พันธสัญญาเดิม 2022
21–27 มีนาคม อพยพ 1–6: “เราระลึกถึงพันธสัญญาของเรา”


“21–27 มีนาคม อพยพ 1–6: ‘เราระลึกถึงพันธสัญญาของเรา’” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: พันธสัญญาเดิม 2022 (2021)

“21–27 มีนาคม อพยพ 1–6” จงตามเรามา—สำหรับปฐมวัย: 2022

ภาพ
โมเสสกับพุ่มไม้ที่มีเปลวไฟ

โมเสสกับพุ่มไม้ที่มีเปลวไฟ โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน

21–27 มีนาคม

อพยพ 1–6

“เราระลึกถึงพันธสัญญาของเรา”

เริ่มการเตรียมสอนของท่านโดยอ่าน อพยพ 1–6 โครงร่างของสัปดาห์นี้ ใน จงตามเรามา—สำหรับบุคคลและครอบครัว สามารถช่วยให้ท่านเข้าใจบทเหล่านี้ และโครงร่างนี้จะให้แนวคิดการสอนแก่ท่าน

บันทึกความประทับใจของท่าน

ภาพ
ไอคอนการแบ่งปัน

เชื้อเชิญให้แบ่งปัน

ให้ดูสิ่งของหลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในบทเหล่านี้—ตัวอย่างเช่น ตะกร้าใบใหญ่หรือตุ๊กตาเด็กทารก เชื้อเชิญให้เด็กใช้สิ่งของเหล่านี้เล่าตอนที่พวกเขาโปรดปรานในเรื่องของโมเสส

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กเล็ก

อพยพ 1–2

พระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถทำงานผ่านฉันเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของพระองค์

โมเสสมีบทบาทหลักในการปลดปล่อยอิสราเอลจากความเป็นทาส แต่เขาจะไม่สามารถทำบทบาทนี้ให้สำเร็จถ้ามารดาของเขา พี่สาวของเขา บุตรสาวของฟาโรห์ และสตรีที่ซื่อสัตย์คนอื่นๆ ไม่ได้คุ้มครองและดูแลเขา

กิจกรรมที่ทำได้

  • ใช้หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้และ “ทารกน้อยโมเสส” (ใน เรื่องราวในพันธสัญญาเดิม) เล่าให้เด็กฟังว่าโยเคเบด (มารดาของโมเสส) มิเรียม (พี่สาวของเขา) และบุตรสาวของฟาโรห์ดูแลโมเสส เน้นว่าเพราะสตรีที่ซื่อสัตย์เหล่านี้และคนอื่นๆ โมเสสจึงปลอดภัยและวันหนึ่งจะนำลูกหลานของอิสราเอลไปสู่ความปลอดภัย เชิญเด็กวาดภาพคนที่ดูแลพวกเขา

    ภาพ
    ทารกน้อยโมเสสในตะกร้า

    โมเสสในกอกก © Providence Collection/licensed จาก goodsalt.com

  • ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับการรับใช้ เช่น “ลำธารเล็กๆ พูดว่า ‘จงให้’” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 116) ช่วยให้เด็กนึกถึงสิ่งเรียบง่ายที่พวกเขาสามารถทำได้เพื่อช่วยเหลือคนที่บ้าน ที่โบสถ์ และที่โรงเรียน

อพยพ 3

พระเยซูจะทรงช่วยฉันทำสิ่งดีๆ

โมเสสกังวลว่าเขาจะปลดปล่อยชาวอิสราเอลจากอียิปต์ได้หรือ แต่พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะทรงช่วยเหลือโมเสส ช่วยให้เด็กมีศรัทธาว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วยเหลือพวกเขาเช่นกัน

