คลังค้นคว้า
บทที่ 3: การออกมาของพระคัมภีร์มอรมอน


บทที่ 3

การออกมาของพระคัมภีร์มอรมอน

คำนำ

พระเจ้าทรงส่งเทพโมโรไนมาเตรียมโจเซฟ สมิธให้พร้อมรับและแปลพระคัมภีร์มอรมอน เรารู้เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับขั้นตอนการแปลที่แท้จริง โจเซฟ สมิธกล่าวว่าท่านแปลพระคัมภีร์มอรมอน “โดยของประทานและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า” (คำนำของพระคัมภีร์มอรมอน ฉบับปี 1830) ตามกฎของพยาน (ดู 2 โครินธ์ 13:1) พระเจ้าทรงยอมให้อีกหลายคนเป็นพยานของบันทึกโบราณนี้ ประจักษ์พยานของพวกเขาเสริมความน่าเชื่อถือของพระคัมภีร์มอรมอนให้คนทั้งโลก

ความรู้พื้นฐานที่ควรอ่าน

  • นีล เอ. แม็กซ์เวลล์, “By the Gift and Power of God,”Ensign, Jan. 1997, 36–41.

  • “Book of Mormon Translation,” Gospel Topics, lds.org/topics.

  • “การออกมาของพระคัมภีร์มอรมอนและการฟื้นฟูฐานะปุโรหิต,” บทที่ 5 ใน ประวัติศาสนจักรในความสมบูรณ์แห่งเวลา คู่มือนักเรียน, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (คู่มือระบบการศึกษาของศาสนจักร, 2003), 52–66

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:30-35, 42-54

แปลโดยของประทานและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า

เชิญอาสาสมัครหนึ่งหรือสองคนสรุปให้ชั้นเรียนฟังสิ่งที่พวกเขาจำได้เกี่ยวกับเทพโมโรไนมาเยือนเด็กหนุ่มโจเซฟ สมิธในคืนวันที่ 21 กันยายน 1823 แบ่งปันข้อมูลต่อไปนี้ตามต้องการ

“ในคืนวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1823 โจเซฟปลีกตัวขึ้นไปบนห้องนอนใต้หลังคาในบ้านไม้ซุงของครอบครัวที่เมืองพอลไมรา รัฐนิวยอร์ก หลังจากทุกคนในห้องหลับหมดแล้วท่านยังไม่หลับแต่กำลังสวดอ้อนวอนอย่างจริงใจเพื่อให้รู้พระประสงค์ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมีต่อท่านมากขึ้น …

“เพื่อตอบคำสวดอ้อนวอนของโจเซฟ ท่านเห็นความสว่างปรากฏในห้องซึ่งสว่างจ้าขึ้นเรื่อยๆ จนห้อง ‘สว่างยิ่งกว่าตอนเที่ยงวัน’ ทูตสวรรค์องค์หนึ่งปรากฏที่ข้างเตียง โดยยืนอยู่ในอากาศ สวมเสื้อคลุม ‘สีขาวผุดผ่องที่สุด’ (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:30-31) ทูตผู้นี้คือโมโรไน ศาสดาพยากรณ์ชาวนีไฟคนสุดท้ายผู้ได้ฝังแผ่นจารึกไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อนซึ่งพระคัมภีร์มอรมอนจารึกอยู่บนนั้นและเป็นผู้ถือกุญแจเกี่ยวเนื่องกับบันทึกศักดิ์สิทธิ์นี้ (ดู คพ. 27:5) ท่านถูกส่งมาบอกโจเซฟว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงให้อภัยบาปของท่าน และทรงมีงานใหญ่ให้ท่านทำ ส่วนหนึ่งของงานนี้คือโจเซฟต้องไปที่เนินเขาใกล้บ้านซึ่งมีบันทึกศักดิ์สิทธิ์จารึกบนแผ่นทองคำฝังอยู่ … โจเซฟต้องแปลบันทึกนี้และนำออกมาสู่โลก

“วันรุ่งขึ้น โจเซฟไปยังเนินเขาที่ฝังแผ่นจารึกพระคัมภีร์มอรมอน ที่นั่นท่านพบโมโรไนและเห็นแผ่นจารึก แต่โมโรไนบอกว่าท่านจะยังไม่ได้รับจนกว่าจะครบสี่ปี …

“… วันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1827 [เอ็มมา ภรรยาของโจเซฟ] ไปที่เนินเขากับท่านและรออยู่ใกล้ๆ ขณะโมโรไนมอบแผ่นจารึกไว้ในมือศาสดาพยากรณ์” (คำสอนของประธานศาสนาจักร: โจเซฟ สมิธ [2007], 61-63)

เชื้อเชิญให้นักเรียนเปิดไปหน้าชื่อเรื่องของพระคัมภีร์มอรมอนและอ่านย่อหน้าแรก โดยหาข้อมูลเกี่ยวกับบันทึกโบราณนี้ว่าจะออกมาและได้รับการแปลอย่างไร หลังจากนักเรียนอ่านแล้ว ขอให้พวกเขาแบ่งปันสิ่งที่พบ (นักเรียนควรระบุความจริงต่อไปนี้ พระคัมภีร์มอรมอนแปลโดยของประทานและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า)

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:34-35 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามและมองหาวิธีหนึ่งที่พระเจ้าทรงช่วยโจเซฟ สมิธแปลพระคัมภีร์มอรมอน

  • ตามที่กล่าวไว้ในข้อเหล่านี้ วิธีหนึ่งที่พระเจ้าทรงช่วยโจเซฟสมิธในการแปลบันทึกโบราณคืออะไร (พระเจ้าทรงจัดเตรียมอูริมและทูมมิมสำหรับการแปล)

อธิบายว่าเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งที่โจเซฟ สมิธใช้ขณะแปลพระคัมภีร์มอรมอนคือหินกลมรีก้อนเล็ก บางครั้งเรียกว่า “หินผู้หยั่งรู้” ซึ่งท่านค้นพบหลายปีก่อนที่ท่านจะได้แผ่นจารึกทองคำ (ดู “Book of Mormon Translation,” Gospel Topics, lds.org/topics) เรื่องราวทางประวัติศาสตร์บอกว่าบางครั้งท่านศาสดาพยากรณ์ใช้อูริมและทูมมิม และบางครั้งใช้หินผู้หยั่งรู้แปล

อ่านออกเสียงข้อความต่อไปนี้เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าพระเจ้าทรงเปิดเผยการแปลพระคัมภีร์มอรมอนเป็นภาษาอังกฤษต่อท่านศาสดาพยากรณ์ผ่านอูริม ทูมมิม และหินผู้หยั่งรู้

“เมื่อขอให้บอกรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการแปล โจเซฟย้ำหลายครั้งว่าท่านแปล ‘โดยของประทานและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า’ และกล่าวเพิ่มเติมครั้งหนึ่งว่า ‘ท่านไม่ตั้งใจจะบอกรายละเอียดทั้งหมดให้ชาวโลกรู้เกี่ยวกับการออกมาของพระคัมภีร์มอรมอน’

“กระนั้นก็ตาม ผู้จดคำแปลและคนอื่นๆ ที่สังเกตการแปลได้ฝากเรื่องราวมากมายที่ให้ความเข้าใจอันลึกซึ้งเกี่ยวกับขั้นตอนดังกล่าว บางเรื่องระบุว่าโจเซฟศึกษาอักขระบนแผ่นจารึก เรื่องราวส่วนใหญ่พูดถึงการใช้อูริมและทูมมิมของโจเซฟ (เครื่องแปลความหมายหรือหินผู้หยั่งรู้) และอีกหลายเรื่องราวพูดถึงการใช้หินอย่างเดียว เรื่องราวเหล่านี้บอกว่าโจเซฟวางเครื่องแปลความหมายหรือหินผู้หยั่งรู้ไว้ในหมวก แนบหน้าลงไปในหมวกเพื่อบังแสงจากภายนอก แล้วอ่านออกเสียงคำภาษาอังกฤษที่ปรากฎบนเครื่องแปลความหมาย ขั้นตอนดังกล่าวทำให้นึกถึงข้อความจากพระคัมภีร์มอรมอนที่พูดถึงพระผู้เป็นเจ้าทรงเตรียม ‘ศิลาก้อนหนึ่ง … ซึ่งจะฉายส่องในความมืดออกมาสู่ความสว่าง’ [แอลมา 37:23-24]” (Book of Mormon Translation,” Gospel Topics, lds.org/topics)

