เซมินารี
3 นีไฟ 1: “คำพยากรณ์ของศาสดาพยากรณ์เริ่มเกิดสัมฤทธิผล”


“3 นีไฟ 1: ‘คำพยากรณ์ของศาสดาพยากรณ์เริ่มเกิดสัมฤทธิผล’” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)

“3 นีไฟ 1” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู

3 นีไฟ 1

“คำพยากรณ์ของศาสดาพยากรณ์เริ่มเกิดสัมฤทธิผล”

ภาพ
ชาวนีไฟเห็นดาวดวงใหม่

จะเป็นอย่างไรหากได้รอและเห็นดาวที่ประกาศการประสูติของพระเยซูคริสต์? ผู้เชื่อชาวนีไฟเฝ้าดูเครื่องหมายที่แซมิวเอลชาวเลมันพยากรณ์ว่าจะเกิดขึ้น (ดู ฮีลามัน 14) แต่ผู้ไม่เชื่อขู่ว่าจะฆ่าพวกท่านหากเครื่องหมายไม่ปรากฏ บทเรียนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ท่านรู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่าพระเจ้าจะทรงทำให้พระวจนะทั้งหมดที่พระองค์ตรัสผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์เกิดสัมฤทธิผล

การเป็นพยานถึงพระเยซูคริสต์นักเรียนเข้มแข็งขึ้นได้เมื่อท่านแบ่งปันพยานของพระเยซูคริสต์ มองหาโอกาสแบ่งปันความรู้สึกของท่านกับนักเรียนเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและเหตุผลที่ท่านมุ่งมั่นในการติดตามพระองค์

การเตรียมของนักเรียน: นักเรียนอาจเตรียมแบ่งปันตัวอย่างว่าการมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์อาจเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่บางคนในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนหรือยากลำบากได้อย่างไรหรือเพราะเหตุใด

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

เสริมสร้างความเข้มแข็งโดยศรัทธา

คำถามต่อไปนี้มีเจตนาจะช่วยให้นักเรียนประเมินตนเอง ไม่ควรคาดหวังให้นักเรียนแบ่งปันคำตอบของพวกเขา

  • จากระดับหนึ่งถึงห้า โดยห้าคือ มากที่สุด ท่านจะให้คะแนนระดับความเชื่อหรือความมั่นใจว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ของพระองค์เกิดสัมฤทธิผลอย่างไร? เพราะเหตุใด?

เมื่อแซมิวเอลชาวเลมันมาอยู่ในหมู่ชาวนีไฟ ท่านพยากรณ์ว่า “อีกห้าปีที่จะถึง, และดูเถิด, เมื่อนั้นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จมา” (ฮีลามัน 14:2) เหล่าศาสดาพยากรณ์ได้พยากรณ์เกี่ยวกับการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์เป็นเวลาหลายพันปี และเวลาที่คาดหมายสำหรับการประสูติของพระองค์มาถึงแล้ว หนังสือ 3 นีไฟเริ่มเมื่อห้าปีเหล่านั้นสิ้นสุดลง

  • หากท่านเป็นคนหนึ่งที่เชื่อแซมิวเอล ท่านคิดว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรในเวลานี้?

ขณะศึกษา ให้มองหาความคล้ายคลึงกันระหว่างสภาวการณ์ใน 3 นีไฟ 1 และสภาวการณ์ในยุคสมัยของเรา ท่านอาจต้องการทำเครื่องหมายคำและวลีที่มีความหมายซึ่งเสริมสร้างความวางใจของท่านในพระผู้เป็นเจ้าและถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ของพระองค์

ผู้เชื่อชาวนีไฟ

ในตอนต้นของ 3 นีไฟ 1 เราเรียนรู้ว่านีไฟบุตรของฮีลามันออกไปจากแผ่นดิน และเวลานี้นีไฟบุตรชายของท่านเป็นศาสดาพยากรณ์ในหมู่ชาวนีไฟ

อ่าน 3 นีไฟ 1:4–9 โดยมองหาความท้าทายที่ผู้เชื่อชาวนีไฟต้องเผชิญในเวลานี้

  • ท่านคิดว่าสิ่งใดทำให้บางคน “เฝ้าคอยอย่างแน่วแน่” (ข้อ 8) แม้จะถูกข่มขู่ว่าต้องตาย?

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านและสนทนาเกี่ยวคำถามต่อไปนี้เป็นกลุ่มเล็กๆ จากนั้นอาจให้นักเรียนแต่ละกลุ่มเขียนคำตอบของกลุ่มสำหรับคำถามข้อสุดท้ายบนกระดาน

อ่าน 3 นีไฟ 1:10–14 เพื่อเรียนรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป

  • ท่านจินตนาการว่านีไฟรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยินสุรเสียงของพระเจ้า?

  • ท่านคิดว่าพระเจ้าทรงต้องการให้นีไฟและผู้คนเข้าใจอะไร?

  • เราจะระบุความจริงอะไรได้จากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้?

ถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์จะเกิดสัมฤทธิผล

ท่ามกลางความจริงหลายประการที่พบในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ เราเรียนรู้ว่า พระเจ้าจะทรงทำให้พระวจนะทั้งหมดที่พระองค์ตรัสผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์เกิดสัมฤทธิผล ท่านอาจต้องการทำเครื่องหมายความจริงนี้ในข้อ 13

ความจริงเพิ่มเติมที่นักเรียนอาจระบุได้จากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ได้แก่ พระเจ้าจะทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของเราเพื่อผู้อื่น หรือ พระเยซูคริสต์เสด็จมาในโลกเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระบิดา

ท่านอาจให้นักเรียนอ่านข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้เป็นคู่

อ่าน 3 นีไฟ 1:15–22 โดยมองหาว่าผู้คนตอบสนองอย่างไรเมื่อคำพยากรณ์เกิดสัมฤทธิผล

ท่านอาจสนทนาคำถามต่อไปนี้ (หรือคำถามอื่นๆ ที่ท่านนึกถึง) เพื่อช่วยให้นักเรียนเชื่อมโยงพระคัมภีร์กับชีวิตของตนเอง

  • ท่านคิดว่าเหตุใดผู้คนจึงตอบสนองแตกต่างกันมาก?

