2019
14 วิธีทำให้อารมณ์ของท่านมั่นคงเหมือนเดิม
มกราคม 2019


ดิจิทัลเท่านั้น

14 วิธีทำให้อารมณ์ของท่านมั่นคงเหมือนเดิม

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในรัฐไอดาโฮ สหรัฐอเมริกา

เมื่อท่านรู้สึกเหน็ดเหนื่อยด้านอารมณ์ มีสามสี่วิธีที่จะช่วยให้รู้สึก 100 เปอร์เซ็นต์ได้อีกครั้ง

บางครั้งชีวิตสามารถทำให้เรารู้สึกอ่อนล้าทางอารมณ์ แต่เมื่อเราพึ่งพาตนเองทางอารมณ์ เราจะสามารถสนองความต้องการด้านอารมณ์ของเราและเผชิญกับความทุกข์สุขได้ทุกวัน นี่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่จะไม่มีวันต้องการความช่วยเหลือ กลับกัน การพึ่งพาตนเองทางอารมณ์คือการรู้ว่าเมื่อใดเราสามารถรับแรงกดดันทางอารมณ์ได้ด้วยตัวเราเองและรู้ว่าเมื่อใดเราต้องขอความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากผู้อื่น

เมื่อเราเรียนรู้วิธีตอบสนองและรู้สึกต่ออารมณ์ต่างๆ ได้ดี เราจะพร้อมมากขึ้นและมีประสิทธิผลมากขึ้นที่จะรับใช้ในอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า แนวคิดบางประการต่อไปนี้อาจเป็นประโยชน์ขณะท่านพยายามพึ่งพาตนเองทางอารมณ์*

  1. ทำเรื่องพื้นฐาน: สวดอ้อนวอน ศึกษาพระคัมภีร์ ไปโบสถ์ และรับใช้ ให้ความสนใจเรื่อง ความสำนึกคุณ

  2. ดูแลร่างกายของท่านให้ดี พึงแน่ใจว่าท่านรับประทานอาหารที่ดี นอนหลับเพียงพอ และออกกำลังกาย สุขภาพร่างกายของเรามีผลต่อสุขภาพอารมณ์ของเรา

  3. จดบันทึกส่วนตัว ส่วนหนึ่งของการพึ่งพาตนเองทางอารมณ์คือรับรู้อารมณ์ของท่าน การจดบันทึกเป็นวิธีที่ดีในการประมวลความรู้สึก

  4. บอกความรู้สึกของท่านตามตรงกับเพื่อนหรือครอบครัว การพูดถึงความรู้สึกของท่านกับอีกคนหนึ่งเป็นทางออกที่ดีที่จะช่วยให้ความมั่นคงทางอารมณ์ของท่านคงที่

  5. สวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือแทนที่จะขอให้แก้ปัญหา ท่านอาจจะเปลี่ยนวลีเช่น “พระบิดาบนสวรรค์ โปรดช่วยให้อารมณ์ของข้าพระองค์คงที่” เป็นวลีอื่นเช่น “พระบิดาบนสวรรค์ โปรดทรงแสดงให้ข้าพระองค์เห็นว่าข้าพระองค์ต้องเรียนรู้และทำอะไรอารมณ์ของข้าพระองค์จึงจะคงที่”

  6. ประเมินดุลยภาพในชีวิต ตรวจสอบเวลาและพลังงานที่ท่านให้กับครอบครัว ตนเอง การรับใช้ การทำงาน และนันทนาการ เมื่อด้านหนึ่งแย่งเวลาและพลังงานไปจากด้านอื่น ท่านจะเริ่มเสียการนอน เสียพลังงาน และเสียสมาธิ นี่หมายความว่าถึงเวลาที่ท่านต้องกดปุ่มรีเซ็ตและทำให้เกิดดุลยภาพอีกครั้ง

  7. อย่าผัดวันประกันพรุ่ง การผัดวันประกันพรุ่งทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ จงแบ่งงานใหญ่ให้เป็นงานย่อย ลงมือทำ โดยเตือนสติตนเองว่า “ทั้งหมดที่ฉันต้องทำตอนนี้คือ ______” หรือ “ฉันจะทำงานนี้แค่สองสามนาทีแล้วหยุดพักถ้าฉันอยากพัก”

