คลังค้นคว้า
บทที่ 14: พระวิหารเคิร์ทแลนด์และกุญแจฐานะปุโรหิต


บทที่ 14

พระวิหารเคิร์ทแลนด์และกุญแจฐานะปุโรหิต

คำนำ

ราวสามปีหลังจากการต่อสู้ดิ้นรนและการเสียสละเงินทอง พระวิหารเคิร์ทแลนด์ได้รับการอุทิศวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1836 เหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นพร้อมการอุทิศในหนึ่งสัปดาห์ให้หลังคือทูตสวรรค์ฟื้นฟูกุญแจฐานะปุโรหิตให้แก่โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรี กุญแจเหล่านี้เป็นลักษณะเด่นของศาสนจักรและเป็นพรแก่คนหลายล้านผู้มารวมกันในศาสนจักร

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “ลักษณะเด่นที่สุดของเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2005, 54–57

  • เดวิด เอ. เบดนาร์, “มีชื่อและฐานะอย่างมีเกียรติ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 119-122

  • “สมัยที่รุ่งโรจน์ในเคิร์ทแลนด์ ค.ศ. 1834-1836,” บทที่ 13 ใน ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003), 154-169

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:1-28

วิสุทธิชนเสียสละเพื่อสร้างพระวิหารเคร์ทแลนด์

ให้นักเรียนดูภาพ พระวิหารเคิร์ทแลนด์ (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], หน้า 117; ดู LDS.orgด้วย) อธิบายว่าวิสุทธิชนทำงานหนักและเสียสละเกือบสามปีเพื่อสร้างพระวิหารเคิร์ทแลนด์ ในการทำเช่นนั้น พวกเขาเห็นสัมฤทธิผลแห่งคำสัญญาของพระเจ้าที่ว่าถ้าพวกเขารักษาพระบัญญัติ พวกเขาจะ “มีพลังสร้างมัน” (คพ. 95:11) ราว 1,000 คนเข้าร่วมการอุทิศพระวิหารซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1836 คำสวดอ้อนวอนอุทิศซึ่งโจเซฟ สมิธได้รับโดยการเปิดเผย บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 109

เชิญนักเรียนสองคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:1-5 กระตุ้นนักเรียนที่เหลือให้ดูตาม โดยสังเกตเป็นพิเศษตรงประโยคที่พูดถึงการเสียสละของวิสุทธิชนเพื่อสร้างพระวิหาร จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • โจเซฟ สมิธใช้ประโยคใดบรรยายการเสียสละของวิสุทธิชน

เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจการเสียสละของวิสุทธิชนมากขึ้น ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงบทสรุปต่อไปนี้

ระหว่างเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1833 และเดือนมีนาคม ค.ศ. 1836 ชายหญิงทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่เพื่อสร้างพระนิเวศน์ของพระเจ้าให้เสร็จสมบูรณ์ บางคนทำงานก่ออิฐ คนอื่นๆ ลำเลียงก้อนหิน หลายคนปั่นด้ายและถักชุดให้คนงาน และบางคนทำม่านให้พระนิเวศน์ของพระเจ้า พวกเขาทำทั้งหมดนี้ “เพื่อบุตรแห่งพระมหาบุรุษจะได้มีสถานที่แสดงพระองค์ให้ประจักษ์ต่อผู้คนของพระองค์” (คพ. 109:5) วิสุทธิชนยุคสุดท้ายบางคนเช่น จอห์น แทนเนอร์ สละทรัพย์สินมากมายให้แก่การสร้างพระวิหาร โดยสรุปแล้วพระวิหารอาจมีราคาค่าก่อสร้างเท่ากับ 40,000 ดอลลาร์—เงินก้อนใหญ่มากในสมัยนั้น แม้ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียสละมาก แต่วิสุทธิชนยังคงซื่อสัตย์ในการทำงานเพื่อเชื่อฟังพระบัญญัติข้อนี้ของพระเจ้า (ดู คพ. 95:11) พระวิหารเคิร์ทแลนด์เป็นงานแห่งความรัก การเชื่อฟัง การเสียสละ และศรัทธา