กิจกรรมที่ทำได้

  • บอกเด็กว่าพระเจ้าทรงมอบงานสำคัญให้โมเสสทำอย่างไร อ่านข้อที่เลือกจาก อพยพ 3 หรืออ่าน “ศาสดาพยากรณ์โมเสส” (ใน เรื่องราวในพันธสัญญาเดิม) แบ่งปันว่าโมเสสรู้สึกอย่างไร (ดู อพยพ 3:6, 11) และพระเจ้ารับสั่งอะไรกับเขา (ดู ข้อ 12 และ 14) เชื้อเชิญให้เด็กพูดทวนวลี “เราจะอยู่กับเจ้าแน่” และเล่าตอนที่พระเจ้าทรงอยู่กับท่านเมื่อท่านมีสิ่งสำคัญบางอย่างต้องทำแทนพระองค์

  • ช่วยเด็กนึกถึงสถานการณ์ที่อาจจะมีคนขอให้พวกเขาทำบางอย่างที่ดูเหมือนยาก อธิบายว่าเช่นเดียวกับพระเยซูทรงช่วยเหลือโมเสส พระเยซูจะทรงช่วยเหลือพวกเขาด้วย ร้องเพลงๆ หนึ่งเกี่ยวกับวิธีที่พระเยซูทรงช่วยเหลือเรา เช่น “เดินกับพระเยซู” (ChurchofJesusChrist.org) เป็นพยานว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงช่วยเหลือเราเมื่อเรากังวลหรือกลัว

  • ตัดหัวใจกระดาษออกและเขียนวิธีที่พระเจ้าทรงช่วยเหลือเด็กๆ ไว้บนนั้น คว่ำหัวใจกระดาษบนพื้น เชื้อเชิญให้เด็กผลัดกันเลือกหัวใจ และช่วยพวกเขาอ่านสิ่งที่เขียนบนนั้น

อพยพ 3:1–5

ฉันสามารถแสดงความคารวะในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

ใช้เรื่องของโมเสสและพุ่มไม้ที่มีเปลวไฟช่วยให้เด็กเข้าใจว่าเหตุใดเราจึงปฏิบัติต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยความคารวะ

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน อพยพ 3:1–5 และอธิบายว่าโมเสสแสดงความคารวะโดยถอดรองเท้า เราทำอะไรเพื่อแสดงความคารวะที่โบสถ์? ร้องเพลงๆ หนึ่งเกี่ยวกับความคารวะ เช่น “ความคารวะคือความรัก” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 12) ช่วยเด็กระบุคำในเพลงที่สอนให้เรารู้วิธีแสดงความคารวะ เหตุใดพระเจ้าทรงต้องการให้เรามีความคารวะ?

  • ให้ดูภาพสถานการณ์ที่เราควรแสดงความคารวะและภาพสถานการณ์ที่เราไม่จำเป็นต้องแสดงความคารวะ เช่น การประชุมศีลระลึก การสวดอ้อนวอน สวนสาธารณะ และงานเลี้ยงวันเกิด ขอให้เด็กแยกภาพแสดงสถานที่ซึ่งเราควรแสดงความคารวะ

  • เชื้อเชิญให้เด็กวาดภาพตนเอง และชี้ไปที่ภาพของพวกเขาขณะท่านสนทนาวิธีที่พวกเขาสามารถแสดงความคารวะด้วยอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ตา หู ปาก มือ และเท้า

ภาพ
ไอคอนการสอน

สอนหลักคำสอน: เด็กโต

อพยพ 1–2

พระผู้เป็นเจ้าทรงงานผ่านเราแต่ละคนเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของพระองค์

คนมากมายช่วยทำให้บรรลุจุดประสงค์ของพระองค์โดยปกปักรักษาชีวิตของเด็กน้อยโมเสส ท่านจะช่วยให้เด็กที่ท่านสอนเข้าใจบทบาทอันสำคัญยิ่งที่เราทุกคนมีในการทำให้บรรลุพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • เชิญเด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับโมเสสเมื่อท่านเป็นทารก ใช้หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้และ อพยพ 1:22; 2:1–10 สรุปเรื่องราววัยเด็กของโมเสส อ่านพระคัมภีร์อ้างอิงในหน้ากิจกรรม และถามเด็กว่าสตรีแต่ละคนทำอะไรเพื่อปกปักรักษาชีวิตของโมเสส

  • บอกเด็กเกี่ยวกับคนที่ท่านชื่นชมเพราะความซื่อสัตย์ของพวกเขาในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้าและคนรอบข้างแม้เมื่อพวกเขารับใช้ในวิธีเล็กๆ น้อยๆ เชิญเด็กพูดถึงคนรู้จักที่รับใช้พระผู้เป็นเจ้าและผู้อื่นอย่างซื่อสัตย์ เรามีส่วนอะไรในงานของพระผู้เป็นเจ้า?