  8. นึกภาพความสำเร็จ ความกังวลเป็นด้านหนึ่งของความล้มเหลวในการฝึกจิตใจ แทนที่จะคิดไปเองว่าจะผิดพลาดอะไรได้บ้างหรือกังวลอยู่ร่ำไปว่า “จะเป็นอย่างไรถ้า” จงฝึกคิดถึงผลบวกและวางแผนให้บรรลุ ถ้าสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่ท่านหวัง จงคิดว่าตัวท่านกำลังเรียนรู้จากอุปสรรคและก้าวไปข้างหน้า

  9. ให้ความสนใจกับสิ่งที่ท่านทำถูกต้อง และไม่เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น คนที่มีความคาดหวังในตนเองสูงเกินไปมักจะให้ความสนใจกับความอ่อนแอและความล้มเหลวของพวกเขามากเกินเหตุ แทนที่จะปรับปรุง พวกเขากลับรู้สึกสิ้นหวัง จงเขียนคุณค่า พรสวรรค์ ประสบการณ์ และของประทานของท่านออกมาเป็นข้อๆ วางแผนว่าท่านจะใช้ข้อดีเหล่านั้นอย่างสร้างสรรค์ในสัปดาห์นี้ได้อย่างไร

  10. ปล่อยวางสิ่งที่ท่านไม่สามารถควบคุมได้ อดีต สิทธิ์เสรีของผู้อื่น สภาพอากาศ ขีดจำกัดของท่าน หรือบุคลิกภาพของผู้อื่นล้วนอยู่นอกเหนือการควบคุมของท่าน จงให้ความสนใจกับสิ่งที่ท่านทำได้ เช่น พฤติกรรมของท่าน ส่วนของท่านในความสัมพันธ์ การเลือกปัจจุบันของท่าน และเจตคติของท่าน

  11. ยอมรับความเป็นจริงของกิจวัตรที่น่าเบื่อบางอย่าง ใช่ว่าชีวิตจะมีความหมายลึกซึ้งและน่าตื่นเต้นไปทั้งหมด จงหลีกเลี่ยงที่จะสร้างสถานการณ์เกินจริง ความตึงเครียด หรือความขัดแย้งเพื่อจัดการกับความเบื่อหน่าย แต่จงเห็นคุณค่าและชื่นชมสิ่งดีรอบตัวท่าน และมองหาวิธีปรับปรุงและรับใช้

  12. อย่ากระตุ้นให้ตัวท่านโกรธ ผู้คนมักจะรู้สึกโกรธเมื่อพวกเขาเลือกมองว่าผู้อื่น (1) กำลังคุกคาม (2) ไม่ยุติธรรม หรือ (3) ไม่เคารพพวกเขา แทนที่จะมองเช่นนั้น จงมองว่าท่านสามารถคิดคำอธิบายที่อารีอารอบมากขึ้นให้กับพฤติกรรมของพวกเขาได้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจจะเหนื่อย ไม่รู้ ไม่มั่นใจ หรือคิดว่าพวกเขากำลังให้ความช่วยเหลือ จงเลือกที่จะไม่ทำให้โกรธยิ่งกว่าเดิม

  13. อย่ามีนิสัยชอบตำหนิหรือทำให้ผู้อื่นหรือตัวท่านอับอาย แทนที่จะทำเช่นนั้น จงคิดให้ออกว่าปัญหาคืออะไรและขอให้คนอื่นช่วยแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นความผิดของใครก็ตาม

  14. ฟังพระวิญญาณ ไม่คิดลบ ถ้าท่านกำลังมีความคิดที่ดูถูก เยาะเย้ย โกรธ ประชดประชัน พร่ำบ่น วิพากษ์วิจารณ์ หรือตั้งฉายาให้ใครก็ตาม ความคิดเหล่านั้นไม่ได้มาจากพระเจ้า ลบความคิดแบบนั้นออกไป ร้องเพลงสวด ท่องพระคัมภีร์ หรือกล่าวคำสวดอ้อนวอนเพื่ออัญเชิญพระวิญญาณให้กลับมา

  • จาก “Resources for Managing Emotional Demands,” Adjusting to Missionary Life (2013), 29–34; “Becoming Emotionally Self-Reliant,” Self-Reliance Blog, Feb. 21, 2017, srs.lds.org