2018
นั่งในสภา
January 2018


นั่งใน สภา

ทำให้การประชุมของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและสมาคมสงเคราะห์มีพลังมากขึ้น

ภาพ
man in priesthood quorum council meeting

คำนำโดยเอ็ลเดอร์เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ระหว่างปฏิบัติศาสนกิจในฐานะอัครสาวก ข้าพเจ้าเน้นเสมอเรื่องพลังและความสำคัญของสภา อันได้แก่ สภาสเตค สภาวอร์ด สภาองค์การช่วย และสภาครอบครัว ข้าพเจ้าเชื่อว่าการทำงานผ่านสภาเป็นวิธีทำให้เกิดผลจริงได้มากที่สุด

เดือนนี้ เราทำการเปลี่ยนแปลงง่ายๆ ทว่าสำคัญบางอย่างในหลักสูตรที่สมาชิกโควรัมฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและสมาคมสงเคราะห์ศึกษาเมื่อพวกเขาประชุมในองค์การของตนทุกวันอาทิตย์ นอกจากศึกษาถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตจากการประชุมใหญ่ครั้งล่าสุดแล้ว เราจะ “นั่งในสภา” (คพ. 107:89) ด้วยกันเพื่อสนทนาประเด็นปัญหาที่เราพบเจอและสิ่งที่เราจำเป็นต้องมี

เมื่อเราเรียนรู้ที่จะหารือกันอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น พระผู้เป็นเจ้าจะทรงอวยพรให้เราได้รับการเปิดเผยและความเข้าใจเพิ่มขึ้น และมีพลังทำงานของพระองค์ให้สำเร็จมากขึ้น

ก่อนสร้างโลกนี้ พระบิดาบนสวรรค์ทรงทำงานของพระองค์ผ่านสภา (ดู คพ. 121:32) เริ่มจากอาดัมและเอวา ผู้คนของพระผู้เป็นเจ้าขอคำปรึกษาจากพระองค์ในสภา อันที่จริง พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกพระองค์เองว่า “มหาบุรุษแห่งคำปรึกษา” (โมเสส 7:35) ต้นสมัยการประทานนี้ โจเซฟ สมิธเริ่มฟื้นฟู “ระเบียบของสภาในสมัยโบราณ”1 ปัจจุบัน ศาสนจักรปกครองโดยสภาในทุกระดับ

เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ผู้นำศาสนจักรระดับสามัญได้หารือกันเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการประชุมวันอาทิตย์ของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและสมาคมสงเคราะห์ ผลที่ได้คือหลักสูตรใหม่ชื่อว่า จงตามเรามา—สำหรับฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและสมาคมสงเคราะห์ ซึ่งเพิ่มการใช้ข่าวสารการประชุมใหญ่สามัญและขยายพลังของการหารือเข้าไปในโควรัมฐานะปุโรหิตและสมาคมสงเคราะห์

“เราทำดีมากแล้วตรงจุดที่เราอยู่” เอ็ลเดอร์คริสทอฟเฟล โกลเด้นแห่งสาวกเจ็ดสิบผู้ช่วยกำกับดูแลการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้กล่าว “แต่พระเจ้าทรงต้องการให้เราก้าวหน้าขึ้น ความเจริญก้าวหน้าจะเกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนเป็นศึกษาถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตและนั่งในสภา”

เมื่อเร็วๆ นี้ ฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญและสมาชิกสาวกเจ็ดสิบประชุมในสภาเพื่อสนทนาว่าการหารือเชื้อเชิญการเปิดเผย เพิ่มความสามัคคี และทำให้เกิดพลังอย่างไร ท่านเหล่านั้นเสนอหลักธรรมต่อไปนี้ โดยรู้ว่าท่านจะตั้งอยู่บนแนวคิดเหล่านี้ขณะค้นหาทางออกที่เหมาะกับท่าน วอร์ดหรือสาขาของท่าน และโควรัมหรือสมาคมสงเคราะห์ของท่าน

