คลังค้นคว้า
บทที่ 24: ออกจากนอวูและเดินทางไปตะวันตก


บทที่ 24

ออกจากนอวูและเดินทางไปตะวันตก

คำนำ

ภายใต้การนำด้วยการดลใจของบริคัม ยังก์ วิสุทธิชนสร้างพระวิหารนอวูเสร็จ พวกเขาทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์ที่นั่นก่อนเริ่มการเดินทางที่ยากลำบากอย่างยิ่งไปบ้านใหม่ของพวกเขาในเทือกเขาร็อกกี พันธสัญญาพระวิหารเหล่านี้ให้ความเข้มแข็งและการดลใจแก่วิสุทธิชนขณะพวกเขาเผชิญความยากลำบากระหว่างทาง ในฐานะผู้รับมรดกของวิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์เหล่านี้ เราสามารถเรียนรู้จากแบบอย่างของพวกเขา และเตรียมทางให้คนอื่นๆ ได้รับพรของพระกิตติคุณ

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “มั่นคงต่อศรัทธา,” เลียโฮนา, ก.ค. 1997, 79–81

  • เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “ท่านไม่มีสิ่งใดที่ต้องหวาดหวั่นในการเดินทาง,” เลียโฮนา, ก.ค. 1997, 71–74

  • ประวัติศาสนาจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือครู, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003), 290–300, 302–312

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

การสร้างพระวิหารนอวูเสร็จสมบูรณ์

ภาพ
พระวิหารนอวู
ภาพ
พระวิหารนอวู อิลลินอยส์

ให้ดู รูป พระวิหารนอวูหลังเดิม หรือใช้รูป พระวิหารนอวู อิลลินอยส์ หลังใหม่ (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ [2009], หน้า 118) บอกนักเรียนว่าหลังจากวิสุทธิชนออกจากนอวู พระวิหารที่พวกเขาสร้างถูกเพลิงไหม้ในปี 1848 และทอร์นาโดทำลายเกือบหมดสิ้นในปี 1850 ราว 150 ปีต่อมา ศาสนจักรสร้างพระวิหารหลังใหม่ที่ดูคล้ายพระวิหารหลังเดิมมากและได้รับการอุทิศในเดือนมิถุนายน ปี 2002

อธิบายว่าหลังจากมรณสักขีของโจเซฟ สมิธ วิสุทธิชนทำงานภายใต้การกำกับดูแลของโควรัมอัครสาวกสิบสองเพื่อสร้างพระวิหารนอวูหลังเดิมให้เสร็จเร็วที่สุด ให้ดูข้อความต่อไปนี้และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง เชื้อเชิญให้นักเรียนสังเกตการเสียสละของวิสุทธิชนเพื่อสร้างพระวิหารนอวู

“ชาย 1,000 กว่าคนอุทิศแรงงานหนึ่งวันในทุกสิบวัน หลุยซา เดคเกอร์ เด็กสาวคนหนึ่งประทับใจที่คุณแม่ของเธอขายชามกระเบื้องลายครามและผ้าคลุมเตียงอย่างดีเพื่อบริจาคเงินสร้างพระวิหาร วิสุทธิชนยุคสุดท้ายคนอื่นๆ สละม้า รถลาก วัว หมู และธัญพืชเพื่อช่วยในการก่อสร้างพระวิหาร ศาสนจักรขอให้เหล่าสตรีของนอวูบริจาคเงินเหรียญเป็นทุนสร้างพระวิหาร” (ดู มรดกของเรา: ประวัติย่อของศาสนาจักรของพระเยซูคริสต์แห่งสิทธิชนยุคสุดท้าย [1996], 68)

เอลิซาเบธ เทอร์รีย์ เคอร์บีย์ ฮาเวิร์ดสละทรัพย์สินชิ้นเดียวที่เธอมี นั่นคือ นาฬิกาข้อมือของสามีที่เพิ่งสิ้นชีวิต “ดิฉันสละนาฬิกาเพื่อช่วยสร้างพระวิหารนอวู ทุกอย่างที่ดิฉันเก็บไว้และเงินไม่กี่ดอลลาร์สุดท้ายที่ดิฉันมีในโลกซึ่งรวมกันแล้วประมาณ 50 ดอลลาร์” (อ้างใน แครอล คอร์นวอลล์ แมดเซ็น, In Their Own Words: Women and the Story of Nauvoo [1994], 180)