อพยพ 3–4

พระเจ้าจะทรงช่วยฉันทำพระประสงค์ของพระองค์ให้สำเร็จ

โมเสสรู้สึกไม่มีความสามารถมากพอสำหรับการเรียกของท่าน แต่พระเจ้าทรงสัญญาจะอยู่กับโมเสสและช่วยเหลือท่าน เรื่องนี้อาจสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กที่ท่านสอนอย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • ให้เด็กผลัดกันแสดงเป็นโมเสสโดยใช้เรื่องราวใน อพยพ 3; 4:1–17 ถ้าทำได้ ให้นำอุปกรณ์การแสดงมาให้พวกเขาใช้ เช่น ไฟฉายและต้นไม้แทนพุ่มไม้ที่มีเปลวไฟ

  • ขอให้เด็กอ่าน อพยพ 3:11; 4:1, 10 และหาให้พบว่าโมเสสรู้สึกอย่างไรกับการขอให้ฟาโรห์ปล่อยชาวอิสราเอลไป พวกเขามีความรู้สึกคล้ายกันเมื่อใด? เด็กจะให้คำแนะนำอะไรกับโมเสสเพื่อช่วยเหลือเขา? ช่วยให้พวกเขาค้นพบว่าพระเจ้าทรงให้กำลังใจโมเสสอย่างไร (ดู อพยพ 3:12; 4:2–9, 11–12)

  • เล่าประสบการณ์เมื่อท่านรู้สึกว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยท่านทำการเรียกให้เกิดสัมฤทธิผลหรือรับใช้พระองค์ในบางด้าน เชื้อเชิญให้เด็กเล่าเวลาที่พระเจ้าทรงช่วยเหลือพวกเขา

อพยพ 3:1–5

ฉันสามารถแสดงความคารวะในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

พระเจ้าทรงขอให้โมเสสถอดรองเท้าตรงพุ่มไม้ที่มีเปลวไฟอันเป็นเครื่องหมายของความเคารพและความคารวะ ท่านจะใช้เรื่องนี้สอนเด็กเกี่ยวกับความคารวะได้อย่างไร?

กิจกรรมที่ทำได้

  • อ่าน อพยพ 3:1–5 และขอให้เด็กสรุปข้อเหล่านี้ด้วยคำพูดของพวกเขาเอง เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงความคารวะในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่นที่โบสถ์หรือในพระวิหาร? ช่วยเด็กสร้าง “ถุงความคารวะ” เพื่อนำกลับบ้าน เป็นถุงที่บรรจุกระดาษแผ่นเล็กๆ พร้อมแนวคิดเกี่ยวกับวิธีแสดงความคารวะ เชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันแนวคิดเหล่านี้กับครอบครัว

  • ร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับความคารวะ เช่น “ความคารวะคือความรัก” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 12) ขอให้เด็กแต่ละคนเขียนและแบ่งปันนิยามของความคารวะโดยยึดเนื้อร้องเป็นหลัก

ภาพ
ไอคอนการเรียนรู้

กระตุ้นให้เรียนรู้ที่บ้าน

เพื่อช่วยเด็กแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จาก อพยพ 1–6 ให้พวกเขาวาดภาพคนๆ หนึ่งที่พวกเขาเรียนรู้ในชั้นเรียนเพื่อแบ่งปันกับครอบครัวของพวกเขา

ปรับปรุงการสอนของเรา

เด็กได้ประโยชน์จากการทำซ้ำ อย่ากลัวการทำกิจกรรมซ้ำหลายๆ ครั้งโดยเฉพาะกับเด็กเล็ก นี่จะช่วยให้เด็กจำสิ่งที่ท่านสอน