อธิบายว่าความช่วยเหลือจากพระเจ้าประจักษ์ชัดเช่นกันในช่วงเวลาอันสั้นที่โจเซฟ สมิธแปลพระคัมภีร์มอรมอน ให้ดูคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง และเชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียง

ภาพ
เอ็ลเดอร์รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน

“ลองนึกถึงช่วงเวลาสั้นๆ ที่โจเซฟใช้แปลพระคัมภีร์มอรมอน โจเซฟทำงานแปล 116 หน้าที่มาร์ติน แฮร์ริสทำหายหลังจากนั้นตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1828 โจเซฟเริ่มแปลอีกครั้งวันอังคารที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1829 โดยมีออลิเวอร์ คาวเดอรีเป็นผู้จดคำแปล ต้นฉบับเสร็จสมบูรณ์ในอีกแปดสิบห้าวันต่อมาคือในวันที่ 30 มิถุนายนของปีนั้น แน่นอนว่าท่านไม่ได้ใช้เวลาทั้งหมดทำงานแปล … ตามที่ประมาณไว้อย่างรอบคอบจะเหลือวันทำงานหกสิบห้าวันหรือน้อยกว่านั้นที่ท่านศาสดาพยากรณ์และผู้จดของท่านแปลหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมี 531 หน้าในฉบับปัจจุบัน (ดู จอห์น ดับเบิลยู. เวลช์, Ensign, Jan. 1988, pp. 46–47.) คำนวณว่าแปลโดยเฉลี่ยวันละแปดหน้า ลองพิจารณาค่าเฉลี่ยดังกล่าวเมื่อท่านแปลหนังสือเล่มหนึ่ง หรือเมื่อท่านกำหนดเวลาอ่านพระคัมภีร์มอรมอนของท่านเอง (“A Treasured Testament,”Ensign, July 1993, 61–62)

  • มีวิธีอะไรอีกบ้างที่การออกมาของพระคัมภีร์มอรมอนเกิดขึ้น “โดยของประทานและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า”

  • ถ้าเราไม่รู้รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับการออกมาของพระคัมภีร์มอรมอน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหนังสือเล่มนี้จริง (เราสามารถรับพยานทางวิญญาณของพระคัมภีร์มอรมอนได้โดยไม่ต้องรู้รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับการแปลหนังสือเล่มนี้)

  • อะไรช่วยให้ท่านมีประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอน

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

ภาพ
ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์

“โมโรไนมาคนแรกพร้อมแผ่นจารึกซึ่งได้รับการแปลเป็นพระคัมภีร์มอรมอน นี่เป็นเรื่องน่าพิศวงและพิเศษยิ่ง เรื่องราวของโจเซฟเกี่ยวกับแผ่นจารึกทองคำเป็นเรื่องเหลือเชื่อ เชื่อได้ยากและท้าทายกันได้ง่าย ท่านเขียนด้วยความสามารถของท่านเองหรือ พี่น้องทั้งหลาย หนังสืออยู่ที่นี่แล้วเพื่อให้ทุกคนเห็น จับต้อง และอ่าน ความพยายามทุกวิถีทางเพื่ออธิบายที่มาของแผ่นจารึกดังกล่าวไม่มีน้ำหนักเท่ากับที่โจเซฟอธิบายไว้ ท่านไม่ได้ร่ำเรียนมา แต่ในเวลาอันสั้นท่านได้นำการแปลออกมาซึ่งจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มหนากว่า 500 หน้า …

“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นักวิจารณ์ได้พยายามอธิบาย พูดต่อต้าน และหัวเราะเยาะพระคัมภีร์มอรมอน แต่ก็ผ่านพ้นพวกเขามาได้ และปัจจุบันอิทธิพลของหนังสือเล่มนี้มีมากกว่าช่วงเวลาใดในประวัติศาสตร์” (“ก้อนหินถูกสกัดจากภูเขา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 108)