  • เราถูกเรียกร้องให้เสียสละอะไรบ้างในทุกวันนี้เพื่อจะได้รับพรของพระวิหาร

  • พรใดเข้ามาในชีวิตเราบ้างเมื่อเราเสียสละเพื่อทำงานของพระเจ้า

เพื่อช่วยตอบคำถามนี้ ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของซิสเตอร์แครอล บี. โธมัสจากฝ่ายประธานเยาวชนหญิงสามัญ ขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
แครอล บี. โธมัส

© Busath.com

“การเสียสละเป็นหลักธรรมอันน่าพิศวง เมื่อเราเต็มใจสละเวลา พรสวรรค์ และทั้งหมดที่เราครอบครอง สิ่งนั้นกลายเป็นรูปแบบที่แท้จริงที่สุดประการหนึ่งของการนมัสการของเรา การเสียสละสามารถพัฒนาความรักอันลึกซึ้งต่อกันและต่อพระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์ภายในตัวเรา โดยผ่านการเสียสละใจเราจะเปลี่ยน เราดำเนินชีวิตใกล้ชิดพระวิญญาณมากขึ้น และความอยากได้สิ่งต่างๆ ของโลกจะน้อยลง” (“Sacrifice: An Eternal Investment,”Ensign, May 2001, 64)

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:12–13 และ 20–21ในใจ โดยดูว่าในคำสวดอ้อนวอนนี้พูดถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารว่าอย่างไร ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเห็นเด่นชัดที่สุดในข้อเหล่านี้

บอกนักเรียนว่าในคำสวดอ้อนวอนอุทิศ โจเซฟ สมิธทูลขอพรพิเศษจากพระเจ้า ขอให้นักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 109: 12-15, 22-28 กระตุ้นให้นักเรียนที่เหลือดูตามและหาพรที่จะมาถึงคนเหล่านั้นผู้นมัสการในพระวิหารอย่างมีค่าควร ท่านอาจต้องการเสนอแนะให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำและข้อความสำคัญที่พวกเขาเห็นเด่นชัด จากนั้นให้สนทนาคำถามต่อไปนี้

  • จากพรที่ท่านค้นพบ พรใดมีความหมายต่อท่านมากที่สุด เพราะเหตุใด

  • เราสามารถเรียนรู้หลักคำสอนหรือหลักธรรมอะไรจากข้อเหล่านี้ (นักเรียนพึงระบุหลักธรรมต่อไปนี้ เมื่อเรานมัสการในพระวิหารอย่างซื่อสัตย์ เราจะได้รับความคุ้มครองและพลังต่อต้านความชั่วร้ายของโลกมากขึ้น)

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์

“โปรดพิจารณา [หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:24-28] ในแง่ความเดือดดาลปัจจุบันของปฏิปักษ์และ … การที่เราเต็มใจยอมรับพระนามของพระเยซูคริสต์และพรแห่งความคุ้มครองที่สัญญาไว้กับผู้มีชื่อและฐานะอันทรงเกียรติในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ ที่สำคัญคือพรแห่งพันธสัญญาเหล่านี้มีให้แก่คนทุกรุ่นและชั่วนิจนิรันดร์ ข้าพเจ้าขอให้ท่านศึกษาซ้ำหลายๆ ครั้งและไตร่ตรองความหมายโดยนัยของพระคัมภีร์เหล่านี้ในชีวิตท่านและครอบครัวท่านร่วมกับการสวดอ้อนวอน

“เราไม่ควรแปลกใจที่ซาตานพยายามขัดขวางหรือลบหลู่การนมัสการและงานในพระวิหาร มารดูหมิ่นความบริสุทธิ์และพลังแห่งพระนิเวศน์ของพระเจ้า ความคุ้มครองที่มีให้เราแต่ละคนในและผ่านศาสนพิธีและพันธสัญญาพระวิหารเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อแผนชั่วของลูซิเฟอร์” (ดู “มีชื่อและฐานะอย่างมีเกียรติ,” เลียโฮนา, พ.ค. 2009, 122)

  • ท่านรู้สึกอย่างไรกับการมีพลังทางวิญญาณเพิ่มขึ้นอันเป็นผลจากการนมัสการในพระวิหาร

