สถาบัน
บทที่ 3 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: การได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ


“บทที่ 3 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู: การได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ” รากฐานของการฟื้นฟู สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2019)

“บทที่ 3 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู” รากฐานของการฟื้นฟู สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

บทที่ 3 สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู

การได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ

พระเจ้าทรงเปิดเผยหลักธรรมที่สามารถนำทางเราในการค้นหาความจริง (ดู “การได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ,” เอกสารหลักผู้เชี่ยวชาญหลักคำสอน [2018]) บทนี้จะเพิ่มความสามารถให้นักเรียนประยุกต์ใช้หลักธรรมของการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณและประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล

ปรับปรุงการสอนและการเรียนของเรา

บอกผลการเรียนรู้ให้นักเรียนทราบ ผลการเรียนรู้คือข้อความที่ระบุว่านักเรียนควรได้ความรู้และทักษะอะไรบ้างจากประสบการณ์การศึกษา ผลของบทเรียนแต่ละบทในหลักสูตรนี้ระบุไว้ในคำนำของบท ท่านสามารถบอกผลการเรียนรู้เหล่านี้ให้นักเรียนทราบได้ทุกเมื่อ จงให้ผลของบทเรียนช่วยนำทางท่านขณะท่านปรับเนื้อหาบทเรียนและประเมินความสำเร็จของประสบการณ์การเรียนรู้ของนักเรียน

ข้อเสนอแนะสำหรับการสอน

พระเจ้าทรงจัดเตรียมแบบแผนให้ได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ

ให้ดูคำถามต่อไปนี้: จะเป็นอะไรหรือไม่ถ้ามีคำถามเกี่ยวกับศาสนจักร? เหตุใดจึงเป็นหรือไม่เป็น? เชิญนักเรียนสองสามคนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาคิด

ให้ชั้นเรียนอ่าน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:8–10 โดยมองหาคำหรือวลีที่โจเซฟใช้อธิบายคำถามและข้อกังวลทางศาสนาของท่าน เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาพบและสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับการถามคำถามจากเรื่องราวของโจเซฟ

เขียนประโยคต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: ฉันจะได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณเมื่อฉัน …

ขอให้นักเรียนระบุหลักธรรมสามข้อจากสื่อการเรียนการสอนสำหรับการเตรียมเพื่อเติมประโยคนี้ให้สมบูรณ์ (ขณะที่นักเรียนตอบ ต้องแน่ใจว่าท่านได้บอกและให้ดูหลักธรรมต่อไปนี้:

  1. กระทำด้วยศรัทธา

  2. พินิจแนวคิดและคำถามด้วยมุมมองนิรันดร์

  3. แสวงหาความเข้าใจเพิ่มเติมผ่านแหล่งช่วยที่กำหนดไว้จากสวรรค์

ขอให้นักเรียนอธิบายสิ่งที่พวกเขาเข้าใจเกี่ยวกับหลักธรรมแต่ละข้อนี้ หากจำเป็น ให้เวลาพวกเขาทบทวนสื่อการเรียนการสอนสำหรับการเตรียมสักเล็กน้อย

เชื้อเชิญให้นักเรียนอ่าน โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:11–14 โดยดูว่าการกระทำของโจเซฟ สมิธแสดงให้เห็นหลักธรรมเหล่านี้ของการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณอย่างไรขณะท่านแสวงหาคำตอบให้กับคำถามและข้อกังวลที่ท่านมี เชิญนักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้

เลือกและให้ดูคำถามหนึ่งข้อหรือมากกว่านั้นที่ท่านได้รับจากนักเรียนซึ่งประยุกต์ใช้หลักธรรมของการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณกับคำถามเหล่านั้นได้ (ดูกิจกรรม “บันทึกสิ่งที่ท่านคิด” ใน หัวข้อ 1 ของสื่อการเรียนการสอนสำหรับการเตรียม) อธิบายว่าแม้ท่านจะสามารถใช้คำถามที่ส่งมาได้เพียงไม่กี่ข้อระหว่างชั้นเรียนนี้ แต่ท่านจะหาโอกาสตอบคำถามอื่นที่ท่านได้รับในภายหลังจากในหลักสูตร

หมายเหตุ: จุดประสงค์ของกิจกรรมนี้คือให้นักเรียนมีโอกาสพูดคุยกันว่าพวกเขาจะประยุกต์ใช้หลักธรรมของการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณกับคำถามต่างๆ อย่างไร ไม่ใช่เพื่อให้คำตอบกับคำถามที่เจาะจง จงระวังอย่าใช้เวลามากเกินไปกับรายละเอียดของคำถามหรือปัญหา

สนทนาว่านักเรียนจะใช้หลักธรรมที่ให้ดูบนกระดานหาคำตอบให้คำถามที่เลือกไว้อย่างไร คำถามติดตามผลด้านล่างจะเป็นส่วนหนึ่งของการสนทนาของท่าน

  • เราจะกระทำด้วยศรัทธาได้อย่างไรขณะที่เราแสวงหาคำตอบให้กับคำถามข้อนี้?