  • ท่านจะพูดอะไรเพื่อช่วยคนที่พยายามจะเชื่อว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง

เป็นพยานว่าพระคัมภีร์มอรมอนออกมาโดยของประทานและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า

หลักคำสอนและพันธสัญญา 17

ประจักษ์พยานของพยานสามคนและพยานแปดคน

อธิบายว่าขณะโจเซฟ สมิธกำลังแปลพระคัมภีร์มอรมอน ท่านทราบว่าพระเจ้าจะทรงกำหนดคนอื่นๆ ให้เป็นพยานของบันทึกโบราณ (ดู 2 นีไฟ 27:12-13; อีเธอร์ 5:2-5) เวลานั้น ออลิเวอร์ คาวเดอรี, เดวิด วิตเมอร์ และมาร์ติน แฮร์ริสต่างแสดงความปรารถนาจะเป็นพยานพิเศษเหล่านี้ หลักคำสอนและพันธสัญญา 17 ประกอบด้วยคำแนะนำที่พระเจ้าประทานแก่สามคนนี้

เชิญนักเรียนหลายคนผลัดกันอ่านออกเสียงจาก หลักคำสอนและพันธสัญญา 17:1-6 ขอให้นักเรียนที่เหลือดูตามโดยมองหาสิ่งที่พระเจ้าทรงแนะนำพยานให้ทำหลังจากพวกเขาเห็นแผ่นจารึก หลังจากนักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พบแล้ว ให้ถามว่า

  • ท่านคิดว่าเหตุใดชายสามคนนี้จึงต้องแสดงศรัทธาเฉกเช่นศาสดาพยากรณ์สมัยโบราณก่อนพระเจ้าจะทรงยอมให้พวกเขาเห็นแผ่นจารึก

  • ตามที่กล่าวไว้ใน ข้อ 3–5พยานเหล่านี้จะมีความรับผิดชอบอะไรบ้างหลังจากเห็นแผ่นจารึก

  • เรามีความรับผิดชอบอะไรบ้างเมื่อพระเจ้าทรงแสดงความจริงของพระคัมภีร์มอรมอนให้ประจักษ์ต่อเรา (นักเรียนควรระบุหลักธรรมทำนองนี้ หลังจากเราได้รับพยานถึงความจริง เรามีความรับผิดชอบในการเป็นพยานถึงความจริงนั้น [ดู คพ. 88:81ด้วย]) ท่านอาจชี้ให้เห็นว่าหลักธรรมนี้เป็นตัวอย่างของรูปแบบที่เราจะพบได้ในพระคัมภีร์เช่นกัน “รูปแบบคือแผน ต้นแบบ หรือมาตรฐานที่ใช้เป็นแนวทางสำหรับทำหรือสร้างบางสิ่งบางอย่างซ้ำๆ” [David A. Bednar, “A Reservoir of Living Water” (Brigham Young University fireside, Feb. 4, 2007), 5, speeches.byu.edu])

  • การเป็นพยานถึงความจริงจะเป็นการแสดงศรัทธาของเราได้อย่างไร

เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงเรื่องราวของโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับประสบการณ์ของท่านกับพยานสามคน

“มาร์ติน แฮร์ริส, เดวิด วิตเมอร์, ออลิเวอร์ คาวเดอรี และตัวข้าพเจ้าตกลงปลีกตัวเข้าไปในป่า และพยายามให้ได้รับสัมฤทธิผลแห่งคำสัญญาโดยการสวดอ้อนวอนด้วยความนอบน้อมและศรัทธาแรงกล้า … [หลังจาก] ความล้มเหลวครั้งที่สองของเรา มาร์ติน แฮร์ริสเสนอว่าเขาจะถอนตัวจากพวกเราโดยเชื่อตามที่เขาแสดงความเห็นว่าเขาเป็นเหตุให้เราไม่ได้รับสิ่งที่เราปรารถนา เขาถอนตัวจากพวกเราตามนั้น เราคุกเข่าอีกครั้ง และเราสวดอ้อนวอนได้ไม่กี่นาที … เทพ [โมโรไน] ก็มายืนตรงหน้าเรา ในมือท่านถือแผ่นจารึก … ท่านพลิกทีละแผ่นให้เราดู และมองเห็นคำจารึกบนนั้นอย่างชัดเจน … เราได้ยินเสียงออกมาจากแสงเจิดจ้าเหนือเราว่า ‘แผ่นจารึกเหล่านี้ได้รับการเปิดเผยโดยเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า และได้รับการแปลโดยเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า การแปลแผ่นจารึกซึ่งท่านเห็นแล้วนั้นถูกต้อง ข้าพเจ้าบัญชาท่านให้เป็นพยานถึงสิ่งที่ท่านเห็นและได้ยินตอนนี้’