เชื้อเชิญให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อได้รับพรมากขึ้นตามที่สัญญาไว้กับคนเหล่านั้นผู้นมัสการในพระวิหารอย่างซื่อสัตย์ เตือนนักเรียนให้ระลึกว่าขณะพวกเขาไตร่ตรองพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ ใจและความคิดของพวกเขาจะเปิดรับการดลใจจากพระเจ้ามากขึ้น

หลักคำสอนและพันธสัญญา 110

พระเยซูคริสต์ โมเสส เอลียาห์ และเอลีอัสปรากฏในพระวิหารเคิร์ทแลนด์

อธิบายว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงตอบแทนการเสียสละของวิสุทธิชนเพื่อสร้างพระวิหารเคิร์ทแลนด์ด้วยการหลั่งเทปรากฏการณ์ทางวิญญาณช่วงหลังวันอุทิศ หากเวลาเอื้ออำนวย ให้เล่าสองสามเรื่องในบทที่ 13 (“สมัยรุ่งโรจน์ในเคิร์ทแลนด์ ค.ศ. 1834-1836”) จาก ประวัติศาสนจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อเรื่อง “เทศกาลเพนเทคอส” (หน้า 165-169) บอกนักเรียนว่าเหตุการณ์สำคัญที่สุดของเหตุการณ์เหล่านี้น่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1836 หนึ่งสัปดาห์หลังจากการอุทิศพระวิหาร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง หัวบทหลักคำสอนและพันธสัญญา 110และเชื้อเชิญให้นักเรียนที่เหลือดูตาม จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • นิมิตนี้ประทานให้ใคร โจเซฟ สมิธกับออลิเวอร์ คาวเดอรีกำลังทำอะไรก่อนเกิดนิมิต

อธิบายให้นักเรียนฟังว่า สิบข้อแรกของหลักคำสอนและพันธสัญญา 110 ประกอบด้วยนิมิตอันรุ่งโรจน์ที่ประทานแก่โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรี โดยให้ท่านทั้งสองเห็นพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงปรากฏต่อพวกท่านเพื่อประกาศการยอมรับพระวิหารเคิร์ทแลนด์ของพระองค์ เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่านข้อเหล่านี้ในใจขณะมองหาความจริงสำคัญๆ เกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระวิหาร หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ให้ถามดังนี้

  • ในข้อเหล่านี้สิ่งที่มีความหมายต่อท่านคืออะไร เพราะเหตุใด

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 6พระผู้ช่วยให้รอดทรงประกาศว่า “ให้ใจพี่น้องเจ้าชื่นชมยินดี” ท่านคิดว่าเหตุใดวิสุทธิชนจึงมีเหตุผลให้ชื่นชมยินดีในเวลานั้น

อธิบายว่าหลังจากนิมิตของพระผู้ช่วยให้รอดสิ้นสุดลง นิมิตอื่นก็ตามมา ในนิมิตเหล่านี้ โมเสส เอลีอัส และเอลียาห์ปรากฎต่อโจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรีทีละคน

เขียนบน กระดานดังนี้

โมเสส: หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:11

เอลีอัส: หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:12

เอลียาห์: หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:13–15

แบ่งชั้นเรียนออกเป็นสามกลุ่ม มอบหมายชื่อบนกระดานให้กลุ่มละหนึ่งชื่อ เชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษาข้อพระคัมภีร์ที่สอดคล้องกันเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับกุญแจฐานะปุโรหิตที่ได้รับการฟื้นฟู หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบ

คำอธิบายต่อไปนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจสิ่งที่อ่านลึกซึ้งขื้น เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงข้อความแต่ละตอนหลังจากท่านสนทนาข้อพระคัมภีร์ที่สอดคล้องกัน

โมเสส: กุญแจแห่งการรวบรวมอิสราเอลมอบสิทธิอำนาจให้กำกับดูแลการสั่งสอนพระกิตติคุณทั้งสี่มุมโลก “โมเสสเป็นคนแรกที่นำบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าไปแผ่นดินแห่งมรดกของพวกเขา จึงสมควรจะเป็นผู้มอบกุญแจแห่งการรวบรวมอิสราเอลมาสู่ศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟู” (ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “การรวบรวมอิสราเอลที่กระจัดกระจาย,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 103, อ้างอิงข้อ 28)