อธิบายว่าเพราะการข่มเหงวิสุทธิชนเพิ่มขึ้นและการข่มขู่จากศัตรูของศาสนจักร ผู้นำศาสนจักรจึงประกาศในวันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 1845 ให้วิสุทธิชนออกจากนอวูหลังฤดูใบไม้ผลิ ถามนักเรียนว่า

  • ท่านคิดว่าการตัดสินใจออกจากนอวูอาจส่งผลอะไรต่อความพยายามสร้างพระวิหารให้แล้วเสร็จของวิสุทธิชน

อธิบายให้นักเรียนฟังว่าถึงแม้วิสุทธิชนจะรู้ว่าพวกเขาต้องออกจากอิลลินอยส์ แต่พวกเขาเพิ่มความพยายามในการสร้างพระวิหารให้เสร็จก่อนไป ห้องต่างๆ ในพระวิหารได้รับการอุทิศเมื่อสร้างเสร็จทั้งนี้เพื่อให้ประกอบศาสนพิธีได้เร็วที่สุด ก่อนมรณกรรมของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ ท่านประกอบพิธีเอ็นดาวเม้นท์พระวิหารให้ชายหญิงกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง วันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1845 ชายหญิงเหล่านี้เริ่มประกอบศาสนพิธีพระวิหารให้สมาชิกคนอื่นๆ ในห้องพระวิหารที่อุทิศแล้ว เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงสองย่อหน้าต่อไปนี้ซึ่งพูดถึงความพยายามของวิสุทธิชนและผู้นำเพื่อให้แน่ใจว่ามีคนได้รับศาสนพิธีพระวิหารมากเท่าที่จะมากได้ก่อนออกจากนอวู

ตั้งแต่ปี 1844 ถึงปี 1846 ประธานบริคัม ยังก์และอัครสาวกสิบสองทำให้การสร้างพระวิหารนอวูเสร็จสมบูรณ์เป็นความสำคัญเร่งด่วนอันดับแรก มีการประกอบพิธีเอ็นดาวเม้นท์และการผนึกก่อนการสร้างสิ้นสุด บริคัม ยังก์ (1801–1877) บันทึกดังนี้ “เหล่าวิสุทธิชนได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขามุ่งหวังจะรับศาสนพิธี [ของพระวิหาร] และเรามุ่งหวังจะประกอบศาสนพิธีให้พวกเขาเช่นกันถึงขนาดว่าข้าพเจ้าได้ยอมอุทิศตนให้งานของพระเจ้าในพระวิหาร ทั้งกลางวันและกลางคืน ใช้เวลานอนโดยเฉลี่ยไม่เกินวันละสี่ชั่วโมง และกลับบ้านสัปดาห์ละครั้ง” (ใน History of the Church, 7:567)

นอกจากชายที่ทำงานในพระวิหารแล้ว “หญิงสามสิบหกคนเป็นเจ้าหน้าที่ศาสนพิธีในพระวิหารนอวูด้วย โดยทำงานแข่งกับเวลาช่วงฤดูหนาวของปี 1845–1846 เพื่อประกอบศาสนพิธีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนการอพยพ ‘ดิฉันทำงานในพระวิหารทุกวันไม่หยุดจนกระทั่งพระวิหารปิด’ เอลิซาเบธ แอน วิทนีย์ หนึ่งในสามสิบหกคนนั้นกล่าว ‘ดิฉันอุทิศตน เวลา และความสนใจให้พันธกิจดังกล่าว’ สตรีอีกหลายสิบคนซักเสื้อผ้าและเตรียมอาหารเพื่อสับสนุนทางด้านโลกแก่ภารกิจอันน่าทึ่งนี้” (แครอล คอร์นเวลล์ แมดเซ็น, “Faith and Community: Women of Nauvoo,in Joseph Smith: The Prophet, The Man, ed. Susan Easton Black and Charles D. Tate Jr. [1993], 233–34)

อธิบายว่าระหว่างวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1845 ถึง 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1846—วันที่วิสุทธิชนเริ่มเดินทางไปตะวันตก—วิสุทธิชนประมาณ 5,615 คนได้รับศาสนพิธีเอ็นดาวเม้นท์ในพระวิหารนอวูและหลายครอบครัวได้รับการผนึกที่นั่น

  • เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการเสียสละของวิสุทธิชนเพื่อสร้างพระวิหารให้แล้วเสร็จทั้งที่พวกเขารู้ว่าจะต้องออกจากนอวูในไม่ช้า (นักเรียนอาจระบุหลักธรรมต่างกัน อาทิ: การได้รับศาสนพิธีพระวิหารคุ้มกับความพยายามอันชอบธรรมและการเสียสละทั้งหมดของเรา ท่านอาจเขียนหลักธรรมนี้ไว้บนกระดานเพื่อเน้น)

  • ท่านคิดว่าการได้รับศาสนพิธีพระวิหารอาจเตรียมคนที่ออกจากนอวูในด้านใดให้พร้อมเดินทางกว่าพันไมล์ไปหาที่พักพิงทางตะวันตกของสหรัฐ

เพื่อช่วยตอบคำถามนี้ ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของซิสเตอร์ซาราห์ ริช และเอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
ซาราห์ ริช

“หากไม่เป็นเพราะศรัทธาและความรู้ที่มอบให้เราในพระวิหารแห่งนั้นโดยอิทธิพลและความช่วยเหลือจากพระวิญญาณของพระเจ้า การเดินทางของเราคงจะเหมือนคนกระโดดในความมืด” (ซาราห์ ริช อ้างอิงใน Daughters in My Kingdom: The History and Work of Relief Society [2011], 30)

ภาพ
เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์

“บรรพชนผู้บุกเบิกของเราได้รับการผนึกด้วยกันเป็นครอบครัวในนอวู พันธสัญญาของพวกเขากับพระเจ้าในพระวิหารนอวูเป็นเครื่องคุ้มครองพวกเขาระหว่างการเดินทางไปตะวันตก เฉกเช่นคุ้มครองเราแต่ละคนวันนี้และตลอดชีวิตเรา …

“สำหรับวิสุทธิชนสมัยเริ่มแรกเหล่านี้ การมีส่วนร่วมในศาสนพิธีแห่งพระวิหารจำเป็นต่อประจักษ์พยานของพวกเขาขณะเผชิญความยากลำบาก กลุ่มคนร้ายที่โกรธเกรี้ยว การถูกไล่ออกจากบ้านที่สะดวกสบายในนอวู และการเดินทางอันยากลำบากและยาวนานข้างหน้า พวกเขาได้รับการประสาทพลังอำนาจในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ สามีและภรรยาได้รับการผนึกไว้ด้วยกัน บุตรธิดาได้รับการผนึกกับบิดามารดา หลายคนสูญเสียสมาชิกครอบครัวให้ความตายระหว่างทาง แต่พวกเขารู้ว่านั่นไม่ใช่จุดสิ้นสุดของคนเหล่านั้น พวกเขาได้รับการผนึกในพระวิหารเพื่อนิจนิรันดร์แล้ว” (โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, Temple Blessings, New Era, Feb. 2014, 4)

ถามนักเรียนว่า

  • การได้รับศาสนพิธีพระวิหารมีผลอะไรต่อวิสุทธิชนยุคสุดท้ายยุคแรกที่ถูกบีบบังคับให้เดินทางไกลไปตะวันตก (ขณะที่นักเรียนแบ่งปันคำตอบ จงช่วยให้พวกเขาเข้าใจหลักธรรมต่อไปนี้ ศาสนพิธีพระวิหารสามารถให้ความคุ้มครองและความเข้มแข็งแก่เราเมื่อเราเผชิญช่วงเวลาของความยากลำบาก)

  • การนมัสการในพระวิหารคุ้มครองและทำให้ท่านหรือคนที่ท่านรู้จักเข้มแข็งในช่วงเวลาของการทดลองอย่างไร

กระตุ้นให้นักเรียนไตร่ตรองว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างให้มีความคุ้มครองและความเข้มแข็งทางวิญญาณมากขึ้นผ่านการนมัสการในพระนิเวศน์ของพระเจ้า