“ตอนนี้ข้าพเจ้าเดินจากเดวิดและออลิเวอร์ไปตามหามาร์ติน แฮร์ริส ข้าพเจ้าพบเขากำลังสวดอ้อนวอนด้วยศรัทธาแรงกล้าอยู่ไกลพอสมควร เขาบอกข้าพเจ้าทันทีว่าเขายังไม่ได้เกลี้ยกล่อมพระเจ้าเลย และขอร้องข้าพเจ้าอย่างจริงใจให้สวดอ้อนวอนกับเขาเพื่อเขาจะได้รับพรเดียวกับที่เราเพิ่งได้รับ เราสวดอ้อนวอนกับเขา และในที่สุดก็ได้ตามที่เราปรารถนา เพราะก่อนเราสวดอ้อนวอนจบ นิมิตเดียวกันนั้นเผยให้เราเห็น อย่างน้อยก็เผยต่อข้าพเจ้าอีกครั้ง ข้าพเจ้าเห็นและได้ยินเรื่องเดียวกันอีกครั้ง ขณะเดียวกันมาร์ติน แฮร์ริสก็ร้องออกมาด้วยความยินดีเป็นล้นพ้นอย่างเห็นได้ชัดว่า “พอแล้ว ‘พอแล้ว ตาข้าพเจ้าเห็นแล้ว ตาข้าพเจ้าเห็นแล้ว’” (ใน History of the Church, 1:54–55)

โจเซฟกลับไปบ้านวิตเมอร์และพูดกับพ่อแม่ว่า “นอกจากผมแล้วยังมีชายอีกสามคนที่พระเจ้าทรงนำแผ่นจารึกมาให้ดู พวกเขาเห็นเทพและจะต้องเป็นพยานถึงความจริงตามที่ผมพูด เพราะพวกเขารู้ด้วยตนเองว่าผมไม่ได้หลอกผู้คน และผมรู้สึกประหนึ่งได้รับการปลดเปลื้องจากภาระอันน่ากลัวซึ่งค่อนข้างหนักเกินกว่าจะแบกไหว … และนั่นทำให้จิตวิญญาณของผมปลาบปลื้มยินดีเพราะผมจะไม่โดดเดี่ยวอีกแล้วในโลกนี้” (ใน Lucy Mack Smith, History, 1844–1845, book 8, page 11, josephsmithpapers.org/paperSummarylucy-mack-smith-history-1844-1845)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดโจเซฟ สมิธจึงปลื้มปีติหลังจากประสบการณ์นี้ (ท่านไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไปในฐานะพยานที่เห็นแผ่นจารึกและทูตสวรรค์)

อธิบายว่าพยานอีกแปดคนได้รับโอกาสให้เห็นแผ่นจารึกเช่นกัน

เชื้อเชิญนักเรียนครึ่งชั้นอ่าน “ประจักษ์พยานของพยานสามคน” และอีกครึ่งชั้นอ่าน “ประจักษ์พยานของพยานแปดคน” ซึ่งอยู่ในหน้าคำนำของพระคัมภีร์มอรมอน ขอให้นักเรียนมองหาองค์ประกอบสำคัญในประสบการณ์ของพยานเหล่านี้ หลังจากให้เวลาพอสมควรแล้ว ขอให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาค้นพบ

  • ประสบการณ์ของพยานสามคนต่างจากประสบการณ์ของพยานแปดคนอย่างไร (พยานสามคนได้ยินสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้าและเห็นเทพแต่ไม่ได้จับแผ่นจารึก โจเซฟ สมิธนำแผ่นจารึกมาให้พยานแปดคนดูและพวกท่านได้จับแผ่นจารึก พยานแปดคนมีพยานที่เป็นรูปธรรมยืนยันความเป็นจริงของแผ่นจารึกมากกว่า ส่วนพยานสามคนมีประสบการณ์ทางวิญญาณมากกว่า)