เอลีอัส: “ชายชื่อเอลีอัสดูเหมือนจะอยู่ในความเป็นมรรตัยในสมัยของอับราฮัมผู้มอบสมัยการประทานแห่งพระกิตติคุณของอับราฮัมให้โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดรีในพระวิหารเคิร์ทแลนด์ (โอไฮโอ) วันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1836” (Bible Dictionary, “Elias”) “เอลีอัส [นำ] ‘กิตติคุณของอับราฮัม’ กลับมา พันธสัญญาอับราฮัมอันสำคัญยิ่งที่คนซื่อสัตย์ได้รับสัญญาถึงการเพิ่มพูนนิรันดร์ สัญญาที่ว่าโดยผ่านการแต่งงานซีเลสเชียลลูกหลานนิรันดร์ของพวกเขาจะมีจำนวนมากมายเท่าทรายบนฝั่งทะเลหรือดวงดาวในฟ้าสวรรค์” (บรูซ อาร์. แมคคองกี, “The Keys of the Kingdom,”Ensign, May 1983, 22)

เอลียาห์: “อำนาจการผนึกนี้ที่มอบให้เอลียาห์คืออำนาจซึ่งผูกมัดสามีภรรยา และผูกมัดบุตรธิดากับบิดามารดาเพื่อกาลเวลาและนิรันดร นี่เป็นอำนาจการผูกมัดที่ดำรงอยู่ในทุกศาสนพิธีของพระกิตติคุณ … โดยอำนาจนี้นี่เองที่ศาสนพิธีทั้งหมดเกี่ยวกับความรอดถูกผูกมัด หรือได้รับการผนึก และพันกิจของเอลียาห์คือมาฟื้นฟูอำนาจดังกล่าว” (โจเซฟ ฟิลดิงก์ สมิธ, Elijah the Prophet and His Mission [1957], 5)

อ่านออกเสียง หลักคำสอนและพันธสัญญา 110:16 และกระตุ้นให้นักเรียนดูตาม ขอให้นักเรียนระบุสิ่งที่มอบให้โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรีในเวลานั้น (“กุญแจทั้งหลายของสมัยการประทานนี้”) จากนั้นให้ถามคำถามต่อไปนี้

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 16เราจะรู้อะไรเพราะกุญแจเหล่านี้ได้รับการฟื้นฟู (การเสด็จมาครั้งที่สองอยู่ใกล้)

  • จาก ข้อ 16เหตุใดจึงต้องฟื้นฟูกุญแจที่โมเสส เอลีอัส และเอลียาห์ฟื้นฟูก่อน “วันอันน่าพรั่นพรึงและสำคัญยิ่งของพระเจ้า”

  • ท่านได้รับพรอย่างไรจากการฟื้นฟูกุญแจฐานะปุโรหิตเหล่านี้ (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ให้สรุปความสำคัญของการฟื้นฟูกุญแจเหล่านี้โดยกล่าวถึงหลักธรรมนี้ กุญแจของงานเผยแผ่ศาสนา ครอบครัวนิรันดร์ และงานพระวิหารช่วยเราเตรียมตนเองและโลกให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์)

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์

“ฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้าพร้อมด้วยกุญแจ ศาสนพิธี ต้นกำเนิดจากสวรรค์ และความสามารถในการผูกอะไรก็ตามที่ผูกบนแผ่นดินโลกไว้ในสวรรค์ จำเป็นยิ่ง ต่อศาสนจักรที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้าและ มีเฉพาะ ในศาสนจักรเท่านั้น หากปราศจากสิ่งนี้ย่อมไม่มีศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย” (“ลักษณะเด่นที่สุดของเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2005, 54)

แบ่งปันว่าชีวิตท่านได้รับพรอย่างไรเพราะการฟื้นฟูกุญแจฐานะปุโรหิตเหล่านี้ เป็นพยานว่ากุญแจทั้งหลายของฐานะปุโรหิตเป็นลักษณะเด่นของศาสนจักร แยกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายจากศาสนจักรอื่นทั้งหมดบนแผ่นดินโลก

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน