เซมินารี
อีเธอร์ 13–15: การเอาชนะความโกรธ


“อีเธอร์ 13–15: การเอาชนะความโกรธ” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)

“อีเธอร์ 13–15” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู

อีเธอร์ 13–15

การเอาชนะความโกรธ

ภาพ
เยาวชนชายที่ดูหงุดหงิดโดยมีบิดาอยู่ด้านหลัง

ในความรักที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ พระบิดาบนสวรรค์ทรงให้เราสัมผัสกับอารมณ์ที่หลากหลายในความเป็นมรรตัย เช่น ความรัก สันติสุข ความเศร้า และคับข้องใจ การได้สัมผัสกับอารมณ์เหล่านี้ทำให้เราเรียนรู้  ขณะที่ชาวเจเร็ดยังคงกบฏต่อพระเจ้า พวกเขาปล่อยให้อารมณ์นำไปสู่การตัดสินใจที่ก่อให้เกิดการทำลายอารยธรรมของพวกเขา บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านเอาชนะการล่อลวงให้กระทำด้วยความโกรธไปตลอดชีวิต

เชื้อเชิญให้นักเรียนลงมือทำในสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เปิดโอกาสให้นักเรียนวางแผนทำสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้  กระตุ้นให้พวกเขาทำตาม ช่วยให้พวกเขาเห็นพรของการกระทำเหมือนพระคริสต์

การเตรียมของนักเรียน: ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองความหมายของการที่พระเยซูคริสต์ทรงเป็น “องค์สันติราช” (อิสยาห์ 9:6) และความหมายของการเป็นผู้ติดตามพระองค์

กิจกรรมการเรียนรู้ที่อาจทำได้

ผลของความโกรธ

อ่านหรือรับชมเรื่องราวต่อไปนี้ที่ประธานโธมัส เอส. มอนสัน (1927–2018) แบ่งปันเกี่ยวกับพี่น้องสองคนที่อาศัยอยู่ด้วยกันตลอดชีวิต

หลายปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าอ่านข่าวโดยสำนักข่าว Associated Press จากหนังสือพิมพ์ซึ่งมีเรื่องราวดังนี้ “ชายสูงวัยผู้หนึ่งเปิดเผยในพิธีศพพี่ชายซึ่งเคยอยู่บ้านหลังเดียวกันตั้งแต่สมัยหนุ่ม ใกล้คานิสเทโอ นิวยอร์กว่าหลังจากทะเลาะกัน ทั้งคู่แบ่งห้องคนละครึ่งโดยใช้ชอล์กขีดเส้นแบ่ง และไม่เคยข้ามเขตหรือพูดคุยกันเลยนับแต่วันนั้น—เป็นเวลา 62 ปีมาแล้ว” ลองนึกถึงผลที่เกิดจากความโกรธ (โธมัส เอส. มอนสัน, “จงฝึกความรู้สึกท่าน โอ พี่น้องข้าพเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 83)

  • ท่านเรียนรู้อะไรบ้างจากเรื่องราวของประธานมอนสันเกี่ยวกับพี่น้องสองคน? ท่านคิดว่าเหตุใดข้อความนี้จึงสำคัญต่อโลกปัจจุบัน?

ลองนึกถึงความรู้สึกของตัวท่านเองและท่านโกรธบ่อยเพียงใด พิจารณาว่าท่านอาจโกรธภายใต้สถานการณ์ใดและความโกรธนั้นจะมีอิทธิพลต่อความคิด การกระทำ และความสัมพันธ์ของท่านอย่างไร

สภาวการณ์ที่เปราะบางถูกทำลายด้วยความโกรธ

ในยุคสมัยของศาสดาพยากรณ์อีเธอร์ ผู้คนชั่วร้ายมาก  อีเธอร์ต้องอาศัยอยู่ในถ้ำเพื่อซ่อนตัวจากคนที่ต้องการฆ่าท่าน กองทัพศัตรูทำสงครามอย่างต่อเนื่อง กองทัพหนึ่งนำโดยกษัตริย์ชื่อโคริแอนทะเมอร์ และอีกกองทัพหนึ่งนำในช่วงเวลาที่แตกต่างกันโดยผู้เห็นต่างหลายคนรวมถึงชายที่ชื่อเชเร็ด  อีเธอร์เตือนโคริแอนทะเมอร์ให้กลับใจ ไม่เช่นนั้นผู้คนจะถูกทำลาย

อ่าน อีเธอร์ 13:22–31 โดยมองหาว่าความโกรธมีอิทธิพลต่อการกระทำของผู้คนอย่างไร

  • ท่านพบสิ่งใดบ้าง?

ความพินาศของชาวเจเร็ดแสดงให้เห็นถึงอันตรายของการยึดมั่นในความโกรธ  ท้ายที่สุดโคริแอนทะเมอร์และกองทัพของเขาเอาชนะเชเร็ดได้สำเร็จ แต่คนอื่นๆ ลุกขึ้นเพื่อนำผู้เห็นต่าง รวมถึงชิซ หลังจากที่ผู้คนนับล้านของเขาถูกสังหาร โคริแอนทะเมอร์พยายามหยุดการนองเลือดด้วยการเขียนจดหมายหลายฉบับถึงชิซเพื่อแสวงหาสันติ

อ่าน อีเธอร์ 15:5–6, 15–30 โดยมองหาผลกระทบของความโกรธของชาวเจเร็ดที่มีต่อบุคคลและกลุ่มคน

  • ความโกรธส่งผลกระทบต่อบุคคล เช่น โคริแอนทะเมอร์ ชิซ และคนอื่นๆ อย่างไร? ความโกรธของพวกเขาส่งผลกระทบต่อผู้คนรอบข้างอย่างไร?