พลังในจุดประสงค์

“เนื่องจากเจ้าร่วมชุมนุมกัน … , และเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับเรื่องเดียวนี้, และทูลถามพระบิดาในนามของเราฉันใด, แม้ฉันนั้นเจ้าจะได้รับ” (คพ. 42:3)

สภาเป็นช่องทางให้เรา “ทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าร่วมกัน”2 กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่เพียงแบ่งปันแนวคิดเท่านั้น แต่เราเชื้อเชิญการเปิดเผยโดยหารือกันเพื่อเราจะได้เรียนรู้สิ่งที่พระเจ้าทรงต้องการให้เราทำในสถานการณ์ของเรา เราจะมีความสำเร็จมากขึ้นในประสบการณ์จากการเปิดเผยเช่นนั้นเมื่อเราจดจำดังนี้

1. จุดโฟกัส—เริ่มด้วยประเด็นปัญหาหรือความจำเป็นที่เฉพาะเจาะจงและมีความหมาย การเน้นประเด็นปัญหาหรือความจำเป็นอย่างเดียวจะเพิ่มความสามารถให้เราก้าวหน้าได้อย่างมีความหมาย จุดโฟกัสช่วยให้เรามองไกลกว่าอาการที่เรามองเห็น (สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น) และพยายามเข้าใจสาเหตุพื้นฐาน (สิ่งนั้นมีผลต่อผู้คนอย่างไรและเพราะเหตุใด) ตัวอย่างเช่น เราอาจจะหารือกันเกี่ยวกับวิธีให้คำปรึกษาและเชื่อมโยงเยาวชนของเรากับสวรรค์แทนที่จะถกกันเรื่องเวลาที่เยาวชนใช้ไปกับการดูหน้าจอ

2. มุมมอง—วางกรอบประเด็นปัญหาหรือความจำเป็นให้เป็นคำถาม หัวข้อที่ตั้งเป็นกระทู้จะดึงความเข้าใจลึกซึ้งด้านหลักคำสอนออกมา เราอาจจะถามว่า “เราจะจัดการสถานการณ์นั้นให้เกิดประโยชน์และเยียวยาได้อย่างไร” หรือ “หลักคำสอนใดจะช่วยแก้ปัญหานี้ ถ้าเข้าใจดีขึ้น”

3. พลัง—แสวงหาการเปิดเผย แม้สภาจะระดมความคิดหาวิธีแก้ปัญหา แต่จุดประสงค์ของสภาคือค้นหาพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ไม่เพียงเขียนหลักปฏิบัติที่ดีที่สุดหรือพูดเพียงว่า “วอร์ดที่ผมเคยอยู่ก็ทำแบบนี้” ดังที่เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอน เราไม่ต้องการการประชุม เราต้องการประสบการณ์ที่เป็นการเปิดเผย3 การหารือกันเปิดเผยทางออกที่นำไปสู่การปฏิบัติ

พลังในการมีส่วนร่วม

“จงกำหนดผู้สอนในบรรดาพวกเจ้า, และอย่าให้ทุกคนเป็นผู้พูดพร้อมกัน; แต่ให้พูดทีละคนและให้ทุกคนฟังคำกล่าวของเขา, เพื่อว่าเมื่อทุกคนพูดเพื่อทุกคนจะรับการจรรโลงใจจากทุกคน, และเพื่อมนุษย์ทุกคนจะมีอภิสิทธิ์เท่าเทียมกัน” (คพ. 88:122)

ในสภา ความสนใจของแต่ละบุคคลและองค์การ—วอร์ดหรือสาขา—รวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้เข้าร่วมเข้าใจดังนี้