หลักคำสอนและพันธสัญญา 136

พระดำรัสแนะนำสั่งสอนของพระเจ้าสำหรับคนที่เดินทางไปตะวันตก

ภาพ
แผนที่ การเคลื่อนย้ายไปตะวันตกของศาสนจักร

เชื้อเชิญนักเรียนให้เปิดดูแผนที่ประวัติศาสนจักร แผนที่ 6 “การเคลื่อนย้ายไปตะวันตกของศาสนจักร” และขอให้พวกเขาหาเมืองนอวูและวินเทอร์ควอเตอร์ส อธิบายว่าเพราะฝนตกมากเกินไปและเสบียงไม่พอ วิสุทธิชนที่ออกจากนอวูในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1846 จึงใช้เวลาสี่เดือนเดินทาง 300 ไมล์ข้ามไอโอวา ระหว่างนี้ ชายวิสุทธิชนยุคสุดท้าย 500 กว่าคนที่รู้จักกันในชื่อว่ากองทหารมอรมอน—เอาใจใส่คำขอร้องของประธานบริคัม ยังก์ให้เข้าประจำการกองทัพสหรัฐเพื่อรับใช้ในช่วงสงครามของสหรัฐกับเม็กซิโก ชายบางคนมีภรรยากับบุตรธิดาสมทบด้วย การรับใช้ของพวกเขาจะได้เงินมาช่วยสมาชิกศาสนจักรที่ยากจนให้เดินทางไปตะวันตก แต่หลายครอบครัวไม่มีสามีและบิดาเดินทางไปตะวันตกด้วย ด้วยเหตุนี้ ผู้นำศาสนจักรจึงตัดสินใจให้ยุติการเดินทางไปตะวันตกจนถึงเทือกเขาร็อกกีจนกว่าจะถึงฤดูใบไม้ผลิปี 1847 วิสุทธิชนตั้งถิ่นฐาน ณ ที่แห่งหนึ่งเรียกว่าวินเทอร์ควอเตอร์ส ที่นั่นบริคัม ยังก์ได้รับการเปิดเผยดังที่บันทึกไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 136

เชิญนักเรียนสองสามคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 136:1–5 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามโดยมองหาว่าพระเจ้าทรงแนะนำให้วิสุทธิชนทำอะไรเพื่อเตรียมเดินทางสู่ตะวันตกต่อไป

  • พวกเขาวางระเบียบคณะเดินทางอย่างไร ท่านคิดว่าการวางระเบียบนี้จะช่วยวิสุทธิชนระหว่างการเดินทางของพวกเขาอย่างไร

  • การวางระเบียบนี้คล้ายกับวิธีวางระเบียบศาสนจักรในปัจจุบันอย่างไร (หลังจากนักเรียนตอบแล้ว ท่านอาจต้องการเขียนความจริงต่อไปนี้ไว้บนกระดาน พระเจ้าทรงวางระเบียบวิสุทธิชนเป็นกลุ่มเพื่อจะนำทางและดูแลแต่ละคนได้)

  • ข้อ 4 บอกอะไรเกี่ยวกับวิธีที่วิสุทธิชนจะได้รับความเข้มแข็งขณะพยายามทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า

มอบหมายให้นักเรียนศึกษา หลักคำสอนและพันธสัญญา 136:6–11ในใจโดยมองหาวิธีจัดระเบียบวิสุทธิชนให้ดูแลความต้องการของกันและกัน ช่วยดูแลคนยากไร้และคนขัดสนระหว่างเดินทางไปตะวันตก หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ท่านอาจถามคำถามต่อไปนี้เพื่อนำการสนทนา

  • คำหรือวลีใดใน ข้อ 6–11 บ่งบอกว่าวิสุทธิชนต้องดูแลกันและดูแลคนตกทุกข์ได้ยาก (ท่านอาจเน้นคำว่า “เตรียม” ใน ข้อ 6, 7 และ 9 สิ่งนี้จะดึงความสนใจมายังทักษะการศึกษาพระคัมภีร์ของการฝึกสังเกตคำซ้ำ)

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 11 พระเจ้าทรงสัญญาอะไรกับคนที่พยายามช่วยผู้อื่นและเตรียมทางให้คนเหล่านั้น (ขณะที่นักเรียนตอบ ให้เขียนหลักธรรมต่อไปนี้บนกระดาน พระเจ้าจะประทานพรเราเมื่อเราช่วยคนอื่นๆ และเตรียมทางให้คนเหล่านั้น)