ความจริงอย่างหนึ่งที่เรื่องราวนี้สอนคือ ความโกรธจะชักนำให้เราเลือกสิ่งที่ทำร้ายตัวเราและผู้อื่น

เนื่องจากลักษณะที่ละเอียดอ่อนของคำถามต่อไปนี้ อาจเป็นการดีที่สุดสำหรับนักเรียนที่จะใคร่ครวญคำถามนั้นในใจและบันทึกคำตอบลงในสมุดบันทึก

  • ท่านเคยเห็นว่าความโกรธส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน เพื่อนร่วมทีม สมาชิกวอร์ด หรือสมาชิกในครอบครัวอย่างไร?

เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าเหตุใดเราจึงควรพยายามเอาชนะความรู้สึกโกรธและความขัดแย้ง:

พระเยซูทรงขอให้เรา “อยู่ด้วยกันด้วยความรัก” [หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:45] โดย “ไม่มีการโต้แย้งในบรรดาพวกเจ้า” [3 นีไฟ 11:22] “คนที่มีวิญญาณของความขัดแย้งย่อมไม่เป็นของเรา” พระองค์ทรงเตือนชาวนีไฟ [3 นีไฟ 11:29] โดยแท้แล้ว ในระดับหนึ่ง ความสัมพันธ์ของเรากับพระคริสต์จะถูกกำหนด–หรืออย่างน้อยได้รับผล–จากความสัมพันธ์ที่เรามีต่อกัน  (เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “พันธกิจในเรื่องการคืนดี,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 78)

ช่วยให้นักเรียนนึกดูว่าความโกรธอาจส่งผลต่อชีวิตอย่างไรและพวกเขาอาจทำอะไรได้บ้างเพื่อเอาชนะความโกรธนั้น  คำถามบางข้อต่อไปนี้อาจช่วยได้

  • เหตุใดท่านจึงคิดว่าความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่นส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเรากับพระเยซูคริสต์?

  • สิ่งใดที่ทำให้การหลีกเลี่ยงความโกรธเป็นเรื่องยาก?

  • พระเยซูคริสต์ทรงช่วยให้เราเอาชนะความโกรธอย่างไร?

เพื่อช่วยให้นักเรียนคิดหาวิธีที่จะแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อเอาชนะความโกรธ ท่านอาจให้พวกเขาทำกิจกรรมต่อไปนี้หนึ่งอย่างหรือทั้งสองอย่าง พวกเขาอาจทำตัวเลือกหนึ่งให้เสร็จเป็นชั้นเรียนและอีกตัวเลือกหนึ่งเป็นรายบุคคล ให้ดูคำแนะนำเพื่อให้นักเรียนทำตาม

ตัวเลือก ก แบบอย่างความกรุณาของพระผู้ช่วยให้รอด

ศึกษาอย่างน้อยหนึ่งตัวอย่างในพระชนม์ชีพของพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อพระองค์อาจทรงตอบสนองด้วยพระพิโรธ แต่ทรงเลือกที่จะตอบสนองด้วยความรักและความกรุณา  ท่านอาจศึกษาเรื่องการตรึงกางเขนของพระองค์ (ดู ลูกา 23:33–43) หรือเมื่อหญิงผู้ล่วงประเวณีคนหนึ่งถูกนำตัวมาหาพระองค์ (ดู ยอห์น 8:1–11)

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันว่าพวกเขาอาจทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร พวกเขาอาจนึกถึงประสบการณ์ในอดีตเมื่อกระทำด้วยความโกรธ แล้วบันทึกลงในสมุดบันทึกการศึกษาว่าผลลัพธ์อาจแตกต่างไปอย่างไรหากพวกเขากระทำเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

ตัวเลือก ข ทำตามแบบอย่างความกรุณาของพระผู้ช่วยให้รอด

สำหรับกิจกรรมต่อไปนี้ ช่วยให้นักเรียนจดจำเพื่อให้สถานการณ์สมมติมีความเหมาะสม

สร้างสถานการณ์สมมติแต่สมจริงที่คนหนึ่งโกรธอีกคนหนึ่ง เพิ่มรายละเอียดบางอย่าง รวมถึงชื่อและเหตุผลที่ทำให้โกรธ

ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนเขียนสถานการณ์สมมติของพวกเขาลงในกระดาษแล้วส่งคืน ท่านอาจทบทวนคร่าวๆ แล้วอ่านสถานการณ์สมมติหลายๆ สถานการณ์ จากนั้นเชื้อเชิญให้นักเรียนเสนอวิธีตอบสนองเหมือนพระคริสต์

หรืออาจให้นักเรียนทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมชั้นและแสดงบทบาทสมมติเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์สมมติ

คำเชื้อเชิญให้หลีกเลี่ยงความโกรธ

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่า: “เราไม่สามารถควบคุมประชาชาติหรือการกระทำของผู้อื่น หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวเราเอง  แต่เราควบคุมตัวเราเองได้” (“พลังของแรงขับเคลื่อนทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2022, 97)

จัดทำแผนเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านจะทำได้เพื่อควบคุมตนเองและเอาชนะความโกรธ  แผนของท่านอาจเกี่ยวข้องกับวิธีที่ท่านปฏิบัติหรือตอบสนองต่อบุคคลที่เฉพาะเจาะจง อาจรวมถึงวิธีที่ท่านจะทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอด อย่าลืมระบุวิธีที่ท่านจะติดต่อพระบิดาบนสวรรค์เพื่อขอความช่วยเหลืออันศักดิ์สิทธิ์ก่อนหรือระหว่างสถานการณ์ที่ยากลำบาก

แบ่งปันประจักษ์พยานของท่านว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วยนักเรียนขณะแสวงหาความช่วยเหลือจากพระองค์ในการหลีกเลี่ยงและเอาชนะความโกรธ