1. สมาชิกสภาแต่ละคนมีบทบาทสำคัญยิ่ง สมาชิกสภาควรมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นแต่ไม่ครอบงำสภา ดังที่เปาโลสอน “ตาก็ไม่สามารถพูดกับมือว่าฉันไม่ต้องการเธอ หรือศีรษะจะพูดกับเท้าว่าฉันไม่ต้องการเธอ แต่หลายๆ อวัยวะของร่างกายที่เราคิดว่าอ่อนแอกว่าก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น” (1 โครินธ์ 12:21–22)

2. สมาชิกสภามุ่งหมายจะเพิ่มความกระจ่าง ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่า “ทุกคน ก่อนเขาทำการคัดค้านเรื่องใดที่ยกมาให้สภาพิจารณา เขาควรแน่ใจว่าเขาสามารถให้ความกระจ่างในเรื่องนั้นได้ไม่ใช่คลุมเครือ และการคัดค้านของเขาอยู่ในความชอบธรรม”4

3. สมาชิกสภามีจุดมุ่งหมายเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้จะมีมุมมองต่างกัน แต่สมาชิกสภาเป็นหนึ่งเดียวกันในขณะมุ่งหมายให้ “ได้รับการนำทางจากพระวิญญาณบริสุทธิ์”5 โจเซฟ สมิธเคยกล่าวไว้ในระหว่างสภาครั้งหนึ่งว่า “เพื่อได้รับการเปิดเผยและพรของสวรรค์ เราจำเป็นต้องให้ความคิดเราอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า ใช้ศรัทธา มีใจเดียวและความคิดเดียว”6

ภาพ
Relief Society council meeting

พลังในแผนปฏิบัติ

“มนุษย์ทุกคนจะกระทำในหลักคำสอนและหลักธรรมเกี่ยวกับอนาคต, ตามสิทธิ์เสรีทางศีลธรรมซึ่งเราให้แก่เขา” (คพ. 101:78)

สภาไม่สมบูรณ์หากไม่มีแผนจะปฏิบัติการเปิดเผยที่ได้รับ ควรเชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมในสภารับปากว่าพวกเขาจะลงมือปฏิบัติ “เมื่อจบสภา ท่านต้องมีงานมอบหมาย” ซิสเตอร์จีน บี. บิงแฮมประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญกล่าว “งานสำคัญที่สุดเกิดขึ้นระหว่างการประชุม”

ผู้นำนำสภาไปสู่ความเข้าใจและความเห็นพ้องต้องกัน จากนั้นเขาเริ่มทำงานมอบหมายและบันทึกงานมอบหมายเพื่อติดตามผลภายหลัง ซิสเตอร์ชารอน ยูแบ็งค์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์สามัญเพิ่มเติมว่า “พลังอยู่ในเรา เมื่อเราผูกมัดตนให้กระทำ พระเจ้าจะทรงชำระความพยายามของเราให้บริสุทธิ์ (ดู คพ. 43:9) การอาสาทำงานมอบหมายและรายงานผลเป็นส่วนสำคัญของการทำตามพันธสัญญา”

บทบาทของผู้นำ

“ผู้สั่งสอนไม่ดีไปกว่าผู้ฟัง, ทั้งผู้สอนก็ไม่ดีไปกว่าผู้เรียนแต่อย่างใด; และดังนั้นพวกเขาจึงเท่าเทียมกัน” (แอลมา 1:26)

เพื่อปรับปรุงสภาของเรา เราพึงหลีกเลี่ยงแนวคิดทางโลกของการเป็นผู้นำ ในอาณาจักรของพระเจ้า ผู้นำเป็น “ทาสของคนทั้งหลาย” (มาระโก 10:44) ในทำนองเดียวกัน ผู้นำสภา ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมหรือครู จะให้จุดโฟกัสแต่ไม่เป็นจุดโฟกัส พึงหลีกเลี่ยงการพูดอยู่คนเดียวหรือทำการตัดสินใจก่อนฟังจากสภา

ผู้นำสภามีบทบาทสำคัญในการวางกรอบจุดประสงค์ ส่งเสริมการสนทนา และเชื้อเชิญให้ผู้มีส่วนร่วมรับปากว่าจะปฏิบัติ สภาทำหน้าที่ได้ดีขึ้นเมื่อผู้นำสภาฟัง นำทาง เชื้อเชิญ ป้องกัน และเห็นคุณค่า

1. ฟัง ผู้นำที่ดีฟังผู้พูดและฟังพระวิญญาณบริสุทธิ์ “ข้าพเจ้าเชื่อว่าของประทานแห่งการเล็งเห็นทำงานได้ผลมากขึ้น” เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าว “เมื่อเราฟังไม่ใช่เมื่อเราพูด”7

2. กำหนดทิศทาง ผู้นำสภากำหนดทิศทางการสนทนาโดยยอมรับแนวคิดที่เกิดขึ้น หากจำเป็นผู้นำจะวางกรอบการสนทนาใหม่หรือนำการสนทนาด้วยความรัก

3. เชื้อเชิญ พระเจ้าทรงทำให้การเปิดเผยกระจายอยู่ในหมู่สมาชิกของสภา การเชื้อเชิญให้ทุกคน—รวมทั้งคนพูดน้อย—เสนอแนวคิดจะเพิ่มศักยภาพของการเรียนรู้พระประสงค์ของพระเจ้า

4. ป้องกัน ผู้นำสภาสร้างสภาพแวดล้อมของการแบ่งปันอย่างปลอดภัยและเหมาะสมโดยสนใจคนที่แบ่งปันและป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์รวมทั้งการตัดสิน หัวข้อที่ละเอียดอ่อนต้องได้รับการนำทางอย่างสุขุมรอบคอบ เรื่องที่เป็นความลับยังคงเป็นความลับ

5. เห็นคุณค่า เมื่อผู้เข้าร่วมแบ่งปันความคิดและแนวคิด ผู้นำเห็นคุณค่าข้อมูลนั้นโดยแสดงความขอบคุณและเชื่อมโยงแนวคิดที่เกี่ยวข้อง การเห็นคุณค่าช่วยให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปิดเผยและทำให้พวกเขามั่นใจว่าข้อมูลของพวกเขาเป็นประโยชน์

หลักสูตรใหม่ ความตั้งใจใหม่

ยุคของความตั้งใจใหม่มาพร้อมปีใหม่และหลักสูตรใหม่ เราได้รับพรด้วยพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ ความรับผิดชอบและสิทธิพิเศษของเราคือแสวงหาการนำทางจากพระองค์และทำงานของพระองค์ ความก้าวหน้านี้ในการประชุมวันอาทิตย์ของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและสมาคมสงเคราะห์ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับการมีบทเรียนเรื่องการทำงานเท่านั้น แต่เรา “นั่งในสภา” และส่งเสริมการปฏิบัติที่ชอบธรรม—การปฏิบัติที่จะ “ผลักดันผู้คนมากมายไปสู่ไซอันด้วยบทเพลงแห่งปีติอันเป็นนิจ” (คพ. 66:11)

อ้างอิง

  1. โจเซฟ สมิธ, ใน “Minutes, 17 February 1834,” josephsmithpapers.org.

  2. คู่มือเล่ม 2: การบริหารงานศาสนจักร (2010), 2.4.4.

  3. ดู เดวิด เอ. เบดนาร์, “Panel Discussion” (การประชุมอบรมผู้นำทั่วโลก, พ.ย. 2010), broadcasts.lds.org.

  4. Teachings of the Prophet Joseph Smith, sel. Joseph Fielding Smith (1976), 94.

  5. คู่มือเล่ม 2, 3.3.2.

  6. โจเซฟ สมิธ, ใน “Minutes, 27–28 December 1832,” 3, josephsmithpapers.org.

  7. เดวิด เอ. เบดนาร์, “Panel Discussion.