  • ใครเตรียมทางให้ท่านได้ชื่นชมพรของพระกิตติคุณ พวกเขาทำอะไรเพื่อเตรียมทางให้ท่าน

ท่านอาจต้องการอธิบายว่า เราสามารถนิยามคำ ผู้บุกเบิก ได้ว่าคือคนที่ไปก่อนเพื่อเตรียมหรือเปิดทางให้คนอื่นๆ เดินตาม นั่นหมายความว่าเราทุกคนสามารถเป็นผู้บุกเบิกได้ในบางด้าน ให้เวลานักเรียนไตร่ตรองสักครู่ว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยคนอื่นๆ และเตรียมทางให้คนเหล่านั้นได้ชื่นชมพรของพระกิตติคุณ เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันความคิดของพวกเขา แสดงประจักษ์พยานว่าพระเจ้าทรงปรารถนาให้เราพยายามตลอดชีวิตเพื่อช่วยเตรียมทางให้บุตรธิดาแต่ละคนของพระองค์ได้รับพระกิตติคุณและกลับไปอยู่กับพระองค์

อธิบายว่าวิสุทธิชนเชื่อฟังพระบัญชาของพระเจ้าโดยช่วยเหลือกันและเตรียมทางให้คนที่ตามพวกเขามา ผู้บุกเบิกกลุ่มแรกออกจากวินเทอร์ควอเตอร์สวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1847 พวกเขาเดินทาง 1,000 กว่าไมล์และมาถึงหุบเขาซอลท์เลคปลายเดือนกรกฎาคม ปี 1847 วันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1847 ประธานบริคัม ยังก์เข้าไปในหุบเขาและได้รับการยืนยันว่าวิสุทธิชนพบบ้านใหม่แล้ว

ให้ดูข้อความต่อไปนี้จากเอ็ลเดอร์วิลเลียม อาร์. วอล์กเกอร์อดีตสมาชิกโควรัมสาวกเจ็ดสิบ และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
เอ็ลเดอร์วิลเลียม อาร์. วอล์กเกอร์

“ไม่ว่าท่านเป็นลูกหลานของผู้บุกเบิกหรือไม่ก็ตาม มรดกแห่งศรัทธาและการเสียสละของผู้บุกเบิกชาวมอรมอนคือมรดกของท่าน เป็นมรดกอันประเสริฐของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย” (“ดำเนินชีวิตอย่างแน่วแน่ต่อศรัทธา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 97)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดจึงสำคัญที่สมาชิกแต่ละคนของศาสนจักรต้องเข้าใจว่า “มรดกแห่งศรัทธาและการเสียสละของผู้บุกเบิกชาวมอรมอน” คือมรดกของพวกเขา ไม่ว่าบรรพชนของพวกเขาเป็นใคร

  • การเรียนรู้เกี่ยวกับการเดินทางของผู้บุกเบิกชาวมอรมอนสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกศาสนจักรในปัจจุบันในด้านใดขณะพวกเขาพยายามรับใช้ผู้อื่นและช่วยคนเหล่านั้นเดินทางกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์

ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้จากประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์(1910–2008) และขอให้นักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“ปัจจุบันเราเป็นผู้รับผลแห่งความพยายามมากของ [ผู้บุกเบิก] ข้าพเจ้าหวังว่าเราจะขอบคุณ ข้าพเจ้าหวังว่าเราจะสำนึกคุณอย่างสุดซึ้งในใจเราสำหรับทั้งหมดที่พวกเขาทำเพื่อเรา …

“พี่น้องที่รักทั้งหลาย เราได้รับพรมากมายเหลือเกิน! มรดกที่เรามีช่างวิเศษยิ่งนัก! มรดกนั้นเกี่ยวข้องกับการเสียสละ ความทุกขเวทนา ความตาย วิสัยทัศน์ ศรัทธา ความรู้ และประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าพระบิดานิรันดร์ และพระบุตรของพระองค์ พระเจ้าผู้คืนพระชนม์ พระเยซูคริสต์ …

“เราให้เกียรติผู้มาก่อนได้ดีที่สุดเมื่อเรารับใช้ด้วยดีในอุดมการณ์แห่งความจริง” (“มั่นคงต่อศรัทธา,” เลียโฮนา, ก.ค. 1997, 81)

เตือนนักเรียนว่าสมาชิกทุกคนของศาสนจักรได้รับพรจากคนอื่นๆ ผู้เตรียมทางให้พวกเขาได้ชื่นชมพรของพระกิตติคุณ กระตุ้นให้นักเรียนพิจารณาว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเตรียมคนอื่นๆ รวมทั้งลูกหลานของพวกเขาให้ดำเนินชีวิตในศรัทธาและการเชื่อฟังพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน