง ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 131.

  34. ดูหัวข้อพระกิตติคุณ “แต่งภรรยาหลายคนในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย,” topics.lds.org.

  35. “วิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่สิ้นชีวิตหลังจากดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์จะไม่มีใครสูญเสียสิ่งใดเพราะไม่ได้ทำบางอย่างที่โอกาสไม่เอื้ออำนวยให้เขาทำ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ถ้าชายหนุ่มหรือหญิงสาวไม่มีโอกาสแต่งงาน และพวกเขาดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์จนถึงวันที่พวกเขาสิ้นชีวิต พวกเขาจะได้รับพรทุกประการ ความสูงส่ง และรัศมีภาพที่ชายหรือหญิงใดจะมีได้ถ้าพวกเขามีโอกาสนี้และปรับปรุง นั่นเป็นสิ่งที่แน่นอนและเชื่อถือได้” (คำสอนของประธานศาสนจักร: ลอเรนโซ สโนว์ [2011], 130).

  36. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:34-35, 37-39.

  37. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:34-39.

  38. หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:40.

  39. ดู ข้อประกาศอย่างเป็นทางการ 1.

  40. ดู เจคอบ 2:27-30. แม้ว่าพระเจ้าจะไม่ทรงอธิบายเหตุผลทุกอย่างสำหรับพระบัญชาหรือการอนุญาตให้ปฏิบัติการแต่งภรรยาหลายคนใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 132 แต่พระเจ้าทรงบอกเหตุผลสองข้อดังนี้ (1) ทำให้สัญญาเกิดสัมฤทธิผลตามพันธสัญญาอับราฮัม และ (2) “เพื่อขยายเผ่าพันธุ์และเพิ่มพูนให้เต็มแผ่นดินโลก” (ค.พ. 132:63; ดู ข้อ 34 ด้วย). บางทีเจคอบ 2:30 อาจเสนอข้อความที่กระชับที่สุดว่าเหตุใดบางครั้งพระเจ้าทรงบัญชาให้มีการแต่งภรรยาหลายคน “พระเจ้าจอมโยธาตรัส, เพราะหากเราจะ, เลี้ยงพงศ์พันธุ์ให้ทวีขึ้นเพื่อเรา, เราจะบัญชาผู้คนของเรา; มิฉะนั้นพวกเขาจะสดับฟังเรื่องเหล่านี้.” ดูหัวข้อพระกิตติคุณ “แต่งภรรยาหลายคนในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย,” ด้วย topics.lds.org.

  41. Charles W. Penrose, “Peculiar Questions Briefly Answered,” Improvement Era, ก.ย. 1912, 1042; เน้นตัวเอน.

  42. ใน James R. Clark, comp., ข่าวสารจากฝ่ายประธานสูงสุดของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย,vols. (1965-75), 5:329.

  43. บรูซ อาร์. แมคคองกี, Mormon Doctrine, 2nd ed. (1966), 578-79; เน้นตัวเอน. ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เม็ลวิน เจ. บัลลาร์ด (1873-1939) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองด้วย “ผู้ที่ปฏิเสธการเพิ่มอันไม่รู้จบจะไม่เป็นอย่างที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็น เพราะนั่นเกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นๆ ซึ่งทำให้พระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้า วิสุทธิชนยุคสุดท้ายพึงเข้าใจอย่างชัดเจนว่านิรันดรของพันธสัญญาการแต่งงานเป็นการผนึกหญิงอย่างน้อยหนึ่งคนเข้ากับชายหนึ่งคนเพื่อกาลเวลาและเพื่อชั่วนิรันดร จากนั้นต้องไม่สับสนกับประเด็นดังกล่าวและจินตนาการว่าหมายถึงหญิงมากกว่าหนึ่งคน แน่นอนว่าอาจหมายถึงอย่างนั้นแต่อย่างน้อยก็หมายความว่าชายหนึ่งคนกับหญิงหนึ่งคนได้รับการผนึกด้วยกันโดยอำนาจฐานะปุโรหิตอันศักดิ์สิทธิ์และโดยความเห็นชอบให้ผนึกจากพระวิญญาณบริสุทธิ์เพื่อกาลเวลาและเพื่อชั่วนิรันดร หลังจากนั้นพวกเขาจะรักษาพันธสัญญาของพวกเขาก่อนที่พวกเขาจะมีสิทธิ์รับระดับสูงสุดของรัศมีภาพซีเลสเชียล และพวกเขาเท่านั้นจากบรรดาทุกกลุ่มของลูกๆ พระบิดาที่จะได้รับคำสัญญาแห่งการเพิ่มขึ้นโดยไม่มีที่สิ้นสุดหรือชั่วนิรันดร์” (The Three Degrees of Glory: A Discourse โดย เม็ลวิน เจ. บัลลาร์ด, Sept. 22, 1922, 10; เน้นตัวเอน).

  44. หลักคำสอนและพันธสัญญา 130:2.

  45. 2 นีไฟ 31:20.

  46. อีเธอร์ 12:4.

  47. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:23.