  • ผู้เชื่อได้รับการเสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างประสบการณ์นี้อย่างไร?

  • ประสบการณ์นี้จะเพิ่มความมั่นใจในแผนของพระเจ้าสำหรับชีวิตท่านได้ในทางใดบ้าง?

ประสบการณ์ของท่าน

เช่นเดียวกับชาวนีไฟใน 3 นีไฟ 1 เราอยู่ในช่วงเวลาที่ดูเหมือนอนาคตมีแต่ความไม่แน่นอน เราจะมีความมั่นใจในพระเจ้าและพระวจนะของพระองค์ที่ประทานผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ได้อย่างไร?

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:

การมีศรัทธาแรงกล้าไม่ใช่ความโง่เขลาหรือความคลั่งไคล้ แต่คือการวางใจและเชื่อมั่นในพระเยซูคริสต์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอด ในพระนามของพระองค์ และในคำสัญญาของพระองค์ เมื่อเรา “มุ่งหน้าด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์, โดยมีความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวัง, และความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อมนุษย์ทั้งปวง” [2 นีไฟ 31:20] เราจะได้รับพรโดยมีมุมมองและวิสัยทัศน์นิรันดร์ที่ยาวไกลเกินความสามารถอันจำกัดของเรา เราจะสามารถ “รวบรวมกัน, และยืนอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์” [หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:22] และ “ไม่หวั่นไหว, จนวันของพระเจ้ามาถึง” [หลักคำสอนและพันธสัญญา 87:8] (เดวิด เอ. เบดนาร์, “พวกเราจะพิสูจน์พวกเขาโดยวิธีนี้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 11)

ให้เวลานักเรียนมากพอที่จะไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้ แบ่งปันสถานการณ์ในรายการตามความจำเป็น โดยอาจเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนที่จะบันทึกความคิดลงในสมุดบันทึกการศึกษา คำนึงถึงความอ่อนไหวและตระหนักว่านักเรียนบางคนอาจรู้สึกสะเทือนอารมณ์ขณะพิจารณาความท้าทายส่วนตัว ทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณขณะพยายามชี้ทางให้พวกเขาไปหาพระผู้ช่วยให้รอด

ลองนึกดูว่าเหตุใดท่านอาจมีปัญหาระหว่างการมีศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้ากับความรู้สึกไม่แน่นอนหรือความกลัวเกี่ยวกับชีวิตของท่าน เหตุผลเหล่านี้เป็นเรื่องส่วนตัวสำหรับแต่ละบุคคล แต่อาจรวมถึงสิ่งต่อไปนี้:

  • ถูกเยาะเย้ยหรือถูกโจมตีเพราะความเชื่อในพระเยซูคริสต์

  • มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมถึงพ่อแม่ที่แยกทางกันจากการหย่าร้าง

  • ประสบกับความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้า

  • กังวลเกี่ยวกับคนรักที่เสน่หาเพศเดียวกัน

  • ความทุกขเวทนาจากการติดสารเสพติดหรือดิ้นรนเอาชนะนิสัยที่สร้างความเสียหาย

  • การกลัวว่าไม่อาจได้มาซึ่งพรของพระกิตติคุณ

  • รู้สึกไม่คู่ควรหรือไม่ได้รับการให้อภัย

ใน ยอห์น 16:33 พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “ในโลกนี้ท่านจะประสบความทุกข์ยาก แต่จงมีใจกล้าเถิด เพราะว่าเราชนะโลกแล้ว”

  • ศาสดาพยากรณ์เปิดเผยอะไรเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ที่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านคงไว้ซึ่งศรัทธาในพระองค์? (ท่านอาจต้องการอ่าน แอลมา 7:11–13; อีเธอร์ 12:27; อิสยาห์ 25:8–9) ท่านคิดว่าพระองค์จะทรงช่วยในสภาวการณ์ของท่านได้อย่างไร?

  • เมื่อใดที่การวางใจพระเจ้าหรือถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ทำให้ท่านหรือคนที่ท่านรู้จักเข้มแข็งขึ้นในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนหรือความกลัว? การจดจำประสบการณ์นี้จะช่วยให้ท่านตระหนักถึงความช่วยเหลือของพระองค์ในชีวิตได้อย่างไร?

เมื่อได้รับการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณ ท่านอาจต้องการขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาประทับใจในวันนี้ ท่านอาจแบ่งปันประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสต์และความมั่นใจในถ้อยคำและคำพยากรณ์ของศาสดาพยากรณ์เกี่ยวกับพระองค์

ท่านอาจต้องการบันทึกความรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งที่เรียนรู้ในวันนี้ อาจรวมถึงการกระทำที่ท่านรู้สึกว่าได้รับการกระตุ้นเตือนให้ทำ หรือวิธีที่ท่านได้รับการเสริมสร้างความเข้มแข็งโดยการเข้าใจว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้พระวจนะที่พระองค์ตรัสผ่านศาสดาพยากรณ์ของพระองค์เกิดสัมฤทธิผล