  • มุมมองนิรันดร์จะช่วยเราตอบคำถามข้อนี้ได้อย่างไร? เรารู้อะไรเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และแผนแห่งความรอดของพระองค์ที่จะช่วยให้เรามองคำถามนี้จากมุมมองนิรันดร์?

  • แหล่งช่วยใดที่กำหนดไว้จากสวรรค์จะช่วยให้เราเข้าใจหัวข้อนี้ดีขึ้น? มีแหล่งที่เชื่อถือได้แหล่งใดจะช่วยได้อีกบ้าง? (หมายเหตุ: อาจเป็นประโยชน์ถ้าให้นักเรียนไปหน้า Gospel Topics ที่ ChurchofJesusChrist.org เพื่อดูแหล่งเชื่อถือได้ที่บอกลิงก์พระคัมภีร์และคำพูดของศาสดาพยากรณ์ด้วย)

เชิญนักเรียนหนึ่งหรือสองคนแบ่งปันว่าหลักธรรมสามข้อของการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณเป็นพรแก่พวกเขาในการค้นหาความรู้ทางวิญญาณอย่างไร

เราสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล

ฉายส่วนหนึ่งของวีดิทัศน์เรื่อง “Divinely Appointed Sources” (ช่วงเวลาตั้งแต่ 0:00 ถึง 4:19)

ให้นักเรียนดูว่าแหล่งข้อมูลประเภทใดเชื่อถือได้มากที่สุดและแหล่งข้อมูลใดมีแนวโน้มจะส่งผลเสียต่อการเข้าใจความจริงของเรา

หลังจากหยุดวีดิทัศน์ ท่านอาจจะถามคำถามบางข้อต่อไปนี้เพื่อช่วยให้นักเรียนพิจารณาความแตกต่างระหว่างแหล่งข้อมูลจากสวรรค์ แหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือหรือแม้บ่อนทำลาย:

  • เราสามารถแสวงหาคำตอบจากแหล่งข้อมูลที่บริสุทธิ์ที่สุดแหล่งใดบ้าง?

  • ท่านแยกแยะอย่างไรว่าแหล่งข้อมูลนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ได้?

  • ท่านทำอะไรเมื่อท่านบังเอิญพบแหล่งข้อมูลที่มุ่งหมายทำลายศรัทธา?

เพื่อสาธิตความสำคัญของการใช้แหล่งที่เชื่อถือได้เมื่อศึกษาประวัติศาสนจักร ให้เชิญนักเรียนสมมติสถานการณ์ต่อไปนี้: ท่านกำลังหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพยานสามคนของพระคัมภีร์มอรมอน ขณะค้นหา ท่านบังเอิญเจอคำกล่าวต่อไปนี้ของสตีเฟน เบอร์เนตต์ผู้อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับมาร์ติน แฮร์ริส และท่านไม่แน่ใจว่าคำกล่าวนั้นจริงหรือไม่:

ผมตั้งใจใคร่ครวญประวัติของศาสนจักรนี้มานานและชั่งน้ำหนักหลักฐานที่สนับสนุนและคัดค้านประวัติดังกล่าว … แต่เมื่อผมได้ยินมาร์ติน แฮร์ริสกล่าวต่อสาธารณชนว่าเขาไม่เคยเห็นแผ่นจารึกด้วยดวงตาธรรมชาติของเขา เห็นเฉพาะในมโนภาพหรือจินตนาการเท่านั้น ทั้งออลิเวอร์กับเดวิด [ก็ไม่เคยเห็น] … ผมจึงสูญเสียประจักษ์พยานส่วนสุดท้ายของผม (สตีเฟน เบอร์เนตต์ ใน Richard Lloyd Anderson, Investigating the Book of Mormon Witnesses [1981], 155)

  • ท่านจะทำขั้นตอนใดบ้างก่อนตัดสินใจว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับคำอ้างของสตีเฟน เบอร์เนตต์เกี่ยวกับมาร์ติน แฮร์ริส?

เชิญนักเรียนรายงานสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับการประเมินแหล่งข้อมูลจากหัวข้อของสื่อการเรียนการสอนสำหรับการเตรียมชื่อว่า “คำถามสำหรับประเมินแหล่งข้อมูล

แจกเอกสาร “ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับคำกล่าวของสตีเฟน เบอร์เนตต์” ให้นักเรียนและเชื้อเชิญให้พวกเขา (ทั้งชั้นหรือในกลุ่มเล็ก) นึกถึงแนวทางประเมินแหล่งข้อมูลขณะมองหาข้อมูลที่จะช่วยพวกเขาประเมินความเชื่อถือได้ของคำกล่าวหาจากสตีเฟน เบอร์เนตต์ว่ามาร์ติน แฮร์ริสไม่เห็นแผ่นจารึก

ประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับคำกล่าวของสตีเฟน เบอร์เนตต์

สตีเฟน เบอร์เนตต์เข้าร่วมศาสนจักรในปี 1830 และได้รับแต่งตั้งเป็นเอ็ลเดอร์ในปี 1831 เขารับใช้งานเผยแผ่ทางภาคตะวันออกของสหรัฐระหว่างปี 1832 ถึง 1834 (ดู “Burnett, Stephen,” The Joseph Smith Papers, interim content) ราวปี 1838 เขาออกจากศาสนจักรและคิดว่าศาสนจักรเป็น “องค์กรที่มีแต่การกล่าวเท็จและการหลอกลวง”

แม้เบอร์เนตต์จะรู้จักมาร์ติน แฮร์ริสเป็นส่วนตัวแต่เขาไม่ได้เป็นหนึ่งในพยานสามหรือแปดคน

ในปี 1838 เบอร์เนตต์เขียนจดหมายซึ่งเขาอ้างว่ามาร์ติน แฮร์ริสกล่าวว่า “เขาไม่เคยเห็นแผ่นจารึกด้วยดวงตาธรรมชาติของเขา เห็นเฉพาะในมโนภาพหรือจินตนาการเท่านั้น” เบอร์เนตต์เขียนว่าอีกสามคน “เห็นด้วย” กับเรื่องราวของเขา สามคนนี้ออกจากศาสนจักรเช่นกัน

มาร์ติน แฮร์ริสค้านทุกประเด็นในเรื่องที่เบอร์เนตต์พูดถึงประจักษ์พยานของตนและยังคงเป็นพยานถึงความจริงของพระคัมภีร์มอรมอนตลอดชีวิต

เมื่อเทียบกับเรื่องราวของเบอร์เนตต์ “ความสอดคล้องต้องกันของการสัมภาษณ์มาร์ติน แฮร์ริสหลายครั้งพิสูจน์ว่าความเชื่อมั่น [ของมาร์ติน] ไม่ผันแปรตั้งแต่เขาเห็นนิมิตของเทพและแผ่นจารึกในปี 1829 จนถึงเวลาที่เขาสิ้นชีวิตในปี 1875” ในจดหมายส่วนตัวที่เขียนในปี 1871 มาร์ตินประกาศว่า “ไม่มีใครเคยได้ยินข้าพเจ้าปฏิเสธความจริงของพระคัมภีร์มอรมอน การปฏิบัติของเทพที่แสดงแผ่นจารึกให้ข้าพเจ้าดู หรือการจัดตั้งศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย” (ริชาร์ด ลอยด์ แอนเดอร์สัน Investigating the Book of Mormon Witnesses [1981], 107–20, 155–57)

ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคำกล่าวของสตีเฟน เบอร์เนตต์

ภาพ
เอกสารแจกจากครู

หลังจากนักเรียนมีเวลาอ่านเอกสารแจกและสนทนาพอสมควรแล้ว ให้ถามคำถามต่อไปนี้:

  • ข้อมูลใดจากเอกสารนี้ทำให้ท่านสงสัยความน่าเชื่อถือคำกล่าวของสตีเฟน เบอร์เนตต์?

  • นอกจากทดสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลแล้ว ท่านจะทราบได้อย่างไรว่าประจักษ์พยานของพยานสามคนจริงหรือไม่?

เชื้อเชิญให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์นี้ ท่านอาจจะจบชั้นเรียนโดยฉายวีดิทัศน์ที่เหลือเรื่อง “Divinely Appointed Sources” (ช่วงเวลาตั้งแต่ 4:20 ถึง 9:16) และแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านถึงคุณค่าของการประยุกต์ใช้หลักธรรมของการได้มาซึ่งความรู้ทางวิญญาณ

สำหรับครั้งต่อไป

ถามนักเรียนว่าพวกเขาเคยจำแนกออกหรือไม่เมื่อพระเจ้าตรัสกับพวกเขาหรือพวกเขาเคยอยากรู้หรือไม่ว่าจะรับการเปิดเผยส่วนตัวและการนำทางในชีวิตพวกเขาได้ดีขึ้นอย่างไร เชื้อเชิญให้พวกเขาศึกษาสื่อการเรียนการสอนสำหรับการเตรียมบทต่อไปอย่างละเอียดเกี่ยวกับหลักคำสอนเรื่องการเปิดเผยและพร้อมมาแบ่งปันในชั้นเรียนว่าพวกเขาค้นพบอะไร