  • ท่านคิดว่าเหตุใดการมีพยานหลายคนจึงสำคัญต่อการออกมาของพระคัมภีร์มอรมอน

นักเรียนบางคนอาจไม่ทราบว่าพยานทั้งสามคนและพยานแปดคนมีบางคนละทิ้งศาสนจักรในท้ายที่สุด เชิญนักเรียนคนหนึ่งอ่านออกเสียงคำกล่าวต่อไปนี้ของเอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

ภาพ
เอ็ลเดอร์ดัลลิน เอช. โอ๊คส์

“เมื่อเทียบกับข้อคัดค้านที่เป็นไปได้ … ประจักษ์พยานของพยานสามคนต่อพระคัมภีร์มอรมอนยังคงแข็งแกร่งยิ่ง … เราทราบกันดีว่าเนื่องจากความเห็นไม่ตรงกันและความอิจฉาอันเกี่ยวข้องกับผู้นำคนอื่นๆ ของศาสนจักร พยานทั้งสามคนนี้จึงถูกปัพพาชนียกรรมจากศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายหลังจากตีพิมพ์ประจักษ์พยานของพวกเขาได้ประมาณแปดปี … กระนั้นในบั้นปลายชีวิตพวกเขา … ไม่มีพยานคนใดปฏิเสธประจักษ์พยานของตนที่ตีพิมพ์ไว้หรือพูดสิ่งใดที่ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในประจักษ์พยานดังกล่าว

“ยิ่งกว่านั้น ประจักษ์พยานของพวกเขาไม่ขัดแย้งกับพยานคนอื่นๆ คนหนึ่งอาจปฏิเสธ แต่คนคนนั้นจะอธิบายอย่างไรในเมื่อชายสามคนที่มีชื่อเสียงดีต่างพร้อมใจกันยืนหยัดในประจักษ์พยานที่ตีพิมพ์ไว้นี้จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตพวกเขาขณะเผชิญถ้อยคำเย้ยหยันมากมายและข้อด้อยส่วนตัวอื่นๆ เช่นเดียวกับพระคัมภีร์มอรมอน คงไม่มึคำอธิบายใดดีไปกว่าที่ให้ไว้ในประจักษ์พยานนั้นซึ่งเป็นคำกล่าวที่จริงจังของชายที่ดีและซื่อสัตย์ผู้บอกสิ่งที่พวกเขาเห็น” (ดู “มาร์ติน แฮร์ริส ผู้เป็นพยาน,” เลียโฮนา, ก.ค. 1999, 50-51)

  • ท่านคิดว่าประจักษ์พยานของพยานสามคนหนักแน่นขึ้นเพราะข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาไม่เคยปฏิเสธพยานของตนแม้หลังจากถูกปัพพาชนียกรรมจากศาสนจักรอย่างไร (อธิบายว่าออลิเวอร์ คาวเดอรีและมาร์ติน แฮร์ริสรับบัพติศมาใหม่ในเวลาต่อมา)

ให้นักเรียนกลับไปดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 17:6และเน้นว่าข้อนี้มีพยานคนสำคัญที่สุดยืนยันความจริงของพระคัมภีร์มอรมอน ข้อนี้ประกอบด้วยประจักษ์พยานของพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เองผู้ตรัสปฏิญาณว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง

ขอให้นักเรียนสมมติว่าพวกเขาสามารถเพิ่มประจักษ์พยานส่วนตัวของตนเองเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนเข้าไปในพระคัมภีร์มอรมอนแต่ละเล่มได้ เชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันสิ่งที่พวกเขาจะรวมไว้ในพยานหรือประจักษ์พยานของพวกเขา

เชื้อเชิญนักเรียนให้แบ่งปันประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคัมภีร์มอรมอนกับบางคนก่อนมาชั้นเรียนคราวหน้า

สิ่งที่นักเรียนควรอ่าน